Saturday, July 28, 2018

TANAKIT KITSANAYUNYONG


มีเพื่อนบางคนถามว่า Tanakit Kitsanayunyong เคยกำกับหนังเรื่องอะไรมาแล้วบ้าง ก่อนที่เขาจะมีหนังทดลองออกมาใหม่หลายเรื่องในปี 2017-2018 เราก็เลยตอบว่า เราเคยดูหนังของเขาก่อนหน้านี้ 3 เรื่อง ซึ่งได้แก่ เรื่องอัศเจรีย์, เรื่อง HI-DEFINITION GIRL และหนังอะไรสักเรื่องที่ฉายในงาน filmvirus wildtype แล้วมีฉากเขาวิดพื้น

พอไปค้นข้อมูลดูจริงๆ ก็พบว่า เขาเคยกำกับหนังเรื่อง “อัญประกาศ” แต่เราดันจำผิดเป็นเรื่อง “อัศเจรีย์” 555555

หนังของเขาที่เราเคยดูเมื่อหลายปีก่อน ได้แก่

1.อัญประกาศ (QUOTATION MARK) ซึ่งเคยติดอันดับ 16 ของเราประจำปี 2010

2.หญิงสาวแห่งความคมชัด (HI-DEFINITION GIRL) (2011)

เราว่าหนังเรื่องนี้เหมือนกลายเป็นลายเซ็นอย่างหนึ่งของ Tanakit ในเวลาต่อมา นั่นก็คือการใช้ “กรอบภาพ” ที่เล็กมากๆ ซึ่งกรอบภาพที่เล็กมากแบบนี้จะปรากฏในหนังเรื่อง “วันนี้อากาศดี ออกซิเจนเริ่มเข้ามาแล้ว”, UNIVERSAL COUNTING LEADER และ “ระยะห่าง” ด้วย ถ้าจำไม่ผิด

3. “SOUND & MEMORY” I NOT YET GIVE IT A NAME, BUT I’LL FIND ITS NAME SOON
 ซึ่งเป็นหนังที่เราจำชื่อเรื่องไม่ได้ เราจำได้แต่ว่ามีฉากเขาวิดพื้น 555


Monday, July 23, 2018

7 DAYS (2018, Panjapong Kongkanoi, A+25)


7 DAYS (2018, Panjapong Kongkanoi, A+25)

1.กันต์ กันตถาวร หล่อมาก แต่รำคาญตัวละครที่เขาเล่น ไม่รู้ว่าเขาแสดงไม่ดี หรือบุคลิกตัวละครกำหนดให้ต้องทำอะไรที่ดูหลุกหลิก ดูมีการขยับเคลื่อนไหวใบหน้าอย่างรุนแรงตลอดเวลา คือไม่รู้ว่าเขา overacting หรือผู้กำกับออกแบบตัวละครให้ต้องทำอากัปกิริยาอะไรแบบนั้น

ตอนดูจะแอบจินตนาการฮาๆว่า บางทีผู้สร้างหนังอาจจะอยากสร้างหนังให้ดาราๆหล่อๆอย่างกันต์เล่น แต่พอเขาแสดงไม่ดี ก็เลยต้องเขียนบทให้มีนักแสดงคนอื่นๆอีก 7 คนมารับบทเป็นตัวละครตัวเดียวกับเขา แบบ I’M NOT THERE (2007, Todd Haynes) เพราะถ้ากันต์เล่นคนเดียวตลอดเรื่อง อาจจะแบกหนังไว้ไม่อยู่ 555

จริงๆแล้วเบื่อหน้าอนันดามากๆ แต่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ cast อนันดามาได้ถูกต้องมากๆ เพราะอนันดามีฝีมือทางการแสดง และเขาช่วยพยุงหนังไว้ได้ในฉากที่เขาออกมา

2.ตอนช่วงแรกๆนึกว่าหนังจะมาแบบ PRELUDE TO A KISS (1992, Norman René), YOUR NAME (2016, Makoto Shinkai) หรือ SELF MADE (2014, Shira Geffen, Israel) ที่ตัวละครมีการสลับร่างกัน แต่พอดูไปดูมาแล้วก็ไม่ใช่ เพราะหนังแบบสลับร่างส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อให้ตัวละครได้เรียนรู้สภาพชีวิตของคนอื่นๆ แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแบบนี้เลย ตัวละครพระเอกไม่ได้เรียนรู้ชีวิตอะไรของคนอื่นๆเลย แต่เราก็ไม่คิดว่าจุดนี้มันเป็นข้อเสียของหนังเรื่องนี้นะ เพียงแต่เราคิดว่าการละเลยชีวิตของคนอื่นๆที่พระเอกไปเข้าร่าง มันทำให้หนังขาดความสมจริงไปมากพอสมควรน่ะ

3.สรุปว่าเป็นหนังที่ไม่มีความ realistic อะไรเลย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนัง “สลับร่าง” ส่วนใหญ่ แต่เหมือนเราอินกับความโรแมนติกของหนังในระดับนึง ก็เลยมองข้ามจุดนี้ไปได้ในขณะที่ดู แต่พอดูจบแล้วเริ่มคิดถึงความสมจริงต่างๆในหนัง ก็จะเริ่มหงุดหงิด ก็เลยหยุดคิดไว้ก่อน 555

4.เราว่าพาร์ทที่ออกไปในทางเลสเบียน ดูซึ้งที่สุด และเราว่าพาร์ทที่เป็นคนแก่ ดูน่าสนใจดี คือพอเป็นชายแก่กับหญิงสาวควงกัน ถ้าหากเราเจอแบบนี้ในชีวิตจริง แว่บแรกที่เห็น เราอาจจะอคติไปก่อน ว่าเป็นป๋ารวยหวังเซ็กส์ควงมากับผู้หญิงที่หวังเงิน แต่พอในหนังเรื่องนี้ มันแสดงให้เห็นว่าป๋าแก่กับหญิงสาวรักกันจริงๆ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันช่วยเตือนเราว่า เรายังมีอคติอะไรพวกนี้อยู่ในใจ เวลาเราเจอแบบนี้ในชีวิตจริง เราไม่ควรอคติว่า “หนุ่มหล่อควรควงคู่มากับสาวสวย” เท่านั้น เพราะจริงๆแล้วใครจะควงคู่มากับใคร จะต่างวัยกันขนาดไหน หรือต่างเบ้าหน้ากันขนาดไหน เราก็ไม่รู้หรอกว่า เขารักกันจริงหรือเปล่า เพราะเขาอาจจะรักกันจริงๆก็ได้


Tuesday, July 17, 2018

ROKE GAO JAI


โรคกาวใจ (2018, Thakoon Leesumpun, 90min, A+25)    

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.พอดูแล้วก็พบว่า ส่วนที่ชอบสุดๆและส่วนที่ไม่ตรงกับรสนิยมของเราในหนังเรื่องนี้เหมือนกับใน WETLAND, DRYLAND (2018, Thakoon Leesumpun) เลย 555 นั่นก็คือส่วนที่เราชอบสุดๆในหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์น่ะ เพราะเราทึ่งกับไอเดียของผู้กำกับมากๆที่แทนที่จะนำเสนอประเด็นบางอย่างอย่างตรงไปตรงมา เขากลับนำประเด็นนั้นมาพลิกแพลงเป็นเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างใน WETLAND, DRYLAND เขาก็สร้างมิติพิสดารทางจิตวิญญาณขึ้นมา เพื่อนำมารองรับตัวละครที่ฆ่าตัวตาย ส่วนในโรคกาวใจนั้น เขาก็สร้างโรคประหลาดในช่วงที่ดาวหางปรากฏตัว เพื่อนำมาเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์แบบรัก-เกลียดระหว่างแม่-ลูกชาย

แต่หนังทั้งสองเรื่องนี้ก็มีจุดสำคัญที่ไม่เข้ากับรสนิยมเราเป็นการส่วนตัว นั่นก็คือการที่ ตัวละครเลือกที่จะอยู่แทนที่จะ เลือกที่จะตายน่ะ คือถ้าหาก โรคกาวใจตัดช่วง 15-20 นาทีสุดท้ายทิ้งไป และจบลงในฉากที่ตัวละครเข้าไปอยู่ในรถยนต์ด้วยกันทั้งสองคน คือถ้าหนังจบลงที่ฉากนั้นน่ะนะ หนังจะตรงกับรสนิยมของเราอย่างแน่นอน 555

2.เพราะฉะนั้นการที่เราไม่ได้ชอบโรคกาวใจแบบสุดๆ ก็เลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีงามหรือข้อบกพร่องใดๆของหนังเลยนะ เพราะมันเป็นเรื่องของรสนิยมของเราน่ะ และเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตของเราด้วย ที่ทำให้เราไม่อินกับหนังครอบครัวแบบนี้

เราว่าปัญหาที่เรามีกับหนังเรื่องนี้มีบางส่วนคล้ายๆกับปัญหาที่เรามีกับหนังของม.กรุงเทพเรื่อง THE MOREเดิร์น MOM (2018, Alisa Pien) ด้วยแหละ คือเราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของหนังทั้งสองเรื่องนี้น่ะ เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้มีลักษณะ crowd pleasing สูงมาก คือมีการสร้างความสนุกสนาน บันเทิง ย่อยง่าย เหมือนต้องการสร้างความพึงพอใจบางอย่างให้ผู้ชมตลอดเวลา แต่เราจะรู้สึกว่า เราไม่ fit in กับหนังแบบนี้น่ะ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของหนังทั้งสองเรื่องนี้เลยนะ คือเรามองว่า หนังทั้งสองเรื่องนี้ดีมาก และประสบความสำเร็จตรงตามเป้าหมายของผู้สร้างมากๆ เพราะผู้สร้างหนังทั้งสองเรื่องนี้น่าจะต้องการสร้างหนังที่ตอบสนอง mass audience หรือสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมในวงกว้างน่ะ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะในการสร้างหนังที่สามารถสร้างความบันเทิงได้จริงๆตลอดทั้งเรื่อง และเราก็มองว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ทำในสิ่งที่ยากมากตรงนี้ได้สำเร็จ นั่นก็คือ หนังทั้งสองเรื่องนี้สร้างความบันเทิงและความประทับใจให้กับผู้ชมได้ตลอดทั้งเรื่องจริงๆ แต่ในการที่หนังทั้งสองเรื่องนี้เลือกที่จะเอาใจ mass audience นั้น มันก็จะมีผู้ชมบางคน อย่างเช่นเรา ที่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ fit in กับหนังหรือกลุ่มผู้ชมเป้าหมายหลักของหนัง หรือตัวเองไม่ได้มีประสบการณ์หรือทัศนคติเรื่องครอบครัวแบบเดียวกับ mass audience

3.ย้อนกลับมายังไอเดียสร้างสรรค์ของหนังที่เราชอบมาก คือเราว่ามันเก๋มากที่เอาไอเดียเรื่องดาวหางและโรคประหลาดมาใส่ในหนังน่ะ คือตอนแรกที่เราเห็นดาวหาง เราก็นึกถึงหนังอย่าง MELANCHOLIA (2011, Lars von Trier) และพอเกิดโรคประหลาดในหนัง เราก็นึกถึงหนังอย่าง AUGUST IN THE WATER (1995, Sogo Ishii) ที่ผู้คนอยู่ดีๆก็ค่อยๆทยอยกลายเป็นโรค “ตัวแข็งเป็นหิน” อย่างไม่มีสาเหตุ แต่พอดู โรคกาวใจ ไปเรื่อยๆ เราก็พบว่ามันไม่ได้ใกล้เคียงกับ MELANCHOLIA หรือ AUGUST IN THE WATER เลย หนังเรื่องนี้มันเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ มันเหมือนหยิบจับเอาอะไรประหลาดพิสดารจากหนัง genre อื่นมาใส่ในหนังดราม่าความสัมพันธ์ครอบครัว เราก็เลยชอบความพิสดารแปลกใหม่ตรงนี้ของหนังอย่างมากๆ

4.ชอบตัวละครพิมอย่างสุดๆ ชอบความแรงของเธอ ชอบที่เธอมีความมั่นใจ ไม่หงอ ไม่อ่อนแบบนางเอกหนังไทยเรื่องอื่นๆ ตัวละครคุณแม่ก็มีเสน่ห์ดี คือแน่นอนว่าเราเกลียดคนแบบนี้ (คุณแม่ที่ดูเป็นเผด็จการ) ตั้งแต่เริ่มเรื่อง แต่หนังและนักแสดงก็เก่ง ที่สามารถทำให้ตัวละครคุณแม่ที่ดูเป็นตัวร้ายในสายตาของเราในช่วงต้นเรื่อง ค่อยๆกลายเป็นตัวละครที่กลม และมีเสน่ห์เฉพาะตัวขึ้นมาได้ ส่วนตัวพระเอกนั้นน่ารักมาก 555

5.ไอเดียเรื่องการเลียนแบบสิ่งที่เห็นในจอทีวีก็เก๋มาก

6.ระดับความชอบของเราจะขึ้นๆลงๆตลอดทั้งเรื่อง คือความชอบของเราพุ่งขึ้นถึงขีดสุดในฉากที่ตัวละครทั้งสองเข้าไปในรถยนต์ แต่หลังจากนั้นระดับความชอบของเราก็ค่อยๆลดลง และดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อมันมีอะไรคล้ายๆหนังเรื่อง THE LETTER โผล่เข้ามาในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ คือเราเกลียดหนังเรื่อง THE LETTER (1997, Lee Jung-gook) และ THE LETTER (2004, Pa-oon Chantarasiri) อย่างรุนแรงน่ะ คือเกลียดทั้งเวอร์ชั่นไทยและเกาหลีเลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกไม่ค่อยดีกับช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้

แต่ระดับความชอบของเราก็ดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะในฉากจบนั้น เราคิดว่า มันคล้ายๆกับว่าเรื่องทั้งหมดคือจินตนาการของพระเอกขณะใส่ถุงเท้าน่ะ คือขณะพระเอกใส่ถุงเท้า พระเอกอาจจะจินตนาการว่า ถ้าหากตัวเองป่วยหนักขึ้นมา แม่จะลำบากเหนื่อยยากเพราะเราขนาดไหน หรือตอนที่เราเป็นเด็กทารกนั้น แม่เราต้องลำบากเหนื่อยยากเพียงใดในการเลี้ยงดูเราจนกว่าเราจะทำอะไรต่างๆด้วยตัวเองเป็น พอพระเอกจินตนาการเช่นนี้ขณะใส่ถุงเท้าเสร็จ พระเอกก็เลยตัดสินใจเลิกทะเลาะกับแม่

คือพอเรามองฉากจบแบบนี้ มันก็เลยเหมือนกับว่า ความดราม่าฟูมฟายน้ำตาเช็ดหัวเข่าอะไรมากมายที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องซีเรียสจริงจัง เป็นเพียงแค่จินตนาการของพระเอกน่ะ คล้ายๆกับหนังอย่าง THE MODIFICATION (1970, Michel Worms) ที่ตัวละครจินตนาการถึงทางเลือกต่างๆในชีวิต เราก็เลยเหมือนยอมรับได้กับความฟูมฟายที่ผ่านมาของหนัง และทำให้ระดับความชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง

7.แต่ก็ยอมรับนะว่า เราไม่ “เศร้า” ไปกับโรคกาวใจเลย ซึ่งก็คงเป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวของเรา และเราก็เข้าใจว่าน่าจะมีผู้ชมจำนวนมากที่ร้องไห้ไปกับหนังเรื่องนี้

แต่ก็ประหลาดดีที่เราอินกับ อานัติ (2018, บุญนรงค์ มาฟู) นะ ทั้งๆที่เนื้อหาของอานัติกับโรคกาวใจมันมีอะไรบางอย่างใกล้เคียงกัน มันเหมือนกับว่า ตอนที่ตัวละครร้องไห้ใน โรคกาวใจ เรารู้สึกเฉยๆน่ะ แต่พอตัวละครร้องไห้หรือเศร้าใจใน อานัติ เรากลับรู้สึกโศกเศร้าไปพร้อมๆกับตัวละครในอานัติด้วย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะ wavelength หรือจังหวะอะไรบางอย่างของอานัติมันสอดคล้องกับเรามากกว่ามั้ง

8.รู้สึกว่า “โรคกาวใจ” เหมาะลงโรงฉายมากๆ เพราะมันสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมทั่วไปได้ดีมาก แต่มันอาจจะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงประกอบ แต่ไม่ติดลิขสิทธิ์ละครทีวี เพราะละครทีวีในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แต่งขึ้นมาใหม่หมดเลย 555


9.ขอให้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษได้นะ ตอนนี้เราคิดออกแค่ชื่อ THE TIE THAT BINDS

สรุปว่าเราคิดว่า โรคกาวใจเป็นหนังที่ดีมาก บันเทิงมาก เหมาะกับผู้ชมส่วนใหญ่ แต่อาจจะไม่เข้าทางเราซะทีเดียวจ้ะ
 

Saturday, July 14, 2018

FILMS ONLINE BY WEERAPONG, TEERANIT, WACHARA


มีเพื่อนบางคนใน Facebook สอบถามว่าจะหาหนังของ Weerapong Wimuktalop, Teeranit Siangsanoh และ Wachara Kanha ดูได้ที่ไหนบ้าง เราก็เลยรวบรวมลิงค์มาไว้ที่นี้นะ

A .หนังของ Weerapong Wimuktalop

SWING ชิงช้า (2011)

B.หนังของ Teeranit Siangsanoh

1.DARK SLEEP เพียงหลับใหลในเงามืด (2010)

2.PHENOMENON (2012)

C.หนังของสำนักงานใต้ดิน (Teeranit Siangsanoh + Wachara Kanha + Tani Thitiprawat)

1.เฟื่อง (2010)

2.แกะแดง (2010)

D. หนังของวชร กัณหา

1-16. มีหนังของ Wachara Kanha 16 เรื่องอยู่ใน channel นี้

ซึ่งได้แก่เรื่อง AWARENESS, BLUE BLANK, SOUND OF PSYCHO, TAKE GRANNY MORN TO THE GARDEN, ข่มขืนกรุงเทพ, ค่ำคืนสุดท้าย,  ชิงชัง, ซากศพ, ฏ, ฑ โสภา, บรรยากาศยามเช้าที่บ้านตอน 6 โมง, ผู้บุกรุก, รังสีของแสง,  เราชาวนาอยู่กับควาย, ห้องเรียนฝรั่งเศสกับปริศนาฟรองซัว, อยากกินเนื้อคนใจดำ

17.LEVEL (Wachara Kanha + Chulayarnnon Siriphol)

18.เธอไม่ขอ ฉันก็จะให้ (Wachara Kanha + Meathus Sirinawin)

19-26. ส่วนใน Channel นี้ มีหนังของ วชร กัณหา อยู่ 8 เรื่อง

หนัง 8 เรื่องนี้ได้แก่ BANGKOK GHOST STORIES, MEMORIES, NAKORN ASAJAN: NIGHTMARE, ความฝัน, ถนนกีบหมู, ผู้ชำระล้าง, ภูเขาน้ำแข็ง, หมอกในเมือง

27.สุดถวิลหา (Wachara Kanha + Wisit Saonoi)

28.TIMELESS ไร้กาลเวลา (2013)




Friday, July 13, 2018

SUBMERGENCE


SUBMERGENCE (2017, Wim Wenders, A+30)

รักวิม เหมือนหนังหลายเรื่องของเขามี humanist touch มากๆ มีมุมมองต่อมนุษย์และโลกที่อ่อนโยน หนังเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นหนังเกี่ยวกับสายลับ-ก่อการร้ายที่แฝงความอ่อนโยนมากที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยดูมา คิดว่าคงมีผู้กำกับไม่กี่คนบนโลกนี้ที่สามารถทำหนังสายลับ-ก่อการร้ายออกมาให้ดูละมุนละไมแบบนี้ได้

ดูแล้วนึกถึง Alexander Kluge ด้วย ในแง่ที่ว่า Kluge ชอบทำหนังเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เอามาวางเคียงคู่กัน และหนังเรื่อง SUBMERGENCE ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแบบนั้น เพราะชีวิตของพระเอกนางเอกมันไปกันคนละทาง แต่ชีวิตของทั้งสองก็น่าเปรียบเทียบกันอยู่ดี เพราะทั้งสองต่างก็ดำดิ่งลงสู่ก้นบึ้งของอะไรบางอย่างโดยคิดว่าเป็นการทำไปเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ และทั้งสองก็เหมือนต้องเสี่ยงชีวิตกับภารกิจของตัวเอง และต้องเผชิญกับบททดสอบทางใจ และเหมือนใช้ความรักเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ


Thursday, July 12, 2018

SAUE KAM SA

THAI FILMS I SAW ON THURSDAY, JULY 12, 2018

1.เซือคำซา / เดชธนา อาสาธนาคูณ / 43.15 นาที A+30

ชอบสุดๆ หนังเล่าเรื่องของพระเอกที่กลับไปเยี่ยมบ้านในต่างจังหวัด แล้วพบว่าคนในหมู่บ้านมีอาการแปลกๆ หนังใช้ setting เหมือน “ไทบ้านเดอะซีรีส์” แต่ทำออกมาเป็นหนัง sci-fi thriller

อีกจุดที่ชอบสุดๆคือประเด็นในหนังมันตรงกับสิ่งที่เราคิดด้วย นั่นก็คือ คนหลายคนเลือกจะเชื่อในสิ่งที่ “ว่างเปล่า” หรือสิ่งที่ “ไม่รู้ว่าเป็นความจริง” หรือเปล่า แต่ก็เลือกที่จะเชื่อ เพราะมันทำให้มีความสุข, สบายใจ, มีสิ่งยึดเหนี่ยว ซึ่งเราเองก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน อย่างคำสอนทางศาสนาหลายๆคำสอน เราก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ามันเป็นความจริงหรือเปล่า เรารู้แต่ว่าเชื่อแล้วสบายใจ เราก็เลยเชื่อมันไปก่อน แต่เราก็ยอมรับตลอดเวลานะว่า มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ และมันเป็นสิ่งที่อาจจะไม่เป็นความจริงก็ได้

หรือยกตัวอย่างง่ายๆก็ตุ๊กตาหมีที่เราเล่นอยู่ทุกวันนี่แหละ เรารู้ตลอดเวลาว่ามันไม่มีชีวิต แต่เราก็เล่นกับมันเหมือนกับว่าตุ๊กตาหมีมันมีชีวิต เพราะทำแบบนี้แล้วมีความสุขดี เรา treat สิ่งที่ว่างเปล่าให้มันเป็นสิ่งที่ไม่ว่างเปล่า และเราก็มีความสุขไปกับมัน

รู้สึกว่าหนังที่สามารถปะทะกับเรื่องนี้ได้ก็คือ ฝาก (RIPE) (2017, Pannaruj Peerachaikarn) ของม.ธรรมศาสตร์ เพราะทั้ง RIPE และ เซือคำซา ต่างก็นำเอาประเด็นสังคม/การเมือง มาดัดแปลงเป็นหนัง sci-fi thriller ที่ถูกใจเราสุดๆเหมือนกัน

อีกจุดที่ชอบเป็นพิเศษก็คือว่า เซือคำซา มันดูแตกต่างจากหนังนักศึกษาโดยทั่วไปด้วยแหละ เพราะปกติแล้วเราจะไม่ค่อยเห็นนักศึกษาทำหนัง sci-fi thriller ประเด็นการเมืองที่ใช้ setting เป็นชนบท และทำออกมาได้ดีขนาดนี้

แต่เราว่าจังหวะ thriller ในหนังยังไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่นะ แต่ก็เป็นจุดที่มองข้ามได้

2.Heaven no.1504 and sedimentation of the renewal / สิปปกร เอาตระกูล / 25.35 นาที A+30

งดงามสุดๆ ชอบที่หนังเปลี่ยน texture ของภาพไปเรื่อยๆ มันช่วยให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นขึ้นมา เพราะปกติแล้วนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำหนังที่เล่นกับ texture ของภาพ

หนังเรื่องนี้โดดเด่นตั้งแต่ซีนแรกแล้ว ที่เป็นจอสีแดงทั้งจอ แล้วสีแดงก็ค่อยๆเลือนหายไปทีละน้อยแล้วปรากฏภาพบาร์เหล้าคาราโอเกะขึ้นมา คือแค่ซีนเปิดก็ไม่ซ้ำแบบใครแล้ว

แต่ช่วงที่ชอบที่สุดของหนังคือช่วงต่อจากซีนคาราโอเกะนะ มันเป็นช่วงที่บรรยายเป็นตัวอักษรได้ยากมาก มันเหมือนเป็นภาพอะไรวูบไหวบนจอทีวี ซ้อนกับภาพถ่ายเก่าๆที่มีร่องรอยของการเสื่อมสลาย เราว่าส่วนนี้ของหนังนี่เป็นส่วนที่ indescribable จริงๆ และเล่นกับความงดงามของสื่อภาพยนตร์จริงๆ คือมันเป็นความงามที่ถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้ยากน่ะ ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆที่เน้น “เนื้อเรื่อง” นี่ เราสามารถเล่าเนื้อเรื่องผ่านทางตัวอักษรก็ได้

อีกฉากที่ชอบสุดๆในหนังคือฉากผู้หญิงสองคนที่น้ำตก แล้วค่อยๆมี graphic เข้ามาทำให้ซีนนั้นมันดูคล้ายๆภาพวาด impressionist คือ moment นี้นี่ก็งดงามสุดๆเหมือนกัน

ชอบความ “คุมอารมณ์ได้อยู่” ของผู้กำกับด้วย คือเราเดาว่าผู้กำกับคงทำหนังเกี่ยวกับครอบครัวตัวเอง ซึ่งถ้าคุมไม่ดี มันจะดูเป็นการยกย่องเชิดชูครอบครัวตัวเองมากเกินไปน่ะ เราก็เลยชอบฉากจบ ที่ดูเหมือนถ่ายคนที่น่าจะเป็นพ่อ กิน junk food อะไรสักอย่าง คือมันเป็น moment ง่ายๆธรรมดาๆที่ไม่มีอะไรเลย แต่ moment แบบนี้นี่แหละที่ผู้กำกับที่ตาคมจริงๆเท่านั้นจะสามารถทำให้มันดูงดงามขึ้นมาได้

อีกซีนที่เราว่าเลือกวิธีการถ่ายทอดได้ดี คือซีนหนุ่มสาวที่เปียโน ซึ่งเราเดาเอาเองว่าน่าจะเป็นผู้กำกับกับแฟน คือซีนนี้ถ่ายจากด้านหลังแบบเฉียงๆ และดูเป็น moment ที่ไม่ช่วยให้เราได้รู้จักบุคคลในหนังแต่อย่างใด หนังจงใจสร้างระยะห่างระหว่างผู้ชมกับตัว subjects ในฉากนั้นอย่างจงใจ แต่มันเป็นการสร้างระยะห่างที่เหมาะสม เพราะถ้าหากหนังมันเข้าใกล้ subjects กว่านั้น ผู้ชมก็อาจจะหมั่นไส้ตัว subjects ได้

แต่จุดด้อยของหนังในมุมมองของเราเป็นการส่วนตัว ก็คือว่า content ของมันที่เป็นผู้กำกับนำเสนอ “ครอบครัวตัวเองในด้านบวก” หรือถ่ายทอด “ความรักที่มีต่อครอบครัวตัวเอง” มันเป็นสิ่งที่เหมือนกับหนังสั้นของนักศึกษาไทยอีกหลายร้อยเรื่องน่ะ และมันเป็นสิ่งที่เราไม่อินเป็นการส่วนตัวด้วย เราก็เลยอาจจะไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้มากเป็นอันดับหนึ่งของวันนี้

แต่ถึงเราจะเฉยๆกับ content แต่ในแง่ form หรือ style แล้ว นี่เป็นหนังที่งดงามที่สุดเรื่องหนึ่งที่ได้ดูในปีนี้จริงๆ

3.Hollow Girl / อรุณกร พิค & กันตพล ดวงดี / 7.25 นาที A+30

การตัดผู้หญิงทิ้งไปจากฉากอีโรติกนี่มันช่างตอบสนองความใคร่ของเราได้ดีจริงๆ พระเอกเล่นเก่งสุดๆเลยด้วย

4.ดนตรี, ดอกไม้, ความหวัง / เอกลักษณ์ อนันตสมบูรณ์ / 26.10 นาที DOCUMENTARY A+30

ชอบเรื่องราวชีวิตของตัว subject มากๆ ที่แม่ติดยาเสพติด แถมขโมยเงินยาย ส่วนพ่อก็ติดการพนัน ลุงกับญาติก็ทุบตีตัว subject เวลาได้ฟังเรื่องราวของคนแบบนี้เราจะรู้สึกมีกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิตต่อไป

5.ฟ้าหลังฝน / นภา อินทรโชติ / 17.32 นาที A+30

งดงามมากๆ สามารถปะทะกับ SCENE AND LIFE (2018, Boonsong Nakphoo) ได้เลย

6.Gift / เกียรติคุณ บุญเย็น / 30.44 นาที A+30

ถ่ายฉากวิวทิวทัศน์ได้งดงามมากๆ ชอบมากที่หนังนำเสนอตัวละครแบบที่เราเกลียด แล้วหนังก็ลงโทษตัวละครตัวนั้นอย่างสาสม

7.เสือ / ปัฐษร ดอกขัน / 18 นาที A+15

เหมือนเป็นหนังโชว์ production design เพราะในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น มันดูพร่องๆยังไงไม่รู้

8.self / ธนวัฒน์ สุขทวีดำรงค์ / 9.38 นาที A+

หนังจากม.ขอนแก่น ถ้าหนังไม่หักมุมช่วงท้าย เราจะชอบมาก เพราะช่วงแรกของหนังเป็นการถ่ายสาวสวยพูดคุยหยอกล้อกับแฟนอย่างเป็นธรรมชาติไปเรื่อยๆ คือเราชอบการจับ moment ธรรมดาแบบหนุ่มสาวคุยกันแบบนี้น่ะ คือถ้าทำจุดนี้ให้ดีๆ มันจะเป็นเหมือนอย่างหนังเรื่อง THE BANNED WOMAN (1997, Philippe Harel) ที่กล้องของหนังใช้แทนสายตาพระเอกขณะมองแฟนสาวตลอดเวลา แต่พอหนังเรื่อง SELF หักมุมช่วงท้าย ระดับความชอบของเราที่มีต่อ SELF ก็เลยลดลง


Sunday, July 01, 2018

THE SAME OLD SEA


แนะนำหนังในกลุ่ม ORDINARY LIVES, ORDINARY PEOPLE หรือหนังเกี่ยวกับชีวิตคนธรรมดาที่เราชอบสุดๆ

44.THE SAME OLD SEA วันนี้ทะเลมีคลื่น (2008, Pisut Srimhok, documentary, 22min)

ชอบหนังเรื่องนี้มากๆที่มันเหมือนเป็นการสะท้อนโมงยามธรรมดาในวันธรรมดาๆวันหนึ่งในชีวิตของเด็กชาวประมงคนหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิด เหมือนในหนังเรื่องนี้ไม่มีเหตุการณ์ดราม่าอะไรเกิดขึ้นเลย เป็นแค่คนสร้างหนังคุยกับเด็กชาวประมงไปเรื่อยๆขณะเด็กนั่งเรือออกไปในทะเล

ไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้มา 10 ปีแล้ว ถ้าจำรายละเอียดอะไรผิดไป ก็ขออภัยด้วยนะ แต่จำได้ว่ามันเป็นหนังที่ให้ความรู้สึกงดงามมากๆๆๆ