Friday, January 31, 2020

DERAILED

DARK WATERS (2019, Todd Haynes, A+30)

 1. ตอนแรกก็งงว่าทำไม Todd Haynes มากำกับหนังแนวนี้ นึกว่าเลียนแบบ Gus Van Sant ที่กำกับหนังแบบ PROMISED LAND (2012) 555

2.  แต่ดูแล้วก็นึกถึงหนังเรื่อง SAFE (1995, Todd Haynes) มากๆ ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องมันสะท้อนความหวาดกลัวสารเคมีในอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน ไม่รู้ว่า Todd Haynes  ตัวจริงหมกมุ่นกับประเด็นนี้หรือเปล่า 555

3.นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง MINAMATA: THE VICTIMS AND THEIR WORLD (1972, Noriaki Tsuchimoto),  BY THE RIVER (2013, Nontawat Numbenchapol) และ บ่อ เป็น หยัง (2013, Teerawat Rujenatham, Athapon Tarnrat) มากๆ

นึกถึงนิทรรศการ FOR THOSE WHO DIED TRYING ด้วย

DERAILED (1942, Bodil Ipsen, Denmark, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--

 อยากให้มีคนเอาหนังเรื่องนี้มา remake ใหม่มากๆ เพราะพล็อตเรื่องมันเข้าทางเรามากๆ หนังเล่าเรื่องของหญิงสาวสวยที่เหมือนอยู่ในแวดวงผู้ดี พ่อเป็นหมอ และมีสามีเป็นนายทหาร (ถ้าเราจำไม่ผิด) แต่ต่อมาเธอก็ความจำเสื่อม จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร และไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางดงกะหรี่ และพบรักกับชายหนุ่มคนใหม่ที่มีบุคลิกดิบเถื่อนเร้าใจ ทั้งสองอยู่กินกัน ครองรักกัน จนกระทั่งมีคนค้นพบว่า อดีตของเธอเป็นคุณหนูลูกผู้ดีมาก่อน

น่าเสียดายที่ช่วงท้ายของหนังไม่เป็นไปในแบบที่เราต้องการ ซึ่งก็คงเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้สร้างในปี 1942 สภาพสังคมในตอนนั้นน่าจะยังไม่เปิดกว้างมากนัก

เราก็เลยอยากให้มีการ remake หนังเรื่องนี้ใหม่มากๆ แต่เปลี่ยนช่วงท้ายใหม่ โดยเปลี่ยนให้นางเอกเริ่มจำอดีตได้ เธอก็เลยลังเลว่าจะเลือกใครดี ระหว่างสามีเก่าในแวดวงผู้ดี กับสามีใหม่ที่ดิบเถื่อนเร้าใจ และในที่สุดเธอก็เลยเลือกทั้งสองคน และใช้ชีวิตอยู่กับสามีสองคนพร้อมกันในบ้านหลังเดียวกันแบบ happily ever after จบ 555

Thursday, January 30, 2020

WHEN LOVE COMES

WHEN LOVE COMES (2010, Chang Tso-chi, Taiwan, A+30)

กราบตีน Chang Tso-chi จริงๆแล้วพัฒนาการของตัวละครนางเอกในหนังเรื่องนี้มันไม่เข้าทางเรามากๆในทางทฤษฎี เพราะนางเอกเริ่มจากการเป็นสาวร่านที่เกลียดชังครอบครัวของตัวเอง ก่อนจะเรียนรู้ที่จะรักครอบครัวในที่สุด ซึ่งพัฒนาการของตัวละครแบบนี้มันสอดคล้องกับหนังสั่งสอนศีลธรรมในไทยมากๆ

แต่ดีมากๆที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้สั่งสอนศีลธรรม แต่เน้นนำเสนอ "ความผิดหวังในชีวิต" ของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน และพอคนแต่ละคนใช้ชีวิตอยู่กับความผิดหวังไปเรื่อยๆ เขาก็พลอยทำร้ายคนรอบข้าง หรือสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวไปด้วย

พอดูจบก็เลยรู้สึกว่าหนังมันงดงามสุดๆ humanist มากๆ เหมือนหนังมันโอบรับความทุกข์ตรมของตัวละครแต่ละตัวได้ดีมากๆ

THE ART OF SELF-DEFENSE (2019, Riley Stearns, A+25)

ชอบที่ในแง่นึง หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการต่อต้านอารมณ์ฮึกเหิม ลำพองใจบางอย่างที่ได้จากการดูหนังชุด KARATE KID และ IP MAN

IP MAN 4: THE FINALE (2019, Wilson Yip, Hong Kong/China, A+30)

ดูแล้วร้องห่มร้องไห้

Tuesday, January 28, 2020

PARADISE: HOPE (2013, Ulrich Seidl, Austria, A+30)


PARADISE: HOPE (2013, Ulrich Seidl, Austria, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
พอดูครบทั้งไตรภาค แล้วเราก็พบว่าหนังทั้งไตรภาค มันทำให้เรารู้สึก “พอเพียงกับชีวิตตัวเอง” มากๆ 555

คือในหนัง  feel good, mainstream ทั่วๆไป นางเอกของหนังมักจะเป็น “สาวสวย” ที่ “ต่อสู้เพื่อความฝัน” ของตัวเอง แล้วหนังก็จะจบอย่าง happy ending นางเอกเอาชนะอุปสรรคได้สำเร็จ, บรรลุความฝัน, ได้ผัวหนุ่มหล่อ อะไรทำนองนี้

ซึ่งหนัง feel good พวกนี้ ทำไมเราดูแล้วเรามักรู้สึก “แย่กับตัวเอง” ยังไงไม่รู้ 555 คือหนังพวกนี้มันมักจะทำให้เรารู้สึกอยู่ลึกๆว่า ชีวิตของตัวเอง “บกพร่องอย่างมากๆ” เราไม่สวยเหมือนนางเอก ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนนางเอก หาผัวไม่ได้เหมือนนางเอก etc.

แต่ในหนังไตรภาคชุด PARADISE ของ Ulrich Seidl นางเอกของทั้งสามเรื่องนี้ไม่ใช่ “สาวสวย” และพวกเธอก็ดูเหมือนจะมีความต้องการอะไรสักอย่าง พยายามไขว่คว้าอะไรสักอย่าง แต่ก็ล้วนพบกับความผิดหวังในท้ายที่สุด

พอเราดูหนังทั้ง 3 เรื่องในไตรภาค PARADISE เราก็เลยเกิดความรู้สึกตรงกันข้ามกับการดูหนัง feel good, mainstream โดยทั่วไป เพราะหนังไตรภาคชุด PARADISE ทำให้เรารู้สึก “โอเคมากๆกับชีวิตอันเต็มไปด้วยข้อบกพร่องของตัวเอง” เรารู้สึกโอเคที่เราไม่สวย, อ้วน, จน, แก่, หาผัวไม่ได้, เต็มไปด้วยปัญหาชีวิต, ชีวิตเต็มไปด้วยข้อบกพร่องเยอะแยะมากมาย เพราะหนังไตรภาคชุดนี้ของ Ulrich Seidl ทำให้เรารู้สึกว่า “ชีวิตอันเต็มไปด้วยข้อบกพร่องของเรา มันเป็นเรื่องธรรมดา” มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึก “ขาดพร่อง” เหมือนเมื่อเราดูหนัง mainstream ที่นางเอกสาวสวยประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

หนังไตรภาคชุด PARADISE ก็เลยทำให้เรารู้สึกพอเพียงมากๆ 555

Sunday, January 26, 2020

GO FOR IT, BABY

GO FOR IT, BABY (1968, May Spils, West Getmany, A+30)


1.รู้สึกดีใจที่เราดูหนังมานาน 20 กว่าปีแล้ว แต่มันยังมีหนังที่เต็มไปด้วย wavelengths แปลกๆใหม่ๆรอให้เราค้นพบอยู่เสมอ อย่างในช่วงต้นปีนี้เราก็เจอไปแล้ว 2 เรื่อง ซึ่งก็คือ มือปืนโลกพระจัน 2 กับ GO FOR IT, BABY

2.รู้สึกว่า GO FOR IT, BABY มันเป็นหนังที่มีส่วนผสมประหลาดมากสำหรับเรา เพราะเกือบตลอดทั้งเรื่องมันเป็นตัวละครหนุ่มสาวพูดคุยกัน ซึ่งองค์ประกอบนี้ทำให้นึกถึง Eric Rohmer แต่สิ่งที่พวกเขาพูดคุยกัน หรือทำกิจกรรมอะไรต่างๆด้วยกัน เหมือนนำพาไปสู่ ความว่างเปล่า ความไร้สาระ ความเสียสติ ซึ่งองค์ประกอบแบบนี้ทำให้นึกถึงหนังของ  Luis Bunuel, DAISIES (1966, Vera Chytilova, Czechoslovakia), BLOW UP (Michelangelo Antonioni)

3.สรุปว่า ทึ่งมากๆ กราบสุดๆที่ May Spils สามารถทำหนังที่รื่นรมย์มากๆได้ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งๆที่หนังทั้งเรื่องดูเหมือนแทบไม่มีแก่นสารสาระอะไรเลย นอกจาก "ความว่างเปล่าของชีวิต"

Thursday, January 23, 2020

LITTLE WOMEN (2019, Greta Gerwig, A+30)


LITTLE WOMEN (2019, Greta Gerwig, A+30)

1.เหมือนเป็นหนังที่เรา “ชื่นชม” (admire) มากกว่า “ชื่นชอบ” (like) เป็นการส่วนตัวนะ 555 เพราะในขณะที่ LADY BIRD (2017, Greta Gerwig) เป็นหนังที่เราดูแล้วอินสุดขีด จนยกให้มันติดอันดับ 4 ในลิสท์หนังประจำปี 2018 ของเรา เรากลับดู LITTLE WOMEN แล้วไม่อินเลย 555 แต่ก็รู้สึกว่าหนังมันดีนะ  คือเป็นความรู้สึกชอบหนัง ถึงแม้หนังมันไม่ touch อะไรเราเป็นการส่วนตัวก็ตาม คือถ้าจัดอันดับประจำปี 2020 หนังเรื่องนี้ก็คงไม่ติด top 50 อย่างแน่นอน แต่อาจจะติด top 100

2.ชอบความพยายามจะตัดสลับเวลาในหนัง เหมือนมันทำให้เราต้อง “ตั้งสติ” ให้ดี ว่าตอนนี้มันอดีตหรือปัจจุบันกันแน่ 555 และหนังมันเหมือนจะพยายามสร้าง “ความคล้องจอง” ผ่านทางการตัดสลับเวลาในช่วงต่างๆของหนังด้วย

3.เหมือนเวอร์ชั่นนี้มันให้ความสำคัญกับตัว Amy มากกว่าเวอร์ชั่นปี 1994 หรือเปล่า เราไม่แน่ใจเหมือนกัน ชอบที่ตัว Amy ดูมีความเป็น “เวฬุรีย์ แห่ง เพลิงพ่าย” อยู่ในบางช่วงอารมณ์

4.ชอบการต้องตัดสินใจเลือกผู้ชายของ Jo และ Amy ชอบที่ตัวละครเปลี่ยนใจไปมาว่าจะเอาใครเป็นผัวดีหรือไม่ มันดูละเอียดอ่อนดีในจุดนี้ คือมันไม่ใช่ว่า “ฉันรักเขาแน่ๆ จนฉันจะตอบตกลงในทันที ถ้าหากเขาขอแต่งงาน” แต่มันเป็นภาวะของความไม่แน่นอนทางใจ  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเข้าใจมากๆ มันเหมือนเป็นภาวะที่ว่า “ฉันชอบเขามากๆ แต่ฉันไม่แน่ใจว่าฉันต้องการเขาเป็นผัวจริงๆหรือเปล่า” อะไรทำนองนี้ ซึ่งเราว่ามันเป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน และอาจจะนำเสนอได้ยากกว่าภาวะ “ฉันต้องการเขาอย่างรุนแรง” แบบในหนังรักทั่วไป

5.ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมดูแล้วไม่อิน ตอนแรกเรานึกว่าคงเป็นเพราะ “บทประพันธ์ต้นฉบับ” มั้ง เพราะเราดูเวอร์ชั่นปี 1994 ของ Gillian Armstrong แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็น “หนังดีที่เราไม่อิน” เหมือนๆกัน แต่เรายังไม่เคยดูเวอร์ชั่นปี 1933 ของ Geoge Cukor/Katherine Hepburn นะ เห็นเขาบอกว่าเวอร์ชั่นของ George Cukor ยอดเยี่ยมสุดๆ

ตอนแรกเรานึกว่าเราคงไม่อินกับบทประพันธ์ต้นฉบับ แต่เห็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์หญิงคนนึง เขาเขียนว่าเขาอินกับบทประพันธ์ของ Louisa May Alcott อย่างรุนแรงมาก เขาอ่านหนังสือ LITTLE WOMEN มาแล้วหลายรอบมาก และเขาเกลียดภาพยนตร์เวอร์ชั่นของ Greta Gerwig มากๆ เราก็เลยไม่แน่ใจว่า ที่เราไม่อินมันเป็นเพราะตัวบทประพันธ์ หรือเป็นเพราะ choice ทางการกำกับของ Gerwig

6.หรือจริงๆอาจจะเป็นเพียงเพราะว่า เราไม่ค่อยอินกับหนังพีเรียด 555 เพราะพอลองมานึกๆดูแล้ว หนังพีเรียดที่กำกับโดยผู้หญิง ที่เราดูแล้วชอบสุดๆเป็นการส่วนตัว ก็อาจจะมีแค่ไม่กี่เรื่อง อยางเช่น เรื่อง SAINT-CYR (2000, Patricia Mazuy)

ในขณะที่หนังพีเรียดที่กำกับโดยผู้หญิงหลายๆเรื่อง มันจะเข้าข่ายเดียวกับ LITTLE WOMEN นั่นก็คือเรารู้สึกว่าหนังมันดีมาก แต่มันอาจจะไม่ touch เราเป็นการส่วนตัว อย่างเช่น THE BEGUILED (2017, Sofia Coppola), THE LAST MISTRESS (2007, Catherine Breillat), MANSFIELD PARK (1999, Patricia Rozema), ORLANDO (1992, Sally Potter), THE PIANO (1993, Jane Campion)

7.เนื่องจาก Greta Gerwig โด่งดัง ไปแล้ว เราก็เลยเหมือนรู้สึกไม่ต้องเอาใจช่วยอะไรเธออีก 555 แต่ถ้าหากมีผู้กำกับหญิงคนใด ที่เรารู้สึกอยากให้เธอโด่งดังถึงขั้นได้ชิงปาล์มทองหรือออสการ์ในอนาคต ผู้กำกับคนนั้นก็คือ Josephine Decker เพราะเราชอบ MADELINE’S MADELINE (2018, Josephine Decker) อย่างรุนแรงสุดๆ รู้สึกว่าหนังแบบ MADELINE’S MADELINE (ซึ่งพูดถึงผู้หญิงประสาทแดก 3 คน) นี่แหละ ที่เข้าทางเราจริงๆ

Wednesday, January 22, 2020

IN EVIL HOUR

IN EVIL HOUR (2005, Ruy Guerra, Brazil, A+30)

1.กราบตีน Ruy Guerra หนักที่สุด ชอบโครงสร้างการเล่าเรื่องมากๆ หนักหนาสาหัสมาก ไม่รู้ว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบนี้มันมาจากตัวบทประพันธ์ต้นฉบับของ Gabriel Garcia Marquez มากน้อยแค่ไหน ดูแล้วนึกถึงพวกหนังของ Alain Robbe-Grillet, Alain Resnais, Raoul Ruiz, Nobuhiko Obayashi ที่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องซับซ้อน หรือชอบเล่นกับ "เวลา" เหมือนๆกัน

2.ตอนแรกนึกว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นเหมือนกับ LE CORBEAU (1943, Henri-Georges Clouzot, A+30) ที่พูดถึงหมู่บ้านที่มีคนเขียน "จดหมายสนเท่ห์"  หรืออะไรทำนองนี้ เพื่อกล่าวร้ายคนต่างๆในหมู่บ้านไปเรื่อยๆ โดยเหมือน LE CORBEAU จะเน้นไปที่การหาตัวว่า "ใครคือคนเขียนจดหมาย" ที่กล่าวร้ายบุคคลต่างๆ

แต่ IN EVIL HOUR ไปไกลกว่า LE CORBEAU มากๆ เพราะหนังเหมือนไม่ได้ focus ว่า ใครคือบุคคลปริศนาที่เขียนจดหมาย แต่นำเสนอ การใส่ร้ายกันไปมา ว่าใครคือคนเขียนจดหมาย จนมันลุกลามไปถึงการก่อม็อบ และสงครามกลางเมือง

คือดูหนังเรื่องนี้ แล้วนึกถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 และนึกถึงเหตุการณ์  fake news ในยุคปัจจุบันด้วย เพราะในยุคนี้ เราต้อง

2.1 แยกแยะว่า อันไหน ข่าวจริง อันไหน ข่าวปลอม

2.2 ถ้าหาก A บอกว่า "B โกหก B ปล่อย fake news " จริงๆแล้ว A คือคนที่โกหกหรือเปล่า

2.3 ระวังการใช้ fake news ในการยุงยงปลุกปั่นให้เกิดสงคราม

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เลยสอดคล้องกับใน IN EVIL HOUR มากๆ

3.โครงสร้างการเล่าเรื่องมันหนักจริงๆ คือ

3.1 เราดูช่วงครึ่งแรก ไม่รู้เรื่องเลย

3 2 แล้วพอมาถึงครึ่งเรื่อง ตัวละคร A ก็ถูกฆ่าตาย แล้วตัวละครตัวนึงก็ไปหาหมอดูลูกแก้ววิเศษ แล้วหมอดูก็ส่องลูกแก้ว แล้วบอกว่า "ลูกศรของกาลเวลา มันพุ่งไปในทุกทิศทุกทาง"

3.2 แล้วหนังก็เหมือนไปตามลูกศรอันที่สองของกาลเวลา แล้วเราก็พบว่า หนังช่วงครึ่งแรก มันเล่าข้ามเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ มิน่าล่ะ กูถึงดูไม่รู้เรื่อง เหมือนช่วงครึ่งเรื่องแรก มันเล่า แบบ 1 3 5 7 9 แล้วพอตัวละครเจอหมอดู หนังก็เริ่มเล่าเหตุการณ์ที่ 2 4 8

3.3 กูก็ดูด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง นึกว่ากูจะดูรู้เรื่อง ต่อ jigsaw เหตุการณ์ในหนังได้ครบแล้ว ปรากฏว่า พอต่อจาก 8 แทนที่จะเป็น 9 มันดันกลายเป็น "-9" คือเกิดเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับ 9 ในช่วงครึ่งเรื่องแรก

3.4 แล้วหนังก็เล่าตาม "ลูกศรแห่งกาลเวลาอันที่สาม" "อันที่สี่" อะไรแบบนี้อีก คือดูแล้วไม่รู้ว่ามันเป็น alternate universe  หรือเป็นความฝันของตัวละครตัวไหนในหนังกันแน่

4.สรุปว่า โครงสร้างการเล่าเรื่องมันไปสุดทางจริงๆ กราบตีนมากๆ

THE LIGHTHOUSE

DOSSIER OF THE DOSSIER (2019, Sorayos Prapapan, A+30)
เอกสารประกอบการตัดสินใจ

หนังสั้นเกี่ยวกับหนังสั้น ชอบฉากที่ "นายทุนสร้างหนัง" โผล่มามากๆ แอบสงสัยว่าต้องการพาดพิงใคร 555

ดูแล้วนึกถึง EASTERN WIND (Michael Shaowanasai) กับ THE PLAYER (1992, Robert Altman) ในแง่การสะท้อนตัวเอง เพราะ THE PLAYER เป็นหนังฮอลลีวู้ดที่สะท้อนวงการฮอลลีวู้ด ส่วน EASTERN WIND เป็นหนังทดลอง/ผลงานศิลปะ ที่สะท้อนวงการศิลปะ

 ASHFALL (2019, Kim Byung-seo, Lee Hae-jun, South Korea, A+30)

1.ช่วงแรกๆรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะมันทำให้นึกถึงหนังฮอลลีวู้ดยุค 20-30 ปีก่อน ประเภท THE CORE (2003, Jon Amiel), DAYLIGHT (1996, Rob Cohen) อะไรทำนองนี้ (แต่เราไม่ได้ดู VOLCANO (1997, Mick Jackson) กับ  DANTE’S PEAK (1997, Roger Donaldson) ส่วน KRAKATOA: EAST OF JAVA (1968, Bernard L. Kowalski) นั้น เคยมาฉายทางทีวีตอนที่เราเด็กเกินไป จนเราจำอะไรไม่ได้)

รู้สึกว่า ASHFALL มันก็ดูสนุกตามสูตรสำเร็จดี เมื่อเทียบกับหนังฮอลลีวู้ดแบบ DAYLIGHT

2.แต่ช่วงท้ายๆคะแนนความชอบของเราที่มีต่อ ASHFALL ก็ drop ลง เพราะเราหยุดหัวเราะไม่ได้อีกต่อไป เพราะเหมือน ASHFALL มันรวบรวมความ cliché ทุกอย่างของหนังทำนองนี้มาระดมใส่ในช่วง 30 นาทีสุดท้ายของหนัง จนมันกลายเป็นหนังตลกสำหรับเราโดยไม่ได้ตั้งใจ 555

ตัวอย่างความ cliché ก็คือว่า ในหนัง disaster ทำนองนี้ มันจะต้องมีตัวละครผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ท้องแก่ และปะเหมาะจะต้องมาน้ำคร่ำแตกตอนที่เกิดหายนะพอดีด้วย ซึ่งถ้าเป็นในโลกแห่งความเป็นจริง เราก็คงสงสารผู้หญิงตั้งครรภ์อย่างมากๆนะ แต่พอมันมาอยู่ในหนัง disaster ทำนองนี้ เราก็รู้สึกเหมือนหนังมันจงใจจะต้องมาน้ำคร่ำแตกเอาวันนั้นพอดีน่ะ เราก็เลยหัวเราะจนหยุดไม่ได้

จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆเรื่องนึง ซึ่งก็คือหนังเรื่อง TOMORROW (1988, Kazuo Kuroki) ซึ่งจริงๆแล้วเป็นหนังที่ดีมาก เพราะหนังพูดถึงชีวิตคนหลายคนในเมืองนางาซากิ ในวันก่อนวันที่จะถูกระเบิดปรมาณูถล่มในเดือนส.ค.ปี 1945 แต่ก็แน่นอนว่า ในบรรดาตัวละครหลายตัวนี้ จะต้องมีผู้หญิงท้องแก่ใกล้คลอดก่อนระเบิดปรมาณูถล่มอยู่ด้วย

PHOTOGRAPH (2019, Ritesh Batra, India, A+30)

รู้สึกเหมือนมันดูละเมียดละไมขึ้นเมื่อเทียบกับ THE LUNCHBOX (2013,  Ritesh Batra)

THE LIGHTHOUSE (2019, Robert Eggers, Canada/USA, A+30)

ชอบสุดๆ ชอบงานด้านภาพแบบนี้ มันดูขลังมากๆ

สำหรับเราแล้ว เราดูแล้วรู้สึกอินกับหนีงเรื่องนี้มากกว่า  KUMANTHONG 555 เพราะเราเป็นคนที่เล่นกับตุ๊กตาหมี เราชอบจินตนาการว่า ตุ๊กตาหมีมันเป็นลูกของเรา อะไรทำนองนี้ หนังเรื่อง THE LIGHTHOUSE มันก็เลยเข้าทางเรามากกว่า เพราะเหมือน KUMANTHONG มันจะสอนเราว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" โดยเฉพาะอย่าไว้ใจหมอและหนุ่มหล่อๆ ส่วน THE LIGHTHOUSE มันสอนเราว่า "อย่าไว้ใจความคิดของตัวเอง จิตตัวเอง" หนังเรื่องนี้มันก็เลยเข้าทางเรา เพราะในชีวิตเรานั้น แทบไม่มีหนุ่มหล่อๆมาหลอกเรา มีแต่เรานี่แหละที่ "จินตนาการถึงผัว" มาหลอกตัวเองให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ 555

เหมือนใน THE LIGHTHOUSE ตัวชายหนุ่มมันต้องรับมือกับทั้งเพื่อนร่วมงาน และ "จิตตัวเอง" น่ะ เราก็เลยอินกับมันตรงส่วนนี้

Sunday, January 19, 2020

KUMANTHONG


KUMANTHONG (2019, Le Binh Giang, Phan Gia Nhat Linh, Huu-Tuan Nguyen, Ham Tran, Vietnam, A+30)

1.ชอบการฝึกพิษของพระเอกมากๆ นึกถึงฮึงลี้ใน “ดาบมังกรหยก” ที่ต้องฝึกวิชาด้วยการให้แมงมุมในกล่องที่แม่ทิ้งไว้ให้กัดไปเรื่อยๆ

2.เหมือนเป็นหนังเรื่องแรกที่เราได้ดู ที่พูดถึงความเชื่อเรื่องไสยาศาสตร์ของชาวเวียดนาม พอดูแล้วก็พบว่า มันมีความใกล้เคียงกับไสยาศาสตร์ของไทย, เขมรอะไรพวกนั้นด้วย

พอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เลยสงสัยว่า ก่อนที่ ศาสนาพุทธ, ศาสนาคริสต์, ศาสนาอิสลาม และคอมมิวนิสต์จะเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนในภูมิภาคนี้เขามีความเชื่ออย่างไรกันบ้าง บางทีมันอาจจะมีความเชื่อคล้ายๆกันก็ได้ แต่พอศาสนาใหญ่ๆและคอมมิวนิสต์เข้ามา ความเชื่อเหล่านี้ก็ถูกบดบังหรือแปรสภาพไป

เพราะความเชื่อไสยาศาสตร์ของไทยกับเขมรมันใกล้กันมากๆ และเหมือน “ผีกระสือ” ของไทยก็คล้ายๆกับปีศาจอะไรสักอย่างในฟิลิปปินส์ และถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ชาวลาวในอดีตก็เชื่อเรื่องพญานาคเหมือนไทยใช่ไหม ซึ่งความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นความเชื่อที่น่าจะดำรงอยู่ก่อนศาสนาพุทธ





BALLAD ON THE SHORE

FAUCARIA (2019,  Pipat Wattanapanit พิพัฒน์ วัฒนพานิช, A+30)
กรามเสือ

1.ชอบความพิศวงในหนังมากๆ หนังสร้างความพิศวงได้ดีว่า ตกลงจริงๆแล้วเกิดอะไรขึ้น และมันเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ และจริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น

2.พระเอกหล่อมาก และหนังใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ดีมาก

3.แทบไม่น่าเชื่อว่า เป็นผู้กำกับคนเดียวกับหนังเรื่อง รักสิ้นคิด ซึ่งเราดูแล้วไม่ชอบ 555

JESSICA FOREVER (2018, Caroline Poggi, Jonathan Vinel, France, A+30)

1.นึกว่ามีฉากคลาสสิคทุก 5 นาที ฉากที่เราชอบสุดๆก็มีเช่น

1.1  ฉากทะลุกระจก ตอนต้นเรื่อง

1.2 ฉากภูติน้ำ

1.3 ฉากแดกบะหมี่หลังความตาย

1.4 ฉากเลือดไหลลงมาทีละน้อย

1.5 ฉากหญิงสาวให้คำตอบแก่ชายหนุ่ม

และอีกหลายๆฉากที่ตัวละครโพสท่าเหมือนอยู่ในโฆษณา

2. รู้สึกเหมือนตัวละครในเรื่องนี้อยู่ตรงกลางระหว่างตัวละครหนุ่มสาวใน NOCTURAMA (2016, Bertrand Bonello) กับกลุ่มฆาตกรโรคจิตใน A CLOCKWORK ORANGE (Stanley Kubrick) 

BALLAD ON THE SHORE (2017, Ma Chi Hang, Hong Kong, documentary, A+30)

1.งดงามมากๆ หนังตามบันทึกอดีตชาวประมงวัยชราหลายๆคนที่ยังร้องเพลงเรือได้ คือฮ่องกงในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน มีชาวประมงจำนวนมาก และชาวประมงเหล่านี้เคยร้องเพลงเรือกัน แต่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีคนที่ร้องเพลงเรือได้แล้ว หนังเรื่องนี้ก็เลยพยายามบันทึกสิ่งนี้ไว้ ก่อนที่มันจะหายสาบสูญไปตลอดกาล

2.ชอบการร้องเพลงแบบ improvise มากๆ

3.ชอบเรื่องของนักร้องหญืงคนนึง ที่ทะเลาะกับลูกชาย และมีส่วนทำให้ลูกชายออกจากบ้านไปตั้งแต่เขาอายุ 17 ปี และลูกชายก็หายสาบสูญไปเลยเป็นเวลานาน 10 ปีแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง

Saturday, January 18, 2020

PARADISE: FAITH

PARADISE: FAITH (2012, Ulrich Seidl, Austria, A+30)

ชอบสาวรัสเซียในหนังมากๆ คือนางเอกเธอทำตัวแรง โรคจิตมาตลอดทั้งเรื่อง แต่อีสาวรัสเซียเธอโผล่มาช่วงท้ายเรื่องเพื่อกำราบอีนางเอกจริงๆ

Thursday, January 16, 2020

RETURN IF POSSIBLE


 THAI FILMS WHICH I SAW ON TUESDAY, NOV 19, 2019

1.Return If Possible / ภาษิต พร้อมนำพล / 14.37 นาที A+30
งดงามที่สุด หนังแบ่งเป็น 3 องก์ องก์แรกพูดถึงหนุ่มสาวคู่นึงในวัยมัธยม องก์ที่สองพูดถึงเกย์หนุ่ม 2 คน และองก์ที่สามพูดถึงชายหนุ่มความจำเสื่อมกับพี่สาว ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ตัวละครผู้ชายในทั้ง 3 องก์คือคนเดียวกัน แต่หนังใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบก้าวกระโดดมากๆระหว่างองก์ต่างๆ และเว้นที่ว่างไว้เยอะมากเพื่อให้ผู้ชมปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเอง

ตัวละครที่ดูเหมือนมีความกำกวมทางเพศในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง ISOLATE (2016, Pasit Promnumpol) ซึ่งเป็นหนังที่ติดอันดับ 19 ของเราประจำปี 2016 เราจำได้ว่า ตอนดู ISOLATE เราไม่รู้เลยว่า ตัวละครเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่ (เหมือนตัวละครหนึ่งตัวแยกจิตออกเป็นหญิง+ชายที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลา) เราต้องมาอ่านเรื่องย่อทีหลังแล้วถึงค่อยเข้าใจว่า ตัวละครเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

2.Rêverie / อานันท์ ยี่รัมย์ / 9.42 นาที E A+30
หนังที่เหมือนผสม Jean-Luc Godard กับ Wong Kar-wai เข้าด้วยกัน

3.Raise a Dust / กุลนิดา ประจำที่ / 11.53 นาที A+30
หนังพิศวงมาก ไม่แน่ใจว่าต้องการพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า 555

4.Reverse / ปัญญา ชู / 10.51 นาที E A+30
หนังเลสเบียน ชอบฉากขี่มอเตอร์ไซค์ในช่วงท้ายของหนัง

5.Ride to the Light / เชาว์ คณาวุฒิกานต์ / 5.34 นาที ANIMATION, A+30
พระเอกต่อสู้กับตัวประหลาด พอพระเอกร้องไห้ น้ำตาก็หยดลงมา กลายเป็นต้นไม้ที่พระเอกกินแล้วมีพลังต่อสู้กับผู้ร้าย

6.Rapthai (แร็พไทย) / จิรกานต์ สกุณี, วิชยุตม์ พรประเสริฐ, ศรัณญ์ โฆษิตสุขเจริญ / 24.46 นาที E DOCUMENTARY, A+25

7.Reincarnated Light (Left) / จักรพันธ์ ศรีวิชัย / 12.42 นาที A+25
Reincarnated Light (Right) / จักรพันธ์ ศรีวิชัย / 12.42 นาที A+25
พิศวงมากๆ

8. The Reaction / กันตพล ดวงดี / 4.30 นาที E A+25
ชอบ concept ของหนัง ที่เน้นถ่ายหน้าคนฟังมากกว่าหน้าคนพูด แต่ถ้าหากเราไม่รู้ concept มาก่อน เราก็มีสิทธิไม่ได้สังเกตว่าหนังมันแปลกแบบนี้ 555

9.Retire the Die Hard / สรณะ เศรษฐเจริญสุข / 20.02 นาที A+15
หนังน่ารักดี เกี่ยวกับความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ที่ตัวพ่อเป็นอดีตตำรวจที่ชอบดูหนังเรื่อง DIE HARD หนังเรื่องนี้มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

10.Red Nose จมูกสั่งตาย / ธนกฤต กิติอภิธาน / 24 นาที A+15
หนังคัลท์ที่ทำให้นึกถึงหนังของกลุ่ม "ยอดเซียนซักแห้ง" และอาจจะจัดเป็นหนึ่งในหนังกลุ่ม dystopia ของไทยที่มีการผลิตออกมาเยอะมากในช่วงนี้ โดยหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของคนที่ "จมูกจะกลายเป็นสีแดง" เมื่อเข้าไปใกล้คนที่เป็นกบฏ หรือคนที่ต่อต้านรัฐบาล

11.Recently. / วุฒิไกร สามนต์ / 1 นาที E A+


ATMAN (1975, Toshio Matsumoto, Japan, A+30)

ดูแล้วจินตนาการได้เลยว่า ถ้าหากเราสร้างหนัง superhero สักเรื่อง ฉากเปิดตัวผู้ร้าย แบบ "นางพญากามาตุ๊กแกทอง" ก็คงออกมาแบบหนังเรื่องนี้แหละ คือนางพญากามาตุ๊กแกทอง ไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งเฉยๆอย่างเดียว แต่หนังถ่ายเธอจาก 480 มุมที่แตกต่างกัน แล้วเอาภาพนิ่ง 480 ภาพมาตัดต่อเข้าด้วยกันอย่างพืลึกพิลั่นอิทธิฤทธิ์ปาหาริย์สูงแบบในหนังเรื่องนี้

ภาพด้านขวาคือ diagram จุดวางตำแหน่งของกล้อง 480 จุดที่ใช้ถ่ายตัวละครใน ATMAN

ONE, TWO, THREE (1961, Billy Wilder, A+30)

กราบมากๆ ทั้งผู้กำกับ, คนเขียนบท และคนแปลซับไตเติล เพราะหนังมันยาวเกือบ 2 ชั่วโมง และตัวละครมันพูดรัวเป็นปืนกลตั้งแต่ต้นจนจบเรี่อง ไม่รู้ว่าคนแปลซับต้องเหนื่อยขนาดไหนกว่าจะแปลเสร็จ

Monday, January 13, 2020

THE FAREWELL (2019, Lulu Wang, USA, A+15)


THE FAREWELL (2019, Lulu Wang, USA, A+15)

1.กะไว้ก่อนดูหนังเรื่องนี้ว่าเราคงจะไม่อิน พอดูแล้วก็ไม่อินจริงๆด้วย 555 แต่ก็ชอบที่หนังมันทำให้เราได้เห็นสภาพครอบครัวที่แตกต่างจากเราอย่างรุนแรง และแนวคิดที่แตกต่างจากเราอย่างรุนแรง เหมือนหนังมันทำให้เราได้เข้าใจ “คนอื่นๆ” น่ะ

2.ชอบที่หนังมันไม่พยายามทำซึ้งมากเกินไป

3.ชอบที่หนังมันเลือกจุด focus เป็นตัวนางเอกด้วย เพราะจริงๆแล้วพล็อตหนังแบบนี้ มันมักจะ focus ไปที่ตัว “ชายหนุ่ม+หญิงสาว” ที่จัดพิธีแต่งงานปลอมๆเพื่อหวังผลบางอย่าง แต่ไปๆมาๆชายหนุ่ม+หญิงสาวก็เกิดตกหลุมรักกันจริงๆ 5555 (นึกถึง GREEN CARD ของ Peter Weir หรือ A YOUNG WOMAN NAMED XIAO YU ของ Sylvia Chang) ในขณะที่ตัวละครแบบนางเอกจะเป็นเพียง “ญาติคนนึงที่มาร่วมในพิธีแต่งงานปลอมๆ” เท่านั้น

4.ตัวละครที่ชอบที่สุดคือแม่ของนางเอก เพราะเธอดูเหมือนจะผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเยอะดี และรู้ทั้งข้อดีข้อเสียของการใช้ชีวิตในจีนและสหรัฐอเมริกา ชอบฉากที่เธอปะทะกับญาติๆคนอื่นๆมากๆ

ตัวละครแม่นางเอก ดูแล้วนึกถึงหนังสารคดีเรื่อง MAGGIE LEE’S MOMMY (2015, Maggie Lee) มากๆ ซึ่งเป็นหนังสารคดีที่ผู้กำกับหญิงชาวจีนทำเกี่ยวกับแม่ของตัวเอง ซึ่งอพยพจากจีนมาอยู่อเมริกาในทศวรรษ 1970 (ถ้าจำไม่ผิด) และต้องก่อร่างสร้างตัวอย่างยากลำบากในยุคนั้น

5.ถ้าเราป่วยเป็นอะไร ก็บอกเราตามตรงนะ อย่ามาโกหกเราแบบในหนังเรื่องนี้เป็นอันขาด เราจะได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตด้วยการมี sex กับชายหนุ่มจำนวนมากมายอย่างเต็มที่ 55555

6.ที่เราบอกว่าสภาพครอบครัวในหนังเรื่องนี้แตกต่างจากเราอย่างรุนแรง เพราะเราเองแทบไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า ปู่กับย่าของเราชื่ออะไร 55555 คือเราเพิ่งนึกขึ้นมาได้เมื่อเราอายุ 46 ปี (ปี 2019) ว่าเราไม่เคยรู้เลยว่าปู่กับย่าของเราชื่ออะไร เราก็เลยถามแม่ของเรา แม่ก็บอกว่า ปู่ของเราชื่อ “หวาน” ส่วนย่านั้น แม่เองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ย่าของเราชื่ออะไร

ส่วนตากับยายของเรานั้น เราเคยเจอตอนเด็กๆ แต่เราก็ไม่ได้สนิทกับตากับยายสักเท่าไหร่

จริงๆเราก็แอบขำตัวเองเหมือนกัน ที่ดูเหมือนจะจดจำชื่อผู้กำกับหนังเรื่องต่างๆได้ดีมาก แต่พอเราอายุ 46 ปี เราถึงเพิ่งรู้ตัวว่า เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ปู่กับย่า ของเราชื่อว่าอะไร 55555


KIM JI-YOUNG: BORN 1982 (2019, Kim Do-Young, South Korea, A+30)


KIM JI-YOUNG: BORN 1982 (2019, Kim Do-Young, South Korea, A+30)

1.“Secret wounds all add up” –ตัวละครตัวนึงในหนังการ์ตูนเรื่อง DILILI IN PARIS (2018, Michel Ocelot, France) พูดไว้ และมันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง KIM JI-YOUNG มากๆ เพราะเราชอบสุดๆที่หนังเรื่องนี้มันเน้นนำเสนอการทับถม หมักหมมรวมกันของบาดแผลเล็กๆน้อยๆในชีวิต ซึ่งถ้าหากมันโดนครั้งเดียว มันก็เป็นบาดแผลเล็กๆนิดเดียว ที่คงไม่สร้างปัญหาอะไร แต่ถ้าหากเราโดนเชือดเฉือนบ่อยๆ ด้วยคำพูดเหยียดหยาม ดูถูก, การกระทำ, การพูดจาแทะโลม ฯลฯ มันก็จะกลายเป็น secret wounds ทางใจ ที่มันจะทับถมกันไปเรื่อยๆ จนมันระเบิดออกมา

เราชอบการเปรียบเทียบของอุ้ย Ratchapoom มากๆ ที่อุ้ยพูดในทำนองที่ว่า หนังเรื่องอื่นๆมันชอบนำเสนอตัวละคร “ผู้หญิงถูกข่มขืน” คือหนังเรื่องอื่นๆมันชอบนำเสนอตัวละครที่บาดเจ็บระดับ “100/100” เพราะมันเห็นชัด แต่ในแง่นึง มันก็มีมนุษย์ที่ไมได้บาดเจ็บในระดับ 100/100 แต่บาดเจ็บในระดับ 10/100 ในทุกๆวัน ด้วยการถูกพูดจาแทะโลม หรือถูกพูดจาดูถูกใส่ในฐานะผู้หญิง หรืออะไรทำนองนี้ แล้วไอ้การบาดเจ็บในระดับ 10/100 ไปเรื่อยๆในทุกๆวันแบบนี้ มันย่อมต้องส่งผลต่อสภาพจิตของมนุษย์คนนั้นแน่ๆ หรือมันอาจจะทำให้เกิด “อาการทุกข์ใจที่อธิบายไม่ได้” หรือ “อาการเศร้าใจที่อธิบายไม่ได้ขึ้นมา” และนี่คือสิ่งที่มักไม่ได้รับการนำเสนอในหนังทั่วไป เพราะมันยากจะนำเสนอได้

เราก็เลยกราบมากๆ ชอบมากๆที่มีหนังแบบนี้ออกมา

2.ชอบที่หนังนำเสนอตัวละครสามีในแบบของสามีสุดหล่อนิสัยดีที่พยายามจะทำความเข้าใจนางเอกด้วย เพราะถ้าหากหนังนำเสนอสามีในแบบของสามีนิสัยเลว ทุบตี ขี้เหล้าเมายา อะไรแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่าปัญหาของนางเอกเกิดจาก “มึงเลือกผัวผิด แล้วจะโทษใคร” น่ะ แต่พอนางเอกได้ผัวดีแบบนี้ ปัญหาของนางเอกก็เลยเกิดจากโครงสร้างสังคม มากกว่าจะเกิดจากการเลือกผัวผิด

คือถ้าหากนางเอกได้ “ผัวเลว” เราก็จะแอบนึกไปถึงนิยายหลายๆเรื่องของทมยันตีน่ะ 55555 คือเราว่าจริงๆแล้วนิยายหลายเรื่องของทมยันตีมันจะมีการนำเสนอปัญหาสิทธิสตรีอยู่ด้วย หรือปัญหาที่นางเอกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมไทยเพราะความเป็นผู้หญิงอยู่ด้วย แต่ในนิยายกลุ่มนี้ นางเอกมักจะเจอทุกข์หนักเพราะ “ผัวเลว” น่ะ อย่างเช่น “เพลงชีวิต” และ “โซ่สังคม” (ถ้าจำไม่ผิด) เพราะฉะนั้นนิยายอย่าง “โซ่สังคม” มันก็เลยอาจจะนำเสนอปัญหาชีวิตผู้หญิงทั่วไปได้อย่างไม่รอบด้านเท่า KIM JI-YOUNG

แต่พอดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว เราก็อยากให้มีคนเอา “โซ่สังคม” ของทมยันตีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นะ เหมือนกับว่ายังไม่เคยมีใครเอาโซ่สังคมมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครทีวีเลยน่ะ ทั้งๆที่มันเป็นนิยายที่เราชอบสุดๆเรื่องนึง

3.ชอบที่หนังเหมือนเลือกจะนำเสนอปัญหาชีวิตผู้หญิง “รอบด้าน” แทนที่จะเล่าเพียงปัญหาเดียว แล้วตัวละครก็เอาชนะอุปสรรคนั้น แล้วก็จบน่ะ

จริงๆดูแล้วนึกถึงหนังอย่าง THE CIRCLE (2000, Jafar Panahi, Iran) แต่ THE CIRCLE ใช้วิธีนำเสนอชีวิตผู้หญิงหลายๆคน หลายๆตัวละคร เพื่อจะได้นำเสนอปัญหาสิทธิสตรีได้รอบด้าน ในขณะที่ KIM JI-YOUNG เลือกใช้ตัวละครตัวเดียวเป็นสื่อกลางในการนำเสนอปัญหารอบด้าน

แต่ก็มีหนังที่ใช้ตัวละครตัวเดียวในการนำเสนอปัญหารอบด้านได้ดีสุดๆเหมือนกันนะ นั่นก็คือตัวละครหญิงในหนังเยอรมันตะวันตกของ Helke Sander อย่างเช่นใน THE ALL-ROUND REDUCED PERSONALITY – REDUPERS (1978) และ THE SUBJECTIVE FACTOR (1981) น่ะ

แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า ถึงแม้ผู้หญิงเยอรมันตะวันตกจะมีปัญหาสิทธิสตรีอยู่บ้างในทศวรรษ 1970 แต่ปัญหามันก็ “เบา” กว่า KIM JI-YOUNG หลายเท่าน่ะ 555 เพราะฉะนั้นหนังของ Helke Sander ก็เลยมีพื้นที่ในการพูดถึง “ปัญหาการเมือง เยอรมันตะวันตก-ตะวันออก โลกเสรีนิยม-คอมมิวนิสต์” อะไรพวกนั้นด้วย แทนที่จะพูดถึง “การแบ่งเวลาทำงาน+เลี้ยงลูก ท่ามกลางโลกทุนนิยม” อะไรเพียงอย่างเดียว

4.ที่เราบอกว่า ชอบที่ KIM JI-YOUNG มันเลือกจะนำเสนอปัญหา “รอบด้าน” เป็นเพราะว่า มันช่วยให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังสิทธิสตรีเรื่องอืนๆอีกหลายๆเรื่องน่ะ

เพราะหนังสิทธิสตรีในยุคปัจจุบันที่เราได้ดู ส่วนใหญ่จะเป็น “หนังอินเดีย” น่ะ เพราะปัญหาสิทธิสตรีในประเทศอืนๆมันดูเหมือนเบาบางลงไปมากแล้ว เมื่อเทียบกับในยุคเมื่อหลายสิบปีก่อน ในขณะที่ปัญหาสิทธิสตรีในอินเดียมันยังรุนแรงอยู่มาก มันก็เลยมีการผลิตหนังอินเดียที่สะท้อนปัญหานี้ออกมาเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา

แต่หนังสิทธิสตรีของอินเดียที่เราได้ดู ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องของตัวละครนางเอกที่ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำภารกิจอะไรบางอย่าง แล้วพอปฏิบัติภารกิจนั้นได้เสร็จ หนังก็จบลงอย่าง happy ending น่ะ อย่างเช่น

4.1 หนังเกี่ยวกับการขึ้นโรงขึ้นศาล ที่มีเยอะมาก อย่างเช่น PINK (2016, Aniruddha Roy Chowdhuri) ที่พอตัดสินคดี ฝ่ายนางเอกชนะคดี หนังก็จบ

4.2 หนังเกี่ยวกับนักกีฬาหญิง ที่ต้องต่อสู้กับทัศนคติในสังคม แต่พอนางเอกแข่งขันชนะ ผู้คนทั้งประเทศชื่นชม หนังก็จบ อย่างเช่น BULL’S EYE (2019, Tushar Hiranandani)

4.3 หนังที่นางเอกมีความใฝ่ฝันอะไรสักอย่าง แต่ต้องเผชิญกับข้อห้ามทางสังคมหรือการต่อต้านจากสมาชิกครอบครัว แต่พอนางเอกทำตามความฝันได้สำเร็จ หนังก็จบ อย่างเช่น SECRET SUPERSTAR (2017, Advait Chandan), TUMHARI SULU (2017, Suresh Triveni)

4.4 หนังที่นำเสนอนางเอกกร้าวแกร่ง ปราบปรามเหล่าร้าย อย่างเช่น MARDAANI 2 (2019, Gopi Puthran), GULABI GANG (2012, Nishtha Jain)

ซึ่งจริงๆเราก็ชอบหนังอินเดียกลุ่มนี้มากๆ มันนำเสนอปัญหาสิทธิสตรีได้ดีมากๆด้วย แต่ในแง่นึง มันก็เหมือนกับว่า หนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้เลือกที่จะพูดถึง “ปัญหาสิทธิสตรี 1 อย่าง ต่อหนัง 1 เรื่อง” อะไรทำนองนี้ มันก็เลยทำให้หนังกลุ่มนี้แตกต่างจาก KIM JI-YOUNG และ THE ALL-ROUND REDUCED PERSONALITY – REDUPERS ที่เลือกจะนำเสนอ “ปัญหารอบด้านของชีวิต” แทนที่จะพูดถึงปัญหา 1 อย่าง

5.ชอบตัวละครเจ้านายหญิงของ Kim Ji-Young มากๆ เธอเก่งมาก แกร่งมาก เห็นแล้วนึกถึง Amanda (Heather Locklear) ในละครทีวีชุด MELROSE PLACE ซึ่งถือเป็นตัวละคร role model ตัวนึงสำหรับเรา

6.จริงๆดูแล้วนึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆหลายๆเรื่อง ที่นำเสนอ “ชีวิตแม่บ้าน” แต่หนังกลุ่มนี้มักจะเป็น “หนังฝรั่ง” ที่สร้างขึ้นเมื่อ 30-40 ปีก่อนน่ะ อย่างเช่น

6.1 BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder)

6.2 JEANNE  DIELMAN, 23, QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman, Belgium)

6.3 THE LEFT-HANDED WOMAN (1978, Peter Handke, West Germany)

6.4 SHIRLEY VALENTINE (1989, Lewis Gilbert, UK)

6.5 SWANN (1996, Anna Benson Gyles, Canada)

เราก็เลยคิดว่า หนังพวกนี้มันสะท้อนปัญหาสังคมของแต่ละสังคมในแต่ละยุคสมัยได้ดีเหมือนกัน เหมือนกับว่าเอาเข้าจริงแล้ว หลายๆสังคมมันก็มีปัญหาสิทธิสตรีเหมือนกัน แต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป และระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาหรือยุคสมัย

เราก็เลยเหมือนไม่ค่อยเห็นหนังฝรั่งที่พูดถึงปัญหาสิทธิสตรีมากนักในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็คงเป็นเพราะว่าสังคมตะวันตกมันแตกต่างจากสังคมเกาหลีใต้มากๆ จะมีที่ได้ดูล่าสุดก็คือ BLACK CHRISTMAS (2019, Sophia Takal) ที่เราชอบมากๆ เพราะ BLACK CHRISTMAS พยายามจะบอกว่า ผู้ร้ายที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ก็คือ แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ ในหัวของคนแต่ละคน ที่อาจจะได้รับการปลูกฝังมาจาก สิ่งที่เขียนโดยผู้ชายในอดีตเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน  แต่น่าเสียดายที่ BLACK CHRISTMAS นำเสนอ message นี้ด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่ 555

7.จริงๆแล้วแอบสงสัยด้วยแหละ ว่าปัญหาในไทยมันรุนแรงเท่าในเกาหลีใต้หรือเปล่า เหมือนเพื่อนผู้ชายคนนึงมองว่า สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันไม่กดขี่บทบาทของผู้หญิงมากเท่าญี่ปุ่น+เกาหลีใต้น่ะ เหมือนผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัทได้ง่ายกว่าเยอะ ถ้าหากเธอรวย หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งเราก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ผู้หญิงไทยน่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีกว่า

8.ชอบฉากการพูดคุยกันของแม่บ้านมากๆ ที่เหมือนบางคนเรียนจบปริญญาตรีวิศวะมา แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำงานอะไร อยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว

อันนี้ดูแล้วนึกถึงชีวิตเราเองและเพื่อนๆหลายคนมากๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ในกรณีของเรากับเพื่อนๆนั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิสตรีแต่อย่างใด มันเป็นเพียง “ความจริงอันน่าเศร้าของชีวิต” น่ะ ที่ชีวิตไม่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความสามารถอันแท้จริงของตัวเอง แต่ต้องทำอะไรก็ได้ เพื่อจะได้ “หาเงินมายังชีพ”

9.อาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยอ่านนิยาย เราก็เลยไม่มีปัญหากับตอนจบของหนังเรื่องนี้ 5555 และเราก็แอบคิดว่า ถ้าหากมันจบด้วยการหย่าผัว มันก็จะไปซ้ำกับ SHIRLEY VALENTINE และ THE LEFT-HANDED WOMAN น่ะ หรือถ้าหากมันจบด้วยการลุกขึ้นมาฆ่าคน มันก็จะไปซ้ำกับ JEANNE DIELMAN, BREMEN FREEDOM, BAISE-MOI อะไรทำนองนี้ เราก็เลยค่อนข้างโอเคกับตอนจบของหนัง ถึงแม้จะรู้สึกว่า จริงๆแล้วมันควรจะฉายหนังเรื่องนี้ควบกับ THE LEFT-HANDED WOMAN ก็ตาม

ที่เราคิดว่า หนังเรื่องนี้ควรฉายควบกับ THE LEFT-HANDED WOMAN เพราะเรามองว่า  THE LEFT-HANDED WOMAN มันเป็นเหมือนกับ “a sequel to the alternaive ending” ของ KIM JI-YOUNG น่ะ เพราะ THE LEFT-HANDED WOMAN มันเปิดเรื่องด้วยการให้นางเอกขอหย่าขาดจากผัวโดยไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น แล้วหนังก็เล่าว่านางเอกปรับตัวให้เข้ากับชีวิตโสดอย่างไรบ้าง มีฉากที่เธอพยายามหางานทำใหม่ ฉากที่เธอวิ่งกระโดดโลดเต้นไปตามถนนอย่างสนุกสนานกับลูก หรืออะไรทำนองนี้ เราก็เลยมองว่า ถ้าหาก KIM JI-YOUNG จบด้วยการหย่าผัว เราก็สามารถดูชีวิตของนางเอกต่อไปได้ในหนังเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN นี่แหละ

10. จริงๆแล้วสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เราชอบ KIM JI-YOUNG มากๆ เพราะเราก็มองว่า ตัวเองก็เป็นโรคจิตอ่อนๆคล้ายๆนางเอกเช่นกัน 555

คือเราว่าโรคจิตมันมีหลายระดับน่ะ คือคนที่เป็นโรคจิตเต็มตัว ก็คือคนที่มี split personality อย่างเช่นในหนังเรื่อง SPLIT (2016. M. Night Shyamalan), ล่า ของทมยันตี และในละครทีวีที่สร้างจากเรื่องจริง อย่างเช่นเรื่อง VOICES WITHIN: THE LIVES OF TRUDDI CHASE (1990, Lamont Johnson) ที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงที่มี 92 บุคลิกภาพ เพราะเธอเคยถูก sexual abuse ในวัยเด็ก

คือเราว่าคนที่มี trauma รุนแรงในระดับ 100/100 อย่างเช่นใน “ล่า” หรือ VOICES WITHIN มันก็จะนำไปสู่การสร้างบุคลิกภาพอันใหม่ๆขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวน่ะ เพื่อรับมือกับ trauma นั้นๆ

ส่วนใน KIM JI-YOUNG นั้น มันเหมือนเธอเจอ ความเจ็บปวดในระดับ 10/100 มาเรื่อยๆ นานๆ จนมันนำไปสู่อาการทางจิตในระดับที่อ่อนลงกว่ากลุ่มข้างต้น เธอก็เลยเหมือนถูก “สิงสู่” โดยผู้หญิงคนอื่นๆเป็นครั้งคราว

ส่วนตัวเรานั้น เราก็มี “กลไกทางจิต” ของตัวเองในการรับมือกับปัญหาชีวิต 5555 นั่นก็คือเราจะสร้าง “เพื่อนในจินตนาการ” ขึ้นมา โดยเอามาจากตัวละครในหนังหรือนิยายเรื่องต่างๆที่เราชื่นชอบนี่แหละ

อย่างเช่น สมมุติว่า เราชอบตัวละครชื่อ M จากหนังเรื่อง B มากๆ แล้วเวลาเรา “กลัวใครบางคนโดยไม่มีสาเหตุ” เราก็จะถาม M ว่า M จะกลัวคนๆนี้ไหม M ก็จะตอบว่า “ไม่เห็นต้องกลัวเลย” แล้วเราก็จะหายกลัวคนๆนั้น

หรือบางทีเรากังวลกับ “สายตาของคนอื่นๆที่มองเรา” เราก็จะถาม M ว่า ถ้าเป็น M M จะรู้สึกกังวลกับสายตาของคนอื่นๆไหม M ก็จะตอบว่า “กูไม่แคร์เลยแม้แต่นิดเดียว” แล้วเราก็จะเลิกแคร์สายตาของคนอื่นๆ

หรือเวลาที่เรากังวลกับปัญหาบางอย่างในชีวิต เราก็จะถาม M ว่า ถ้าเป็น M M จะกังวลกับปัญหานั้นมั้ย M ก็จะตอบว่า  “ฉันไม่กังวลกับเรื่องพวกนี้เลย อย่างมากก็แค่ตาย จบ”

พอเราดู KIM JI-YOUNG เราก็เลยนึกถึง “กลไกทางจิต” ของตัวเอง 55555 ไม่รู้ว่าเราเป็นโรคจิตหรือบ้าหรือเปล่า แต่เรารู้ตัวตลอดเวลานะว่านี่เป็นเพียง “เพื่อนในจินตนาการ” ของเรา เราไม่ได้ถึงขั้นไม่รู้ตัวแบบ Kim Ji-Young เราแค่ใช้ “มุมมองของคนอืน” มามองตัวเราเป็นครั้งคราวน่ะ เพราะการใช้มุมมองของคนอื่น โดยเฉพาะจาก “ตัวละครในภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ” มามองตัวเรา มันช่วยให้เราหายกลัวและหายกังวลกับอะไรหลายๆอย่างในชีวิตได้ดี



TO THE ENDS OF THE WORLD (2018, Guillaume Nicloux, France, A+30)


แอบตกใจเล็กน้อย เพราะอี Google Maps ส่งเมลมาบอกว่า เราเดินทาง 7,787 กิโลเมตรในปี 2019 ซึ่งคิดเป็น 19% around the world เพราะในปี 2019 เราอยู่แค่กรุงเทพ-นครปฐม-สมุทรปราการเท่านั้นเอง โดยเราเดินทางไปนครปฐมเป็นประจำ เพื่อดูหนังที่ศาลายา และเดินทางไปสมุทรปราการเป็นครั้งคราว เพื่อดูหนังที่อิมพีเรียล สำโรง

สรุปว่า ขอบเขตการเดินทางของเราในปี 2019 ก็มีแค่ อิมพีเรียลสำโรง-หอภาพยนตร์ศาลายาเท่านั้นแหละ เราไม่เคยออกนอกอาณาบริเวณนี้เลยในปี 2019 ไม่นึกว่าแค่การเดินทางไปดูหนังที่หอภาพยนตร์เป็นประจำ มันจะเท่ากับการเดินทางเป็นระยะทาง 19% รอบโลก 555

TO THE ENDS OF THE WORLD (2018, Guillaume Nicloux, France, A+30)

1.ชอบตั้งแต่ฉากเปิดของเรื่องแล้ว เหมือนตั้งแต่ฉากเปิด หนังก็มันบอกแล้วว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่หนังเล่าเรื่องแบบธรรมดา แต่เน้นการลงลึกไปในสภาพจิตของตัวละครด้วย

2.เหมือนหนังมันนำเสนอภาพความโหดร้ายเยอะมากๆ แต่หนังมันก็ “ตัดทอน” ไปเยอะแล้วนะ เพราะความโหดร้ายที่รุนแรงที่สุดในหนัง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น offscreen แต่เป็นเรื่องที่เล่าผ่านทางคำพูดของพระเอก (เรื่องการสังหารพี่ชายพระเอกกับครอบครัว ที่ดูรุนแรงมากๆ)

3.เหมือนเราได้ดูหนังเกี่ยวกับอินโดจีนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับหนังเกี่ยวกับ ฝรั่งเศส-นาซี ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง อาจจะเป็นเพราะว่า ในอินโดจีนนั้น ฝรั่งเศสมีฐานะเป็น “ผู้ร้าย” แต่ในยุคนาซีนั้น ฝรั่งเศสมีฐานะเป็น victim เพราะฉะนั้นมันก็เลยง่ายกว่าในการสร้างหนังฝรั่งเศสเกี่ยวกับยุคนาซี แต่เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการสร้างหนังฝรั่งเศสเกี่ยวกับอินโดจีน

เราว่าหนังเรื่องนี้ก็ไปไกลมากในแง่นี้ เพราะหนังเกี่ยวกับอินโดจีนที่เราเคยดูมาก่อนหน้านี้ อย่างเช่น INDOCHINE (1992, Régis Wargnier), THE LOVER (1992, Jean-Jacques Annaud) หรือหนังฝรั่งเศสบางเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อฉายทางทีวี มันก็ดูเป็นหนังที่ตัวละครเอก “รักเวียดนาม” หรือ “รักชาวเวียดนาม” น่ะ

แต่ในหนังเรื่องนี้ พระเอกเป็นทหารฝรั่งเศสที่ตามฆ่าล้างฝ่ายโฮจิมินห์ มันก็เลยเหมือนหนังเรื่องนี้ “เล่นท่ายาก” กว่าหนังฝรั่งเศสอีกหลายเรื่องที่เราเคยดูมา เพราะในเมื่อพระเอก “หลงผิด” หรือ “อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับความถูกต้อง” แบบนี้แล้ว หนังมันจะทำอย่างไร ถึงจะทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าทำไมพระเอกถึงหลงผิดแบบนั้น และหนังมันก็ต้องรักษาสมดุลให้ดีด้วยว่า หนังมันไม่ได้สนับสนุน colonialism, ไม่ได้เข้าข้างพระเอก, ไม่ได้เกลียดชังชาวเวียดนาม, ไม่ได้ต่อต้านการกอบกู้เอกราชของชาวเวียดนาม แต่เป็นการดำดิ่งลึกลงไปในความโหดร้ายของสงคราม และความดำมืดในจิตใจมนุษย์

4.ฉาก “การตัดสินใจ” ของพระเอกในช่วงท้ายนี่คลาสสิคมากๆ เพราะเหมือนหนังจับใบหน้าของพระเอกขณะตัดสินใจเป็นเวลานานหลายนาทีมากๆ โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

5.เหมือน Guillaume Nicloux ทำหนังอาร์ตขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเคยดูหนังอีก 3 เรื่องของเขา ซึ่งก็คือ LE POULPE (1998) ที่ดูเป็นหนังตลาดมากๆ, HANGING OFFENSE (2003) ที่เป็นหนัง psychological thriller ที่ใช้ได้ดีในระดับนึง และ THE KIDNAPPING OF MICHEL HOUELLEBECQ (2014) ที่มี concept น่าสนใจสุดๆ แต่วิธีการเล่าเรื่องดูไม่ได้มีอะไรพิสดารมากนัก จนกระทั่งมาถึง TO THE ENDS OF THE WORLD นี่แหละ ที่ดูแล้วรู้เลยว่า ฝีมือการทำหนังของเขาน่าจะสุกงอมได้ที่แล้ว

SHIVERS (1981, Wojciech Marczewski, Poland, A+30)

1.งดงามมากๆ หนังนำเสนอชีวิตเด็กชายคนนึงในยุคที่โซเวียตพยายามาปลูกฝังแนวคิดคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ และกดขี่ชาวโปแลนด์อย่างรุนแรง

2.ฉากที่ติดตามากๆ คือฉากที่ทางการพยายามมาปลูกฝังเด็กๆให้เกลียดชังศาสนา และมีการจัดขบวนให้เด็กๆเดินไปปะทะกับขบวนคนเดินของโบสถ์

อีกฉากที่ชอบมาก คือฉากที่รูปภาพของ Karl Marx มีน้ำไหลผ่านเหมือนน้ำตา มันเหมือนกับว่ารูปภาพของ Karl Marx ถูก treat ให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ เพื่อมาแทนที่รูปปั้นของพระเยซูและพระแม่มารี

3.ยอมรับเลยว่า ดูแล้วไม่เข้าใจในหลายๆอย่าง เพราะหนังมันอ้างอิง context เฉพาะของ Poland เยอะมากๆ แต่เราชอบความไม่เข้าใจอะไรแบบนี้

เหมือนหนังอ้างอิงถึงบทกวี PAN TADEUSZ ด้วย เราก็เลยเสียดายที่เรายังไม่เคยดูหนังเรื่อง PAN TADEUSZ (1999, Andrzej Wajda) มาก่อน เผื่อจะได้เข้าใจอะไรในหนังเรื่องนี้มากขึ้น

4.มีบางฉากที่เราคิดว่า เป็น “ฉากความฝัน” แต่พอมาคุยกับเพื่อนๆหลังดูหนังจบ และไปอ่านเรื่องย่อ เราถึงพบว่ามันเป็นฉากความจริง ไม่ใช่ฉากความฝัน

5.ก่อนหน้านี้เคยดู WEISER (2001) ที่กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกัน จำได้ว่าชอบ WEISER มากๆเหมือนกัน


THE CLOCK

THE CLOCK: SPIRITS AWAKENING (2019, Leak Lyda, Cambodia, A)

ชอบการถ่ายภาพ แต่เนื้อเรื่องน่าเบื่อมากๆ

อันนี้ไม่ใช่รูปจากหนังเรื่องนี้นะ แต่เป็นรูปของ Sorn Piseth พระเอกหนังเรื่องนี้ เห็นเขาแล้วนึกถึงสมบัติ เมทะนีมากๆ

บันทึกไว้สั้นๆว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 2020 ได้ดูหนังที่ชอบสุดๆ 4 เรื่อง ซึ่งทั้ง 4 เรื่องน่าจะติดอันดับประจำปี

เรียงตามลำดับการดู

1. NUREYEV: LIFTING THE CURTAIN (2018, David Morris, Jacqui Morris, UK, documentary, A+30)

2. DILILI IN PARIS (2018, Michel Ocelot, France, animation, A+30)

3.KHAEK PAI KRAI MA (2019, Navin Rawanchaikul, video installation, 92min,  A+30)

รู้สึกว่ามันเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์และสังคมที่สำคัญและทรงคุณค่ามากๆๆ

4. A FREE MAN (2017, Andreas Hartmann, Japan/Germany,  documentary,  A+30)

Sunday, January 12, 2020

CHHAPAAK

STAR WARS: EPISODE IX -- THE RISE OF SKYWALKER (2019, J.J. Abrams, A+15)

สรุปว่า STAR WARS ทั้ง 9 ภาคเป็นหนังที่เราไม่อินเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ก็พอดูได้ ไม่เบื่อ

ในบรรดา 9  ภาคนี้ เราชอบภาค 2  ATTACK OF THE CLONES (2002, George Lucas) มากที่สุด เพราะ Hayden Christensen นี่ทำให้เรารู้สึกเงี่ยนได้มากที่สุดแล้วล่ะ ในบรรดาตัวละครใน STAR WARS

VIOLET EVERGARDEN: ETERNITY AND THE AUTO MEMORIES DOLL (2019, Haruka Fujita, Japan, animation, A+25)

รู้สึกเหมือนตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้มันเรียบร้อยเกินไป

A BEAUTIFUL DAY IN THE NEIGHBORHOOD (2019, Marielle Heller,  A+30)

1.งดงามมากๆ ชอบตัวละครนักข่าวมากๆ นึกว่าหลุดมาจากหนังสารคดีเรื่อง THE WORK (2017, Jairus McLeary)

2.ตัวละครของ Tom  Hanks เป็นคนที่มีพลังบวกสูงมาก และเป็นพลังบวกที่ดี เพราะเขาไม่ใช่คนประเภทที่โลกสวย ชีวิตกูดีงาม เพราะฉะนั้นกูไม่เข้าใจบาดแผลในใจมึง แต่เขาเป็นคนที่มีพลังบวก และสามารถโอบรับ damaged souls ได้ด้วย

ดูตัวละครตัวนี้แล้วนึกถึงละครทีวีฝรั่งเศสที่ชอบมากๆเรื่อง LE TUTEUR ที่เป็นเรื่องของสำนักงานสังคมสงเคราะห์ที่คอยช่วยเหลือคนที่มีข้อบกพร่องต่างๆ

THE RED SHOES (1948, Michael Powell, Emeric Pressburger, UK, A+30)

ชอบ "สีสัน" ในหนังของ Michael Powell อย่างสุดๆ โดยเฉพาะในเรื่องนี้กับ BLACK NARCISSUS (1947)

GHOSTBUSTERS (1984, Ivan Reitman, A+)

หนังไม่เข้าทางเราจริงๆ

CATS (2019, Tom Hooper,.UK/USA, A+)

ทำไมหนังไม่มีพลังเลย แต่อินกับเนื้อเพลง MEMORY อย่างสุดๆ

CHHAPAAK (2020, Meghna Gulzar, India, A+30)

1.เป็นหนังเรื่องแรกที่เราได้ดูที้ focus ไปที่การทำร้ายด้วยการสาดน้ำกรด ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของอินเดีย

ชอบสุดๆที่หนังแสดงให้เห็นทั้งปัญหาเหยียดเพศ, ชนชั้นวรรณะ, โรงพยาบาล, สื่อมวลชน, สังคม, การสมัครงาน, รัฐบาล, ศาล, การออกกฎหมาย และที่หนักมากๆคือ ปัญหาเรื่อง "ทัศนคติของ NGO" บางคน ที่ดูเหมือนต้องการให้ "คนที่พวกเขาช่วยเหลือ" มีความทุกข์ต่อไป เพราะถ้าหากคนที่พวกเขาช่วยเหลือมีความสุข มันก็อาจจะกระทบอะไรบางอย่างในใจ NGO

2. ยกให้เป็นหนึ่งในหนังที่หนักหนาสาหัสทางอารมณ์สำหรับเรามากที่สุดเรื่องหนึ่งนับตั้งแต่ HAN GONG-JU (2013, Lee Su-jin, South Korea) เป็นต้นมา

3. Vikrant Massey หล่อสุดๆ



Thursday, January 09, 2020

THE MOON KILLER (2019, Yuthlert Sippapak, A+30)


THE MOON KILLER (2019, Yuthlert Sippapak, A+30)
มือปืน โลก/พระ/จัน 2

1.ทำไมฉันรู้สึกว่า มันเป็น “หนังทดลอง” 55555 คือจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่หนังทดลองหรอก แต่ปัจจัยที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆคือปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เราตามดูหนังทดลอง หรือสนใจหนังทดลอง

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า เราไม่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน “สนุก” หรือมัน “บันเทิง” เลยนะ เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่าหนังเรื่องนี้มันน่าเบื่อสุดๆ เราก็เข้าใจดี 55555

2.คือความรู้สึกของเราตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ มันเหมือนกับการได้กิน “อาหารฟิวชั่น” ที่ไม่เคยกินมาก่อนน่ะ ซึ่งรสชาติมันประหลาดมากๆ ไม่เคยเจอมาก่อน กินไปครึ่งจานแรกแล้วไม่อร่อย แต่พอกินไปเรื่อยๆก็คุ้นลิ้น แล้วก็กลายเป็นว่าชอบมันมากๆ จะว่ามัน “อร่อย” ก็พูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำ แต่ชอบความแปลกประหลาดของมัน รู้สึกว่ามันถูกปากเรามากๆ แต่อาจจะถูกปากเราแค่คนเดียว คนอื่นๆอาจจะเกลียดรสชาติแบบนี้ก็ได้ เราไม่ประหลาดใจ

คือเรารู้สึกว่า ส่วนผสมในหนังเรื่องนี้มันประหลาดดีน่ะ มันตลก ก็ตลกแบบอ้ำๆอึ้งๆ จะบู๊ ก็ไม่บู๊ จะลุ้น ก็ไม่ลุ้น ถึงแม้ดนตรีประกอบจะลุ้นมากๆ จะดราม่า ก็ไม่สุด จะ cult ก็ไม่ “ตื่นตาตื่นใจ” หรือทำให้เรา “อ้าปากหวอ” แบบหนัง cult บางเรื่อง (ลองเปรียบเทียบกับหนังของ Seijun Suzuki หรือหนังอย่าง BIG BANG LOVE, JUVENILE A (2006, Takashi Miike ดูสิ) จะเท่แบบหนังของ Nicolas Winding Refn ก็ไม่ใช่ ถึงแม้ production design ในบางฉากจะพาไปในทางนั้น จะ “การเมือง” มันก็ไม่ได้มีความ intellectual แบบหนังการเมืองทั่วๆไป

แต่เราชอบหนังแบบนี้นี่แหละ คือหนังที่เรา “ไม่รู้จะทำอารมณ์ยังไงกับมันดี” 55555 มันเหมือนกับสาเหตุที่เราชอบดูหนังทดลองน่ะ เพราะในบางครั้งเราก็เบื่อหนัง “เล่าเรื่อง” หรือหนังที่ “พยายามพาคนดูไปสู่อารมณ์ที่ตั้งใจไว้ ตาม steps ขั้นตอน สูตรสำเร็จของ genre หนังนั้นๆ” คือหนังตลกมันก็มีสูตรของมัน หนังบู๊แบบ JOHN WICK มันก็มี “กรอบ” ของมัน หรือหนังเท่ๆมันก็มีกรอบของมัน

แต่พอ THE MOON KILLER เอาส่วนผสมของหนังหลายๆ genre หลายๆแนว มาผสมรวมกัน มันก็เลยเกิดเป็นอะไรที่แปลกใหม่ขึ้นมาสำหรับเรา และมันเหมือนช่วยทลายกรอบของหนัง genre ต่างๆไปด้วยโดยปริยาย และแม้แต่ “ตรรกะ” หรือเหตุผลในหนังเรื่อง THE MOON KILLER ก็ดูเหมือนจะพังพินาศไปด้วย ตัวละครทำเหี้ยๆห่าๆ มีพลังพิเศษอะไรก็ได้ขึ้นมาตามใจชอบ และผู้กำกับก็อาจจะรู้ตัวดีในการทำลายกฎเกณฑ์ต่างๆและตรรกะต่างๆแบบนี้  และเราก็ชอบอะไรแบบนี้ เพราะสำหรับเราแล้ว ในบางครั้งเราก็ต้องการภาพยนตร์ที่เป็น fiction ที่ไม่สนกฎเกณฑ์ตรรกะเหตุผลอะไร กูจะทำอะไรก็ได้ จะสร้างเรื่องเหี้ยห่าอะไรก็ได้ที่กูต้องการในโลกจินตนาการของกู 555

จริงๆแล้วมันก็คล้ายๆกับเหตุผลที่เราชอบ “บอดี้การ์ดหน้าหัก” มากๆน่ะ เพราะเราว่า “บอดี้การ์ดหน้าหัก” เป็นความพยายามจะผสม genre แอคชั่นกับตลกเข้าด้วยกัน แต่ผสมเข้าด้วยกันได้อย่างไม่ลงตัว อย่างไรก็ดี มีฉากนึงใน “บอดี้การ์ดหน้าหัก” ที่เราชอบมากๆ นั่นก็คือฉากของเอกชัย ศรีวิชัยที่ดูเหมือนจะเป็น musical ที่ไม่สนกฎเกณฑ์อะไรใดๆอีกต่อไป คือฉากนั้นจริงๆแล้วมันเหมือนดู “บ้าบอมากเกินไป” มันเหมือนทำให้หนังมัน “เละ” เกินไป แต่ในอีกแง่นึง มันก็เหมือนช่วยทำลายกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง เหมือนเป็นการลองใส่ “ส่วนผสมใหม่” เข้าไปในอาหาร ซึ่งทำให้เกิดรสชาติที่แปลกประหลาดขึ้นมา

และเรารู้สึกเหมือนกับว่า THE MOON KILLER คือ “การทดลอง” ที่ไปไกลกว่า บอดี้การ์ดหน้าหัก เพราะบอดี้การ์ดหน้าหักยังเหมือนพยายามจะสร้างความบันเทิงให้คนดูอยู่ แต่ THE MOON KILLER เหมือนเลยพ้นจากความพยายามจะสร้างความบันเทิงแล้ว 555

3.คือพอเราตามดู “หนังทดลอง” เพราะต้องการความแปลกใหม่ ความไร้กฎเกณฑ์ ความไม่สนเนื้อเรื่อง ความไม่สนการเร้าอารมณ์แบบเดิมๆ บางครั้งเราก็ผิดหวังน่ะ เพราะหนังทดลองหรือหนังอาร์ตบางเรื่อง มันก็เป็นการทำตามสูตรของหนังทดลองหรือหนังอาร์ตเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดร้ายแรงอะไร เพราะส่วนใหญ่มันจะเป็นผลงานของคนที่เพิ่งเริ่มทำหนังทดลองเป็นครั้งแรกๆ ก็เลยต้องลองทำตามสิ่งที่คนอื่นๆเคยทำมาก่อน

คือบางที “หนังทดลอง” มันก็ออกมาซ้ำๆกันได้น่ะ อย่างเช่น หนังที่ถ่ายบรรยากาศเยอะๆ โดยที่ผู้กำกับไม่ได้มีความสามารถเชิงกวีที่สูงจริงๆ, ไม่ได้มีดวงตาที่เฉียบคมจริงๆ หรือไม่ได้ “มีความรู้สึกรุนแรงต่อสิ่งที่ตนเองถ่าย” จริงๆ หนังทดลองบางเรื่อง โดยเฉพาะของผู้กำกับหน้าใหม่ ก็เลยออกมากลายเป็น “หนังทดลองแบบสูตรสำเร็จ” ไป

เพราะฉะนั้น ในเมื่อหนังทดลองบางเรื่องทำให้เราเบื่อได้เช่นกัน แล้วเราจะหารสชาติแปลกใหม่ หรือ wavelength ที่แปลกใหม่ หรือการทดลองทำอะไรแปลกๆใหม่ๆได้ที่ไหน

ปรากฏว่า เราก็เจอมันจาก THE MOON KILLER นี่แหละ 555

4.ยอมรับว่า ช่วงครึ่งเรื่องแรก เหมือนเรารู้สึกเบื่อๆ และจูนไม่ค่อยติดกับหนังสักเท่าไหร่น่ะ แต่ไม่รู้ว่าทำไม พอดูไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกจูนติดกับมันเฉยเลย มันเหมือนในที่สุดสมองของเราก็จูนหาคลื่นใหม่จนตรงกับหนังเรื่องนี้ได้ในที่สุด 555

เหมือนหนังมันมีความ bleak บางอย่างด้วย เหมือนมันมีบรรยากาศของความสิ้นหวัง + ความเย็นชาบางอย่าง ที่เข้าทางเรามากๆ

5.เหมือนหนังเต็มไปด้วยการเล่า racist jokes และตบด้วยการบอกว่า ไม่มีใครตลกกับ racist jokes แบบนี้อีกแล้ว

6.แต่ไม่ค่อยชอบการ treat  ตัวละครผู้หญิงในหนัง ซึ่งเหมือนเป็นปัญหาที่เรามักรู้สึกกับหนังหลายๆเรื่องของยุทธเลิศ

7.สรุปว่า ชอบมากๆเป็นการส่วนตัว แต่คิดว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบหนังเรื่องนี้

ถ้าจะต้องฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องไหน เราก็ขอฉายควบกับ “อำพราง” (2010, Tani Thitiprawat) ที่เหมือนเป็นหนังที่จัด genre ได้ยากมากๆเหมือนกัน