มีเพื่อนใน Facebook คนนึง ถามเกี่ยวกับหนังกลุ่ม DOGVILLE เราก็เลยตอบเขาไปตามนี้จ้ะ
หนังกลุ่มที่ไม่ปกปิดพื้นที่จริงในการถ่ายทำ แบบ DOGVILLE อาจจะแบ่งได้เป็นกลุ่มย่อยๆหลายกลุ่มด้วยกัน
อย่างเช่น
1.หนังกลุ่มที่เราว่า minimal ที่สุดในบรรดาหนังประเภทนี้
คือหนังที่กำกับโดย Jean-Marie Straub กับ Danièle
Huillet เพราะหนังอย่าง DOGVILLE นั้น ตัด “ความสมจริงด้านฉาก”
ทิ้งไปหมดเลย แต่ยังอาศัยความสมจริงด้านการแสดง, ความสมจริงด้านเสื้อผ้า
และการสร้างอารมณ์ดราม่าแบบหนังทั่วไปอยู่ด้วย ในขณะที่หนังหลายเรื่องของ Straub/Huillet
ตัดการสร้างอารมณ์ดราม่าแบบหนังทั่วไปทิ้งไปด้วย คือเท่าที่เราได้ยินมา
หนังหลายเรื่องของ Straub/Huillet เป็นการให้นักแสดงมายืนหรือนั่งอ่านบทละครเวทีโบราณกลางป่า
คือหนังพวกนี้จะเหมือนกับ DOGVILLE ในแง่ที่ว่า มันไม่ต้องอาศัยการสร้างฉากให้สมจริงตามเนื้อเรื่องอีกต่อไป
แต่มันไปไกลกว่า DOGVILLE อีกหลายขั้นในแง่ที่ว่า
นักแสดงไม่ต้องมาแสดงลีลาท่าทาง สร้างอารมณ์ดราม่าแบบหนังทั่วไปด้วย
นักแสดงแค่มายืนพูดบทละครไปเรื่อยๆกลางป่าเท่านั้น และหนังจะให้ความสำคัญกับอะไรอื่นๆอีกมากมายแทนการสร้างอารมณ์ดราม่า
อย่างเช่นให้ความสำคัญกับ “แสงอาทิตย์ที่เคลื่อนคล้อย”,
ความสัมพันธ์ระหว่างบทละครโบราณในอดีต กับยุคสมัยปัจจุบัน, ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับตัวละครที่เขาเล่น,
การที่ตัวบทที่นักแสดงพูดถูกขับเน้นให้ลอยเด่นออกมาในหนังประเภทนี้
มากกว่าในหนังทั่วๆไป, การพยายามสร้าง perceptions ใหม่ๆให้กับผู้ชม,
การให้อิสระแก่ผู้ชมในการประกอบสร้างความหมายจากภาพและเสียงที่ได้รับรู้ ฯลฯ
แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราบรรยายหนังของ Straub/Huillet ถูกหรือเปล่านะ
เพราะเราก็ไม่เคยดูหนังกลุ่มข้างต้นของ Straub/Huillet เลย
เพราะไม่มีใครเอาเข้ามาฉายในไทยเสียที ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด
หนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่นเรื่อง OTHON (1969), HISTORY LESSONS (1972),
FORTINI/CANI (1976), FROM THE CLOUDS TO THE RESISTANCE (1979), THESE ENCOUNTERS
OF THEIRS (2006), etc.
แต่หนังของ Straub/Huillet ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกเรื่องนะ
หนังอย่าง CLASS RELATIONS (1984) ของพวกเขา ก็มีการอาศัยฉากแบบสมจริงเหมือนหนังทั่วไป
ส่วนหนังอย่าง MOSES AND ARON (1975) ของพวกเขา
ก็เหมือนหนังอย่าง DOGVILLE คือไม่ได้มีการอาศัยฉากสมจริง
แต่มีการให้นักแสดงมาเล่นอารมณ์ดราม่าบ้างเล็กน้อย โดย MOSES AND ARON นั้น เป็นการเอาตำนานโมเสสมาเล่า แต่แทนที่หนังจะอาศัยฉากสมจริง+ทุนสร้างสูงแบบ EXODUS: GODS AND KINGS (2014, Ridley Scott) ที่เล่าตำนานโมเสสเหมือนกัน Straub/Huillet กลับเล่าตำนานโมเสสโดยใช้ฉากเพียงแค่สนามกีฬาฉากเดียวเท่านั้น
ถ้าจำไม่ผิด คือเขาให้นักแสดงมาแสดงตำนานโมเสสในสนามกีฬาไปเลย
แต่ก็เล่าออกมาได้สนุกมากๆ
2.หนังที่เราว่าคล้าย DOGVILLE มากในการเล่าหนังทั้งเรื่องโดยใช้ฉากโล่งๆบนเวทีละคร
คือ BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต
หนังสร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงที่ฆ่าคนไปราว 15 คน
3.หนังของ Hans-Jürgen Syberberg บางเรื่อง ก็ใช้ฉากเวทีละครแบบไม่สมจริงมาประกอบการเล่าเรื่องด้วยเช่นกัน
อย่างเช่น
3.1 LUDWIG: REQUIEM FOR A VIRGIN KING (1972)
3.2 HITLER: A FILM FROM GERMANY (1977)
แต่หนังของ Syberberg ที่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกับ DOGVILLE มากๆในแง่ “การกระตุ้นให้ผู้ชมจินตนาการ settings ต่างๆเอาเอง”
คือ LUDWIG’S COOK (1972) ที่เป็นการเอาบทบันทึกของคนเมื่อ
100 ปีก่อน มาให้นักแสดงคนนึงพูด
โดยนักแสดงคนนี้จะเดินไปเรื่อยๆในปราสาทของกษัตริย์ลุดวิกในยุคปัจจุบัน
แต่สิ่งที่นักแสดงคนนี้พูด คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในปราสาทนี้เมื่อ 100 ปีก่อน
เพราะฉะนั้นระหว่างที่ดูหนังเรื่องนี้ ผู้ชมจะได้เห็นภาพปราสาทยุคปัจจุบัน
แต่ผู้ชมจะต้องจินตนาการภาพปราสาทนี้ในอดีต, คนต่างๆในอดีต
และเหตุการณ์ต่างๆในอดีตเอาเอง โดยใช้สิ่งที่นักแสดงพูดเป็นวัตถุดิบในการจินตนาการ
หนังไทยอย่าง “มนัส จรรยงค์ คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง” (2008, ไพสิฐ
พันธุ์พฤกษชาติ) ก็มีลักษณะบางอย่างคล้ายๆ LUDWIG’S COOK ด้วยเช่นกัน
4.หนังของ Derek Jarman ซึ่งไม่ได้ minimal มากเท่ากับ
DOGVILLE แต่ก็มีความ minimal กว่าหนังทั่วไปอยู่มาก
เพราะหนังหลายเรื่องของ Derek Jarman เป็นการเล่าเรื่องราวในยุคอดีตหลายร้อยปีก่อน
แต่หนังใช้ฉากแบบ minimal มากๆ
มีของประกอบฉากเพียงแค่ชิ้นสองชิ้นเท่านั้น
และมีการใส่เสียงมอเตอร์ไซค์หรือเสียงรถราในยุคปัจจุบันเข้ามาประกอบเรื่องราวเมื่อหลายร้อยปีก่อนด้วย
โดยหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่นเรื่อง CARAVAGGIO (1986), THE GARDEN (1990),
EDWARD II (1991) และ WITTGENSTEIN (1993)
5.จริงๆแล้วหนังเรื่อง PERCEVAL LE GALLOIS (1978, Eric Rohmer) ก็สามารถเทียบเคียงได้กับหนังของ Derek Jarman ด้วยเหมือนกัน
เพราะ PERCEVAL LE GALLOIS เล่าเรื่องราวของอัศวินในยุคโบราณ
แต่ใช้ฉากหลังแบบ minimal มากๆเหมือนกัน
แต่เราว่าอารมณ์ของ PERCEVAL LE GALLOIS แตกต่างจากอารมณ์ในหนังของ
Derek Jarman อยู่มาก เพราะเราว่าหนังของ Derek
Jarman งดงามสุดๆ แต่ PERCEVAL LE GALLOIS ให้อารมณ์ที่แข็งกระโด๊กมากๆ
แต่ไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดีนะ
เราว่าการแสดง+ฉากหลังที่แข็งกระโด๊กมากๆในหนังเรื่องนี้ มันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครของหนังเรื่องนี้
6.มีหนังฝรั่งเศสหลายเรื่องที่เล่าเรื่องในยุคโบราณ
แต่ใช้ setting ในยุคปัจจุบัน
โดยไม่อินังขังขอบกับความผิดยุคผิดสมัยแต่อย่างใด เพราะคนดูหนังกลุ่มนี้มีหน้าที่จินตนาการ
“ฉาก” เอาเอง
และความผิดยุคผิดสมัยจริงๆแล้วมักจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งของหนังกลุ่มนี้
โดยหนังกลุ่มนี้ก็มีเช่นเรื่อง
6.1 THE LIVING WORLD (2003, Eugène Green) หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องอัศวินปราบยักษ์ในยุคโบราณ
แต่หนังใช้ setting เป็นยุคปัจจุบัน
และนักแสดงก็เล่นไปตามนั้น และคนดูก็มีหน้าที่ต้องใช้จินตนาการสูงมากๆ อย่างเช่น
นักแสดงชี้นิ้วไปที่หมาตัวนึง และเรียกมันว่า “สิงโต”
คนดูก็มีหน้าที่ต้องจินตนาการว่า หมาตัวนี้คือสิงโตไปตลอดจนจบเรื่อง
หรือนักแสดงชี้ไปที่ต้นไม้ต้นนึงแล้วเรียกมันว่า “ยักษ์”
คนดูก็มีหน้าที่ต้องจินตนาการว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นยักษ์ไปจนจบเรื่อง (ถ้าเข้าใจไม่ผิด
หนังเรื่องนี้พยายามจะพูดถึง ความสำคัญของการใช้ “คำ” ไปกำหนดความหมายของสิ่งต่างๆบนโลกนี้)
6.2 PARTAGE DE MIDI (2011, Claude Mouriéras) หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องเมื่อ
80-100 ปีก่อน และเนื้อเรื่องจริงๆแล้วเกิดขึ้นในฉากหลังที่ exotic มากๆ อย่างเช่นนครเซี่ยงไฮ้ยุค 100 ปีก่อน แต่นักแสดงในหนังเรื่องนี้กลับแต่งตัวในเครื่องแต่งกายยุคปัจจุบัน
และพูดบทละครไปเรื่อยๆ ในบ้านโทรมๆหลังนึงในยุคปัจจุบัน แต่หนังก็ออกมาทรงพลังสุดๆ
6.3 THE SCREEN ILLUSION (2010, Mathieu Amalric) หนังเรื่องนี้ใช้ฉากยุคปัจจุบัน
แต่ให้นักแสดงพูดบทละครที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว 500 ปีก่อน และผลที่ได้ก็คือ
ความขัดแย้งระหว่างยุคสมัยที่น่าสนใจและน่าขบคิดมากๆ
7.มีหนังบางเรื่องที่สามารถประหยัดทุนในการสร้างฉากแบบสมจริง
ด้วยการพยายามให้นักแสดงเล่าเรื่องดราม่าบนเวทีละครโล่งๆ แต่หนังกลุ่มนี้มันไม่ได้หนักข้อแบบ
DOGVILLE เพราะในหนังกลุ่มนี้
ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังดูนักแสดงซ้อมละครเวทีบนเวทีโล่งๆ
โดยหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่นเรื่อง
7.1 THE FALSE SERVANT (2000, Benoît Jacquot)
7.2 VANYA ON 42ND STREET (1994, Louis Malle)
8.หนังของ Miklós Jancsó บางเรื่องเล่าเรื่องโดยใช้ทุ่งโล่งๆทุ่งเดียวเป็นฉากหลัง
และคนดูก็มีหน้าที่จินตนาการฉากต่างๆเอาเอง โดยหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่นเรื่อง ELECTRA,
MY LOVE (1974) และ RED PSALM (1972) โดยหนังบางเรื่องในกลุ่มนี้อาจจะเล่าเรื่องในตำนานเมื่อหลายพันปีก่อน
แต่อยู่ดีๆก็มีเฮลิคอปเตอร์บินเข้ามาในฉาก เพื่อย้ำให้ผู้ชมรู้ว่า จริงๆแล้วหนังต้องการสะท้อนไปที่อะไรบางอย่างในยุคปัจจุบัน
(อย่างเช่นการด่าคอมมิวนิสต์)
9.ในส่วนของหนังไทยนั้น เรื่องที่เรานึกออกในตอนนี้ก็คือ
9.1 สามัคคีเภทคำฉาล (2013, Theeraphat Ngathong) ที่เล่าเรื่องราวในตำนาน
โดยไม่ต้องอาศัยความสมจริงใดๆอีกต่อไป
9.2 ฆาตรกรรมสวาท ประหลาดน่านฟ้า
ทำให้คนหายตัวไป หรือ POLITICALLY LAWYER AND NARRATIVE CINEMA (2009,
Chaloemkiat Saeyong, 27min) ที่เล่าเรื่องราวการฆาตกรรมคน
แต่หนังแทบไม่ได้นำเสนอภาพที่ตรงกับเรื่องที่เล่าเลย เหมือนหนังให้ส่วนประกอบในการปรุงอาหารมา
และบอกวิธีการทำอาหาร แต่ผู้ชมต้องเอาส่วนประกอบนั้นไปปรุงอาหารเอง ถึงจะได้ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์
โดยฉากคลาสสิคของหนังเรื่องนี้คือฉากสถานที่ต่างๆ และมี text ขึ้นมาว่า “จงจินตนาการว่าที่นี่คือสนามบิน”