Sunday, October 28, 2018

ืNATTANON, NATTAN, NATTAPONG


ค้นพบว่าตัวเองจำชื่อผู้กำกับกลุ่มนี้สลับกันมาโดยตลอด คือเรามักจะจำสลับกันระหว่าง “ณัฐนนท์ ราตรี, ณัฐธัญ กรุงศรี, ณัฐพงศ์ ประศรี” และก็จำชื่อณัฐพงศ์ ประศรี สลับกับ วัชรพล ปักษี และก็จำชื่อวัชรพล ปักษี สลับกับ วัชรพงศ์ ศรีพอ ด้วย 555

ก็เลยขอโน้ตไว้กันลืม ว่าผู้กำกับคนไหนกำกับหนังเรื่องไหนบ้าง

1.ณัฐนนท์ ราตรี --- ทบที่แปด (2016), ในคืนที่ท้องฟ้าไม่มีดาวตก (2018), สิ่งที่หายไปบนโลกใบเดิม (2018)

2.ณัฐธัญ กรุงศรี – ผียักษ์ (2017), DISYAKI ต้องสงสัย (2018)

3.ณัฐพงศ์ ประศรี – รถเริ่มสามห้า (2016), วันนี้วันจันทร์ พรุ่งนี้วันอาทิตย์ (2016), 2ND FLOOR (2017, documentary), KAMIKAZE (2018)

4.วัชรพล ปักษี – SILENCE OF SUICIDE (2016), ศาลท้าวมหาพรหม ราชดำริ (2016), วัฏสงสาร ALL DONE IN THE OPPOSITE OF AFTERNOON (2018)

5.วัชรพงศ์ ศรีพอ – แมลงใต้เพดาน (2016), 100% OF 0% (2018)

นึกถึงตัวเองที่เคยจำสลับกันระหว่าง Alexander Dovzhenko (EARTH, ARSENAL) กับ Vsevolod Pudovkin  (MOTHER, STORM OVER ASIA)  ทั้งๆที่ชื่อของสองคนนี้ไม่ได้ใกล้เคียงกัน (หรือจริงๆแล้วใกล้เคียงกัน เพราะชื่อ 4 พยางค์ บวกนามสกุล 3 พยางค์ และมีคำว่า ดอฟ เหมือนกัน) แต่เหมือนสองคนนี้กำกับหนังโซเวียตในยุคเดียวกัน และหนังก็ดีพอๆกัน และคนส่วนใหญ่ก็พูดถึงแต่ “ลักษณะเด่น” ของ Sergei Eisenstein กับ Dziga Vertov แต่ไม่มีใครพูดถึง Dovzhenko กับ Pudovkin แบบเจาะลึก เราก็เลยจำสองคนนี้สลับกันตลอดเวลา

จนกระทั่งเหมือนมีอยู่ครั้งนึง ที่พี่สนธยา ทรัพย์เย็นบอกว่า หนังของ Dovzhenko มันจะอาร์ตกว่า หรือมีความเป็นกวีมากกว่าหนังของ Pudovkin หรืออะไรทำนองนี้นี่แหละ เราถึงแยกหนังของสองคนนี้ออกจากกันได้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 555


Tuesday, October 23, 2018

IN THE CENTURY OF MAUPASSANT


I was tagged by to post my ten favorite TV series.

Day 9: IN THE CENTURY OF MAUPASSANT: TALES AND NOVELS OF THE NINETEENTH CENTURY (2009-2011, France)

รายการทีวีที่แต่ละตอนดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 19 ตอนที่เราชอบสุดๆ คือ

1.CLAUDE GUEUX (2009, Olivier Schatzky) สร้างจากนิยายของ Victor Hugo ดูแล้วสะเทือนใจอย่างรุนแรงมากกว่าดู LES MISERABLES ทุกเวอร์ชั่นที่เคยดูมา

2..CRAINQUEBILLE (2011, Philippe Monnier) ดูแล้วหัวใจสลายมากๆ สร้างจากเรื่องสั้นของ Anatole France

เรื่องย่อ: Jérôme Crainquebille, is an ageing modest vegetable seller who has sold groceries from his cart in Les Halles market in Paris for over 40 years. One day, whilst waiting for a customer to give him his change, he is hassled by a policeman who insists that he moves on. When he protests, Crainquebille is arrested, supposedly for swearing at the policeman. Following a farcical trial, the old man is sent to jail, where due to the poor quality of his past life he enjoys the benefits of the free shelter and food.

On his release, however, his life continues to nose-dive: all of his past regular customers shun him, and, with no income, he turns to the bottle becoming an alcoholic. He is reduced to a tramp that everybody loathes, and the sad old man is about to commit suicide when a young street boy called "Mouse" takes him by the hand to forget about the past and persuades him to make a fresh start.


3.HAPPINESS DWELLS IN CRIME (2009, Denis Malleval ) นางเอกของละครตอนนี้รุนแรงมากๆ สร้างจากนิยายของ Jules-Amédée Barbey d’Aurevilly (THE LAST MISTRESS)

4.THREE MURMURED MASSES (2009, Jacques Santamaria) สร้างจากเรื่องสั้นของ Alphonse Daudet

5.THE LITTLE OLD MAN FROM BATIGNOLLES (2009, Claude Chabrol) สร้างจากนิยายของ Émile Gaboriau ตอนนี้เป็นหนังปริศนาฆาตกรรม แต่ไม่ได้เป็น thriller เพราะ Claude Chabrol นำเสนอการสืบคดีปริศนาฆาตกรรมในหนังเรื่องนี้ด้วยบรรยากาศแบบสบายๆ เหมือนเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะ

Saturday, October 20, 2018

INVERSO MUNDUS


SITTING FEEDING SLEEPING (2013, Rachel Rose, 10min, video installation, A+25)

เป็นวิดีโอที่ดูแล้วไม่เข้าใจอะไรเลย 555

แต่ชอบสถานที่จัดงานนี้ (Nova Project Space) เพราะเราไปดูตอนช่วงใกล้พระอาทิตย์ตกดินพอดี แล้วเวลาดูวิดีโอนี้ มันจะเห็นแสงพระอาทิตย์ตกดินสะท้อนจากกระจกตึกข้างนอก แล้วมันสวยงามมาก 555

INVERSO MUNDUS (2015, AES+F, Russia, video installation, 38min, A+30)

จอใหญ่สะใจมากๆ ชอบเหล่าสัตว์ไฮบริดในหนังเรื่องนี้ นึกถึงพวกสัตว์ประหลาดในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง CRYSTAL DRAGON

ดูแล้วนึกถึงมิวสิควิดีโอ MY KINGDOM (1996) ของ Future Sound of London

วิดีโอนี้จัดแสดงที่ BAB BOX นะ

THE DUSK OF TEHRAN (2014, Tao Hui,China, video installation, 4min, A+30)
                   
หญิงสาวสวยชาวอิหร่านบ่นว่าเธออายุ 40 ปีแล้ว แต่ยังหาผัวไม่ได้เลย ชาตินี้เธอคงหาผัวไม่ได้แล้ว

ทำไมต้องทำหนังจี้ใจดำกันขนาดนี้ด้วยคะ

วิดีโอนี้จัดแสดงที่ชั้น 1 ของ Alliance นะ

Friday, October 19, 2018

NIGHT GOD (2018, Adilkhan Yerzhanov, Kazakhstan, A+30)


NIGHT GOD (2018, Adilkhan Yerzhanov, Kazakhstan, A+30)

ในขณะที่นักทำหนังอินดี้ในไทยบางคน เวลาเอาหนังไปฉายในเทศกาลเมืองนอก ผู้ชมเมืองนอกบางคนก็อาจจะเขียนถึงหนังเรื่องนั้นในทำนองที่ว่า มีกลิ่นอายของเจ้ย อภิชาติพงศ์อยู่ด้วย ซึ่งเราก็เข้าใจตรงจุดนี้นะ คือผู้กำกับหนังไทยคนนั้นอาจจะได้รับอิทธิพลหรือไม่ได้รับอิทธิพลจากเจ้ยก็ได้ แต่ถึงแม้ผู้กำกับหนังไทยคนนั้นไม่ได้รับอิทธิพลจากเจ้ยโดยตรง แต่พอเขาเติบโตขึ้นมาด้วยสภาพสังคมเดียวกัน, ปัญหาการเมืองเดียวกัน, ความเชื่อในตำนานพื้นบ้าน, ความเชื่อเรื่องผีสาง animism + Buddhism แบบเดียวกัน หนังของเขาก็เลยอาจจะสะท้อนอะไรบางอย่างที่เป็นนามธรรม หรือสะท้อนบรรยากาศ ความเชื่ออะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเจ้ยออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ และพอผู้ชมเมืองนอกได้ดู หนังเรื่องนั้นมันก็เลยอาจจะกระตุ้นความทรงจำของผู้ชมให้นึกถึงหนังของเจ้ยโดยอัตโนมัติ

ฉันใดก็ฉันนั้น พอเราดู NIGHT GOD ปุ๊บ กูก็นึกถึง Andrei Tarkovsky ในทันที 555 และนึกถึงหนังของผู้กำกับในอดีตสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออกอีกหลายคน ทั้ง Bela Tarr, Fred Kelemen, Sharunas Bartas, Aleksey Muradov, Ilya Khrzharnovskiy, Artour Aristakisian, Alexander Sokurov

คือรู้สึกว่าหนังของผู้กำกับจากอดีตสหภาพโซเวียตอย่าง Tarkovsky, Bartas, Muradov, Khrzhanovskiy, Aristakisian, Sokurov นี่มันมีความหลอนทางจิตวิญญาณบางอย่างที่มันตรงกันน่ะ และหนังของ Yerzhanov นี่ก็เข้าข่ายเดียวกัน หลอนแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นพอเราดู NIGHT GOD ปุ๊บ เราก็นึกถึง Andrei Tarkovsky ในทันที ทั้งๆที่เราไม่รู้หรอกว่า Yerzhanov ได้รับอิทธิพลจาก Tarkovsky หรือเปล่า แต่ถึงแม้ Yerzhanov ไม่ได้รับอิทธิพลจาก Tarkovsky โดยตรง เราก็เชื่อว่า การที่เขาเติบโตมาในคาซัคสถาน ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มันก็อาจจะส่งผลให้เขาได้เรียนรู้อะไรบางอย่างทางศิลปะ, วัฒนธรรม, สังคม, การเมือง ที่ส่งผลในทางอ้อมด้วยการทำให้เขาสร้างหนังที่มี “ความหลอน” แบบเดียวกับผู้กำกับคนอื่นๆที่เคยอยู่ในประเทศเดียวกัน

ในขณะที่สไตล์ของ NIGHT GOD ทำให้นึกถึงผู้กำกับกลุ่มข้างต้น แต่ในส่วนของเนื้อหานั้น เรานึกถึง THE CASTLE (1997, Michael Haneke, Austria) เพราะเราว่าเนื้อหาของ NIGHT GOD มันมีความ Kafkaesque อยู่ด้วย

Wednesday, October 17, 2018

THE YELLOW SWIM CAP (2016, He Xiangyu, China, A+30)


THE YELLOW SWIM CAP (2016, He Xiangyu, China, A+30)
          
ศิลปินว่ายน้ำตามจุดต่างๆ ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเขาว่ายที่ไหน และว่ายไปเพื่ออะไร จนกระทั่ง curator มาบอกทีหลังว่ามันเป็นพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ
                                
ประเด็นเรื่องพรมแดนในวิดีโอนี้ ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง BORDER (2009, Harutyun Khachatryan, Armenia) ที่พูดถึงวัวตรงพรมแดนอาร์เมเนีย  เพราะเหมือนวัวและธรรมชาติมันไม่รู้ว่า “นั่น” คือพรมแดนน่ะ พรมแดนมันเป็นสิ่งสมมุติที่มนุษย์กำหนดขึ้นมา แต่มันไม่ได้มีอยู่จริงในสายตาของสัตว์และธรรมชาติ

ส่วนการ perform ของศิลปินใน THE YELLOW SWIM CAP ทำให้นึกถึงวิดีโอ UPSTREAM (2010-2011, Xu Qu, China) ที่ศิลปินพยายามล่องแพยางตามทางน้ำในจีน ทั้งในแม่น้ำที่ล่องได้ และในบางจุดที่ล่องแพยางไม่ได้ คือเหมือนศิลปินกลุ่มนี้ชอบทำกิจกรรมที่ดู absurd น่ะ แต่ความ absurd ของกิจกรรมที่ศิลปินทำมันทำให้เกิดคำถามทางสังคม/การเมืองตามมา

ดู THE YELLOW SWIM CAP แล้วนึกถึงหนังสารคดีเรื่อง CYCLING THE FRAME (1988, Cynthia Beatt) ด้วย ที่ให้ Tilda Swinton ขี่จักรยานตรงพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกกับเบอร์ลินตะวันตกในช่วงที่เยอรมนียังแบ่งเป็นสองประเทศอยู่

UNEXPLODED ORDNANCE (2017, Sikarnt Skoolisariyaporn, 31min, A+30)


UNEXPLODED ORDNANCE (2017, Sikarnt Skoolisariyaporn, 31min, A+30)

ดูหนังได้ที่นี่

ชอบสุดๆ ดีใจที่มีคนไทยทำหนังทดลองอะไรแบบนี้ คือจริงๆแล้วดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็ชอบมากๆ ไม่แน่ใจว่าหนังต้องการจะสื่อถึงอะไร แต่เราดูแล้วนึกถึงเรื่อง “สิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังจากเราตายไปแล้ว หรือหลังจากบางสิ่งดับสูญไป” น่ะ ซึ่งสิ่งที่หลงเหลืออยู่นี้มีทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรมก็อย่างเช่นว่า ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราใช้สารเคมีอะไรไปบ้าง  หรือการกระทำต่างๆของเรามันส่งผลกระทบต่อโลกยังไงบ้างในทางกายภาพ เรามีส่วนในการใช้ทรัพยากรในโลกไปมากเท่าไหร่ เรามีส่วนก่อให้เกิดสารพิษตกค้างบนโลกมากเท่าไหร่ เราก่อให้เกิดขยะบนโลกมากเท่าไหร่ ส่วนสิ่งที่ตกค้างในทางนามธรรม ก็อย่างเช่น ความคิด ความเชื่อ คำพูดของเราที่เผยแพร่ออกไป มันส่งผลกระทบอะไรยังไงต่อคนอื่นๆบ้างหรือเปล่า และถึงแม้เราตายไปแล้ว ความคิดของเราที่เคยเผยแพร่ออกไป มันจะยังส่งผลกระทบต่อไปหรือไม่แม้เราตายไปแล้ว

คือจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ต้องการสื่อประเด็นข้างต้นก็ได้นะ เพราะเราดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องเลย แต่เราก็เพลิดเพลินกับหนังมากๆ และชอบที่หนังมันกระตุ้นความคิดบางอย่างของเราขึ้นมา ไม่ว่าหนังจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ถ้าหากเทียบกับหนังไทยด้วยกัน หนังเรื่องนี้ก็อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับหนังอย่าง GOLDEN SPIRAL (2018, Chulayarnnon Siriphol) และ A ROOM WITH A COCONUT VIEW (2018, Tulapop Saenjaroen) และถ้าหากเทียบกับหนังต่างประเทศ เราก็จะนึกถึงหนังของ Alexander Kluge, LIQUIDITY INC. (2014, Hito Steyerl), SITTING FEEDING SLEEPING (2013, Rachel Rose) น่ะ เพราะหนังกลุ่มนี้เป็นหนังทดลองที่เน้นสาระ และมักจะนำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันมารวมเข้าด้วยกันอย่างอลหม่านวุ่นวาย แต่ความอลหม่านของสิ่งต่างๆในหนังนี่แหละที่สามารถกระตุ้นความคิดผู้ชมได้ดีมาก

Wednesday, October 10, 2018

BLOODY MILK (2017, Hubet Charuel, France, A+30)


BLOODY MILK (2017, Hubet Charuel, France, A+30)

หนังเกี่ยวกับเกษตรกรหนุ่มโสดที่เลี้ยงวัวนม แต่มีปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้นในยุโรป และถ้าหากมีการพบว่าวัวตัวใดติดโรคระบาด วัวทุกตัวในฟาร์มก็จะต้องถูกฆ่าหมดทุกตัวโดยไม่มีข้อยกเว้น

เนื่องจากช่วงนี้เจอแต่ข่าวโรค “อหิวาต์สุกรแอฟริกัน”  (ASF) ที่แพร่ระบาดในจีนและในยุโรป พอดูหนังเรื่องนี้ก็เลยชอบมาก เพราะเวลาเราอ่านข่าวพวกนี้บ่อยๆ เราก็เลยเหมือนลืมนึกถึง “ความทุกข์ยาก”, “น้ำตา”, ความเจ็บปวด และความสิ้นหวังในชีวิตของเกษตรกรที่ต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้น่ะ หนังเรื่องนี้เหมือนกระตุ้นให้เรานึกถึงความเจ็บปวดมากมายเหลือคณานับที่อยู่เบื้องหลังข่าวโรคระบาดที่เราได้อ่านอยู่ทุกวัน

ชอบการ research ข้อมูลของหนังเรื่องนี้ด้วย เหมือนกับว่าการจะทำหนังแบบนี้ออกมาได้ ทีมงานสร้างหนังต้องรู้จริง รู้ลึกเกี่ยวกับการเลี้ยงวัวและอุตสาหกรรมการเลี้ยงวัว

นักแสดงที่ขโมยซีนสุดๆคือหญิงสาวที่พยายามจะเอาพระเอกเป็นผัวให้ได้ เหมือนหน้าเธอมันบ่งบอกความ want อย่างปิดไม่มิดจริงๆ

Monday, October 08, 2018

THE WALL (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)


THE WALL (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)
เณรกระโดดกำแพง

1.ดูแล้วนึกถึง I AM A SEX ADDICT (2005, Caveh Zahedi) ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องมันเป็นหนังแนวอัตชีวประวัติเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำเป็นสารคดีแบบทื่อๆตรงๆ และหนังทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นหนังที่เหมือนเปิดเปลือยปมในใจผู้กำกับออกมาอย่างรุนแรง เพียงแต่ว่าในกรณีของ THE WALL นั้น ผู้กำกับไม่ได้เป็น sex addict แต่เป็น filmmaking addict

ชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้มากๆในแง่ที่ว่า มันเหมือนคว้านลึกลงไปในชีวิตจิตใจความทุกข์ความสุขของผู้กำกับออกมาอย่างหมดเปลือกน่ะ เหมือนผู้กำกับเปลือยร่างกายให้เราเห็นทุกสัดส่วน เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่การเปลือยกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่เป็นการเปลือยส่วนลึกในใจของตนเอง และประวัติของตนเองออกมา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก

2.หนังอีกเรื่องที่นึกถึงตอนดูหนังเรื่องนี้ ก็คือ THE LONG DAY CLOSES (1992, Terence Davies, UK) เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้สะท้อนชีวิตผู้กำกับตอนที่ยังเป็นเด็กเหมือนกัน โดย THE LONG DAY CLOSES เล่าถึงชีวิตผู้กำกับขณะที่มีอายุ 11 ปี และเด็กชายในหนังทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็หลงใหลในภาพยนตร์อย่างรุนแรง และมีการนำคลิปภาพยนตร์เก่าๆมาใช้ประกอบหนังทั้งสองเรื่องนี้เหมือนกันด้วย หนังทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็เป็นการสะท้อน “ความทรงจำ” ของผู้กำกับออกมาได้อย่างงดงามปนเศร้าสร้อย และอย่างทรงพลังมากๆ

3.ดูแล้วนึกถึงหนังสั้นนักศึกษากลุ่มที่เราชอบมากๆ กลุ่มนึง ซึ่งก็คือหนังกลุ่ม “บำบัดปมในใจผู้กำกับ” เพราะนักศึกษาบางคนทำหนังจากเรื่องส่วนตัว ประสบการณ์ชีวิตตนเอง โดยเฉพาะปมเศร้าปมทุกข์ที่ฝังลึกในใจตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาครอบครัว และหนังกลุ่มนี้มีบางเรื่องที่ออกมาทรงพลังมากๆ ดีมากๆ เพราะมันเหมือนผู้กำกับกรีดเลือดกรีดหนองในใจตนเองใส่เข้าไปในหนัง และถ้าทำออกมาดีๆ มันจะก็ส่งทอดความเจ็บปวดเศร้าสร้อยมาถึงผู้ชมได้

แต่หนังกลุ่ม “ฟิล์มบำบัด” นี้เราไม่ค่อยได้เห็นในหนังโรงใหญ่หรือหนังยาวน่ะ เพราะพอมันเป็นหนังโรงใหญ่หรือหนังยาว ผู้กำกับส่วนใหญ่ก็มักเลือกที่จะพยายามเข้าถึงผู้ชมส่วนมาก และไม่กล้าใส่ตัวเองเข้าไปในหนังมากนัก

พอดู THE WALL เราก็เลยชอบมากๆตรงจุดนี้ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าความทุกข์ของตัวละครในหนัง มันเหมือนเป็นการถ่ายทอดความทุกข์จริงๆของผู้กำกับหนังอินดี้ในไทยออกมาน่ะ และมันถ่ายทอดความฝันในวัยเด็กออกมาด้วย ในแง่นึงเราก็เลยรู้สึกราวกับว่า THE WALL มีลักษณะคล้ายเป็นการบำบัดใจผู้กำกับ หรือการระบายความในใจของผู้กำกับออกมา คล้ายๆกับหนังกลุ่มฟิล์มบำบัดของนักศึกษา

แต่สิ่งที่ดีมากๆในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า คุณบุญส่งมีชีวิตที่แตกต่างเป็นอย่างมากจากนักศึกษาทำหนังส่วนใหญ่น่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ THE WALL จะมี “พลังความทุกข์ความเศร้าของผู้กำกับ” อัดแน่นอยู่เหมือนหนังกลุ่มฟิล์มบำบัดของนักศึกษา ที่มักจะเล่าเรื่อง แม่ตาย, แม่ไม่รัก, พ่อตาย, พ่อไม่รัก, คิดถึงเพื่อนเก่า, คิดถึงแฟนเก่า, คิดถึงบ้านในชนบท ฯลฯ หนังเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องที่แตกต่างจากหนังนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะการที่ตัวละครเอกมีชีวิตที่ยากจนในวัยเด็ก และต้องบวชเณร แต่หลงรักการแสดงและภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเป็นเณร มันเป็นชีวิตแบบที่เราไม่เคยพบในหนังไทยเรื่องอื่นๆ มาก่อนน่ะ และมันก็เลยเป็นข้อได้เปรียบอย่างนึงของหนังเรื่องนี้ และทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร

4.แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือการที่หนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงชีวิตตัวเองตลอดเวลาขณะที่ดูหนังไปด้วย 555

คือเราเป็นคนที่ชอบคิดถึงอดีตของตัวเองเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นอย่างมาก สมัยที่เรายังเรียนมัธยมน่ะ คือพอเราอายุ 45 ปีแล้ว เรากลับพบว่า ช่วงเวลาที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิต มันคือช่วงปี 1988-1989 ตอนที่เรายังเรียนชั้นม.4-ม.5 น่ะ เพราะฉะนั้น พอเรานั่งรถผ่านบริเวณโรงเรียนมัธยมของเรา เราก็มักจะรู้สึกเหมือนเห็นตัวเรากับเพื่อนๆในปี 1988-1989 เดินไปเดินมาอยู่แถวนั้น มันเหมือนกับว่า ความทรงจำของเราที่มีต่อปี 1988-1989 มันฝังแน่นมาก มันหลอนมากๆ มันไม่ยอมปล่อยเราไป จนบางทีเราก็อดคิดไม่ได้ว่า เราจะ exorcise ความทรงจำที่ฝังแน่นนี้ออกมาผ่านทางการสร้างเป็นภาพยนตร์ดีมั้ย เพื่อจะได้บันทึกความทรงจำที่ฝังแน่นนี้ ที่หลอกหลอนเราด้วยความหอมหวาน ความฟุ้งฝัน ความ innocence ความมองโลกในแง่ดี ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองนี้ ออกไปจากตัวเรา บางทีพอเราถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพยนตร์ หรือเป็นตัวอักษรแล้ว เราอาจจะ make peace กับตัวเองได้มากขึ้น

เพราะพอเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นมันได้หายไปหมดแล้ว ความหอมหวานของวัยเยาว์ได้กลายเป็นความขมขื่น ความฟุ้งฝัน และจินตนาการที่ limiltess ได้กลายเป็นการยอมรับกับความจริงของชีวิต ความ innocence ได้กลายเป็นความหยาบกร้าน การมองโลกในแง่ดีได้กลายเป็นการมองโลกในแง่ร้าย และความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ได้กลายเป็นการยอมรับว่าตัวเองมีความสามารถที่จำกัดจำเขี่ยมากเพียงใด ความฝันในวัยเยาว์ที่อยากมีผัวชาวสวีเดนหรือผัวชาวแคนาดาได้หมดไปจากใจเราแล้ว ตอนนี้ขอแค่ใช้ชีวิตได้ถึงตอนเย็นของแต่ละวัน โดยที่หมอนรองกระดูกยังไม่เคลื่อน กูก็พอใจกับชีวิตแล้ว

การที่หนังของคุณบุญส่งเรื่องนี้ มันมีความหลอนจากวัยรุ่น ความฝังใจกับชีวิตวัยรุ่นของตนเองเมื่อ 30 ปีก่อนอยู่ในหนัง มันก็เลยส่งผลกระทบกับเราอย่างรุนแรงมาก เพราะเราเองก็มีอาการคล้ายๆแบบนี้เหมือนกัน และมันเป็นสิ่งที่เราไม่พบในหนังนักศึกษาไทยด้วย เพราะนักศึกษามันยังอายุไม่ถึง มันยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่ตัวเองเคยเป็นวัยรุ่นเมื่อ 30 ปีก่อน มันก็เลยไม่มีหนังสั้นหรือหนังยาวไทยที่มีลักษณะแบบนี้ หนังแบบนี้มันต้องอาศัยคนทำที่มันมีอายุถึงขั้นนึงจริงๆ มีประสบการณ์ชีวิตจริงๆ มี memory ที่ฝังใจจริงๆ มันถึงจะถ่ายทอดออกมาอย่างทรงพลังแบบนี้ได้

อย่างไรก็ดี THE WALL มันก็ต่างจากเราตรงที่ว่า ตัวละครเอกของ THE WALL ในปัจจุบันยังคงมี “ความฝัน” อยู่ ส่วนตัวเราในปัจจุบันนั้น ไม่มีความฝันใดๆหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว

Saturday, October 06, 2018

NOSTALGIA (2016, Chanasorn Chaikitiporn, A+30)


NOSTALGIA (2016, Chanasorn Chaikitiporn, A+30)
กระบืออาวรณ์

1.งดงามสุดๆ เป็นหนังแนวที่เราชอบมากๆ นั่นก็คือหนังแนว poetic ที่มี sense แบบ Andrei Tarkovsky, Rouzbeh Rashidi, Teeranit Siangsanoh หนังร้อยเรียงเอาฉากธรรมชาติ, บรรยากาศต่างๆของสถานที่แห่งหนึ่งในชนบทเข้าด้วยกัน โดยแทบไม่มีเนื้อเรื่องเลย เนื้อเรื่องที่มีอยู่เล็กน้อยในหนังถูกเล่าผ่านทาง text ที่เป็นเหมือนคำพูดที่ลูกชายพูดกับแม่ เหมือนลูกชายได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมบ้านได้แค่ครั้งเดียว และเขาก็บอกกับแม่ว่าเขาอยู่ที่นู่นแล้วไม่มีความสุขเลย

ดูแล้วก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย เขาถูกเกณฑ์ทหาร หรือติดคุก หรืออะไร แต่นั่นไม่ได้สำคัญอะไรกับเรามากนัก เราเดาว่าหนังเรื่องนี้น่าจะถ่ายที่อุตรดิตถ์ และเป็นเหมือนการ nostalgia ถึงสถานที่ที่เคยอยู่อาศัยในอดีต ท้องทุ่งที่มีควายฝูงใหญ่เดินไปเดินมา ควายร่วมรักกัน ควายแช่น้ำ สิ่งปลูกสร้างต่างๆในชนบท บ้านหลังเก่าที่เคยอยู่อาศัย ป่าใกล้บ้าน เสาไฟต้นใหญ่ใกล้บ้าน แม่น้ำลำคลองใกล้บ้าน คิดถึงสายลมที่บ้านเก่า คิดถึงท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ที่บ้านเก่า

2.ชอบ sense ในการเฟรมภาพ และในการตัดต่อของผู้กำกับมากๆ เราว่ามัน poetic ในแบบที่เข้าทางเรามากๆ และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำหนังให้ออกมางดงามสุดๆแบบนี้ เพราะพอหนังมันแทบไม่มี “เนื้อเรื่อง” แล้ว มันก็ยากที่จะตัดสินได้ว่าควรจะถ่ายอะไร และควรจะตัดต่อร้อยเรียงมันออกมายังไงน่ะ หนังคงต้องการถ่ายทอดมวลอารมณ์ความรู้สึกคิดถึงบ้านเก่าเป็นหลัก แต่อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้มันเป็นสิ่งที่นามธรรมมากๆ มันก็เลยยากที่จะตัดสินได้ว่า เราจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ผ่านทางภาพของอะไร และจะร้อยเรียงภาพไหนต่อกับภาพไหน เพื่อให้ได้ผลทางอารมณ์ในแบบที่เราต้องการ

เราว่าผู้กำกับทำได้ดีมากๆในเรื่องพวกนี้นะ การเฟรมภาพทำได้งามมากๆ และการร้อยเรียงภาพต่างๆเข้าด้วยกันก็ดีมาก จุดที่เรารู้สึกว่าพีคที่สุด อารมณ์พุ่งขึ้นสูงสุดสำหรับเราในหนังเรื่องนี้ ก็คือ moment ที่เปลี่ยนจากภาพดวงไฟสีฟ้า 1 ดวง, สีส้ม 1 ดวง และสีเหลือง 3 ดวงท่ามกลางความมืด ไปเป็นภาพดวงไฟเจิดจ้าที่เคลื่อนออกจากมุมซ้ายบนของภาพ เข้ามาซ้อนทับกับดวงไฟสีเขียวตรงกลางจอน่ะ แล้วดวงไฟเจิดจ้านั่นก็ทวีความเจิดจ้าขึ้นเรื่อยๆ คือเราไม่รู้อะไรทั้งสิ้นว่าฉากนี้มันสื่อถึงอะไร เรารู้แต่ว่าอารมณ์ของเรามันพุ่งปรี๊ดมากๆในฉากนี้ และเราชอบหนังแบบนี้มากๆ หนังที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเราอย่างรุนแรงที่สุด โดยที่เราไม่เข้าใจอะไรบนจอเลยว่ามันหมายความว่าอะไร

3.สรุปว่าได้ดูหนังของ Chanasorn Chaikitiporn ไป 4 เรื่อง และดีมากๆที่หนัง 4 เรื่องนี้มีความโดดเด่น ไม่ซ้ำกัน เราชอบ MOSQUITO CYCLE น้อยสุด และอาจจะชอบ NOSTALGIA เป็นอันดับสาม เพราะถึงแม้ NOSTALGIA จะงดงามมากๆ แต่หนังแนว poetic แบบนี้มันก็มีตัวเปรียบเทียบเยอะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังของ Teeranit Siangsanoh, Roubzbeh Rashidi, Dean Kavanagh  ส่วนอันดับ 1 กับ 2 นั้นยังตัดสินไม่ได้ว่าชอบ TOIRALLEL TIMES หรือ AQUATORIUM มากกว่ากัน เหมือน TOIRALLEL TIMES มันมี “ประเด็น” ที่น่าสนใจ แต่เราดูแล้วรู้สึกอึดอัด ในขณะที่ AQUATORIUM นั้นมันดูมีความ “ฟุ้ง” มันมีบรรยากาศที่เชื้อเชิญและเป็นมิตรกับเรามากกว่า TOIRALLEL TIMES

4.ยกให้ปี 2018 เป็นปีของ Chanasorn Chaikitiporn, Tanakit Kitsanayunyong และ Achitaphon Piansukprasert  ไปเลย เพราะปีนี้ได้ดูหนังหลายเรื่องของผู้กำกับ 3 คนนี้ ซึ่งทั้งสามคนต่างก็ทำหนังทดลองในแนวทางของตนเองออกมาได้ในแบบที่ตรงใจเรามากๆ

5.คิดว่าหนังที่เหมาะฉายควบกับ “กระบืออาวรณ์” มากที่สุด น่าจะเป็น “กลิ่นสายลม” หรือ FRAGRANCE OF THE WIND (2007, Chaiwat Wiansantia) ที่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกถึงบ้านเก่าในชนบทในแบบที่ poetic เหมือนกัน แต่น่าเสียดายมากๆที่ FRAGRANCE OF THE WIND ไม่มีให้ดูเต็มๆในยูทูบ เราเดาว่าคงเป็นเพราะเพลงในหนังมันติดลิขสิทธิ์ หนังช่วงต้นเรื่องก็เลยโดนลบออกไปจากยูทูบ


Friday, October 05, 2018

HELL FEST (2018, Gregory Plotkin, A+25)


HELL FEST (2018, Gregory Plotkin, A+25)

หนังสยองขวัญสูตรสำเร็จมากๆ ไม่มีอะไรใหม่เลย นึกว่าไปเที่ยวบ้านผีสิงชั้น 8 มาบุญครอง (มีใครเกิดทันไปเที่ยวที่นี่บ้าง) แต่ก็ชอบหนังมากๆอยู่ดี เพราะเราเกิดมาเพื่อดูหนังสยองขวัญโง่ๆแบบนี้นี่แหละ 555 อย่างที่บอกแล้วว่า มันเหมือนกับไปเที่ยวบ้านผีสิงธรรมดาอันนึงน่ะ ทุกอย่างคาดเดาได้ สนุกแบบ “ปลอดภัย” เดินออกจากบ้านผีสิงมาแล้วก็รู้สึกว่าได้รับความบันเทิง “เก่าๆ โง่ๆ” ตามแบบที่คาดหวังไว้ สิ่งเดียวที่ดูเหมือนโดดเด่นในหนังเรื่องนี้ ก็คือ “ฉาก” สวนสนุกที่ออกแบบมาได้น่าเล่นมากๆ

เหมือนสาเหตุที่ชอบหนังมากเพราะเราอินกับสถานการณ์ในระดับนึงด้วยแหละ นึกถึงหนังแบบ TRAPPED (1989, Fred Walton) ที่นางเอกติดอยู่ในอาคารสูงกับฆาตกรโรคจิต คือทั้ง TRAPPED กับ HELL FEST มันเป็นหนังที่เราเหมือนอินกับนางเอกในระดับนึงน่ะ คือดูแล้วจะรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับนางเอก และพยายามคิดหาทางเอาตัวรอดไปด้วย โดยหนังทั้งสองเรื่องนี้จะเหมือนกันในแง่ที่ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในคืนเดียว ใน “สถานที่เดียว” และเป็นสถานที่ที่ดูเหมือนไม่ไกลตัวเราเกินไปนัก

แต่ก็ไม่ได้ชอบ HELL FEST อย่างสุดๆนะ เพราะหนังมันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย และเราก็ไม่ได้อินกับมันแบบรุนแรงมากๆอย่าง KRISTY (2014, Oliver Blackburn) นอกจากนี้ มันก็เป็นหนังที่ดูแล้วรู้สึก “ปลอดภัย” มากๆ ซึ่งแตกต่างจากหนังอย่าง KILLING GROUND (2016, Damien Power) เพราะในหนังอย่าง KILLING GROUND นั้น เรารู้สึกว่าฆาตกรโรคจิตดำรงอยู่ เพราะมนุษย์บางคนมันชั่วจริงๆ แต่ในหนังอย่าง HELL FEST นั้น ฆาตกรโรคจิตดำรงอยู่ “เพื่อความบันเทิงของผู้ชม”

Monday, October 01, 2018

MY MOST FAVORITE TV SERIES OF ALL TIME


MY MOST FAVORITE TV SERIES OF ALL TIME

น้อง Tara Jaroenkat บอกว่าอยากเห็นลิสท์นี้ เราก็เลยทำขึ้นมาเลยก็แล้วกัน แต่เราแทบไม่ได้ดูละครทีวีมานาน 20 กว่าปีแล้ว 555 เพราะฉะนั้นลิสท์เราก็เลยมีแต่ละครทีวีเก่าๆ

in alphabetical order

THAI TV SERIES

1.ขบวนการคนใช้ (1977, ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์, อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) ช่อง 3

2.คนเริงเมือง (1988, เริงศิริ ลิมอักษร) ช่อง 3

3.คฤหาสน์ดำ สร้างจากนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์ ฉายทางช่อง 9 น่าจะประมาณปี 1983

4.จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า (2006, ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ หรือ เติม) ช่อง 3

5.จิตไม่ว่าง 24 (1981, สมชาย นิลวรรณ) ช่อง 3 นำแสดงโดย กรรณิกา ธรรมเกษร, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อรสา พรหมประทาน, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช

6.ซอยปรารถนา 2500 (1998, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) ช่อง 7

7.ทะเลเลือด (1986, อดุลย์ ดุลยรัตน์) ดัดแปลงจาก DEATH ON THE NILE ของ Agatha Christie ช่อง 3

8.ทายาทอสูร (1992, อดุลย์ บุญบุตร) ช่อง 5

9.เทวรูปแมว ละครช่อง 7 ช่วงต้นทศวรรษ 1980

10.ปอบผีฟ้า ละครช่อง 7 ช่วงต้นทศวรรษ 1980

11. พรสีเลือด (1978, อดุลย์ กรีน) ละครช่อง 3 ดัดแปลงจาก AND THEN THERE WERE NONE ของ Agatha Christie

12.เพลิงพระนาง (1996, อดุลย์ บุญบุตร) ช่อง 5

13. ล่า (1994, สุพล วิเชียรฉาย) ช่อง 5

14.วังน้ำวน (1992, ยุทธนา มุกดาสนิท) ช่อง 5

15. อาศรมสาง (1988, วิโรจน์ ศรีสิทธิเสรีอมร) ช่อง 3 สร้างจากนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์

ตลกดีที่พอมาทำลิสท์นี้แล้วพบว่า มีทั้งอดุลย์ กรีน, อดุลย์ ดุลยรัตน์ และอดุลย์ บุญบุตร ติดอยู่ในลิสท์นี้ 555

JAPANESE TV SERIES

1.GOLDFISH WARNING! ปริศนาปลาทอง (1991-1992, Junichi Sato, animation, 54 episodes)

2.HAKUSEN NAGASHI อดีตฝันวันวาน (1996, 11episodes)

3.MOERO ATTACK (ยอดหญิงชิงโอลิมปิก) (1979-1980, 72 episodes)

4.POWER OFFICE GIRLS รวมพลังสาวซ่าส์ (1998)

5.RED SENSATION (AKAI KIZUNA) หรือ “เพลิงรัก” (1977-1978, 21 hours) นำแสดงโดย Momoe Yamakuchi

6.THE RING (1999)

7.SAILOR MOON S (1994-1995, animation) ชอบภาคที่มี Sailor Saturn

8.SUKEBAN DEKA SEASON 2: THE LEGEND OF THE GIRL IN THE IRON MASK (1985-1986)

9.THE ROSE OF VERSAILLES กุหลาบแวร์ซายลส์ (1979-1980, Tadao Nagahama, Osamu Dezaki, animation, 40 episodes)

10.เงือกสาวจ้าวสระ

HONG KONG TV SERIES

1.คำสาปเทวรูป ที่นำแสดงโดย จวงจิ้งเอ๋อ, หวงเย่อหัว

2.โคมวิเศษเจ้าแม่หัวซาน ที่นำแสดงโดย วังหมิงฉวน

3.จอมดาบหิมะแดง THE BLACK SABRE (1991) ที่นำแสดงโดย อู๋ไต้หยง

4.ดาบมังกรหยก ที่นำแสดงโดย เหลียงเฉาเหว่ย

5.นักข่าวหัวเห็ด (การเคลื่อนไหวของเจ้าแม่หนี่ฮวา) ที่นำแสดงโดย หวีอันอัน

6.พยัคฆ์ร้ายบู๊ลิ้ม (1979)

7.ไฟอารมณ์ CONSCIENCE ที่นำแสดงโดย เส้าเหม่ยฉี, เวินเจ้าหลุน         

8.ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ที่นำแสดงโดย หลินจุ้นเสียน

9.ศึกลำน้ำเลือด ที่นำแสดงโดย เหลียงเฉาเหว่ย

10.14 นางสิงห์เจ้ายุทธจักร ที่นำแสดงโดย วังหมิงฉวน, ฝงเป๋าเป่า, หยางพ่านพ่าน

AMERICAN/BRITISH TV SERIES

1.BUCK ROGERS IN THE 25TH CENTURY (1979-1981)

2.CHARLIE’S ANGELS (1976-1981)

3.HAMMER HOUSE OF HORROR (1980)

4.MACGYVER (1985-1992)

5.THE MURDER OF MARY PHAGAN (1988, 4hours 11mins)

6.SALEM’S LOT (1979, Tobe Hooper, 3hours 7mins)

7.THE TWILIGHT ZONE (1985)

8.TWIN PEAKS (1990-1991)

9.THE WINDS OF WAR (1983, 14hours 43 mins) + WAR AND REMEMBRANCE (1988, 27hours)

10.THE X-FILES (1993)

รูปจาก SUKEBAN DEKA SEASON 2