Saturday, January 28, 2023

HE DAY I WILL NEVER FORGET

 

พอดู CHILDREN OF THE MIST (2021, Ha Le Diem, Vietnam, documentary, A+30) แล้วก็นึกถึงหนังสารคดีอีกเรื่องที่ชอบสุด ๆ ด้วย ซึ่งก็คือ THE DAY I WILL NEVER FORGET (2002, Kim Longinotto, A+30) ที่เป็นการสำรวจประเพณี “การขริบอวัยวะเพศหญิง” ในชุมชนชาวโซมาเลียใน Kenya หนังสารคดีเรื่องนี้เคยมาฉายที่โรงหนังในห้างเอ็มโพเรียมในเทศกาล Bangkok Film Festival ในปี 2004 และเป็นสารคดีที่หนักมาก ๆ เพราะชาวบ้านจำนวนมากยังคงบังคับให้ผู้หญิงขริบอวัยวะเพศอยู่ โดยอ้างว่ามันช่วยให้ผู้หญิงไม่ทำตัวสำส่อน และพอเราดู CHILDREN OF THE MIST แล้ว เราก็เลยย้อนกลับไปนึกถึงหนังเรื่องนี้ในหลาย ๆ จุด เพราะมันมีหลายอย่างที่พ้องกัน อย่างเช่น

 

1.ความเป็นเผด็จการในระดับครอบครัว พ่อแม่มักอ้างว่าตัวเองรักลูก ๆ ก็เลยบังคับให้ลูก ๆ ทำในสิ่งที่ลูก ๆ ไม่ต้องการ ราวกับว่าความรักลูกของพวกเขาคือการได้เห็นลูก ๆ ของตัวเองทุกข์ทรมาน

 

2.เด็กหญิงคนหนึ่งใน THE DAY I WILL NEVER FORGET ลุกขึ้นตบกับประเพณีหีแตกนี้ ด้วยการหนีออกจากบ้านไปเลย และนำเรื่องขึ้นฟ้องศาล ซึ่งก็ทำให้เรานึกถึง subject ของ CHILDREN OF THE MIST ที่กล้าจะพูดว่า “ไม่” เช่นเดียวกัน

 

3.กล้องที่ “look into hell with unblinking eye” ซึ่งในกรณีของหนังเรื่องนี้ คือการที่กล้องไปถ่ายทำการขริบอวัยวะเพศหญิงในครอบครัวนึง ซึ่งเด็กหญิงที่ถูกขริบนี้ก็เจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสต่อหน้ากล้อง

 

4.ทั้ง CHILDEN OF THE MIST และ THE DAY I WILL NEVER FORGET ต่างก็นำไปสู่คำถามที่ว่า “ใครเป็นคนกำหนดประเพณี”, “พวกเขากำหนดมันขึ้นมาเพื่อกดขี่ใคร” และ “แล้วทำไมกูต้องทำตามที่พวกมึงกำหนด”

 

5.หนังทั้งสองเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึง “แบม” กับ “ตะวัน” ด้วย

 

 

 

 

 

 

Friday, January 27, 2023

BUNKER/BAJU

 PEASANT PARK (2022, Uninspired by Current Events, interactive video installation, 6min, A+30)


PALIANYTSIA (2022, Zhanna Kadyrova, Ukraine, video installation, A+30)

1.ศิลปินนำเอาหินตามริมลำธารมาทำเป็นงานศิลปะรูปร่างคล้ายขนมปังก้อนกลม เพราะว่าขนมปังนี้มันเป็นอาหารหลักของชาวยูเครน และคำภาษายูเครนว่า Palianytsia ที่ใช้เรียกขนมปังนี้ มันใช้ในการแยก "มิตร" ออกจาก "ศัตรู" ได้ด้วย เพราะชาวรัสเซียมักจะออกเสียงคำนี้ผิด

2.พอศิลปินทำงานศิลปะขนมปังหินนี้เสร็จ เธอก็เริ่มด้วยการนำมันจัดแสดงในหมู่บ้านที่เธออยู่ก่อน แต่ปรากฏว่าชาวบ้านในชนบท ไม่มีความรู้เรื่อง etiquettes ในการดูงานศิลปะ ชาวบ้านบางคนเลยนึกว่ามันเป็น "หินลับมีด" แล้วเลยจะหยิบเอางานศิลปะของเธอมาใช้ลับมีด

3.ชอบที่วิดีโอนี้สัมภาษณ์ชาวบ้านบางคนเกี่ยวกับ "ความฝัน" ช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครนด้วย เพราะเธอกับชาวบ้านบางคน มีฝันร้ายประหลาด ๆ ก่อนเกิดสงคราม

SHOTS (2014-2015, Zhanna Kadyrova, Ukraine) งานศิลปะที่จำลองพื้นกระเบื้องอาคารจากยุคสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นอาคารที่ยังคงหลงเหลือตกทอดมาถึงยูเครนในปัจจุบัน แต่กระเบื้องเหล่านี้มีรอยร้าวเพราะ "ลูกกระสุน"

TACOBELLMEX.COM (2022, Henry Palacio, Colombia, video installation, approximately 20min, A+30)

CRYING SKY (2022, Nutdanai Jitbunjong, video installation, approximately 20 min, A+30)

1. Video แสดงที่ JWD Art Space ตัววิดีโอจัดวางสวยดี มันฉายบนหน้าจอใส และมีแสงส่องมาจากทางด้านหลังทำให้ภาพบนจอมันสะท้อนลงไปที่พื้นด้วย ทำให้เหมือนมันมี 2 จอในเวลาเดียวกัน แต่ภาพที่พื้นจะมี "รุ้งกินน้ำ" อยู่ด้วย ซึ่งคงเกิดจากการหักเหของแสงบางอย่าง แต่ภาพบนจอจะไม่มีรุ้งกินน้ำ

2. ตัวภาพบนจอแบ่งเป็น 3 ชุดตัดสลับกันไปมา ภาพชุดที่หนึ่งเป็นกลุ่มชายหนุ่มชักว่าว ภาพชุดที่สองเป็นภาพว่าวบนท้องฟ้า ส่วนภาพชุดที่สามเป็นจอแสงสีแดง มี text ขึ้นเล่าความทรงจำของผู้กำกับที่มีต่อครอบครัวและเรื่องเล่าพญาแถน

3.อีกสิ่งที่ดีงามสุด ๆ ในงานชิ้นนี้คือ text ที่ติดไว้บนฝาผนัง ที่เล่าเรื่องความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลก, ลัทธิสหัสวรรษ, homophobia, ผีบุญ, งานบุญบั้งไฟ  มนุษย์ต่างดาว โดยเชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันได้อย่างดีงามมาก ๆ

4.สิ่งที่เราชอบมาก ๆ ก็คือการออกแบบและจัดวางสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน เพราะเราจะอ่าน text บนฝาผนังห้องได้ก็ต่อเมื่อแสงในห้องมันสว่างมากพอ และแสงในห้องมันจะสว่างมากพอ ก็ต่อเมื่อภาพบนจอเป็นภาพการชักว่าว (ซึ่งอาจจะสื่อถึงความพยายามจะติดต่อสื่อสารกับเบื้องบน) แต่ในช่วงที่จอเป็นแสงสีแดง เราจะมองไม่เห็น text บนฝาผนัง ซึ่งในช่วงนั้นเราก็ควรจะอ่าน  text บนจอที่เล่าเรื่องความทรงจำของผู้กำกับอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นการดูงานนี้ก็เลยเหมือนการอ่านสลับระหว่าง text บนจอฉายหนังกับ text บนฝาผนังไปเรื่อย ๆ และกว่าจะอ่าน text บนฝาผนังจบ ก็ใช้เวลาราว 20 นาทีตามความยาว video พอดี 555

BANGKOK IS FLOATING, NO GARBAGE (2022, Kamin Lertchaiprasert, video installation, 26min, A+20)

1.วิดีโอที่นำเสนอโลกจินตนาการที่คล้าย ๆ จักรวาลคู่ขนาน ในจักรวาลนี้ ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในปี 2025, เมืองทุกเมืองในไทยถือเป็นเมืองหลวง ความเจริญไม่ได้กระจุกอยู่ในกรุงเทพอีกต่อไป และคนไทยก็เต็มไปด้วย kindness and loving มาก ๆ จน Greta Thunberg ย้ายมาอยู่เมืองไทยและอาศัยอยู่จนแก่เฒ่า

2.เป็นวิดีโอแนวอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีความธรรมะธรรโมสูงมาก ๆ ดูแล้วนึกว่ากำลังฟังเทศน์ในวัด 555

3.ถึงแม้จะไม่ได้อินกับ Greta และความธรรมะธรรโมของวิดีโอนี้ แต่เหมือน video นี้มันมาจากแนวคิดที่มีความแตกต่างจากเราในระดับนึง เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจดี

UNVEIL (2017, Wendimagegn Belete, Ethiopia, video installation, A+15)

1.วิดีโอที่นำเสนอภาพนักรบเอธิโอเปีย 3000 ราย เราเห็นแล้วก็สงสัยว่ามันถึง 3000 รายจริงเหรอ ก็เลยลองนับช่องแนวนอนได้ราว 36 ช่อง แนวตั้งได้ราว 81 ช่อง คูณกันได้ 2916 ช่อง ก็เกือบ ๆ 3000 ราย จริง ๆ ด้วย

2. แต่เนื่องจากเราแทบไม่รู้ปวศ.เอธิโอเปียมาก่อนเลย ก็เลยคิดว่าจริง ๆ แล้วอยากให้มี video installation แบบนี้ แต่เป็นแบบ interactive มากกว่า แบบว่าพอผู้ชมคลิกไปที่ช่องไหน ก็จะมีประวัติของบุคคลในภาพขึ้นมาให้อ่านด้วย

PURITY (2018, Kennedy Yanko, video installation, 1min, A+15)

IF WATER HAS MEMORIES (2022, Tiffany Chung, Vietnam, video installation, 6min, A+30)

หนึ่งในหนังที่หดหู่ที่สุดเท่าที่เคยดูมาในชีวิตนี้ งานนี้เป็นวิดีโอ 3 จอ เนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังพูดถึงเรื่องจริงของผู้อพยพหญิงชาวเวียดนามที่ถูกเรือประมงไทย/โจรสลัดปล้นฆ่าข่มขืนเป็นจำนวนมากในช่วงต้นทศวรรษ 1980

สถิติแค่ของปี 1985 ปีเดียว ก็มีผู้อพยพหญิงชาวเวียดนามถูกเรือประมงไทย/โจรสลัดข่มขืนหรือลักพาตัว (ไปข่มขืนแล้วฆ่า) ราว 200 กว่าคนแล้ว เพราะฉะนั้นจำนวนทั้งหมดในช่วงเวลาหลายปีก็น่าจะมากกว่าพันคน หดหู่มาก ๆ

SEMANA SANTA CRUXTATIONS II OR HOW TO INTONE BUTIKI-BITUKA-BOTIKA (2021-2022, Alwin Reamillo, Philippines)

ทำไมดูงานศิลปะชิ้นนี้แล้วนึกถึงหนังเรื่อง FAIRYTALE (2022, Alexander Sokurov, A+30) บางทีอาจจะเป็นเพราะมันสร้างมิติหลอน ๆ ที่อวลไปด้วยบุคคลสำคัญทางปวศ.และแง่มุมทางศาสนาเหมือนกัน

BUNKER/BAJU (2022, Satu Padu Collaborative, video installation, 30min, A+30)

1.หนักมาก ๆ ดูแล้วแทบร้องไห้ video installation เรื่องนี้สัมภาษณ์ผู้หญิงหลายคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และชีวิตแต่ละคนหนักมาก ๆ

คือชีวิตแต่ละคนก็ลำบากหนักมากอยู่แล้วตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรือเซะ + ตากใบในปี 2004 แล้วก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นไปอีกเมื่อเจอวิกฤติโควิด จะทำงานอะไรก็ยากลำบากมาก ไม่รู้จะหาเงินมาเลี้ยงตัวเองกับลูก ๆ ได้อย่างไร

2.ผู้หญิงคนนึงเคยทำงานทวงรถให้ isuzu หรืออะไรทำนองนี้ด้วย คือเป็นงานที่บู๊มาก ต้องขับรถไล่ล่าคนไปทั่วชายแดนใต้เพื่อเอารถคืนมา แล้วคนก็ชอบยิงปืนขู่ บางทีก็ต้องวิ่งหนีเข้าป่าจนถุงน่องขาด

แต่พอเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ มี red zone เธอก็ทำงานแบบนี้ไม่ได้อีก เพราะเป็นเรื่องยากหรืออันตรายเกินไปที่จะบุกเข้า red zone

3.ผู้หญิงคนนึงบอกว่า ช่วงที่มีระเบิดทุกวัน เธอรู้สึกเฉยๆ ชินชาไปแล้ว จนรู้สึกเหมือนมันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าช่วงไหนไม่มีระเบิด เธอจะเครียดมาก ๆ กังวลมาก ๆ เพราะมันทำให้เธอกลัวว่าจะต้องเกิด "เหตุการณ์ใหญ่" ตามมาแน่ ๆ

4.วิดีโอนี้ฉายไปบนกำแพงที่มีลักษณะคล้าย ๆ กระสอบทราย + หมอน เพื่อทำให้นึกถึงบังเกอร์หลบภัย

TADIKA (2022, Wanmuhaimin E-taela, video installation)

Sunday, January 22, 2023

CHILDREN OF THE MIST (2021, Ha Le Diem, Vietnam, documentary, A+30)

พอดู CHILDREN OF THE MIST (2021, Ha Le Diem, Vietnam, documentary, A+30) แล้วก็นึกถึงสารคดีของ VICE เกี่ยวกับ bride kidnapping ใน Kyrgyzstan แล้วก็นึกถึงหนังหลาย ๆ เรื่องที่เคยดูมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ bride kidnapping แต่ล้วนเป็นการตั้งคำถามต่อประเด็นที่ว่า “ใครกำหนด (ประเพณี,วัฒนธรรม)”, “เขากำหนดมันขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมใครให้อยู่ใต้อำนาจเขา” และ “แล้วทำไมกูต้องทำตามที่พวกมึงกำหนด ในเมื่อกูไม่ได้เป็นคนกำหนดสิ่งนั้นขึ้นมา” ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษยชาติต่อสู้กันมานานหลายพันปีแล้ว ตั้งแต่ “การกำหนดให้คนเชื่อกันว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ใครที่แสดงความเห็นตรงกันข้าม ต้องถูกประหารชีวิต, “การกำหนดให้คนบางเชื้อชาติ มีสิทธิจับคนบางเชื้อชาติไปเป็นทาสได้” คือเหมือนทั้งเรื่องการค้าทาส, สิทธิคนดำ, สิทธิสตรี, สิทธิเกย์, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, สมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นสมมุติเทพ, etc. ล้วนทำให้เรานึกถึงคำถามที่ว่า “ใครกำหนด”, “เขากำหนดความเชื่อ/ประเพณีนั้นขึ้นมาเพื่อกดขี่ใคร” และ “แล้วทำไมกูต้องทำตามที่พวกมึงกำหนด”

https://www.youtube.com/watch?v=cFkcoHx5LFQ


Wednesday, January 18, 2023

FILMS/MOVING IMAGES SEEN IN 8-14 JAN 2023

 

รายงานผลประกอบการประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนม.ค.

 

FILMS/MOVING IMAGES SEEN IN 8-14 JAN 2023

 

21.CCTV (FROM CORNER OF THE STREET VIEWPOINTS; PATTANI, YALA NARATHIWAT) (2022, Satu Padu Collaborative, Prach Pimarnman, video installation in 3 channels, 15min, A+30)

 

22.THE SILENT MAJORITY SPEAKS (2010, Bani Khoshnoudi, Iran, documentary, A+30)

 

23.JOAN OF ARC OF MONGOLIA (1989, Ulrike Ottinger, West Germany, about Mongolia, A+30)

 

24.IF WATER HAS MEMORIES (2022, Tiffany Chung, Vietnam, video installation, 6min, A+30)

 

25.ART WAR (2014, Marco Wilms, Germany, about Egypt, documentary, A+30)

 

26.BUNKER/BAJU (2022, Satu Padu Collaborative, video installation, 30min, A+30)

 

27.CRYING SKY (2022, Nutdanai Jitbunjong, video installation, A+30)

 

28.DETOURS (2021, Ekaterina Selenkina, Russia, A+30)

 

29.DAILY NEWS – THE CHRONICLE OF OUR DAYS (2019, Dina Karaman, Russia, A+30)

 

30.PALIANYTSIA (2022, Zhanna Kadyrova, Ukraine, video installation, A+30)

 

31.PLOT 35 (2017, Éric Caravaca, France, about Morocco, documentary, A+30)

 

32.METAL POLITICS TAIWAN (2018, Marco Wilms, Germany, about Taiwan, documentary, A+30)

 

33.IT’S IN THE WOODS (2022, Hideo Nakata, Japan, A+30)

 

34.LIKAY STAR – FROM THE JUNGLE TO THE THAI OPERA (2013, Marco Wilms, documentary, A+30)

 

35.ORANG ISAN (2022, Tuanyazdan Saerae, short film, A+30)

 

36.PUSS IN BOOTS: THE LAST WISH (2022, Joel Crawford, animation, A+30)

 

37.PEASANT PARK (2022, Uninspired by Current Events, video installation, A+30)

 

38.TACOBELLMEX.COM (2022, Henry Palacio, Colombia, video installation, A+30)

 

39.TAILOR MADE DREAMS (2006, Marco Wilms, Germany, documentary, A+30)

 

40.M3GAN (2022, Gerard Johnstone, A+30)

 

41.DON’T SAY GOODBYE TO EARTH (2022, Gabriel Massan, Brazil, short film, A+30)

 

42.VOIDSCAPE (2022, Kawita X CJK X CDS, short film, A+30)

 

43.TADIKA (2022, Wanmuhaimin E-taela, video installation, A+25)

 

44.BANGKOK IS FLOATING, NO GARBAGE (2022, Kamin Lertchaiprasert, video installation, 26min, A+20)

 

45.UNVEIL (2017, Wendimagegn Belete, Ethiopia, video installation, A+15)

 

46.PURITY (2018, Kennedy Yanko, video installation, 1min, A+15)

 

47.GANGNAM ZOMBIE (2023, Lee Soo Sung, South Korea, C- )

RIP Paul Vecchiali (1930-2023)

RIP Paul Vecchiali (1930-2023)

 

อยากให้มีคนจัดงาน retrospective ของเขาอย่างสุด ๆ เพราะเขากำกับภาพยนตร์มาแล้ว 57 เรื่อง แต่เราเคยดูหนังของเขาแค่ 2 เรื่องเอง และก็ชอบหนัง 2 เรื่องนั้นอย่างสุดขีดมาก ๆ ซึ่งก็คือเรื่อง

 

1. DRUGSTORE ROMANCE (1979) ที่เคยมาฉายที่สมาคมฝรั่งเศสในกรุงเทพ หนังเล่าเรื่องราวความรักต่างวัยระหว่างหนุ่มช่างเครื่องยนต์กับหญิงสูงวัยได้ออกมาอย่างถูกใจเรามาก ๆ

 

2.VICTOR SCHOELCHER, L’ABOLITION (1998, 100min) เรื่องนี้เราเคยดูทางทีวีช่อง TV5MONDE เมื่อราว 20 ปีก่อน และยกให้เป็นหนึ่งในหนังการเมืองที่ชอบที่สุดในชีวิต คือหนังทั้งเรื่องเป็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่งอภิปรายกันในห้องประชุมเกือบตลอดทั้งเรื่อง อารมณ์น่าจะคล้าย ๆ 12 ANGRY MEN แต่ถึงแม้ทั้งเรื่องมันจะมีแค่นักการเมืองอภิปรายกัน โต้แย้งกัน ทุ่มเถียงกันอย่างรุนแรงในห้องห้องเดียวเกือบทั้งเรื่อง มันก็ออกมาดีงามและทรงพลังอย่างสุดขีดคลั่งได้

 


Sunday, January 15, 2023

TEDDY

 

สรุปว่า หุ่นยนต์ที่เราชอบมากที่สุดในตอนนี้ ยังคงเป็น Teddy จาก A.I. ARTIFICIAL INTELLIGENCE (2001, Steven Spielberg) ตอนนี้ผ่านมานาน 21-22 ปีหลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉายแล้ว ก็ยังคงไม่มีการผลิตตุ๊กตาหมีแบบนี้ออกวางขายในท้องตลาดเลย หวังว่าในอนาคตจะมีการผลิตตุ๊กตาหมีหุ่นยนต์พูดได้แบบนี้ออกวางขายตาม supermarket ในราคาไม่เกิน 300 บาทนะคะ

Saturday, January 14, 2023

VOICE OF THE OPPRESSED

 From the exhibition RUSSIAN DOLL IN THAI DRESS


เดาว่านี่คือหนึ่งในความพยายามของ Russia ในการทำสงครามด้วยการโน้มน้าวประชาชนทั่วโลกให้มองรัสเซียในแง่ดี ในขณะที่รัสเซียยังคงเข่นฆ่าประชาชนใน Ukraine ต่อไป

แต่ถ้าหากตัดจุดประสงค์นี้ทิ้งไป เราว่าตุ๊กตาพวกนี้มันก็น่ารักดี

CHARMED BY ANXIETY (2022, Nadiah Bamadhaj, Indonesia, video installation, 16min, A+30)

ฉันรู้สึกว่า ฉันพึงใจใน video นี้ในแบบที่ตรงข้ามกับจุดประสงค์ของผู้กำกับ ฮิฮิ

RHIZOME (2022, Jakrawal Nilthamrong, video installation, A+30)

รู้สึกว่าตัววิดีโอสวยมาก และพิศวงดีด้วย

ดูแล้วนึกถึง 1001ST ISLAND -- THE MOST SUSTAINABLE ISLAND IN ARCHIPELAGO (2015, Irwan Ahmett, Tita Salina, Indonesia, video installation) ด้วย เพราะทั้งสองวิดีโอพูดถึงแพกลางทะเลที่ทำจากขยะหรืออะไรทำนองนี้เหมือนกัน แต่ RHIZOME จะพิศวงกว่ามาก

‐----
ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 5 แล้ว คราวนี้เป็น Pfizer หลังจากเข็ม 1-2 เป็น Astrazeneca และเข็ม 3-4 เป็น Moderna

เข็ม 5 นี้ฟรี เราจองผ่านทางแอป QueQ ตามคำแนะนำของน้องปราปต์ เราเลือกฉีดที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 2 วัดมักกะสัน แต่ต้องลางานมาฉีด เพราะเขาไม่มีให้เลือกวันเสาร์อาทิตย์


เข็ม 5 นี้ฉีดห่างจากเข็ม 4 เป็นเวลา 5 เดือน แทนที่จะเป็น 4 เดือน เพราะวันคริสต์มาสเราไปฉีดวัคซีนบาดทะยักกับไข้หวัดใหญ่ (เราฉีดบาดทะยักครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2013 ตอนที่เราพยายามหุบร่มแล้วร่มเฉือนนิ้วเราแหว่ง ก็เลยฉีดอีกทีเมื่อครบ 10 ปี) เราก็เลยต้องรอ 2 สัปดาห์ก่อนฉีดโควิด

สรุปว่าตอนนี้เรายังไม่เคยติดโควิดจ้ะ

แต่ทำไมพอกูลางานปุ๊บ อากาศต้องร้อนฉ่าด้วยคะ นี่เดินแป๊บเดียว กูเหงื่อท่วมตัวแล้ว อีห่า เลยรีบแดกไอติมรสซอสน้ำปลาเพื่อดับความร้อน
-----

NOMADIC EXISTENCE (2019, Ganzug Zedbazar, Mongolia, video installation, 7min, A+30)

วิดีโอที่นำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมองโกเลีย โดยทำเป็นจอโค้งราว 270 องศามั้ง ซึ่งก็เข้ากับชีวิตชาวมองโกเลียที่อาศัยในกระโจม และจอแบบนี้ก็สามารถนำเสนอ landscape ทุ่งกว้างได้ในแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วย

เราสังเกตว่า วิดีโอนี้ใช้เครื่องฉาย 4 เครื่องพร้อมกัน แต่ภาพที่เห็นเหมือนเป็นภาพเดียวกัน เราก็เลยสงสัยว่า การถ่ายทำวิดีโอแบบนี้ทำอย่างไรถึงถ่ายภาพออกมาได้ 270 องศา มันมีกล้องแบบพิเศษที่ใช้ถ่ายแบบนี้ หรือเขาใช้กล้องหลายตัวผูกไว้ด้วยกันแล้วถ่ายพร้อมกัน 555


VOICE OF THE OPPRESSED (2022, Kawita Vatanajyankur with Pat Pataranutaporn, video installation, A+30)

นึกว่าเป็น "ขั้นกว่า" ของหนังเรื่อง "ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ" (2021, Nuttorn Kungwanklai) เพราะวิดีโอนี้ให้ผู้กำกับมาเล่นเป็นคนสองคนที่โต้เถียงกันไปมา โดยที่ทั้งสองมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันสุดขั้ว ซึ่งจุดนี้จะเหมือนกับ "ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ" แต่แตกต่างกันตรงที่ วิดีโอนี้มีจอตรงกลางที่เกี่ยวกับการพ่นมลพิษอะไรด้วย

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราในวิดีโอ 3 จอนี้ก็คือว่า ในขณะที่จอนึงเหมือนจะเป็นสาวเสรีนิยม และอีกจอเป็นสาวเผด็จการนิยมนั้น ตัวจอสาวเสรีนิยมไป ๆ มา ๆ แล้ว เธอกลับพูดว่า เธอต้องการเสรีภาพ และเธอต้องการจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เพื่อหาเสรีภาพที่แท้จริง ที่ไม่ได้ถูกหลอกลวงโดยระบอบประชาธิปไตย แต่เธอก็ไม่ได้บอกว่า ถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วมันจะเป็นระบอบไหนที่ให้เสรีภาพตามที่เธอต้องการ ในขณะที่สาวเผด็จการนิยม ก็เหมือนจะตั้งคำถามที่น่าสนใจในบางครั้ง อย่างเช่น ระบอบที่อีกฝ่ายต้องการ มันก็อาจจะส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งได้เปรียบ แต่คนกลุ่มหนึ่งเสียเปรียบ อะไรทำนองนี้

เราเข้าใจว่าวิดีโอนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ PEDAGOGY OF THE OPPRESSED (1968, Paulo Freire, Brazil) แต่เราไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่า "การเรียกร้องเสรีภาพ แต่ต่อต้านประชาธิปไตย" อะไรแบบนี้มันมาจากหนังสือเล่มนี้หรือเปล่า ใครตอบได้บ้าง

ก็เลยรู้สึกว่า แนวคิดในวิดีโอนี้มันซับซ้อนกว่าที่เราคาดไว้ในตอนแรก
‐---
ฉันรักเขา Ji Il-Joo จาก  GANGNAM ZOMBIE (2023, Lee Soo Sung, South Korea, C- ) หนังเหี้ยมาก อยากให้ F แต่รักพระเอก 555

----

TURANDOT 2070 (2019, AES+F, video installation, 42min, A+30)

1.ชอบสุด ๆ อลังโคม spectacle สวยงามมาก ๆ ก่อนหน้านี้เราเคยดู INVERSO MUNDUS (2015, AES+F, 38min) ที่ก็ชอบสุด ๆ เหมือนกัน

2. เข้าใจว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการพูดถึงกระแส #metoo

BEAST TYPE SONG (2019, Sophia Al-Maria, video installation, 38min, A+30)

เสียดายที่มันไม่มี subtitle ก็เลยฟังไม่ค่อยออก

มีการเอาฟุตเตจจาก THE BATTLE OF ALGIERS มาใช้ในวิดีโอนี้ด้วย

BERLIN VORTEX (2003, Marco Wilms, Germany, documentary, A+15)

1.หนังสัมภาษณ์คนหลายคนเกี่ยวกับชีวิตในเบอร์ลินในช่วง 10 ปีหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย โดยเฉพาะคนที่เคยเกี่ยวข้องกับ occupation หรือการเข้าไปอยู่ในอาคารร้างที่รัฐบาลเยอรมันตะวันออกทิ้งไว้ ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด โดย subjects หลักของหนังรวมถึงผู้ชายที่ทำละครเวทีที่มีเมียเป็น choreographer, นักร้องชาย, Flake นักดนตรีในวง Rammstein, ผู้หญิงที่ทำงานด้านอาคารสงเคราะห์ และชายหนุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับ youth unemployment

2.เหมือนชีวิตคนเหล่านี้น่าสนใจดี แต่พอเราไม่มีความรู้เรื่องเหตุการณ์ occupation และถิ่นต่าง ๆ ใน Berlin เราก็เลยจะงง ๆ นิดหน่อยกับเนื้อหาในบางช่วง

3.ส่วนที่หนักที่สุดสำหรับเรา คือส่วนที่เกี่ยวกับโครงการ youth unemployment เพราะวัยรุ่นในโครงการดูเลือดร้อน น่ากลัวมาก ๆ

ALEAF (2022, Nawin Nuthong, installation with videos)

สวยสดงดงามมาก ๆ ชอบทั้งภาพและดนตรี ดูแล้วนึกถึงนิทรรศการ TIMIRBHU: THE NEW WORLD ORDER (2022, Nakrob Moonmanas) ด้วย ที่เหมือนเอาของไทยโบราณมาทำให้เกิดความพิสดารเหมือนกัน แต่อันนี้มีความ electronics สูงกว่า

อยากให้มีคนสร้างหนังแนว " แดนสนธยา" เกี่ยวกับสยาม/ไทย แล้วมีทั้งตอนที่กำกับโดยคุณ Nawin Nuthong, ตอนที่กำกับโดยคุณ Nakrob Moonmanas และตอนที่กำกับโดย Uninspired by Current Events

WHEN THE FISH IS CHIRPING (2022, Arin Rungjang, video installation, A+30)

รู้สึกว่าบทสัมภาษณ์ของคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนน่าสนใจดี ทั้งเรื่องของศิลปินที่เก็บเกี่ยวความโกรธมาทำงาน, เรื่องของผู้หญิงที่ไปคุยกับผู้อพยพจากยุคเขมรแดง ยุคที่มีคนตายตามท้องถนนเยอะมาก จนคนเขมรตัดสินใจหนีตายมาอยู่ที่ไทย, เรื่องของครอบครัวทหารที่บังคับให้ลูกร้องเพลงสรรเสริญก่อนกินข้าว และเรื่องของชายหนุ่มกับประสบการณ์ตอนเหตุการณ์สังหารหมู่เสื้อแดง

RIP Michael Snow (1928-2023)

อยากให้มีคนจัดงาน retrospective ของ Michael Snow ในกรุงเทพมาก ๆ เพราะเราเคยดูหนังของเขาแค่ 2 เรื่องเอง ซึ่งก็คือ TRE PUCCINI: PUCCINI CONSERVATO (2008) กับ CITYSCAPE (2019) และยังไม่เคยดูหนังดัง ๆ ของเขาเลยแม้แต่เรื่องเดียว ฮือ ๆ แต่แค่ได้ดูหนังสั้นของเขา 2 เรื่อง เราก็กราบตีนเขามาก ๆ แล้ว เพราะภาพยนตร์ของเขามันสร้างความรู้สึก limitless ผลักขอบเขตของภาพยนตร์ออกไปได้ในแบบที่คาดไม่ถึงมาก ๆ

TOKYO-GA (1985, Wim Wenders, documentary, A+30)

1.ชอบช่วงที่พูดถึงปาจิงโกะมาก ๆ เหมือนมันเป็นสิ่งที่ไม่มีในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเวลาชาวต่างชาติมาถ่ายหนังหรือ MV ในญี่ปุ่น ก็เลยชอบมีปาจิงโกะในหนังต่างชาติ แต่เวลาเราดูหนังญี่ปุ่น เรากลับไม่ค่อยเห็นปาจิงโกะ

ชอบที่ Wenders วิเคราะห์ว่า สิ่งสำคัญของปาจิงโกะไม่ใช่การชนะได้ลูกกลมกี่อันหรือสิ่งของที่ได้รับ แต่เป็นพลังของการสะกดจิตให้ผู้เล่นหลงลืมความทุกข์ยากเจ็บปวดของชีวิตไปชั่วขณะ โดยเฉพาะความทรงจำที่เลวร้ายใน  WWII จนเหมือนปาจิงโกะกลายเป็นอีกอวัยวะหนึ่งของผู้เล่น

เราว่าโทรศัพท์มือถือก็ทำหน้าที่คล้าย ๆ กันนี้สำหรับเราในยุคปัจจุบันเหมือนกัน เหมือนโทรศัพท์มือถือ, facebook, internet, etc. เป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจ, เป็นอีกอวัยวะหนึ่งของเรา และเป็นเครื่องมือทำเงินสำหรับบางคนด้วย แต่มือถือ/internet อาจจะตรงข้ามกับปาจิงโกะอย่างนึงในแง่ที่ว่า ในร้านปาจิงโกะนั้น เราอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก แต่เราคิดถึงแต่ตัวเราเองและการเล่นเครื่องของเรา ส่วนมือถือนั้น เรามักจะใช้มันในช่วงที่เราอยู่ตามลำพัง แต่เราใช้มันในการเข้าไปเสือกเรื่องของคนอื่น ๆ จำนวนมาก 555

แต่ในแง่นึง ไม่ว่าเราจะเล่นปาจิงโกะหรือมือถือ มันก็อาจจะ lonely เหมือนกันก็ได้นะ คงแล้วแต่แต่ละคนและแล้วแต่แต่ละกรณีไป

2.พอดูหนังเรื่องนี้ในปีนี้ มันเลยเหมือนเป็น 3 ช่วงเวลามาปะทะกันโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะหนังเรื่องนี้เป็นการมองทศวรรษ 1980 ว่าเป็นปัจจุบัน แล้วย้อนมองไปในอดีตของโอสุยุค 1920-1960 ด้วยความ nostalgia แต่พอเรามาดูมันในปี 2022 เราก็เลยมองทศวรรษ 1980 ด้วยความ nostalgia มาก ๆ และรู้สึกว่ากรุงโตเกียวในทศวรรษ 1980 นี่มันดูเจริญพอ ๆ กับกรุงเทพในปี 2022 เลยนะ 555

3.ชอบการพูดถึงเลนส์ 50 มม.มาก ๆ เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน

4.ชอบการบันทึกภาพวัยรุ่นญี่ปุ่นมาก ๆ ด้วย

5.เหมือนใจนึง Wenders คงอยากทำหนังแบบที่คล้าย ๆ กับที่เขาพูดถึงในช่วงต้นเรื่อง หนังที่ถ่ายทอดสิ่งที่ตาเห็น "โดยไม่ต้องพยายามพิสูจน์สิ่งใด"

6. เสียดายที่เราไม่ได้ไปดูงาน retrospective ของ Wenders/Ozu ที่เคยจัดในกรุงเทพในช่วงราว ๆ ปี 1993

ทำไมเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งหนังน่าจะฉายด้วยฟิล์ม เขาถึงจัดงาน rerospective Ozu ในกรุงเทพได้นะ แต่ทำไม่ได้อีกเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 555

7.เหมือน Ozu นี่ถูก refer ถึงในหนังของผู้กำกับต่างชาติเยอะมากจริง ๆ ทั้ง

7.1 TOKYO-GA

7.2  THE LEFT-HANDED WOMAN (1977, Peter Handke, West Germany)

7.3 CAFE-LUMIERE (2003, Hou Hsiao-hsien, Taiwan)

7.4 CHERRY BLOSSOMS -- HANAMI (2006, Doris Dorrie, Germany)

แต่พอดูแล้ว ก็จะพบว่า มันคือผู้กำกับเยอรมันและไต้หวัน ที่อ้างอิงถึง Ozu และทั้งสองชาตินี้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วง WWII (จริง ๆ แล้วมันก็มีผู้กำกับหนังทดลองชาวอเมริกันยุคหลัง ๆ ที่ทำหนัง  tribute ให้ Ozu เช่นกัน)

เราก็เลยแอบสงสัยว่า แล้วผู้กำกับจากชาติที่เคยตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายของญี่ปุ่นในช่วง WWII อย่างเช่น จีน, เกาหลีใต้, ฟืลิปปินส์, etc. นี่มีการทำหนัง tribute ให้ Ozu บ้างหรือเปล่า เหมือน WWII มันมีส่วนขัดขวางความนิยมหนังญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามด้วยหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

WASTECOOKING (2015, Georg Misch, Austria, documentary, A+30)

1.ชอบการเรียบเรียงประเด็นของหนัง ที่ทำให้เข้าใจและติดตามได้ง่าย โดยเริ่มด้วยการสำรวจตู้เย็นของชาวบ้านในออสเตรีย

เนื่องจากเราใช้ชีวิตโดยไม่มีตู้เย็นมานาน 27 ปีแล้ว ตอนแรกเราเลยรู้สึกว่า เราคงไม่มีนิสัยซื้อของกินมากเกินไปเหมือนชาวบ้านในปท.ร่ำรวยหรอก แต่ดูไปดูมาเราก็นึกขึ้นมาได้ว่า เราเคยซื้อลูกอม clorets และเพิ่งมาพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่ามันหมดอายุไปนานราว 15 ปีแล้ว แต่เรายังพกมันติดตัวตลอดเวลาเพราะเรายังกินมันไม่หมด 555

2.ช่วงต่อมาหนังไปสำรวจพืชผักผลไม้ขนาดยักษ์ที่ supermarkets ไม่รับซื้อ เพราะมันใหญ่เกินมาตรฐาน และสำรวจผลไม้ที่หาเก็บกินได้ข้างทางตามท้องถนนในกรุงเบอร์ลิน

ชอบส่วนนี้อย่างสุด ๆ ชอบคนที่มีความรู้พวกนี้ ความรู้ที่ว่าพืชต่าง ๆ ที่ขึ้นเองข้างถนนอะไรกินได้หรือไม่ได้ นึกถึง SOUND OF THE SOUL (2022, Supachai Ketkarunkul, Hear&Found, DuckUnit, video installation) ที่สัมภาษณ์ชาวเขาวัยชราคนนึงในไทยที่จำแนกได้หมดว่าพืชอะไรในป่าที่กินได้บ้าง คือถึงหลงป่านานเป็นเดือนก็ไม่อดตาย ถ้ามีความรู้พวกนี้

นึกถึงประสบการณ์ที่เราเคยเจอด้วย ที่เราเดินผ่านถนนบางเส้นอยู่ทุกวัน และไม่เคยรู้หรือสนใจว่าต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นเองข้างถนนมันคือต้นอะไร จนกระทั่งเห็นชายหนุ่มคนนึงที่คล้าย ๆ คนงานก่อสร้างจากต่างจังหวัดมาเลือกเด็ดพืชพรรณเหล่านั้นอย่างชำนิชำนาญ (เราเดาว่าน่าจะเก็บไปกิน)

3.ช่วงต่อมาหนังไปสำรวจการกินหนอนกินแมลงในเนเธอร์แลนด์ และสัมภาษณ์เด็ก ๆ ชาวดัทช์ที่น่ารักสุด ๆ

4.แล้วหนังก็ไปสำรวจการ recycle อาหารในรัฐสภาอียู  และกฎหมายในบางเมืองของเบลเยียมที่ห้าม supermarkets
ทิ้งอาหาร

5.แล้วหนังก็ไปสำรวจการประมงในฝรั่งเศสด้วย

CCTV (FROM CORNER OF THE STREET VIEWPOINTS; PATTANI, YALA NARATHIWAT)

 

DETOURS (2021, Ekaterina Selenkina, Russia, A+30)

+ CCTV (FROM CORNER OF THE STREET VIEWPOINTS; PATTANI, YALA NARATHIWAT) (2022, Satu Padu Collaborative, Prach Pimarnman, video installation in 3 channels, 15min, A+30)

 

SPOILERS ALERT

 

1.ขอเขียนถึงหนัง 2 เรื่องนี้ควบกันไปเลย เพราะเราได้ดูหนังทั้งสองเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน และหนังทั้งสองเรื่องนี้ใช้วิธีการนำเสนอแบบภาพจากกล้องวงจรปิดเหมือนกัน และดูเหมือนจะพูดถึง “การที่รัฐบาลพยายามสอดส่องจับตาดูประชาชนอย่างรุนแรง” เหมือนกัน แต่ DETOURS เป็น fiction ในขณะที่ CCTV เราเข้าใจว่าเป็นภาพจริง หรือเป็นสารคดี และเราก็ชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่มีต่อหนังสองเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่นึง เพราะในขณะที่ DETOURS เป็นหนัง fiction ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดในรัสเซีย เรากลับ “แทบไม่รู้สึกถึงความ drama ใด ๆ” ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ดูหนังเรื่องนี้ ยกเว้นในฉากที่พระเอกถูกเจ้าหน้าที่ค้นตัว แต่ CCTV ซึ่งน่าจะเป็น “สารคดี” นั้น กลับสร้างความรู้สึกลุ้นระทึกอย่างสุด ๆ ให้กับเราขณะที่ดู เพราะเราสงสัยว่า “ผู้ชายคนหนึ่ง” ที่ปรากฏตัวในจอหนึ่งในหนังเรื่องนี้เป็นเวลาเกือบ 15 นาทีเต็มนั้น “เป็นใครกันแน่”

 

2.ขอเขียนถึง DETOURS ก่อน คือก่อนที่เราจะได้ดู DETOURS ที่ Doc Club & Pub ในวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.นั้น เราไม่ได้อ่านเรื่องย่อมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่รู้ว่าหนังมันต้องการจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้เราก็เลยไม่รู้เลยว่าพระเอกทำอาชีพค้ายาเสพติด เรารู้แค่ว่าพระเอกน่าจะทำงานผิดกฎหมายอะไรสักอย่าง และพระเอกก็เหมือนปรากฏตัวอยู่ในฉากต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้แค่ราว 30-50% เท่านั้นมั้ง ในขณะที่ฉากที่เหลือในหนังเรื่องนี้เป็นภาพ extreme long shot ที่ถ่ายผู้คนในระยะไกล และส่งผลให้เรามองเห็นทัศนียภาพต่าง ๆ ของเมืองเป็นหลัก

 

เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยรู้สึกพิศวงมาก ๆ ว่า หนังมันต้องการจะเล่าอะไร หรือต้องการจะนำเสนออะไร ต้องการจะนำเสนอทัศนียภาพของเมือง หรือนำเสนอชีวิตประจำวันของประชาชน หรืออะไร ฉากต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้มันสัมพันธ์กันยังไง แล้วพระเอกเป็นใครทำอะไร 55555

 

คือพอหนังมันเป็นแบบนี้ แล้วเราไม่อ่านเรื่องย่อมาก่อน เราก็เลยรู้สึกพิศวงกับหนังตลอดเวลา แต่จะไม่ได้รู้สึก “drama” หรือ “ตื่นเต้นลุ้นระทึก” ยกเว้นในฉากที่พระเอกโดนเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟจับค้นตัวหรืออะไรทำนองนั้น

 

แต่ถึงแม้เราจะไม่รู้สึกตื่นเต้นลุ้นระทึกระหว่างที่เราดู DETOURS เราก็ชอบหนังอย่างสุดๆ  นะ เพราะเราชอบหนังที่ใช้วิธีการเล่าแบบพิสดารแบบนี้

 

3. เวลาที่เราดู DETOURS เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆ หลาย ๆ เรื่องด้วย อย่างเช่น

 

3.1 ABOUT ENDLESSNESS (2019, Roy Andersson, Sweden) ที่นำเสนอฉากต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันมาไว้ด้วยกัน แต่ “พฤติกรรมหยำฉ่าของมนุษย์” จะเป็น focus หลักในแต่ละฉาก ซึ่งจะแตกต่างจาก DETOURS ที่พฤติกรรมของมนุษย์จะดูปกติธรรมดากว่า, ถูกนำเสนอในระยะภาพที่ไกลกว่ามาก ๆ จนมองแทบไม่เห็น และส่งผลให้ landscape ในหนังมีความสำคัญในระดับที่มากกว่าหรือเท่ากับพฤติกรรมของมนุษย์

 

3.2 NEWS FROM HOME (1976, Chantal Akerman, Belgium) ที่เน้นนำเสนอ landscape ของเมือง

 

3.3 HUKKLE (2002, György Pálfi, Hungary) ที่นำเสนอฉากต่าง ๆ ของชีวิตชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไปเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะไม่มีเส้นเรื่องอะไรเลย หนังเรื่องนี้เคยมาฉายในกรุงเทพด้วย และเราจำได้ว่า หลังหนังฉายในกรุงเทพ ผู้ชมบางคนก็แสดงความเห็นทางเว็บบอร์ดว่า ถ้าหากสังเกตดูดี ๆ หนังมัน “เล่าเรื่อง” ที่ผู้หญิงหลายคนในหมู่บ้านร่วมมือกันวางยาพิษฆ่าผู้ชายในหมู่บ้านด้วย แต่ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่เห็นเส้นเรื่องนี้

 

3.4 เรื่องเล่าจากเสียงหัวเราะ LAUGH MOMENT (2019, Teeramate Kititadsupasin) ที่ครองอันดับหนึ่งหนังสุดโปรดของเราประจำปี 2019 หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของนักเรียนสาวกลุ่มหนึ่งมานั่งคุยรำลึกถึงความหลังกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเส้นเรื่องหลักของหนัง แต่ถ้าหากสังเกตดู background ของแต่ละฉากให้ดี เราก็จะพบว่าหนังเล่าเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่รุนแรงสุดขีดควบคู่กันไปด้วยใน background ของแต่ละฉาก

 

3.5 ANONYMOUS (2013, Arnont Nongyao) ถ้าจำไม่ผิด หนังเรื่องนี้ใช้ text เล่าเรื่องของ “ผู้ชายคนหนึ่งในหมู่บ้าน” ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นคนที่ชอบไปช่วยงานศพของคนที่เขาไม่รู้จัก (ถ้าหากเราจำไม่ผิด) ส่วนภาพของหนังก็นำเสนอภาพชาวบ้านในงานศพอะไรต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เราเห็นภาพคนจำนวนมากในแต่ละฉากของหนัง

 

และพอหนังจบ หนังก็ไม่ยอมบอกว่า “พระเอก” ที่หนังเล่าเรื่องของเขามาตลอดตั้งแต่ต้นจนจบนี้ มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ หนังบอกแค่ว่าเขาปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ด้วย แต่ภาพของหนังเรื่องนี้นำเสนอภาพของชาวบ้านหลายสิบคนมาก เพราะฉะนั้นผู้ชมที่อยู่นอกหมู่บ้านแห่งนั้นจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ในบรรดาชาวบ้านหลายสิบคนที่ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ ใครกันแน่คือ “พระเอก” ที่ text ของหนังเล่าเรื่องของเขามาโดยตลอด ซึ่งเรื่องที่เล่าก็เป็น “เรื่องจริง” ของผู้ชายคนหนึ่งในหมู่บ้านนั้นจริง ๆ คือเหมือนหนังต้องการจะเล่าเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจมากๆ ของเขา แต่ไม่ต้องการให้ผู้ชมรู้ว่าเขามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ หนังก็เลยใช้วิธีการแบบนี้

 

ซึ่งเราจะชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบกึ่ง ๆ แอบซ่อนอะไรแบบนี้มาก ๆ เราก็เลยชอบ DETOURS มาก ๆ ด้วยสาเหตุเดียวกัน

 

4.ในส่วนของ CCTV นั้น หนัง/วิดีโอนี้จัดแสดงที่ศูนย์ QSNCC ในเทศกาล Bangkok Art Biennale (BAB) หนังแบ่งออกเป็น 3 จอ จอขวาสุดเราไม่รู้ว่ามาจากจังหวัดอะไรระหว่างปัตตานีกับนราธิวาส แต่เป็นภาพยามค่ำคืน และเราก็ดูจอนี้อย่างผ่าน ๆ สิ่งที่น่าสนใจในจอนี้ก็คือว่า ทางด้านซ้ายของจอเหมือนมีรถเข็นขายอาหารอะไรตั้งอยู่ข้างถนน และมีคนมาแวะซื้ออาหารกลับบ้านเป็นระยะ ๆ โดยลูกค้าของร้านนี้มีทั้งคนที่ขับมอเตอร์ไซค์มาซื้อ และคนที่ขับรถยนต์มาซื้อ

 

5.ส่วนจอกลางของ CCTV นั้น เป็นภาพของถนนอุตสาหกรรมในจังหวัดยะลาในตอนกลางวัน เราดูจอนี้อย่างผ่าน ๆ รู้สึกว่าไม่ได้มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น ยกเว้นแต่ช่วงหนึ่งที่มีผู้ชายเดินมาจาก background และมีคนคนหนึ่งออกมากวาดบ้านที่หน้าบ้านของเขา แล้วผู้ชายที่เดินมาก็มาคุยอะไรสักอย่างกับคนที่กวาดบ้านอยู่หน้าบ้าน แล้วทั้งสองก็เดินคุยหายไปจากเฟรมภาพ ถ้าหากเราจำไม่ผิด

 

6.ส่วนจอซ้ายสุดของ CCTV นั้นหนักมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ CCTV คงติดอันดับในลิสท์ภาพยนตร์สุดโปรดของเราประจำปีนี้อย่างแน่นอน จอนี้นำเสนอภาพวงเวียนในจังหวัดปัตตานีหรือไม่ก็นราธิวาสในตอนกลางวัน มีรถต่าง ๆ แล่นกันขวักไขว่ผ่านวงเวียนนี้ ซึ่งมีสัญญาณไฟจราจรสีเหลืองกะพริบอยู่กลางวงเวียนตลอดเวลา เราเข้าใจว่ามันคงหมายถึงให้รถแต่ละคันระวังกันเองเวลาแล่นผ่านวงเวียน

 

ในช่วงต้นของวิดีโอนี้ เราจะเห็นคนคนหนึ่ง ที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้ชาย เขาเหมือนใส่เสื้อสองชั้น ชั้นในเป็นสีฟ้า ชั้นนอกเป็นสีขาว เขาเดินเข้ามาทางด้านขวาของเฟรมภาพ แล้วก็เดินข้ามวงเวียนไปหยุดอยู่ที่ด้านซ้ายของเฟรมภาพ ก่อนที่จะเดินขยับเข้ามายืนอยู่ระหว่าง “จุดซ้ายสุดของเฟรมภาพ” กับ “จุดกลางของเฟรมภาพ”  เขายืนอยู่หน้าอาคารแห่งหนึ่ง ในระยะค่อนไปทาง background ของภาพ

 

แล้วผู้ชายคนนี้ก็ทำให้เราลุ้นระทึกอย่างสุดๆ และทำให้เราต้องยืนดูวิดีโอนี้นานทั้ง 15 นาทีเต็ม คือตอนแรกเรานึกว่า CCTV คงไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก เรากะจะยืนดู CCTV แค่ 1-3 นาทีเท่านั้น แต่พอเรารู้สึกว่าพฤติกรรมของผู้ชายคนนี้น่าสงสัยอย่างรุนแรงมาก เราก็เลยยืนดูทั้ง 15 นาทีเต็มไปเลย 555

 

คือเราเห็นผู้ชายคนนี้ทำลีลามือไม้อย่างรุนแรงเป็นระยะ ๆ น่ะ เราก็เลยสงสัยว่า เอ๊ะ เขาเป็นคนบ้าหรือเปล่า เราก็เลยตัดสินใจจะยืนดู CCTV ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเรารู้สึกว่า เอาจริง ๆ แล้ว เราก็อยากแอบสังเกตพฤติกรรมของคนบ้าตามท้องถนนน่ะ แต่เราไม่สามารถทำได้ตามท้องถนนจริง ๆ เพราะมันอันตราย เวลาเราเจอคนบ้าตามท้องถนน เราก็ต้องรีบเดินหนีโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของชีวิตเรา แต่ “ภาพจากกล้องวงจรปิด” นี่แหละ ที่จะช่วยให้เราแอบสังเกตพฤติกรรมของคนบ้าได้อย่างปลอดภัย

 

แล้วผู้ชายคนนี้ก็ไมได้แค่ทำลีลามือไม้เป็นระยะ ๆ นะ แต่อยู่ดีๆ เขาก็เดินตัดข้ามวงเวียนไปมาโดยเหมือนไม่มีสาเหตุอะไรทั้งสิ้นด้วย รุนแรงมาก ๆ เราดูแล้วก็ลุ้นมาก ๆ ว่าเขาจะทำอะไรที่คาดไม่ถึงขึ้นมาเมื่อไหร่หรือเปล่า เขาจะทำอะไรใส่ผู้คนจำนวนมากที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณวงเวียนแห่งนี้หรือเปล่า

 

แต่พอเราดูไประยะหนึ่ง เราก็สังเกตได้ว่า ที่เราเห็นว่าเขาทำลีลามือไม้อย่างรุนแรงนั้น จริง ๆ แล้วคือเขาพยายามโบกรถมอเตอร์ไซค์ทุกคันที่มีผู้ชายขี่มาคนเดียวแล้วแล่นผ่านหน้าเขาจากทางซ้ายของเฟรม เพราะฉะนั้นระหว่างที่เราดู CCTV อยู่นั้น เราก็เลยรู้สึกลุ้นระทึกมาก ๆ ทั้งในแง่ที่ว่า เราไม่รู้ว่าเขาเป็นคนบ้าหรือเปล่า แล้วเขาจะทำอะไรที่คาดไม่ถึงหรือไม่ และในแง่ที่ว่า ถ้าหากเขาไม่ใช่คนบ้า แล้วเขาเป็นใครกันแน่

 

เพราะฉะนั้นระหว่างที่ดู CCTV ในหัวของเราก็เลยเต็มไปด้วยคำถามที่ว่า เขาเป็นใครกันแน่ ระหว่าง

 

6.1 ชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ใดที่หนึ่ง เขาก็เลยพยายามโบกรถมอเตอร์ไซค์ทุกคันที่มีผู้ชายขี่มาคนเดียว เพื่อจะได้ขอเดินทางไปด้วย เขาพยายามทำเช่นนั้นเป็นเวลาถึง 15 นาทีเต็มในวิดีโอนี้ แต่ไม่มีใครรับเขาขึ้นรถ

 

และสาเหตุที่ไม่มีใครรับเขา อาจจะเป็นเพราะว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรือเซะและตากใบในปี 2004 เป็นต้นมา ชาวบ้านในพื้นที่นั้นก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง ไม่สามารถไว้วางใจคนแปลกหน้าได้ นั่นก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุที่ผู้ชายคนนี้พยายามขอความช่วยเหลือเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีในวิดีโอนี้ แต่ไม่มีใครกล้าให้ความช่วยเหลือเขาด้วยการให้เขานั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปด้วย

 

6.2 หรือว่าผู้ชายคนนี้เป็นศิลปินที่ทำ performance ต่อหน้า “กล้องวงจรปิด” อันนี้ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

 

6.3 หรือว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนบ้า เพราะภาพจากกล้องวงจรปิด ทำให้เราไม่เห็นใบหน้าของเขา และไม่ได้ยินเสียงที่เขาพูด เราไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกับมอเตอร์ไซค์ที่แล่นผ่านไปมา เขาอาจจะพูดอะไรบ้า ๆ ใส่ผู้คน, รถรา และมอเตอร์ไซค์ที่แล่นผ่านไปมาก็ได้ ก็เลยไม่มีใครรับเขาขึ้นรถ

 

6.4 หรือว่าผู้ชายคนนี้เป็น “สายของตำรวจ/ทหาร” ที่ปลอมตัวเป็นคนบ้า แต่จริง ๆ แล้วคือมาแอบสังเกตพฤติกรรมของผู้คนบริเวณวงเวียนนี้ ท่ามกลางข่าวการก่อการร้าย/การวางระเบิด เหมือนในละครทีวีเรื่อง “ล่า” ที่มีตัวละครเป็นผู้ชายบ้าในซอย ชอบแต่งตัวเป็นลิเกและร้องลิเกไปมา คนทั่วไปในซอยก็มองว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนบ้า แต่ไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่จริง ๆ แล้ว “ลิเกบ้า” คนนี้เป็นตำรวจปลอมตัวมาสืบคดีในซอย

 

เราก็เลยยืนดู CCTV ด้วยความรู้สึกลุ้นระทึกตื่นเต้นมาก ๆ เพราะไม่รู้ว่าผู้ชายคนนี้จะทำอะไรที่คาดไม่ถึงหรือเปล่า แล้วเขาเป็นใครกันแน่ระหว่างชาวบ้านผู้น่าสงสารที่ไม่มีใครยอมช่วยเหลือเขา, performance artist, คนบ้า หรือสายของตำรวจ/ทหาร

 

ไม่รู้ว่าผู้ชมท่านอื่น ๆ ที่ได้ดู CCTV แล้ว มีใครตั้งทฤษฎีอะไรไว้บ้างเหมือนกันไหมคะ

 

7.การดู “ภาพจากกล้องวงจรปิดของจริง” แล้วทำให้เรารู้สึกลุ้นระทึกมาก ๆ นี้ ทำให้เรานึกถึงหนึ่งในภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบมากที่สุดในปี 2022 ด้วย ซึ่งก็คือภาพยนตร์เรื่อง A PERFECT PLACE 01072015 (KONO TABI) (2022, Nipan Oranniwesna, video installation, 68min, A+30)  ที่เคยมาฉายที่ JWD Art Space เพราะใน KONO TABI นั้น เนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังเป็นการถ่ายภาพสะพานแห่งหนึ่งจากระยะไกลในยามค่ำคืน ด้วยกล้องตั้งนิ่ง คล้าย ๆ ภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งในตอนแรกเราก็เห็นผู้คนเดินข้ามสะพานไปมาอย่างปกติ

 

แต่พอดูไปสักระยะหนึ่ง ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินไปอยู่กลางสะพาน แล้วก็หยุดยืน ไม่ยอมเดินต่อไปไหน เราก็เลยรู้สึกลุ้นระทึกมาก ๆ ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มาทำอะไร ทำไมไม่เดินต่อ เขามายืนนิ่ง ๆ อยู่กลางสะพานทำไม เขารอดักตบใคร เขาเป็นโจรที่รอปล้นทรัพย์คนที่เดินข้ามสะพาน หรือเขากำลังจะฆ่าตัวตาย

 

เพราะฉะนั้นตอนที่เราดู CCTV เราก็เลยนึกถึง KONO TABI มาก ๆ ด้วย เพราะมันน่าจะเป็นภาพจริงที่ลอบสังเกตประชาชนจากระยะไกลมากเหมือนกัน และเราดูแล้วรู้สึกลุ้นระทึกสุดขีดกับหนังทั้งสองเรื่องนี้ โดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจแบบนั้นด้วยซ้ำ 55555

 

คือพอดู CCTV กับ KONO TABI เราก็นึกถึงหนังเรื่อง BLOW-UP (1966, Michelangelo Antonioni) มาก ๆ ด้วย เพราะพอเราสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่ดูผิดปกติในภาพที่ดูเหมือนนำเสนออะไรที่ปกติ เราก็จะพยายามค้นหาและหมกมุ่นกับสิ่งที่ผิดปกตินั้น ๆ

 

เราเคยเขียนถึง KONO TABI ไว้ที่นี่นะ

https://web.facebook.com/photo/?fbid=10229255727081079&set=a.10229116411798284

 

รูปที่นำมาใช้ประกอบนี้ ส่วนบนซ้ายมาจาก KONO TABI ส่วนบนขวามาจาก CCTV และภาพด้านล่างมาจาก DETOURS