Monday, February 29, 2016

JIT PHOKAEW IS NOT A FILM CRITIC

JIT PHOKAEW IS NOT A FILM CRITIC

พอดีมีน้องคนนึงในเฟซบุ๊คเขียนมาถามดังนี้
การที่เราจะไปวิจารณ์หนังซักเรื่องนี้ เราต้องมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงไหนครับ ถ้าเราวิจารณ์ที่เอาความรู้สึกตัวเองเข้าไปในตัวหนังมากไปนี้จะผิดไหมครับ ปล ชอบติดตามอ่านวิจารณ์ของพี่นะครับ

เราก็เลยตอบไปดังนี้ และก็เลยก็อปปี้เอาคำตอบของเรามาแปะในนี้ด้วย เผื่อบางคนงงๆกับสไตล์การพร่ำเพ้อถึงหนังและผู้ชายหล่อๆในหนังของเรา 555

1.ถ้าเราจะ “วิจารณ์” หนังสักเรื่องนี่ เราก็ควรมีความรู้มากในระดับนึงนะครับ แต่ก่อนอื่นพี่ขอแยกแยะระหว่าง “นักวิจารณ์มืออาชีพ” กับ “คนอย่างพี่” นะครับ เพราะพี่ไม่ใช่นักวิจารณ์มืออาชีพ พี่เป็นเพียงคนที่ชอบดูหนังและชอบจดบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองที่มีต่อหนังเท่านั้น เพราะฉะนั้นคำว่า “วิจารณ์” ที่พี่ใช้ตอบคำถามของน้องในบริบทนี้ พี่จะหมายถึงสิ่งที่ “นักวิจารณ์มืออาชีพ” ทำกันในนิตยสารภาพยนตร์และเว็บไซต์ภาพยนตร์นะครับ และแน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่พี่ทำเป็นประจำในอินเทอร์เน็ต เพราะพี่ไม่ใช่นักวิจารณ์มืออาชีพ

พี่คิดว่าถ้าหากเราจะวิจารณ์หนังสักเรื่องอย่างนักวิจารณ์มืออาชีพ อย่างน้อยเราก็ต้องมีความรู้เรื่องต่อไปนี้

1.1 ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ องค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของ genre ของหนังที่เราจะวิจารณ์ อย่างเช่น ถ้าหากเราจะวิจารณ์หนังเรื่อง AUSTRALIA (2008, Baz Luhrmann) เราก็ควรจะรู้ประวัติศาสตร์ genre หนังอีพิคที่เคยนิยมสร้างกันเมื่อ 50-60 ปีก่อนด้วย เพื่อจะได้รู้ว่า AUSTRALIA มันเคารพหรือท้าทายขนบของ genre หนังเก่าเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ๆหลายคนทำไม่ได้ เพราะขาดความรู้และความคุ้นเคยกับ genre หนังอีพิคที่เคยนิยมสร้างกันเมื่อ 50-60 ปีก่อน อะไรแบบนี้

สำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองขาดความรู้ด้านนี้ ก็อาจลงเรียน course ภาพยนตร์วิจักษณ์ของมูลนิธิหนังไทย, หาตำราภาพยนตร์มาอ่าน, อ่านงานวิจารณ์ในนิตยสารภาพยนตร์ อย่างเช่น Bioscope, Filmax, Starpics, Flickz  ซึ่งล้วนมีนักวิจารณ์มืออาชีพที่ดีๆและพี่ชอบมากๆอยู่หลายคนในนั้น และควรหาหนังมาดูเยอะๆ ก็จะทำให้ตัวเองพัฒนาความรู้ด้านนี้ขึ้นมาได้เรื่อยๆ

1.2 รู้บริบทของหนังเรื่องนั้นๆ อย่างเช่น ถ้าหากเราจะวิจารณ์ THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia Martel) เราก็จะต้องรู้ประวัติศาสตร์การเมืองของอาร์เจนตินาด้วย เพราะหนังหลายเรื่องมันไม่พูดประเด็นของมันตรงๆ ซึ่งถ้าหากเราไม่รู้ประวัติศาสตร์การเมืองของอาร์เจนตินา เราก็อาจจะไม่เข้าใจแก่นหลักของหนังเรื่องนี้ หรือถ้าหากเราจะวิจารณ์เรื่อง THE GARDEN (1990, Derek Jarman) ซึ่งมีแต่ภาพอะไรก็ไม่รู้ที่พิศวงอภินิหารสูงตลอดทั้งเรื่อง เราก็จะต้องมีความรู้เรื่อง “คัมภีร์ไบเบิล” และ “ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของเกย์ในทศวรรษ 1980” ด้วย เพราะถ้าหากเราไม่มีความรู้สองประเด็นนี้ เราก็จะเขียนวิจารณ์ THE GARDEN ในแง่ประเด็นหลักที่หนังต้องการจะสื่อไม่ได้

1.3 มีความรู้รอบตัวบ้างพอสมควร อย่างเช่น ผู้กำกับหนังอาร์ทหลายๆคนในยุโรป มักจะทำหนังที่มีหลายๆช็อต, หลายๆเฟรม, หลายๆซีนอ้างอิง “งานจิตรกรรม” อยู่เสมอๆ เพราะฉะนั้นความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์จึงจำเป็นมากๆสำหรับคนที่จะวิจารณ์หนังยุโรป (แต่ดิฉันไม่มีความรู้ด้านนี้ กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด)

2.คิดว่าถ้าเป็น “การเขียนแบบนักวิจารณ์มืออาชีพ” การเอาความรู้สึกของตัวเองใส่เข้าไปในหนังมากไป คงไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่อันนี้เราพูดถึง “การเขียนงานวิจารณ์แบบนักวิจารณ์มืออาชีพ” นะ

คืองานวิจารณ์ที่สังคมในวงกว้างถือว่าเป็นงานวิจารณ์ที่ดีนั้น มันอาจจะไม่ต้องมีความรู้สึกส่วนตัวอยู่ในนั้นเลยก็ได้ มันอาจจะเป็นการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆในหนัง, องค์ประกอบต่างๆในหนัง, ความกลมกลืนกันระหว่างประเด็นต่างๆกับองค์ประกอบต่างๆในหนัง, สัญลักษณ์ในหนัง, จุดดีและจุดด้อยของหนังเรื่องนั้นๆ

หรือถ้าจะมีความรู้สึกส่วนตัวอยู่ในนั้น ก็ใส่เข้าไปได้ แต่ไม่ควรจะใส่มากเกินไป ใส่เข้าไปแต่พอดีๆ

เอาล่ะ ถือว่าพี่ตอบคำถามของน้องครบหมดแล้วนะครับ สรุปว่าถ้าหากเราจะวิจารณ์หนังสักเรื่องอย่าง “นักวิจารณ์มืออาชีพ” เราก็ควรจะมีความรู้มากในระดับนึง และเราไม่ควรจะใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในงานวิจารณ์นั้นมากเกินไป

หลังจากนี้จะไม่ใช่การตอบคำถามของน้องนะครับ แต่เป็นของแถม เพราะพี่แอบงงเล็กน้อยว่าทำไมน้องถึงมาถามพี่ ซึ่งทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักวิจารณ์มืออาชีพทำกัน 555 พี่ก็เลยขอแสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับอะไรอื่นๆที่น้องไม่ได้ถามมานะครับ

1.สิ่งที่พี่เขียนถึงหนังอยู่ทุกวี่ทุกวันทางเฟซบุ๊ค และทาง blog ของตัวเองนั้น มันมีแต่ “ความรู้สึกส่วนตัว” ทั้งนั้นครับ เพราะ

1.1 พี่ไม่ได้ต้องการจะเป็นนักวิจารณ์มืออาชีพ พี่ไม่ได้ต้องการจะเขียน “วิจารณ์” หนังเพื่อให้คนทั่วๆไปมองว่าเราเป็น “นักวิจารณ์”

1.2 เราจะเขียนในสิ่งที่นักวิจารณ์คนอื่นๆเขียนถึงไปแล้วทำไม เราจะเขียนในสิ่งที่คนอื่นๆเขียนได้ดีกว่าเราไปทำไม พี่เชื่อว่ามีคนไทยหลายพันคนที่เขียนวิเคราะห์วิจารณ์หนังได้ดีกว่าพี่มากๆ แต่มีพี่เพียงคนเดียวเท่านั้นบนโลกนี้ที่สามารถจดบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองได้ ไม่มีคนอื่นๆบนโลกนี้ที่สามารถทำหน้าที่นี้แทนเราได้

1.3 พี่เขียนถึงหนังเพราะพี่ต้องการจะ “จดบันทีกความรู้สึก” ของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆเอาไว้ โดยเฉพาะหนังที่พี่ชอบมากๆ เพราะถ้าหากเราไม่รีบจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ อีกไม่กี่วันเราก็จะลืมมัน ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งลืมรายละเอียดต่างๆในหนังเรื่องนั้นๆ และลืมความรู้สึกของเราเองที่มีต่อรายละเอียดต่างๆในหนังเรื่องนั้นๆ

1.4 พี่เชื่อในเรื่อง “สิทธิเสรีภาพของการแสดงออก” และเชื่อว่า “หนังหลายๆเรื่องไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้นักวิจารณ์ดูเท่านั้น แต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนดูที่ไม่ได้เป็นนักวิจารณ์ด้วย” เพราะฉะนั้น “คนดูทุกคน” จึงมีสิทธิแสดงความเห็นต่อหนังทุกเรื่องที่ตนเองได้ดูมา คนดูทุกคนมีสิทธิป่าวประกาศในพื้นที่ของตนได้ว่า ตนคิดเห็นอย่างไรกับหนังเรื่องนั้นๆ ชอบหนังเรื่องนั้นๆในจุดไหน เกลียดหนังเรื่องนั้นๆในจุดไหน ชอบมากหรือชอบน้อย หรือคิดว่าหนังเรื่องนั้นดีเลวอย่างไร คนดูทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นเหล่านี้ในพื้นที่ของตัวเอง และพี่ก็ทำเช่นนั้น พี่ก็ “จดบันทึกความรู้สึกส่วนตัว” ของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน และพี่ก็คิดว่าคนดูทุกคนมีสิทธิที่จะทำแบบเดียวกับพี่ ไม่ว่าคนดูคนนั้นจะเป็นเพียงแค่เด็กป.6 หรือมีความรู้เกี่ยวกับหนังมากน้อยขนาดไหน ตราบใดที่เรา “ไม่ไปบังคับให้ใครมาอ่านสิ่งที่เราเขียนโดยที่เขาไม่เต็มใจ” คือแน่นอนว่า มันมีคนดูที่เขียนถึงหนังได้แย่มากๆหลายๆคนบนอินเทอร์เน็ต แต่ส่วนใหญ่พี่ไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา เพราะพี่ไม่เคยเสียเวลาไปอ่านมัน 555

2. เพราะฉะนั้นถ้าหากน้องต้องการจะเขียนถึงหนัง น้องก็จะต้องถามตัวเองก่อนว่า จุดประสงค์ของน้องคืออะไร

2.1 ถ้าหากน้องต้องการจะเป็นนักวิจารณ์มืออาชีพ ต้องการให้คนอื่นๆมองว่าเราเป็น “นักวิจารณ์” ต้องการเขียนลงนิตยสารภาพยนตร์, เพจภาพยนตร์, เว็บไซต์ภาพยนตร์ น้องก็ควรจะเขียนวิจารณ์โดยไม่ใส่ความรู้สึกของตัวเองมากเกินไป

2.2 แต่ถ้าหากน้องเป็นเหมือนกับพี่ นั่นก็คือต้องการจะจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องต่างๆ น้องก็จดบันทีกความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองได้เต็มที่เลย และคนดูทุกคนก็มีสิทธิทำแบบนี้ได้เช่นกัน

3.แล้วพี่ชอบอ่านงานแบบไหน พี่ก็ชอบอ่านทั้งสองแบบน่ะแหละ ทั้งแบบ “นักวิจารณ์มืออาชีพ” และ “ความรู้สึกส่วนตัว” ของคนดูคนอื่นๆที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆ แต่เกณฑ์ที่พี่ใช้เลือกว่าจะตามอ่านงานเขียนของใครเป็นประจำ ก็คือ “รสนิยมส่วนตัว” ของนักวิจารณ์/นักเขียนคนนั้น มันใกล้เคียงกับเราหรือเปล่า

ถ้าหากเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ภาพยนตร์ เป็น “อาหาร” พี่จะมองว่านักวิจารณ์มืออาชีพ เหมือนกับ “นักวิทยาศาสตร์” ที่ต้องมีความรู้มากในระดับนึง ถึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า อาหารจานนั้นๆมันทำมาจากอะไรบ้าง, มันประกอบไปด้วยสารอาหารอะไรบ้าง คาร์โบไฮเดรต แมงกานีส โปแตสเซียม กรดอะมิโนอะไรบ้าง และมันมีคุณค่าทางโภชนาการต่อเรามากน้อยแค่ไหน เหมือนกับการวิจารณ์ว่า หนังแต่ละเรื่อง มันมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่น่าสนใจ องค์ประกอบมันสอดรับกับประเด็นได้ดีเพียงใด หนังเรื่องนั้นดีเลวเพียงใด

แต่ “อาหาร” ไม่ได้ทำขึ้นมาสำหรับ “นักวิทยาศาสตร์” หรือ “นักโภชนาการ” หรือ “องค์การอาหารและยา” เท่านั้น อาหารมันทำขึ้นมาสำหรับคนกินแต่ละคนด้วย เพราะฉะนั้นคนที่กินอาหารทุกคนที่อาจจะไม่มีความรู้เรื่ององค์ประกอบของอาหารเลย ก็ย่อมสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ว่า อาหารนั้นอร่อยถูกปากตนเองมากน้อยแค่ไหน และแน่นอนว่าคนกินแต่ละคนรสนิยมไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นอาหารที่อร่อยสุดๆสำหรับคนกิน A ก็อาจจะเป็นอาหารที่เปรี้ยวไปหน่อยสำหรับคนกิน B และเป็นอาหารที่เค็มน้อยเกินไปสำหรับคนกิน C อะไรทำนองนี้ คือทุกคนที่กินอาหารจานนั้นมีสิทธิแสดงความเห็นว่า ตนเองรู้สึกว่าอาหารจานนั้นอร่อยถูกปากตนเองหรือไม่ หรือชอบอะไรไม่ชอบอะไรในอาหารจานนั้น แต่อาจจะมีคนกินเพียงแค่ไม่กี่คนที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องว่า อาหารจานนั้นมีสารอาหารอะไรบ้าง และมีพลังงานอยู่กี่กิโลแคลอรี่

เพราะฉะนั้นพี่จึงไม่อ่านงานวิจารณ์ของ “นักวิจารณ์มืออาชีพ” บางคน หรือ “นักวิจารณ์มือรางวัล” บางคน ที่เขาอาจจะเขียนวิเคราะห์หนังแต่ละเรื่องได้อย่างถูกต้องมากๆว่า หนังมันมีองค์ประกอบอะไรที่น่าสนใจบ้าง ถ้าหากนักวิจารณ์คนนั้นมี “รสนิยมที่ตรงข้ามกับเราเป็นส่วนใหญ่”

เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ถึงเขาจะวิเคราะห์หนังได้ดีเพียงไหน แต่ถ้าหากเขาเกลียด “ใบกะเพรากับถั่วฝักยาว” แต่พี่ชอบและมีความสุขสุดๆกับการกิน “ใบกะเพรากับถั่วฝักยาว” แล้วพี่จะเสียเวลาอันมีค่าของชีวิตไปนั่งอ่านคนอื่นๆเขียนบรรยายถึงความจงเกลียดจงชังของตนเองที่มีต่อใบกะเพรากับถั่วฝักยาวไปทำไม

เพราะจุดประสงค์ในการดูหนังของพี่ ก็ไม่ใช่การ “หาหนังดีมาดู” อยู่แล้ว (หรือการหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากิน) แต่เป็นการหา “หนังที่ตัวเองดูแล้วน่าจะมีความสุข” มาดู (หรืออาหารที่อร่อยถูกปากตัวเองเป็นการส่วนตัวมากิน หรืออาหารที่ปรุงรสเปรี้ยวหวานมันเค็มเผ็ดได้ตรงกับรสนิยมของเราจริงๆ) อย่างเช่น BAISE-MOI ซึ่งอาจจะไม่ใช่หนังดี แต่เป็นหนังที่พี่ดูแล้วมีความสุขสุดๆ เพราะฉะนั้นเวลาพี่เลือกอ่านงานเขียนเกี่ยวกับหนัง พี่ก็เลยเลือกว่าคนเขียนเขามีรสนิยมส่วนตัวใกล้เคียงกับเราหรือเปล่าเป็นหลักน่ะ เพราะคนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกับเรา มันจะช่วยแนะเราได้ว่า เราควรจะไปหาหนังเรื่องไหนมาดูแล้วมีความสุข

เพราะฉะนั้นในเมื่อพี่ชอบอ่าน “ความรู้สึกส่วนตัว” ของคนอื่นๆที่มีรสนิยมคล้ายๆพี่ พี่ก็เลยคิดว่าก็น่าจะมีคนบางคนบนโลกนี้ที่ชอบอ่าน “ความรู้สึกส่วนตัว” ของพี่เองเช่นกัน อย่างน้อยก็ตัวพี่เองนี่แหละ เพราะพี่ชอบอ่านความรู้สึกของตัวเองในอดีต พี่ก็เลยเน้นเขียนถึงความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆเป็นหลัก โดยไม่ได้มองว่ามันเป็น “บทวิจารณ์” แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเองในอนาคต และอาจจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนบางคนที่อาจจะมีรสนิยมคล้ายๆเรา

แต่เวลาพี่บอกว่าพี่ชอบอ่าน “บทวิจารณ์” และ “ความรู้สึกส่วนตัว” ของคนที่มีรสนิยมคล้ายๆเรา อันนี้ก็ต้องขอบอกก่อนว่า จริงๆแล้วในบรรดานักวิจารณ์/นักเขียนที่พี่ชื่นชอบติดตามอ่านเป็นประจำนี่ พี่ก็มองว่าเขามีรสนิยมตรงกับพี่เพียงแค่ 10% เท่านั้นนะ คือเหมือนกับว่าถ้าดูหนัง 10 เรื่อง เขากับพี่จะให้ “เกรดความชอบ” ตรงกัน 1 เรื่อง ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่ามากพอแล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่เราจะหา “ใครสักคน” ที่ชอบหนังตรงกับเราในระดับ 33% ขึ้นไป และพี่เชื่อว่า ความเห็นที่แตกต่างกัน และรสนิยมที่แตกต่างกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา


ส่วนรูปประกอบนี้ มาจากบทวิจารณ์ของ Jean-Luc Godard ที่มีต่อหนังเรื่อง BITTER VICTORY (1957, Nicholas Ray) คือถ้าหากถามเราว่าเราชอบนักวิจารณ์คนไหนมากที่สุดของเมืองนอก ก็คงจะเป็น Jean-Luc Godard กับ Olaf Moller เพราะฉะนั้นเราก็เลยเลือกรูปประกอบเป็นบทวิจารณ์ของ Jean-Luc Godard เพราะเราชอบสิ่งที่เขาเขียนมากๆ ที่บอกว่า “There was theatre (D.W. Griffith), poetry (F. W. Murnau), painting (Roberto Rossellini), dance (Sergei Eisenstein), music (Jean Renoir). Henceforth, there is cinema. And the cinema is Nicholas Ray.”

SCENE FROM A WAKE (Anup Mathew Thomas, exhibition at bacc)

SCENE FROM A WAKE (Anup Mathew Thomas, exhibition at bacc)

สิ่งต่างๆที่อยู่ในภาพถ่ายแต่ละภาพในนิทรรศการนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจมาก ในแง่นึงมันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง SOUTH (1999, Chantal Akerman) และ STORM CHILDREN (Lav Diaz) ที่มีการจับภาพท้องถนนที่ดูเหมือนธรรมดาๆเป็นเวลาเนิ่นนาน หรือกองขยะที่ดูเหมือนธรรมดาๆเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่ถ้าหากเรารู้ว่ามันเคยเกิดอะไรที่สถานที่ธรรมดาๆนั้นในช่วงก่อนหน้านี้ เราก็จะพบว่าสิ่งธรรมดาๆนั้นจริงๆแล้วมันหีแตกมากๆ (เปรียบได้กับการถ่ายภาพต้นมะขามธรรมดาๆที่ท้องสนามหลวง)

MONKEY TWINS วานรคู่ฟัด (2016, Nontakorn Taweesuk, A+20)

ชอบมากที่เอา หนุมานกับเห้งเจีย มาปะทะกัน เราชอบไอเดียอะไรแบบนี้มากๆ ชอบมากๆด้วยที่เชื่อมโยงท่าโขนกับมวยเข้าด้วยกัน เพราะเราชอบการเชื่อมโยงท่าเต้นรำกับท่าฝึกวิทยายุทธ ชอบที่ตัวร้ายตัวนึงต่อสู้ด้วยลีลาแบบเบรกแดนซ์ และชอบฉากต่อสู้ด้วยอุปกรณ์การทำสวนที่ หลากหลาย การใช้อัมพวาเป็นฉากหลังก็ใช้ได้คุ้มมากๆ ทำให้นึกถึงที่เพื่อนคนนึงบอกว่าหนังไทยควรจะทำแบบหนังญี่ปุ่น นั่นก็คือมีการสร้าง "หนังเทศบาล" ออกมาเยอะๆ คือถ้าเทศบาลไหนอยากโปรโมทอะไรในท้องถิ่นของตน ก็สร้างหนังขึ้นมาเพื่อโปรโมทสิ่งนั้นนั่นแหละ หนังมันจะได้กระจายตัวออกจากกรุงเทพด้วย สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังก็คือความล่ำบึ้กของพระเอก เห็นแล้วหิวมากๆ แต่เขายังไม่สามารถแสดงความหลากหลายของอารมณ์มนุษย์ได้ คือยังเป็นแค่ Dolph Lundgren ยังไม่เป็นเฉินหลง สิ่งที่ไม่ชอบก็คือหนังขาดแคลนการสร้างตัวร้ายที่น่าจดจำน่ะ มันควรจะมีตัวร้ายที่เก่งๆ อย่างเช่นตัวร้ายที่ใช้ลูกมะพร้าวเป็นอาวุธ หรือตัวร้ายที่ใช้อุปกรณ์ประมงเป็นอาวุธ มาปะทะกับพระเอกนางเอกในเรื่อง

HOTEL MONTEREY (1972, Chantal Akerman, documentary, A+30)


หนักข้อมากๆ รู้สึกว่ามันเป็นหนึ่งในหนังเพียงไม่กี่เรื่องบนโลกนี้ ที่สามารถปะทะกับหนังที่กำกับโดย Teeranit Siangsanoh, Marguerite Duras และ James Benning ได้ หนังทั้งเรื่องเป็นการถ่ายโรงแรมเฉยๆโดยไม่มีเนื้อเรื่องอะไรเลย และไม่มีเสียงประกอบอะไรเลยแต่ Akerman สามารถทำให้แต่ละช็อตแผ่พลังบางอย่างมาถึงตัวเราได้ บางช็อตหลอนมากจนสามารถเทียบได้กับหนังอย่าง HOTEL (Jessica Hausner) โดยเฉพาะฉากประตูลิฟท์ที่เปิดปิดอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนช็อตที่กล้อง tilt จากดาดฟ้าขึ้นไปบนท้องฟ้านี่ให้ความรู้สึกที่งดงามสุดๆเทียบได้กับหนังอย่าง ALL MY LIFE ( Bruce Baillie) เลย

Sunday, February 28, 2016

SON OF SAUL (2015, László Nemes, Hungary, A+30)

SON OF SAUL (2015, László Nemes, Hungary, A+30)

1.จริงๆแล้วรู้สึกไม่ถูกโฉลกกับตัวละครพระเอกอย่างรุนแรงมากๆเลยนะ คือไม่ใช่ว่าเรามองว่าเขาเป็นคนเลวนะ แต่เพียงแค่ว่าถ้าหากเราอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขา เราคงไม่ทำแบบเขาเท่านั้นเองน่ะ คือในแง่นึงความรู้สึกของเราที่มีต่อตัวละครพระเอกของหนังเรื่องนี้ คล้ายๆกับความรู้สึกที่มีต่อตัวละครโสเภณีสองคนใน THE FLOWERS OF WAR (2011, Zhang Yimou) ที่พยายามจะฝ่าสมรภูมิออกไปเอาตุ้มหูประจำตระกูลที่บ้านหรืออะไรสักอย่าง ทั้งๆที่มันอันตรายมาก แต่มึงก็จะเสือกโง่ออกไปเอาตุ้มหูให้ได้อะไรทำนองนี้ (ถ้าจำไม่ผิด) หรือคล้ายๆกับความรู้สึกที่มีต่อตัวละครที่ชอบทำอะไรโง่ๆในหนังฆาตกรโรคจิตน่ะ คือฆาตกรโรคจิตมันไม่มีสิทธิฆ่าคนโง่หรอกนะ แต่เวลาดูหนังอะไรแบบนี้ บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าเราควรลุ้นให้ตัวละครโง่ๆรอดตาย หรือควรลุ้นให้ตัวละครโง่ๆถูกฆ่าตายดี

2.แต่ในแง่นึง การที่เราไม่ถูกโฉลกกับพระเอกอย่างรุนแรง หรือไม่สามารถเข้าข้างพระเอกได้ มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนัง holocaust เรื่องอื่นๆที่บอกว่า “นาซีเลวมากๆ เผด็จการเลวมากๆ จบ” คือเหมือนเรารู้ว่า “นาซีเลวมาก” อยู่แล้วจากหนังไม่ต่ำกว่า 500 เรื่องที่เคยดูมา แต่พอหนังเรื่องนี้ทำให้เราไม่สามารถเข้าข้างพระเอกได้ และเราไม่แน่ใจว่าเราอยากให้มันรอดหรือให้มันตาย ในแง่นึงมันก็เลยกระตุ้นให้เราคิดถึงเรื่องอะไรอื่นๆมากมายที่ตัวหนังไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึง และเราก็ชอบที่มันกระตุ้นความคิดเพ้อเจ้อในตัวเราที่ไม่เกี่ยวกับหนังแบบนี้

3.ประเด็นนึงที่เราตั้งคำถามกับตัวเองก็คือว่า ทำไมเราถึงไม่ถูกโฉลกกับพระเอกอย่างรุนแรง แต่ทำไมเราถึงชื่นชอบตัวละครอย่าง Antigone ในตำนานกรีกที่ “พยายามทำพิธีศพอย่างถูกต้อง” ทั้งๆที่เสี่ยงต่อความตายเหมือนกัน หรือที่เราไม่ถูกโฉลกกับพระเอกเพราะเรามองว่า ความพยายามทำพิธีศพของเขามันสร้างอันตรายต่อคนอื่นๆ ในขณะที่การกระทำของ Antigone มันสร้างอันตรายแต่กับตัว Antigone เองเท่านั้น

4.อีกประเด็นนึงที่ SON OF SAUL ไม่ได้ตั้งใจพูดถึงอย่างแน่นอน แต่มันทำให้เราคิดถึงโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือว่า เราชอบวิธีการถ่ายภาพใน SON OF SAUL น่ะ ชอบการที่มันทำให้ความเลวร้ายทุกอย่างดูเบลอๆ หรือ offscreen ไปเกือบหมด โดยที่ตัวละครกลุ่มนึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความเลวร้ายสุดๆเหล่านี้ ด้วยการก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อยๆเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด

คือวิธีการถ่ายภาพแบบนี้ มันทำให้เรานึกถึงการถ่ายภาพที่ดูพิเศษในหลายๆฉากใน THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia Martel) น่ะ ที่มันมีความเบลอ, ความ offscreen, ความเห็น-ไม่เห็นอะไรในหลายๆฉากเหมือนกัน

และมันก็เลยทำให้เราจินตนาการว่า บางทีมันคงจะดี ถ้าหากมีหนังเรื่องใหม่ที่นำเทคนิคการถ่ายภาพแบบ SON OF SAUL + THE HEADLESS WOMAN มาใช้ เพื่อถ่ายทอดคนบางกลุ่มในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะรวมถึงตัวเราเองด้วย

คือในแง่นึง เราก็มองว่าที่ตัวเราเอง “มีความสุขตามประสา” อยู่ได้ในบางวันแบบนี้ เพราะเราก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อยๆในระบบที่จริงๆแล้วอาจจะโหดร้ายกับคนอื่นๆมากๆก็ได้นะ คือเรามีความสุขอยู่ได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งคำถามตลอดเวลาว่า ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ มันผลิตมาได้ด้วยการสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ใดที่หนึ่งหรือเปล่า หรือสิ่งของต่างๆที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มันผลิตมาได้ด้วยแร่ A, B, C, D, E ที่ตัวเหมืองที่ผลิตแร่นั้นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่ไหนอยู่หรือเปล่า คือเราอาจจะช่วยกระจายข่าวด่าทอเหมืองเหี้ยๆเป็นครั้งคราวก็จริง แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า เราซื้อของที่ผลิตจากแร่ธาตุที่มาจากเหมืองเหี้ยๆที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้หรือไม่

มันเหมือนกับว่าที่เรามีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะเราเลือกแล้วว่า เราจะ “โฟกัสแคบๆ” ไปที่จุดใดเพื่อให้เพียงพอกับการ survive ทางร่างกายและจิตใจของเราน่ะ เราจะต้องไม่ focus กว้างเกินไป ไม่ตามอ่านข่าวฆ่ากันตายในตะวันออกกลาง+แอฟริกามากเกินไป หรือตามอ่านข่าวชาวบ้านประท้วงตามจังหวัดต่างๆในประเทศไทยมากเกินไปอะไรทำนองนี้ เราอาจจะเห็นข่าวพวกนี้ผ่านหูผ่านตาเราก็จริง แต่ใจเราก็รับรู้มันแบบเบลอๆ หรือทำให้มัน out of focus หรือแค่ได้ยินเสียงมัน offscreen เท่านั้น เราจะได้ไม่คิดมากกับความเลวร้ายของโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้มากเกินไป


สรุปว่า ชอบ SON OF SAUL เพราะเราไม่ถูกโฉลกกับพระเอกอย่างรุนแรงมากๆ มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนัง Holocaust จำนวนมากที่เราเคยดูมา และชอบมันไม่ใช่เพราะว่าตัวหนังมันดี แต่เป็นเพราะว่ามันทำให้เราจินตนาการถึงหนังที่ไม่มีอยู่จริงที่เอาเทคนิคการถ่ายภาพแบบ SON OF SAUL กับ THE HEADLESS WOMAN มาใช้เพื่อถ่ายทอดการดำรงอยู่ของตัวเราเองในยุคปัจจุบัน

Saturday, February 27, 2016

A BIRTHDAY GIFT FROM SAIYA

https://www.youtube.com/watch?v=nZRHGau6WzM

Wednesday, February 24, 2016

HERITAGE FROM KING MONKUJ (1954, Prince Sukarawandis Diskul, A+15)

HERITAGE FROM KING MONKUJ (1954, Prince Sukarawandis Diskul, A+15)
มรดกพระจอมเกล้า (1954, ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล)

1.เป็นหนังที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์จริงๆ สมควรแล้วที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ แต่มันเป็นคุณค่าในเชิง “ประวัติศาสตร์” นะ แต่ในแง่ aesthetics หรืออะไรพวกนี้แล้ว เราว่ามันดีในระดับนึงน่ะ แต่ไม่ได้ดีถึงขั้นสุดยอดอะไรแบบนั้น

คือพอเปรียบเทียบหนัง propaganda เรื่องนี้กับหนัง propaganda ของคอมมิวนิสต์แล้ว เราจะชอบหนัง propaganda ของคอมมิวนิสต์มากกว่า พวกหนังของผู้กำกับโซเวียตยุคเก่าอย่าง Sergei Eisenstein, Vsevolod Pudovkin, Alexander Dovzhenko, Mikhail Kalatozov ซึ่งหนังโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตพวกนี้ น่าจะส่งอิทธิพลมาถึงหนังคอมมิวนิสต์เวียดนาม อย่าง THE WILD FIELD (1979, Nguyen Hong Sen, A+30) ด้วย

คือ THE WILD FIELD เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อของเวียดนามที่ด่าสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง ส่วน “มรดกพระจอมเกล้า” เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อที่เชิดชูสหรัฐอย่างรุนแรง แต่ถ้าหากเอาหนังสองเรื่องนี้มาเทียบกันแล้ว เราชอบ THE WILD FIELD มากกว่าประมาณ 30 เท่าค่ะ

2.แต่ก็ไม่ใช่ว่า “มรดกพระจอมเกล้า” ไม่ใช่หนังดีนะ จริงๆแล้วเราชอบมันมากพอสมควรแหละ เพียงแต่เมื่อกี้เราเอามันไปเทียบกับหนัง propaganda ระดับสุดยอดของโลกเท่านั้นเอง 555

ถ้าหากเทียบกับหนังไทยด้วยกันเองแล้ว มันก็น่าสนใจเหมือนกันนะว่า หนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อออกฉายตามโรงหนังปกติ หรือทำขึ้นเพื่อออกฉายที่ไหน เพราะเราว่ามันเหมือนกับเป็นหนังที่เหมาะออกฉายตามโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนประถมทั่วประเทศเพื่อสอนประวัติศาสตร์ให้เด็กนักเรียนมากกว่าที่จะออกฉายตามโรงหนังทั่วไป

คือเราชอบที่หนังมันไม่ได้พยายามจะสร้างความบันเทิงแบบหนังปกติน่ะ มันก็เลยประหลาดดี เพราะปกติพอเรานึกถึงหนังเก่าของไทย เราก็มักจะนึกถึงแต่หนัง mainstream ที่เน้นสร้างความบันเทิงเป็นหลัก แต่หนังเรื่องนี้แทบจะไม่บันเทิงเลย มันเป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางการให้ความรู้แก่ผู้ชมโดยมีเจตนาแอบแฝง การที่มันแตกต่างจากหนังบันเทิง mainstream ทั่วๆไปอย่างมากๆแบบนี้ ทำให้มันน่าสนใจมากๆ

3.ชอบที่มันทำให้ “บุคคลในประวัติศาสตร์” ในแบบเรียนกลายเป็นตัวละครในหนัง ทั้งร.4, ร.5, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หมอบรัดเลย์ และมีการพูดถึงปัญหาฝีดาษ, ประวัติศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย, และความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในไทยด้วย คือเราชอบความเป็น educational film ของมันน่ะ คล้ายๆกับที่เราชอบ LINCOLN (2012, Steven Spielberg) และ THE BIG SHORT (2015, Adam McKay) ที่ทำให้ “ภาพยนตร์” กับ “ตำราเรียน” มาบรรจบกันได้เหมือนกัน


4.แต่จุดสำคัญที่ทำให้เราไม่ปลื้มกับหนังเรื่องนี้ก็คือว่า ถึงแม้ว่าความเป็น educational film ของมันจะทำให้มันแตกต่างจากหนังกระแสหลัก แต่เนื้อหาที่หนังเรื่องนี้บอกสอนผู้ชม มันก็ตรงกับ “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” น่ะ มันตรงกับสิ่งที่เราถูกบอกสอนมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถึงแม้หนังเรื่องนี้จะแปลกในแง่ความเป็น educational film แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ educate เรากลับไม่ใช่สิ่งใหม่ที่น่าสนใจอะไรมากนัก หนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ใช่หนังที่เราชอบสุดๆเป็นการส่วนตัวจ้ะ


รูปไม่ได้มาจากหนังเรื่องนี้นะ แต่หนังเรื่องนี้พูดถึงหมอบรัดเลย์ เราก็เลยเอารูปนี้มาใช้

TV (1967, Kurt Kren, Austria, 4min, A+30)

TV (1967, Kurt Kren, Austria, 4min, A+30)

ดูหนังความยาว 4 นาทีเรื่องนี้ได้ที่

เห็น Wim Wenders เคยเขียนชื่นชมหนังเรื่องนี้ว่าเป็น “fantastic little film” พอเราได้ดูแล้วก็พบว่ามันไม่ทราบชีวิตฮิสทีเรียอะไรอีกแล้วจริงๆ hyperbolic paraboloid มากๆ


เห็นเขาบอกว่าจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ mathematical sequences ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ แต่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาที่ผู้ชมมีต่อโครงสร้างของหนัง

Wim Wenders and Werner Nekes

Favorite quote from Wim Wenders:

นอกจาก Wim Wenders จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังแล้ว เขายังเคยเขียนวิจารณ์หนังบางเรื่องเอาไว้ด้วย เราชอบสิ่งที่เขาเขียนถึงหนังเรื่อง KELEK (1968, Werner Nekes, 60min, silent) มากๆ เขาเขียนว่า หนังเรื่องนี้จะทำให้

“Film critics will lose their jobs. They won’t need to go to the cinema anymore. All that will be left for them to do is to go for strolls in the park, look at their toes, or at manhole covers as they walk along, have it off, and when they turn into suburban streets, slowly open and shut their eyes.

That’s movie.

KELEK is an evenly paced film. There’s no more “and then...” and “at this point...” KELEK is a film that works on only one level, the level of seeing.”


นอกจากนี้ Wim Wenders ยังเขียนเปรียบเทียบ KELEK กับหนังเรื่อง TV (1967, Kurt Kren) ด้วย เราเข้าใจว่า Wim Wenders ชื่นชอบ Werner Nekes กับ Kurt Kren มากๆ แต่เรายังไม่เคยดูหนังของผู้กำกับสองคนนี้เลย พออ่านสิ่งที่วิม เวนเดอร์สเขียนถึงหนังของผู้กำกับสองคนนี้แล้วเราก็เลยอยากดูมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

Tuesday, February 23, 2016

CZECH FILM LECTURE

หนังเชค

มีเพื่อนถามว่าคุณ Keiko Sei พูดเรื่องอะไรบ้างในงานสัปดาห์ศิลปะและวัฒนธรรมเชค เราก็ไม่แน่ใจว่าทางงานเขาได้อัดคลิปไว้เพื่อจะโพสท์ลงยูทูบหรือเปล่า แต่ในเมื่อเพื่อนเราอยากรู้ เราก็จะจดโน้ตไว้เท่าที่เราจำได้แบบผิดๆถูกๆแล้วกัน

ถ้าหากเราจำตรงไหนผิด ก็ช่วยแก้ไขด้วยนะ เพราะมีหลายจุดที่เราฟังไม่ออก เพราะเราว่าไมโครโฟนวันนั้นมันไม่ดี เสียงมันดังแต่มันไม่ชัด เราก็เลยฟังไม่เคลียร์ในหลายๆจุด

1.สิ่งหนึ่งที่อาจจะมีอิทธิพลต่อหนังเชค ก็คือประวัติศาสตร์ของเชคเอง เพราะดินแดนของประเทศเชคในปัจจุบันนี้ เคยเป็นดินแดน Bohemia (อย่าจำสลับกับ Bavaria) มาก่อน และดินแดนนี้ก็มักอยู่ภายใต้การปกครอง หรือ “การกดขี่” จากคนอื่นๆอยู่เสมอ โดยในตอนแรกนั้นมันอยู่ภายใต้การปกครองของ Holy Roman Empire แล้วก็เป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นมา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็ล่มสลาย แล้วก็เลยเพิ่งเกิดประเทศเชคขึ้นมาเป็นครั้งแรก แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีก็เข้ามายึดครองเชค และพอจบสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตก็เข้ามากดขี่เชคโกสโลวาเกียต่อ เพราะฉะนั้นดินแดนนี้จึงเป็นดินแดนของคนที่ถูกกดขี่มานานแล้ว และพยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพมานานแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์กับคาทอลิกด้วย แต่เราไม่ค่อยแน่ใจเรื่องนี้เท่าไหร่

ถ้าเข้าใจไม่ผิด ประวัติศาสตร์แบบบนี้ทำให้ชาวเชคเกิดความหวาดระแวง “คนที่จะมาเคาะประตูบ้านคุณ” หรืออะไรทำนองนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่จะมาเคาะประตูบ้านคุณเป็นฝ่ายไหน นับถือนิกายอะไร หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งความหวาดระแวงนี้จะเห็นได้ชัดในหนังอย่าง THE HAND (1965, Jiri Trnka) และ THE FIFTH HORSEMAN IS FEAR (1965, Zbynek Brynych)

2.หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อความรู้สึกของชาวเชคเป็นอย่างมาก คือเหตุการณ์ THE MUNICH AGREEMENT ในปี 1938 ที่อังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรของเชค กลับทำสัญญากับเยอรมนีในการยกดินแดน Sudetenland ในเชคให้แก่เยอรมนี โดยเยอรมนีอ้างว่าตนเองควรครอบครอง Sudetenland เพราะว่าดินแดนนั้นมีคนพูดภาษาเยอรมันเยอะ ส่วนอังกฤษกับฝรั่งเศสก็ยกดินแดนนั้นให้เยอรมนี เพราะหวังว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยยับยั้งฮิตเลอร์จากการทำสงคราม

แต่เชคโกสโลวาเกียไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการทำข้อตกลงนี้ด้วย ชาวเชคก็เลยรู้สึกว่าตนเองถูกอังกฤษกับฝรั่งเศสทรยศ เพราะ Sudetenland เป็นดินแดนที่มีความสำคัญ และในเวลาต่อมา กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าการยก Sudetenland ให้เยอรมนีไม่สามารถยับยั้งสงครามโลกครั้งที่สองได้แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

3.เคโกะบอกว่า ช่วงปี 1963-1968 นั้น เป็นยุคของ Czech New Wave และภายในเวลาเพียง 5 ปี เชคก็ผลิตหนังออกมาระดับมาสเตอร์พีซออกมาเยอะมากๆ จนอาจกล่าวได้ว่าไม่เคยมีนิวเวฟชาติไหนที่ผลิตหนังระดับมาสเตอร์พีซออกมาได้เยอะขนาดนั้นภายในเวลาเพียงแค่ 5 ปี

4.แต่ปี 1968 เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้า คือเชคในตอนนั้นเหมือนออกห่างจากอิทธิพลของโซเวียตมากๆ และมีความเป็น liberal มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดโครงการสำคัญที่มีชื่อว่า SOCIALISM WITH A HUMAN FACE ที่ก่อตั้งโดย Alexander Dubcek ประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชคโกสโลวาเกียในปี 1968 ท่ามกลางช่วงเวลาที่เรียกว่า Prague Spring ในปี 1968 (ดูเพิ่มเติมได้จากหนังเรื่อง COSY DENS (1999, Jan Hrebejk))

แต่ความรุ่งเรืองของเชคโกสโลวาเกียก็ยุติลง เมื่อสหภาพโซเวียตและประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอว์นำกองกำลังเข้ามาบดขยี้เชคในเดือนส.ค. 1968 (ดังที่เห็นในหนังเรื่อง THE UNBEARABLE LIGHTNESS OF BEING)

5.หลังจากนั้นโซเวียตก็นำพาเชคเข้าสู่กระบวนการ NORMALIZATION ซึ่งจริงๆแล้วมันคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ normal เพราะจริงๆแล้วมันคือ SUPPRESSION จนกระทั่งถึงปี 1989

6.อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเชคก็คือว่า ในอดีตนั้น ชาวยิวเคยครองสัดส่วนมากถึง 25% ของประชากรทั่วทั้งกรุงปราก และกรุงปรากถือเป็นเมืองเพียงไม่กี่เมืองในโลกนี้ที่มีสถาปัตยกรรมเกือบทุกรูปแบบทุกสมัย ตั้งแต่สถาปัตยกรรมยุคโบราณจนมาถึงยุคปัจจุบัน และมีแม้แต่สถาปัตยกรรมแบบ CUBISM ด้วย

7.มรดกสำคัญอันหนึ่งที่เชคมอบไว้ให้แก่ชาวโลก คือลักษณะ Kafkaesque ในงานวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่เพื่อนเราหลายคนคงรู้จักกันดีแล้ว โดยลักษณะ Kafkaesque นั้นต้องมีองค์ประกอบของ absurdity, totalitarianism และ bureaucratic อยู่ด้วย โดยหนังแนว Kafkaesque ที่เคโกะนำมาเปิดในวันนั้นคือเรื่อง JOSEF KILLÁN (1963, Pavel Jurácek) ที่คลาสสิคมากตั้งแต่ฉากเปิด ซึ่งเป็นฉากของขบวนเด็กนักเรียน, ขบวนทหาร และขบวนงานศพที่เคลื่อนตัวแบบ horizontal ทาง background ของฉาก แต่ผู้ชายคนหนึ่งในขบวนเริ่มหันไปมองทางอื่น เขาไม่ได้มองตามคนอื่นๆในขบวน แต่มองไปอีกทิศนึง และเขาก็เดินแยกตัวออกจากขบวน และเดินจาก background ของฉากเข้ามาสู่ foreground ของฉาก มันเหมือนกับว่าเขาเริ่ม “เห็น” ในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้เขาเห็น เขาไม่ได้ทำตามคนอื่นๆในสังคม และเริ่มเห็นความจริงหรือความ absurd บางอย่างที่เป็นพื้นฐานของสังคมจอมปลอมนี้

แต่หนัง Kafkaesque ที่เราชอบที่สุดคงเป็นเรื่อง THE CASTLE (1997, Michael Haneke, Germany) แหละ โดยเฉพาะระบบการปกครองแบบเผด็จการที่ไม่มีใครเข้าถึงได้ใน THE CASTLE นี่มันช่าง...มากๆ

8.อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมเชคก็คือตัวละครพลทหารชเวค (SVEJK) จากบทประพันธ์ของ Jaroslave Hacek ในปี 1921-1923 โดยเนื้อเรื่องของ THE GOOD SOLDIER SVEJK นั้นใช้ฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเกี่ยวข้องกับพลทหารชเวค ที่ดูเหมือนจะต่อต้านผู้มีอำนาจด้วยวิธีการที่เป็นตัวของตัวเอง นั่นก็คือแทนที่เขาจะปฏิเสธคำสั่งหรือลุกขึ้นตบผู้มีอำนาจโดยตรง เขากลับทำตามคำสั่งในแบบที่มากเกินไป (overdoing) จนเกิดความชิบหายตามมา เราอาจเรียกสิ่งนี้ได้ว่าเป็น passive resistance

ตัวละครพลทหารชเวคนี้ยังส่งผลต่อหนังเชคในยุคหลังด้วย โดยถ้าหากเราสังเกตให้ดี หนังเชคหลายๆเรื่องจะมีตัวประกอบที่มีลักษณะแบบ “the idiot” ตัวละครแบบนี้อาจจะสืบเชื้อสายมาจากพลทหารชเวคนี่เอง

เหมือนเคโกะจะพูดอะไรเกี่ยวกับ DON QUIXOTE และนิยายเรื่อง CATCH 22 ของ Joseph Heller ด้วย แต่เราไม่แน่ใจว่ามันเป็นการเปรียบเทียบพลทหารชเวคกับตัวละครในบทประพันธ์สองเรื่องนี้หรือเปล่า

9.หนังอีกเรื่องที่เคโกะนำมาเปิดคือ THE FIFTH HORSEMAN IS FEAR ที่เพื่อนเราหลายคนคงดูไปแล้ว โดยสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะใช้ฉากหลังเป็น “สงครามโลกครั้งที่สอง” ในช่วงที่นาซีเข้ามายึดครองเชคโกสโลวาเกีย แต่ถ้าหากเราสังเกตให้ดี เราจะเห็นสถาปัตยกรรมยุคคอมมิวนิสต์ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของผู้กำกับ เพราะจุดประสงค์ของผู้กำกับไม่ได้ต้องการจะด่านาซี เขาทำหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเลวร้ายในยุคนาซี แต่จุดประสงค์จริงๆของเขาเป็นการประณามเผด็จการคอมมิวนิสต์เองนี่แหละ ดังนั้นการที่เขาใส่สถาปัตยกรรมที่ผิดยุคผิดสมัยเข้ามาในหนัง จึงเป็นสิ่งที่ฉลาดมากๆ

10.ในส่วนของ THE HAND (Jiri Trnka) ที่เคโกะนำมาเปิดนั้น นอกจากหนังเรื่องนี้จะสะท้อนความหวาดกลัว “คนที่มาเคาะประตู” แล้ว หนังเรื่องนี้ยังสะท้อนความหวาดกลัว “คนที่โทรศัพท์มาหา” ด้วย ซึ่งนี่คือสภาพจิตของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ หนังเรื่อง THE HAND ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อด้วยวิธีการต่างๆนานาด้วย ทั้งทางโทรศัพท์, โทรทัศน์, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ เพื่อกล่อมประชาชนให้ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจให้ได้

11.หนังอีกเรื่องที่เปิดในวันนั้นคือ THE PARTY AND THE GUESTS (1966, Jan Nemec) ที่เป็นหนังในดวงใจพวกเราหลายคน จุดที่เคโกะตั้งข้อสังเกตไว้ได้ดีมากเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็รวมถึง

11.1 การที่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คุณอยู่ในป่า หรือคุณอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เผด็จการก็ตามมาเล่นงานคุณได้ ตามมาครอบงำคุณได้ ซึ่งมันจะแตกต่างจากหนังเชคเรื่องอื่นๆที่ใช้ฉากหลังเป็นเมือง อย่างเช่น JOSEPH KILLAN และ THE FIFTH HORSEMAN IS FEAR

11.2 หนังเรื่องนี้เป็น microcosmos ที่สะท้อนภาพสังคมได้ดีมากๆ เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับเผด็จการแบบในหนังเรื่องนี้ เราทุกคนก็เลือกได้ว่าเราจะทำตัวเหมือนกับตัวละครตัวใดในเรื่องนี้ เราจะเป็น dictator, หรือเป็นสมุนของ dictator, หรือเป็น conformists หรือเป็น dissidents

12.เคโกะเปิด CLOSELY OBSERVED TRAINS (1966, Jiri Menzel) กับ FIREMAN’S BALL (1967, Milos Forman) ด้วย ซึ่งสะท้อนความ absurd ของสังคมหรือระบอบเผด็จการออกมาผ่านทางอารมณ์ขัน

13.ชอบคำพูดของ Milos Forman ที่เคโกะ quote มามากๆ มันเป็นการสรุปลักษณะภาพยนตร์ของเชคได้เป็นอย่างดี เขาพูดว่า

“The tradition of Czech culture is always humor based on serious things, like THE GOOD SOLDIER SVEJK. Kafka is a humorous author, but a bitter humorist. It is in the Czech people. You know, to laugh at its own tragedy has been in this century the only way for such a little nation placed in such a dangerous spot in Europe to survive. So humor was always the source of a certain self-defense. If you don’t know how to laugh, the only solution is to commit suicide.”


ส่วนรูปนี้มาจากภาพยนตร์ที่เราอยากดูมากๆ แต่เคโกะไม่ได้พูดถึงแต่อย่างใด 555 มันคือภาพยนตร์เรื่อง YOU SPEAK OF PRAGUE: THE SECOND TRIAL OF ARTUR LONDON (1971, Chris Marker, 30min) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Artur London นักการเมืองชาวเชคโกสโลวาเกียที่เขียนหนังสือที่ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง THE CONFESSION (1970, Costa-Gavras)

PAST (2016, NITEDTUNCLUB, stage play, A-)

PAST (2016, NITEDTUNCLUB, stage play, A-)

1.รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ตรงข้ามกับ DEAR ANGEL (2015, Ninart Boonpothong, A+/A) ในแง่ที่ว่า DEAR ANGEL นั้นมีจุดเด่นที่บทละครอันซับซ้อนและไม่ธรรมดาตามสไตล์ของนินาท แต่ DEAR ANGEL มีจุดด้อยที่การแสดงของเด็กมัธยม

แต่ใน PAST นั้น จุดด้อยคือบทที่เราเดาว่าคงเป็นเด็กมัธยมแต่งกันเอง บทก็เลยไม่ซับซ้อน และอาจจะน่าเบื่อสำหรับผู้ชมวัย 42 ปีอย่างเราที่ไม่อินกับเรื่องราวอะไรทำนองนี้แล้ว แต่แน่นอนว่าเราย่อมไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักของละครเวทีเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งได้แก่เด็กๆมัธยมด้วยกันเอง น่าจะเป็นผู้ตอบคำถามได้ดีกว่าว่า ละครเวทีเรื่องนี้สนุกและดูแล้วอินหรือไม่

อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ PAST คือการแสดงของเด็กมัธยม เราว่าพวกเขาแสดงได้ “มีเสน่ห์” น่ะ คือไม่ใช่แสดง “ดี” หรือแสดง “เก่ง” แบบนักแสดงมืออาชีพนะ แต่เรารู้สึกว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เราดูละครเรื่องนี้แล้วรู้สึกเพลิดเพลิน คือเสน่ห์ของนักแสดง ซึ่งไม่ได้เกิดจากความสวยหล่อหน้าตาดี แต่เราเดาว่ามันอาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่เกร็งหรือเครียดกับการแสดงมากเกินไปแบบนักแสดงในเรื่อง DEAR ANGEL ก็ได้ อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

คือเราเดาว่า เนื่องจากบทของ DEAR ANGEL มันซับซ้อนมาก และมันเป็นบทของเทวดาที่มีการหักหลังพลิกแพลงตลบแตลงไปมา นักแสดงซึ่งเป็นเด็กมัธยมอาจจะเครียด และอาจจะพยายามแสดงให้สมบทบาทกับตัวละครที่ห่างไกลจากตัวพวกเขาเองในชีวิตจริง การแสดงของพวกเขาก็เลยขาดเสน่ห์อะไรบางอย่างไป

แต่ใน PAST นั้น เนื่องจากบทไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย และแต่ละตัวละครที่พวกเขาแสดงก็ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตจริงของพวกเขามากเท่าไหร่ มันก็เลยอาจจะส่งผลให้พวกเขาไม่ต้องเครียดกับการแสดงมากนัก และมันก่อให้เกิดเสน่ห์แบบแปลกๆขึ้นมา

คือเราเดาว่าการที่พวกเขาเหมือนไม่ได้เป็นตัวละคร 100% เต็ม แต่เป็นตัวละครเพียงแค่ 75% และเป็นตัวเอง 25% เราว่ามันก่อให้เกิดเสน่ห์แบบแปลกๆที่น่าสนใจน่ะ

กรณีแบบนี้ทำให้นึกถึงหนังฝรั่งเศสนะ คือหนังฝรั่งเศสมันจะมีบางเรื่องที่เป็นการแสดงแบบ traditional ไปเลย นักแสดงสวมบทบาทเป็นตัวละคร 100% เต็มไปเลยแบบที่เราพบได้ในหนังฮอลลีวู้ดโดยทั่วไป แต่มันมีหนังฝรั่งเศสหลายเรื่องที่มันออกมาดีมากๆ โดยไม่ได้ต้องการความ “สมจริง” จากนักแสดงมากนัก อย่างเช่นหนังของ Jacques Rivette ที่มักให้นักแสดงร่วมแต่งบทภาพยนตร์ด้วย และมันส่งผลให้หนังของเขาออกมามางดงามและมีเสน่ห์เป็นตัวของตัวเองมาก เพราะตัวละครบางตัวมันซ้อนทับกับจินตนาการของตัวนักแสดงคนนั้นเองจริงๆ, หนังของ Marguerite Duras ที่มักทำให้นักแสดง “เสียสมาธิ” ในระหว่างการแสดง เพื่อให้เกิด “ช่องว่าง” บางอย่างระหว่างนักแสดงกับตัวละคร แต่ผลที่ออกมากลับทำให้หนังของเธอหลอนสุดๆ หรือหนังของ Robert Bresson ที่พยายามทำให้นักแสดงแสดงให้ “แข็งกระโด๊ก” ที่สุด เพื่อผลทางปรัชญาบางอย่าง

สรุปว่า เราก็เลยเพลิดเพลินกับ PAST ในระดับนึง เพราะถึงเราจะเบื่อๆกับเนื้อเรื่อง แต่เราว่านักแสดงเล่นได้มีเสน่ห์ดี

2.ถึงแม้เราจะเบื่อๆกับช่วงต้นเรื่องเล็กน้อย แต่เราว่าช่วงท้ายที่เป็นเรื่องหญิง,ชาย, กะเทย กับเลสเบียนออกมาดีมากๆเลยนะ คือเราว่าเนื้อเรื่องช่วงนี้ โอเค น่ารักมาก และเราว่านักแสดงเล่นได้มีเสน่ห์มากๆในช่วงนี้ด้วย มันเหมือนกับว่า ช่วงต้นๆเรื่อง เครื่องยังไม่ติดน่ะ เหมือนกับว่าพลังทางการแสดงยังไม่เปล่งออกมาเต็มที่ หรือนักแสดงยังเข้าขากันไม่ได้เต็มที่ ยังรับส่งอารมณ์กันไม่ลงตัว แต่เครื่องพึ่งมาติด ตอนท้ายๆเรื่องแล้ว


เราเดาว่า มันอาจจะเป็นเพราะการแสดงรอบแรกด้วยแหละ มันเลยเกิดอาการเครื่องติดช้า ถ้าหากพวกเขาได้แสดงหลายๆรอบ เครื่องมันอาจจะติดเร็ว หรือนักแสดงอาจจะเข้าขากันได้เร็วตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องก็ได้