JIT PHOKAEW IS NOT A FILM CRITIC
พอดีมีน้องคนนึงในเฟซบุ๊คเขียนมาถามดังนี้
“การที่เราจะไปวิจารณ์หนังซักเรื่องนี้
เราต้องมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงไหนครับ
ถ้าเราวิจารณ์ที่เอาความรู้สึกตัวเองเข้าไปในตัวหนังมากไปนี้จะผิดไหมครับ ปล
ชอบติดตามอ่านวิจารณ์ของพี่นะครับ”
เราก็เลยตอบไปดังนี้ และก็เลยก็อปปี้เอาคำตอบของเรามาแปะในนี้ด้วย
เผื่อบางคนงงๆกับสไตล์การพร่ำเพ้อถึงหนังและผู้ชายหล่อๆในหนังของเรา 555
1.ถ้าเราจะ “วิจารณ์” หนังสักเรื่องนี่ เราก็ควรมีความรู้มากในระดับนึงนะครับ
แต่ก่อนอื่นพี่ขอแยกแยะระหว่าง “นักวิจารณ์มืออาชีพ” กับ “คนอย่างพี่” นะครับ
เพราะพี่ไม่ใช่นักวิจารณ์มืออาชีพ
พี่เป็นเพียงคนที่ชอบดูหนังและชอบจดบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองที่มีต่อหนังเท่านั้น
เพราะฉะนั้นคำว่า “วิจารณ์” ที่พี่ใช้ตอบคำถามของน้องในบริบทนี้ พี่จะหมายถึงสิ่งที่
“นักวิจารณ์มืออาชีพ” ทำกันในนิตยสารภาพยนตร์และเว็บไซต์ภาพยนตร์นะครับ
และแน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่พี่ทำเป็นประจำในอินเทอร์เน็ต
เพราะพี่ไม่ใช่นักวิจารณ์มืออาชีพ
พี่คิดว่าถ้าหากเราจะวิจารณ์หนังสักเรื่องอย่างนักวิจารณ์มืออาชีพ
อย่างน้อยเราก็ต้องมีความรู้เรื่องต่อไปนี้
1.1 ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ องค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของ genre ของหนังที่เราจะวิจารณ์
อย่างเช่น ถ้าหากเราจะวิจารณ์หนังเรื่อง AUSTRALIA (2008, Baz Luhrmann) เราก็ควรจะรู้ประวัติศาสตร์ genre หนังอีพิคที่เคยนิยมสร้างกันเมื่อ
50-60 ปีก่อนด้วย เพื่อจะได้รู้ว่า AUSTRALIA มันเคารพหรือท้าทายขนบของ
genre หนังเก่าเหล่านั้นอย่างไร
ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ๆหลายคนทำไม่ได้
เพราะขาดความรู้และความคุ้นเคยกับ genre หนังอีพิคที่เคยนิยมสร้างกันเมื่อ
50-60 ปีก่อน อะไรแบบนี้
สำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองขาดความรู้ด้านนี้ ก็อาจลงเรียน course ภาพยนตร์วิจักษณ์ของมูลนิธิหนังไทย,
หาตำราภาพยนตร์มาอ่าน, อ่านงานวิจารณ์ในนิตยสารภาพยนตร์
อย่างเช่น Bioscope, Filmax, Starpics, Flickz ซึ่งล้วนมีนักวิจารณ์มืออาชีพที่ดีๆและพี่ชอบมากๆอยู่หลายคนในนั้น
และควรหาหนังมาดูเยอะๆ ก็จะทำให้ตัวเองพัฒนาความรู้ด้านนี้ขึ้นมาได้เรื่อยๆ
1.2 รู้บริบทของหนังเรื่องนั้นๆ อย่างเช่น ถ้าหากเราจะวิจารณ์ THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia
Martel) เราก็จะต้องรู้ประวัติศาสตร์การเมืองของอาร์เจนตินาด้วย
เพราะหนังหลายเรื่องมันไม่พูดประเด็นของมันตรงๆ
ซึ่งถ้าหากเราไม่รู้ประวัติศาสตร์การเมืองของอาร์เจนตินา
เราก็อาจจะไม่เข้าใจแก่นหลักของหนังเรื่องนี้ หรือถ้าหากเราจะวิจารณ์เรื่อง THE
GARDEN (1990, Derek Jarman)
ซึ่งมีแต่ภาพอะไรก็ไม่รู้ที่พิศวงอภินิหารสูงตลอดทั้งเรื่อง
เราก็จะต้องมีความรู้เรื่อง “คัมภีร์ไบเบิล” และ “ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของเกย์ในทศวรรษ
1980” ด้วย เพราะถ้าหากเราไม่มีความรู้สองประเด็นนี้ เราก็จะเขียนวิจารณ์ THE
GARDEN ในแง่ประเด็นหลักที่หนังต้องการจะสื่อไม่ได้
1.3 มีความรู้รอบตัวบ้างพอสมควร อย่างเช่น ผู้กำกับหนังอาร์ทหลายๆคนในยุโรป
มักจะทำหนังที่มีหลายๆช็อต, หลายๆเฟรม, หลายๆซีนอ้างอิง “งานจิตรกรรม” อยู่เสมอๆ
เพราะฉะนั้นความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์จึงจำเป็นมากๆสำหรับคนที่จะวิจารณ์หนังยุโรป
(แต่ดิฉันไม่มีความรู้ด้านนี้ กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด)
2.คิดว่าถ้าเป็น “การเขียนแบบนักวิจารณ์มืออาชีพ” การเอาความรู้สึกของตัวเองใส่เข้าไปในหนังมากไป
คงไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่อันนี้เราพูดถึง “การเขียนงานวิจารณ์แบบนักวิจารณ์มืออาชีพ”
นะ
คืองานวิจารณ์ที่สังคมในวงกว้างถือว่าเป็นงานวิจารณ์ที่ดีนั้น
มันอาจจะไม่ต้องมีความรู้สึกส่วนตัวอยู่ในนั้นเลยก็ได้
มันอาจจะเป็นการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆในหนัง, องค์ประกอบต่างๆในหนัง,
ความกลมกลืนกันระหว่างประเด็นต่างๆกับองค์ประกอบต่างๆในหนัง, สัญลักษณ์ในหนัง, จุดดีและจุดด้อยของหนังเรื่องนั้นๆ
หรือถ้าจะมีความรู้สึกส่วนตัวอยู่ในนั้น ก็ใส่เข้าไปได้
แต่ไม่ควรจะใส่มากเกินไป ใส่เข้าไปแต่พอดีๆ
เอาล่ะ ถือว่าพี่ตอบคำถามของน้องครบหมดแล้วนะครับ
สรุปว่าถ้าหากเราจะวิจารณ์หนังสักเรื่องอย่าง “นักวิจารณ์มืออาชีพ” เราก็ควรจะมีความรู้มากในระดับนึง
และเราไม่ควรจะใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในงานวิจารณ์นั้นมากเกินไป
หลังจากนี้จะไม่ใช่การตอบคำถามของน้องนะครับ แต่เป็นของแถม เพราะพี่แอบงงเล็กน้อยว่าทำไมน้องถึงมาถามพี่
ซึ่งทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักวิจารณ์มืออาชีพทำกัน 555
พี่ก็เลยขอแสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับอะไรอื่นๆที่น้องไม่ได้ถามมานะครับ
1.สิ่งที่พี่เขียนถึงหนังอยู่ทุกวี่ทุกวันทางเฟซบุ๊ค และทาง blog ของตัวเองนั้น
มันมีแต่ “ความรู้สึกส่วนตัว” ทั้งนั้นครับ เพราะ
1.1 พี่ไม่ได้ต้องการจะเป็นนักวิจารณ์มืออาชีพ
พี่ไม่ได้ต้องการจะเขียน “วิจารณ์” หนังเพื่อให้คนทั่วๆไปมองว่าเราเป็น “นักวิจารณ์”
1.2 เราจะเขียนในสิ่งที่นักวิจารณ์คนอื่นๆเขียนถึงไปแล้วทำไม
เราจะเขียนในสิ่งที่คนอื่นๆเขียนได้ดีกว่าเราไปทำไม พี่เชื่อว่ามีคนไทยหลายพันคนที่เขียนวิเคราะห์วิจารณ์หนังได้ดีกว่าพี่มากๆ
แต่มีพี่เพียงคนเดียวเท่านั้นบนโลกนี้ที่สามารถจดบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองได้
ไม่มีคนอื่นๆบนโลกนี้ที่สามารถทำหน้าที่นี้แทนเราได้
1.3 พี่เขียนถึงหนังเพราะพี่ต้องการจะ “จดบันทีกความรู้สึก”
ของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆเอาไว้ โดยเฉพาะหนังที่พี่ชอบมากๆ
เพราะถ้าหากเราไม่รีบจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ อีกไม่กี่วันเราก็จะลืมมัน
ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งลืมรายละเอียดต่างๆในหนังเรื่องนั้นๆ
และลืมความรู้สึกของเราเองที่มีต่อรายละเอียดต่างๆในหนังเรื่องนั้นๆ
1.4 พี่เชื่อในเรื่อง “สิทธิเสรีภาพของการแสดงออก” และเชื่อว่า “หนังหลายๆเรื่องไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้นักวิจารณ์ดูเท่านั้น
แต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนดูที่ไม่ได้เป็นนักวิจารณ์ด้วย” เพราะฉะนั้น “คนดูทุกคน”
จึงมีสิทธิแสดงความเห็นต่อหนังทุกเรื่องที่ตนเองได้ดูมา
คนดูทุกคนมีสิทธิป่าวประกาศในพื้นที่ของตนได้ว่า
ตนคิดเห็นอย่างไรกับหนังเรื่องนั้นๆ ชอบหนังเรื่องนั้นๆในจุดไหน
เกลียดหนังเรื่องนั้นๆในจุดไหน ชอบมากหรือชอบน้อย หรือคิดว่าหนังเรื่องนั้นดีเลวอย่างไร
คนดูทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นเหล่านี้ในพื้นที่ของตัวเอง และพี่ก็ทำเช่นนั้น พี่ก็
“จดบันทึกความรู้สึกส่วนตัว”
ของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน
และพี่ก็คิดว่าคนดูทุกคนมีสิทธิที่จะทำแบบเดียวกับพี่ ไม่ว่าคนดูคนนั้นจะเป็นเพียงแค่เด็กป.6
หรือมีความรู้เกี่ยวกับหนังมากน้อยขนาดไหน ตราบใดที่เรา “ไม่ไปบังคับให้ใครมาอ่านสิ่งที่เราเขียนโดยที่เขาไม่เต็มใจ”
คือแน่นอนว่า มันมีคนดูที่เขียนถึงหนังได้แย่มากๆหลายๆคนบนอินเทอร์เน็ต
แต่ส่วนใหญ่พี่ไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา เพราะพี่ไม่เคยเสียเวลาไปอ่านมัน 555
2. เพราะฉะนั้นถ้าหากน้องต้องการจะเขียนถึงหนัง น้องก็จะต้องถามตัวเองก่อนว่า
จุดประสงค์ของน้องคืออะไร
2.1 ถ้าหากน้องต้องการจะเป็นนักวิจารณ์มืออาชีพ ต้องการให้คนอื่นๆมองว่าเราเป็น
“นักวิจารณ์” ต้องการเขียนลงนิตยสารภาพยนตร์, เพจภาพยนตร์, เว็บไซต์ภาพยนตร์
น้องก็ควรจะเขียนวิจารณ์โดยไม่ใส่ความรู้สึกของตัวเองมากเกินไป
2.2 แต่ถ้าหากน้องเป็นเหมือนกับพี่
นั่นก็คือต้องการจะจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องต่างๆ
น้องก็จดบันทีกความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองได้เต็มที่เลย
และคนดูทุกคนก็มีสิทธิทำแบบนี้ได้เช่นกัน
3.แล้วพี่ชอบอ่านงานแบบไหน พี่ก็ชอบอ่านทั้งสองแบบน่ะแหละ ทั้งแบบ “นักวิจารณ์มืออาชีพ”
และ “ความรู้สึกส่วนตัว” ของคนดูคนอื่นๆที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆ
แต่เกณฑ์ที่พี่ใช้เลือกว่าจะตามอ่านงานเขียนของใครเป็นประจำ ก็คือ “รสนิยมส่วนตัว”
ของนักวิจารณ์/นักเขียนคนนั้น มันใกล้เคียงกับเราหรือเปล่า
ถ้าหากเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ภาพยนตร์ เป็น “อาหาร”
พี่จะมองว่านักวิจารณ์มืออาชีพ เหมือนกับ “นักวิทยาศาสตร์”
ที่ต้องมีความรู้มากในระดับนึง ถึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า อาหารจานนั้นๆมันทำมาจากอะไรบ้าง,
มันประกอบไปด้วยสารอาหารอะไรบ้าง คาร์โบไฮเดรต แมงกานีส โปแตสเซียม
กรดอะมิโนอะไรบ้าง และมันมีคุณค่าทางโภชนาการต่อเรามากน้อยแค่ไหน
เหมือนกับการวิจารณ์ว่า หนังแต่ละเรื่อง มันมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่น่าสนใจ
องค์ประกอบมันสอดรับกับประเด็นได้ดีเพียงใด หนังเรื่องนั้นดีเลวเพียงใด
แต่ “อาหาร” ไม่ได้ทำขึ้นมาสำหรับ “นักวิทยาศาสตร์” หรือ “นักโภชนาการ”
หรือ “องค์การอาหารและยา” เท่านั้น อาหารมันทำขึ้นมาสำหรับคนกินแต่ละคนด้วย
เพราะฉะนั้นคนที่กินอาหารทุกคนที่อาจจะไม่มีความรู้เรื่ององค์ประกอบของอาหารเลย
ก็ย่อมสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ว่า
อาหารนั้นอร่อยถูกปากตนเองมากน้อยแค่ไหน และแน่นอนว่าคนกินแต่ละคนรสนิยมไม่ตรงกัน
เพราะฉะนั้นอาหารที่อร่อยสุดๆสำหรับคนกิน A ก็อาจจะเป็นอาหารที่เปรี้ยวไปหน่อยสำหรับคนกิน
B และเป็นอาหารที่เค็มน้อยเกินไปสำหรับคนกิน C อะไรทำนองนี้ คือทุกคนที่กินอาหารจานนั้นมีสิทธิแสดงความเห็นว่า
ตนเองรู้สึกว่าอาหารจานนั้นอร่อยถูกปากตนเองหรือไม่
หรือชอบอะไรไม่ชอบอะไรในอาหารจานนั้น แต่อาจจะมีคนกินเพียงแค่ไม่กี่คนที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องว่า
อาหารจานนั้นมีสารอาหารอะไรบ้าง และมีพลังงานอยู่กี่กิโลแคลอรี่
เพราะฉะนั้นพี่จึงไม่อ่านงานวิจารณ์ของ “นักวิจารณ์มืออาชีพ” บางคน
หรือ “นักวิจารณ์มือรางวัล” บางคน
ที่เขาอาจจะเขียนวิเคราะห์หนังแต่ละเรื่องได้อย่างถูกต้องมากๆว่า หนังมันมีองค์ประกอบอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ถ้าหากนักวิจารณ์คนนั้นมี “รสนิยมที่ตรงข้ามกับเราเป็นส่วนใหญ่”
เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ถึงเขาจะวิเคราะห์หนังได้ดีเพียงไหน
แต่ถ้าหากเขาเกลียด “ใบกะเพรากับถั่วฝักยาว” แต่พี่ชอบและมีความสุขสุดๆกับการกิน “ใบกะเพรากับถั่วฝักยาว”
แล้วพี่จะเสียเวลาอันมีค่าของชีวิตไปนั่งอ่านคนอื่นๆเขียนบรรยายถึงความจงเกลียดจงชังของตนเองที่มีต่อใบกะเพรากับถั่วฝักยาวไปทำไม
เพราะจุดประสงค์ในการดูหนังของพี่ ก็ไม่ใช่การ “หาหนังดีมาดู”
อยู่แล้ว (หรือการหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากิน) แต่เป็นการหา “หนังที่ตัวเองดูแล้วน่าจะมีความสุข”
มาดู (หรืออาหารที่อร่อยถูกปากตัวเองเป็นการส่วนตัวมากิน หรืออาหารที่ปรุงรสเปรี้ยวหวานมันเค็มเผ็ดได้ตรงกับรสนิยมของเราจริงๆ)
อย่างเช่น BAISE-MOI ซึ่งอาจจะไม่ใช่หนังดี แต่เป็นหนังที่พี่ดูแล้วมีความสุขสุดๆ
เพราะฉะนั้นเวลาพี่เลือกอ่านงานเขียนเกี่ยวกับหนัง พี่ก็เลยเลือกว่าคนเขียนเขามีรสนิยมส่วนตัวใกล้เคียงกับเราหรือเปล่าเป็นหลักน่ะ
เพราะคนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกับเรา มันจะช่วยแนะเราได้ว่า
เราควรจะไปหาหนังเรื่องไหนมาดูแล้วมีความสุข
เพราะฉะนั้นในเมื่อพี่ชอบอ่าน “ความรู้สึกส่วนตัว”
ของคนอื่นๆที่มีรสนิยมคล้ายๆพี่ พี่ก็เลยคิดว่าก็น่าจะมีคนบางคนบนโลกนี้ที่ชอบอ่าน
“ความรู้สึกส่วนตัว” ของพี่เองเช่นกัน อย่างน้อยก็ตัวพี่เองนี่แหละ
เพราะพี่ชอบอ่านความรู้สึกของตัวเองในอดีต
พี่ก็เลยเน้นเขียนถึงความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องต่างๆเป็นหลัก
โดยไม่ได้มองว่ามันเป็น “บทวิจารณ์” แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเองในอนาคต
และอาจจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนบางคนที่อาจจะมีรสนิยมคล้ายๆเรา
แต่เวลาพี่บอกว่าพี่ชอบอ่าน “บทวิจารณ์” และ “ความรู้สึกส่วนตัว”
ของคนที่มีรสนิยมคล้ายๆเรา อันนี้ก็ต้องขอบอกก่อนว่า จริงๆแล้วในบรรดานักวิจารณ์/นักเขียนที่พี่ชื่นชอบติดตามอ่านเป็นประจำนี่
พี่ก็มองว่าเขามีรสนิยมตรงกับพี่เพียงแค่ 10% เท่านั้นนะ
คือเหมือนกับว่าถ้าดูหนัง 10 เรื่อง เขากับพี่จะให้ “เกรดความชอบ” ตรงกัน 1 เรื่อง
ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่ามากพอแล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่เราจะหา “ใครสักคน”
ที่ชอบหนังตรงกับเราในระดับ 33% ขึ้นไป และพี่เชื่อว่า
ความเห็นที่แตกต่างกัน และรสนิยมที่แตกต่างกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนรูปประกอบนี้ มาจากบทวิจารณ์ของ Jean-Luc Godard ที่มีต่อหนังเรื่อง
BITTER VICTORY (1957, Nicholas Ray) คือถ้าหากถามเราว่าเราชอบนักวิจารณ์คนไหนมากที่สุดของเมืองนอก
ก็คงจะเป็น Jean-Luc Godard กับ Olaf Moller เพราะฉะนั้นเราก็เลยเลือกรูปประกอบเป็นบทวิจารณ์ของ Jean-Luc
Godard เพราะเราชอบสิ่งที่เขาเขียนมากๆ ที่บอกว่า “There was
theatre (D.W. Griffith), poetry (F. W. Murnau), painting (Roberto Rossellini),
dance (Sergei Eisenstein), music (Jean Renoir). Henceforth, there is cinema.
And the cinema is Nicholas Ray.”
No comments:
Post a Comment