MADAM ANNA, NIPPLES, MACARON, PONYANGKAM, AND BASIC EDUCATION
(2014, Ratchapoom Boonbunchachoke, 41min, A+30)
แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดูแล้วนึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1.ชอบตอนจบมากๆ รู้สึกว่าตอนจบมันเสียดสีในประเด็นที่ตรงใจเรามากๆ
2.มีฉากที่ชอบมากหลายฉากในหนังเรื่องนี้
ฉากแรกก็คือฉากที่แหม่มแอนนาวางแก้วน้ำไว้ แล้วน้ำในแก้วก็ค่อยๆหายไปจนหมด
โดยทับทิมบอกว่า “ผีบ้านผีเรือน” ที่อยู่ในบ้านนี้มานานมากแล้วและมักจะกินเครื่องเซ่น
เป็นผู้ที่มาเอาน้ำในแก้วไป
แล้วแหม่มแอนนาก็ประหลาดใจที่ประเทศนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือนอยู่
เราไม่รู้เหมือนกันว่าฉากนี้มีความหมายอะไร แต่สาเหตุที่ทำให้เราชอบฉากนี้มากๆ
เพราะมันทำให้เรานึกถึง “เงินภาษีของประชาชนไทยที่อยู่ดีๆก็ถูกสูบหายไป”
3.ประเด็นอื่นๆในหนังก็ชอบมาก แต่ก่อนอื่นเราขอบอกว่าเราเข้าใจหนังเรื่องนี้แค่เพียงผิวเผินเท่านั้นนะ
เราเข้าใจแต่เฉพาะประเด็นที่ตัวละครพูดออกมาเท่านั้น
ส่วนประเด็นอื่นๆที่อาจจะมีซ่อนอยู่ลึกซึ้งกว่านั้นเป็นสิ่งที่เราอาจจะยังขบคิดไม่ออกจ้ะ
หนึ่งในประเด็นที่ชอบมากก็คือการที่แหม่มแอนนา ซึ่งเป็นตัวแทนของความศิวิไลซ์และเป็นตัวแทนของ
“การช่วยเหลือคนอื่นเพราะมองว่าคนอื่นต่ำต้อยด้อยกว่าและช่างโง่เง่า” นั้น
ไม่ได้เป็นชาว Caucasian แล้วในปัจจุบัน
แต่กลับมีสภาพเหมือนสาวฐานะดีเชื้อสายไทย/จีนที่ได้ไปเรียนต่อเมืองนอกมา แหม่มแอนนาในเรื่องนี้มองว่าชาวบ้านเป็นพวกที่ช่างด้อยการศึกษาและควรได้รับการแปลงโฉมเสียใหม่
เธอคิดว่าสิ่งที่เธอทำคือการทำดีอย่างหนึ่ง แต่ไปๆมาๆ
เธอกลับพบว่าเธอไม่ต้องการให้ชาวบ้านพวกนั้นได้เผยอหน้าขึ้นมาทัดเทียมกับเธอ เธอยินดีที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน
ก็ต่อเมื่อชาวบ้านอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าเธอเท่านั้น เธอต้องการจะช่วยชาวบ้าน
และต้องการจะรักษาสถานะของตัวเองให้สูงส่งกว่าชาวบ้านไว้ต่อไป
การที่แหม่มแอนนาในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นฝรั่ง แต่มีสภาพเหมือน “สาวไทย/จีนฐานะดี”
จึงทำให้เรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้สามารถสะท้อนทั้งประวัติศาสตร์ในอดีตและสถานการณ์ในปัจจุบัน
และสะท้อนทั้งประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทยไปด้วยในขณะเดียวกัน การที่ตัวละครเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า
“แหม่มแอนนา” ทำให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์ไทย
และการที่ตัวละครเรื่องนี้พูดถึงอาณานิคมในอินเดีย, แอฟริกา และพวกอินเดียนแดง
ทำให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์โลก
แต่การที่ตัวละครแหม่มแอนนาในเรื่องนี้มีสภาพเป็นสาวไทย/จีนฐานะดี
ทำให้เรานึกถึงลักษณะบางอย่างในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน
4.หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นเรื่องการปลูกฝังความเชื่อและวัฒนธรรมด้วย
โดยเฉพาะเรื่องความลักลั่นในการรับความเจริญทางวัตถุจากต่างประเทศ
แต่ไม่ยอมรับแนวคิดที่ดีๆจากต่างประเทศมาใช้ด้วย เพราะแนวคิดเหล่านั้นมันจะเป็นการทำลายฐานอำนาจของกลุ่มผู้ทรงอิทธิพล
5.ชอบการเสียดสีความเป็นไทยและความรักชาติในหนังเรื่องนี้มากๆ
โดยเฉพาะการเสียดสีด้วยการเจาะลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ อย่างเช่นเรื่องที่ว่ามะละกอก็ไม่ใช่พืชท้องถิ่นของไทย
เพราะฉะนั้นส้มตำมันเป็นอาหารไทยแท้จริงหรือ อะไรกันแน่คือความเป็นไทย (และมันทำให้เรานึกถึงเรื่องที่ว่าศาสนาพุทธจริงๆแล้วก็เป็นของต่างชาติ
เพราะเป็นสิ่งที่มาจากอินเดีย) ความเป็นไทยมันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หรือมันเป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มอุปโลกน์ขึ้นมากันแน่
บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจบางกลุ่มอุปโลกน์ขึ้นมา
แล้วก็สั่งสอนให้ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อตามๆกันไป
6.เนื่องจากเราชอบเปรียบเทียบ
เราก็เลยขอนำหนังของอุ้ย Ratchapoom ไปเปรียบเทียบกับผู้กำกับคนอื่นๆดังต่อไปนี้
6.1 เราว่าหนังของอุ้ยมีบางอย่างที่ทำให้นึกถึงหนังของ Alexander Kluge ในแง่ที่ว่า
มันเป็นหนัง narrative ที่มีความเป็นหนัง essay ผสมอยู่ด้วย แต่สิ่งที่ตรงข้ามกันก็คือว่า ตัวละครนางเอกในหนังของอุ้ย 2
เรื่องหลัง ซึ่งได้แก่เรื่องแหม่มแอนนา และมะนีจันเปล่งเสียงไม่ได้ในทวิภูมิทางภาษาของคุณ
เป็นตัวละครที่สมควรถูกตบด้วยตีน เพราะพวกเธอเป็นสาวฐานะดีที่ดัดจริต
ทำเป็นอยากช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย, ชนชั้นล่าง
แต่ใจจริงแล้วพวกมึงก็ดูถูกเหยียดหยามเขาอยู่ในใจ อีห่า กูอยากจะตบอีคนพวกนี้มากๆ
ส่วนในหนังของ Alexander Kluge นั้น
ตัวละครนางเอกจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้น่าโดนตบแบบนี้
แต่ตัวละครนางเอกมักจะเป็นสาวหัวแข็งที่มีความขบถต่อสังคมในแบบของตนเอง
คือเรานึกถึงนางเอกในหนังอย่าง YESTERDAY GIRL (1966), ARTISTS AT THE TOP
OF THE BIG TOP: DISORIENTATED (1968), OCCASIONAL WORK OF A FEMALE SLAVE (1973) และ THE PATRIOT WOMAN (1979) น่ะ
6.2 การที่หนังของอุ้ยมีตัวละครมาถกเถียงกันด้วยประเด็นที่มีเนื้อหาสาระ
มันทำให้เรานึกถึงหนังยุคแรกๆของ Prap Boonpan โดยเฉพาะเรื่อง
“ทวิภพในเอกภพ”, “หนังผี: 16 ปีแห่งความหลัง” (2006) และ “ความลักลั่นในงานรื่นเริง”
(2007) และเราก็ชอบหนังแบบนี้มากๆ
เนื่องจากปัจจุบันนี้คุณ Prap Boonpan ดูเหมือนจะไม่ได้ทำหนังในสไตล์แบบเดิมอีกแล้ว
เราก็เลยดีใจมากที่อุ้ยทำหนังแบบนี้อยู่
เพราะเราพบว่ามีผู้กำกับไทยที่ทำหนังสไตล์นี้น้อยมาก
และเราว่าหนังสไตล์นี้มันจะออกมาดีจริงๆได้ยากมาก เพราะผู้กำกับ/คนเขียนบทต้องมีความรู้แน่นจริงๆ
ถึงจะทำให้สิ่งที่ตัวละครพูดมันมีประเด็นที่น่าขบคิดหรือให้ความรู้แก่ผู้ชมได้
แต่หนังของอุ้ยกับหนังของปราปต์ก็มีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ อย่างเช่น
6.2.1 หนังของอุ้ยจะใช้ภาษาทางภาพยนตร์ที่แพรวพราวกว่า
ส่วนหนังของปราปต์จะไม่เน้นเทคนิคทางภาพยนตร์
6.2.2 แต่เราชอบหนังของปราปต์ตรงที่มันมี “ความเคียดแค้น” อยู่ในหนัง
โดยเฉพาะใน LETTERS FROM THE SILENCE และความลักลั่นในงานรื่นเริง
ในขณะที่หนังของอุ้ยจะเป็นหนังที่ปราศจากอารมณ์ความรู้สึกแบบสะเทือนใจ
6.3 ถ้าหากเทียบหนังของอุ้ยกับหนังต่างประเทศแล้ว เราก็จะนึกถึงหนังที่นำเสนอประเด็นต่างๆมากมายต่อคนดูอย่างเช่น
COSMOPOLIS (David Cronenberg,
A+30), หนังของ Alexander Kluge และหนังของ Jean-Luc
Godard แต่หนังของอุ้ยดูง่ายกว่าหนังของ Godard มาก คือเราว่าหนังของอุ้ยทำให้เรานึกถึงหนังประเภท LA CHINOISE
(1967, A+30) ซึ่งเป็นหนังที่ตัวละครถกเถียงประเด็นสำคัญกันอย่างตรงไปตรงมาอยู่น่ะ
ในขณะที่หนังของ Godard ในยุคหลังๆอย่าง SLOW MOTION
(1980), PASSION (1982), FIRST NAME: CARMEN (1983), DETECTIVE (1985) และ KING LEAR (1987) เป็นหนังที่เราดูแล้วชอบสุดๆ
แต่ไม่สามารถจับประเด็นอะไรในหนังได้อีกต่อไป 5555
พอพูดอย่างนี้แล้ว เราก็แอบสงสัยเหมือนกันว่า
ในอนาคตหนังของอุ้ยจะเป็นหนังแบบ Godard หรือเปล่า อุ้ยจะเปลี่ยนจากการทำหนังที่นำเสนอประเด็นอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาแบบในปัจจุบัน
ไปเป็นหนังที่เหวอสุดๆไปเลยแบบ FIRST NAME: CARMEN หรือเปล่า
7.ประเด็นหนึ่งที่เรากับเพื่อนๆถกเถียงกันเมื่อวานนี้ก็คือว่า
อุ้ยควรจะเปลี่ยนสไตล์การทำหนังหรือเปล่า
สำหรับเรา เราขอตอบว่า อุ้ยจะเปลี่ยนหรือไม่ก็เป็นเรื่องของอุ้ยเอง
เปลี่ยนก็ดี ไม่เปลี่ยนก็ดี สิ่งที่สำคัญก็คือว่า ถ้าจะเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนเพื่อความสนุกของตัวเอง
หรือเพื่อท้าทายตัวเอง แต่อย่าเปลี่ยนเพื่อหวังจะเอาใจผู้ชม
สำหรับเรา เราขอบอกว่าเรา happy มากกับการดูหนังสไตล์นี้
เพราะคนที่ทำหนังสไตล์นี้มีน้อยมากทั้งในต่างประเทศและในเมืองไทย
แต่ถ้าหากถามว่าสไตล์หนังของอุ้ยเป็นสไตล์ที่เราชอบที่สุดหรือเปล่า
มันก็อาจจะไม่ใช่นะ เพราะสไตล์หนังแบบที่เราชอบที่สุดอาจจะเป็นสไตล์ของ Teeranit Siangsanoh, Marguerite
Duras, Werner Schroeter อะไรพวกนั้นน่ะ
แต่สิ่งที่แน่ๆก็คือว่า
เราไม่ได้ต้องการให้อุ้ยมาทำหนังสไตล์แบบที่เราชอบที่สุด หรือมาทำหนังสไตล์ของ Teeranit Siangsanoh เราต้องการให้ผู้กำกับแต่ละคนทำหนังสไตล์ที่ตัวเองชอบ
ไม่ใช่ทำหนังสไตล์ที่เราชอบที่สุด คือเวลาที่เราบอกว่าสไตล์หนังของผู้กำกับคนนู้นคนนี้
ไม่เข้าทางเราซะทีเดียว มันเป็นแค่ประโยคบอกเล่าความจริงอย่างนึง มันไม่ใช่การบอกว่า
ผู้กำกับทุกคนควรจะทำหนังสไตล์ Marguerite Duras ไม่งั้นฉันจะไม่ชอบ
ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า
ถ้าหากมีใครถามว่าเราชอบอาหารชาติอะไรมากที่สุด เราก็จะตอบว่าเราชอบอาหารอิตาเลียน
แต่ถ้าหากเราต้องเลือกใช้ชีวิตอยู่ในห้างที่มีร้านอาหาร 10 ร้าน
แล้วเราต้องเลือกระหว่าง
1.ห้างที่มีร้านอาหารอิตาเลียน 10 ร้าน
2.ห้างที่มีร้านอาหารอิตาเลียน 3 ร้าน, ญี่ปุ่น 1 ร้าน, ไทย 1 ร้าน,
เอธิโอเปีย 1 ร้าน, ฟิวชั่น 1 ร้าน, เยอรมัน 1 ร้าน, ฝรั่งเศส 1 ร้าน และเกาหลี 1
ร้าน
เราก็ขอใช้ชีวิตอยู่ในห้างแบบที่สองดีกว่า เพราะถึงแม้เราชอบอาหารอิตาเลียนมากที่สุด
เราก็ไม่ได้อยากกินอาหารอิตาเลียนทุกวัน
ฉันใดก็ฉันนั้น
ถึงแม้สไตล์หนังของอุ้ยอาจจะไม่ใช่สไตล์หนังแบบที่เราชอบมากที่สุด
เพราะมันขาดอารมณ์สะเทือนใจ, เพราะมันเต็มไปด้วยความหมาย ฯลฯ
แต่เราก็ไม่ได้ต้องการให้อุ้ยเปลี่ยนสไตล์หนังของตัวเองเพื่อมาทำหนังในแบบที่เราชอบมากที่สุด
เพราะเราไม่ต้องการร้านอาหารอิตาเลียนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ร้าน สิ่งที่เราต้องการคือร้านอาหารเอธิโอเปีย