Sunday, September 24, 2017

THE REASON

THE REASON (2017, Yingyong Wongtakee, A+30)
แด่เธอผู้เดียว – คนดูหนังที่ไม่มีวันหวนกลับมา

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

SPOILERS ALERT

1.มันคือคู่แฝดโดยไม่ได้ตั้งใจของหนังเรื่อง DIASPORA UTOPIA (2017, Supawit Buaket) จริงๆ เพราะหนังสองเรื่องนี้มีองค์ประกอบที่คล้ายกันในหลายๆจุด แต่หนังสองเรื่องนี้เลือกที่จะเน้นในจุดที่แตกต่างกัน และดีกันไปคนละแบบ

องค์ประกอบที่คล้ายกันในหนังสองเรื่องนี้ก็มีเช่น

1.1 พระเอกทำงานในวงการภาพยนตร์ในกรุงเทพเหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เลยต้องกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัดเหมือนกัน

1.2 พระเอกมีความหล่อน่ารักแบบบ้านๆ แบบไทยๆผิวคล้ำหน่อยๆเหมือนกัน ชอบมากเลยทั้งสองเรื่อง ฮิฮิ

1.3 พระเอกกลับมาเจอกับแก๊งเพื่อนเก่าเหมือนกัน แต่ DIASPORA UTOPIA จะให้ความสำคัญกับแก๊งเพื่อนเก่าค่อนข้างมาก เพราะ DIASPORA UTOPIA ต้องการนำเสนอ “ปัญหาสังคม” ผ่านทางบทสนทนาของแก๊งเพื่อนเก่านี้ ในขณะที่ THE REASON ไม่ได้มีประเด็นปัญหาสังคม เพราะฉะนั้นแก๊งเพื่อนเก่าในหนังเรื่องนี้ก็เลยทำหน้าที่เป็นแค่ตัวประกอบธรรมดาๆ

1.4 พระเอกกลับมาเจอกับ “สาวที่ตัวเองแอบชอบ” เหมือนกัน ซึ่งเป็นสาวที่มีฐานะดีกว่าพระเอกเหมือนกัน และพระเอกกับนางเอกได้ใช้เวลาช่วงสั้นๆอยู่ด้วยกันเหมือนกัน

1.5 มีโรงหนังร้างในหนังทั้งสองเรื่องเหมือนกัน แต่โรงหนังร้างใน DIASPORA UTOPIA มีฐานะเป็นเพียงแค่ “ฉาก surreal” ในขณะที่โรงหนังร้างใน THE REASON กลายเป็นประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้

1.6 มีการพูดถึงหรือนำเสนอของดีท้องถิ่นเหมือนกัน โดย DIASPORA UTOPIA เหมือนจะนำเสนอฉากวิวทิวทัศน์ที่งดงามมากๆในจังหวัดกระบี่ ส่วน THE REASON มีการนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ DIASPORA UTOPIA จะให้ความสำคัญกับ landscape อย่างรุนแรงมาก ในขณะที่ THE REASON จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับ landscape มากนัก

2.เราว่าข้อดีของหนังสองเรื่องนี้แตกต่างกัน เพราะหนังทั้งสองเรื่องมันเน้นย้ำจุดที่แตกต่างกันนี่แหละ ข้อดีของ DIASPORA UTOPIA ก็คือ หนังมันให้ความสำคัญกับ “พื้นที่” มากๆ และมีการพูดถึงปัญหาสังคมในท้องถิ่น ส่วนข้อดีของ THE REASON ก็คือว่ามันพูดถึงการล่มสลายของธุรกิจโรงหนัง standalone และนำมันมาโยงกับความเจ็บปวดจากความไม่สมหวังในรักของตัวพระเอกได้ดีมากๆ

3.คือเราว่าจุดที่ดีที่สุดของ THE REASON คือการเลือกจบของหนังน่ะ คือระหว่างที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราจะนึกถึงหนังสองเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือ DIASPORA UTOPIA กับหนังที่คุณยิ่งยงนำแสดง ซึ่งก็คือเรื่อง THE YOUNG MAN WHO CAME FROM THE CHEE RIVER (2015, Wichanon Somumjarn) ที่เป็นเรื่องของ “การปรับตัวของพระเอกให้เข้ากับชีวิตในต่างจังหวัด” เหมือนกัน แล้วเราจะรู้สึกว่า THE REASON มันสู้ DIASPORA UTOPIA กับ THE YOUNG MAN WHO CAME FROM THE CHEE RIVER ไม่ได้ในแง่ความ cinematic น่ะ คือจริงๆแล้วเราก็ชอบวิธีการถ่ายในบางฉากของ THE REASON นะ แต่เรารู้สึกว่า DIASPORA UTOPIA กับหนังของวิชชานนท์ มันคิดซีนออกมาได้ cinematic กว่า หรือทรงพลังกว่า, บทสนทนาเปรี้ยงกว่า หรือมีความบาดอารมณ์กว่า

แต่พอดู THE REASON ถึงตอนจบ ความชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ก็พุ่งพรวดขึ้นมาในทันที เหมือนตอนจบมันโยงความเศร้าของพระเอกกับความเศร้าของโรงหนัง standalone เข้าด้วยกันได้ แล้วมันส่งต่อความเศร้านี้มาถึงคนดูได้ด้วย มันจี๊ดมากๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลยบอกได้ว่าหนังเรื่องนี้กับ DIASPORA UTOPIA มันดีกันไปคนละแบบ คือ DIASPORA UTOPIA มัน cinematic กว่า, มันมีปัญหาสังคม แต่มันขาดความเจ็บปวด ส่วน THE REASON มันมีความ “เจ็บปวด” ที่ส่งต่อมาถึงเราได้ เราก็เลยชอบ THE REASON มากๆ

4.ส่วนวิธีการถ่ายของหนังเรื่องนี้นั้น มันมีฉากที่เราชอบสุดๆสองฉากนะ

4.1 ฉากพระเอกเล่นดนตรีข้างร้าน 7-eleven แล้วกล้องถ่ายจากระยะไกลน่ะ เราว่าฉากนี้มันดูเป็น documentary ดี แล้วเราจะเผลอคิดไปเองว่า คนต่างๆที่เดินไปมาในฉากนี้มันอาจจะเป็นคนจริงๆที่เดินผ่านมาในฉากโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่ไปๆมาๆ กลับกลายเป็นว่า คนที่เราคิดว่าเป็นคนจริงๆ กลับไม่ใช่คนจริงๆ แต่เป็นตัวละครในหนัง เราว่าวิธีการถ่ายฉากนี้มันเนียนมาก และมันหลอกเราได้สนิท
             
4.2 ฉากพระเอกนางเอกเดินคุยกันโดยลากยาว ไม่ตัดเลย เราว่าฉากนี้ถ่ายดีมาก มันเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองดีด้วย แต่น่าเสียดายตรงที่บทสนทนามันดูเหมือนยังไม่พีคแบบสุดขีดน่ะ คือบทสนทนามันเล่าชีวิตของตัวละครสองตัวนี้ได้ดีมากๆแล้ว แต่มันเหมือนยังขาดอารมณ์ซึ้งๆอะไรสักอย่างที่น่าจะใส่เข้าไปได้มากกว่านี้

5.ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ในฉากแรก เราจะนึกว่า “อ๋อ หนังเรื่องนี้ก็เป็นสารคดีเกี่ยวกับโรงหนังเก่าแบบ PHANTOM OF ILLUMINATION (Wattanapume Laisuwanchai) กับ PATTANIRAMA (2016,Suporn Shoosongdej) นั่นแหละ เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากธนบุรีกับปัตตานี มาเป็นเพชรบูรณ์เท่านั้นเอง” แต่พอหนังใส่เรื่องราว fiction เข้ามาด้วย มันก็เลยช่วยสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับ THE REASON ได้ดีมาก และเราว่าวิธีการแบบนี้มัน work ดี คือถ้าหากมันเป็นสารคดีเพียวๆ มันก็อาจจะสู้ PHANTOM OF ILLUMINATION กับ PATTANIRAMA ไม่ได้ แต่พอมันเป็นหนังกึ่งสารคดีกึ่งฟิคชั่นแบบนี้ มันก็เลยสร้างความเป็นตัวของตัวเองได้ดีในระดับนึง



Thursday, September 21, 2017

I, ACTOR

I, ACTOR...เพราะเราเท่ากัน (2017, Siroros M-Athi Surathachaiwat, documentary, A+25)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ชอบประเด็นหรือตัว subject ของหนังมาก ที่เป็นผู้พิการทางสายตาที่เป็นนักแสดงละครเวที เราว่าตัว subject มันน่าสนใจมากๆเลย เพราะเราไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน คือตัว subject มันมีความพิเศษในตัวมันเองอยู่แล้ว และเราก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆที่มีหนังนำเสนอเรื่องราวของเขาออกมา เพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ว่ามีนักแสดงละครเวทีคนนี้อยู่ และเขามีความคิด, ความรู้สึก, ความต้องการอะไรบ้าง คือหนังเรื่องนี้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ และเป็นกระบอกเสียงของตัว subject ได้ดีมากๆน่ะ

2.แต่ถ้าถามว่า ทำไมถึงไม่ได้ชอบหนังสุดๆในระดับ A+30 มันก็อาจจะเป็นเพราะว่า เรารู้สึกว่าเราต้องการเห็นอะไรมากกว่านี้นะ คืออยากเห็น “ชีวิตประจำวัน” และเรื่องราวของตัว subject ในด้านอื่นๆมากกว่าการเป็นนักแสดงละครเวทีน่ะ คืออยากรู้ว่าครอบครัวเขาเป็นอย่างไร, ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไร มีการบันทึกภาพเขาทำกิจวัตรประจำวันในห้องนอน, เดินตามท้องถนน, พูดคุยกับเพื่อนๆ หรือสัมภาษณ์เพื่อนๆของเขาที่เป็นคนพิการทางสายตาด้วย

คือเรารู้สึกว่าประเด็นในหนังมันแคบไปนิดนึงน่ะ มันเหมือนมองว่า subject คนนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นผู้พิการทางสายตาแต่เป็นนักแสดงละครเวทีด้วย และหนังก็เจาะแค่อันนี้เป็นหลัก คือนำเสนอ “ความพิเศษ” ของเขาเป็นหลัก ซึ่งแค่นั้นมันก็ดีมากพอแล้ว เราก็เลยชอบหนังในระดับเกือบสุดๆ แต่จริงๆแล้ว เราอยากเห็น “ความเป็นคนธรรมดา” ของเขาด้วยน่ะ คือถ้าหนังมีการใส่ซีนที่บ่งบอก “ความเป็นคนธรรมดา” ของเขาเข้ามาด้วยเป็นระยะๆในจังหวะที่เหมาะสม มันอาจจะช่วยให้หนังสมบูรณ์มากขึ้น หรือช่วยหล่อเลี้ยงอารมณ์ในหนังไม่ให้มัน monotone หรือมีจังหวะเดียวมากเกินไป

ตัวอย่างของหนังที่ออกมาในแนวทางนี้ที่เราชอบมากก็คือหนังสารคดีเรื่อง GRAYSCALE (2005, ดำรง หอดำรง, 30min) นะ คือ GRAYSCALE เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาเหมือนกัน แต่ GRAYSCALE จะนำเสนอ “ชีวิตรอบด้าน” ของตัว subject น่ะ ไม่ได้เน้นนำเสนอแค่แง่มุมเดียวของตัว subject และมันก็เลยออกมาทรงพลังและสะเทือนใจมากพอสมควร

ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นรสนิยมส่วนตัวของเราด้วยมั้ง เหมือนเราจะถูกโฉลกหรือชอบอะไรที่มันดูเหมือน “ไม่ตรงประเด็น” แต่มันช่วยสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับตัว subject นั้นโดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจน่ะ คือเรากำลังนึกถึงหนังสารคดีอย่าง TO REACH THE DREAM กว่าจะถึงฝั่งฝัน (2016, Kulyada Jampunyakul) อะไรทำนองนี้ คือ TO REACH THE DREAM เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยที่เป็นสาวสวย คือหนังเรื่องนี้ก็มีส่วนที่เป็น “ข้อบังคับ” ของหนังประเด็นนี้ คือมีฉากที่ติดตามการฝึกซ้อมอย่างหนักของตัว subject แต่ปรากฏว่า ฉากที่เราชอบที่สุดฉากนึงในหนังเรื่องนี้ คือฉากตัว subject ไปเดินเล่นหาของกิน แดกลูกชิ้นปิ้งอะไรทำนองนี้น่ะ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นฉากที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น “นักแบดมินตันทีมชาติไทย” แต่อย่างใดเลย แต่มันกลับเป็นฉากที่ประทับใจเรามากที่สุด การแดกลูกชิ้นปิ้งกลายเป็นอะไรที่น่าจดจำสำหรับเรา มากกว่าการให้ข้อมูลว่า นักแบดมินตันทีมชาติเขาต้องฝึกซ้อมกันอย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้น I, ACTOR ก็เลยเหมือนขาดรสชาติอย่างนึงที่เราชอบเป็นการส่วนตัวไปน่ะ แต่ไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดีหรือมีข้อบกพร่องนะ เราแค่พยายามจะอธิบายว่า เพราะเหตุใดหนังเรื่องนี้ถึงอาจจะไม่เข้าทางเราแบบสุดๆ เท่านั้นเอง


Wednesday, September 20, 2017

PLAYBOY (AND THE GANG OF CHERRY) (2017, Oompon Kitikamara, A+30)

PLAYBOY (AND THE GANG OF CHERRY) (2017, Oompon Kitikamara, A+30)

1.กะแหลดจิ้มหำ กะหล่ำจิ้มหอย กะหล่อยจิ้มแตด จริงๆค่ะ ตายแล้วววววววววววววววววววววววววว คุ้มค่ากับการลางานมาดูหนังเรื่องนี้จริงๆ ขอเสนอชื่อหนังเรื่องนี้ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติเลยค่ะ 555 คือในแง่ aesthetics นี่เราไม่สามารถตัดสินได้นะ ว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ แต่เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันช่วยผลัก “ขอบเขตของหนังไทย” ออกไปในแบบที่เราชอบมากๆ คือรู้สึกว่ามันเป็นนิมิตหมายที่งดงามมากๆที่มีการสร้างหนังไทยแบบนี้ออกมา แล้วมันได้ฉายในโรงปกติน่ะ เราว่ามันเป็นสิ่งที่เมื่อ 20 ปีก่อนเราคงแทบไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า มันจะมีคนสร้างหนังไทยแบบนี้แล้วฉายโรงปกติได้ ก็เมื่อ 20 ปีที่แล้วนี่ หนังอย่าง BUGIS STREET (1995, Yonfan, Singapore) ยังไม่ผ่านเซ็นเซอร์เมืองไทยเลย เพราะฉะนั้นการที่มีหนังไทยแบบนี้ได้ฉายในโรงปกติ มันก็เลยเหมือนเป็นหมุดหมายว่า “เมืองไทยในปี 2017” เป็นอย่างไร และแตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างไรบ้าง

2.เคยเขียนถึงหนังเรื่อง BITTERSWEET CHOCOLATE (2014)  ของผู้กำกับคนเดียวกัน ไว้ในลิงค์ข้างล่างนี้ โดยเราบอกว่า BITTERSWEET CHOCOLATE นั้น เหมือนมี “ศักยภาพ” ที่จะพัฒนาเป็นหนังแบบ Pier Paolo Pasolini ได้ แต่เสียดายที่มันไม่ได้ใช้ศักยภาพนั้น


ปรากฏว่า PLAYBOY (AND THE GANG OF CHERRY) นี่ใช้ศักยภาพความ sadist masochist แบบ Pasolini อย่างเต็มที่เลยค่ะ จัดเต็มมาเลย และนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ

คือจริงๆแล้วเหมือนเจ้าของหนังจะบอกว่า หนังเรื่องนี้ทำขึ้นในแบบหนัง pink film นะ แต่เสียดายที่เราแทบไม่เคยดูหนังแนว pink film เลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราจะนึกไปถึงหนังอาร์ตแนว “เซ็กส์กับความรุนแรง” แทน อย่างเช่น IN THE REALM OF THE SENSES (Nagisa Oshima), SALO OR 120 DAYS OF SODOM (Pier Paolo Pasolini), AN ARIA ON GAZE (Hisayasu Sato), GRADIVA (2006, Alain Robbe-Grillet), STRANGER BY THE LAKE (2013, Alain Guiraudie), THE DOOM GENERATION (Gregg Araki), IRREVERSIBLE (Gaspar Noe), TROUBLE EVERY DAY (Claire Denis), THE BLUE HOUR (Anucha Boonyawatana), FUNERAL PARADE OF ROSES (1969, Toshio Matsumoto), FRUITS OF PASSION (1981, Shuji Terayama) อะไรทำนองนี้

หรือไม่ก็หนังคัลท์อย่าง BEAUTIFUL MYSTERY (Genji Nakamura), PINK NARCISSUS (1971, James Bidgood) และหนังที่กำกับโดย Takashi Miike, Alwa Ritsila, Jean Rollins และ Jesus Franco

คือเราชอบมากที่มีการผลิตหนังไทยที่ให้กลิ่นอายแบบหนังของผู้กำกับข้างต้นออกมาน่ะ แต่ไม่ได้จะบอกว่าหนังเรื่องนี้เทียบชั้นได้กับหนังของ Hisayasu Sato หรือ Pasolini นะ เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะทำตัวเป็น “หนังอาร์ต” อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยไม่มีลักษณะ intellectual และไม่มีวิธีการเล่าเรื่องที่พิศวงพิสดารแบบหนังของ Hisayasu Sato หรือ Alain Robbe-Grillet แต่มันมีการนำเสนอแฟนตาซีแบบ sadist masochist ออกมาในแบบที่น่าสนใจไม่แพ้หนังของ Hisayasu Sato, Alain Robbe-Grillet และ Pasolini คือเราว่าแฟนตาซีทางเพศของมันสามารถเทียบเคียงได้กับหนังอาร์ตของผู้กำกับข้างต้นน่ะ ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีลักษณะ intellectual แบบหนังอาร์ตก็ตาม คือมันต้องการจะทำตัวเป็น pink film น่ะ ซึ่งเราว่าในแง่นึงมันสามารถเทียบเคียงได้กับหนังของ Jean Rollins และ Jesus Franco มากกว่า คือเป็นหนังกึ่งอาร์ตกึ่งอีโรติกที่ไม่เน้นความ intellectual แต่เน้นการสร้าง erotic images ที่งดงามแบบเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

3.ในแง่นึงความรู้สึกชอบอย่างสุดขีดของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ ก็คล้ายกับความรู้สึกชอบอย่างสุดขีดของเราที่มีต่อหนังอย่าง TANK YOU TANK ME TANK US (2017, ปานณิชศา คันธวัฒน์) และ INAUGURATION OF THE PLEASURE DOME (1954, Kenneth Anger) นะ ทั้งๆที่หนังสามเรื่องนี้ไม่เหมือนกันเลย คือ TANK YOU TANK ME TANK US เป็นเรื่องของหญิงสาวที่ไปเที่ยวเล่นในโลกที่ไร้กฎเกณฑ์ และเป็นโลกที่ดูใสสะอาดบริสุทธิ์มากๆ ส่วน INAUGURATION OF THE PLEASURE DOME ก็เป็นหนังเกี่ยวกับงานปาร์ตี้ของคนแต่งตัวแปลกๆ

แต่สิ่งที่หนังสามเรื่องนี้เหมือนกันในสายตาของเราก็คือ หนังสามเรื่องนี้ไม่เน้น “การเล่าเรื่อง” หรือ “เนื้อเรื่อง” และไม่สนหีสนแตดอะไรผู้ชมในวงกว้างแต่อย่างใดน่ะ มันเหมือนกับว่า หนัง 3 เรื่องนี้เน้นการตอบสนอง pleasure ของผู้สร้างหนังเป็นหลัก และสร้าง “โลกสมมุติ” ที่เป็นตัวของตัวเองมากๆๆๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นโลกสมมุติที่ตอบสนอง pleasure ของตัวผู้สร้างหนังอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าหากผู้ชมคนใดจูนติดกับโลกสมมุติที่เป็นตัวของตัวเองอย่างสุดๆแบบนี้ได้ ผู้ชมคนนั้นก็จะ enjoy หรือร่วมเสพ pleasure ในหนังได้อย่างเต็มที่

และเราก็แสวงหาหนังแบบนี้นี่แหละ หนังที่ดูเหมือนไม่แคร์อะไรอีกต่อไป หนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนอง pleasure ของตัวผู้สร้างเอง แต่มันดันตรงกับ pleasure ของเราไปด้วยในระดับนึง


INAUGURATION OF THE PLEASURE DOME เป็นหนึ่งในหนังสั้นที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต, TANK YOU TANK ME TANK US เป็นหนึ่งในหนังสั้นไทยที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้ ส่วน PLAYBOY (AND THE GANG OF CHERRY) อาจจะเป็นหนังที่รุนแรงเกินไปสำหรับรสนิยมของเรา เพราะจริงๆแล้วเราเป็นสาวธัมมะธัมโม อย่างไรก็ดี ถ้าหากเทียบกับหนังฉายโรงของไทยด้วยกันเองแล้ว เราขอยกให้หนังเรื่องนี้เป็น “มรดกของชาติ” ในใจเราค่ะ

Sunday, September 17, 2017

MOTHER! (2017, Darren Aronofsky, A+30)

MOTHER! (2017, Darren Aronofsky, A+30)

SPOILERS ALERT

1.เราไม่รู้หรอกว่าผู้กำกับต้องการจะสื่อถึงอะไรในหนังเรื่องนี้ แต่เราจะจดบันทึกไว้สั้นๆก็แล้วกันว่าตอนดูหนังเรื่องนี้เรานึกถึงอะไรบ้าง โดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นก็ได้

จุดแรกที่เรานึกถึงก็คือตำนานทางศาสนาน่ะ คือมันมีตัวละครพี่น้องสองคนที่ทำให้นึกถึงตำนาน Cain กับ Abel แล้วพอแทนค่าสองตัวนี้เป็น Cain กับ Abel ปุ๊บ เราก็อาจจะแทนค่าตัวละครตัวอื่นๆเป็นตัวละครในตำนานตามไปด้วยได้โดยอัตโนมัติ

พอเราคิดแบบนี้แล้ว เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆน่ะ มันเหมือนกับว่ามันเป็นการเอาตำนานทางศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องแต่งราวขึ้นมาใหม่ สร้างจักรวาลสมมุติขึ้นมาใหม่ โดยตั้งคำถามว่า ถ้าหากผู้สร้างจักรวาลสมมุตินี้มีภรรยา ภรรยาเขาจะรู้สึกอย่างไร ภรรยาของเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าหากผู้สร้างจักรวาลสมมุตินี้เอาบุตรของตนเองไปสังเวยแก่ชาวโลก อะไรทำนองนี้ และหนังยังตั้งคำถามต่อ concept เรื่องความรัก, ความใจบุญสุนทาน และการให้อภัยด้วย คือเหมือนหลายๆศาสนาสอนเรื่องพวกนี้ แบบว่าเราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต้องให้อภัย ต้องรักผองเพื่อนมนุษย์ แล้วเราจะเป็นคนดี แต่หนังเรื่องนี้เหมือนทำให้เราตั้งคำถามว่า แล้วถ้ากูทนไม่ไหวอีกต่อไปที่จะต้องทำตัวเป็นคนดีตามหลักศาสนาล่ะ

การเอาตำนานเก่ามาเป็นแรงบันดาลใจและดัดแปลงใหม่จนแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมากแบบนี้ ทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆอีกสองเรื่องน่ะ ซึ่งก็คือ THE GARDEN (1990, Derek Jarman, UK) ที่เอาตำนานทางศาสนามาดัดแปลงใหม่ให้กลายเป็นเรื่องของเกย์ไปเลย และหนังเรื่อง BEGOTTEN (1990, E. Elias Merhige) ที่เป็นการสร้างตำนานการกำเนิดเทพเจ้าในแบบคล้ายๆหนังสยองขวัญ ซึ่งเราว่า THE GARDEN และ BEGOTTEN นี่พิศวงกว่า MOTHER! หลายเท่า 555 คือ MOTHER! นี่ยังดูรู้เรื่องกว่าเยอะนะ คือดูแล้วยังพอรู้ว่าใครทำอะไรที่ไหน หรือเกิดอะไรขึ้นในฉากนั้น เพียงแต่อาจจะไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง หรือไม่แน่ใจว่ามันจะสื่อถึงอะไรกันแน่ ในขณะที่ THE GARDEN กับ BEGOTTEN นี่อาจจะงงในหลายๆฉากว่า “มันเกิดอะไรขึ้น”  ด้วยซ้ำไป คือไม่ต้องถามแล้วว่าฉากนั้นมันสื่อถึงอะไร เพราะดูแล้วอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันเกิดอะไรขึ้นในฉากนั้น 555 โดยในบรรดาหนังสามเรื่องนี้ เราชอบ THE GARDEN มากที่สุด, ชอบ BEGOTTEN มากเป็นอันดับสอง และชอบ MOTHER! มากเป็นอันดับสาม

เราชอบ “การดัดแปลงให้แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก” แบบนี้นี่แหละ ดูแล้วทำให้นึกถึงหนังเรื่อง DOGMA (1999, Kevin Smith), GENESIS (1999, Cheik Oumar Sissoko, Mali), THE KINGDOM OF SHADOWS (2016, Daniel Fawcett, Clara Pais), PORTRAIT OF THE UNIVERSE (2012, Napat Treepalavisetkul) ด้วย เพราะหนังกลุ่มนี้ก็เหมือนได้รับแรงบันดาลใจจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางศาสนาหรือตำนานโบราณเหมือนกัน แต่หนังพวกนี้ไม่ได้เอาตำนานโบราณมาเล่าตรงๆ เพียงแต่เอาแรงบันดาลใจจากตำนานโบราณมาใช้ในการเสกสรรค์ปั้นแต่งเนื้อเรื่องของตนเองขึ้นมาใหม่ในแบบที่แทบไม่เหลือเค้าเดิมเลย

คืออย่างตอนดู THE KINGDOM OF SHADOWS เราก็จะจับได้ว่า มันมีฉากที่เป็น Cain กับ Abel และมีฉากที่เป็น Adam กับ Eve เหมือนกัน แต่เราก็เข้าใจหนังแค่ 10% อยู่ดี 555 แต่ก็ชอบ THE KINGDOM OF SHADOWS อย่างสุดๆนะ เพราะมันให้ความรู้สึกที่พิศวงและงดงามมากๆ

ดู PORTRAIT OF THE UNIVERSE ได้ที่นี่

2.ชอบฉากอลหม่านช่วงองก์สุดท้ายของ MOTHER! มากๆ มันฮามากๆ มันเหมือนเป็นการนำเสนอ “ความเป็นไปของโลกมนุษย์” ในแบบที่ออกมาฮาดีน่ะ

คือจริงๆแล้วเราว่า ความวินาศสันตะโรของฉากนี้ มันสามารถนำเสนอออกมาในโทนที่เคร่งขรึมจริงจัง และหดหู่สุดๆแบบช่วงองก์สุดท้ายของ WERCKMEISTER HARMONIES (2000, Bela Tarr) ได้นะ แต่ดาร์เรนไม่เลือกโทนแบบนั้น แต่เลือกนำเสนอออกมาในโทนไม่จริงจังแทน คือโทนอารมณ์ของฉากนี้ใน MOTHER! มันเป็นเซอร์เรียลไปเลยน่ะ ดูแล้วรู้เลยว่ามันไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกต่อไป และเราไม่รู้สึกว่าตัวละครหลักมันเป็นมนุษย์อีกต่อไปแล้วน่ะ คือตัวละครหลักมันไม่ใช่มนุษย์แล้วในช่วงท้ายเรื่อง ส่วนตัวละครที่เป็นมนุษย์ก็ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามรังเกียจ (เหล่าผู้คนต่างๆที่เข้ามาในบ้าน) เราเลยรู้สึกว่าช่วงท้ายของหนังมันฮาสุดๆ ในขณะที่ความวินาศสันตะโรในช่วงท้ายของ WERCKMEISTER HARMONIES มัน
ดูแล้วหดหู่มากๆ เพราะ WERCKMEISTER HARMONIES ทำให้เรารู้สึกว่า พวกเราเป็น “มนุษย์ตัวน้อยๆที่อาศัยอยู่ในจักรวาลที่ปกครองด้วยเจ้าจักรวาลที่เย็นชาและใจร้าย” ในขณะที่ MOTHER! ทำให้เรารู้สึกว่า พวกเราเป็น “มนุษย์ผู้ชั่วร้ายที่อาศัยอยู่ในจักรวาลที่ปกครองด้วยเจ้าจักรวาลที่ใจดีเกินไป” เพราะฉะนั้นถึงแม้ช่วงท้ายของ MOTHER! จะทำให้เรานึกถึง WERCKMEISTER HARMONIES ในแง่ความวินาศสันตะโร อารมณ์ของสองฉากนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะอารมณ์ของ MOTHER! มันฮามากสำหรับเรา ส่วนอารมณ์ของ WERCKMEISTER HARMONIES มันหดหู่มาก และแน่นอนว่าเราชอบ WERCKMEISTER HARMONIES มากกว่า MOTHER!

3.ตอนดูช่วงแรกๆเรานึกว่า MOTHER! จะพูดถึงปัญหาเรื่องผู้อพยพแบบหนังเรื่อง HOSPITALITE (2010, Koji Fukada, A+30) นะ แต่ดูไปดูมาแล้วไม่ใช่ 555 และจริงๆแล้วหนังสองเรื่องนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะ HOSPITALITE เหมือนจะทำให้เรารักเพื่อนมนุษย์ แต่ MOTHER! เหมือนเป็นหนังที่เกลียดชังมนุษย์

4.ชอบอารมณ์เครียดๆของนางเอกด้วย เราว่าความเครียดช่วงแรกๆทำให้นึกถึงหนังอย่าง REPULSION (1965, Roman Polanski) เลยน่ะ


สรุปว่า ชอบ MOTHER! มากๆในแง่ที่ว่า มันตอกย้ำ “ความเกลียดชังมนุษย์” ในใจเรา 555, มันทำให้เราตั้งคำถามต่อคำสอนทางศาสนา, มันทำให้เรานึกถึงตำนานการสร้างจักรวาลแบบแปลกๆ, และมันทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆอีกสามเรื่อง ซึ่งก็คือ THE GARDEN, BEGOTTEN และ WERCKMEISTER HARMONIES ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วเราจะชอบ MOTHER! น้อยกว่าหนังสามเรื่องนี้ก็ตาม

Sunday, September 10, 2017

COMMON SENSE (2017, Chanon Santinatornkul, 22min, A+30)

COMMON SENSE (2017, Chanon Santinatornkul, 22min, A+30)

1.หนึ่งใน genre หนังสั้นไทยที่เราชอบสุดๆ ก็คือหนังกลุ่ม TWILIGHT ZONE แบบหนังเริ่องนี้นั่นแหละ โดยหนังในกลุ่มนี้รวมถึง TWIN SHADOW (2012, Amornsak Chatratin), THE ROOM (2011, Pesang Sangsuwan), CRYSTALLIZATION TIME (2011, Krissada Phongphaew), เส้นทางวงกลม (2012, Raksak Janpisu), THE DREAM (2016, Chonlathee Suanraksa), POLAROID (2016, Nattasun Nudsataporn), SMILE AGAIN (2015, Bua Kamdee), TIME OUT OF MIND (2016, สิทธิวัชร์ ทิพย์ธนโอฬาร), THE FANCIFULNESS OF THE UNIVERSE (2010, Krit Twinwawit) และหนังของ Janenarong Sirimaha หนังกลุ่มนี้เป็นหนังกึ่งไซไฟ กึ่งแฟนตาซี และเราชอบหนังสั้นไทยกลุ่มนี้อย่างสุดๆ เพราะเราชอบรายการทีวี TWILIGHT ZONE มากๆ

2. หนังเรื่องนี้เหมือนเอาไอเดียจาก THE PHANTOM OF LIBERTY (1974, Luis Bunuel) มาดัดแปลง และเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะเราชอบ THE PHANTOM OF LIBERTY มากๆ และมันก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราชอบพูดในตอนนี้ว่า ประเทศไทยในตอนนี้ไร้เหตุผลยิ่งกว่าหนังของบุนเยลซะอีก

แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนสังคมไทยนะ หนังแค่ตั้งคำถามเรื่อง สามัญสำนึก หรือความเชื่อพื้นฐานของมนุษย์ ว่าบางอันมันสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือว่าบางอันมันเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังให้เชื่อตามๆกันมาโดยไม่มีเหตุผล หรือเป็นเพียงแค่มายาคติ

สิ่งที่ทำให้นึกถึง THE PHANTOM OF LIBERTY ก็มีเช่น

2.1 ใน PHANTOM นั้น การกินข้าวเป็นเรื่องน่าละอาย ส่วนการอุจจาระเป็นเรื่องไม่น่าอาย ส่วนในหนังเรื่องนี้นั้น การกินข้าวเป็นเรื่องน่าอาย แต่การร่วมรักถือเป็นเรื่องปกติและสิ่งดีงาม ซึ่งเราเห็นด้วยกับประเด็นเรื่องการร่วมรักมากๆ

2.2 ใน PHANTOM นั้น รูปอุจาดไม่ใช่รูปโป๊ แต่เป็นรูปอาคารบ้านเรือน ส่วนในหนังเรื่องนี้นั้น คลิปอุจาดคือคลิปกินข้าว

2.3 ใน PHANTOM นั้น serial killer ไม่ได้รับการลงโทษ ส่วนในหนังเรื่องนี้ การฆ่าคนตายถือเป็นเรื่องปกติ

3. แต่โลกในหนังเรื่องนี้ก็มีความไม่สมเหตุสมผลในมุมมองของเราเองอยู่บ้างนะ เพราะโลกในหนังเรื่องนี้ สนับสนุนการร่วมรัก เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่โลกในหนังเรื่องนี้ สนับสนุนการฆ่าคนตาย เพื่อช่วยลดจำนวนประชากร (สรุปว่าโลกนี้ต้องการเพิ่มหรือลดจำนวนประชากรกันแน่) นอกจากนี้ ตัวละครในหนังเรื่องนี้ยังฆ่าคนตาย เพราะสามีนอกใจ ซึ่งเราว่าถ้าหากโลกนี้มันสนับสนุนการร่วมรักจริงๆ โลกนี้มันก็ควรจะสนับสนุน polygamy ด้วยหรือเปล่า เพราะ polygamy น่าจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรได้ดีกว่า monogamy

แต่ความไม่สมเหตุสมผลของโลกในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นข้อเสียใหญ่ในสายตาของเรานะ เพราะโลกในหนังเรื่องนี้มันเป็นโลกที่ common sense บิดเบี้ยวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่โลกในหนังเรื่องนี้ยึดถือความเชื่อที่ขัดแย้งกันเอง ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลในแง่นึงก็ได้ และจริงๆแล้วมันก็ไม่ต่างจากโลกของเราเองด้วย เพราะในโลกของเรานั้น ปัญหาทรัพยากรขาดแคลน, ปัญหาโลกร้อนก็รุนแรงอยู่แล้ว แต่บางประเทศก็ดูเหมือนจะยังมองว่าอัตราการเกิดที่ระดับต่ำถือเป็นปัญหาอยู่

4.อยากให้หนังเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาเป็นหนังยาวมากๆ คือมันสามารถพัฒนาออกมาได้เป็นสองแบบ

4.1 ออกมาแบบ THE PHANTOM OF LIBERTY ที่เน้นสังคมไทย โดยนำเสนอความไร้ตรรกะเหตุผลในสังคมไทยช่วงนี้ ทั้งเรื่องไผ่ ดาวดิน, ชัยภูมิ ป่าแส และความขัดกับหลักเหตุผลและสามัญสำนึกต่างๆของระบอบการปกครอง, กฎหมายไทย และคำตัดสินของศาลไทย

หนังในแนวทางนี้เราจะนึกถึง THE JOO (2016, Sattha Saengthon) ซึ่งไม่ใช่หนังแนว TWILIGHT ZONE นะ แต่เป็นหนังที่นำเสนอความไร้เหตุผลของสังคมไทยได้ดีมากๆ

4.2 ออกมาเป็นหนังที่เน้นการถกเถียงกันถึง ethics dilemma ในเรื่องต่างๆ อย่างเช่นประเด็นเรื่องการร่วมรักที่ตัวละครคุยกันในหนังเรื่องนี้ เราว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ และจริงๆแล้วมันสามารถนำไปพัฒนาเป็นหนังยาวที่มีฉากตัวละครมากมายร่วมรักกันในสถานที่สาธารณะ และมีฉากที่ตัวละครถกเถียงกันเรื่องการฆ่าตัวตาย, การุณยฆาต, การพนัน, over political correctness, มารยาทในการพูดสำคัญมากน้อยเพียงใด, การช่วยเหลือผู้อพยพ, การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้ความรุนแรง หรือประเด็นอะไรต่างๆได้อีกมากมายเลยด้วย

แต่ถ้าหากจะทำหนังยาวในแนวทางนี้ ผู้สร้างหนังต้องให้ “อาจารย์สอนปรัชญา” และ “นักวิชาการ” มาเป็นที่ปรึกษาในการเขียนบทด้วยนะ แล้ว arguments ต่างๆที่ตัวละครถกเถียงกันมันจะได้ฟังแล้วน่าสนใจจริงๆ เพราะถ้าหากผู้สร้างหนังไม่มีความรู้ทางปรัชญามากพอ แล้วสร้างหนังที่ต้องการพูดถึง ethics dilemma, common sense และมายาคติแบบนี้ บางทีตัวละครมันจะนำเสนอ arguments ที่อ่อนเกินไป แล้วหนังมันอาจจะออกมาโง่ตามตัวละครได้

หนังที่เราชอบสุดๆในแนวทางนี้ก็มีเช่น TIME (2010, Suppasit Sretprasert) เราว่าหนังอย่าง TIME นำเสนอ ethics dilemma ได้น่าสนใจดี

สรุปว่าอยากเห็น COMMON SENSE ได้รับการพัฒนาเป็นหนังยาวอย่างสุดๆ โดยมีอาจารย์สอนปรัชญามาเป็นที่ปรึกษาเขียนบทด้วย




Wednesday, September 06, 2017

14/10/2016 – THE DAY AFTER (2017, Teeraphan Ngowjeenanan, documentary, 127min, A+30)

14/10/2016 – THE DAY AFTER (2017, Teeraphan Ngowjeenanan, documentary, 127min, A+30)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเวลาและสถานที่นั้นๆมากๆ เพราะฉะนั้นจุด focus ของมันจะแตกต่างจาก “สวรรคาลัย” (2017, Abhichon Rattanabhayon, A+30) เพราะสวรรคาลัยทำให้เรา focus ไปที่ปฏิกิริยาของผู้คนในสถานที่นั้นๆ เหมือนกับว่า “ดวงตา” และ “หู” ของเราอยู่ในสถานที่นั้นๆ แต่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่า “ร่างกาย” ของเราอยู่ในสถานที่นั้นๆด้วย ในขณะที่ 14/10/2016 – THE DAY AFTER ทำให้เรารู้สึกว่าร่างกายของเราอยู่ในสถานที่นั้นๆด้วย

ในแง่หนึ่งมันก็เลยทำให้นึกถึง THE MOST BEAUTIFUL TIME (2014, Teeraphan Ngowjeenanan, 30min, A+30) เพราะเรารู้สึกว่า THE MOST BEAUTIFUL TIME มันก็เป็นภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทางร่างกายเหมือนกัน มันเหมือนกับว่าร่างกายของเรารู้สึกได้ถึงความทรมานจากรถติดในขณะดู THE MOST BEAUTIFUL TIME ด้วย คือในขณะที่หนังสารคดีทั่วไปอาจจะทำให้เรารู้สึกเหมือนตาและหูของเราอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกับคนถ่าย แต่หนังทั้งสองเรื่องของ Teeraphan Ngowjeenanan ก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อ “ร่างกาย” ของเราด้วย ไม่ใช่แค่เพียงประสาทตาและประสาทหูแบบหนังสารคดีทั่วไป

สรุปได้ว่า การดู 14/10/2016 – THE DAY AFTER เป็น “physical experience” ที่รุนแรงมากสำหรับเรา และเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในหนังทั่วไป หนังเรื่องนี้ติดอันดับประจำปีของเราแน่นอนค่ะ

THE LAST THING (ETC) ON NEW YEAR’S EVE (2017, Bowornlak Somroob, 20min, A+30)
เรื่องสุดท้าย (ฯลฯ) ในวันสิ้นปี    

1.นี่แหละ หนังแบบที่กูต้องการจากเทศกาลหนังสั้นมาราธอน 555 มันคือหนังแบบที่ไม่ต้องสนใจคุณค่าทางโปรดักชั่นหรือความลงตัวทาง aesthetics อะไรมากนัก แต่มันเป็นหนังแบบที่ดูจบแล้วต้องอุทานว่า “มันเป็นไปได้อย่างไร” “แต่มันก็เป็นไปแล้ว” “มันมีคนสร้างหนังไทยแบบนี้ขึ้นมาแล้วจริงๆ” 555 คือเราถูกโฉลกกับหนังแบบนี้อย่างสุดๆน่ะ และมันเป็นหนังประเภทที่ทำให้เรารักเทศกาลหนังสั้นมาราธอนมากๆ นั่นก็คือมันเป็นหนังที่อาจจะมีข้อบกพร่องมากมายอะไรก็ได้ แต่ขอให้มันมีองค์ประกอบอะไรสักอย่างที่พีคสุดๆหรือเข้าทางเราอย่างสุดๆ แค่นั้นก็พอแล้ว เราไม่ได้แสวงหาความงดงามของทุกองค์ประกอบทางสุนทรียะในหนัง เราขอองค์ประกอบที่จั๋งหนับสุดๆสักอย่างสองอย่าง เราก็พอใจแล้ว

2.ในส่วนของหนังเรื่องนี้นั้น สิ่งที่เรากรีดร้องด้วยความชอบใจอย่างสุดๆ ก็คือการตัดจบของมันน่ะ คือมันจบในแบบที่ปมปัญหาอะไรของตัวละครไม่คลี่คลายอะไรเลยทั้งสิ้น ทั้งปมเรื่องพ่อ, ปมเรื่องแม่, ปมที่ว่าใครพูดจริงใครพูดเท็จ, ปมเรื่องสาวเลสเบียนคนรัก และปมปริศนาการหายตัวไปของตัวละครสำคัญตัวหนึ่ง (ลองนึกถึง L’AVVENTURA (1960, Michelangelo Antonioni) ดูสิ) แต่เรารู้สึกว่าการตัดจบแบบนี้มัน “ใช่” ในทางอารมณ์มากๆ คือมันลงตัวทางอารมณ์สุดๆที่ตัดจบแบบนั้นไปเลย โดยที่ทุกปัญหาค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น

3.คือการตัดจบแบบลงตัวทางอารมณ์มันทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังบางเรื่องอย่าง

3.1 หนังประเภทที่ตัดจบเพราะดูเหมือนผู้กำกับถ่ายไม่เสร็จ อย่างเช่น ORANGE JUICE (2017, เขมรุจิ ทีรฆวงศ์) และเรื่องเล่าของนิน (คีตาลักษณ์ โตมานิตย์) คือเราไม่รู้ว่าหนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้ผู้กำกับถ่ายไม่เสร็จจริงหรือเปล่านะ แต่มันให้อารมณ์เหมือนกับถ่ายไม่เสร็จน่ะ

3.2 หนังประเภทที่ผู้กำกับจงใจตัดจบ คือถ่ายเสร็จแล้ว แต่อารมณ์ของคนดูยังค้างเติ่งอยู่ หรือยังไม่ไปไหน อย่างเช่น หนังบางเรื่องของ Seriphab Sutthisri ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ชอบหนังบางเรื่องของคุณ Seriphab อย่างสุดๆนะ เพราะหนังบางเรื่องของเขามันให้อารมณ์จบจริงๆ แต่มันก็มีหนังบางเรื่องของเขาที่จบอย่างงงๆว่า อ้าว จบแล้วเหรอ

4.เราว่าคู่แฝดของหนังเรื่องนี้คือ เราโอเค YEAH I’M FINE (2017, Kingkarn Suwanjinda, A+30) น่ะ เพราะว่า

4.1 เราโอเค YEAH I’M FINE เป็นหนังเกย์ ส่วน “เรื่องสุดท้าย” เป็นหนังเลสเบียน

4.2 แม่ของตัวละครเอกของหนังสองเรื่องนี้ ถูกสามีทอดทิ้งเหมือนกัน  และตัวละครเอกของหนังสองเรื่องนี้ ต้องรับมือกับความชอกช้ำใจของแม่เหมือนกัน

4.3 ตัวละครเอกของหนังสองเรื่องนี้ มีคนรักที่ดูเหมือนจะรักกันดี แต่ก็ดูเหมือนจะมีความไม่ลงตัวบางอย่างทางความสัมพันธ์เหมือนกัน

4.4 หนังทั้งสองเรื่องนี้นำเสนอเพียง “เสี้ยวชีวิตสั้นๆ” ของตัวละครเอกเหมือนกัน เมื่อถึงตอนจบของหนังเรื่องนี้ ตัวละครเอกก็ดูเหมือนไม่สามารถคลี่คลายปัญหาใดๆในชีวิตของตัวเองได้ดีไปกว่าในช่วงเริ่มต้นเรื่อง แต่สิ่งที่ตัวละครเอกของหนังทั้งสองเรื่องทำ ก็คือก้าวเดินในชีวิตต่อไป


5.สรุปว่า เรารักเทศกาลหนังสั้น เพราะหนังแบบนี้นี่แหละ หนังแบบที่เราดูจบแล้วต้องอุทานว่า “มันเป็นไปได้อย่างไร” แต่มันก็มีคนทำหนังแบบนี้ออกมาแล้วจริงๆ ตอนนี้เข้าใจแล้วล่ะว่า ทำไมผู้ชม L’AVVENTURA ในปี 1960 ถึงรู้สึกช็อค 555

Tuesday, September 05, 2017

ARKONG (2016, Anuwat Amnajkasem, documentary, 23min, A+30)

ARKONG (2016, Anuwat Amnajkasem, documentary, 23min, A+30)

1.ชอบการจัดเฟรมภาพหรือการถ่ายภาพในหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ คือเราว่าจริงๆแล้ว “เนื้อหา” ของหนัง หรือ “สิ่งที่ถูกถ่าย” ในหนัง มัน “ธรรมดา” มากๆเลยน่ะ มันเป็นเรื่องการตายของชายชราคนนึง และเราก็แทบไม่ได้รับรู้เรื่องราวอะไรในชีวิตของชายชราคนนี้หรือครอบครัวของเขาเลยด้วย หนังเล่าเรื่องชีวิตของเขาและครอบครัวของเขาน้อยมาก “เนื้อหา” ที่ถือว่า “พิเศษ” หรือ “โดดเด้ง” ในหนังเรื่องนี้มีเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น ที่เป็นการสัมภาษณ์สาวผู้มีญาณทิพย์ ที่พูดถึงอดีตชาติของชายชราคนนี้กับภรรยาของเขา แต่เนื้อหาส่วนอื่นๆของหนัง จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก

อย่างไรก็ดี เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ไม่ใช่เพราะ “สิ่งที่ถูกถ่าย” แต่เป็น “วิธีการถ่าย” ของหนังเรื่องนี้นั่นแหละ เพราะมันสามารถถ่าย “สิ่งธรรมดา” ให้ออกมาทรงพลัง ตรึงตาตรึงใจเราได้ คือเราว่ามันเป็นความสามารถในแนวทางเดียวกับ Marguerite Duras, Chantal Akerman, Rouzbeh Rashidi, Teeranit Siangsanoh, Wachara Kanha และอาจจะเทียบได้กับวิธีการถ่ายสิ่งธรรมดาในหนังของ Chulayarnnon Siriphol เรื่อง SLEEPING BEAUTY (2006) หรือวิธีการถ่าย “สิ่งของในบ้าน” ในหนังของ Chinavorn Nongyao เรื่อง A REAL DREAM (2016) ด้วย

คือเราว่าหลายช็อตในหนังมันโดนเรามากๆน่ะ ทั้งๆที่สิ่งที่เกิดขึ้นในซีนนั้น แทบจะเรียกได้ว่า “ไม่มีอะไรสำคัญเลย”  โดยเฉพาะซีนที่ถ่ายจุดต่างๆในบ้าน (ที่อากงอาจจะเคยนั่ง), ซีนที่ถ่ายถังเผากระดาษหรืออะไรสักอย่าง หรือซีนที่ถ่ายสมาชิกในครอบครัวผลัดกันมาจุดธูปหรือทำอะไรสักอย่างกับรูปอากง คือเราว่าซีนเหล่านี้มันติดตาและมันทรงพลังสำหรับเรามากๆ ทั้งๆที่มันเป็นแค่เก้าอี้, ถังเผาอะไรสักอย่าง และเป็นแค่คนมาจุดธูป คือเราว่ามันเป็นเพราะการวางเฟรมภาพที่เหมาะเหม็ง และเป็นเพราะ gaze ของผู้กำกับ/ตากล้องที่มันตรงกับ wavelength ของเรา และ gaze นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้า gaze ของผู้กำกับตรงกับ wavelength ของผู้ชมคนไหน มันก็จะสามารถเนรมิตให้ “สิ่งที่ธรรมดาสามัญที่สุดในโลก” กลายเป็น “ช็อตหรือซีนที่ทรงพลังสุดๆได้”

ลองนึกถึงซีนต่างๆในหนังเรื่อง HOTEL MONTEREY (1975, Chantal Akerman), DOWN THERE (2006, Chantal Akerman), AGATHA AND THE UNLIMITED READINGS (1981, Marguerite Duras), ZOETROPE (2011, Rouzbeh Rashidi) ดูสิ เราเห็นอะไรในซีนเหล่านี้ เราเห็น “ฝาผนัง” เป็นเวลาประมาณ 5 นาที, เห็น “ผ้าม่าน” เป็นเวลาประมาณ 5 นาที เห็น “หน้าต่าง” เห็น “ประตู” แต่ผู้กำกับเหล่านี้สามารถเนรมิตสิ่งที่ธรรมดาสามัญที่สุดในโลก ให้กลายเป็นช็อตหรือซีนที่ทรงพลังที่สุดในทางภาพยนตร์ได้ด้วยความสามารถพิเศษของพวกเขา และเราก็ดีใจมากที่เราเห็นอะไรแบบนี้อีกในหนังเรื่องนี้

2.เราว่าหนังเรื่องนี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ SLEEPING BEAUTY (Chulayarnnon) และ A REAL DREAM ได้ด้วยแหละ เพราะ SLEEPING BEAUTY ก็เป็นการจับจ้องมองกิจวัตรธรรมดาสามัญของสมาชิกครอบครัวเหมือนกัน แต่ gaze ของผู้กำกับสามารถเนรมิตกิจวัตรธรรมดาสามัญของสมาชิกครอบครัวให้กลายเป็นซีนที่น่าจดจำมากๆได้

ARKONG สร้างความประทับใจให้เราในแบบที่คล้ายๆกับ A REAL DREAM ด้วย เพราะ ARKONG เน้นถ่ายจุดต่างๆในบ้านที่อากงเคยนั่งอยู่ (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) เพื่อสร้างความรู้สึกเศร้าแบบเล็กๆ ในขณะที่ A REAL DREAM ก็เน้นถ่ายจุดต่างๆในบ้านที่แม่ของผู้กำกับเคยนั่ง/ยืน/เดิน/นอน อยู่เหมือนกัน และเราชอบเทคนิคการสร้างความรู้สึกเศร้า/อาลัยอาวรณ์/คิดถึง แบบนี้มากๆ

แต่ ARKONG กับ A REAL DREAM ก็แตกต่างกันอยู่มากนะ เพราะเราดู A REAL DREAM แล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตน่ะ เพราะหนังมันถ่ายทอดความผูกพันระหว่างแม่กับผู้กำกับออกมาได้อย่างรุนแรงมากๆ ส่วน ARKONG ไม่ได้สร้างความเศร้าอย่างรุนแรงแบบนั้น ซึ่งมันก็คงสอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้กำกับกับ subject ของหนังน่ะ และเราก็ชอบที่ ARKONG ไม่ได้พยายามดราม่าเกินจริง หรือพยายามเร้าอารมณ์มากเกินไป และปล่อยให้หนังมีแค่ความเศร้าเล็กๆเจืออยู่ คือเราว่าทั้ง ARKONG และ A REAL DREAM ต่างก็ซื่อตรงต่อ subject ที่ตัวเองถ่ายน่ะ คือผู้กำกับ A REAL DREAM คงรู้สึกเศร้ามากต่อเรื่องแม่ของเขา และเขาก็สามารถถ่ายทอดความเศร้าในตัวเขาออกมาได้อย่างเต็มที่ ส่วนผู้กำกับอากงคงจะรู้สึกเศร้าในระดับนึง และก็ถ่ายทอดมันออกมาในแบบที่ไม่ฟูมฟายเกินจริง

3.ถ้าหากจะถามว่ามีจุดไหนที่รู้สึกดร็อปๆบ้างในหนัง เราก็คงตอบว่า ส่วนที่เป็นภาพถ่ายอากงตอนไปเที่ยว มันไม่ทรงพลังเท่ากับส่วนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวตอนถ่ายสิ่งต่างๆในบ้านน่ะ

แต่ไม่ใช่ว่าส่วนที่เป็นภาพถ่ายมันไม่ดีนะ คือเราว่ามันก็ดี เพียงแต่ว่ามันไม่ทรงพลังเท่ากับส่วนที่เป็น “ภาพเคลื่อนไหว” น่ะ คือเราว่าส่วนที่เป็นภาพถ่ายมันก็ดูเหมือนเป็นภาพการไปเที่ยวของใครสักคนที่เราไม่รู้จัก คือส่วนนี้แหละที่ “สิ่งที่ถูกถ่าย” มันเป็นสิ่งธรรมดา และพอมันมาปรากฏในหนัง มันก็กลายเป็นสิ่งที่พิเศษขึ้นมาเพียงเล็กน้อย

ในขณะที่ซีนที่ถ่ายเก้าอี้หรือถังเผาอะไรสักอย่าง มันเป็นสิ่งธรรมดา ที่พอมันถูกจับจ้องด้วย gaze ที่ถูกต้องแล้ว มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากๆเวลาอยู่ในหนัง

4.สงสัยมากว่า อาม่าเอารูปพระมาวางไว้บนเตียงทำไม :-)


5.ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ แต่เราก็ยอมรับนะว่า มันมีหนังเรื่องอื่นๆบางเรื่องที่ใกล้เคียงกันที่เราชอบมากกว่าเรื่องนี้ เพราะถึงแม้เราจะรู้สึกชอบ gaze และการวางเฟรมภาพของหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงมาก หนังเรื่องนี้ก็ขาดพลังในส่วนของ “เนื้อหา” นี่แหละ เพราะหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอากงและครอบครัวของอากงเลย เพราะฉะนั้นอารมณ์ความรู้สึกที่เราได้รับจากหนังเรื่องนี้ ก็เลยอาจจะไม่รุนแรงมากเท่ากับหนังสารคดีแนว “ครอบครัวของผู้กำกับ” บางเรื่อง ที่มีการเปิดเปลือยชีวิต, ความผิดปกติ, ความขัดแย้ง หรือเรื่องราวดราม่าในครอบครัวของผู้กำกับออกมาด้วย