WE WISH (วันที่ไม่มีเรา) (2014, Surawee
Woraphot, A+30)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้
1.ตายแล้ววววว ฟินมาก ตอบสนอง romantic fantasy ของเราได้ดีในระดับนึงเลยล่ะ
ดูแล้วเกิดอารมณ์เคลิ้มใคร่อย่างรุนแรง 555
ซึ่งการที่หนังมันตอบสนองความต้องการทางเพศของเราได้ดีถึงขนาดนี้
มันเป็นเพราะปัจจัยสำคัญสองอย่าง ซึ่งได้แก่
1.1 การ casting คือเราว่าพระเอกเรื่องนี้น่ารักมากๆๆๆๆๆ คือตัวจริงเขาจะดูหล่อหรือดูน่ารักหรือเปล่า
อันนี้เราไม่รู้นะ แต่เราว่าในหนังเรื่องนี้เขาดูเป๊ะ เหมาะสมกับบทมากๆน่ะ
คือเขาเป็นผู้ชายที่ไม่ได้หล่อเกินไป ไม่ได้หล่อแบบนายแบบที่จับต้องไม่ได้
หรือดูไกลเกินเอื้อม แต่เขาดูหล่อแบบน่ารักๆ เป็นหนุ่มออฟฟิศที่สามารถพบได้ในชีวิตจริง
มีความติดดินนิดนึง คือการ cast คนนี้มาเล่นในบทนี้นี่มันใช่มากๆจ้ะ
และเราว่าการ cast คนที่มาเล่นบทคู่หมั้นนางเอก
ก็เป๊ะมากๆด้วย คือบทแบบนี้ต้องการผู้ชายที่ ดูหล่อ ดูดี ดูสุภาพ
แต่ดูเหมือนจะนำไปสู่ชีวิตที่ peaceful ราบเรียบ น่าเบื่อน่ะ
และเราว่าตัวคู่หมั้นนางเอกในหนังเรื่องนี้นี่ใช่เลย คือดูดีแต่เหมือนจะมีความน่าเบื่อบางอย่าง
1.2 หนังเรื่องนี้ใช้กล้องแทนสายตาตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่านำมาวิเคราะห์ในหลายประเด็น
แต่ประเด็นแรกก็คือว่า
มันเป็นวิธีที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนเราได้เข้าไปแทนตัวเองเป็นนางเอกอย่างเต็มที่ในหลายๆฉาก
และในช่วงกลางของเรื่องนี้ มันจะมีบางฉากที่กล้องแทนสายตาของนางเอกขณะมองพระเอก
ขณะพระเอกยิ้มหวาน พูดคุยด้วย และมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่ฟินมากกกกค่ะ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า
พระเอกกำลังยิ้มหวาน พูดคุยกับเราเอง
คือถ้าหนังเรื่องนี้ใช้กล้องแบบ objective หรือไม่ได้แทนสายตาตัวละคร
เราก็จะไม่รู้สึกมากเท่านี้ไง แต่พอหนังเรื่องนี้ใช้กล้องแทนสายตานางเอกในหลายๆฉาก
เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า พระเอกกำลังมองเรา กำลังยิ้มให้เรา กำลังคุยกับเรา อารมณ์ร่วมระหว่างเรากับตัวนางเอกมันจึงอยู่ในระดับที่สูงกว่าหนังเรื่องอื่นๆ
คือถ้าหนังเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาเป็นหนังยาว
แล้วมีฉากพระเอกกับนางเอกร่วมรักกัน
แล้วหนังถ่ายฉากนี้โดยใช้กล้องแทนสายตานางเอกขณะมองพระเอกถอดเสื้อผ้าและร่วมรักกับเธอนะ
รับรองว่า ผู้ชมเพศเดียวกับเราหลายๆคนฟินน้ำแตกคาโรงแน่ๆค่ะ
2.เราว่ากลวิธีของหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก
ที่หนังใช้กล้องแทนสายตาตัวละคร 3 คนประมาณ 90% ของเรื่อง
ยกเว้นฉากฝันที่กล้องถ่ายตัวละครออกมาในแบบ objective และหนังเรื่องนี้ก็ใช้
voiceover ถ่ายทอดความคิดของตัวละครเกือบตลอดทั้งเรื่องด้วย
เราว่าการใช้กล้องแทนสายตาตัวละครในหนังเรื่องนี้มีประสิทธิภาพมากนะ
เพราะอย่างที่เราเขียนไปในข้อ 1.2 นั่นแหละ คือมันทำให้เรารู้สึกอินกับนางเอกมากกว่าหนังปกติ
และมันทำให้อารมณ์โรแมนติกของเราพลุ่งพล่านมาก
คือเราเคยดูหนังที่ใช้กล้องแบบ subjective แบบนี้เหมือนกัน
อย่างเช่นเรื่อง THE BANNED WOMAN (1997, Philippe Harel) กับ
LE DOSSIER 51 (1978, Michel Deville, A+30) แต่มันไม่ได้ส่งผลกระทบกับเราในแบบเดียวกับ
WE WISH น่ะ เพราะ THE BANNED WOMAN เป็นหนังที่ใช้กล้องแทนสายตาพระเอก
ขณะมองแฟนสาววัย 22 ปีของเขาตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งเราที่เป็นเกย์มองนางเอกในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดอารมณ์อะไรขึ้นมา
นอกจากมองว่าเธอเล่นเก่งดี แต่ไม่ได้เกิดอารมณ์โรแมนติกอะไร หรือเวลาเรามองเธอเปลือย
เราก็ไม่เกิดอารมณ์อะไร (แต่มีนักวิจารณ์ชายบางคนบอกเราว่า
เขาเกิดอารมณ์เวลาที่เขามองนางเอกใน THE BANNED WOMAN)
ส่วน LE DOSSIER 51 เป็นหนังเกี่ยวกับองค์กรลับที่ส่งสายลับมากมายไปสืบข้อมูลของนักการทูตคนนึง
โดยกล้องจะแทนสายตาของสายลับหลายคนนี้ คือหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดีสุดๆ
แต่การใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่องนี้มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากกับหนังเรื่อง
WE WISH
เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่าการใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่อง
WE WISH เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเรา
เพราะเราแทบไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นๆที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้แล้วส่งผลกระทบแบบเคลิ้มใคร่ต่อเราแบบนี้มาก่อน
3.การใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่องนี้
นอกจากจะทำให้เราอินมากเป็นพิเศษแล้ว มันยังก่อให้เกิดฉากที่เราชอบสุดๆฉากนึงด้วย
นั่นก็คือฉากตัวละครคุยโทรศัพท์กันโดยที่เรามองไม่เห็นหน้าตัวละครเลย
เห็นแต่กำแพงห้องเท่านั้น
คือเราว่าฉากนี้นี่มันกลายเป็นฉากคลาสสิคในใจเราไปแล้วน่ะ
เพราะเราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน และเราว่าฉากนี้มันทำให้เราประทับใจเหมือนกับการได้ดูหนังทดลองดีๆเรื่องนึงด้วย
คือสาเหตุนึงที่เราชอบดูหนังทดลองเป็นเพราะว่า ในหลายๆครั้งหนังทดลองนำเสนอไอเดียอะไรแปลกๆใหม่ๆที่เราๆไม่เคยเจอมาก่อนไง
ในขณะที่หนัง narrative โดยทั่วไปจะขาดไอเดียที่แปลกๆใหม่ๆ
แต่ WE WISH ซึ่งเป็นหนัง narrative กลับสามารถนำเสนออะไรแปลกใหม่ต่อเราได้ในแบบเดียวกับหนังทดลองด้วย
เราก็เลยประทับใจ WE WISH ตรงจุดนี้มากๆ
คือเราว่าถ้าหากเป็นผู้กำกับที่ไม่แน่จริง
เขาคงเลือกนำเสนอฉากนี้ด้วยการให้ตัวละครคุยโทรศัพท์ขณะนั่งอยู่หน้ากระจก
หรือยืนอยู่หน้ากระจกน่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้กล้องจะแทนสายตาตัวละคร
กล้องก็จะถ่ายให้เราเห็นเงาตัวละครในกระจกอยู่ดี ซึ่งมันจะส่งผลให้ฉากนี้ออกมาเหมือนหนังธรรมดา
ที่เราได้เห็นใบหน้าของตัวละครขณะคุยโทรศัพท์กัน
แต่เราว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้แน่มาก ที่ใช้กล้องแทนสายตาตัวละครขณะมองกำแพงห้องของตัวเองขณะคุยโทรศัพท์
คือคนเรามันทำอย่างนี้กันจริงๆไง เวลาที่เราคุยโทรศัพท์
เราก็มองอะไรไปเรื่อยๆรอบตัวอย่างไม่มีจุดหมาย และถ้าเราอยู่ในห้อง
สายตาของเราก็จะกวัดแกว่งไปมาตามจุดต่างๆในห้องแบบนี้นี่แหละ เราก็เลยว่าฉากนี้มันจริงมาก
มันแน่มาก มันน่าสนใจมากๆ
ความน่าสนใจของฉากนี้ทำให้เรานึกถึงหนังทดลองบางเรื่องด้วยนะ
อย่างเช่นเรื่อง
3.1 “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2013, Teeranit Siangsanoh) ในแง่ที่ว่าหนังเรื่องนี้ก็ถ่ายฉากคนคุยกันออกมาได้พิสดารไม่ซ้ำแบบใครเหมือนกัน
โดยในมหัศจรรย์แห่งรักนั้น หนังจะถ่ายแบบโคลสอัพเข้าไปในรูขุมขนตัวละคร
จนเราเห็นตัวละครกลายเป็นพิกเซลแตกๆ คุยกัน
3.2 RUHR (2009, James Benning, 120min, A+30) หนังความยาวสองชั่วโมงเรื่องนี้มีแค่
6 เทค และเป็นกล้องตั้งนิ่งๆตามจุดต่างๆ
และบางฉากมันเหมือนกับเป็นการแทนสายตาของคนขณะที่นั่งรออะไรบางอย่างน่ะ อย่างเช่นฉากนึงเป็นกล้องตั้งนิ่งๆจับภาพกิ่งไม้ในป่าขณะที่มีเครื่องบินแล่นผ่านเหนือป่านั้นเป็นระยะๆ
โดยกล้องตั้งนิ่งๆแบบนี้เป็นเวลาประมาณ 10 นาทีโดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลย
มีแค่เครื่องบิน 2-3 ลำแล่นผ่าน และกิ่งไม้ที่สั่นไหวเป็นระยะๆเท่านั้น และผู้ชมบางคนมองว่าฉากนี้เหมือนกล้องแทนสายตาคนที่นั่งมองไปอย่างไร้เป้าหมายขณะรออะไรบางอย่าง
(แต่ฉากสำคัญจริงๆใน RUHR คือฉากที่กล้องจับภาพปล่องไฟแบบเทคเดียวเป็นเวลาประมาณ
60 นาที โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยในฉากนั้น นอกจากการที่ปล่องไฟแห่งนั้นพ่นควันออกมาทุกๆ
10 นาที)
คือคุณค่าอย่างนึงของหนังเรื่อง RUHR ในสายตาของเรา คือการทำให้เราตระหนักถึงภาพบางภาพที่เราเคยมองแต่เราไม่เคยรับรู้ว่าเราเคยมองมันน่ะ
อย่างเช่นเวลาที่เรารอใครสักคนและฟังเพลงในหูฟังไปด้วย เราอาจจะไม่ได้รับรู้เลยว่า
เรากำลังมองอะไรอยู่บ้างในช่วงเวลานั้น สายตาเรามองสิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ
แต่มันไม่ได้รับการจดบันทึกเข้าสู่หัวสมองของเรา และหนังเรื่องRUHR ก็ได้ทำให้เราได้รับรู้ในสิ่งที่เราอาจจะเคยมองเห็น แต่ตัวเราเองไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเราได้เคยมองเห็น
และเราว่าฉากนี้ใน WE WISH มันทำให้เรานึกถึงอะไรแบบเดียวกันน่ะ
ภาพกำแพงบ้านพวกนี้ มันเป็นสิ่งที่เราเคยมองมาก่อนขณะที่เราคุยโทรศัพท์
แต่เราไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าเราเคยมองมัน
4.การใช้ voiceover ความคิดของตัวละครในหนังเรื่องนี้ ก็ใช้ได้นะ
คือการใช้ voiceover แบบนี้ ถ้าหากทำไม่ดี มันจะน่าเบื่อได้
เพราะปกติแล้ว voiceover มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในหนัง narrative
ทั่วไปไง มันเหมือนเป็นส่วนเกินของหนังทั่วไป เพราะในหนังทั่วไป
ผู้ชมไม่จำเป็นต้องรู้ความคิดของตัวละครก็ได้
ส่วน voiceover ที่มักจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ voiceover
ในหนังที่มีความเป็นหนังทดลองอยู่ด้วยน่ะ อย่างเช่น INDIA
SONG (1974, Marguerite Duras, A+30) กับหนังบางเรื่องของ Terrence
Malick เพราะภาพกับเสียงในหนังประเภทนี้ มันจะไม่สอดคล้องกันแบบ 100% แต่มันจะมีความสัมพันธ์กันแบบเชิงกวีมากกว่า เราอาจจะเห็นภาพของเหตุการณ์อย่างนึง
แต่เราจะได้ยินเสียง voiceover พร่ำพรรณนาถึงอารมณ์ความรู้สึกข้างในตัวละคร
แทนที่จะเป็นการบรรยายเหตุการณ์ในภาพนั้นอย่างตรงไปตรงมา การใช้ voiceover แบบนี้จึงไม่กลายเป็นส่วนเกินของหนัง
แต่กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนั้นมีพลังแบบกวี
เราว่า voiceover ใน WE WISH ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกเลยว่า
มันเป็นส่วนเกินของหนังเหมือนกัน คือมันอาจจะไม่ได้มีพลังเชิงกวีแบบหนังทดลอง
แต่มันก็อาจจะมีอะไรใกล้เคียงกัน เพราะในบางฉากเราไม่เห็นหน้าตัวละครเลย
ได้ยินแต่เสียง voiceover บรรยายความคิดของพวกเขาขณะมองตึกรามบ้านช่องหรือผนังห้อง
ซึ่งจริงๆแล้วเราว่าคนที่จะทำแบบนี้ออกมาให้ดูดี ราบรื่นได้
ต้องมีความสามารถสูงประมาณนึง และเราก็ว่าผู้กำกับ WE WISH ทำได้สำเร็จตรงจุดนี้
เขาสามารถทำให้ voiceover ไม่กลายเป็นส่วนที่ล้นเกินของภาพ
และสามารถทำให้ voiceover กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการเล่าเรื่องได้
5.แต่การใช้ text ในหนังเรื่องนี้ เราเฉยๆนะ
เราไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือเปล่า
แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่สมควรถูกตัดออก
6.ย้อนกลับมาที่ voiceover อีกที คือทุกอย่างมันก็มีข้อดีข้อเสียในตัวมันเองแหละ
คือการใช้ voiceover อาจจะทำให้เราเข้าใจความคิดตัวละครมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน
มันก็ปิดกั้นเราจากการได้จินตนาการความคิดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครด้วยตัวเราเองด้วย
คือเราจะบอกว่า ในตอนจบของหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้ร้องไห้น่ะ
(แต่นั่นอาจจะเป็นจุดประสงค์ของผู้กำกับก็ได้นะ
เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจบีบคั้นให้ผู้ชมร้องไห้อยู่แล้วก็ได้) และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ได้ร้องไห้ในฉากจบ
เพราะเราว่าเสียง voiceover ของนางเอกในฉากจบ มันดูเนือยทางอารมณ์อย่างมากๆ
มันดูไม่ได้เจ็บปวดอย่างรุนแรงปิ้มว่าจะขาดใจกับการจากไปของพระเอกน่ะ
(ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดแต่อย่างใดนะ เพราะคนจริงๆอาจจะคิดในหัวแบบนี้ก็ได้ แบบว่า
เขาจากไปแล้วเหรอ ฉันเสียใจนะ จบ)
คือเราคิดว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนตอนจบหน่อยนึง
มันอาจจะทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงมากๆได้
เพราะตอนจบแบบเดิมที่ให้ผู้ชมได้ยินเสียง voiceover ในหัวนางเอกนั้น
มันทำให้เรารู้สึกว่า นางเอกไม่ได้เสียใจมากเท่ากับที่เราอยากให้นางเอกเสียใจน่ะ
ส่วนตอนจบแบบที่อาจทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงนั้น กล้องจะแทนสายตาของคู่หมั้นนางเอกขณะรออยู่ในคอนโด
เขาเห็นนางเอกกลับเข้ามาในคอนโด เขาพูดทักทายนางเอก
นางเอกทำสีหน้าแบบแปลกๆเหมือนจะร้องไห้ แต่ก็ฝืนยิ้มให้เขา เขาถามนางเอกว่า
มีอะไรหรือเปล่า นางเอกตอบว่า “ไม่มีอะไร เราสบายดี” แล้วเธอก็ฝืนยิ้มให้เขา
ผู้ชมจะเห็นได้จากใบหน้าของนางเอกว่า เธออยากจะร้องไห้
แต่เธอก็พยายามอย่างสุดความสามารถในขณะนั้น ที่จะไม่ร้องไห้ออกมา
แล้วก็ยิ้มออกมาให้คู่หมั้นของตัวเอง ขณะพูดย้ำอีกครั้งว่า “เราสบายดี
ทุกอย่างปกติ”
คือถ้าจบแบบนี้ เราอาจจะร้องไห้น่ะ เพราะในตอนจบแบบนี้
เราจะไม่รู้ว่านางเอกคิดอะไร รู้สึกอะไร รู้สึกเสียใจเล็กน้อยหรือเสียใจมากแค่ไหนกับการจากไปของพระเอก
คือถ้าจบแบบนี้ คนดูจะสามารถจินตนาการได้อย่างเต็มที่ว่า
นางเอกอาจจะรู้สึกเสียใจอย่างรุนแรงสุดๆก็ได้
และพอคนดูอย่างเราได้ใช้จินตนาการของตนเองอย่างเต็มที่ในฉากนี้
เราก็จะจินตนาการไปเลยว่า นางเอกเสียใจอย่างรุนแรงแน่ๆ แล้วเราก็จะร้องไห้ออกมา
ส่วน reference ใบหน้าของนางเอกในฉากจบในจินตนาการของเรานั้น
ให้ดูใบหน้าของ Liza Minnelli ในมิวสิควิดีโอ SO
SORRY I SAID จ้ะ คือใบหน้าของ Liza ในช่วงท้ายของมิวสิควิดีโอนี้แหละ
คือใบหน้าของคนที่อยากจะร้องไห้ แต่ฝืนยิ้มออกมา ซึ่งเป็นแบบที่เราอยากให้เกิดขึ้นในฉากจบในจินตนาการของเรา
คือจริงๆแล้วเราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะทำให้เราร้องห่มร้องไห้ได้อย่างรุนแรงไม่แพ้
THE BRIDGES OF MADISON COUNTY
(1995, Clint Eastwood, A+30) เลยแหละ ถ้าหากมันถูกขยายเป็นหนังยาว
แล้วทุกอย่างถูกปรับให้มันลงตัวกว่านี้ มีการใส่รายละเอียดในชีวิตของพระเอกกับนางเอกมากกว่านี้ตอนเป็นหนังยาว
คือที่เราเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับ THE BRIDGES OF MADISON COUNTY เพราะมันเป็นหนังของผู้หญิงที่ต้องเลือกระหว่างผัวใหม่กับผัวเก่าเหมือนกันน่ะ
และฉากที่นางเอกใน THE BRIDGES ต้องตัดสินใจเลือกนี่ เราดูแล้วร้องไห้อย่างรุนแรงมากๆ
สรุปว่า WE WISH เป็นหนังที่เราชอบมาก พระเอกน่ารักมากๆๆๆ
การใช้กล้องแบบ subjective ในหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก
โดยเฉพาะในฉากโทรศัพท์ หนังประสบความสำเร็จในการสร้างอารมณ์โรแมนติกให้กับเรามากพอสมควร
และเราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้ปรับตอนจบนิดหน่อย
เราก็อาจจะร้องไห้ให้กับหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงจ้ะ
7.ตายแล้ว เพิ่งนึกออกอีกประเด็น ตอนนี้ขอขยับเกรดหนังเรื่องนี้เป็น A+30 เพราะตอนนี้เราชอบสุดๆไปแล้ว
คือเราว่าการที่หนังเรื่องนี้ใช้กล้องแบบ subjective ตลอด
ยกเว้นแค่ในฉากความฝันหรือฉากจินตนาการของพระเอก (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) นั้น
มันทำให้เราคิดถึงอะไรที่น่าสนใจมากๆขึ้นมาได้ ซึ่งก็คือความจริงของมนุษย์ที่ว่า
ไม่ว่าเราจะรักใครมากแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่มีทางที่จะมองโลกด้วยดวงตาของเขา
หรือได้ยินเสียงในหัวของเขาได้ การเกิด “we” ที่มองโลกด้วยดวงตาของทั้งสองคนพร้อมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เหมือนกับที่ฉากจินตนาการนั้นจบลงด้วยประโยคที่ว่า “เรา ไม่มีจริง”
คือหนังเรื่องนี้ใช้กล้องแบบ subjective เกือบตลอดทั้งเรื่อง
และมีการใช้ voiceover ความคิดตัวละครตลอดทั้งเรื่อง
ซึ่งจริงๆแล้วมันแสดงภาวะของมนุษย์ได้ดีมากน่ะ
เพราะมนุษย์ทุกคนต่างก็ต้องมองโลกด้วยดวงตาของตัวเองตลอด มองแบบ subjective
ตลอด และมนุษย์ทุกคนก็ต้องได้ยินแต่เพียงเสียงความคิดในหัวของตัวเองอยู่แล้ว
แต่ภาวะดังกล่าวหายไปจากหนังเรื่องนี้ในฉากจินตนาการ
เพราะกล้องในฉากนั้นกลายสภาพจาก subjective เป็น objective แทน เราได้เห็นพระเอกนางเอกในเฟรมเดียวกัน
แทนที่จะเห็นคนละช็อตกันแบบที่ผ่านมาในหนังตลอดทั้งเรื่อง และฉากนี้เรายังไม่ได้ยิน
voiceover ของตัวละครด้วย เราได้เห็นแต่ text ความคิดของ “เรา”
มันเหมือนกับว่ากระแสสำนึกในหัวของตัวละครสองคนได้หลอมรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นกระแสสำนึกของคนเพียงคนเดียวไปแล้ว
แต่ฉากนั้นก็จบลงด้วยประโยคที่ว่า “เรา ไม่มีจริง”
คือนอกจากฉากนี้จะสื่ออารมณ์แบบรักร้าวโรแมนติกได้ดีแล้ว คือประโยคที่ว่า
“เรา ไม่มีจริง”
ในที่นี้นอกจากจะสื่อถึงการที่พระเอกกับนางเอกไม่ได้ครองรักด้วยกันในความเป็นจริงแล้ว
คำว่า “เรา ไม่มีจริง” ในที่นี้ ยังสื่อถึงสภาวะของมนุษย์ในความเป็นจริงได้ดีด้วยน่ะ
เพราะมนุษย์ไม่สามารถเข้าสู่ภาวะมองแบบ objective ได้แบบที่กล้องทำในฉากนี้น่ะ
สภาวะ “เรา” ที่สามารถมองเห็นได้ทั้งตัวเราเองกับอีกคนนึงได้พร้อมๆกัน
โดยไม่ต้องมองผ่านเครื่องช่วยอย่างเช่นกระจกหรือกล้องเป็นสิ่งที่ไม่มีทางทำได้น่ะ
และสภาวะ “เรา”
ที่สามารถหลอมรวมความคิดในหัวของตัวเองเข้ากับความคิดในหัวของอีกคนนึงได้อย่างสมบูรณ์ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงด้วย
คือถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีอะไรลักลั่น ขาดๆเกินๆ หรือไม่สมบูรณ์ก็ตาม
แต่เราชอบแนวคิดเรื่อง “เรา ไม่มีจริง” ในหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆน่ะ
เราก็เลยชอบมันในระดับ A+30 ไปแล้ว 555 คือการใช้ subjective camera และ voiceover ในหนังเรื่องนี้มันได้กระตุ้นความคิดเราไปแล้วอย่างมากๆน่ะ
มันได้ทำให้เราตระหนักว่า ในความเป็นจริงนั้น
มนุษย์แต่ละคนมันอยู่ในสภาพที่เหมือนตัวละครในหนังเรื่องนี้นี่แหละ
นั่นก็คือมองโลกแบบ subjective และได้ยินแต่เพียงเสียงความคิดในหัวของตัวเอง
แต่ภาวะของการมองแบบ objective มันจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในความฝันหรือในโลกจินตนาการเท่านั้น
อย่างเช่น “โลกของภาพยนตร์” คือฉากความฝันในหนังเรื่องนี้มันดูเป็นฉากที่เป็น
ภาพย้นตร์ ภาพยนตร์น่ะ ทั้งลักษณะการตัดต่อและการโพสท่าในฉากนั้น มันเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า
เวลาเราดูภาพยนตร์ทั่วๆไปที่กล้องเป็น objective camera นั้น
มันไม่สอดคล้องกับภาวะของมนุษย์ที่แท้จริงหรอก เพราะมนุษย์ที่แท้จริงมันถูกขังอยู่ในดวงตาของตัวเองและในหัวสมองของตัวเองแบบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้นั่นแหละ