Thursday, June 27, 2019

SOME ICT SILPAKORN FILMS IN 2019


HOLY BASIL (2019, Thanaporn Boonpraseart, 24min, A+30)

--เหมือนหนังดัดแปลง BURNING (2018, Lee Chang-dong) ออกมาได้เป็นตัวของตัวเองมากในระดับนึง ชอบความ surreal ในช่วงท้ายของหนังด้วย

--รู้สึกว่า ตะวัน ที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้ดูโรคจิตมากๆ ดูเป็นตัวละครที่ไม่น่าเข้าใกล้ ซึ่งจะแตกต่างจาก Jong-su ใน BURNING ที่มันดู desirable ในระดับนึง

--ชอบการ cast Pattanapol Suthaporn มารับบทเดียวกับ Steven Yuen มากๆ เราว่า Pattanapol เหมาะกับบทนี้จริงๆ ดูเป็นผู้ชายเท่ๆ หล่อๆ มีคลาส ดูทั้งน่าปรารถนา แต่ลึกลับ และมีความไม่น่าไว้วางใจซ่อนอยู่ บอกไม่ได้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย

--ช่วงท้ายเรื่องเรามองว่ามันเป็นสัญลักษณ์นะ เรามองว่านางเอกไม่ได้ตายจริง แต่เป็นเหมือนกับ “สาวบ้านนาที่ลืมกำพืดของตัวเอง” ไปแล้ว คือ “ความเป็นสาวบ้านนา” ของนางเอกได้ตายไปแล้ว แต่ตัวนางเอกไม่ได้ตายจริงๆ อะไรทำนองนี้

แต่การตีความของเราแบบนี้มันเป็นเพราะเราเข้าข้างตัวละคร Ben มาตั้งแต่ใน BURNING แล้วแหละ 55555 เราก็เลยพยายามมองตัวละครของ Pattanapol ในทางบวกไปด้วย ซึ่งจริงๆแล้วหนังก็คงเปิดโอกาสให้คนดูแต่ละคนตีความไปได้ในแบบที่แตกต่างกันไป

HOMEFLOOR (2019, Nithit Tubtim, 23min, A+20)

--ตอนดูจะรู้สึกไม่ค่อยอินเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะเราไม่ใช่คนบ้างาน และเราไม่เข้าใจตัวละครพระเอก ว่าคิดและรู้สึกอะไรบ้าง เราไม่รู้ว่าเขาผูกพันกับแต่ละคนในครอบครัวมากน้อยแค่ไหน

--แต่ตอนดูจะแอบนึกถึงหนังแบบ OUR HOME SAYS ALL ABOUT US (2017, Pasit Tandaechanurat) และ FATHER IS A BUILDER พ่อเป็นคนสร้างบ้าน (2018, Banvithit Wilawan) ในแง่ที่ว่า มันเป็นหนังที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับครอบครัว โดยที่เหมือนมีความเหินห่างหรือมีปัญหาอะไรบางอย่างในความสัมพันธ์นั้น และ “สถาปัตยกรรม” หรือตัวบ้าน ดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญในหนังทั้ง 3 เรื่องด้วย

--พอดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ก็จะงงๆนิดนึงว่า ตกลงพระเอกทำงานเสร็จแล้วยัง หรือได้อะไรกลับไปจากการมาเยี่ยมบ้านบ้าง

--ดีที่ได้อ่านที่อาจารย์ดองเขียนถึงหนังเรื่องนี้ ก็เลยทำให้เข้าใจหนังมากขึ้น

4 ต๊องบ๊องส์ทะลุป่า
THE ADVENTURE OF FOUR LUNATICS IN THE FOREST (2019, Sirapop Dechsuwan, 29min, A+25)

--เข้าใจว่าหนังน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก A JOURNEY OF KALA SCOUTS (2017, Sopanat Somkhanngoen) แต่หนังเรื่องนี้ทำออกมาเป็นตัวของตัวเองได้ดีมาก เหมือนทำออกมาเป็นหนังคนละ genre กับอีกเรื่องไปเลย เพราะ A JOURNEY OF KALA SCOUTS ดูเหมือนจะเป็นหนังเสียดสีการเมือง แต่ 4 ต๊องบ๊องส์ทะลุป่า นี่เป็นหนัง cult ที่ใช้ประโยชน์จากความเป็นหนัง cult อย่างเต็มที่ หนังเต็มไปด้วยอะไรพิลึกกึกกือแบบไม่ต้องแคร์อะไรอีกต่อไป

--ชอบที่หนังใส่ไอเดียบ้าๆบอๆเข้าไปมากมาย ทั้งตัวละครที่นั่งรถมาจากอวกาศ และโพรงลึกลับ

--คิดว่ามันเป็นหนังที่ไปสุดทางเรื่องนึงในทางของมันเองนะ คือจริงๆแล้วเราไม่ได้ชอบหนังคัลท์ห่ามๆแบบนี้ คือมันเป็น genre หนังที่ไม่ได้เข้าทางเราซะทีเดียวน่ะ แต่ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ยอมรับว่า มันไปได้ดีใน genre ของมันเองจริงๆ
IT DOESN’T MATTER มันไม่ได้สำคัญอะไร (2019, Meathavee Seethongphea, 27min, A+30)

--ชอบความเครียดในฉากสมาชิกครอบครัวนั่งกินข้าว นึกว่าต้องมีการลุกขึ้นตบกันสักฉาด 555

---การสร้างตัวละครที่ดูมีความลื่นไหลทางเพศก็น่าสนใจดี ดูเหมือนเป็นอะไรที่แปลกใหม่พอสมควร เหมือนไม่ค่อยเจอตัวละครทำนองนี้ในหนังเรื่องอื่นๆ

VETALA เวตาล (2019, Ittikorn Nutikaewmongkol, 19min, A+30)

--ชอบหนังแนวนี้อย่างสุดๆ หรือหนังที่ไม่รู้ว่ามันเป็นแนวอะไรกันแน่ คือเหมือนผู้กำกับไม่ได้ต้องการจะเล่าเรื่อง fiction แบบหนัง narrative ทั่วไป แต่ผู้กำกับต้องการจะตั้งคำถาม หรือขบคิดกับอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหาทางปรัชญาที่ไม่มีคำตอบตายตัว หรือผู้กำกับต้องการนำเสนอแนวคิดอะไรบางอย่างต่อผู้ชม ก็เลยทำหนังแนวนี้ออกมา

--คือพอดูหนังเรื่องนี้ ก็จะนึกถึงพวกหนังของ Jean-Luc Godard, Alexander Kluge และ Teerath Whangvisarn น่ะ คือผู้กำกับเหล่านี้จะทำหนังที่เหมือนกับมีคำถามทางปรัชญาอะไรบางอย่างอยู่ด้วย และผู้กำกับที่ทำหนังแนวนี้ก็เหมือนจะมีแค่ไม่กี่คน เราก็เลยดีใจมากๆที่มีคนทำหนังแนวนี้ออกมา

--จริงๆดู VETALA แล้วเราก็ไม่เข้าใจทั้งหมดหรอกนะ แต่ก็คิดว่านี่เป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดแล้วล่ะ ถ้าหากเทียบกับหนังของ Godard, Kluge และ Teerath Whangvisarn 555

--ชอบไอเดียเรื่องการเอาตำนานเวตาลมาดัดแปลงด้วย ดูแล้วทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า อยากให้มีคนสร้างหนังแบบ ARABIAN NIGHTS (2015, Miguel Gomes) อีก คือเป็นหนังเกี่ยวกับการเล่าเรื่องราวย่อยๆต่างๆมากมาย และแสดงให้เห็นว่า “การเล่าเรื่อง” นั้นสามารถทำได้ในแบบที่แตกต่างกันไปหลายร้อยรูปแบบ ไร้ขีดจำกัดมากๆ โดยที่โครงสร้างหลักของมันอาจจะใช้ “นิทานเวตาล” แบบหนังเรื่องนี้ก็ได้


KORPORN ขอพร (2019, Tamonwan Taweetana, 30min, A+30)

--จริงๆแล้วไม่ชอบที่หนังพยายามหลอกคนดูให้เข้าใจผิดมาตลอดทั้งเรื่องนะ 555 เหมือนหนังมันไม่จริงใจกับผู้ชม แต่จริงๆแล้วมันก็มีหนังแนวนี้เยอะแหละ ซึ่งอาจจะรวมถึงหนังอย่าง THE SIXTH SENSE (1999, M. Night Shyamalan) และ “ฝันโคตรโคตร” (2009, Ping Lumpraploeng) ด้วยก็ได้ ที่จงใจหลอกคนดู คือหนังแนวนี้จะนำเสนอฉากแต่ละฉากผ่านมุมที่เฉพาะเจาะจงบางมุม เพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อคนดูไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ไม่ได้ชอบอะไรแบบนี้ แต่ก็ชอบหนังเรื่อง THE SIXTH SENSE กับ ฝันโคตรโคตร มากๆอยู่ดี เพราะหนังมันก็ดูสนุกดี ซึ่งก็รวมถึง “ขอพร” ด้วยเหมือนกัน คือเหมือนข้อดีต่างๆในหนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้มันสามารถบดบังจุดที่เราไม่ชอบในหนังได้

--จริงๆแล้วเราก็ไม่ชอบหนังแนว romantic comedy ด้วยแหละ แต่ก็รู้สึกว่า “ขอพร” ทำออกมาได้รื่นรมย์มากๆ ดูเพลิดเพลินมากๆ ฉาก musical ในหนังก็น่ารักดี

--สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังก็คือความรักระหว่างแม่นางเอกกับวินมอเตอร์ไซค์นี่แหละ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่กล้าหาญชาญชัย ไปไกลกว่าหนังเรื่องอื่นๆมากๆ

TOOTH YOU RIGHT UP TO THE MOON (2019, Siriporn Chonsuwat, 34min, A+30)
แด่เธอ ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง

1.ชอบที่หนังมันเหมือนมีไอเดียดีๆเยอะมากใส่เข้ามาในหนัง คือตอนแรกอ่านจากเรื่องย่อแล้วนึกว่าหนังจะมีแค่ไอเดียเดียว คือนำเสนอความหลงใหลของเด็กหญิงที่มีต่อหนุ่มหล่อ แต่ปรากฏว่าหนังมีอะไรน่าสนใจเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ทั้งเรื่องญาติที่ไม่ถูกกัน, ผีตัวดำ, ความเชื่อเรื่องไสยาศาสตร์แบบคนจีน, ชีวิตลูกจ้าง และแม้แต่ตัว location ในหนังก็ดูมีเสน่ห์น่าสนใจมากๆด้วย ทั้งบ้านเรือนคนจีนยุคเก่า และร้านขายของเก่าในช่วงท้ายเรื่อง

2.คือรู้สึกว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้เก่งมากๆนะ เพราะนอกจากไอเดียดีๆแล้ว หนังยังสร้างซีนดีๆมากมาย, มีการคิดบทสนทนาที่น่าจดจำ หรือสามารถคิดวิธีการถ่ายแต่ละซีนออกมาให้ดูติดตาด้วย ซีนที่เราชอบที่สุดคงเป็นซีนที่ตัวละครไปนั่งอยู่กลางเตียงโบ๋ๆในร้านขายของเก่า

3. อันนี้ไม่เกี่ยวกับความดีงามของหนัง แต่ดูแล้วนึกถึงตัวเองตอนป.6 เลย (ประมาณปี 1984) เพราะเราตอนป.6 ก็ want ครูหนุ่มคนนึงมากๆ ก็เลยตั้งใจเรียนวิชานั้นเป็นพิเศษ เขาสอนวิชาเกษตร เราก็เลยไปรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกในวิชาของเขาทุกวัน ยังจำได้อยู่เลยว่า มีเช้าวันนึงเราไปรดน้ำต้นไม้ของตัวเอง แล้วก็มีอาจารย์ผู้หญิงคนนึงเดินมาบอกเราว่า  “ไม่ต้องรดแล้วค่ะ เมื่อวานฝนมันตกไปแล้ว ต้นไม้มันมีน้ำมากพอแล้ว”

ยังจำได้อยู่เลยว่า เหมือนคะแนนกลางภาคเราได้ 93 เต็ม 100 ในวิชาเกษตรครั้งนั้นมั้ง ทั้งๆที่จริงๆแล้วเราไม่ได้ถนัดหรือชอบอะไรในวิชานี้ แต่กูก็ทุ่มเต็มที่เพื่อคุณครูค่ะ

แล้วพอจะปิดเทอม เราก็ตัดสินใจหอบกระถางต้นไม้ที่ปลูกต้นเขียวหมื่นปีในวิชาของเขา กลับไปปลูกต่อที่บ้าน ซึ่งเป็นอะไรที่ลำบากและทุลักทุเลสุดๆ เพราะเราไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เราก็เลยต้องหอบกระถางต้นไม้ขึ้นรถเมล์เป็นเวลานาน รู้สึกว่าจะไม่ได้นั่งในช่วงครึ่งแรกของการเดินทางด้วย

แต่ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะต้นเขียวหมื่นปีที่เราปลูกในวิชาของเขา มันอยู่รอดต่อมาในบ้านเราตั้งแต่ปี 1984 จนมาตายไปในปี 2011 ตอนน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพนี่แหละ และแน่นอนว่าทุกครั้งที่เรามองเห็นต้นไม้นี้ในบ้านของเรา เราก็จะนึกถึงความบ้าผู้ชายของเราในตอน ป.6 ฮ่าๆๆๆๆ

Wednesday, June 26, 2019

25 JUNE – 1 JULY 1989


อันดับเพลงเมื่อ 30 ปีก่อน
WEEK 26
25 JUNE – 1 JULY 1989

1. SEALED WITH A KISS – Jason Donovan

2. LIAR – Akina Nakamori 

3. RIGHT BACK WHERE WE STARTED FROM – Sinitta https://www.youtube.com/watch?v=I2RXgHfqYx0

4. LET THE RIVER RUN – Carly Simon

5. CRUEL SUMMER ’89 – Bananarama 

6. GOMENYO NAMIDA – Toshihiko Tahara (New Entry)

7. ARASHI NO SUGAO – Shizuka Kudo

8. I DON’T WANNA GET HURT – Donna Summer

9. LOVE LETTER – Noriko Sakai

10. EXPRESS YOURSELF – Madonna

Saturday, June 22, 2019

250/7-8 (2019, Warinda Thepkunchone, 32min, A+30)


ROLLING SENTON (2019, Tanchanonk Musikatham, documentary, A+30)

1.เลือกจับประเด็นได้น่าสนใจมาก เพราะเราไม่เคยรู้เรื่องวงการมวยปล้ำในไทยมาก่อนเลย และก็ไม่เคยดูหนังเกี่ยวกับประเด็นนี้มาก่อนด้วย เพราะหนังนักศึกษาหลายเรื่องที่เคยดูมา จะเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับ “นักมวย” แต่ยังไม่เคยมีใครจับประเด็นมวยปล้ำไทยมาก่อน

2.ชอบ “ความใฝ่ฝัน” ของตัว subject เพราะความใฝ่ฝันของเขาคือการปูทางหรือกรุยทางให้กับนักมวยปล้ำรุ่นต่อๆไป มันเป็นการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับความสนใจหรือความนิยมมากนักจากคนในสังคม แต่เขาก็หวังว่า การมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตนเองรักต่อไปเรื่อยๆ จะช่วยให้คนอื่นๆที่สนใจจะทำแบบนั้นบ้าง ได้มีที่ยืนและได้พัฒนาวงการมวยปล้ำกันต่อไปเรื่อยๆ

250/7-8 (2019, Warinda Thepkunchone, 32min, A+30)

1.เป็นหนังที่ชอบที่สุดที่ได้ดูในวันพุธ หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีประเด็นปัญหาสังคม แต่เราชอบมันเป็นการส่วนตัว ดูแล้วรู้สึกอินมากๆ ชอบที่มันนำเสนอความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่มีความบาดหมาง หรือความขุ่นข้องใจลึกๆซ่อนอยู่ภายใน ตัวละครทั้ง 4 คนไม่ได้ระเบิดอารมณ์ด่าทอตบตีกันอย่างรุนแรง แต่มันเหมือนมีคลื่นใต้น้ำซ่อนอยู่ มีความเข้ากันไม่ได้ซ่อนอยู่

2.ชอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวกับน้องสาวมากๆ มันไม่ได้เกลียดกันอย่างรุนแรง แต่มันก็ไม่ได้รักกันจริงๆ เราว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันนิยามเป็นคำคุณศัพท์ได้ยาก และมันยากที่จะนำเสนอออกมา แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำได้สำเร็จ

3.ชอบการสร้าง character ให้ตัวละครคุณแม่เป็นคนที่ชอบเก็บขวดพลาสติกด้วย

4.ตัวละครนางเอกก็น่าสนใจดี เหมือนเธอเป็นคนที่มีปัญหาแล้ว “ไม่พูด” ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เธอแพ้ช็อกโกแลต แต่เธอก็ไม่บอกสาวคนรัก (ถ้าเข้าใจไม่ผิด) ส่วนฉาก climax ของเรื่อง ก็ไม่ได้เป็นการที่เธอด่าทอกับทุกคนในครอบครัวอย่างรุนแรง แต่เป็นการที่เธอเลือกที่จะหนีไปอยู่ตามลำพังคนเดียว

5.จริงๆถ้าวัดกันด้วยเนื้อหาแล้ว หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ตัวละครพ่อแม่ที่มีปัญหากัน ก็เคยเห็นในหนังเรื่องอื่นๆมาก่อนแล้ว แต่หนังเรื่องนี้เลือกใช้วิธีการนำเสนอแบบ “ร้าวลึก” แทนที่ตัวละครจะทะเลาะกันแบบตรงไปตรงมา มันก็เลยออกมาดีมาก ส่วนตัวละครลูกสาวที่มีปัญหากับพ่อแม่ และต้องการจะเป็นอิสระ ก็ทำให้นึกถึงตัวละครใน BERMUDA (2016, ภาวิณี ศตวรรษสกุล), HOME (2017, Kanokporn Boonrugchart) และ SEISHUN JIDAI (2018, Siraya Lertsmithwong)

พอคิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยทำให้รู้สึกว่า หนังแต่ละเรื่องมันมีคุณค่าแตกต่างกันไป เราชอบหนังอย่าง ROLLING SENTON มากๆ เพราะมันพูดถึงประเด็นที่แปลกใหม่ ไม่เคยเห็นในหนังเรื่องอื่นๆมาก่อน ส่วนหนังอย่าง BERMUDA, HOME, SEISHUN JIDAI และ 250/7-8 นั้น เราชอบสุดๆทุกเรื่อง เพราะเราอินกับมันเป็นการส่วนตัว และถึงแม้ตัวละครนางเอกในหนัง 4 เรื่องนี้จะมีบางอย่างคล้ายคลึงกัน นั่นก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา เพราะในแง่นึงเรารู้สึกว่าหนังเหล่านี้มันมีคุณค่าหรือความงดงามในแบบคล้ายๆภาพวาด portrait น่ะ คือความงามของภาพวาด portrait มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า คนในภาพมีอะไรแปลกใหม่พิสดารผิดมนุษย์ธรรมดา หรือภาพนั้นมีประเด็นแปลกใหม่อะไรที่ไม่เหมือนกับภาพวาด portrait อื่นๆ แต่บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับว่า ภาพนั้นถ่ายทอดรายละเอียดเล็กน้อยของมนุษย์ในภาพออกมาได้หรือไม่ และถ่ายทอด “จิตวิญญาณ” ของคนในภาพออกมาได้หรือไม่ ซึ่งหนังที่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้มันต้องอาศัยผู้สร้างหนังที่มีความสามารถสูงมาก และอาศัยความเข้าใจมนุษย์ที่ลึกซึ้งมากๆ มันถึงจะถ่ายทอดอะไรที่ละเอียดอ่อนมากๆออกมาแบบนี้ได้

Tuesday, June 18, 2019

NIRATTIGUN


NIRATTIGUN นิรัติกันย์ (2019, Nutthachai Khrueasena, 45min, A+30)

1.เหมือนเป็นเวอร์ชั่นหนังยาวของ “ขอบฟ้า” (2017, 6min) ที่กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกัน ซึ่งเราว่า “ขอบฟ้า” มันซึ้งกว่า 555 เพราะ “ขอบฟ้า” มันเหมือนมีแต่ความรักความผูกพันของพระเอกทั้งสองคน เหมือนมันกลั่นออกมาแค่ aspect ความรักโรแมนติก นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาที่ทั้งสองได้อยู่ด้วยกัน และร้างลากันไป

แต่ไม่ใช่ว่า “ขอบฟ้า” ดีกว่า นิรัติกันย์ นะ มันเหมือนหนังทั้งสองเรื่องดีกันไปคนละแบบน่ะ เพียงแต่ว่าถ้าหากพูดถึง “ความซาบซึ้งแบบหนังโรแมนติก” เราจะนึกถึง “ขอบฟ้า” มากกว่า ส่วนนิรัติกันย์นั้น มันมีแง่มุมอื่นๆของชีวิตตัวละครเข้ามาด้วย และหนังก็ทำตรงส่วนนี้ได้ดี คือนิรัติกันย์มันเป็นหนัง “ชีวิต drama” มากกว่าหนังโรแมนติกน่ะ เพราะช่วงเวลาที่พระเอกทั้งสองได้อยู่ด้วยกันในหนังมันน้อยมากๆ และหนังดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับปัญหาชีวิตของตัวละคร มากกว่า “อารมณ์รัญจวนใจระหว่างตัวละคร”

2.ฉากที่เราชอบที่สุดในนิรัติกันย์ ก็คือฉากตรงกลางเรื่อง ที่ถ่ายดาดฟ้าที่ไม่มีคนเลย คือฉากนั้นเรารู้สึกเศร้ามากๆ จุกอกมากๆ แทบร้องไห้ มันเหมือนกับว่าเราเป็นผีเจ้าที่บนดาดฟ้านั้น หรือเป็นวิญญาณของดาดฟ้าแห่งนั้น เราเคยเห็นกันย์กับเซฟมาคลุกคลีอยู่ด้วยกันเป็นประจำที่ดาดฟ้าแห่งนี้ แล้ววันนึง ก็มีแค่เซฟมาที่นี่คนเดียว แล้วอีกวันนึง ก็มีแค่กันย์มาที่นี่คนเดียว แล้วต่อมา ทั้งสองก็ไม่มาที่นี่อีกเลย และไม่ได้พบกันในที่อื่นๆอีกด้วย เราก็เลยรู้สึกเศร้ามากๆ

3.ชอบหลายๆอย่างในหนังมาก อย่างแรกเลยก็คือนักแสดงที่เล่นเป็น “กันย์” เล่นดีสุดๆ

4.ชอบการใส่ตัวละคร “เจ๊” ที่ดูเหมือนจะเป็นโสเภณี และเป็นเพื่อนสนิทของกันย์เข้ามาด้วย เหมือนตัวละครนี้โผล่มาแค่สองฉาก แต่ดูแล้วมันจริงมาก ดูแล้วทำให้เข้าใจความว้าเหว่ของกันย์ และชีวิตของกันย์เพิ่มขึ้นมากๆ เราว่าตัวละครเจ๊นี่ช่วยเพิ่มความซึ้งให้หนังขึ้นได้มากๆ

5.ชอบการนำเสนอฉากแม่ทรมานเซฟด้วย เราชอบที่หนังนำเสนอมันแบบที่ไม่ต้องเร้าอารมณ์ดราม่าใดๆเลยน่ะ ซึ่งมันจะแตกต่างจากวิธีการนำเสนอฉากคล้ายๆกันนี้ในหนังเรื่องอื่นๆ ที่ออกมาดูเมโลดราม่ามากๆ

คือเราว่าพอหนังนำเสนอ “เหตุการณ์รุนแรง” แต่นำเสนอมันแบบไม่เร้าอารมณ์แบบนี้ มันจะดูโหดมากๆ ทารุณมากๆ น่ากลัวมากๆ และสะเทือนใจเรามากๆน่ะ เพราะวิธีการนำเสนอแบบนี้มันจะทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือการนำเสนอเหตุการณ์จริง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง แล้วหนังก็ค่อยนำเสนอมันออกมา แต่ถ้าหากหนังเลือกที่จะนำเสนอ “เหตุการณ์รุนแรง” แล้วพยายามเร้าอารมณ์มันให้ดูรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก มันจะทำให้เรารู้สึกว่า “เหตุการณ์เหล่านี้ ดำรงอยู่ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ผู้ชม” น่ะ และมันจะทำให้เราไม่เชื่อถือในเหตุการณ์นั้น

คือมันเหมือนกับว่า ถ้าหากหนังนำเสนอ “เหตุการณ์รุนแรง” แบบหนังของ Michael Haneke/Robert Bresson คือไม่เร้าอารมณ์เลย เราจะรู้สึกว่า “เหตุการณ์นั้นดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง เกิดขึ้นจริงก่อน” แล้วหนังจึงนำเสนอมันออกมาสู่ผู้ชม

แต่ถ้าหากหนังนำเสนอเหตุการณ์รุนแรงแบบเร้าอารมณ์เต็มที่ เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนคือ “ผู้ชมที่ต้องการอารมณ์สนุกตื่นเต้น” แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “หนังก็เลยพยายามสร้างฉากรุนแรง เพื่อสนองอารมณ์ผู้ชม” เพราะฉะนั้นฉากดังกล่าวมันจะดูไม่จริงสำหรับเราน่ะ

ก็เลยสรุปว่า ชอบวิธีการถ่ายทอดเรื่องแม่ทรมานลูกชายใน “นิรัติกันย์” มากพอสมควร

6.ชอบความใส่ใจในรายละเอียดด้วย ตั้งแต่ฉากแรกๆที่เห็นกันย์ใส่กางเกงนักเรียนสีดำ แล้วเซฟใส่กางเกงนักเรียนสีฟ้า คือรายละเอียดแบบนี้มันช่วยบอกได้เลยว่า ทั้งสองอยู่คนละโรงเรียน และอาจจะมีฐานะแตกต่างกันด้วย

7.ตัวละครแฟนเก่าของเซฟก็ดีมาก คือเหมือนเธอโผล่มาแค่ฉากเดียว แต่มันดูจริง มันดูมีออร่า ดูมีของมากๆ

คือเราชอบที่ตัวหญิงสาวคนนี้ ดูไม่ใช่ลูกคุณหนูสวยใส โง่ๆ แบ๊วๆน่ะ หน้าของเธอดูมีออร่าบางอย่าง คือเราดูแล้วจินตนาการได้เลยว่า เธอเหมือนมีปัญหาชีวิตอะไรบางอย่างของเธอเองเหมือนกัน เซฟก็เลยอาจจะจูนติดกับเธอเพราะสาเหตุนี้

8.แต่สิ่งที่เรามีปัญหากับหนัง ก็คือเรื่อง การสืบข้อมูลหาบ้านของเซฟนี่แหละ คือดูแล้วนึกถึง UNDER THE SILVER LAKE (2018, David Robert Mitchell) มากๆ แต่การที่มันคล้ายกับ UNDER THE SILVER LAKE ไม่ใช่ปัญหานะ ปัญหาสำหรับเราก็คือว่า เราจะสงสัยว่า ทำไมเซฟต้องทิ้งรหัสลับอะไรมากมายไว้แบบนั้นในตอนแรกด้วย ทำไมเซฟไม่บอกกันย์ไปตรงๆว่าบ้านตัวเองอยู่ที่ไหน หรือทำไมไม่เขียนที่อยู่ของตัวเองตรงๆใส่ไปในขวดแก้วเลย ทำไมต้องทำรหัสลับอะไรมากมายด้วย หรือเธอเป็นคนบ้ารหัสลับอะไรพวกนี้ 555

แต่อันนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรมากมายนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงหรือเปล่า แต่ตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราไม่ค่อยเชื่อถือเนื้อหาตรงส่วนนี้เท่าไหร่น่ะ อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ใช่คนแบบเซฟก็ได้มั้ง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ชอบทิ้งรหัสลับอะไรพวกนี้ไม่ได้มีอยู่จริงๆ

9.แต่ถึงแม้เราจะมีปัญหากับจุดนั้นในหนัง แต่โดยรวมๆเราก็โอเคกับหนังมากๆนะ หนังทำให้เรารู้สึกได้ว่า ทั้งตัวละครกันย์, เซฟ, เจ๊ และแฟนเก่าของเซฟ  ดูเป็นมนุษย์จริงๆน่ะ และมันทำให้เรารู้สึกเป็นห่วงตัวละครพวกนี้ และรักตัวละครพวกนี้ หนังอาจจะจบไปแล้วก็จริง แต่ตัวละครพวกนี้ยังคงอยู่ในใจเราต่อไป

18 JUNE – 24 JUNE 1989


อันดับเพลงเมื่อ 30 ปีก่อน
WEEK 25
18 JUNE – 24 JUNE 1989

1. LET THE RIVER RUN – Carly Simon (New Entry)

ดูมิวสิควิดีโอ LET THE RIVER RUN แล้วแทบร้องไห้ เพราะฉากต่างๆจากหนังเรื่อง WORKING GIRL (1988, Mike Nichols) มันทำให้นึกถึงอดีต และ “ความใฝ่ฝันของตัวเองในอดีต” มากๆ

ตอนที่เราดูหนังเรื่อง WORKING GIRL เมื่อ 30 ปีก่อนนั้น เรายังอยู่ในวัยมัธยม และพอเราได้มาเห็นฉากต่างๆจากหนังเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อ 30 ปีผ่านไปแล้ว เราถึงเพิ่งตระหนักว่า จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันเหมือนช่วยบันทึก “ความหอมหวานของความฝันในวัยเยาว์ของเราในโลกที่ทุนนิยมยังเป็นสิ่งสวยงาม” เอาไว้ด้วย

คือเหมือนกับว่า ในยุคนั้น ในปี 1988-1989-1990 เราเองก็คงใฝ่ฝันอยากเติบโตขึ้นมาเป็นสาวออฟฟิศที่ประสบความสำเร็จน่ะ มันเหมือนกับว่าในยุคนั้น ยุคทศวรรษ 1980 ยุคที่มีหนังอย่าง THE SECRET OF MY SUCCESS (1987, Herbert Ross) ยุคที่มีละครทีวีเรื่อง “เลขานินทานาย” ที่นำแสดงโดยมยุรา ธนะบุตร ยุคที่มีละครทีวีฮ่องกงเรื่อง “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” ที่นำแสดงโดย หลินจุ้นเสียน มันเหมือนกับว่าในยุคนั้น โลกทุนนิยมยังเป็นสิ่งที่สวยงาม หนุ่มออฟฟิศ, สาวออฟฟิศ น่าจะเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ ประสบความสำเร็จได้

แต่ต่อมามันก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และตามมาด้วยรัฐประหารปี 2006 และโลกมันก็ไม่ได้สวยงามแบบที่เคยใฝ่ฝันไว้เหมือนในวัยเด็กอีกต่อไป

พอได้มาดูมิวสิควิดีโอ LET THE RIVER RUN อีกครั้งในตอนนี้ เราก็เลยรู้สึกทอดถอนใจประมาณนึง มิวสิควิดีโอนี้มันช่วยให้เรารำลึกขึ้นมาได้ว่า ในวัยเด็ก เราเคยใฝ่ฝันอยากเป็นสาวออฟฟิศแบบนี้ และมีสามีเป็นหนุ่มออฟฟิศแบบหลินจุ้นเสียนในศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย แต่ความฝันแบบนี้มันหายไปจากความคิดของเรามานานกว่า 20 ปีแล้ว

2. RIGHT BACK WHERE WE STARTED FROM – Sinitta https://www.youtube.com/watch?v=I2RXgHfqYx0

3. I DON’T WANNA GET HURT – Donna Summer https://www.youtube.com/watch?v=B4k5xJDwOWI

4. ARASHI NO SUGAO – Shizuka Kudo

5. SEALED WITH A KISS – Jason Donovan

6. LIAR – Akina Nakamori  (New Entry)

7. CRUEL SUMMER ’89 – Bananarama https://www.youtube.com/watch?v=pY9o7X6pGPc

8. EXPRESS YOURSELF – Madonna

9. LOVE LETTER – Noriko Sakai

10. FOREVER YOUR GIRL – Paula Abdul

Tuesday, June 11, 2019

11 JUNE – 17 JUNE 1989


อันดับเพลงเมื่อ 30 ปีก่อน
WEEK 24
11 JUNE – 17 JUNE 1989

1. I DON’T WANNA GET HURT – Donna Summer https://www.youtube.com/watch?v=B4k5xJDwOWI

2. EXPRESS YOURSELF – Madonna

3. ARASHI NO SUGAO – Shizuka Kudo

4. RIGHT BACK WHERE WE STARTED FROM – Sinitta (New Entry)
https://www.youtube.com/watch?v=I2RXgHfqYx0

5. LOVE LETTER – Noriko Sakai

6. SEALED WITH A KISS – Jason Donovan (New Entry)

7. CRUEL SUMMER ’89 – Bananarama (New Entry)

8. FOREVER YOUR GIRL – Paula Abdul

9. EVENING FALLS – Enya

10. LIAR – Akina Nakamori  (New Entry)

Sunday, June 09, 2019

DARK PHOENIX (2019, Simon Kinberg, A+30)


DARK PHOENIX (2019, Simon Kinberg, A+30)

1.เป็นหนังที่ตอบสนองแฟนตาซีวัยเด็กของเราได้มากในระดับนึง เพราะเราชื่นชอบตัวละครประเภท "สาวพลังจิต" มาตั้งแต่เด็กน่ะ โดยเฉพาะสาวพลังจิตที่พลังจะสัมพันธ์กับอารมณ์โกรธแค้น ตัวละครหญิงสาวแบบนี้ที่ทำให้เราหลงใหลตั้งแต่เด็กคือ "เขี้ยวงาสีแดง" หรือ red fang หรือ Lan ในการ์ตูนเรื่อง BLUE SONNET ของ Shibata Masahiro คือในการ์ตูนจะมีนางเอกสาวสองคนที่เป็นศัตรูกัน คนนึงชื่อ Sonnet ที่เป็นสาวพลังจิตสูงมาก และมีร่างกายเป็น cyborg ส่วนอีกคนคือ Lan ที่มีพลังเขี้ยวงาสีแดงอยู่ในตัว ฉากที่เราชอบสุดๆคือฉากที่ Lan เหมือนจะสลบไป แล้วถูกพลังเขี้ยวงาสีแดงเข้าครอบงำ แล้วพลังนี้ก็สำแดงตัวออกมาในรูปมือยักษ์ และมือยักษ์นี้ก็สามารถตบ Sonnet ให้พ่ายแพ้ไปได้ คือเขี้ยวงาสีแดงไม่จำเป็นต้องปรากฏออกมาทั้งตัว แต่ปรากฏออกมาแค่ “มือ” ก็รับมือกับ Sonnet ได้แล้ว แต่การที่มันปรากฏออกมาได้เฉพาะตอนที่ Lan สลบไป ก็เท่ากับว่าพลังอันมหาศาลนี้อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของ Lan และนั่นทำให้ตัวละคร Lan หรือเขี้ยวงาสีแดงมีความคล้ายคลึงกับ Jean Grey มากๆในด้านนี้

หลังจากตัวละคร “เขี้ยวงาสีแดง” ใน BLUE SONNET ตัวละครที่เราชอบสุดๆในชีวิตอีกตัวก็คือตัวละคร Sailor Saturn ในการ์ตูนโทรทัศน์ชุด SAILOR MOON ซึ่งเราเคยเขียนถึงตัวละครตัวนี้ไปแล้วหลายครั้ง เราชอบสุดๆที่ Sailor Saturn เหมือนดูเผินๆเป็นเด็กสาวใจดีที่ไม่มีพิษมีภัย แต่จริงๆแล้วเธอมีพลังที่สามารถทำลายโลกทั้งโลกได้ และเธอมีปีศาจร้ายซ่อนอยู่ในตัวที่ชื่อว่า Mistress 9 ด้วย เพราะฉะนั้น Sailor Saturn ก็เลยดูเหมือนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย และเธอก็เลยเหมือนแทบไม่เคยได้ใช้พลังของเธอจริงๆสักที เพราะถ้าหากเธอปล่อยพลังออกมาจริงๆ โลกทั้งใบก็จะถูกทำลายไปพร้อมกับเหล่าร้าย เราหลงใหลตัวละครแบบนี้มากๆ คือในแง่นึงเราว่ามันเหมือนกับ “อาวุธนิวเคลียร์” น่ะ คือมันมีพลังมหาศาล แต่มันจะไม่ถูกใช้จริงๆ เพราะถ้ามันถูกใช้จริงๆเมื่อไหร่ ผู้ร้ายก็จะตายไป แต่มันก็อาจจะนำไปสู่การล่มสลายของโลกทั้งใบได้ด้วย

แล้วหลังจากนั้น เราก็จะเจอตัวละคร “สาวพลังจิต ที่ชอบมีอารมณ์เคียดแค้น” อะไรทำนองนี้อยู่บ้าง อย่างเช่น CARRIE ของ Stephen King และ Scarlet Witch ในหนังชุดของ Marvel แต่ตัวละคร Carrie กับ Scarlet Witch มันดูไม่ค่อยดึงดูดเรามากเท่า “เขี้ยวงาสีแดง” กับ Sailor Saturn

ที่เขียนมา ก็เพื่อจะสรุปว่า สาเหตุที่เราชอบ DARK PHOENIX มากๆเป็นการส่วนตัว เพราะเราเติบโตมากับความหลงใหลตัวละครหญิงแบบนี้นี่แหละ ตัวละครหญิงที่มีพลังจิตสูงมาก แต่ไม่สามารถใช้พลังจิตของตัวเองตามใจชอบได้ง่ายๆ ตัวละคร Jean Grey เหมือนกับ “เขี้ยวงาสีแดง” ในแง่ที่ว่า เธอทั้งสองไม่สามารถควบคุมพลังมหาศาลของตัวเองได้ และตัวละคร Jean Grey ก็คล้ายกับ Sailor Saturn ในแง่ที่ว่า พวกเธอทั้งสองอาจจะอยู่ “ฝ่ายธรรมะ” ก็จริง แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี พวกเธอก็จะไปอยู่ฝ่ายอธรรมได้ และถ้าหากพวกเธอทั้งสองปลดปล่อยพลังทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเองออกมา โลกก็อาจจะพินาศได้

การที่ DARK PHOENIX โฟกัสไปยัง “ตัวละครหญิงแบบที่เราชอบ” แบบนี้ ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอินกับหนังเรื่องนี้มากพอสมควร ถึงแม้หนังมันอาจจะไม่ได้ดีมากนัก ซึ่งจะต่างกับหนังชุด WOLVERINE  ซึ่งมันจะเป็นกลุ่มหนังที่เราไม่ค่อยอินเป็นการส่วนตัว เพราะเราไม่ได้ identify ตัวเองกับพระเอกของเรื่อง เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้สึกเฉยมากๆเวลาดู THE WOLVERINE (2013, James Mangold)  เพราะหนังมันดึงดูดเราไม่ได้เลย แต่ก็ชอบ LOGAN (2017, James Mangold) มากๆอยู่ เพราะหนังมันดีจริง

2.ฉากที่ชอบที่สุดใน DARK PHOENIX อยู่ในช่วงกลางเรื่อง ที่ Jean Grey ใช้พลังจิตบังคับให้ Charles Xavier เดินขึ้นกระได ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมเราถึงชอบฉากนี้อย่างสุดๆ มันเหมือนมีอะไรบางอย่างคล้ายๆหนังสยองขวัญ และมันเป็นฉากที่ “เจ็บปวดยอกแสยงใจ” ที่สุดสำหรับเรา มันเหมือนได้เห็น “การทำร้ายทรมานจิตใจผู้มีพระคุณ” หรืออะไรทำนองนี้น่ะ ฉากนี้มันก็เลยมีพลัง disturbing สุดๆสำหรับเรา

คือเราไม่ใช่คนที่อินกับ “การเห็นนางเอก/พระเอก ต่อสู้บู๊ล้างผลาญกับผู้ร้าย” น่ะ คือการเห็น “ธรรมะที่ขาวสะอาดต่อสู้กับอธรรมที่ดำสนิท” มันไม่ใช่อะไรที่ disturbing หรือน่าสนใจ หรือ “สนุก” สำหรับเรา แต่การเห็น “คนดีค่อยๆถูกความเจ็บปวดของชีวิต ผลักให้เขากลายเป็นคนเลว” และหันมาทำร้ายผู้มีพระคุณอะไรแบบนี้ แบบที่ Jean Grey ทำในฉากนี้ คือสิ่งที่เราสนใจมากๆ (ลองนึกถึงบทที่เส้าเหม่ยฉีเล่นในละครทีวีฮ่องกงเรื่อง CONSCIENCE สิ)

3.พออ่านที่อาจารย์ Prawit TaengAksorn เขียนถึง DARK PHOENIX เราก็เลยเข้าใจว่าทำไมเรา “อิน” กับ DARK PHOENIX มากกว่า AVENGERS: ENDGAME 555 คือจริงๆเราก็ชอบ AVENGERS: ENDGAME ในระดับ A+30 นะ แต่ชอบในแง่ที่มันเหมือน “เทปรวมเพลงฮิตของศิลปินคนนึง” เพราะหนังเรื่องนี้มันเหมือนเป็นการย้อนกลับไปทบทวนเรื่องต่างๆในอดีตน่ะ แต่ DARK PHOENIX มันมีพลังด้าน psychological สูงมากสำหรับเรา คือพอเราเห็นตัวละคร Jean Grey, Charles Xavier และ Magneto เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราถูกจู่โจมด้วยความเจ็บปวดของตัวละครทั้ง 3 ตัวนี้ ทั้งจากเนื้อเรื่องที่อยู่ในภาคนี้ และจากเนื้อเรื่องที่อยู่ในภาคก่อนๆหน้านี้น่ะ มันเหมือนกับว่าเราผูกพันกับความเจ็บปวดของ Magneto มานานเกือบ 20 ปีแล้ว อะไรทำนองนี้ ซึ่งเราจะไม่รู้สึกแบบนี้กับตัวละครใน AVENGERS คือเราผูกพันกับตัวละครใน AVENGERS มากพอสมควรก็จริง แต่เราจะไม่ผูกพันกับ “ความเจ็บปวดในใจ” ของตัวละครใน AVENGERS แต่หนังชุด X-MEN มันจะมีพลังของ “ความเจ็บปวดในใจ” ด้วย

4.ชอบการแสดงของ Jessica Chastain มากๆ เพราะเรารู้สึกว่าเธอดู “สูญสิ้นความเป็นคน” จริงๆ 555 คือเราจะกลัวคนแบบนี้มากๆน่ะ คนที่เหมือนขจัด “สามัญสำนึกของความเป็นคน” ออกไปจากตัวหมดแล้ว แต่ในอีกแง่นึงเราก็รู้สึกว่าเธอมีความคล้ายตัวละคร Ryoko Tamiya (Eri Fukatsu) ในหนังชุด PARASYTE (2014-2015, Takashi Yamazaki) ในแง่ของ “อารมณ์หน้า” มากๆ 555

5.อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราไม่ชอบใน DARK PHOENIX คือหนังมันเหมือนขาดฉาก climax จริงๆ และหนังมันสั้นเกินไปน่ะ คือฉาก climax ของ DARK PHOENIX มันเหมือนเป็นแค่ “ฉาก climax รอง” เท่านั้นน่ะ ไม่ใช่ “ฉาก climax จริง” ที่ต้องรุนแรงกว่านี้

คือจริงๆแล้วเราอยากให้หนังมันยาวกว่านี้อีก 1 ชั่วโมงน่ะ และหันมาให้ความสำคัญกับ “กลุ่มผู้ร้าย” ที่ควรจะมีฤทธิ์อำนาจสูงกว่านี้มากๆ โดยเน้นให้เห็นว่าทั้งตัวหัวหน้าผู้ร้ายและลูกสมุนแต่ละคนมีอิทธิฤทธิ์อะไรบ้าง และพอหนังทำให้เราเห็นพลานุภาพของผู้ร้ายแต่ละคนในเรื่องได้จริงๆแล้ว หนังก็จะสร้างฉาก climax ที่สู้กับแบบหืดขึ้นคอ หรือลุ้นจริงๆได้ ในขณะที่ในหนังเรื่องนี้นั้น กลุ่มผู้ร้ายมันดู bland และแบนมากๆ คือมันเป็นผู้ร้ายที่ดูมีมิติเดียว ดูเหมือนเป็นกลุ่มนางแบบนายแบบโง่ๆ และดูก็ไม่รู้ว่ามันจะสู้เก่งมากน้อยแค่ไหน มีอิทธิฤทธิ์อะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ยังดีที่ตัวหัวหน้า (Jessica Chastain) มันดูมีเสน่ห์สำหรับเรา แต่พลังของมันก็น้อยเกินไป

6.อีกสิ่งที่ชอบสุดๆคือหนังเหมือนจะนำเสนอ dilemma ระหว่างการเลือกที่จะทำตัวเป็น hero ซะเหลือเกินแบบ Charles Xavier ที่ยึดมั่นกับอุดมคติ “Leave no one behind” กับการเน้นความ practical ของ Raven น่ะ คือจริงๆแล้วเราเข้าข้าง Raven ในกรณีนี้นะ ถึงแม้ว่าการเลือกแบบนี้มันจะดูเหมือนคนเลวก็เถอะ เราเลือก “ช่วยเท่าที่ช่วยได้” แทนที่จะเลือก “ต้องช่วยทุกคน” น่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ DARK PHOENIX มากๆในแง่ที่ว่า หนังมันเหมือนตั้งคำถามว่า การพยายามทำตัวเป็น hero หรือการยึดมั่นในอุดมคติบางอย่างของ Charles Xavier มันเป็นสิ่งที่ดีแล้วจริงๆหรือไม่

7.สิ่งที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจจะพูด แต่ทำให้เรานึกถึงก็คือว่า ความเชื่อและการกระทำบางอย่างของ Charles Xavier ในการพยายามทำให้ประชาชนยอมรับ X-MEN นั้น มันทำให้เรานึกถึงความเชื่อบางอย่างในสังคมไทยที่ว่า “เป็นเกย์ก็ได้ ขอแค่เป็นคนดีก็พอ” น่ะ ซึ่งมันเหมือนเป็นความเชื่อที่ดูเหมือนจะเปิดกว้าง ยอมรับเกย์หรือความแตกต่างทางเพศสภาพก็จริง แต่จริงๆแล้วมันเป็นความเชื่อที่มีปัญหาอะไรบางอย่างแฝงซ่อนอยู่ด้วยหรือเปล่า