Friday, July 31, 2015

SPAGHETTI (Sittisak Kam-ai, A+30)

LISTEN NO.2 (2015, Sirada Chokwareeporn, A+25) หนังสั้นเกี่ยวกับรัก 3 เส้าในโรงเรียนเตรียมอุดมที่เล่าผ่านทางดนตรีคลาสสิค พระเอกหล่อดี ชื่อทีฆทัศน์ ธัญญวิบูลย์

BUG (2015, Wisarut Triamlumlert, A+25) โคตรเสียดายหนังสั้นเรื่องนี้มากๆ คือหนังเรื่องนี้มัน David Cronenberg มากๆ มันเป็นหนังไซไฟเกี่ยวกับโลกอนาคตที่มนุษย์บางคนจะมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ฝังอยู่ในตัว และทำให้มนุษย์กลุ่มนี้ใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างจิ๋มกะหล่ำมากๆ แต่เสียดายที่ตอนจบของหนังเรื่องนี้ มี text ขึ้นมาสั่งสอนคนดูในเชิงที่ไม่ให้หมกมุ่นกับเทคโนโลยีมากเกินไป คือถ้าไม่มีไอ้ text นี่ เราคงให้หนังเรื่องนี้ติดอันดับประจำปีเราไปแล้ว

เรื่องสั้นที่ 13 (อิทธิ แซ่ชั่ง, A+30)
ไม่รู้ว่าผู้กำกับเป็นใคร แต่มันให้อารมณ์คล้ายๆหนังกลุ่ม “กะเทยระเบิดความบ้าคลั่งในตัวเองออกมา” แบบหนังอย่าง “ตามล่าคนหน้าเหมือน” (2012, Pitchayakorn Sangsuk) และ “หนังผีแสนสนุก หนังผีแสนสนุก” (2014, Pissanupong Rattana) และให้อารมณ์แบบหนังคัลท์สุดคลาสสิกเรื่อง “กลางวันแสกๆ” (2004, ทายาท เดชเสถียร) กับ THE WITCH (2009, Alwa Ritsila + Phatamon Chitarachinda) ด้วยในบางฉาก คือเราชอบที่หนังเรื่องนี้เหมือนเป็น “ยำใหญ่” รวมความคัลท์ของหนังสั้นไทยหลายเรื่องมาไว้ในเรื่องเดียวกัน ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้กำกับหนังเรื่องนี้อาจจะไม่เคยดูหนังคัลท์เหล่านั้นก็ตาม

ลวง (คงคิด วิเศษสิริ, A-/B+)
เสียดายหนังเรื่องนี้มากๆ คือเราว่าครึ่งเรื่องแรกใช้ได้เลยแหละ แต่ครึ่งเรื่องหลังที่เป็นเรื่องของการแก้แค้น เราว่ามันไม่ convincing สำหรับเรา ซึ่งจริงๆแล้วอันนี้เป็นปัญหาเดียวกับหนังเรื่อง “คำสัญญา”  THE PROMISES (ชมพูนุช สว่างจันทร์, A+15) ที่ฉายไปในวันที่ 18 ก.ค. และมาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน คือเราชอบ “คำสัญญา” มากๆ แต่ช่วงที่นางเอกกลายสภาพเป็น femme fatale ในช่วงท้ายของหนัง มันไม่น่าเชื่อถือสำหรับเรา เราก็เลยไม่ได้ชอบ “คำสัญญา” ในระดับ A+30 ทั้งที่จริงๆแล้ว เราชอบเนื้อหาส่วนที่เป็นความรักของเกย์วัยมัธยมใน “คำสัญญา” มากๆ อย่างไรก็ดี มีหนังอีกเรื่องที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่สอบผ่านในด้านนี้ นั่นก็คือเรื่อง “นิรันดร์” PAUSE (ภัควัลย์ พรรณโณภาส, A+25) คือหนังทั้ง 3 เรื่องนี้มีโครงสร้างคล้ายๆกัน นั่นก็คือนางเอกจะกลายสภาพเป็นฆาตกรโรคจิตในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง แต่เราว่าเรื่อง PAUSE ดูแล้ว convincing ที่สุด และสามารถสร้างสถานการณ์ได้สนุกที่สุดในช่วงครึ่งหลังของเรื่องเมื่อเทียบกับอีก 2 เรื่องที่เหลือ

ส่วน WHEN WE TALK ABOUT LOVE ที่ฉายในรอบเดียวกันนี้นั้น เราเคยดูมาก่อนหน้านี้แล้ว เราเขียนถึง WHEN WE TALK ABOUT LOVE (2015, Parnupong Chaiyo, A+20) ไว้ที่นี่นะ

THE DAY WITHOUT CHRIST วันที่ผัวไม่อยู่ (เขมรุจิ ทีรฆวงศ์, A+25)
เฮี้ยนมากๆ ชอบมากๆที่มันเป็นหนังผีที่ไม่มีตุ้งแช่อะไรเลย แต่เป็นหนังผีที่ทำตัวไม่เหมือนหนังผีทั่วๆไป คือหนังผีทั่วๆไปมันตั้งหน้าตั้งตาจะสร้างอารมณ์เข้มข้น น่ากลัว หรือไม่ก็สร้างอารมณ์ตลกต่อผู้ชมตลอดเวลา แต่หนังผีเรื่องนี้เหมือนมันจะปล่อยให้กิจวัตรประจำวันของตัวละครดำเนินไปเรื่อยๆ โดย “เหยาะ” ความตลกหรือความน่ากลัวเข้าไปเพียงกะปริดกะปรอยน่ะ ไม่ใช่ใส่ความตลกหรือความน่ากลัวเข้าไปแบบ “สาดเสียเทเสีย” เหมือนในหนังผีเรื่องอื่นๆ อารมณ์ในหนังเรื่องนี้ก็เลยแปลกมากเมื่อเทียบกับหนังผีทั่วๆไป แต่ effective มากเมื่อหนังจบลงแล้ว นอกจากนี้ ฉากอาบน้ำกับพระพุทธรูปในหนังเรื่องนี้ ก็ถือเป็นฉากคลาสสิคฉากนึงสำหรับเราด้วย ไม่รู้ฉากนี้ใช้อวัยวะส่วนไหนคิดขึ้นมา 555

จริงๆแล้วรอบนี้มีหนังที่ติดอันดับประจำปีเราฉายอีกเรื่องนึงด้วยนะ นั่นก็คือเรื่อง “วันที่ไม่มีเรา” WE WISH (2014, Surawee Woraphot, A+30) แต่เราดูหนังเรื่องนี้ไปแล้วก่อนหน้านี้ เราชอบ WE WISH มากๆในแง่ที่ว่า มันทำให้เราตระหนักถึงภาวะ consciousness ของมนุษย์ที่แตกต่างกับภาวะ consciousness ทางภาพยนตร์น่ะ คือมนุษย์เราเวลาคุยกับคู่สนทนา มันจะไม่เห็นหน้าตัวเองขณะคุยกับคู่สนทนา คือเราจะเห็นแค่หน้าคู่สนทนา แต่ไม่เห็นหน้าตัวเราเองในตอนนั้น (ซึ่งหนังเรื่องนี้จะสื่อผ่านทางกล้องแบบ subjective camera) และมนุษย์เราจะได้ยินเสียงความคิดของตัวเองในหัวตัวเองตลอดเวลา (เหมือนเสียง voiceover ในหนัง) ซึ่งนั่นหมายความว่า มนุษย์เราจริงๆแล้วจะรับรู้แค่ “I” แต่ไม่สามารถกลายเป็น WE (เรา) ได้อย่างแท้จริง เพราะมนุษย์เราไม่สามารถมองผ่านสายตาของคนอื่นได้ หรือได้ยินเสียงความคิดในหัวคนอื่นได้ แต่การกลายเป็น WE จะเกิดขึ้นได้ในฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นฉากความฝัน มันเป็นฉากที่ทุกคนโพสท่าเหมือนอยู่ใน “ภาพยนตร์” ฉากที่กล้องเป็น objective camera ไม่ใช่ subjective camera ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเห็นหน้า “คู่สนทนา” ทั้งสองคนได้พร้อมๆกัน และเป็นฉากที่เสียง voiceover หายไป ฉากนั้นเป็นฉากเดียวที่เกิด WE ขึ้นอย่างแท้จริง แต่ฉากนั้นก็จบลงด้วยประโยคที่ว่า “”เรา” ไม่มีจริง” เพราะมนุษย์เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้จริง มนุษย์เราไม่สามารถมองแบบ objective camera ที่สามารถเห็น “หน้าตัวเองพร้อมๆกับหน้าคู่สนทนา” ได้ ถ้าหากไม่ได้คุยกันหน้ากระจก และมนุษย์เราไม่สามารถ “ได้ยินเสียงความคิด” ในหัวคนอื่นได้ (นอกจากว่าคุณจะมี telepathy) หนังเรื่องนี้จึงทำให้เราตระหนักว่า ในทาง consciousness ของมนุษย์นั้น มันมีแค่ “ฉัน”, “เธอ” และ “อีคนอื่นๆ” เท่านั้น แต่ “เรา” ไม่มีจริง

เราเขียนถึง WE WISH ไว้ที่นี่นะ

SPAGHETTI (สิทธิศักดิ์ คำอ้าย, A+30) ชอบฉากบอกเลิกในหนังเรื่องนี้มากๆ คือฉากบอกเลิกในหนังเรื่องอื่นๆบางทีมันมาแบบฉาบฉวยน่ะ มันอาจจะมาแค่ตัวละครพูดว่า “เราเลิกกันเถอะ” แล้วอีกคนนึงก็ทำหน้าตกใจ แล้วก็ตัดไปฉากอื่นๆเลยเพื่อแสดง effect ของเหตุการณ์นั้น แต่ฉากบอกเลิกในหนังเรื่องนี้กินเวลายาวนานดี และมันทำได้ทรงพลังมากๆ

นอกจากนี้ เรายังชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงหนังของ Tossapol Boonsinsukh ด้วย ในแง่เนื้อเรื่อง, บรรยากาศ และองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ ทั้งการวาดรอยยิ้มบนกล่องสปาเก็ตตี้, ผีเสื้อ, การนัดเจอกันที่สนามเด็กเล่น คือหนังของ Tossapol มันจะมีอะไรคล้ายๆกันนี้น่ะ และเราก็บูชา Tossapol Boonsinsukh มากๆ น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ทำหนังใหม่ออกมาเลยในช่วง 2-3 ปีมานี้ อย่างไรก็ดี เราดีใจมากๆที่ในที่สุดก็มีคนที่ทำหนังคล้ายๆทศพลออกมา ถึงแม้จะไม่เหมือนกันซะทีเดียว คือเราว่าหนังเรื่อง SPAGHETTI นี่มันให้ความสำคัญกับ “เนื้อเรื่อง” 50% และ “บรรยากาศ” 50% น่ะ แต่ถ้าหากเป็นหนังของทศพล มันจะให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่อง 20% และบรรยากาศ 80% เพราะฉะนั้น SPAGHETTI ก็เลยเป็นหนังที่มีองค์ประกอบเหมือนหนังของทศพล บุญสินสุข แต่มีสัดส่วนของส่วนผสมที่แตกต่างกัน


อย่างไรก็ดี หนังที่มีฉาก “บอกเลิก” แบบฉาบฉวย ก็ไม่ได้แปลว่าหนังเรื่องนั้นไม่ดีนะ มันขึ้นอยู่กับว่าหนังเรื่องไหนมันจะเลือกเน้นอะไร คือการที่ SPAGHETTI มันเน้นลากอารมณ์ยาวๆในฉากบอกเลิก มันเป็นสิ่งดี เพราะมันทำในสิ่งที่หนังหลายๆเรื่องไม่ทำกัน อย่างไรก็ดี มันก็มีหนังหลายเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องลากอารมณ์ยาวๆในฉากบอกเลิกก็ได้ อย่างเช่นใน THE LEFT-HANDED WOMAN (1978, Peter Handke, A+30) ที่เปิดเรื่องด้วยการที่นางเอกบอกเลิกกับผัวโดยไม่มีเหตุผลใดๆทั้งสิ้น แล้วหนังก็หันไปเน้นเรื่องการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ของนางเอกแทน หรือมีหนังบางเรื่องที่ยาว 4 ชั่วโมง แล้วหนังก็จบลงด้วยการที่นางเอกบอกกับผัวว่า “ไม่” แล้วหนังก็จบเปรี้ยงตรงวินาทีนั้นเลย (ไม่บอกแล้วกันว่าเรื่องอะไร เดี๋ยวเป็นการ spoil หนังเรื่องนั้น) คือสรุปว่าหนังแต่ละเรื่องมันมีจุดที่เปรี้ยงที่สุดได้ ทั้งๆที่มันทำในสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง หนังอย่าง SPAGHETTI มันเปรี้ยงมาก เพราะมันมีฉากบอกเลิกที่ยาวนานมาก ในขณะที่หนังยาว 4 ชั่วโมงบางเรื่องมันเปรี้ยงมาก เพราะมันมีฉากที่นางเอกพูดว่า “ไม่” ใส่หน้าผัว แล้วหนังก็จบลงตรงวินาทีนั้นทันที

Thursday, July 30, 2015

TOO LATE (Sudarat Wongkiatkajorn, A+30)

1.“เมื่อวันนั้นมาถึง...” (วรกันต์ ประถมปัทมะ, A)
เรื่องนี้เราดูแล้วชอบมากกว่า IT’S HUMAN (2014, B- ) ของผู้กำกับคนเดียวกันนี้มากๆ จริงๆแล้วเราชอบหลายอย่างใน “เมื่อวันนั้นมาถึง” นะ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของเรื่องที่ให้ตัวละครกลุ่มนึงนั่งพูดคุยกัน แล้วเราก็ชอบการที่กล้องไล่ไปตามใบหน้าตัวละครแต่ละตัวด้วย และก็ชอบที่หนังพยายามจะพูดถึงความหวั่นไหวของนิสิตกลุ่มนึงก่อนที่จะจบการศึกษาไป โดยเฉพาะนิสิตที่รู้ว่าตัวเองจบไปแล้วจะต้องหางานทำ และมีโลกแห่งความเป็นจริงที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้า เราว่าประเด็นตรงนี้มันน่าสนใจมากๆ แต่เราว่าหนังมีปัญหาใหญ่อยู่สองจุด จุดแรกก็คือ การแสดงที่ไม่ค่อยสมจริง โดยเฉพาะตัวละครบางตัวที่พูดบทสนทนาแล้วดูแข็งๆ ส่วนจุดที่สองก็คือ การที่ตัวละครพูดแบบยิงเข้าประเด็นโต้งๆมากเกินไป คือเราว่าจุดอ่อนสองอย่างนี้มันจะเป็นจุดแข็งถ้าไปอยู่ในหนังแบบ essay films น่ะ คือในหนัง essay films ตัวละครไม่ต้องแสดงแบบสมจริง และตัวละครก็พูดประเด็นอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะหนัง essay films มันเน้น “ประเด็น” เป็นหลัก แต่ในหนังเรื่องนี้ เราว่าหนังมันน่าจะเน้นการสร้างความรู้สึกอ่อนไหวในใจผู้ชม หรือการทำให้ผู้ชม sympathize ไปกับความรู้สึกหวั่นไหวในใจของตัวละครที่มีต่ออนาคตข้างหน้ามากกว่า ซึ่งพอมันเป็นหนังที่เน้นการสร้างอารมณ์ร่วมกับตัวละคร, การสร้างความรู้สึกอ่อนไหวในใจผู้ชม หรือการพยายามนำเสนอความรู้สึกบางอย่างในใจตัวละครออกมาแล้ว หนังมันก็เลยต้องการการแสดงที่สมจริงกว่านี้, การพูดบทสนทนาที่สมจริงกว่านี้ และการหาวิธีการอะไรสักอย่างที่จะนำเสนอประเด็นในหนังออกมาได้แนบเนียนกว่านี้ หรือนำเสนอความรู้สึกในใจตัวละครออกมาได้แนบเนียนกว่านี้น่ะ บางทีหนังเรื่องนี้มันอาจจะเข้าทางเรามากกว่านี้ ถ้าหากตัวละครมันคุยกันเรื่องสัพเพเหระประมาณ 5 นาที คุยกันแบบที่คุยกันในชีวิตจริง หรือนักแสดงด้นสดคุยกันจริงๆก็ได้ประมาณ 5 นาที ก่อนที่หนังจะค่อยๆหยอดประเด็นหลักเข้าไปในบทสนทนาของตัวละครอย่างแนบเนียน

คือเราดูแล้วชอบไอเดียบางอย่างในหนังเรื่องนี้มากๆน่ะ เราชอบการที่ตัวละครนั่งคุยกัน และรู้สึกหวั่นไหวกับชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า เราว่าเราไม่ค่อยเห็นหนังแบบนี้สักเท่าไหร่ หนังแบบนี้ที่เราชอบมากก็มีเรื่อง “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” (2006, Tossapol Boonsinsukh) แต่หนังของทศพลเรื่องนี้ก็แตกต่างจากหนังเรื่อง “เมื่อวันนั้นมาถึง” มากๆเหมือนกัน เพราะในหนังของทศพลเรื่องนี้ มันมีตัวละครแค่สองคน แล้วมันก็แค่หวั่นไหวกับการเรียนจบแล้วจะไม่ได้เจอกัน แต่ไม่ได้หวั่นไหวกับ “ชีวิตการทำงาน” เหมือนกับในหนังเรื่อง “เมื่อวันนั้นมาถึง”

สรุปว่าเราชอบไอเดียบางอย่างใน “เมื่อวันนั้นมาถึง” มากๆ แต่ถ้าหากมันได้
”การแสดง” และ “วิธีการถ่ายทอดความรู้สึกในใจตัวละคร” แบบคล้ายๆหนังของทศพลแล้วล่ะก็ มันก็จะกลายเป็นหนังที่เข้าทางเราสุดๆเลย

ดูหนังเรื่อง “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” ได้ที่นี่จ้ะ

2.TOO LATE (สุดารัตน์ วงศ์ขจรเกียรติ, A+30)

ดูแล้วอินมากๆ เราว่าหนังถ่ายทอดความรู้สึกเสียใจของนางเอกออกมาได้ซื่อๆ แต่จริงใจมากๆ และทรงพลังมากๆด้วย ดูแล้วนึกถึงพวกหนังกลุ่ม Post New Wave ของฝรั่งเศสในทศวรรษ 1970 ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกร้าวรานใจในใจตัวละครออกมาได้อย่างรุนแรง

3.รอยยิ้ม พิมพ์ใจ (สิริภัช นมรักษ์, A+30)
ชอบสไตล์ของหนังเรื่องนี้มากๆ คือเราชอบทั้ง TOO LATE กับ “รอยยิ้ม พิมพ์ใจ” พอๆกัน ในขณะที่หนังสองเรื่องนี้จะมีจุดดีที่ไม่เหมือนกัน คือในขณะที่ TOO LATE ทำให้เรานึกถึงหนังฝรั่งเศสทศวรรษ 1970 บางเรื่อง โดยเฉพาะหนังของ Claude Sautet ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกช้ำรักของตัวละคร หรือหนังที่เน้นความเป็นมนุษย์ของตัวละคร “รอยยิ้ม พิมพ์ใจ” กลับทำให้เรานึกถึงหนังญี่ปุ่นเก๋ๆ หรือหนังฝรั่งเศสบางเรื่องในทศวรรษ 1980 ประเภท THE MOON IN THE GUTTER (1983, Jean-Jacques Beineix) ที่เน้นการถ่ายภาพแบบประดิดประดอย สวยงาม และน่าพิศวง และการตัดต่อที่ทรงพลังและสร้างความพิศวงมากยิ่งขึ้นไปอีก คือพลังของหนังกลุ่มนี้จะอยู่ที่การถ่ายภาพ, การตัดต่อ, form หรือ style แต่ไม่ได้ลงลึกไปที่ความรู้สึกเจ็บจริง ร้าวรานจริง แหลกสลายจริงในใจตัวละครแบบในเรื่อง TOO LATE หรือหนังของ Claude Sautet น่ะ


สรุปว่าชอบทั้ง TOO LATE และ “รอยยิ้ม พิมพ์ใจ” มากๆ แต่ชอบในแบบที่แตกต่างกัน

Wednesday, July 29, 2015

CLASS NUMBER (2015, Pathompong Praesomboon, A+30)

CLASS NUMBER เด็กห้องหลัง (2015, Pathompong Praesomboon, A+30)

--จริงๆแล้วรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยังเหมือนขาดอะไรบางอย่างนะ เหมือนมันขาดความกลมกล่อมทางอารมณ์อะไรบางอย่างที่จะช่วยผสานสององค์ประกอบหลักในหนังเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือ “ความสัมพันธ์ของพระเอกที่มีต่อครู” กับ “ความสัมพันธ์ของพระเอกที่มีต่อเพื่อน” เหมือนสองส่วนนี้ยังผสานเข้าด้วยกันไม่ได้อย่างสนิทแนบเนียน หรือมันยังขาดการตะล่อมทางอารมณ์อะไรบางอย่างที่จะทำให้หนังเรื่องนี้มีจุดพีคทางอารมณ์อย่างรุนแรงจริงๆ

เราว่าเป็นโชคร้ายของหนังเรื่องนี้ด้วยแหละที่ฉายต่อจาก THE COUNTRY BOYS เด็กน้อยบ้านโนนสะอาด (2015, Krailas Phondongnok, A+30) เพราะเราว่า THE COUNTRY BOYS ผสาน “ชีวิตแร้นแค้นของครอบครัวพระเอก” กับ “ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับเพื่อนหนุ่ม” เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว THE COUNTRY BOYS ก็เลยให้อารมณ์ที่พีคสุดๆ ในขณะที่ CLASS NUMBER เหมือนเกือบๆจะไปถึงจุดนั้น

--หรือสาเหตุที่เราดู CLASS NUMBER แล้วเราว่ามันไม่พีคสุดๆ อาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่รู้มาก่อนว่าหนังมันจะเน้นที่จุดไหนน่ะ คือก่อนดูหนังเรื่องนี้ เราเดาว่ามันต้องเป็นหนังเกย์แบบเต็มตัว และเน้นไปที่ประเด็นเรื่องความรักระหว่างพระเอกกับเพื่อนหนุ่มไง เพราะฉะนั้นขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ในรอบแรก เราก็เลยมัวแต่ตั้งตารอว่า เมื่อไหร่พระเอกกับเพื่อนผู้ชายจะเย็ดกันสักที อะไรทำนองนี้ แต่พอหนังจบลงไปแล้ว เราถึงเพิ่งรู้ตัวว่า อ๋อ จริงๆแล้วหนังมันเน้นประเด็นเรื่องเด็กกับครูหรอกเหรอ อ๋อ จริงๆแล้วฉากไคลแมกซ์ของหนัง อาจจะเป็นฉากที่ครูใส่ความเด็กเรื่องลอกข้อสอบเหรอ ฉากไคลแมกซ์ของหนังมันผ่านไปแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เพราะเรามัวแต่รอว่าฉากไคลแมกซ์ของหนังจะเป็นฉากที่พระเอกกับเพื่อนผู้ชายได้เสียกัน 555

--แต่เราก็ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 นะ เพราะมันมีฉากที่โดนใจเราสุดๆสองฉากน่ะ ซึ่งได้แก่

1.ฉากที่พระเอกไม่ยอมให้ของขวัญครูคนที่ใส่ร้ายพระเอก เราว่าฉากนี้มันสะใจมากๆ คือจริงๆแล้วเราอยากให้พระเอกเดินไปตบหน้าครูคนนี้ด้วยซ้ำ คือถ้าพระเอกเดินไปตบหน้าครู หนังเรื่องนี้อาจจะติดอันดับประจำปีเราแน่นอน

แต่แค่ที่พระเอกทำในหนังเรื่องนี้ เราก็สะใจมากๆแล้วล่ะ คือในชีวิตจริงเราก็ทำแบบนี้เท่านั้นแหละ คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับบรรดาครูสัตว์นรกอะไรอีกต่อไป

หนังเรื่องนี้มันทำให้เรานึกถึงสมัยมัธยมเหมือนกันนะ คือสมัยที่เราเรียนประถมและมัธยม เรากับเพื่อนสนิทบางคน ก็มีครูที่เราเกลียดชังมากๆเหมือนกันแหละ และถึงแม้เราจะเรียนจบมัธยมตั้งแต่ปี 1990 จนตอนนี้ผ่านไปแล้ว 25 ปี ความเกลียดชังที่เรามีต่อครูมัธยมบางคน มันก็ไม่ได้จางหายไปเลย เราก็เลยชอบหนังแบบนี้ หนังที่แสดงความเกลียดชังที่มีต่อครูบางคน และถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เราก็จะไม่มีวันให้อภัยอีพวกครูสัตว์นรกพวกนี้ได้

แต่เราว่าเราไม่ค่อยเจอหนังที่ลูกศิษย์กลับไปแก้แค้นครูเลวๆเท่าไหร่นะ สิ่งที่เราเจอมักจะเป็นหนังเกี่ยวกับครูเลวๆ อย่างเช่น ด.เด็ก ช.ช้าง (2002, ทรงยศสุขมากอนันต์, A+30) และ GHOST IN THE CLASSROOM (2012, Ukrit Sa-nguanhai, A+30) น่ะ แต่หนังสองเรื่องนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กๆในหนังสองเรื่องนี้โตขึ้น เด็กได้กลับไปแก้แค้นครูหรือเปล่า

คือเราว่าประเด็นเรื่อง “ความขัดแย้งระหว่างครูกับนักเรียน” น่ะ หนังเรื่อง CLASS NUMBER ทำออกมาได้ดีพอสมควร แต่มันอาจจะไม่พีคเท่ากับหนังคลาสสิคในสายตาเราอย่าง ด.เด็ก ช.ช้าง และ GHOST IN THE CLASSROOM อย่างไรก็ดี CLASS NUMBER มันโดดเด่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวเองได้ เมื่อเทียบกับหนังคลาสสิคสองเรื่องนั้น เพราะมันมีฉากที่พระเอกไม่ยอมให้ของขวัญนี่แหละ การที่พระเอกตอบโต้ครูด้วยการไม่ยอมให้ของขวัญ จึงเป็นอะไรที่สะใจเรามากๆ และเราอาจจะไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้ในหนังไทยเรื่องอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ถ้าหากใครชอบหนังไทยที่มีฉากนักเรียนตบกับครู เราก็ขอแนะนำให้หาชมหนังเรื่อง THE PERSONAL (2015, Nattapon Jomjun, A+30) กับ SIGN OF SIN ห้องที่ 17 (2013, Pawinee Mingchue, A+30) ด้วยนะ แต่หนังสองเรื่องนี้มันเป็นการตบกับครูในขณะที่นางเอกยังเป็นนักเรียนอยู่น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยแตกต่างจาก CLASS NUMBER และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า CLASS NUMBER ทำในสิ่งที่หาได้ยากในหนังไทยเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็คือการแสดงให้เห็นว่า “ถึงแม้เวลาจะผ่านไป ความเกลียดชังที่มีต่อครูบางคนก็ไม่เคยลบเลือนจางหายไป”

2.อีก moment นึงที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือการที่เพื่อนพระเอกพยายามปกป้องพระเอก ด้วยการตอบโต้กับครูอย่างรุนแรง เราว่าฉากนี้มันตรงกับ romantic fantasy ของเรามากๆ

คือสมัยที่เราอยู่มัธยม เราก็เคยมีแฟนตาซีแบบเดียวกันนี้เลย แฟนตาซีที่ว่า จะมีชายหนุ่มสักคนปกป้องเราแบบในหนังเรื่องนี้ คือไม่ได้ปกป้องเราจากการชกต่อยรุมทำร้ายอะไรแบบนั้นนะ เพราะเรื่องแบบนั้นมันเกิดขึ้นได้ยากในชีวิตจริงของเราน่ะ แต่เป็นการปกป้องเราจากความอยุติธรรมและอำนาจเผด็จการของครูหรืออะไรทำนองนี้

อย่างไรก็ดี เราก็เห็นด้วยกับที่เพื่อนๆบางคนตั้งข้อสังเกตไว้ คือเราว่าประโยคสนทนาหรือวิธีพูดประโยคสนทนาในฉากที่ พระเอก+เพื่อนพระเอก+ครูใจสัตว์ โต้ตอบกัน มันยังไม่ลงล็อคซะทีเดียวน่ะ มันยังมีอะไรขัดๆเขินๆในฉากนั้นอยู่ อารมณ์ในฉากนั้นก็เลยไม่พีคเท่าที่ควร

--อีกประเด็นนึงที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เราเก็บมาคิด ก็คือคำว่า CLASS ในชื่อหนัง คือคำว่า CLASS นั้น นอกจากมันจะหมายถึงชั้นเรียนแล้ว มันยังหมายถึงชนชั้นได้ด้วย และการที่ครูดูถูกเด็กบางกลุ่มในหนังเรื่องนี้ ว่าต้องลอกข้อสอบแน่นอน ทั้งๆที่เด็กมันไม่ได้ลอก มันก็เลยทำให้เรานึกไปถึงเรื่อง ที่คนบางกลุ่มดูถูกชนชั้นล่างว่าโง่หรือขายเสียงด้วย

เราคิดว่าหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจเล่นกับคำว่า CLASS นะ แต่เราว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจดี ถ้าหากเราจำไม่ผิด หนังเยอรมันเรื่อง CLASS ENEMY (1983, Peter Stein, 125min, A+30) ก็น่าจะเล่นกับคำว่า CLASS เหมือนกัน เพราะในหนังเรื่อง CLASS ENEMY นั้น เราจะได้เห็นตัวละครนักเรียนหนุ่ม 5 คน คุยกันในชั้นเรียนตลอด 2 ชั่วโมงเต็ม เพราะครูดันลางานกะทันหัน และเป็นการคุยกันที่รุนแรงและดุเดือดมากๆ เพราะนักเรียนหนุ่ม 5 คนนี้ ที่อาจจะมาจากต่างชนชั้นกัน ได้โต้เถียงกันเรื่องประเด็นต่างๆในสังคมได้อย่างรุนแรงมากๆ เราก็เลยคิดว่าหนังเรื่อง CLASS ENEMY น่าจะเป็นการเล่นกับคำว่า CLASS ที่แปลว่า ชั้นเรียนและชนชั้น แต่เราไม่แน่ใจว่า CLASS NUMBER เล่นกับเรื่องนี้หรือเปล่า

--สรุปว่า เราชอบ CLASS NUMBER ในระดับ A+30 เพราะมันมีจุดนึงในหนังที่สะใจเราสุดๆ และเป็นจุดที่เราแทบไม่เคยเจอในหนังไทยเรื่องอื่นๆ อย่างไรก็ดี เราว่าหนังยังต้องการการขยี้อารมณ์ หรือการตะล่อมทางอารมณ์อะไรบางอย่าง ที่จะทำให้อารมณ์ในหนังเรื่องนี้มันพีคสุดๆได้มากกว่านี้

RELIGIOUS (2015, Siroros Damjun, documentary, A+10)

RELIGIOUS ตุ๊เจ้า (2015, Siroros Damjun, documentary, A+10)

--ชอบบางประเด็นที่ถามพระในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องความเห็นที่มีต่อพระเกย์ และ “การที่พระแตะเนื้อต้องตัวผู้ชายถือว่าอาบัติหรือไม่ ถ้าหากพระคนนั้นเป็นเกย์” เราว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจมากๆ

--ชอบที่ถามพระว่าทำไมถึงไม่คิดจะสึกด้วย ทั้งๆที่พระยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจดีว่าในยุคสมัยนี้มีคนวัยหนุ่มคนไหนบ้างที่คิดจะบวชนานๆโดยไม่มีกำหนดสึก และเขาทำเช่นนั้นเพราะอะไร

--ชอบ moment ที่กล้องไม่ตัดภาพทั้งๆที่มีอะไรอย่างอื่นมาขัดจังหวะการสนทนา เราว่ามันทำให้เห็นสภาพแวดล้อมของพระรูปนี้ได้ดีน่ะ คือเราว่าหนังสารคดีบางเรื่องที่ฉายในเทศกาลนี้มีปัญหานิดนึงตรงที่มันเน้นการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ทำให้เราเห็น “ชีวิต” ของตัว subject ขณะที่เขาไม่ได้มานั่งให้สัมภาษณ์ด้วย คือเวลาที่ subject มานั่งให้สัมภาษณ์เรา เราอาจจะได้รับรู้ข้อมูลจากตัวเขาก็จริง แต่มันขาดแง่มุมอื่นๆในตัวชีวิตเขาไปน่ะ และเราจะไม่ได้เห็นชีวิตประจำวันจริงๆของเขา ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่ได้มานั่งให้สัมภาษณ์เรา แต่เป็นชีวิตที่ต้องทำงาน, นั่งอ่านอะไรในคอมพิวเตอร์, ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ

--แต่จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ก็ขาดอะไรข้างต้นอยู่พอสมควรนะ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้แค่ในระดับ A+10 เท่านั้น แต่เราก็พอใจกับหนังเรื่องนี้มากพอสมควรแหละ เพราะเราว่าจริงๆแล้วมันเป็นหนังที่ “ไม่ได้ทะเยอทะยานอะไรมาก” และเป็นเหมือนการบันทึก “ความประทับใจสั้นๆที่มีต่อพระรูปนึง” เท่านั้น การที่มันไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูง และไม่ได้พยายามจะปรุงแต่งอะไรมากมายจนเกินไป หรือ “ทำตัวสำคัญ” มากเกินไป ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาดูพอเหมาะพอดีกับตัวมันเองในระดับนึง

--สรุปว่าสิ่งที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ ก็คือการสนทนากันเรื่องการอาบัติของพระเกย์นี่แหละจ้ะ เราว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ

--แต่ถ้าหากสงสัยว่าหนังแบบไหนที่เราอาจจะชอบสุดๆในระดับ A+30 เราก็คิดว่าหนังเรื่องนั้นน่าจะ “ลึก” กว่านี้ หรือไม่ก็ “กว้าง” กว่านี้ โดยความลึกนั้นอาจทำได้ในสองรูปแบบก็คือ

1.ลึกเข้าไปในชีวิตของพระรูปนี้ ซึ่งผู้สร้างหนังจะต้องใช้เวลาคลุกคลีกับพระรูปนี้มากพอสมควร เพื่อจะได้เก็บฟุตเตจพระรูปนี้ขณะออกบิณฑบาต และทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ และมีการสัมภาษณ์คนอื่นๆที่รายล้อมพระรูปนี้ อย่างเช่นสมาชิกครอบครัว พระคนอื่นๆในวัด เด็กวัด อุบาสกอุบาสิกา คนที่ใส่บาตรพระรูปนี้

ส่วนเรื่องการ balance ระหว่าง moment ที่ให้สัมภาษณ์กับ moment ที่นำเสนอชีวิตประจำวันนั้น เราว่าหนังสารคดีที่ balance สองสิ่งนี้ได้ดีมากๆคือเรื่อง ME FILIPINO (2014, อัครินทร์ เรืองเนาวโรจน์, A+30) ลองดูหนังเรื่องนี้ได้ที่ลิงค์นี่นะ ถ้ามีใครสนใจ

2.ลึกเข้าไปในประเด็นที่ให้สัมภาษณ์ คือเราอยากให้มีหนังเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่อาจจะมีการถกประเด็นเรื่องหลักธรรมะขั้นสูงไปเลย หรือพูดคุยกันในประเด็นที่เราไม่รู้มาก่อน อย่างเช่น อาบัติปาราชิกกับอาบัติปาจิตตีย์ต่างกันยังไง อะไรทำนองนี้ แต่ในการถกกันเรื่องหลักธรรมะขั้นสูงนั้น ผู้สร้างหนังอาจจะต้องศึกษาเรื่องธรรมะมาดีในระดับนึง หรือไม่ก็ต้องหาคนที่มีความรู้เรื่องนี้ดี อย่างเช่นคุณ Vichak Panich (ที่หล่อมากๆด้วย ฮิฮิฮิ) มาถกกับพระอย่างจริงจัง


3.หรือถ้าไม่ทำหนังที่ลึก ก็ทำหนังที่กว้างกว่านี้ก็ได้ อย่างเช่น สัมภาษณ์พระที่อยู่ใน “วัยหนุ่มฉกรรจ์” สัก 5 คน เกี่ยวกับสาเหตุที่ตั้งใจจะบวชไม่สึก 

THE BUDDHA STATUE OF MY MOTHER (Piyaphat Kambuatong, A+20)

เราพูดถึงหนังเรื่อง “พระของแม่” (ปิยพัทธ์ คำบัวทอง, A+20) กับ “เมื่อตัวหนังสือเป็นแนวขวาง ฉันได้แต่อ่านคอเอียง” (ปานวาด เจริญยศ, A+15) ในคลิปนี้https://www.youtube.com/watch?v=gZFaAVZuZWw
เราชอบหนังสองเรื่องนี้มากพอสมควร แต่เราคิดว่า “พระของแม่” มีปัญหาจุดนึงคล้ายๆกับ SEARCHING FOR MANIT (สรศักดิ์ เจริญดำรงเกียรติ) นั่นก็คือการพยายามย้ำประเด็นอะไรบางอย่างอย่างชัดเจนมากเกินไป นอกจากนี้ เรายังคิดว่า “พระของแม่” น่าจะมีการนำเสนอฉากที่แสดงความคิดความรู้สึกในใจแม่ด้วย ว่าทำไมแม่ถึงตัดสินใจแบบนั้นในช่วงต้นเรื่อง และเปลี่ยนมาตัดสินใจอีกแบบนึงในช่วงท้ายเรื่อง เพราะถ้าหนังไม่นำเสนอความคิดความรู้สึกในใจแม่ เราซึ่งเป็นคนดูจะไม่สามารถ reconcile กับตัวแม่ได้อย่างสนิทใจเหมือนตัวละครนางเอกในช่วงท้ายของหนังน่ะ ซึ่งจุดนี้จะแตกต่างจาก “เจ้าแม่กวนอิม...เราจะไม่ทานเนื้อ” HOME USER (วรรณฤดี พึ่งความชอบ, A+30) กับ SHE FLEW INTO THE SKY (ทวีวิทย์ กิจธนสุนทร, A+30) ที่การปิดบังเนื้อหาเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว กลับทำให้หนังสองเรื่องนี้มีเสน่ห์มากๆ แต่การที่หนังไม่ได้นำเสนอความรู้สึกในใจแม่ใน “พระของแม่” กลับทำให้หนังดูมีปัญหาสำหรับเรา ส่วน “เมื่อตัวหนังสือเป็นแนวขวาง ฉันได้แต่อ่านคอเอียง” เป็นหนังที่มีวัตถุดิบที่ดีมากๆๆ แต่หนังควรจะตัดต่อใหม่ให้ทรงพลังกว่านี้ และควรจะทำดนตรีประกอบใหม่ เอาแบบที่มันหลอนๆและจิตแตกแบบที่มักปรากฏในหนังของธีรภาส ว่องไพศาลกิจน่ะ คือเราว่าหนังเรื่องนี้ของปานวาดถ่ายออกมาได้ดีสุดๆแล้ว และถ้ามันตัดต่อใหม่กับทำดนตรีประกอบใหม่ มันจะกลายเป็นหนังที่ทรงพลังเทียบเท่ากับหนังอย่าง PHANTOM LOVE (2007, Nina Menkes) ได้เลย 

Sunday, July 26, 2015

THE MONTH OF MAY WON'T LAST FOREVER (2015, Wassaya Boonnudda, A+30)

THE JOURNEY OF FUNERAL CASTLE (Sudapa Kaoropthai, documentary A+30) รู้สึกว่าสายตาของหนังเรื่องนี้ดู objective ดี คล้ายๆกับสายตาในหนังเรื่อง OUR DAILY BREAD (2005, Nikolaus Geyrhalter) กับ IN COMPARISON (2009, Harun Farocki) นอกจากนี้ เรายังชอบที่หนังสารคดีเรื่องนี้เหมือนจะมี “ฉากไคลแมกซ์” ด้วย นั่นก็คือฉากที่เทวดากระดาษเหาะลงมาจากสวรรค์

ส่วน พบรัก PARK LOVE (ธนนท์ เลาหสุวรรณรัตน์, A+30) นี่ติดอันดับ guilty pleasure ประจำปีของเราแน่นอน และเหมาะจะฉายควบกับ “ออกกำลังรัก” (กมลรัตน์ ภักดีบาง, A) และ AB-STATION (Patiparn Surapinyo, B+ ) มากๆเพราะหนังสามเรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับความเงี่ยนของนักวิ่งจ๊อกกิ้งเหมือนๆกัน แต่เราชอบ “พบรัก PARK LOVE” มากที่สุด เพราะมันสะท้อนความเงี่ยนในใจเราได้ดีที่สุด ในขณะที่เราจะรำคาญตัวละครนางเอกใน “ออกกำลังรัก” และเราจะเกลียดตอนจบของ AB-STATION

แต่จริงๆแล้ว เราก็ไม่ได้ชอบพาร์ทหลังของ “พบรัก PARK LOVE” มากนักนะ ในส่วนที่มันเป็นหนังผีน่ะ เพราะเราเดาได้ตั้งแต่แรกๆอยู่แล้วว่ามันจะเฉลยยังไง แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกเบื่อมัน มันก็เลยไม่ได้ลดทอนความชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ลงมากนัก


พฤษภาไม่นานก็คลี่คลาย (วัศยา บุญนัดดา, A+30) ชอบตัวละครเกี๊ยวที่เป็นพนักงานร้านดีวีดีมากๆ (ถ้าหากเราจำชื่อไม่ผิด) คือเธอที่เป็นคนเปิดเผยและแฟร์ๆดี และเป็นคนที่พูดอะไรตรงไปตรงมา ไม่ทำอมพะนำ เก็บกดแบบนางเอก แล้วอีคนเก็บกดแบบนางเอกนี่แหละที่มักจะไปหงุดหงิดงุ่นง่านใส่คนอื่นๆทั้งๆที่คนอื่นๆไม่ได้ทำผิดอะไรด้วย เราชอบมากที่ตัวละครเกี๊ยวคุยกับนางเอกตรงๆเรื่องการรักผู้ชายคนเดียวกัน และชอบที่เธอสารภาพรักกับผู้ชายที่เธอชอบ และเราก็ชอบที่หนังนำเสนอตัวละครแบบนางเอกด้วย คือคนเรามันมักจะเป็นอย่างนี้จริงๆน่ะแหละ คือเวลาที่เราไม่สามารถพูดอะไรในใจออกไปได้ มันจะเกิดความชิบหายบางอย่างขึ้นในใจเรา และบางทีถ้าหากเราจัดการกับความรู้สึกเก็บกดในใจเราได้ไม่ดีพอ มันก็จะเกิดความชิบหายทั้งต่อตัวเราและคนใกล้ตัวเรา

ในขณะที่ปีนี้มีหนังที่ได้รับอิทธิพลจาก MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2013, Nawapol Thamrongrattanarit), หนังที่ได้รับอิทธิพลจากหนังของ Ratchapoom Boonbunchachoke และหนังที่ได้รับอิทธิพลจาก ENEMY (2013, Denis Villeneuve) ฉายไปแล้ว เราก็ดีใจสุดๆที่ปีนี้มีหนังสั้นไทยที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังที่เราชอบเป็นอันดับ 8 ของปีที่แล้วด้วย ซึ่งก็คือเรื่อง KRISTY (2014, Oliver Blackburn) และหนังสั้นเรื่องนั้นก็คือเรื่อง FALL TOGETHER (Nontarit Maniam, A+10) ที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับนักเรียนหญิงมัธยมที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากกลุ่มฆาตกรโรคจิตในโรงเรียน แต่น่าเสียดายที่ FALL TOGETHER ไม่ทรงพลังเท่ากับหนังอีกเรื่องหนึ่งของนนทฤทธิ์ ซึ่งก็คือเรื่อง ONCE UPON A TIME...IN THE NIGHT (A+30) เพราะเนื้อหาของ FALL TOGETHER ในส่วนที่เป็นฆาตกรโรคจิต มันเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดว่า “ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง” น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่เกิดความลุ้นระทึกใดๆทั้งสิ้น ในขณะที่พลังของ ONCE UPON A TIME...IN THE NIGHT มันเกิดจากการที่หนังมันเหมือนสารคดีมากๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุประหลาดขึ้นในหนัง เราก็เลยรู้สึกว่ามันดูสมจริงมากๆ ทรงพลังมากๆ น่าตื่นเต้นมากๆ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ FALL TOGETHER อาจจะไม่ทรงพลังเท่าใดนัก แต่เราก็ชอบนางเอกของเรื่องที่เล่นแบบทุ่มกายถวายชีวิตมากๆ และชอบการตัดต่อช่วงต้นเรื่องที่มันรุนแรงมากๆ และชอบรสนิยมของผู้กำกับด้วย ที่เลือกเอาหนังเรื่อง KRISTY มาดัดแปลง (ถ้าเข้าใจไม่ผิด)


มาอ่านหนังสือกันเถอะ (Watcharapol Saisongkroh, documentary, A+25) ที่เราไม่ให้ A+30 เพราะเราว่ามันยังขาดผู้ให้สัมภาษณ์อีกสักคนที่มีความรู้แน่นๆ หรือเป็นนักวิชาการอะไรทำนองนี้น่ะ คือผู้ให้สัมภาษณ์ 4 คนนี้ก็ทำหน้าที่ดีอยู่แล้วแหละ แต่เนื้อหาของหนังมันเหมือนยังไม่สมบูรณ์เต็มที่

WELCOME FOREVER มิตรต่างภพ (สราวุธ ราชจันทร์, A+30) คือหนึ่งในหนังที่ทำให้เราหัวเราะจนหยุดไม่ได้ในเทศกาลมาราธอนปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงท้ายของหนัง ที่กล้องแพนไปที่หน้าตึกตึกนึงและเราก็เห็น.... แล้วผู้ชมเกือบทุกคนในห้องฉายมาราธอนก็ร้องกรี๊ดสุดเสียงออกมา มันเป็น moment ที่หนักที่สุด moment นึงในประสบการณ์การดูหนังของเรา


TEMPERATURE OF ROOMTONE (Pamornporn Tundeaw, A+30)

THIS IS MY MOTHER (2015, Aticha Kanjanawat, A+30) เราไม่ค่อยชอบช่วงท้ายของเรื่องนะ คือเราว่าตัวละครนางเอกไม่ควรจะเจออะไรแบบนั้นในช่วงท้ายของเรื่องน่ะ แต่เราว่าส่วนอื่นๆของเรื่องดีมาก โดยเฉพาะการตัดสินใจของนางเอกที่ทิ้งแม่กับลูกของตัวเองเพื่อไปอยู่กับผัวใหม่ที่เป็นภารโรง คือถ้าเป็นเรา เราก็คงตัดสินใจแบบเดียวกับนางเอกหนังเรื่องนี้น่ะ และเราก็ดีใจมากๆเวลาที่เราได้เจอหนังที่ตัวละครตัดสินใจแบบเดียวกับเรา

TEMPERATURE OF ROOMTONE (Pamornporn Tundeaw, A+30) สุดยอดมากๆ ชอบมากๆที่นางเอกเขียนเรียงความเกี่ยวกับแม่ตัวเองได้อย่างซาบซึ้งมากๆ และลงท้ายเรียงความด้วยกาพย์กลอนที่บรรยายถึงพระคุณแม่ได้อย่างงดงามมากๆ ทั้งที่ชีวิตจริงของนางเอกตรงข้ามกับเรียงความที่ตัวเองเขียนส่งครู นี่แหละคือนางเอกที่ร้ายลึกในแบบที่เราต้องการ ประโยคสุดท้ายของหนังเรื่องนี้นี่กลายเป็นประโยคคลาสสิคประโยคนึงในใจเราไปแล้ว นอกจากนี้ เรายังชอบมากๆด้วยที่หนังเรื่องนี้มีส่วนคล้ายหนังเรื่อง UP DOWN FRAGILE (1995, Jacques Rivette) ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุดๆเช่นกัน

OUR ปลาทู (Sivaroj Kongsakul, A+30) งดงามมากๆ ชอบบรรยากาศของหนังเรื่องนี้มากๆ บรรยากาศของคู่หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ และกะหนุงกะหนิงกันริมชายหาด ศิวโรจณ์ยังคงเก่งสุดๆในการถ่ายทอดอารมณ์อ่อนหวาน อ่อนโยน ละมุนละไม เราว่าเขาคือหนึ่งในผู้กำกับหนังที่ให้อารมณ์ tender ที่สุดคนนึงในชีวิตเท่าที่เราเคยเจอมาเลยล่ะ โดยคู่แข่งของเขาอาจจะเป็น Shinji Soomai, Jun Ichikawa และ Yoshimitsu Morita ในแง่ของการทำหนังที่ให้อารมณ์อ่อนโยนมากๆๆๆๆ เหมือนกัน นอกจากนี้ เรายังรู้สึกอีกด้วยว่า จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันเข้ากับเพลง “เพียงแค่ใจเรารักกัน” ของวิยะดา โกมารกุล ณ นครมากๆด้วย ถึงแม้เพลงนี้จะไม่ได้ใช้ประกอบหนังเรื่องนี้ก็ตาม

BANANAPACKERS (นัฐพล ไหวพริบ, A+15) เราชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้หยิบเอาประเด็นในกระทู้ Pantip มาล้อเลียน นั่นก็คือการแข่งกันเที่ยวในราคาประหยัดที่สุด, ความภาคภูมิใจถ้าหากตัวเองได้โพสท์อะไรใน Pantip แบบนี้ และการถ่าย selfie ตัวเองตลอดเวลา คือเราว่าอันนี้มันเป็นประเด็นเล็กๆในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวเราดีน่ะ มันคือเรื่อง “อัตตา” ของการได้โพสท์อะไรบางอย่างต่อหน้าสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นการโพสท์ในเฟซบุ๊คหรือใน Pantip และไม่ว่าสิ่งที่เราโพสท์จะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหก บางทีเราก็ควรตั้งสติก่อนโพสท์ว่ามันเป็นการสนองอัตตาตัวเองหรือเปล่า ซึ่งจริงๆแล้วการสนองอัตตาตัวเองมันไม่ผิด เพราะเราก็ทำเหมือนกัน เพราะมันไม่ได้ทำให้เราหรือใครเดือดร้อน แต่สิ่งที่นางเอกหนังเรื่องนี้ทำก็คือ การสนองอัตตาตัวเองจนถึงขั้นที่ทำให้ตัวเองและเพื่อนเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น พอดูหนังเรื่องนี้แล้วมันก็เลยน่าสนใจดีว่า เราเคยทำแบบนั้นบ้างหรือเปล่า

อีกอย่างที่ชอบมากๆก็คือบทบาทของกะเทยในหนังเรื่องนี้ คือตอนแรกบทกะเทยในหนังเรื่องนี้ดูชั้นต่ำมาก ดูเป็นตัวตลกที่น่าเบื่อมากๆ แต่ไปๆมาๆ ตัวละครกะเทยเธอกลับกลายเป็นเหมือน  conscience หรือสามัญสำนึกของหนังเรื่องนี้ เราก็เลยชอบตรงจุดนี้ด้วย

CHU ป้าชู (Natpattarapol Jutikarnpanich, documentary, A+30) ชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้นำเสนอทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของป้าชู ซึ่งดูเหมือนเป็น “คนธรรมดาๆคนหนึ่ง” แต่หนังสามารถถ่ายทอดความยากลำบากของชีวิตออกมาได้ดีมากๆ โดยไม่ฟูมฟาย คือป้าชูมีพ่อเป็นอัมพฤกษ์ เธอต้องคอยเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวพ่อ และมีพี่สาวเป็นโรคออทิสติก ส่วนเธอทำงานเป็น “คนรีดผ้าประจำกองถ่ายละครทีวี” เราชอบ moment ที่กองถ่ายหนังสารคดีเรื่องนี้คอยติดสอยห้อยตาม “คนรีดผ้าประจำกองถ่ายละครทีวี” จนดาราบางคนในกองถ่ายงง คือดาราบางคนในกองถ่าย คงนึกว่ากลุ่มตากล้องเหล่านี้จะมาถ่ายดารา แต่ปรากฏว่าไม่ใช่จ้า กองถ่ายกลุ่มนี้เขามาติดตามถ่ายทำ “คนรีดผ้าประจำกองถ่าย” จ้ะ เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับดาราหรอก คือเราชอบมากๆที่ “คนธรรมดาๆ” และ “ชีวิตธรรมดาๆ” นี่แหละ กลายเป็นเหมือน “ดารา” ขึ้นมาได้ จนดาราตัวจริงอาจจะงงไปเลย 555


อีกจุดที่น่าสนใจมากๆ คือการที่หลายๆคนให้สัมภาษณ์ตรงกันในทำนองที่ว่า การที่ป้าชูได้ทำงานในกองถ่ายต่อไปเรื่อยๆนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอทำ “อารมณ์ดี” ใส่ทุกคนตลอดเวลา คือการทำ “อารมณ์ดี” ใส่คนอื่นๆตลอดเวลา มันกลายเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการมีชีวิตอยู่รอดในสังคมนี้ไปแล้ว

REMEMBERING FILMS FROM A UNIVERSITY IN SRISAKET

ในเทศกาลหนังมาราธอนปีนี้ ยังไม่เจอหนังจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเลย ปีนี้จะมีหนังจากมหาวิทยาลัยนี้ไหม เพราะปีที่แล้วหนังจากมหาวิทยาลัยนี้สุดยอดมากๆ ทั้ง 8 เรื่องที่ได้ฉายในงาน ซึ่งได้แก่เรื่อง

1.KHMER TALISMAN ของเขมร (Pissamai Duangnoi)
2.CHANGING POINT จุดเปลี่ยน (Tanachai Ponggun)
3.DEK HOR..N เด็กหอ...ย (Mathee Palasak)
4.MASK เปลือก (Tanachai Ponggun)
5.INDEED เพื่อนตาย (Pasiwat Boonrach)
6.LOST ICE สืบไอซ์ (Kiartisak Chueanin)
7.ย่าปู่เจ้า (Komsan Sornsan)
8.RUN E-LA RAN แลน อีหล่า แลน (Komsan Sornsan)

อันนี้เป็น channel ของหนังกลุ่มนี้


Thursday, July 23, 2015

IF YOU'RE A BIRD, I'LL BE YOUR SKY (2015, Wisuta Matanom, 39min, A+30)

--น่าสนใจดีว่าในขณะที่ปีนี้มีหนังหลายเรื่องที่เกี่ยวกับ “หญิงสาวสองคน” แต่หนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้ก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป หนังหลายๆเรื่องในกลุ่มนี้อาจจะทำให้นึกถึง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2013, Nawapol Thamrongrattanarit) แต่ก็มีบางเรื่องในกลุ่มนี้ที่มีความแปลก แตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง และอาจจะทำให้นึกถึงหนังเกี่ยวกับหญิงสาวสองคนเรื่องอื่นๆโดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ตั้งใจก็ได้ อย่างเช่นเรื่อง ANOTHER YOUNIVERSE จักรวาลของปรายแสง (Tinnashire Mongkolmont) ที่ฉากสองสาวเจอกันที่ม้านั่งที่สวนสาธารณะ และความพิสดารของหนัง ทำให้นึกถึง CELINE AND JULIE GO BOATING (1974, Jacques Rivette) ในขณะที่หนังสองสาวบางเรื่องก็ทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง W (Chonlasit Upanigkit) และ DAISIES (1966, Vera Chytilova) และในวันนี้เราก็ดีใจมากที่ได้พบกับหนังสองสาวอีกเรื่องหนึ่งที่ทำออกมาได้น่าประทับใจมาก ซึ่งก็คือเรื่อง IF YOU’RE A BIRD, I’LL BE YOUR SKY (วิสุตา มาถนอม, A+30) ที่ไม่ได้พาดพิงถึง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY แต่กลับทำให้นึกถึง ENEMY (2013, Denis Villeneuve) ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุดๆ

สิ่งที่ชอบมากใน IF YOU’RE A BIRD, I’LL BE YOUR SKY ก็คือเรื่องของการใช้เพื่อนในจินตนาการเพื่อปลอบประโลมความเหงาในใจตนเองน่ะ เราว่าหนังถ่ายทอดตรงจุดนี้ออกมาได้เจ็บปวดมากๆ และซึ้งมากๆ  และเราก็ชอบที่หนังตั้งคำถามเกี่ยวกับ “การฆ่าตัวตาย” ด้วย

--หนังอีกเรื่องที่เราชอบมากในวันนี้ คือเรื่อง ARNON FISH (อาทิตย์ ศิริทาวัง, A+15) เราว่ามันเป็นหนังที่กระตุ้นความคิดเราแบบเดียวกับ THE ASYLUM (Prapat Jiwarangsan) ที่ฉายเมื่อวานนี้น่ะ เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เนี้ยบมากนัก มันเหมือนหนังทดลองแบบบ้านๆดี เราชอบที่ตอนแรกมันดูเหมือนสารคดีบ้าๆบอๆ ที่คนทำเที่ยวไปถามชาวบ้านว่าจะหาปลาอานนท์ได้ที่ไหน แล้วหลังจากนั้นก็มีฉากพระเอกไปล่องเรือหาปลา พระเอกไหว้ศาลพระภูมิ แล้วก็กระโดดลงไปในสระน้ำ แล้วก็จมน้ำตายข้างศาลพระภูมิ คือสรุปว่าเราดูแล้วตอบไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในหนัง รู้แต่ว่าเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ และไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วหนังต้องการจะตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาหรือเปล่า

--ส่วนหนังที่เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกันในวันนี้คือ SEARCHING FOR MANIT (สรศักดิ์ เจริญดำรงเกียรติ, A+15) กับ THE WAY HOME (Norachai Kajchapanont, A+) เพราะเรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับพ่อที่กลับมาเยี่ยมบ้าน แล้วทำให้เกิดการฆาตกรรมอย่างรุนแรง ส่วนเรื่องที่สองเกี่ยวกับพ่อที่ใกล้ตาย ลูกชายเลยกลับไปเยี่ยมบ้าน และค่อยๆคืนดีกับพ่ออีกครั้ง คือหนังเรื่องแรกมันแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังในครอบครัว และ “ความไม่สามารถที่จะ reconcile อะไรกันได้อีกต่อไป” ส่วน THE WAY HOME นี่มันเป็นหนังที่ส่งเสริม reconciliation มากๆ และบทบาทของพ่อในหนังสองเรื่องนี้ก็ตรงข้ามกันอย่างรุนแรง

แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือว่า ในขณะที่โครงเรื่องหลักของ SEARCHING FOR MANIT มันเป็นอะไรที่เราชอบในระดับ A+30 แต่ผู้สร้างหนังกลับเลือก choice ผิดพลาดในบางจุด โดยเฉพาะในฉากจบที่เรารับไม่ได้อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+15 เท่านั้น ส่วน THE WAY HOME นั้นโครงเรื่องหลักเป็นอะไรที่เราเกลียดมากในระดับ F แต่เราว่าผู้สร้างหนัง/ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ตัดสินใจถูกมากใน choice ด้านการนำเสนอในหลายๆฉาก เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+ ในที่สุด

คือดู SEARCHING FOR MANIT แล้วเราอยากให้เขาเอามาสร้างใหม่ แล้วดัดแปลงให้มันดีๆน่ะ เราอยากให้เขาตัดฉากจบทิ้งไป แล้วก็ให้หนังเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูหนุ่มหล่อกับลูกศิษย์หนุ่มแทน คือเรามองว่า ตัวเด็กหนุ่มของหนังเรื่องนี้เป็นคนที่ขาดพ่อน่ะ เพราะฉะนั้นคุณครูหนุ่มคนนี้ น่าจะทำหน้าที่เป็นเหมือนพ่อของเขาได้ คือเรามักจะชอบหนังเกี่ยวกับ “ครอบครัวที่เราเลือกเอง” น่ะ เพราะในชีวิตจริง เราไม่สามารถเลือกพ่อแม่พี่น้องได้ มันเป็นสิ่งที่ชีวิตยัดเยียดให้เราโดยที่เราไม่ได้เลือก แต่ในบางครั้ง ชีวิตก็นำพาเราไปรู้จักคนดีๆ คนที่เราอยากให้เขาเป็น “พ่อ”, “แม่”, “พี่ชาย” หรือ “น้องชาย” เรา เพราะฉะนั้นพอเวลาที่เราดูหนังที่มีตัวละครที่มีปัญหาครอบครัวอย่างรุนแรง และตัวละครดูเหมือนจะได้รับความรักและความใส่ใจอย่างแท้จริงจากคนนอกครอบครัว อย่างเช่นเรื่อง SEARCHING FOR MANIT เราก็เลยพบว่ามันเข้าทางเรามากๆ แต่น่าเสียดายที่หนังไปเน้นประเด็นอะไรก็ไม่รู้ หนังมันก็เลยไม่ได้เข้าทางเราซะทีเดียว


สรุปง่ายๆก็คือว่า SEARCHING FOR MANIT มันมีตัวละครที่เข้าทางเรามากๆ นั่นก็คือตัวละครเด็กหนุ่มที่มีปัญหาครอบครัวอย่างรุนแรง และคุณครูหนุ่มหล่อที่อาจจะใส่ใจเขาอย่างแท้จริง หรืออาจจะใช้เขาเป็นเครื่องมือสนองอัตตาตัวเองอย่างหนึ่ง แต่หนังกลับไม่ได้นำตัวละครสองตัวนี้มาใช้ในแบบที่เราต้องการน่ะ (ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของหนังนะ) เพราะสิ่งที่เราต้องการก็คือ เราอยากให้หนังนำเสนอความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่นของตัวละครสองตัวนี้ ความสัมพันธ์ของคนที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเดียวกัน แต่สามารถทำหน้าที่ต่อกันได้ดีกว่าคนในครอบครัวเดียวกัน

Wednesday, July 22, 2015

CLEVER KID, THIS COUNTRY NEEDS YOU (Sarnt Utamachote, A+30)

วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดในเทศกาลมาราธอนปีนี้ มีหนังที่ชอบสุดๆเยอะมาก

--AT NAN (เชิดศักดิ์ สมัครลาน, A+15) เคยดูหนังเรื่อง DON’T LEAVE YOUR HOME (เชิดศักดิ์ สมัครลาน, A+30) ของผู้กำกับคนนี้ในปีที่แล้ว เราชอบ DON’T LEAVE YOUR HOME มากๆเพราะมันตลก เฮี้ยนๆ บ้านๆแบบหนังที่จะเจอได้ในเทศกาลมาราธอนเท่านั้น  ส่วน AT NAN กลายเป็นหนังที่ดู professional ขึ้นมาก ไม่ใช่หนังบ้านๆอีกต่อไป เราชอบที่ AT NAN มันถ่ายทอดทัศนียภาพของน่านในแบบหนังฆาตกรรม ทริลเลอร์ด้วย เพราะปกติแล้วหนังที่ถ่ายจังหวัดน่านมักจะเป็นหนังแนวโรแมนติก, อนุรักษ์ธรรมชาติ, อนุรักษ์วัฒนธรรม แต่หนังเรื่องนี้มันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆาตกรรมด้วย เราก็เลยรู้สึกว่ามันใช้โลเกชั่นจังหวัดน่านในแบบที่แตกต่างจากหนังสั้นเรื่องอื่นๆได้อย่างน่าสนใจดี

--THE ASYLUM (Prapat Jiwarangsan, A+30) เป็นหนังที่ดูแล้วตราตรึงสุดๆ กระตุ้นความคิดสุดๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจอะไรมันเลย หรือไม่แน่ใจเลยว่าเราเข้าใจมันถูกต้องหรือเปล่า ชอบหนังแบบที่เปิดกว้างทางการตีความแบบนี้มากๆ

--DARIKA (ธีระวิชช์ ศรีศิริ, A+20) ดูแล้วนึกถึงอารมณ์แบบ “รักโง่ๆ” (2013, Pantham Thongsang) บวกกับ “รักหมดแก้ว” (2014, Saranyoo Jiralak) เราว่าหนังทำออกมาได้ดีเลย และตัดสลับเวลาได้ดีด้วย แต่เหมือนหนังยัง “ขยี้อารมณ์” เราได้ไม่สุดน่ะ ก็เลยยังไม่ได้ชอบถึงขั้น A+30

--CLEVER KID, THIS COUNTRY NEEDS YOU (Sarnt Utamachote, A+30) เคยดูหนังเรื่อง PIECE OF HAT (2014, Thanchanok Thamjaraswong + Sarnt Utamachote, A+) ของผู้กำกับคนนี้ในปีที่แล้ว เราว่า PIECE OF HAT เป็นเหมือนหนังการเมืองที่ไม่ค่อยมี “พลังทางภาพยนตร์” เท่าไหร่น่ะ แต่เรื่อง CLEVER KID, THIS COUNTRY NEEDS YOU นี่เป็นหนังการเมืองที่สุดๆมาก, พิศวงมาก และกระตุ้นความคิดมากๆ เราชอบตัวละครหญิงชาวเยอรมันทุกตัวในหนังเรื่องนี้ ทั้งอาจารย์มหาลัยที่กำลังจะถูกมหาลัยสั่งปิดภาควิชา, บรรณารักษ์ที่ห้ามนิสิตอ่านหนังสือต้องห้าม,  หญิงสาวผู้ใช้นามแฝงว่า citizenthree และหญิงสาวที่ถูกผัวที่เป็นนักข่าวทิ้ง เพราะผัวไปติดใจหมอนวดชาวไทย การตัดต่อในหนังเรื่องนี้ก็ช่วยสร้างความพิศวงได้ดีมาก


รู้สึกเสียใจที่ Ratchapoom Boonbunchachoke ไม่มีหนังฉายในงานมาราธอนปีนี้ แต่โชคดีที่มีหนังการเมืองแนวพิศวงงงงวยช่วยไม่ได้แบบ CLEVER KID, THIS COUNTRY NEEDS YOU และ I HATE YOU, BUT I LIKE YOU TO STAY (2015, Teerath Whangvisarn) มาช่วยแก้ขัดไปได้บ้าง 555