Monday, December 31, 2018

DEAD AIR + OTW


DEAD AIR สิ้นลม (2018, Weerapat Emprasertsuk, 17min, A+30)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

งดงามสุดๆ หนังจับภาพหมาตัวนึงที่ดูเหมือนนอนหายใจร่อแร่ ใกล้ตาย ตัดสลับกับภาพแมกไม้ต่างๆที่บางทีก็หยุดนิ่ง บางทีก็ไหวติงอยู่ไกลๆ และช่วงครึ่งหลังของหนังก็กลายเป็นภาพมินิมัลของเส้นต่างๆที่ไหวติงไปเรื่อยๆ

หนังเหมือนเป็นการใคร่ครวญถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ซึ่งถ้ามองในด้านนี้ หนังก็จะมีจุดที่คล้ายกับ IN A BLUR OF DESIRE (2007, Araya Rasdjarmrearnsook) ที่จับภาพช่วงเวลาสุดท้ายของสัตว์ใกล้ตาย แต่ดีที่หนังเรื่องนี้กับวิดีโอของ Araya ใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป

DEAD AIR มีพลังสะกดจิตสูงมาก เราชอบทั้งช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของหนัง เราว่าช่วงครึ่งแรกของหนังเลือกเฟรมภาพได้งามมากๆ ซีนแมกไม้แต่ละซีนถ่ายออกมาได้งามมาก โดยเฉพาะซีนที่มีกิ่งไม้ไหวติงอยู่ไกลๆ เราว่าซีนนั้นเลือกถ่ายมาได้ดีมาก

ช่วงครึ่งหลังของหนังก็เป็นมรณานุสติที่ดีมากๆ

คุณ Weerapat เคยกำกับ MOTHER EARTH (2014, 16min) ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุดๆเหมือนกัน

ดู MOTHER EARTH ได้ที่นี่


OTW เพื่อน (ตาย) ร่วมทาง (2018, Nuttapol Sirirojjanananont, 23min, A+30)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

Cult จริงๆ 555 จริงๆแล้วอยากให้ช่วงกลางเรื่อง ที่เป็นตัวละครหนี มันยาวกว่านี้ หรือลุ้นระทึกกว่านี้ ส่วนการหักมุมในช่วงท้ายเรื่อง เราว่ามันดูมีความลักลั่นบางอย่าง เพราะมันถูกใส่เข้ามาเหมือนเพื่อ “หักมุม” ตามสิ่งที่หนัง genre นี้มักทำกัน แต่มันเหมือนไม่ได้ถูก hint มาก่อนหน้านี้อย่างดีพอ

TAKASHI MAKINO


THE LOW STORM (2009, Takashi Makino, Japan, 15min, A+30)

เสียงพายุ, ภาพของคลื่นทะเล, ภาพของนกบิน, ภาพของนกบินท่ามกลางพายุที่เกิดจาก visual effects เหล่านี้คือสิ่งที่จะพบได้ในหนังเรื่องนี้

รู้สึกว่า Takashi Makino เก่งมากในการเลือก “โทนสี” สำหรับหนังเรื่องต่างๆ ของเขา เหมือนหนังเรื่องต่างๆของเขามันไม่มีเนื้อเรื่องอยู่แล้ว มันมีแต่ภาพกับบรรยากาศ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะคล้ายกับหนังของ Teeranit Siangsanoh แต่หนังของ Teeranit จะไม่มีการใช้ visual effects ในขณะที่ Makino จะปรับโทนสีของแต่ละซีนให้ออกมาดูงดงามสุดๆในหนังเรื่องต่างๆของเขา

หนังของ Takashi Makino เรื่องนี้ยังคงงดงามเหมือนเรื่องอื่นๆ แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะมี “พลังสะกดจิต” น้อยกว่าเรื่องอื่นๆของเขา

INTER VIEW (2010, Takashi Makino, Japan, 23min, A+30)

หนักมาก เหมือน 10 นาทีแรกเป็นภาพจอสีฟ้าที่มีร่องรอยกระดำกระด่างปรากฏบนหน้าจอให้เห็นเป็นระยะๆ ท่ามกลางเสียงดนตรีที่หลอกหลอนสุดๆ แล้วพอเข้าสู่นาทีที่ 15 เราถึงเพิ่งเห็นภาพลางๆเหมือนกับวิวที่ถ่ายจากหน้าต่างรถไฟ ก่อนจะมีภาพนกบินหรือภาพอะไรอื่นๆตามมา

เป็นหนังที่ไปสุดทางอีกเรื่องนึงจริงๆ ชอบความไม่ประนีประนอมของมันมากๆ

GHOST OF OT301 (2014, Takashi Makino, Japan, 9min, A+30)

ช่วงครึ่งแรกของหนังนี่หลอกหลอนที่สุด ทั้งดนตรีประกอบ ทั้งภาพมันหลอกหลอนมากๆ แต่พอเข้าสู่ช่วงครึ่งหลัง เราถึงค่อยเห็นภาพลางๆของชาวบ้านฝรั่ง เหมือนกับเป็น found footage จากเมื่อ 50 ปีก่อน และดนตรีก็ค่อยๆผ่อนคลายลง

เหมือนเป็นการผสมผสานกันระหว่างความหลอกหลอนจาก SUSPIRIA (2018), การใช้ found footage แบบ Peter Tscherkassky และ music video FOREVER BLUE (1989) ของ Swing Out Sister


Sunday, December 30, 2018

WHY COLONEL BUNNY WAS KILLED (2010, Miranda Pennell, UK, 27min, A+30)


WHY COLONEL BUNNY WAS KILLED (2010, Miranda Pennell, UK, 27min, A+30)

1.ถึงแม้หนังจะตั้งชื่อเรื่องว่า WHY COLONEL BUNNY WAS KILLED แต่พอดูจบแล้ว เราก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใดว่า เพราะเหตุใดเขาถึงถูกฆ่า เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Colonel Bunny เป็นใคร และเหตุฆาตกรรมเขาเป็นอย่างไร เพราะหนังไม่ได้เล่าถึงเหตุการณ์นั้นเลย หนังไม่ได้พูดถึง Colonel Bunny อะไรเลยด้วย นอกจากว่ามีภาพถ่ายสถานที่แห่งหนึ่งปรากฏขึ้นมาในช่วงกลางของหนัง และมีคำเขียนไว้ใต้ภาพถ่ายนั้นว่า นี่เป็นจุดที่ Colonel Bunny ถูกฆ่า

2.หนังทั้งเรื่องเหมือนเป็นการผสมผสานองค์ประกอบสามอย่างเข้าด้วยกัน นั่นก็คือภาพถ่ายเมื่อราว 100 ปีก่อนของกองทหารอังกฤษในแถบอินเดีย/อัฟกานิสถาน/ปัญจาบ หรืออะไรทำนองนี้, เสียง voiceover ที่หยิบเอาบางส่วนจากหนังสือ AMONG THE WILD TRIBES OF THE AFGHAN FRONTIER (1908, Theodore Leighton Pennell) มาเล่าให้ผู้ชมฟัง และเสียง sound effects ที่ทรงพลังมากๆ

3.องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวสุดๆ และแต่ละองค์ประกอบก็ยอดเยี่ยมมากๆด้วย โดยในส่วนของภาพถ่ายนั้น กล้องมีการโฟกัสไปยัง background เลือนๆในบางภาพ ซึ่ง background เลือนๆนั้นเป็นรูปของคนรับใช้ชาวพื้นเมือง ซึ่งน่าจะเป็นชาวอัฟกัน/อินเดีย/ปัญจาบ

การเลือกโฟกัสอะไรแบบนี้ มันทำให้เกิดอารมณ์ thriller ขึ้นมาได้ดีมาก ในแง่นึงมันทำให้นึกถึงหนังเรื่อง TRAIN OF SHADOWS (1997, José Luis Guerin,Spain) ที่นำเอาฟุตเตจหนังเก่าที่ดูเหมือนไม่มีอะไรสลักสำคัญ มาสำรวจตรวจสอบ เพ่งพินิจพิจารณาใหม่ เพื่อดูว่ามันบ่งชี้ถึงเบาะแสการหายตัวไปของคนคนหนึ่งในทศวรรษ 1920 ได้หรือเปล่า  และมันทำให้นึกถึงหนังเรื่อง BLOW-UP (1966, Michelangelo Antonioni) ด้วย ที่เป็นการเอาภาพถ่ายสวนสาธารณะมาส่องขยาย เพื่อหาเบาะแสฆาตกรรมหรืออะไรทำนองนี้

4.เสียง voiceover ที่เป็นการเอาบันทึกในปี 1908 มาเล่าใหม่ ก็น่าสนใจมากๆ เพราะมันเล่าถึงความขัดแย้งด้านศาสนาตั้งแต่ปี 1908 ซึ่งพอได้ยินเรื่องราวความขัดแย้งในปี 1908 แล้ว มันก็เลยแทบไม่น่าประหลาดใจที่ Afghanistan จะกลายเป็นประเทศที่น่ากลัวสุดๆในอีก 100 ปีต่อมา

5.เสียง sound effects นี่ยอดเยี่ยมสุดๆ ออกแบบมาได้ดีงามมากๆ เพราะหนังทั้งเรื่องมันเป็น “ภาพนิ่ง” น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องพึ่งพาการไหลเลื่อนของเสียง, การสร้างบรรยากาศความเคลื่อนไหวผ่านทางเสียง นี่แหละ ที่จะช่วยให้หนังเรื่องนี้มันดูไม่หยุดนิ่งได้

JANE, HAIRAT, MIA AND THE WHITE LION


JANE (2017, Brett Morgen, USA, documentary, A+30)
HAIRAT (2017, Jessica Beshir, Ethiopia/USA, 7min, A+30)
MIA AND THE WHITE LION (2018, Gilles de Maistre, France/South Africa, A+20)

ดูหนังเรื่อง HAIRAT ได้ที่นี่

ช่วงนี้อยู่ดีๆก็ได้ดูหนังเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า” 3 เรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็เลยเขียนรวบยอดไปเลย โดย JANE เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับมนุษย์กับลิงชิมแปนซี, HAIRAT เป็นหนังเชิงกวีเกี่ยวกับมนุษย์กับไฮยีน่า ส่วน MIA AND THE WHITE LION เป็นหนัง fiction เกี่ยวกับเด็กสาวกับสิงโต

1.ชอบ JANE มากที่สุดใน 3 เรื่องนี้ เราทึ่งกับเรื่องราวใน JANE มากๆ รู้สึกว่า subject เป็นคนที่กล้าบ้าบิ่นแบบเดียวกับตัวละครใน KON-TIKI (2012, Joachim Ronning, Espen Sandberg, Norway) และ GORILLAS IN THE MIST (1988, Michael Apted)

ชอบการเรียนรู้ของ Jane Goodall ในระหว่างการทำงานด้วย ทั้งเรื่องวิธีการผูกมิตรกับลิง, การจัดการกับลิงหัวขโมย, การรักษาความปลอดภัยให้ลูก, การระบาดของโรคโปลิโอ และเรื่องที่หนักที่สุดคือเรื่องที่ลิงชิมแปนซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองโดยแทบไม่มีเหตุผล ซึ่งมันเป็นอะไรที่ทำให้ทั้ง Jane และเราต่างก็ช็อคไปตามๆกัน คือ Jane คงพึ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมา และอาจจะคิดว่าคงมีแต่มนุษย์ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันได้แบบนั้น (เราก็คิดแบบเดียวกัน) แต่พอมาเจอลิงชิมแปนซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองนี่ มันเป็นอะไรที่ทำให้เรามอง “ธรรมชาติ” แตกต่างไปจากเดิมมากๆ

2.HAIRAT เป็นหนังเชิงกวีเกี่ยวกับผู้ชายที่ผูกพันกับหมาไฮยีน่ามานาน 30 กว่าปี แต่แทนที่หนังเรื่องนี้จะเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมาแบบ documentary เหมือน JANE หรือแบบ fiction เหมือน MIA AND THE WHITE LION หนังเรื่องนี้กลับเลือกที่จะไม่เล่าเรื่อง แต่แค่จับ moments ระหว่าง subject กับไฮยีน่าขณะอยู่ด้วยกัน ใส่บทกวีเข้าไปในหนัง และพยายามเน้นบรรยากาศของหนัง

คือถ้าเราดูหนังเรื่องนี้พร้อมกับหนังทดลองเรื่องอื่นๆ หนังเรื่องนี้อาจจะไม่โดดเด่นมากนัก แต่พอมาดูหนังเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับการดู JANE และ MIA เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า เรื่องราวประเภทเดียวกัน มันสามารถนำเสนอออกมาใน form หรือ style ที่แตกต่างกันได้ เราไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องราวแบบนี้ด้วยการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมาก็ได้ และเราสามารถเพิ่ม layer อะไรอื่นๆซ้อนทับเข้าไปในหนังแบบนี้ได้ด้วย

3.MIA AND THE WHITE LION นี่เป็นหนังที่ทำให้เราทึ่งในแบบเดียวกับ PIHU (2018, Kapri Vinod, India, A+30) คือทึ่งในแง่ที่ว่า มันถ่ายทำกันได้ยังไง คือ PIHU เป็นหนังที่ถ่ายเด็กตัวเล็กๆขณะเผชิญกับอันตรายต่างๆนานาจากข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ส่วน MIA AND THE WHITE LION นี่ก็ให้เด็กๆคลุกคลีกับสิงโตตลอดเวลา และเราเดาว่ามันคงไม่ใช้ special effects สร้างภาพสิงโตขึ้นมาหรอกนะ มันคงใช้สิงโตจริงๆในการถ่ายทำน่ะแหละ และเราก็เลยทึ่งมากๆว่า มันถ่ายทำกันได้ยังไง คือถ้าให้เงินเราหลายล้านบาทในการแสดงหนังเรื่องนี้ เราก็คงต้องขอคิดหนักก่อนรับแสดงอยู่ดี กลัวว่าไม่ใช่แสดงอยู่ดีๆอีสิงโตเกิดตะปบหน้าเราขึ้นมา แล้วเราจะตบอีสิงโตกลับไปยังไง

จริงๆแล้วชอบทั้ง setting และการถ่ายทำใน MIA นะ เราว่า setting มันแปลกตาดีที่เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสิงโต เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอะไรแบบนี้อยู่บนโลกนี้ด้วย คือบ้ามาก ไปสร้างบ้านอยู่ในฟาร์มที่มีสิงโตเป็น 10-20 ตัววนเวียนอยู่รอบบ้าน คือมึงอยู่กันเข้าไปได้ยังไง  ส่วนการถ่ายทำก็น่าสนใจดี เพราะกล้องมันดูลื่นไหลมากๆ

แต่เรารู้สึกว่า MIA AND THE WHITE LION มันมีการ romanticize สัตว์ป่ามากเกินไปยังไงไม่รู้ คือถ้ามองหนังเรื่องนี้ด้วยสายตาของคดียิงเสือดำในไทย หนังเรื่องนี้ก็มีจุดยืนที่ถูกต้องมาก แต่เรารู้สึกว่าคนบางคนมัน romanticize สัตว์มากเกินไปน่ะ และหนังเรื่องนี้ก็อาจจะดูเหมือนเข้าข่ายนั้นอยู่บ้าง ซึ่งต่างจาก JANE, HAIRAT และ GRIZZLY MAN (2005, Werner Herzog) ที่ subjects ของหนังมีความหลงใหลในสัตว์ป่าอย่างรุนแรงก็จริง แต่ตัวหนังมันไม่ได้ปฏิเสธความโหดร้ายของสัตว์ป่าแต่อย่างใด

REWIND FORWARD (2017, Justin Stoneham, Switzerland, documentary, 24min, A+30)


REWIND FORWARD (2017, Justin Stoneham, Switzerland, documentary, 24min, A+30)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

หนังสารคดีที่เราเคยพลาดดูที่ Reading Room เพราะเราป่วยในวันที่หนังฉาย โชคดีที่หนังเรื่องนี้มีให้ดูใน VIMEO

เราชอบดูหนังแบบนี้ เพราะเราเป็นคนที่ป่วยด้วยโรคต่างๆเกือบตลอดเวลา ทำให้ไม่มีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป พอได้มาดูหนังเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคต่างๆที่หนักหนาสาหัสกว่าเราหลายเท่า มันก็เลยทำให้เราพอมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง

ดูแล้วก็รู้สึกว่า ชีวิตมนุษย์มันหนักหนาสาหัสจริงๆ ตัวแม่ของผู้กำกับนี่ดูสวยสดใส ชีวิตดีงามเพียบพร้อมมากๆ แต่อยู่ดีๆก็เป็น brain stroke ขึ้นมาทั้งๆที่ยังอยู่ในวัยสาว แล้วหลังจากนั้นร่างกายก็เป็นอัมพาตซีกขวา และพิการไปเลยตลอดชีวิต ลูกชายกับลูกสาวบางคนก็ไม่อยากดูแลแม่อีกต่อไป ชีวิตคนเรานี่มันไม่แน่นอนจริงๆ

ผู้กำกับเหมือนมีตราบาปฝังใจมานานหลายปี เพราะเขาเคยเจอตา, ยาย, แม่ (ที่พิการ) โดยบังเอิญในวันหนึ่ง แต่เขาก็ขี่จักรยานผ่านเลยไป ไม่ยอมทัก และการที่เขาตัดสินใจไม่ยอมทักในวันนั้น มันก็เลยเหมือนเป็นตราบาปฝังในใจเขา

TRANQUIL (2007, Takashi Makino, Japan, 19min, A+30)


TRANQUIL (2007, Takashi Makino, Japan, 19min, A+30)

หนังสะกดจิตขั้นสูงมาก เหมือนภาพในหนังเป็นแค่ภาพแมกไม้มืดๆที่นำมา superimposed กับภาพสายน้ำมืดๆ และเหมือนจะมีเงาของพระจันทร์อยู่ในสายน้ำ ท่ามกลางเสียงดนตรีที่หลอกหลอนสุดๆ แต่หนังสามารถทำให้ภาพและเสียงเหล่านี้กลายเป็นอะไรที่ทรงพลังมากๆไม่แพ้หนังของ Enzo Cillo, Scott Barley, Philippe Grandrieux และ Tanatchai Bandasak

แต่เราคิดว่าถ้าหากตัด visual effects ทางด้านภาพและเสียงใน TRANQUIL ออกไปให้หมด เราก็อาจจะได้หนังของ Teeranit Siangsanoh 555 เพราะภาพแมกไม้ในหนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึง HOME COMPUTER (2011, Teeranit Siangsanoh, 19min), ภาพสายน้ำมืดๆในหนังเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึง “ชลลดาและหน้าหนู (2015, Teeranit Siangsanoh) ส่วนภาพพระจันทร์หรือแสงสว่างอะไรสักอย่างในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้นึกถึง (..........) (2012, Teeranit Siangsanoh, 35min)

FRIENDLY DISCORD PROGRAM YEAR 2


Films in FRIENDLY DISCORD program YEAR 2           

1.VICIOUS CIRCLE วงจรอุบาทว์ (Ajmal Rerngsamut, A+30)

เนื้อหาแรงมาก ชอบความ feel bad ของหนังมากๆ หนักจริงๆ ชอบการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลาด้วย แต่จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องแบบเป็นเส้นตรงก็ได้นะ เพราะเนื้อหามันรุนแรงมากอยู่แล้ว แต่การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลามันทำให้หนังสนุกขึ้น และผู้ชมต้องตั้งใจดูหนังมากยิ่งขึ้น

2.ONE MORE TIME (Sutthikan Puntawee, Sakaowrat Weerawutikrai, Chefadia Chearwae, A+30)

หนังเลสเบียนมุสลิม ชอบความเข้มแข็งและมั่นใจของนางเอก สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า กลุ่มนักแสดงวัยเด็กกับกลุ่มนักแสดงวัยผู้ใหญ่นี่หน้าตาไม่เหมือนกันเลย ไม่รู้ว่าตั้งใจให้ตลกหรือเปล่า แต่ชอบมากๆที่หนังไม่แคร์เรื่องความสมจริงด้านหน้าตาในจุดนี้

3.45 องศา DOG EYE’S VIEW (Chanatip Thongjun, Astapon Piriya, A+30)

ชอบวิธีการเล่าเรื่องผ่านสายตาของสุนัข

4.OUR WAR ความแตกร้าว (วาลิด นาวินพัฒนรัตน์, ชมพูนุช ทองแป้น, อัสรีนา อารง, A+30)

หนังเดือดมาก เรื่องวัยรุ่นชายทะเลาะกันเพราะการล้อเลียนด้านศาสนา หนังถ่ายทอดอารมณ์คุกรุ่น ปะทุ เหมือนมีเชื้อไฟในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

5.LINE (วิภาวนี อักษรชู, A+30)

หนังเกย์มุสลิม จริงๆแล้วรู้สึกว่าหนังมีจุดที่ไม่น่าพอใจอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็น guilty pleasure เรื่องนึงประจำปีนี้ เพราะเหตุการณ์บางอย่างในหนังเป็นสิ่งที่เคยเกิดกับตัวเราตอนเป็นวัยรุ่น

6.อาลิส (นูรฮายาตี ยูโซ๊ะ, คัสมีนี วานิ, A+25)

สาวมุสลิมอยากเล่นฟุตบอล แต่โดนชาวบ้านบางคนครหานินทา ชอบที่หนังหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูด

7.KAWAE KAWAN (ซูไฮมี ยะโกะ, A+25)

ชอบความเป็นธรรมชาติของหนังเรื่องนี้มากๆ ชอบที่หนังแทบไม่มี conflict อะไรเลยด้วย เพราะเนื้อเรื่องพูดถึงหนุ่มมุสลิมจากกรุงเทพที่ย้ายมาภาคใต้ และเขาพูดภาษายาวีไม่ได้ เพื่อนๆใหม่ของเขาก็เลยค่อยๆสอนภาษายาวีให้เขา เราชอบมากที่หนังเลือกที่จะนำ “เรื่องราวในชีวิตประจำวัน” มาเล่า โดยไม่พยายามใส่ conflicts เข้าไปเพียงเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของหนังทั่วๆไป

8.สัมผัสที่อบอุ่น (อับดุลการีม หะมะ, อิรฟาน รีดน, เฟอร์ดินันด์ ยือโร๊ะ, A+5)

เรื่องของหนุ่มมุสลิมจากกรุงเทพที่ย้ายมาอยู่ภาคใต้พร้อมด้วยความรู้สึกหวาดระแวงเหตุร้ายแรงตลอดเวลา เราว่าหนังมีส่วนคล้าย “KAWAE KAWAN” แต่เรื่องนี้ดูไม่เป็นธรรมชาติมากเท่า KAWAE KAWAN

9.สะพานแห่งศรัทธา (ซาการียา แม, A+)

10.สติ (ฮาฟิช หละบิลลา, A-)

SANGNUAL LAP PROGRAM


Films seen for the first time in the program “HERE AND NOWADAYS, WE ARE AT THE MOMENT RIGHT NOW” at Sangnual Lap

1.FRIENDSHIP ENDED WITH MUDASIR  NOW SALMAN IS MY BEST FRIEND (Tewprai Bualoi, A+30)

เหมือนเป็นการเล่าเรื่อง 6 ต.ค. 2519 โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆ โดยเลียนแบบวิธีการสร้าง meme ใน internet ชอบการพูดถึง “กลุ่มนวพล” ที่มีบทบาทในช่วง 6 ต.ค. 2519 โดยการใช้ภาพของนวพลมากๆ ไม่รู้คิดขึ้นมาได้ยังไง 555

2.STORIES IN MY DRUGSTORE (Rattakhate Puksuk, A+30)

เป็นหนังทดลองที่นำเสนอภาพอะไรก็ไม่รู้ เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับเครื่องบดยา และภาพที่เราเห็นในหนังก็ดูเป็นนามธรรมมากๆ ประหลาดมากๆ ดูไม่ออกจริงๆว่ามันคือภาพอะไร

แต่เราชอบหนังแบบนี้มากๆ ในแง่นึงมันก็คือหนังกลุ่ม “กระทำชำเราฟิล์ม/วิดีโอ” แบบหนังอย่าง “หมาแดงบ่ไซ” (1999, Phaisit Phanphruksachat), DAMAGED UTOPIA (2013, Chulayarnnon Siriphol), C REGENERACIONES (1999, Antoni Pinent, Spain) และ WHAT THE WATER SAID NOS. 13 (1997-1998, David Gatten) น่ะ ที่ศิลปินมักจะนำฟิล์ม/วิดีโอไปผ่านกระบวนการพิลึกพิลั่นต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพแปลกๆออกมา

3.NI R A Su Ni R A n- (Aka Tongpunt, A+25)

เนื้อหาของหนังอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวในกลุ่มเพื่อน ซึ่งคนนอกดูแล้วคงไม่เข้าใจ แต่ก็ชอบ form หรือ style ของหนังมากๆ เพราะหนังเรื่องนี้ใช้ voiceover เป็นเสียงคนอ่านนิราศ ที่เราฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง  ส่วนภาพที่เห็นในหนังก็เป็นเหมือนบันทึกกิจกรรมของกลุ่มเพื่อน แต่มีการตกแต่งภาพด้วยตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นและสไตล์เก๋ๆต่างๆ ทำให้ดูเพลินๆได้

4.THE DEATH OF THE OTHER (Karnchanit  Posawat, A+25)

เหมือนหนังแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเป็นการพูดถึงกิจกรรมเช็งเม้งและความตาย ส่วนที่สองเป็นการบันทึกภาพวิวทิวทัศน์ในเยอรมนี ถ้าเข้าใจไม่ผิด

ชอบช่วงกลางมากๆ ตอนที่มันจะตัดจากช่วงแรกเข้าสู่ช่วงที่สอง โดยช่วงนี้เป็นภาพถ่ายกลุ่มเครือญาติทื่ยืนกันอยู่ที่ฮวงซุ้ย ภาพนึงจะมีชายหนุ่มยืนด้วย แต่อีกภาพจะไม่มีชายหนุ่มยืนอยู่ด้วย และมีการเลือนภาพทั้งสองเข้าหากัน เราว่าช่วงนี้ดูงดงามมากๆ

จริงๆแล้วเหมือนมีหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่พูดถึงกิจกรรมเช็งเม้ง โดยเฉพาะหนังอย่าง “ในหนึ่งปีมีหนึ่งวัน” (ONCE IN A YEAR) (2014, Teeraphan Ngowjeenanan) เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบที่ THE DEATH OF THE OTHER มันใส่ part ของ Germany เข้ามาด้วย เพราะมันช่วยให้หนังเรื่องนี้มีความโดดเด่น แตกต่างไปจากหนังสั้นไทยเรื่องอื่นๆที่นำเสนอกิจกรรมเดียวกัน

5.LAST ACT CALLED LOVE (Aim Thavornsiri, A+25)

ไม่สามารถบรรยายอะไรใดๆได้ 555

6.THE PILLOWMAN CAN ONLY DREAM (Quinn Lum, Singapore, A+15)

7.THE LIGHTS WENT OUT (Adar Ng, Singapore, A+15)

8.“SHINING” FROM THE SERIES OF PHOTOGRAPHY “LOOK OVER (THROUGH THE PARALLEL UNIVERSE)” 2017-2018 (Au Tammarat, A+15)

9.IN LOVE BUT SUFFER (Anukul Chueamon, A+10)

WAVES + DROWNING DEW


WAVES (2018, Samak Kosem, video installation, approximately 37min, A+30)

ดูแล้วนึกถึงหนังไตรภาคชุด SUN (2012, Teeranit Siangsanoh, 163min) มากๆ เพราะหนังไตรภาคชุด SUN เป็นการบันทึกกิจวัตรประจำวันของคนในภาคใต้ โดยเฉพาะกิจวัตรของคนที่ชายหาด แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า WAVES เหมือนมีประเด็นเรื่อง “การต่อต้านถ่านหิน” เป็นแกนกลาง ในขณะที่ SUN ดูเหมือนจะไม่มีประเด็นเรื่องสังคมการเมืองใดๆที่เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้เลย เพราะฉะนั้นหนังไตรภาคชุด SUN ก็เลยดูเป็นอะไรที่นามธรรมกว่ามากๆ

คือเวลาที่เราดูหนังไตรภาคชุด SUN ของ Teeranit นั้น เรามองดูคนเล่นน้ำที่ชายหาดไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่าหนังต้องการจะส่งสารอะไรใดๆ แต่เวลาเราดูฉากคนเล่นน้ำที่ชายหาดใน WAVES ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรไปจากฉากใน SUN นั้น เราเหมือนจะดูฉากดังกล่าวด้วยความคิดที่ว่า “ถ้าหากมีเหมือง, โรงไฟฟ้า, โรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งบริเวณนี้ แล้วประชาชนจะยังเล่นน้ำที่ชายหาดได้เหมือนเดิมหรือเปล่านะ” เพราะฉะนั้นฉากที่เหมือนกันมากๆใน WAVES กับSUN ก็เลยให้อารมณ์ที่แตกต่างกันในการดู มันเหมือนกับอารมณ์ที่ได้จากการดู SUN มันอยู่ในรูปของก๊าซ ส่วนอารมณ์ที่ได้จากการดู WAVES มันอยู่ในรูปของ “ของเหลว” หรืออาจจะเปรียบเทียบได้ว่า การดู SUN มันเหมือนกับว่า Teeranit ให้ “แป้ง” เรามา แล้วเราจะเอาแป้งนั้นไปทำขนมอะไรก็ได้ ส่วนการดู WAVES นั้นเหมือนกับว่า เราได้กินขนมเค้กที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว

DROWNING DEW (2017, Art Labor, Truong Que Chi, Do Van Hoang, Vietnam, video installation, approximately 35min, A+30)

ชอบสุดๆ วิดีโอนี้แบ่งออกเป็น 6 ตอน ซึ่งได้แก่ BONES, DEATH, CROW, CHARCOAL, GRASSHOPPER และ DEW ซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นการนำเสนอชีวิต/วัฒนธรรม/ประเพณี/ความเชื่อ ของชาวบ้านในพื้นที่เฉพาะเจาะจงพื้นที่หนึ่งในเวียดนาม ขณะที่พื้นที่นั้นเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากการสร้างเขื่อนหรือการทำไร่กาแฟหรือโลกสมัยใหม่ อะไรทำนองนี้ ชอบตอน CROW มากๆ ที่เป็นเหมือนพิธีกรรมประหลาดอะไรสักอย่าง ถ้าจำไม่ผิด

ตอน BONES ทำให้นึกถึง MELANCHOLY OF A VIDEO (2013, Ukrit Sa-nguanhai) เพราะทั้ง MELANCHOLY OF A VIDEO และ BONES เหมือนจะนำเสนอกิจวัตรประจำวันหลักของหนุ่มๆในชนบทในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือการขี่มอเตอร์ไซค์ โดยไม่ใช่การขี่เพื่อทำงานหรือเพื่อเดินทาง แต่ขี่เล่นๆไปเรื่อยๆ

ตอน DEW ก็ติดตามากๆ ที่เป็นชาวบ้านไปรอรับน้ำค้างจากใต้ต้นไม้ใหญ่

DREAM (2018, Wachara Kanha, documentary, A+30)


DREAM (2018, Wachara Kanha, documentary, A+30)
ความฝัน

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

เหมือนเป็นการนำเอาสารคดี 3-4 เรื่องมาผสมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งได้แก่สารคดีเกี่ยวกับคนไร้บ้าน, คนเลี้ยงนก, คนชรา, ชาวประมง และความฝันของคนต่างๆ โดยภาพส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้คือภาพจากสารคดีคนชราและชาวประมง  และมีการใช้เสียงสัมภาษณ์จากหนังสารคดีเหล่านี้ด้วยราว 30% แต่เสียงอีก 70% ที่เหลือในหนังเป็นเสียงสัมภาษณ์บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับความฝันของพวกเขา โดยความฝันในที่นี้คือความฝันในตอนนอนหลับ ที่สะเปะสะปะ, ไร้เหตุผล, ไร้คำอธิบายใดๆ

เพราะฉะนั้นภาพกับเสียงในหนังก็เลยสอดคล้องกันบ้าง และไม่สอดคล้องกันบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะได้เห็นภาพหนุ่มๆชาวประมงทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย และได้ฟังเสียงของคนต่างๆพูดถึงความฝันของตัวเองควบคู่ไปกับภาพหนุ่มประมงเหล่านั้น

รู้สึกว่าการผสานสองส่วนที่ไม่สอดคล้องกันเข้าด้วยกันในหนังเรื่องนี้ มันก็ดี แต่มันก็ไม่ได้เข้ากันแบบสุดๆนะ คือเราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับชาวประมง หรือคนชราไปเลย มันอาจจะ “จืด” ไปหน่อย คือเราก็จะได้แต่เนื้อหาที่น่าสนใจ แต่ภาพในหนังที่ตรงไปตรงมากับเนื้อหา ก็อาจจะทำให้หนังเหมือนขาดพลังอะไรบางอย่าง

การนำเสียงที่ไม่เข้ากับภาพมาใช้ในหนังเรื่องนี้ มันก็เลยช่วยเพิ่มพลังให้กับหนังได้เป็นอย่างดี ถึงแม้มันจะยังไม่ลงตัวแบบสุดๆก็ตาม

LOVE (2019, Wachara Kanha, 28min A+30)
สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิ

--เข้าใจว่าหนังน่าจะเริ่มเผยแพร่ต่อสาธารณชนในปี 2019 เราก็เลยใส่ปีของหนังเป็นปี 2019

1.เหมือนเป็นหนังเรื่องแรกในรอบหลายปีของวชร ที่เป็น fiction ที่ใช้นักแสดงมาแสดงแบบจริงๆจังๆ เพราะก่อนหน้านี้วชรเคยทำหนัง fiction มาบ้างในช่วงปี 2010 ในช่วงที่ทำหนังส่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย อย่างเช่น “คำพิพากษาของความรัก” (THE JUDGE) (2010, 25min) แต่หลังจากนั้นวชรก็หันมาทำหนังทดลองเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องราว fiction แบบ narrative เหมือนหนังทั่วๆไป เพิ่งจะมีหนังเรื่องนี้นี่แหละที่น่าจะเป็น narrative fiction เรื่องแรกในรอบ 6-7 ปีของวชร ถ้าจำไม่ผิด

2.เข้าใจว่าหนังมีส่วนที่เป็น autobiography อยู่ราว 70-80% และมีส่วนที่เป็น “ความเหนือจริง” อยู่อีก 20-30% ซึ่งเราชอบมากๆที่หนังใส่ความเหนือจริงเข้ามาด้วย เพราะมันช่วยให้หนังไม่แบนเกินไปจนเป็น autobiography

3.ชอบที่ setting หลักในหนังมันง่ายดี เป็นแค่คู่รักคุยกันขณะรอให้สุกี้เดือด โดยที่บทสนทนาในหนังน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ต่างๆในชีวิต ซึ่งการพึ่งพิงประสบการณ์จริงเป็นหลักแบบนี้ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีก็คือมันสมจริง, เป็นธรรมชาติ, เป็นการบันทึก slice of life ได้ดีมากๆ แต่ข้อด้อยก็คือ มันเหมือนยังขาดพลังอะไรบางอย่างที่จะช่วยให้มันรุนแรงได้มากกว่านี้ คือเหมือนผู้สร้างหนังกับ “สิ่งที่หนังพูดถึง” มันใกล้กันมากเกินไป จนมันขาดแง่มุมบางอย่างที่จะช่วยให้หนังทรงพลังมากขึ้น ถ้าหากมันถูกนำเสนอด้วยแง่มุมที่ถอยห่างออกมาหน่อยจากตัว subjects

4.ถ้าเทียบกับหนังไทยด้วยกัน เราก็ชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆนะ ชอบความที่หนังมันดูเหมือนง่ายๆ สบายๆ (ในแง่การถ่ายทำ) แต่สามารถบันทึกความเศร้า ความเจ็บปวดบางอย่างของชีวิตจริงได้ดี

แต่ถ้าหากเทียบกับหนังต่างประเทศแล้ว เราว่าอะไรแบบนี้ยังพัฒนาได้อีกนะ โดยดูได้จากหนังอย่าง THE LONG DAY CLOSES (1992, Terence Davies, UK) ที่เป็น autobiography เหมือนกัน แต่ทำออกมาเป็นแบบ poetic มากๆ และมันทรงพลังสุดๆ

หรือถ้าหากจะทำหนังแบบนักแสดงคุยกันไปเรื่อยๆแล้ว เราว่าหนังของ Eric Rohmer, Mike Leigh อะไรแบบนี้ ก็น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการศึกษาว่า จะทำหนังที่ตัวละครคุยกันให้ออกมา “เข้มข้น” หรือทรงพลังได้มากกว่านี้ได้อย่างไร

Sunday, December 23, 2018

TEN YEARS THAILAND


TEN YEARS THAILAND (2018)
--SUNSET (Aditya Assarat, A+30)
--CATOPIA (Wisit Sasanatieng, A+30)
--PLANETARIUM (Chulayarnnon Siriphol, A+30)
--SONG OF THE CITY (Apichatpong Weerasethakul, A+30)

1.ขี้เกียจเขียน เพราะรู้สึกว่าอ่านที่คนอื่นๆเขียนแล้วดีกว่าเยอะเลย 555 ถ้าพูดถึงภาพรวมแล้วก็ชอบหนังมาก แต่ไม่ได้มีอะไรที่ surprise เราอย่างรุนแรง เหมือนก่อนที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ เราได้รู้เรื่องย่ออะไรต่างๆมาบ้างแล้ว และได้อ่านคำวิจารณ์จากเมืองนอกไปบ้างแล้ว เราก็เลยเกิดจินตนาการของตัวเองหลังจากได้รู้เรื่องย่อ/คำวิจารณ์ แล้วพอเข้าไปดูหนังจริงๆ ก็พบว่าหนังจริงๆมันไม่ได้มีอะไรแตกต่างหรือ surprise เรามากนัก เมื่อเทียบกับจินตนาการของเราหลังจากได้รู้เรื่องย่อ/คำวิจารณ์เหล่านั้น 555 ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็น “หนังสั้น” 4 เรื่องด้วยมั้ง เพราะฉะนั้นมันก็เลยเหมือนกับว่าเรื่องย่อ/คำวิจารณ์ต่างๆที่ได้อ่านมา มันสามารถบรรยายครอบคลุมหนังสั้นแต่ละเรื่องได้เกือบหมด แต่ถ้าหากมันเป็นหนังยาว มันก็จะมีอะไรหลายๆส่วนที่เรื่องย่อ/คำวิจารณ์ บรรยายครอบคลุมได้ไม่หมด

2.จริงๆแล้วชอบ 4 เรื่องในระดับใกล้เคียงกันมาก ถ้าให้เลือกเรื่องที่ชอบที่สุดก็อาจจะเป็น PLANETARIUM แต่ก็ชอบมากกว่าอีก 3 เรื่องแค่กระจึ๋งเดียวเท่านั้น 555 แต่เรื่องที่ surprise ที่สุดคือ CATOPIA เพราะปกติแล้วเราจูนไม่ติดกับหนังของ Wisit โดยเฉพาะหนังอย่าง KAMELIA: IRON PUSSY (2010, Wisit Sasanatieng) ที่เป็นหนังแนว omnibus เหมือนกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหนังที่เราจูนไม่ติดเลย แต่ปรากฏว่า CATOPIA นี่จูนติดมากๆ ทั้งๆที่มันก็อาจจะไม่ได้ดีกว่าอีก 3 เรื่องที่เหลือ การที่เราจูนติดกับหนังของ Wisit เรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ประหลาดใจที่สุดสำหรับเรา 555 ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่า เรามักจะจูนติดกับหนังที่มีพลังของ “ความเกลียดชัง” ด้วยมั้ง เราก็เลยจูนติดกับหนังเรื่องนี้ได้ง่าย

3. SUNSET งดงามดี ทหารหล่อน่ารักจังเลย 555 ดูแล้วนึกถึงพวกหนังอย่าง 6 TO 6 (2010, Aditya Assarat, 20min) เพราะ 6 TO 6 ก็โฟกัสไปที่ตัวละครชนชั้นแรงงานเหมือนกัน, มีความ gentle มากๆเหมือนกัน และเหมือนมีความเป็นการเมืองเหมือนกัน แต่ความเป็นการเมืองใน 6 TO 6 ดูจางมาก หรืออาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้ แต่ SUNSET นั้นเป็นการเมืองตรงๆ

ดูแล้วก็แอบนึกถึงความหวาดกลัวของตัวเองเวลาเขียนถึงภาพยนตร์ไทย/งานศิลปะไทยต่างๆ อย่างล่าสุดก็คือเวลาเขียนถึงภาพวาดของ Pachara Piyasongsoot สองภาพที่เราชอบสุดๆที่ ARTIST+RUN คือกลัวว่าเวลาเขียนถึงอะไรแบบนี้ แล้วจะมีคนที่มีความคิดทางการเมืองตรงข้ามกับเรามาอ่านเจอ แล้วไม่พอใจ ก็เลยไปแจ้งตำรวจ/ทหารให้ไปแบนงานนั้นซะ

นึกถึงนิทรรศการภาพวาดงานนึงด้วย ที่เราชอบสุดๆ แต่เราตัดสินใจไม่ลงภาพจากนิทรรศการนั้นใน facebook ของเราเลย เพราะเรากลัวว่ามันอาจจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยทั้งต่อตัวเราเองและต่อตัวศิลปินได้ ถ้าหากอยู่ดีๆมีใครจ้องจะหาเรื่องอะไรขึ้นมา เหมือนเราอยู่ในยุคล่าแม่มดเมื่อ 400-500 ปีก่อนจริงๆ จะทำอะไรก็ไม่แน่ใจว่ามันจะถูกใครหาเรื่องใส่ร้ายได้ง่ายๆหรือเปล่า

เราไม่มีปัญหากับวิธีการนำเสนอทหารในหนังเรื่องนี้นะ เพราะเราเป็นโรคบ้าผู้ชายหล่อๆ 555 แต่เราก็ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่กำกับโดยยุทธนา มุกดาสนิท หรือกำกับโดยผู้กำกับนิรนามที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักแนวคิดทางการเมืองของเขามาก่อน เราจะดูหนังเรื่องนี้ด้วยความคลางแคลงใจมากกว่าเดิมหรือเปล่า คือมันเหมือนกับว่า เราดูหนังเรื่องนี้ด้วยความสบายใจ เพราะเราค่อนข้างมั่นใจในแนวคิดทางการเมืองของผู้กำกับ แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้กำกับโดยคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราจะดูหนังเรื่องนี้ด้วยความสบายใจเท่านี้มั้ย เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

4.CATOPIA จริงๆแล้วเราว่ามันเหมือนหนังสั้นแนวเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเมื่อ 7-8 ปีก่อนมากๆ เพียงแต่มันปรับแต่งรูปโฉมโนมพรรณใหม่ให้เป็นหนังไซไฟเก๋ๆ คือเมื่อ 7-8 ปีก่อน มันจะมีหนังสั้นอย่าง สี THE COLOUR (2010, Panja Saitong, 20min) และ “แปลกแยก” (2011, Akkapon Ritjitpian) ที่เล่าเรื่องของพระเอกที่ต้องคอยปกปิดแนวคิดทางการเมืองของตัวเอง เมื่ออยู่ในสังคมที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับเขา โดยพระเอกของ THE COLOUR นั้น ต้องเปลี่ยนสีเสื้อของตัวเองไปเรื่อยๆ เวลาเดินผ่านย่านต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของเขา

แต่เนื่องจากเราชอบ THE COLOUR และ “แปลกแยก” มากๆ เราก็เลยไม่มีปัญหาอะไรกับการที่ CATOPIA มีอะไรบางอย่างคล้ายๆกับหนังสั้นเหล่านั้น

5.PLANETARIUM ชอบที่ visual ของเข้มันแปลกแตกต่างจากหนังสั้นอีก 3 เรื่องไปเลย มันก็เลยดูโดดเด่นดี

แต่จริงๆแล้วมันก็มีลักษณะเป็น “เข้ Megahit” เหมือนกันนะ เพราะมันมีทั้งส่วนที่มาจาก PLANKING (2011), MYTH OF MODERNITY (2013) และฉากการเต้นรอบกองไฟในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งใน FORGET ME NOT (2018) ด้วย

ฉากการจับคนในหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงประสบการณ์ตอนรัฐประหารในปี 2014 ด้วย ที่เพื่อนคนนึงโดนจับไป

6.SONG OF THE CITY เหมือนเราชอบหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเยอะ หลังจากได้อ่านที่คนอื่นๆเขียน 555 เพราะตอนที่ดู เราคาดหวังว่ามันจะมีอะไรเฮี้ยนๆ เหวอๆมากกว่านี้ ปรากฏว่าไม่มีเลย เหมือนหนังมันนิ่งเรียบมากๆ แต่พอได้มาอ่านที่บางคนเขียนว่ามันทำให้นึกถึงอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยไม่มีอะไรพัฒนาไปเลย ทุกอย่างยังดูเงียบเหงาเศร้าซึมเหมือนเดิม อยู่ภายใต้ความเชื่อแบบเดิม เราก็เลยชอบหนังมากขึ้น

ความนิ่งเรียบของหนังเรื่องนี้ทำให้ดูแล้วนึกถึงหนังบางเรื่องของพี่เจ้ย อย่าง THE ANTHEM (2006) และ METEORITES (2007) ที่ภายนอกดูนิ่งเรียบมากๆเหมือนกัน แต่ก็อาจจะเปิดโอกาสให้คนดูแต่ละคนตีความอะไรได้เยอะภายใต้ฉากหน้าที่นิ่งเรียบนั้น

การที่ SONG OF THE CITY โฟกัสไปที่อนุสาวรีย์และภาพปูนปั้น ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง BRUTALITY IN STONE (1961, Alexander Kluge, Peter Schamoni, documentary) ด้วย เพราะ BRUTALITY IN STONE เป็นการสำรวจสถาปัตยกรรมในยุคนาซี และแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมในยุคนั้น หรือ scale ต่างๆที่ใช้ในสถาปัตยกรรมในยุคนั้น มันส่องสะท้อนการเหยียดมนุษย์อย่างไรบ้าง หรือสะท้อนความเชื่อ-แนวคิดทางการเมืองอย่างไรบ้าง

7.สรุปว่าชอบ TEN YEARS THAILAND มากๆ แต่เอาจริงๆแล้วก็ไม่มีหนังเรื่องไหนใน 4 เรื่องนี้ที่ wavelength ตรงกับเราอย่างรุนแรง คือถ้าหากพูดถึงหนังการเมืองไทยที่ wavelength ตรงกับเรามากที่สุดในปีนี้ มันก็คงต้องเป็น THE GIRL (2018, Jittrapa Bumroongchai) เพราะเราว่า THE GIRL มันมีความขึ้งเคียด/เกลียดชัง/ทุกข์ทรมานบางอย่างที่เราจูนติดกับมันมากๆ ซึ่งเป็น wavelength แบบที่เรามักจะพบในหนังของ David Cronenberg ด้วย