Thursday, March 29, 2018

AQUATORIUM

AQUATORIUM (2017, Chanasorn Chaikitiporn, 30min, A+30)
เมืองบันดาล

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ยอมรับไว้ก่อนเลยว่าเราดูแล้วไม่เข้าใจ และไม่สามารถตีความอะไรได้ แต่ก็จัดเป็นหนังที่ชอบสุดๆอยู่ดี เพราะมันมีพลังของมันเองมากพอสมควร และมันก็ thought-provoking มากในระดับนึง

2.ช่วงแรกๆนึกว่าหนังเรื่องนี้จะมาแนว SNAP (2015, Kongdej Jaturanrasamee) ที่ให้ตัวละครหนุ่มสาวคุยกันใน aquarium  หรือไม่ก็อาจจะเหมือนกับหนังสั้นไทยหลายๆเรื่อง ที่ให้ตัวละครหนุ่มสาวสองคนที่เคยเป็นเพื่อนกัน แต่ไม่ได้เจอกันมานาน มาพบปะพูดคุยกัน โดยให้ฉากตัวละครคุยกันนี้เป็นการสะท้อน background หรือประวัติชีวิตของตัวละครทั้งสอง

แต่พอดูไปถึงกลางเรื่อง ก็พบว่าเราคิดผิด หนังเรื่องนี้มี “ของ” หรือมี idea แปลกใหม่ที่น่าสนใจเป็นของตัวเอง เราพบว่าบทสนทนาของตัวละครแทบไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของตัวละครเลย เพราะตัวละครหลักคุยกันแต่เรื่อง “สถานที่แห่งนี้เปลี่ยนไปหรือเปล่า” ซึ่งเราก็จะแอบคิดในใจว่า “มันสำคัญยังไงวะ” 555 คือ AQUARIUM แห่งนี้จะเหมือนหรือไม่เหมือนกับเมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว มันสำคัญยังไง การเปลี่ยนแปลงหรือการไม่เปลี่ยนแปลงของมันนำพาไปสู่อะไร

คือเราว่าบทสนทนาของตัวละครมันก็เลยน่าสนใจมากในระดับนึงน่ะ คือดูเผินๆแล้วมันดูเป็นอะไรที่ไร้สาระและน่าเบื่อ แต่พอตัวละครมันย้ำคิดย้ำทำกับประเด็นนี้มากผิดปกติ มันก็เลยเป็นสิ่งที่ thought-provoking ขึ้นมา ถึงแม้เราจะตีความมันไม่ออกก็ตาม

มันมีประเด็นอื่นๆในบทสนทนาของตัวละครด้วยนะ อย่างเช่น เรื่อง “การไม่ต้องรู้สึกอะไร ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะมองเรายังไง” แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าประเด็นต่างๆที่ตัวละครพูดถึง อันไหนมีความหมายลึกซึ้งซ่อนแฝงอยู่บ้างหรือเปล่า

3.แต่สิ่งที่ชอบมากเวลาดูไปจนถึงกลางเรื่อง ก็คือว่า เรารู้สึกว่า climax ของหนังเรื่องนี้ คือฉากสูบบุหรี่ กับฉากทาลิปสติกน่ะ เราว่าสองฉากนี้มันมีการตัดต่อที่เร้าอารมณ์ขึ้นมา และเราก็ชอบมากๆที่อยู่ดีๆ climax ของหนังกลายเป็นสองฉากนี้ ซึ่งเป็นฉากของตัวละครประกอบ ไม่ใช่พระเอกนางเอกของเรื่อง และจริงๆแล้วกิจกรรมสองอย่างนี้ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมธรรมดา แต่หนังสามารถทำให้การสูบบุหรี่และการทาลิปสติกกลายเป็นอะไรที่ดูรุนแรงขึ้นมาได้

เราชอบที่อยู่ดีๆหนังพลิกกลายมาเป็นแบบนี้น่ะ มันทำให้เราพบว่า เราคิดผิดในตอนแรก หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเหมือน SNAP หรือหนังสั้นไทยแนว realistic หรือ romantic หลายๆเรื่อง แต่มันเป็นหนังที่มีกลิ่นอายแบบ absurd คือเหตุการณ์ต่างๆในหนังไม่ได้ดูเหนือจริง ตัวละครทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่หนังสามารถสร้างอารมณ์ของความผิดปกติ หรือความไม่ธรรมดาออกมาได้ ผ่านทางการกระทำของตัวละคร อย่างเช่น การเข้าห้องน้ำแบบผิดเพศ, การสูบบุหรี่ด้วยลีลาที่ไม่ธรรมดา และการพูดคุยถึงประเด็นที่ดูเหมือนไร้สาระซ้ำไปซ้ำมา

4.ถึงเราจะตีความหนังเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เราว่าหนังพยายามพูดถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพอยู่บ้างนะ แต่เราไม่รู้ว่ามันเป็นประเด็นหลักหรือประเด็นรอง หรือต้องการนำเสนอทัศนคติอะไรหรือต้องการจะบอกอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้กันแน่ เราสังเกตเห็นแต่ว่า หนังพูดถึงประเด็นนี้ผ่านทางการสลับคู่กันไปมาของตัวละครประกอบ, การสูบบุหรี่+ทาลิปสติกแบบ homoerotic, การพูดถึงม้าน้ำ และการถ่ายรูปนางเงือกกับพระอภัยมณีแบบสลับเพศ

5.ชอบช่วงท้ายของหนังมากๆ ถึงแม้ไม่รู้ว่าต้องการจะบอกอะไรคนดู เราสังเกตเห็นแค่ว่าช่วงท้ายของหนังดูเผินๆเหมือนเป็นภาพสารคดีธรรมดาที่บันทึกภาพคนมาเที่ยว aquarium แต่มันน่าสนใจตรงที่ว่า มันมีคนหลายจำพวกปรากฏตัวในช่วงท้ายน่ะ ทั้งพลเรือน-ทหาร-พระ, เด็ก-หนุ่มสาว-ผู้ใหญ่-คนชรา และมีคนพิการด้วย

พอหนังจบด้วยซีนแบบนี้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่าหนังต้องการบอกอะไร คนใน aquarium นี้เป็นตัวแทนของ “คนในสังคม”, หรือว่าหนังต้องการเปรียบเทียบ aquarium นี้กับ “ภาพยนตร์” หรือว่าหนังต้องการทำให้เรานึกถึงวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ฯลฯ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่า ความหมายของช่วงท้ายของหนังคืออะไร แต่เราว่ามัน thought-provoking ดีน่ะ และเราว่ามันทำให้ “สถานที่” กลายเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งของเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และทำให้นึกถึงหนังอย่าง ECLIPSE (1962, Michelangelo Antonioni) ด้วย ที่ตัวละครพระเอกนางเอกจะหายไปจากช่วงท้ายของเรื่องอย่างไม่มีสาเหตุ และเราจะเห็นแต่ซีนสถานที่ต่างๆในช่วงท้ายของเรื่องเท่านั้น

6.ชอบการตั้งกล้องในหลายๆฉากด้วย คือนอกจากบทภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้จะซ่อนประเด็นที่น่าคิดไว้แล้ว หนังยังออกแบบการถ่ายซีนแต่ละซีนได้ดีด้วย เพราะในหลายๆฉากของหนังเรื่องนี้ กล้องจะตั้งนิ่งๆอยู่ในจุดหนึ่งของห้อง และตัวละครจะเดินเข้ามาในเฟรม และเดินไปมาอยู่ในภายในเฟรมนั้น คือเหมือนผู้กำกับต้องวางแผนไว้ดีแล้วน่ะ ว่าตัวละครจะเดินไปไหนมาไหนบ้าง และผู้กำกับก็ต้องวางเฟรมภาพไว้ในหัวเป็นอย่างดีให้สอดรับกับการกระทำของตัวละคร และกำหนดจุดตั้งกล้องที่สอดรับกับการกระทำของตัวละครและเฟรมภาพนั้น คือเราชอบที่หนังเรื่องนี้มี “การคิด” เยอะมากน่ะ ทั้งคิดเรื่องบท, การตั้งกล้อง, การวางเฟรมภาพ

7.ตอนดูจะแอบสงสัยด้วยนะ ว่าตัวละครประกอบ 4 คนกับตัวละครหลัก 2 คนมันสะท้อนหรือมันซ้อนทับกันหรือเปล่า เพราะหนังไม่เคยให้เราเห็นตัวละครประกอบกับตัวละครหลักในเวลาเดียวกัน (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) เราก็เลยไม่แน่ใจว่า จริงๆแล้วนิสิตหนุ่มกับนิสิตสาว 2 จาก 4 คนที่เราเห็น อาจจะเติบโตขึ้นมากลายเป็นพระเอกนางเอกในเวลาต่อมาก็ได้ เพราะหนังก็ย้ำอยู่แล้วว่า aquarium นี้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย 555

คือเราว่าหนังอาจจะไม่ได้จงใจทำให้เราคิดถึงอะไรแบบนี้นะ แต่พอหนังมันเล่นกับ “ตัวละครที่ใช้สถานที่เดียวกัน แต่ไม่ได้เจอกัน” แบบนี้ เราก็เลยนึกถึงหนังแบบ THE POWER OF KANGWON PROVINCE (1998, Hong Sang-soo) ขึ้นมาน่ะ และเราก็เลยพยายามหาทางเชื่อมตัวละครเข้าด้วยกัน โดยที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ

8.สรุปว่า เราชอบอารมณ์ absurd ของหนังเรื่องนี้มากๆเลยน่ะ เราว่ามันทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังไทยหลายๆเรื่อง และมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง

ถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ คือนอกจากหนังเรื่องนี้มันจะทำให้เรานึกถึง ECLIPSE แล้ว มันยังทำให้เรานึกถึงหนังของ Tsai Ming-liang ที่เล่นกับสถานที่ อย่าง GOODBYE DRAGON INN (2003) และ FACE (2009) ด้วย รวมทั้งนึกถึงหนังมาเลเซียที่มีกลิ่นอาย absurd ของ James Lee เรื่อง THE BEAUTIFUL WASHING MACHINE (2004) และ BEFORE WE FALL IN LOVE AGAIN (2006) หรือหนังไทยเรื่อง UNDER THE BLANKET (2008, Tossapol Boonsinsukh) ที่มีตัวละครทำอะไรประหลาดๆในท้องฟ้าจำลอง

แต่ถ้าหากพูดถึง “อารมณ์” ของ AQUATORIUM แล้ว เราว่ามันเป็น absurd แบบ “แห้งๆ” น่ะ ซึ่งมันจะใกล้เคียงกับหนังของ James Lee มากที่สุด

9. ถ้าหากจะถามว่า มีอะไรที่ควรพัฒนาหรือปรับปรุงบ้าง เราก็ตอบได้ยากเหมือนกันนะ คือเราไม่มีปัญหากับการที่เราไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้ หรือไม่สามารถตีความหนังเรื่องนี้ได้ แต่เราก็รู้สึกว่าหนังยังขาด “พลังรุนแรง” หรือขาด magic ที่รุนแรงอะไรบางอย่างน่ะ แต่วิธีการที่จะทำให้หนังมีพลังรุนแรง หรือมี magic ตราตรึงใจนี่ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไง

ถ้าหากเทียบกับหนังของผู้กำกับคนอื่นๆแล้ว เราก็ยอมรับว่า เราก็ไม่ได้ชอบ “อารมณ์แห้งๆ” แบบหนังเรื่องนี้หรือหนังของ James Lee มากนักนะ เราว่าหนังของผู้กำกับคนอื่นๆมันมีอารมณ์อื่นๆมาช่วย “หล่อลื่น” หนังให้ดูเพลินน่ะ อย่างเช่นหนังของ Tossapol Boonsinsukh มันจะมีอารมณ์ “น่ารักๆ cute cute” มาช่วยหล่อลื่นไว้ตลอด, หนังของ Tsai Ming-liang มันก็จะมีอารมณ์ขันมาช่วยหล่อลื่นไว้บ้าง ส่วนหนังของ Michelangelo Antonioni นั้นมันมี magic ที่มหัศจรรย์มากๆอยู่ในนั้น หนังมันก็เลยทรงพลังมากๆ

สรุปว่าชอบ AQUATORIUM แบบสุดๆ แต่ก็คิดว่ายังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกในหนังเรื่องต่อๆไปจ้ะ

Friday, March 23, 2018

INVALID THRONE


INVALID THRONE (2018, Jakrawal Nilthamrong + Kamjorn Sankwan, A+30)

ไม่รู้เป็นเพราะว่ามันฉายด้วย “ฟิล์ม” หรือเปล่า ตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้เราก็เลยนึกไปถึง “หนังเก่าๆ”

เราจะนึกถึงหนัง 3 เรื่องด้วยกัน ซึ่งก็คือ BARAKA (1992, Ron Fricke) , THE LAST WAVE (1977, Peter Weir) กับ WALKABOUT (1971, Nicolas Roeg) สาเหตุเป็นเพราะว่า

1.ตัวละครของคุณกำจรในหนังเรื่องนี้ มันมีลักษณะคล้าย “ชนพื้นเมือง” ที่ผูกพันกับ “ธรรมชาติ” และเขาถูกคุกคามด้วย “คนนอก ที่มาพร้อมกับ “civilization” และ “เงินทุน” น่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยนึกถึง “ชนพื้นเมือง” ในหนังอย่าง BARAKA, THE LAST WAVE และ WALKABOUT โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ “ผู้ร้าย” ใน INVALID THRONE มันเป็น “บริษัทออสเตรเลีย” ด้วย มันก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังออสเตรเลียที่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างคนขาวและชาวอะบอริจินอย่าง THE LAST WAVE และ WALKABOUT โดยไม่ได้ตั้งใจ

2.เราว่า “ธรรมชาติ” ในหนังหลายๆเรื่องของคุณจักรวาล มันมีลักษณะลี้ลับ มันมีพลังแบบ mystic หรือมันมีพลัง “จักรวาล” แบบชื่อผู้กำกับอยู่ด้วยน่ะ 555 ซึ่งรวมถึงหนังเรื่องนี้ด้วย คือธรรมชาติในหนังของเขามันไม่ใช่ธรรมชาติแบบสารคดี NATIONAL GEOGRAPHIC น่ะ แต่มันมีพลังที่เลยพ้นจากวิทยาศาสตร์แฝงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเราก็เลยนึกไปถึงหนังอย่าง BARAKA และ THE LAST WAVE ที่อาจจะมีอะไรแบบนี้เหมือนกัน

ในรูปนี้ ช่องซ้ายบนเป็น BARAKA, ขวาบนเป็น THE LAST WAVE, ซ้ายล่างเป็น WALKABOUT ส่วนขวาล่างเป็น INVALID THRONE

KAMJORN SANKWAN (2018, Jakrawal Nilthamrong + Kamjorn Sankwan, video installation, A+30)

ชอบเรื่องของพระที่อวัยวะเพศแข็งตัวมากๆ

THE ICEBERG (2018, Wachara Kanha, video installation, A+30)
ภูเขาน้ำแข็ง                                              

เราว่ามันน่าสนใจมากๆที่หนังเรื่องนี้กับหนังเรื่อง “พรุ่งนี้ยังมีอีกไหม” (FREEZE) (2018, Wachara Kanha) ใช้ภาพเคลื่อนไหวชุดเดียวกัน แต่ใช้ voiceover คนละอันกัน แล้วมันเลยกลายเป็นหนังสองเรื่องที่ไม่เหมือนกัน แต่ดีมากๆทั้งคู่ โดย FREEZE เป็นหนังเชิงกวี+ทดลอง ส่วน THE ICEBERG เป็นหนัง essay เกี่ยวกับการเมือง+ประวัติศาสตร์ ทั้งๆที่ภาพในหนังสองเรื่องนี้เป็นภาพชุดเดียวกัน แต่หนังสองเรื่องนี้ก็กลายเป็นหนังคนละเรื่อง คนละ genre กัน เพราะ voiceover กลายเป็นตัวกำกับทิศทางและประเภทของหนังแต่ละเรื่อง

WHERE ARE YOU? I AM HERE. (2017-2018, Paisarn Am-Pim + Thitiya Lao-an, video installation, A+30)

1. “หมอนรถไฟ” ของจริง ชอบมากๆที่ video installation อันนี้เอา “หมอน” มารองรางรถไฟ โดยหมอนเหล่านี้มาจากชุมชนของคนในภาคอีสานที่ถูกไล่ที่เพราะจะเอาที่มาสร้างทางรถไฟ

2.ชอบการ “บันทึกสภาพบ้านเมือง” ของวิดีโอนี้มากๆ ดูแล้วนึกถึงหนังอย่าง FROM THE EAST (1993, Chantal Akerman)

Thursday, March 22, 2018

SCENE AND LIFE (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)


SCENE AND LIFE (2018, Boonsong Nakphoo, A+30)
ฉากและชีวิต

1.ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เราหลับไปประมาณ 20 นาทีแรกของหนัง เพราะร่างกายเราเพลียมาก เพราะฉะนั้นเราก็เลยพลาด 3 ฉากแรกของหนังไป (ฉากหนุ่มสาวคุยกันขณะตกปลา, ฉากคนคลานในทุ่งนา, ฉากเด็กๆมาสัมภาษณ์ป้าคนนึง หรืออะไรทำนองนี้)  แต่ถ้าจะให้เราดูรอบสองแล้วค่อยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ เราก็กลัวว่าเราอาจจะไม่มีเวลาดูรอบสอง เพราะตารางชีวิตเราแน่นเอี้ยดมากๆ เราก็เลยรีบจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองไว้ก่อนดีกว่า

2.เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกงดงามมากๆสำหรับเรา เรา ชอบ form ของมันมากๆ เพราะ form ของมันเป็นเหมือนหนังสั้น 10 เรื่องเกี่ยวกับชีวิตชนบทมาเรียงร้อยต่อกัน ให้อารมณ์คล้ายๆกับการดูหนังสั้นของอุรุพงษ์ รักษาสัตย์ + หนังสั้นอย่าง เถียงนาน้อยคอยรัก (FOUR BOYS, WHITE WHISKEY AND GRILLED MOUSE) (2009, Wichanon Somumjarn) + เรื่องเล่าจากดอนโจด (HOW FAR A BETTER LIFE) (2017, Chantana Tiprachart) อะไรทำนองนี้

เราว่าการที่หนังใช้ form แบบนี้มันทำให้หนังเข้าทางเรามากๆน่ะ เพราะเราชอบหนัง slice of life แบบนี้ หนังที่นำเสนอช่วงเวลานึงของชีวิตคนธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องมี drama อะไรมากนักก็ได้ มันเป็นการทอดสายตามองโมงยามเล็กๆของชีวิตด้วยสายตาที่งดงาม

คือเราว่าหนังหลายๆเรื่องมันไม่เข้าทางเราเพราะมันถูกกรอบของความเป็นหนังกระแสหลักไปกดทับมัน หรือไปบีบอัดมันจนเสียรูปทรง และทำให้ความงามของมันไม่เปล่งประกายออกมาน่ะ ซึ่งหนังในกลุ่มนี้อาจจะรวมถึงหนังอย่าง IN MY HOMETOWN ฮักมั่น (2017, Worrawut Lakchai), RED SPARROW และ 3AM AFTERSHOCK เป็นต้น คือเราว่าความงามของฮักมั่นคือการถ่ายทอดกิจกรรมของคนในชนบท อะไรทำนองนี้ แต่พอหนังพยายามจะ “มีเส้นเรื่อง” และพยายามจะสร้าง “อารมณ์ตลกเฮฮา” ในหลายๆฉาก มันก็เลยเหมือนไปกีดกันไม่ให้หนังสามารถสร้าง moments ชีวิตชนบทเล็กๆน้อยๆออกมาได้ ส่วนในกรณีของ RED SPARROW นั้น เราว่าหนังมันจะดีถ้ามันเน้นถ่ายทอด “ความทุกข์ของการเป็นสปาย” (ซึ่งอาจจะรวมถึงความน่าเบื่อของการเป็นสปาย) แต่พอหนังมันถูกความเป็นหนังกระแสหลัก ที่ต้องโยง สปายเข้ากับ “ความสนุกตื่นเต้นลุ้นระทึก” เข้าไปกดทับมันเอาไว้ ความงามที่แท้จริงของ RED SPARROW ก็เลยไม่เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ส่วน 3AM AFTERSHOCK นั้น เราชอบที่หนังถ่ายทอด “ชีวิตการทำงาน” ของพนักงานทางด่วน และคนในกองถ่ายโฆษณามากๆ แต่พอตัวหนังมันถูก “ความเป็นหนังผี ที่ต้องมีผีหลอก มีความน่ากลัว และมีการหักมุม” ไปกดทับมันเอาไว้ 3AM AFTERSHOCK ก็เลยกลายเป็นหนังผีเสร่อๆเรื่องนึงไป

ที่เขียนเปรียบเทียบมายืดยาว ก็เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ทำไมเราถึงชอบ form ของ SCENE AND LIFE น่ะ เพราะพอหนังมันเลือกใช้ form แบบนี้ มันก็เลยเหมือนไม่ต้องถูกกดทับด้วยความเป็นหนังกระแสหลัก ชีวิตของตัวละครไม่ต้องถูกบิดให้เป็นเส้นเรื่องที่ลากยาว 90 นาที และไม่ต้องมี drama รุนแรง มีเส้นอารมณ์ขึ้นลงตามสูตร ไม่ต้องมีความพยายามจะสร้างความเฮฮา ลุ้นระทึก ไม่ต้องมีการเอาประเด็นสังคมไปกดทับหนังและตัวละคร (คือหนังมีประเด็นสังคมก็ได้ แต่เราไม่ค่อยชอบหนังที่สร้างตัวละครขึ้นมาให้มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อสะท้อนประเด็นสังคม เราชอบหนังที่ตัวละครควรจะมีชีวิตอยู่ของมันเอง และประเด็นสังคมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของตัวละครตัวนั้น คือชีวิตของตัวละครใหญ่กว่าประเด็นสังคม ไม่ใช่ประเด็นสังคมใหญ่กว่าชีวิตตัวละคร) และไม่ต้องเอาคติสอนใจ หรือบทเรียนสำเร็จรูปไปกดทับหนังเอาไว้

คือพอ SCENE AND LIFE เลือกใช้ form แบบนี้ มันก็เลยช่วยปลดปล่อยตัวละครและหนังให้เป็นอิสระจากอะไรต่างๆที่เราไม่ชอบน่ะ ทั้ง “เนื้อเรื่อง”, “เส้นเรื่อง”, “อารมณ์ drama ที่มากเกินไป”, “คติสอนใจ” ฯลฯ และช่วยให้โมงยามธรรมดาในชีวิตตัวละครมันเปล่งประกายออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีอะไรรกรุงรังไปกดทับหรือบดบังมัน

3.ชอบทุกช่วงของหนังเลย ทั้งฉากการขายบ้านเก่า, ฉากหนุ่มวัยรุ่นที่มีปัญหากับพ่อแม่ (เนื้อหาฉากนี้ดูมีความ mainstream มากที่สุด แต่ดีที่หนังไม่ได้ให้คติสอนใจใดๆในฉากนี้ หนังเพียงแค่สะท้อนปัญหาออกมาเท่านั้น), ฉากการนอนวัด, ฉากการสอนเรื่องลูกสูบมอเตอร์ไซค์, ฉากคน 3 รุ่นกับการทำอาหาร (ความงดงามของฉากนี้ทำให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นเรื่อง LITTLE FOREST), ฉากป้าขายผักโบราณ และฉากสาวเดินทางไปกรุงเทพเพื่อหาเงินมาใช้หนี้

อย่างนึงที่ชอบก็คือว่า หลายๆฉากมันนำเสนออะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์น่ะ ทั้งการคุยกันเรื่องไม้ที่ใช้สร้างบ้าน, การขอเข้าไปนอนในวัด, การสอนเรื่องลูกสูบมอเตอร์ไซค์, การทำน้ำมันหมู และการพูดถึงผักแปลกๆหลายอย่าง

4.ชอบมากๆที่ตัวละครในหนังทุกตัวมัน “มีชีวิตมาก่อนหนังเริ่ม” และ “มีชีวิตต่อไปหลังหนังจบ” จริงๆ

5.ฉากที่เราชอบมากที่สุด อาจจะเป็นฉากป้าขายผักโบราณ เพราะเราสนใจผักแปลกๆเหล่านี้ และเราว่าฉากนี้มันเศร้ามากๆ และเราอินกับป้ามากๆด้วย เพราะในแง่นึง เราสามารถเปรียบเทียบป้าได้กับ “คนทำหนังอินดี้” หรือ “คนทำอาชีพที่กำลังจะสูญพันธุ์ไปตามยุคสมัย อย่างเช่นคนทำนิตยสาร” อะไรทำนองนี้ คือเราว่าสิ่งที่ป้าทำมัน “มีคุณค่า” น่ะ ไม่ต่างไปจากคนทำหนังอินดี้ดีๆ หรือคนทำนิตยสารดีๆ เพียงแต่ว่า “คุณค่า” ของสิ่งที่ป้าทำมันไม่สามารถแปรผันตรงกับ “มูลค่าทางเงินตรา” น่ะ มันก็เลยเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และก็ไม่มีใครผิดในเรื่องนี้เลยด้วย เพราะเราเองก็คงไม่ซื้อผักของป้าไปทำอาหารกินเองเช่นกัน ฉากนี้มันก็เลยเหมือนสะท้อน “ความน่าเศร้าของชีวิตและโลก” โดยที่เราเองก็ไม่สามารถแก้ไขหรือช่วยอะไรได้ เราเองก็ทำได้แค่ต้องกระเสือกกระสนหาทางมีชีวิตรอดต่อไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง

6.ชอบ sense ของสถานที่ในหนังเรื่องนี้มากๆ คือเราว่าสถานที่ต่างๆในหนังเรื่องนี้ ทั้ง “บ้านไม้”, “วัดในชนบท” และ “ร้านขายอาหาร” มันดูเผินๆแล้วก็ไม่ต่างไปจากสถานที่ที่ปรากฏในหนังอย่าง “สวัสดีบ้านนอก” (1999, Thanit Jitnukul), ไทบ้านเดอะซีรีส์ หรือหนังไทยที่ใช้ฉากชนบทเรื่องอื่นๆน่ะ แต่เราว่า “ความรู้สึก” ที่ได้จากสถานที่ในหนังเรื่องนี้มันต่างออกไปมากๆ คือถึงแม้ว่าดูภายนอกแล้วมันจะเป็นสถานที่แบบเดียวกัน แต่สถานที่ในหนังเรื่องอื่นๆ มันเหมือน “ดำรงอยู่เพื่อรองรับเนื้อเรื่องและอารมณ์ดราม่า” น่ะ ในขณะที่สถานที่ในหนังเรื่องนี้ มันเหมือน “ดำรงอยู่เพื่อรองรับชีวิตคนธรรมดา” เพราะฉะนั้น sense ของสถานที่ในหนังเรื่องนี้ มันเลยมีความงามบางอย่างหล่อเลี้ยงมันไว้ในแบบที่ไม่ค่อยปรากฏในหนังไทยเรื่องอื่นๆ

Thursday, March 15, 2018

WHEN WE FIRST MET (2018, Prakarn Rattanachamnong, 5min, A+20)


WHEN WE FIRST MET (2018, Prakarn Rattanachamnong, 5min, A+20)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ดูแล้วงงๆเล็กน้อยว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร 555 ก็เลยอาจจะทำให้ไม่ได้ชอบแบบสุดๆ

ไม่แน่ใจว่าหนังต้องการจะพูดเรื่อง “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” หรืออย่าตัดสินคนเพียงผิวเผินจากการพบกันแค่ครั้งแรก อะไรแบบนั้นหรือเปล่า แต่ก็รู้สึกว่าประเด็นนี้มันไม่ชัด หรือมันไม่โดนมากนัก

2.แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นแค่ฉากเปิดของหนังเรื่องนึง หรือเป็นแค่ส่วนประกอบของหนังเรื่องนึง มันก็จะดีมากๆ คือถ้าหากเรามองว่านี่เป็นเพียงแค่ฉากๆหนึ่งในหนังที่ยาวกว่านี้ เราก็จะชอบฉากนี้มากๆ เพราะว่า

2.1 การแสดงมันดูเป็นธรรมชาติดี ใช้ได้ เหมือนเป็นคนมาออดิชั่นจริงๆ

2.2 การคิดเฟรมภาพก็ดี เป็นภาพเล็กซ้อนในภาพใหญ่ มันดูมีเสน่ห์มากๆ

2.3 การคิดเฟรมภาพมันสอดคล้องกับโครงสร้างของเรื่องด้วย เพราะมันเป็น “เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า” คือเราได้ดูเรื่องราวสองเรื่องซ้อนกัน นั่นก็คือเรื่องของพนักงานต้อนรับ+คนมาสมัครงาน+สาวต่างชาติ และเรื่องนี้ซ้อนอยู่ในเรื่องของการทดสอบนักแสดงต่อหน้ากล้อง โดยที่สถานะของตัวละครในหนังสองเรื่องนี้มันก็ส่องสะท้อนกันด้วย เพราะใน “เรื่องเล็ก” นั้น “หญิงสาว” กับ “ชายผู้มาสมัครงาน” ต่างก็เจอกันครั้งแรก โดยหญิงสาวเหมือนอยู่ในสถานะของ “คนใน” ส่วนชายผู้มาสมัครงานอยู่ในสถานะของ “คนนอก ผู้จะต้องถูกประเมินความสามารถ” ส่วนใน “เรื่องใหญ่” นั้น หญิงสาวกับคนแคสติ้งก็น่าจะเจอกันครั้งแรกเหมือนกัน แต่ในเรื่องใหญ่นี้ “หญิงสาว” กลายเป็น “ผู้มาสมัครงาน” หรือหญิงสาวมีสถานะเหมือนเป็น “คนนอก ผู้จะต้องถูกประเมินความสามารถ” ซะเอง

เรื่องสองเรื่องนี้มันถูกเชื่อมโยงกันด้วยประเด็นเรื่อง การตัดสินคนอย่างผิวเผินด้วย โดยใน “เรื่องเล็ก” นั้น ชายผู้มาสมัครงานสร้างความประหลาดใจให้พนักงานต้อนรับ เพราะเขาพูดภาษาต่างประเทศได้ ส่วนใน “เรื่องใหญ่” นั้น หญิงผู้มาทดสอบบท ก็ได้รับการสอบถามเรื่องความเห็นเกี่ยวกับประเด็นอะไรแบบนี้ และคนที่อยู่หลังกล้อง ก็กำลัง “ตัดสิน” เธอจากการได้พบกันเพียงแค่ไม่กี่นาที

แต่เราก็ไม่คิดว่าหนังต้องการจะพูดถึงประเด็นนี้เป็นหลักน่ะ เพราะมันดูเบาๆลอยๆ ไม่น่าประทับใจมากนัก เราก็เลยงงๆว่าจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไร 555

สรุปว่า ชอบการแสดง, การคิดเฟรมภาพ, โครงสร้างการเล่าเรื่อง แต่งงว่าจบแค่นี้จริงๆน่ะเหรอ

Sunday, March 11, 2018

THE IMMORTALS + THREE BILLBOARDS


THE IMMORTALS (2003, Antonio-Pedro Vasconcelos, Portugal, A+25)

หนังเล่าเริ่องของตำรวจที่ตามจับแก๊งปล้นธนาคาร ที่สมาชิกแก๊งประกอบไปด้วยทหารผ่านศึกจากยุคอาณานิคม ที่เคยผ่านสมรภูมิในประเทศแบบ Angola, Mozambique อะไรแบบนี้มาแล้ว  ตัวหนังเหมือนเป็นการผสมระหว่างหนังแบบ HEAT (1995, Michael Mann) กับหนังแบบ NO OR THE VAIN GLORY OF COMMAND (1990, Manoel de Oliveira) เข้าด้วยกัน แต่ผสมเข้าด้วยกันได้อย่างไม่ลงตัวเท่าไหร่

เราว่าครึ่งเรื่องแรกสนุกมาก และประเด็นเรื่อง “บาดแผลจากยุคอาณานิคม” ก็ดีมาก แต่ครึ่งเรื่องหลังมันดูเก้ๆกังๆ ไม่ลงตัวยังไงไม่รู้ เราก็เลยไม่ได้ชอบหนังแบบสุดๆ

รูปของ Rui Luis Bras ที่รับบทเป็นตำรวจคนหนึ่งในเรื่อง

THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI (2017, Martin McDonagh, A+30)

1.ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงป้ายหน้าสภาทนายความ สมัยที่ตั้งอยู่ตรงถนนราชดำเนินกลาง เพราะถ้าจำไม่ผิด เมื่อราวสิบปีก่อน จะมีป้ายหน้าสภาทนายความที่ระบุว่า คุณสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปนานกี่วันแล้ว เหมือนป้ายนี้จะคอยย้ำเตือนประชาชนไม่ให้ลืมคดีนี้ และไม่ให้ลืมว่า คดีนี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และยังไม่คลี่คลาย แต่ปรากฏว่ามีใครก็ไม่รู้ เอารถบัสคันใหญ่ๆมาจอดตรงถนนเพื่อบังป้ายนี้ไว้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เรานั่งรถผ่านถนนราชดำเนินกลาง เราก็จะเห็นป้ายนี้ไม่ถนัด เพราะมันมีใครก็ไม่รู้เอารถบัสมาจอดบังป้ายนี้ไว้

2.ถ้าเทียบกับหนังเข้าชิงออสการ์สาขา Best Picture ด้วยกัน ก็ชอบหนังเรื่องนี้น้อยกว่า LADY BIRD นะ แต่ยังไม่แน่ใจว่าชอบมากหรือน้อยกว่าหนังเรื่องอื่นๆอย่าง THE SHAPE OF WATER, GET OUT, CALL ME BY YOUR NAME และ PHANTOM THREAD หรือเปล่า เหมือนเราชอบหนัง 5 เรื่องนี้ในระดับใกล้เคียงกันมากๆจนตัดสินได้ยาก แต่มี LADY BIRD ที่นำโด่งออกมาเพราะเหมือนกับว่าหนังสร้างมาเพื่อเราจริงๆ

3.เหมือนหนังช่วยแก้ไข “จุดที่เราไม่ชอบ” ใน I AM NOT MADAME BOVARY (2016, Feng Xiaogang) น่ะ เพราะอย่างที่เราเคยเขียนไปแล้วว่า เราเกลียดนางเอกของ I AM NOT MADAME BOVARY อย่างสุดๆ เพราะเรารู้สึกว่าอีนี่แก้แค้นแบบผิดวิธี แต่หนังไม่ได้แสดงท่าทีให้เห็นชัดๆว่ารู้สึกยังไงกับอีนี่ เราก็เลย “กังขา” กับ attitude ของตัวหนัง I AM NOT MADAME BOVARY มากๆ แต่ในส่วนของ 3BB นั้น เราก็รู้สึกว่านางเอกแก้แค้นแบบผิดวิธีเช่นกัน โดยเฉพาะในครึ่งหลังของเรื่อง แต่หนังก็แสดงออกประมาณหนึ่งว่า ตัวหนังเองก็มองว่านางเอกทำผิด เราก็เลยไม่ได้มีปัญหากับทัศนคติของตัวหนังเรื่องนี้มากเท่ากับ I AM NOT MADAME BOVARY

แต่ถ้าหากพูดถึงการแก้แค้นแบบผิดวิธีแล้ว หนังที่เราชอบที่สุดก็ยังคงเป็น BADLAPUR (2015, Sriram Raghavan) อยู่ดี เพราะ BADLAPUR มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า หนังมันไม่ได้เข้าข้างพระเอก และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า “เหยื่อ” กับ “คนร้าย” มันเป็นคนๆเดียวกันได้ มันไม่ใช่ว่าพอคุณเป็น “เหยื่อ” แล้วคุณจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบหลังจากคุณมีสถานะเป็น “เหยื่อ”

ตอนดู 3BB จะนึกถึง HEAVEN (2002, Tom Tykwer) ด้วย เพราะการกระทำของนางเอกสองเรื่องนี้มันมีอะไรบางอย่างเทียบเคียงกันได้ แต่เราชอบ 3BB มากกว่า HEAVEN

4.ตอนช่วงครึ่งแรกที่นางเอกยังไม่ได้ถลำลึกมากเกินไป เราก็ยังชอบนางเอกมากอยู่นะ โดยเฉพาะฉากร้านหมอฟันกับฉากปะทะกับเด็กนักเรียนนี่ ชอบสุดๆเลย

Thursday, March 08, 2018

THE MONKEY KING 3


THE MONKEY KING 3 (2018, Pou-Soi Cheang, China/Hong Kong, A+30)

ร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง ทำไมการตกหลุมรักพระมันถึงเจ็บปวดจนสุดจะทานทนขนาดนี้

Thursday, March 01, 2018

THAIBAN THE SERIES 2.1


THAIBAN THE SERIES 2.1 (2018, Surasak Pongson, A+30)

จริงๆแล้วชอบภาคสองมากกว่าภาคแรกนะ เพราะชอบที่ “ไม่มีใครเป็นตัวประกอบของใคร” น่ะ คือภาคแรกมันมี “พระเอก นางเอก” ชัดเจนแบบหนังทั่วไป แต่พอภาคสองนี่ตัวละครที่มันเคยเป็นแค่ตัวประกอบในภาคแรก มันเริ่มมีชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองจริงๆแล้ว โดยไม่ต้องมาคอยรองรับ support ใดๆพระเอกนางเอกในภาคแรกอีก มันก็เลยเป็นหนังที่เข้าทางเรามากขึ้น

เหมือนเราชอบหนัง/ละครทีวีที่ตัวละครทุกตัวมีปัญหาเหี้ยห่าของตัวเองน่ะ ไม่ใช่แค่มีพระเอก-นางเอกเป็นศูนย์กลาง แล้วปัญหาชีวิตของตัวละครประกอบไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบละครทีวีแบบ MELROSE PLACE ที่ชีวิตของตัวละครแต่ละตัวสลับกันเผชิญกับความชิบหายในทุกๆ 5 นาที หรือชอบนิยายแบบ VANITY FAIR ที่ตัวละครประกอบมันเยอะมาก และแต่ละตัวก็มีปัญหาเหี้ยห่าของตัวเอง

ในส่วนของหนังเรื่องนี้นั้น เราอินกับเส้นเรื่องของป่องมากสุดนะ เพราะเรามักจะอินกับ “การทำงาน” มากกว่า “ความรัก” ในหนังทั่วๆไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่หนังภาคสองไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องรักๆใคร่ๆของตัวละครเพียงอย่างเดียว แต่มีตัวละครที่มีปัญหาเรื่องการทำงานด้วย ก็เลยทำให้เราไม่ดีดตัวออกห่างจากหนังเรื่องนี้มากนัก

ชอบเส้นเรื่องของคนบ้าด้วย เราว่ามันน่าสนใจดี  

สรุปว่าชอบมากที่หนังมัน treat ตัวละครหลายๆตัวเหมือนเป็นคนจริงๆมากกว่าหนังทั่วไป

WINCHESTER (2018, The Spierig Brothers, A+5)

หนังไม่น่ากลัวเลย แต่สิ่งที่พอช่วยพยุงหนังไว้ได้สำหรับเราคืออารมณ์ “ดราม่า” และการแสดงดีๆน่ะ เหมือนกับว่าตัวละครหลักแต่ละตัวมีปมเจ็บปวดอะไรทำนองนี้ และพอหนังให้น้ำหนักกับอารมณ์ดราม่าเหล่านี้ เราก็เลยพอ enjoy มันได้บ้าง

เราว่าในแง่บรรยากาศ หนังเรื่องนี้ยังสู้หนังอย่าง CRIMSON PEAK (2015, Guillermo del Toro) และหนังสยองขวัญของ Roger Corman ไม่ได้น่ะ

สรุปว่าได้ดูหนังของ The Spierig Brothers มา 5 เรื่อง (WINCHESTER, JIGSAW, PREDESTINATION, UNDEAD, DAYBREAKERS) เราก็รับได้หมดทุกเรื่องนะ แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนที่ชอบสุดๆแบบ PREDESTINATION (2014) เลย น่าเสียดายมาก

PHANTOM THREAD (2017, Paul Thomas Anderson, A+30)

1.ดูไปตั้งแต่วันพฤหัสที่ 22 ก.พ. ปรากฏว่าหลับไป 20 นาทีแรก 555 ตื่นขึ้นมาดูต่อก็ชอบสุดๆ แต่ตั้งใจไว้ว่าเอาไว้ดูรอบสองแล้วค่อยเขียนดีกว่า ปรากฏว่าวันที่ 23-25 ก.พ.เราป่วยหนัก และตอนนี้ก็มีหนังค้างคาให้ดูอีกเยอะมากๆ ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้ดูรอบสองในเร็วๆนี้แล้วล่ะ 555

จากการดูไปแบบพลาด 20 นาทีแรก เราก็พบว่า มันเป็นหนังที่งดงามสุดๆ ชอบการเคลื่อนกล้อง การแสดง อะไรต่างๆ แต่มันเป็นหนังที่เรา admire แต่ไม่อินน่ะ เพราะเราเกลียดพระเอก เกลียดนางเอก 555 (หมายถึงเกลียดนิสัยคนแบบนี้น่ะ แต่ชอบการแสดงของนักแสดงอย่างสุดๆ) แต่ชอบพี่สาวพระเอก คือเหมือนอย่างที่เราเขียนไว้ในไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.1 น่ะ ว่าเรามักจะอินกับ “การทำงาน” มากกว่า “ความรัก” ในหนัง เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่อินกับความรักของพระเอก-นางเอก หรือการเล่นเกมอำนาจอะไรของพวกมันมากนัก แต่อินกับตัวพี่สาวพระเอก เพราะเธอไม่ต้องมาพะวงกับเรื่องรักๆใคร่ๆในชีวิตเธอ เธอต้องทำงาน และเธอก็ดูตั้งอกตั้งใจทำงานดีมาก

2.ปรากฏว่าฉากที่ค้างอยู่ในหัวเรา แล้วเอาออกไปจากหัวไม่ได้ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา คือฉากที่พี่สาวพระเอก เดินไปบอกคนงานแต่ละคนให้ช่วยทำงานอยู่ดึกๆดื่นๆในคืนนี้นะ เพราะต้องตัดเย็บชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงเบลเยียมให้ทัน ไม่รู้ทำไมเราอินกับฉากนี้มากที่สุดในหนัง หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะว่า วันๆในหัวเราไม่ได้คิดถึงเรื่อง “ทำไงถึงจะทำให้เขารักเรา” แต่วันๆในหัวเราคิดแต่เรื่อง “เมื่อไหร่กูจะตายเสียที เพราะกูขี้เกียจทำงาน” มั้ง 555 เราก็เลยอินกับฉากนี้มากที่สุดในหนัง

3.ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราไม่อินกับ “ผัวเมียละเหี่ยใจ” (หรือผัวเมียที่ความสัมพันธ์มีอะไรบางอย่างวิปริต) ในหนังเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ทั้งๆที่ในแง่นึงมันเทียบได้กับ “ผัวเมียละเหี่ยใจ” ในหนังของ Claude Chabrol หลายเรื่องที่เราชอบสุดๆ อย่างเช่น THE UNFAITHFUL WIFE (1969) เราก็เลยเดาว่า มันอาจจะเป็นที่ท่าทีของหนังมั้ง คือหนังของ Claude Chabrol จะนำเสนอตัวละครผัว-เมียที่รักกันโดยมีอะไรบางอย่างวิปริต ด้วยสายตาที่เย็นชาหรือเยาะหยันเล็กน้อยน่ะ แต่ PHANTOM THREAD นำเสนอด้วยสายตาโรแมนติก แต่พอดีเราไม่ได้โรแมนติกไปกับตัวละครคู่นี้ด้วย อารมณ์ของเราก็เลยไม่ได้สอดคล้องกับหนังเรื่องนี้มากเท่ากับหนังของ Claude Chabrol

FREEZE AND LADY BIRD

FREEZE (2018, Wachara Kanha, 28min, A+30)
พรุ่งนี้ยังมีอีกไหม

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

1.หนังเรื่องนี้มีการนำ “กล่องกระจก” หลายกล่องไปวางไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ตอนที่เราดูเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยตีความมันไปต่างๆนานา พอดูจบแล้วถึงรู้ว่ามันคือ “ภูเขาน้ำแข็ง” 555 แต่เราก็ขอจดบันทึกความรู้สึกขณะที่ดูไว้ก็แล้วกันนะ ซึ่งเป็นความรู้สึกจากการที่ไม่รู้ว่า กล่องกระจกเหล่านี้มันคืออะไร

2.ถึงเราไม่เข้าใจกล่องกระจกและไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้ เราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆอยู่ดีนะ เพราะเราชอบความเป็นกวีของมันน่ะ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นในหนังหลายๆเรื่องของวชรอยู่แล้ว เราว่าวชรหรือไกด์สามารถร้อยเรียงซีนต่างๆเข้าด้วยกันได้อย่างงดงามราวบทกวีมากๆ และยิ่งหนังเรื่องนี้ได้ดนตรีประกอบที่เพราะมากๆมาช่วยเสริมด้วยแล้ว หนังก็เลยยิ่งงดงามในแบบบทกวีมากยิ่งขึ้นไปอีก

เราชอบจุดนี้มากที่สุดในหนังเลยนะ แต่ “หนังที่มีความ poetic สูงมาก” แบบนี้ ก็คือหนังที่เราบรรยายความงามของมันได้ยากที่สุดน่ะแหละ เพราะฉะนั้นถึงแม้จุดนี้จะเป็นจุดที่เราชอบที่สุดในหนัง เราก็คงไม่เสียเวลาบรรยายถึงมันแล้วกัน เพราะมันยากที่เราจะถ่ายทอดความงามของมันออกมาเป็นตัวอักษรได้

3.ถ้าหากเทียบกับหนังแนวกวีเรื่องอื่นๆของไกด์แล้ว สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า คราวนี้ไกด์ใช้ฉากในชนบทในการสร้างหนังแนวกวีน่ะ เพราะเราคิดว่าปกติแล้ว

3.1 ไกด์มักจะทำหนังแนวกวี โดยใช้ฉากในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก
3.2 แต่เวลาไกด์ไปถ่ายหนังในต่างจังหวัด หนังเหล่านั้นมักจะเป็นหนังที่ชู “ประเด็น” เป็นหลัก คือหนังอาจจะมีความเป็นกวีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ล่องลอยมากเท่าหนังเรื่องนี้

หนังเรื่อง FREEZE ก็เลยแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆของไกด์ในแง่นี้น่ะ

4.ตอนที่เรายังไม่รู้ว่ามันคือ “ภูเขาน้ำแข็ง” เราจะงงว่ากล่องกระจกนี่คืออะไร เราก็เลยตีความกล่องกระจกเหล่านี้ว่าอาจจะเป็น

4.1 การพาดพิงถึงรายการ “กระจกหกด้าน” 55555 เพราะหนังมันเหมือนนำพาเราไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในต่างจังหวัดด้วยแหละ เราก็เลยคิดเล่นๆฮาๆว่ามันพูดถึงรายการนี้หรือเปล่า

4.2 กล้องวงจรปิด หรือการถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลในทุกๆจุด

4.3 สิ่งที่อยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะเราว่ากล่องกระจกในหนังเรื่องนี้มัน “สวย” แต่มัน “แข็งเกร็ง” และถึงแม้มันจะสวย แต่มันก็ดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางเมื่อมันไปปรากฏในหลายๆฉาก

เพราะฉะนั้นเมื่อ กล่องกระจก คือ “สิ่งที่อยู่ผิดที่ผิดทาง” ในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยโยงมันเข้ากับทหารด้วยแหละ เพราะทหารในหนังเรื่องนี้ และในชีวิตจริง ก็เป็น “สิ่งที่งดงาม หรือดี ถ้าหากมันไม่อยู่ผิดที่ผิดทาง” เหมือนกัน

พอดูจนจบ แล้วเราเข้าใจว่ากล่องกระจกในหนังคือ “ภูเขาน้ำแข็ง” เราก็คิดว่าการตีความของเราในข้อ 4.3 ก็มีจุดใกล้เคียงกับภูเขาน้ำแข็งเหมือนกันนะ เพราะภูเขาน้ำแข็งในหนังเรื่องนี้ ก็น่าจะหมายถึง “ความพยายามจะแช่แข็งประเทศของรัฐบาลเผด็จการทหาร” นั่นแหละ

5.ถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ เราก็คิดถึง

5.1 THE GARDEN (1990, Derek Jarman, UK) เพราะทั้ง FREEZE และ THE GARDEN มีคุณสมบัติสำคัญ 4 ข้อเหมือนกัน นั่นก็คือเป็นหนังที่มีประเด็นการเมือง, เป็นหนังแนวกวีที่งดงามมากๆ, อิงกับตำนานการสร้างโลก และใช้ทุนต่ำ คือไม่ต้องลงทุนใช้เงินจำนวนมากสร้างอะไรวิลิศมาหรา เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด Derek Jarman ก็เล่าตำนานการสร้างโลก+การเมืองเรื่องเกย์ โดยใช้สวนหลังบ้านของตัวเองในการถ่ายทำ THE GARDEN

5.2 หนังเรื่อง BANG (1995, Ash Baron-Cohen) เพราะพัฒนาการของตัวละครในเรื่องมีความคล้ายคลึงกัน จาก “การใส่เครื่องแบบ ใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ” ไปสู่ “ความเสียใจจาก abuse of power” และนำไปสู่ “การถอดเครื่องแบบ” ในที่สุด โดยใน BANG นั้น นางเอกเป็นสาวเอเชียในสหรัฐที่ถูกกดขี่ เธอก็เลยขโมยเครื่องแบบตำรวจมาใส่ และได้ enjoy การใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากมัน และจบลงด้วยการที่นางเอกถอดเครื่องแบบคืนให้เจ้าหน้าที่ แล้วพูดว่า “I don’t need your uniform anymore.”

พัฒนาการของพระเอกใน FREEZE ก็มีความคล้ายคลึงกัน

5.3 ถ้าหากเทียบกับหนังของไกด์ด้วยกันเองแล้ว เรานึกถึง AWARENESS หรือ “ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ” (2014) ในแง่การใช้เสียงตัวละครในการ “ตัดพ้อ” โดยตัวละครที่เป็นเจ้าของเสียงจะมีสถานะเป็น “ผู้ถูกกดขี่” และเขาต้องการตัดพ้อเรื่องนี้ต่อขั้วการเมืองที่ตรงข้ามกับเขา

5.4 ถ้าหากเทียบกับหนังสั้นไทยด้วยกันเองแล้ว เราว่าหนังเรื่องนี้เหมาะฉายควบกับ SONG X (2017, Pathompon Tesprateep) และ BOYS ARE BACK IN TOWN (2015, Eakalak Maleetipawan) เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้เป็นหนังการเมือง, มีตัวละครหลักเป็นทหาร, มีความเป็นกวีสูงมาก และตีความยากเหมือนกัน

LADY BIRD (2017, Greta Gerwig, A+30)

1.ขอจดบันทึกไว้สั้นๆแล้วกันว่า เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงเวลาคิดถึงตัวละครสองตัวในหนังเรื่องนี้ โดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร นั่นก็คือตัวละคร “พี่สะใภ้” ของนางเอก กับตัวละครแม่ชี เราร้องไห้เวลาคิดถึงตัวละครพี่สะใภ้ของนางเอก เพราะดูภายนอกเหมือนเธอเป็นคนแรงๆ คล้ายๆจะเป็นสาว gothic แต่จริงๆแล้วภายในเธอก็อาจจะไม่ใช่คนแรงแบบ look ของเธอ เราซึ้งมากตอนที่เธอคุยกับนางเอกในทำนองที่ว่า “แม่ของเธอเป็นคนใจกว้างนะ เพราะครอบครัวของฉันยอมรับฉันไม่ได้ที่ฉันมีเซ็กส์ก่อนแต่งงาน แต่แม่ของเธอก็ยอมรับให้ฉันเข้ามาอยู่ในบ้าน”

คือเราชอบความสัมพันธ์แม่ผัว-ลูกสะใภ้ที่กลมเกลียวกันแบบนี้มากน่ะ สำหรับเราแล้วมันซึ้งเหมือนความสัมพันธ์ “แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยง” ที่รักกันมากๆในหนังเรื่อง HER LOVE BOILS BATHWATER (2016, Ryota Nakano)

คือมันเป็นจุดอ่อนอย่างรุนแรงของเราจริงๆน่ะแหละ คือเรามักจะไม่ชอบหนังที่ “แม่กับลูกสาวรักกัน” แต่เราจะเสียชีวิตกับหนังที่ “แม่ผัว-ลูกสะใภ้รักกัน” และ “แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงรักกัน”  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

2.ตัวละครแม่ชีก็ทำให้เราร้องไห้ เราซึ้งมากๆที่เธอให้อภัยนางเอก คือหนังเรื่องนี้มีวิธีการบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครตัวนี้ไม่ได้มีอยู่เพียงเพื่อ “ทำหน้าที่เป็นคนดีในหนัง” แล้วก็จบกันไป แต่หนังทำให้เรารู้สึกว่า “ตัวละครตัวนี้ผ่านชีวิตอะไรมาเยอะมาก และประสบการณ์บางอย่างในชีวิตของตัวละครตัวนี้ที่หนังไม่ได้เล่า แต่ปล่อยให้คนดูจินตนาการเองนี่แหละ ที่หล่อหลอมให้ตัวละครตัวนี้เป็นคนแบบนี้ และทำให้เธอสามารถให้อภัยนางเอกได้”

3.อีกจุดที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือการพาดพิงถึง L’ENFANCE NUE (1968, Maurice Pialat) ผ่านทางชื่อวงดนตรีในเรื่อง เราว่าหนังสองเรื่องนี้มีจุดคล้ายกันด้วยแหละ นั่นก็คือการนำเสนอ “เศษเสี้ยวเล็กๆ” ในชีวิตวัยรุ่นของตัวละครตัวนึงไปเรื่อยๆ และมี moment ซึ้งๆที่ไม่ได้ถูกขยี้จนเกินงาม (โมเมนท์แม่ชีใน LADY BIRD ทำให้นึกถึงโมเมนท์หญิงชราใน L’ENFANCE NUE)  โดยที่ตัวละครทุกตัวในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ทั้งตัวละครหลักและตัวละครประกอบยิบย่อย ต่างก็ดูเป็นมนุษย์จริงๆที่มีความซับซ้อน มีหลายด้านในตัวเอง