Wednesday, October 30, 2019

KHUN PHAEN BEGINS

KHUN PHAEN BEGINS (2019, Kongkiat Khomsiri, A+30)
ขุนแผนฟ้าฟื้น

1.ชอบการสร้าง "โลกแฟนตาซี" ขึ้นมาใหม่ในหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะเวลาเราจินตนาการเรื่องราวต่างๆในหัวของเรา เราก็อยากสร้างโลกแฟนตาซีขึ้นมาใหม่แบบนี้เหมือนกัน โลกที่ไม่ต้องสนความสมจริงทางประวัติศาสตร์ และเต็มไปด้วยเวทมนตร์กับวิทยายุทธ 55555

ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงโลกแฟนตาซีแบบในหนังอย่าง A KNIGHT'S TALE (2001, Brian Helgeland), SUKIYAKI WESTERN DJANGO (2007, Takashi Miike), LEGEND OF THE DEMON CAT (2017, Chen Kaige) ดีใจมากๆที่มีคนทำหนังไทยแบบนี้ออกมาบ้าง

2.อาจจะเป็นหนังของก้องเกียรติที่เราชอบมากเป็นอันดับสอง รองจาก "ลองของ" (2005)

Tuesday, October 29, 2019

29 OCT – 4 NOV 1989


อันดับเพลงเมื่อ 30 ปีก่อน
WEEK 44
29 OCT – 4 NOV 1989

1. OYE MI CANTO – Gloria Estefan

2. KOU SANI FUKARETE – Shizuka Kudo

3. (IT’S JUST) THE WAY THAT YOU LOVE ME – Paula Abdul (New Entry)

4. NATURE OF LOVE – Waterfront (New Entry)

5.  LOSING MY MIND – Liza Minnelli

6. AS A MATTER OF FACT – Natalie Cole (New Entry)

7. SOMETHING’S JUMPIN’ IN YOUR SHIRT – Malcolm McLaren featuring Lisa Marie (New Entry)

8. PROUD TO FALL – Ian McCulloch (New Entry)

9. BE FREE WITH YOUR LOVE – Spandau Ballet (New Entry)

10. DON’T ASK ME WHY – Eurythmics (New Entry)

11. IF ONLY I COULD – Sydney Youngblood (New Entry)

12. SUPERGIRL – Rebecca (New Entry)

13. THE WAY TO YOUR HEART – Soulsister (New Entry)

14. SOMETHING SO REAL – Love Decree (New Entry)

15. BACK TO LIFE – Soul II Soul (New Entry)

KATYN

ANGEL FACE (2018, Vanessa Filho, France, A+30)

ดูแล้วนึกถึง THE FLORIDA PROJECT (2017, Sean Baker) มากๆ เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้พูดถึง "คุณแม่เหลือขอ" กับ "ลูกสาวตัวน้อย" เหมือนๆกัน แต่ THE FLORIDA PROJECT จะเจ็บปวดกว่า เพราะคุณแม่ใน THE FLORIDA PROJECT นิสัยเหี้ยกว่าเยอะ ส่วนลูกสาวใน THE FLORIDA PROJECT ก็อิทธิฤทธิ์สูงกว่า ในขณะที่คุณแม่ใน ANGEL FACE แค่ทิ้งลูกไว้ตามลำพัง ส่วนตัวลูกก็ไม่ได้สร้างความชิบหายมากเท่าไหร่

ชอบมากที่ตัวลูกสาวใน ANGEL FACE พยายามจะตีสนิทกับชายหนุ่มข้างบ้านให้ได้

 KATYN (2007, Andrzej Wajda, Poland, A+30)

1.กราบ Andrzej Wajda จริงๆ เหมือนได้ดูหนังของเขามาแล้ว 8 เรื่อง และพบว่าเราชอบหนังของเขาอย่างสุดๆ ชอบที่เขาทำหนังการเมืองแบบทรงพลังมากๆ โดยไม่เร้าอารมณ์มากเกินไป

2.หนังเล่าเรื่องเร็วมากๆ ต้องตั้งสติให้ดีตอนดู 555 เราชอบที่หนังเหมือนเล่าถึงผลกระทบจากการสังหารหมู่/สงครามโลกผ่านตัวละครหญิงชาวโปแลนด์ที่มีสถานะแตกต่างกันไปหลายตัว ซึ่งรวมถึง

2.1 เมียนายทหารคนนึง ซึ่งตัวเมียรอดชีวิตมาได้ในช่วงแรกเพราะมีทหารฝ่ายโซเวียตแอบชอบเธออยู่
2.2 เมียนายทหารอีกคน ที่ถูกโซเวียตจับตัวไป
2.3 +2.4 เมียนายพลระดับสูง กับลูกสาว
2.5 สาวผมเปีย ที่น่าจะเคยเป็นนักรบใต้ดินต่อสู้กับนาซีในช่วง WWII แต่ปรากฏว่าเธอกลับถูกฝ่ายโซเวียตจับไปในช่วงหลังสงคราม เพราะเธอพยายามจะตั้งหินปักหลุมฝังศพให้กับ brother (ไม่แน่ใจว่าพี่ชายหรือน้องชาย) โดยระบุว่าเขาตายในปี 1941 ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่า โซเวียตโกหกประชาชนเรื่องการสังหารหมู่ (โซเวียตบอกว่า ทหารโปแลนด์จำนวนมากถูกนาซีฆ่าตายในปี 1943 แต่จริงๆแล้วทหารโปแลนด์จำนวนมากถูกโซเวียตฆ่าตายในปี 1941) ชอบที่หนังพยายามเปรียบเทียบตัวละครตัวนี้กับ Antigone
2.6 สาวหัวโล้นนักแสดงละครเวทีที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันของนาซี
2.7 สาวที่ยอมก้มหัวให้โซเวียต เพื่อจะได้มีชีวิตรอดต่อไปได้ เธอเป็นคนที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องว่า Poland will never be free
2.8 สาวใช้ของนายพล ที่กลายเป็น "ผู้มีฐานะ" ขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลก

3.ดูแล้วสงสารโปแลนด์มากๆ เพราะในขณะที่ประเทศในยุโรปหลายประเทศแค่ต้องตบกับนาซีใน WWII แต่โปแลนด์กลับถูกกดขี่/สังหารหมู่จากทั้งฝ่ายโซเวียตและนาซี

4.จำได้ว่าประเด็นเรื่องการสังหารหมู่นี้เคยถูกนำเสนอใน ENIGMA (2001, Michael Apted) ด้วย แต่ไม่ได้ลงลึกแบบใน KATYN

 SHORT FILMS FROM IRELAND SEEN IN "GAZE ON TOUR" PROGRAM AT BANGKOK SCREENING ROOM

1.THE RED TREE (2018, Paul Rowley, documentary, A+30)
หนัง essay เกี่ยวกับยุคที่มุสโสลินีกับรัฐบาลฟาสต์ซิสต์ปกครองอิตาลีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในยุคนั้นรัฐบาลฟาสซิสต์จับเกย์ไปขังรวมกันไว้ในเกาะแห่งหนึ่ง หนังถ่ายทอดเรื่องราวของนักโทษเกย์เหล่านี้ออกมาได้อย่างทรงพลังมากๆ visual ของหนังมันดีมากๆ ส่วนประเด็นของหนังดูแล้วนึกถึง FACING WINDOWS (2003, Ferzan Ozpetek) กับ ISOLA (2019, Aurelio Buchwalder, Switzerland, documentary, 70min)

2.WREN BOYS (2017, Harry Lighton, A+30)
พอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เลยจินตนาการว่า อยากให้มีคนเอา "2499 อันธพาลครองเมือง" มาดัดแปลงใหม่ให้เป็นหนังเกี่ยวกับกลุ่มแก๊งเกย์

3.JOHNNY (2018, Hugh Rodgers, documentary, A+30)
หนังสารคดีเกี่ยวกับเกย์ที่มาจากกลุ่มคนร่อนเร่ (น่าจะคล้ายๆกับชาวโรม่า)

4.THIRST (2017, Eoin Maher, 9min, A+30)
จริงๆแล้วหนังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เป็นเรื่องของเกย์ที่พูด monologue ตลอดทั้งเรื่องเกี่ยวกับการหาผัว แต่รู้สึกว่าประเด็นของหนังมันตรงใจเรา 555

5. BREAST FRIENDS (2018, Eleanor Rogers, A+20)
หนังเลสเบียนที่น่ารักดีเกี่ยวกับกลุ่มเด็กสาวนักกีฬาวิ่งผลัด แต่รู้สึกว่ายังสู้หนังของ Jirassaya Wongsutin ไม่ได้ 555

6.CAT CALLS (2017, Kate Dolan, A+5)
หนังเลสเบียนสยองขวัญ

NGILNGIG

SHORT FILMS FROM PHILIPPINES SEEN IN " Ngilngig Asian Fantastic Film Festival Davao" at Cinema Oasis

1. SIN-O ANG TIKTIK? by TM Malones (2016, A+15)

2.ANG PAG-ABO by Emmylou Layo, Marga Mangao, Jirah Palma, Pio Sto. Domingo, and Kenneth Paul Senarillos  (2017, A+15)

3. GARBAGE BAG by Bagane Fiola (A+15)

4.PANABI by Maki Cabrera (A+30)

5. THE CAMERA by Bagane Fiola (A+25)

6. DRIMSIKOL byTyl Abellaneda (A+30)

7.ACHUP BOULEVARD by Bagane Fiola (A+25)

8.CONSEQUENCES OF MAN by Jeffrie Po (A+30)

9.WALAY NIDANGUYNGUY by Glorypearl Dy (A+30)

10. BUROS SI LUCIA JOAQUIN NGA ANAK NI MARIA LABO by Nef Luczon (A+30)

11.SANCTISSIMA (2015, Kenneth Lim Dagatan, second viewing, A+30)

Monday, October 28, 2019

OFFICIAL SECRETS

OFFICIAL SECRETS (2019, Gavin Hood, UK, A+30)

1.หนึ่งในหนังที่งดงามที่สุดที่ได้ดูในปีนี้ กราบ Katherine Gun (Keira Knightley) มากๆ หัวใจเธอมันน่ากราบจริงๆ 

2. มันคืออีกหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่า "ผู้รักชาติที่แท้จริง" คือผู้ที่มักจะถูกคนอื่นๆประณามว่า "ขายชาติ"

3.ชอบฉากที่เพื่อนร่วมงานชื่อ มียุง หรืออะไรทำนองนี้ มาให้กำลังใจนางเอกมากๆ มันเหมือนกับหลายคนในสังคมที่รู้ว่ารัฐบาลทำเลว แต่ก็ไม่กล้าเปิดโปงความจริง เพราะรู้ว่ามันอันตราย ต้องรอคนแบบนางเอกนี่แหละ ที่กล้าเสี่ยงตายเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง

4.ดูแล้วนึกถึง FAIR GAME (2010, Doug Liman) ที่สร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับ whistleblower ในสงครามอิรักเหมือนกัน แต่ OFFICIAL SECRETS กำกับออกมาแล้วดูลงตัวกว่า ดูสง่างามกว่า

5. แอบนึกถึง THE PASSION OF JOAN OF ARC (1928, Carl Theodor Dryer, Denmark) และ SOPHIE SCHOLL: THE FINAL DAYS (2005, Marc Rothemund, Germany)  ชอบเรื่องของวีรสตรีแบบนี้มากๆ

THE MAN WHO STOLE BANKSY (2018, Marco Proserpio, Italy, documentary, A+30)

--ชอบหลายๆประเด็นในหนังมากๆ อย่างเช่น

1.รูปลาของ Banksy เป็นการ offend ชาวปาเลสไตน์จริงหรือไม่ หรือการ offend นี้เป็นเพียงแค่ข้ออ้างของคนที่จะเอารูปไปขาย

2.รูป graffiti ของ Banksy มีประโยชน์ต่อชาวปาเลสไตน์มากน้อยแค่ไหน

3.ใครเป็น "เจ้าของ" รูป graffiti ต่างๆ ระหว่างตัวศิลปิน กับเจ้าของกำแพง

4.ความแตกต่างระหว่าง graffiti แบบไม่ได้รับอนุญาต กับ wall art ที่ได้รับอนุญาต และมีการจ้างวานศิลปินให้วาดรูปสวยๆบนกำแพง

5.เราควรจะอนุรักษ์ผลงาน graffiti หรือไม่ ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวศิลปินต้องการให้อนุรักษ์มันไว้หรือเปล่า

6.คุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไปของ graffiti  เมื่อมันถูกถอดออกจากที่ตั้งดั้งเดิม

--ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึง MUSHROOM (2014, Oscar Ruiz Navia, Colombia) ที่พูดถึงศิลปิน graffiti เหมือนกัน

NOISE DISTURBANCE

เห็นเพื่อนเขียนบ่นเรื่องเจอเสียงถุงกรอบแกรบหนักมากที่โรง Scala วันนี้ เราก็เลยจะเล่าว่า เราก็เจอเหมือนกันในสถานการณ์อื่นๆ ปีนี้เจอหนักๆ 2 ครั้งที่โรงศาลายา 555 ครั้งแรกเจอตอนกลางปี ตอนไปดู "ราชินีลูกทุ่ง" มันเหมือนมีคนขยับถุงพลาสติกเสียงดังตลอดเวลา ซึ่งเราจะไม่ว่าอะไร ถ้าหากมันเป็นแค่คนหยิบอาหารกินเพราะหิวจัดภายในช่วงครึ่งชั่วโมงแรก หรืออะไรทำนองนี้ แต่นี่มันดังนานมาก เราก็เลยหนีไปนั่งแถวหน้าสุด เพื่อให้มันห่างจากต้นตอเสียง ซึ่งก็ช่วยได้นิดนึง ยังดีที่โรงศาลายามันนั่งแถวหน้าสุดแล้วยังพอดูหนังได้ ไม่ต้องแหงนคอมากเกินไป

ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ตอนไปดู THE BARON เรานั่งอยู่แถวกลางๆของโรง มีเสียงถุงพลาสติกดังมากอย่างต่อเนื่อง จนผ่านไป 1 ชั่วโมงแล้วก็ยังดังอยู่ และดังสนั่นในระดับที่เรารู้ว่า ถึงเราหนีไปนั่งแถวหน้าสุดติดจอ เราก็จะยังได้ยินมันอยู่ดี เราก็เลยตัดสินใจว่าจะลุกไปหาต้นตอเสียง เพื่อขอให้เขาช่วยลดเสียงลงหน่อย

แต่ปรากฏว่า มันมีผู้ต้องสงสัย 2 คนค่ะ เพราะแถวหลังสุด (เราขอเรียกว่าแถว A) มีลุงคนนึงนั่งอยู่ และมีถุงพลาสติกใบใหญ่วางอยู่บนที่นั่งข้างๆเขา แต่ที่แถว B ก็มีลุงอีกคนนั่งอยู่ แล้วลุงคนนี้ถือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ไว้ในมือข้างนึงตลอดเวลา

เราไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นต้นเหตุ เราก็เลยยืนดูหนังอยู่ข้างหลังสุดของโรง แล้วคอยสังเกตว่า เสียงมันมาจากผู้ต้องสงสัยคนไหนกันแน่ ซึ่งเราเดาว่า มันน่าจะมาจากลุงแถว B เพราะเขาถือถุงไว้ในมือ แล้วทุกครั้งที่เขาขยับตัว ถุงมันก็จะขยับและส่งเสียงตามไปด้วย

เราก็สงสัยว่า ทำไมลุงไม่วางถุงนั่นไว้ที่พื้น หรือวางไว้ที่พนักเก้าอี้ข้างๆ ถือถุงไว้ในมือตลอดเวลามันไม่หนักหรืออย่างไร

แต่เหมือนลุงนั่นเกิดอาการหวาดระแวงเรา เพราะเขาหันหลังมามองเราเป็นระยะๆ ส่วนเรายืนดูหนังอยู่ด้านหลังสุดของโรงเฉยๆ เรายังไม่ได้ทำอะไร เรายืนดูหนังอยู่ประมาณ 5 นาที แล้วอยู่ดีๆลุงคนนั้นก็ลุกขึ้นเดินออกจากโรงไป แล้วหลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความสงบ เราก็กลับไปนั่งดูหนังต่ออย่างมีความสุข จบ

Sunday, October 27, 2019

BEING SOMEWHERE (2019, Thanaphum Sirirattanachok, 73min, A+30)


BEING SOMEWHERE (2019, Thanaphum Sirirattanachok, 73min, A+30)

1.หนึ่งในหนังที่ชอบที่สุดที่ได้ดูในปีนี้ รู้สึกจูนติดกับหนังอย่างรุนแรงตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องเลย

คือถ้าหากจะถามว่าหนังเรื่องนี้ดีไหม มี “สาระ” อะไรไหม หรือมีอะไรแปลกใหม่หรือเปล่า เราก็ตอบไม่ได้นะ แต่ถ้าหากถามว่าชอบไหม เราก็ตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ชอบที่สุดเลย

เราชอบที่หนังทั้งเรื่องมันเหมือนเป็นความพยายามจะถ่ายทอดหรือคว้าจับ “มวลอารมณ์เศร้าหมอง” ออกมาน่ะ หรือมวลอารมณ์อะไรบางอย่างที่มีทั้งความเศร้าหมอง, ความซึมกระทือ, ความหมดอาลัยตายอยาก, ความไม่รู้เป้าหมายของชีวิต, ความไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร ฯลฯ คือเรารู้สึกว่าเหมือนหนังเลือกที่จะนำเสนออารมณ์ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่มัน “นามธรรม” มากๆ และเป็นสิ่งที่ยากจะนำเสนอได้ในหนังเรื่องอื่นๆน่ะ เพราะหนังโดยทั่วไปมักจะนำเสนอสิ่งที่เป็น “รูปธรรม” เป็นหลัก อย่างความเศร้าในหนังทั่วๆไป ก็มักจะนำเสนอด้วยการที่ตัวละครร้องไห้อย่างรุนแรง, ทำลายข้าวของในห้องอะไรทำนองนี้

คือหนังโดยทั่วไป มักเลือกที่จะนำเสนอเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมน่ะ เรามักจะได้เห็นชัดๆว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ตัวละครเศร้า และพอตัวละครเศร้าแล้ว มันนำไปสู่ “คำพูด”, “การกระทำที่พิเศษ” หรือ “เหตุการณ์” อะไรบ้าง

แต่หนังเรื่องนี้ เหมือนนำเสนอปัญหาทางจิตวิญญาณของตัวละคร โดยหลีกเลี่ยงวิธีการแบบหนังทั่วๆไป เพราะเราจะเห็นเพียงแค่กิจวัตรประจำวันที่สุดแสนจะธรรมดาของตัวละครเท่านั้น เราเห็นเธออาบน้ำ, แปรงฟัน, ฉี่, ซื้ออาหาร, กินอาหาร, สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง, นอน นอน และนอน เธอไม่รับโทรศัพท์ที่คนโทรมาหา และเธอจะพูดคุยเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น อย่างเช่น เมื่อไปซื้อของ

เราอาจจะเห็นเธอทำกิจกรรมพิเศษบ้าง แต่มันก็น้อยมาก อย่างเช่น การไปซื้อต้นไม้ และการซื้อบุหรี่เพื่อเอามาดม

เราก็เลยชอบวิธีการของหนังเรื่องนี้มากๆ เหมือนมันเลือกที่จะนำเสนอปัญหาทางจิตวิญญาณของตัวละคร โดยไม่ใช้อะไรที่มันเป็นรูปธรรมชัดเจนแบบในหนังทั่วๆไป หนังมีการขึ้น “ภาพลายเส้น” แปลกๆบนจอบ้างเป็นบางครั้ง แต่ภาพลายเส้นขยุกขยุยเหล่านี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้ความกระจ่างอะไรแก่ผู้ชม

คือถ้าเปรียบเทียบ “อารมณ์ความรู้สึก” เป็นเหมือนกับ “ก๊าซที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น” เราก็รู้สึกว่า หนังทั่วๆไป พยายามจะแปร “ก๊าซ/อารมณ์ความรู้สึก” ให้เป็น “ของแข็ง” หรือ “เหตุการณ์ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมจับต้องได้” น่ะ แต่หนังเรื่องนี้เหมือนพยายามจะแปร “ก๊าซ/อารมณ์ความรู้สึก” ให้เป็น “ของเหลว” น่ะ เพราะเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ที่เป็นกิจวัตรประจำวัน มันดูไม่ได้มีความเป็น “รูปธรรม” เหมือนในหนังทั่วๆไป เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน “พิเศษ” มากๆ และมันทำในสิ่งที่หนังโดยทั่วๆไปยากที่จะทำได้

2.เราชอบความ “ใจหิน” ของหนังมากๆ เพราะหนังมันลดทอนทุกอย่างแบบที่พบได้ในหนังทั่วไปออกไปหมดเลยน่ะ

สิ่งที่ถูกลดทอนออกไปจากหนังเรื่องนี้ ก็มีเช่น

2.1 “สาเหตุ” ของปัญหาของนางเอก เราไม่รู้ว่านางเอกทำแบบนี้เพราะอะไรกันแน่ เธอคิดงานไม่ออก, เธอถูกผัวทิ้ง หรือเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเธอกันแน่

2.2 อดีตหรือประวัติชีวิตโดยรวมของนางเอก

2.3 ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะโดยปกติแล้วหนังเอเชียมักจะพูดถึง “การกลับไปหาครอบครัว พ่อแม่ เพื่อรักษาแผลใจของพระเอก/นางเอก” แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราไม่อินกับอะไรทำนองนี้น่ะ เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้ตัด “ครอบครัว” ทิ้งไปหมดเลย มันก็เลยทำให้เราอินกับหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ

2.4 เพื่อนๆ

2.5 หน้าที่การงาน ซึ่งอันนี้จริงๆแล้วมันเป็นดาบสองคมนะ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราชอบหรือเปล่าที่หนังเรื่องนี้มันดู “ลอยๆ” และไม่บอกว่านางเอก “ยังชีพ” อยู่ได้ด้วยการทำงานอะไรมาก่อน แต่ถ้าหากเรามองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการสะท้อนสิ่งต่างๆแบบ realism แต่มองว่าหนังต้องการจะสะท้อน “ดัชนีอารมณ์ความรู้สึก” เราก็ยอมรับได้ที่หนังเรื่องนี้ตัด “วิธีการหาเงินมายังชีพ” ของนางเอกทิ้งไป

2.6 ความหมายทางการเมือง คือหนังเรื่องนี้มันมีฉากที่ตัวละครดูทีวี ฟังข่าวการเมืองในทีวีก็จริง แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะเป็น symbol ทางการเมืองอะไรแต่อย่างใดน่ะ ซึ่งแตกต่างจากหนังอย่าง THE MENTAL TRAVELLER (2018, Taiki Sakpisit) เพราะ THE MENTAL TRAVELLER ก็นำเสนอ “คนซึมกระทือ” เหมือนๆกัน แต่ดูเหมือนว่ามันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองบางอย่าง

เพราะฉะนั้น พอ BEING SOMEWHERE มันลดทอนองค์ประกอบเหล่านี้ออกไปจนหมด แทนที่จะนำเสนอองค์ประกอบเหล่านี้แบบหนังทั่วไป เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน “ใจหิน” มากๆ และมัน “เล่นท่ายากมากๆ” แต่เราก็ว่ามันทำได้สำเร็จนะ เราดูหนังได้ไม่เบื่อเลย ถึงแม้มันตัดทอนองค์ประกอบข้างต้นทิ้งไปหมดก็ตาม

3.ชอบการถ่ายของหนังมากๆ ชอบที่มันมักถ่ายนางเอกในระยะไกลประมาณนึง เพื่อเก็บ “บรรยากาศ” รอบๆตัวนางเอก การที่เราเห็นนางเอกอยู่ท่ามกลาง “ห้องโล่งๆ” หรือบรรยากาศรอบๆตัวอะไรแบบนี้ มันช่วยขับเน้นความอ้างว้าง ว้าเหว่ ความเหงา หรือความว่างเปล่าทางจิตวิญญาณได้ดีขึ้น

4.ฉากที่ติดตาที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือฉากลิฟท์ ที่หนังถ่ายนางเอกเข้าลิฟท์, นางเอกออกจากลิฟท์, หญิงชราเข้าลิฟท์—ออกจากลิฟท์, เด็กชายเข้าลิฟท์—ออกจากลิฟท์, นางเอกเข้าลิฟท์อีกรอบพร้อมกล่องนม

เหมือนถ้าหากเป็นหนังทั่วๆไป มันจะต้องตัดช่วงเวลาของหญิงชรากับเด็กชายออกไปจากหนังน่ะ แต่หนังเรื่องนี้กลับเลือกที่จะไม่ตัดออกไป มันก็เลยทำให้เรากรี๊ดมากๆ และรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันเหมือนมี “มุมมองต่อโลก” หรืออะไรที่น่าสนใจกว่าหนังทั่วๆไป

แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าฉากนี้มันมีความหมายพิเศษอะไรยังไงนะ เราตีความมันไม่ออก แต่บอกได้เลยว่า เราชอบอะไรแบบนี้มากๆ

ฉากลิฟท์นี้ทำให้นึกถึงวิธีการกำกับภาพยนตร์ของ Fred Kelemen อย่างมากๆเลยด้วย เพราะหนังของ Fred Kelemen ก็จะมีอะไรคล้ายๆอย่างนี้ โดยเคเลเมนเขาบอกว่า ในหนังส่วนใหญ่นั้น ผู้กำกับมักจะถ่าย “คนนั่งในห้อง” แต่พอคนๆนั้นเดินออกจากห้องไป ผู้กำกับก็มักจะตัดไปฉากอื่น เพื่อติดตามตัวละครตัวนั้น แต่วิธีการตัดภาพแบบนี้มันเป็นการปฏิบัติต่อ “ห้อง” ราวกับว่าห้องนั้นไม่ได้ดำรงอยู่จริง หนังแบบนี้เพียงแค่ยืนยันการดำรงอยู่ของตัวละครตัวนั้น แต่ไม่ได้ยืนยันการดำรงอยู่ของห้องห้องนั้น ดังนั้นถ้าหากผู้กำกับภาพยนตร์ยังคงถ่ายห้องว่างๆต่อไป หรือถ่ายเก้าอี้ที่ไม่มีคนนั่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่า “บรรยากาศของการดำรงอยู่ของตัวละครตัวนั้นจะจางหายไปจนหมด”  เมื่อนั้นคุณถึงจะเริ่มมองเห็น “ห้องห้องนั้นเป็นสถานที่ที่แท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับมนุษย์อีกต่อไป” และมนุษย์จะกลายเป็นเพียงธุลีเล็กๆอันหนึ่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่

นอกจากนี้  วิธีการสร้างหนัง/ตัดต่อหนังแบบ Fred Kelemen นี้มันยังช่วยติดตามร่องรอยของสิ่งที่มนุษย์ทิ้งไว้เบื้องหลังด้วย เพราะเมื่อคุณลุกขึ้นยืนหลังจากที่คุณนั่งอยู่บนเก้าอี้สักระยะหนึ่ง เก้าอี้ตัวนั้นมันจะยังคงมีความอุ่นจากตัวคุณทิ้งค้างเอาไว้อยู่ มันยังคงมีอุณหภูมิจากร่างกายของคุณเหลือค้างเอาไว้อยู่ ถ้าใครก็ตามเข้ามานั่งที่เก้าอี้ตัวนั้นต่อจากคุณในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา คนคนนั้นก็จะยังคงรู้สึกได้ถึงความอุ่นจากตูดของคุณที่ทิ้งค้างไว้ที่เก้าอี้ตัวนั้น หนังของ Fred Kelemen พยายามจะคว้าจับอะไรแบบนี้เอาไว้ในหนังของเขา เพราะฉะนั้น Fred จะยังคงถ่ายเก้าอี้ว่างๆต่อไป จนกว่าความอุ่นจากตัวละครที่ทิ้งค้างเอาไว้จะหายไปจนหมด แล้ว Fred ถึงจะค่อยตัดไปฉากถัดไป

เพราะฉะนั้นพอเราดูฉากลิฟท์ในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยนึกถึงหนังของ Fred Kelemen มากๆ ถึงแม้เราไม่รู้ว่ามันมาจากวิธีคิดแบบเดียวกันหรือเปล่า

แต่จริงๆแล้ว นอกจากฉากลิฟท์ เราว่าอารมณ์ในฉากอื่นๆของหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ห่างไกลจากหนังของ Fred Kelemen มากนักนะ ถึงแม้ว่าหนังของ Kelemen จะ “สะท้อนสังคม” มากกว่าหนังเรื่องนี้ก็ตาม

5.ดูหนังเรื่องนี้แล้วแอบคิดถึงตัวเองด้วยแหละ รู้สึกว่าลึกๆแล้วตัวเองมี “ความว่างโหวงทางจิตวิญญาณ” อะไรบางอย่างอยู่ในตัวด้วยเหมือนกัน และเราก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่างๆในชีวิตเรามากๆ แต่เราแตกต่างจากนางเอกตรงที่ว่า เรายังหาความสุขได้ด้วยการ “ดูหนัง” และ “การเล่นกับตุ๊กตาหมี” น่ะ ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วในบางครั้งเราก็อยากทำแบบนางเอก นั่นก็คือ การนอน นอน และ นอน 55555

6.ถ้าหากต้องฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องอื่นๆ เราก็คงเลือกฉายควบกับ
6.1 THE FIRE WITHIN (1963, Louis Malle, France) เพราะหนังฝรั่งเศสเรื่องนี้เล่าเรื่องของหนุ่มหล่อที่อยากฆ่าตัวตาย แต่ก่อนตาย เขาก็เลยเดินทางไปตระเวนเยี่ยมเพื่อนแต่ละคน เผื่อจะมีเพื่อนคนไหนที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ปรากฏว่าไม่มีเพื่อนคนใดเลยที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

6.2 NATHALIE GRANGER (1972, Marguerite Duras, France)  หนังเรื่องนี้นำเสนอกิจวัตรประจำวันของหญิงสาวสองคนในบ้านหลังนึง หนังทรงพลังมากๆ ทั้งๆที่แทบไม่มีเนื้อเรื่องอะไรที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในหนังเลย ฉากทีทรงพลังที่สุดในหนังคือฉากที่ตัวละครเก็บกวาดโต๊ะกินข้าว คือแค่ตัวละครทำกิจวัตรอะไรแบบนี้ หนังก็สามารถถ่ายทอดมันออกมาให้กลายเป็นอะไรที่งดงามที่สุดในโลกได้แล้ว

6.3 JEANNE DIELMAN, 23 QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman, Belgium, 202MIN)

เอาเข้าจริง เรารู้สึกว่า BEING SOMEWHERE เหมือนกับเอาตัวละครจาก THE FIRE WITHIN มานำเสนอใน style คล้ายๆ JEANNE DIELMAN 55555 เพราะตัวละครนางเอกของ BEING SOMEWHERE อาจจะ “หมดไฟในการมีชีวิตอยู่” คล้ายๆพระเอกของ THE FIRE WITHIN แต่แทนที่นางเอกของ BEING SOMEWHERE จะพูดคุยกับเพื่อนๆ นางเอกของ BEING SOMEWHERE กลับทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองไปเรื่อยๆ คล้ายๆกับนางเอก JEANNE DIELMAN

6.4 THE SEVENTH CONTINENT (1989, Michael Haneke, Austria) เพราะหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอ “กิจวัตรประจำวัน ของตัวละครที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่/ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” เหมือนๆกับใน BEING SOMEWHERE เพียงแต่ว่า THE SEVENTH CONTINENT มันเหมือนจะด่าโลกทุนนิยม แต่ BEING SOMEWHERE ไม่ได้มีนัยยะอะไรแบบนั้น

นอกจากนี้ เราก็รู้สึกว่า BEING SOMEWHERE มันมี sense อะไรบางอย่าง ที่ทำให้นึกถึงหนังแบบ THE ECLIPSE (1962, Michelangelo Antonioni) และ VIVE L’AMOUR (1994, Tsai Ming-liang, Taiwan) ด้วย คือเหมือน BEING SOMEWHERE มันเอาช่วง 10-20 นาทีสุดท้ายของ THE ECLIPSE กับ VIVE L’AMOUR มาขยายให้เป็นหนังยาว 73 นาที 555

7.แต่ก็มีสิ่งที่คาใจในหนังอยู่นิดนึงนะ เพราะมันเหมือนมี “แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป” ปรากฏอยู่ในหนังหลายๆครั้งน่ะ เราก็เลยไม่รู้ว่ามันเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค หรือเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ และถ้าหากมันเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ สิ่งนี้มันต้องการจะสื่อถึงอะไร

คือช่วงแรกๆที่เราเห็นแสงแฟลชบ่อยๆ เราแอบเดาว่า หรือหนังมันต้องการจะเสียดสี “ความเหงาแบบเท่ๆ” วะ 55555 แบบตัวละครทำเหงาไปเรื่อยๆ เพื่อโพสท่าถ่ายรูป+เล่าเรื่องลง social media อะไรทำนองนี้

แต่พอดูจนจบ เราก็ปัดตกทฤษฎีข้างต้นไป เพราะหนังมันดูไม่ได้ต้องการจะเสียดสีอะไรแบบนั้น

สรุปว่า ชอบหนังเรื่อง BEING SOMEWHERE อย่างสุดๆ หนังเรื่องนี้จะฉายอีกทีในงานมาราธอนที่หอภาพยนตร์ ศาลายา ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.นะ


RIDE YOUR WAVE

PREAH KUNLONG (THE WAY OF THE SPIRITS (2017, Khvay Samnang, Cambodia, video installation, 18min, A+30) งดงามมากๆ

RIDE YOUR WAVE (2019, Masaaki Yuasa, Japan, A+30)

1.ชอบความอิทธิปาฏิหาริย์ ผีสางแม่นางโกงของหนังมากๆ

2.นึกว่าเป็นการผสม ALWAYS (1989, Steven Spielberg) กับ A SCENE AT THE SEA (1991, Takeshi Kitano) เข้าด้วยกัน

3.ขำฉาก climax  ของหนังมากๆ ไม่รู้คิดขึ้นมาได้ยังไง เว่อร์มากๆ 555

Saturday, October 26, 2019

CHATATHIPTAI

CHATATHIPTAI (2019, Deja Piyavhatkul, documentary, A+30)
ชะตาธิปไตย

1.ดีมากๆที่มีคนทำหนังประเด็นนี้ออกมา เพราะเหมือนเราจะถูกฝังหัวมาตั้งแต่เด็กว่า ตัวละคร "นักการเมือง" มักจะมีสถานะเป็น "ผู้ร้าย" ในหนังไทยหรือละครทีวีไทยน่ะ แต่หนังสารคดีเรื่องนี้นำเสนอการทำงานและการหาเสียงของ นักการเมือง/นายแพทย์ 3 คน และมันทำให้เรารู้สึกว่า พวกเขาทำงานหนักกว่าที่เราคาดมากๆ และพวกเขาเป็นมนุษย์ปุถุชน ไม่ใช่ "ผู้ร้าย" แบบที่เราเคยเห็นในหนังไทยเรื่องอื่นๆ

2.แต่ตอนที่ดู ก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนทั้งจุดดีและจุดด้อยของหนังสารคดี เมื่อเทียบกับหนัง fiction นะ

จุดดีก็คือว่า หนังมันสะท้อนความจริง การทำงานจริงๆ ของ subjects สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจิตวิญญาณจริงๆของ subjects และ subjects แต่ละคนมีความซับซ้อนในตัวเอง ไม่ใช่ตัวละครที่ผู้สร้างหนังเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อรับใช้จุดประสงค์บางอย่าง หรือปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อผลกระทบทางอารมณ์บางอย่างแบบในหนัง fiction

แต่จุดด้อยก็คือว่า เอาเข้าจริงแล้ว เราจะแทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่า subjects แต่ละคน "คิด" อะไรอยู่ในหัว เราจะรู้ได้แต่เพียงสิ่งที่พวกเขา "พูด" และ "ทำ" "ต่อหน้ากล้อง" แต่เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า พวกเขา "คิด" อะไร, ไม่รู้ว่าพวกเขาพูดและทำอะไร เมื่อไม่ได้อยู่ต่อหน้ากล้อง และไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาพูดและทำต่อหน้ากล้อง เป็นการแสดงเพื่อหวังผลบางอย่าง หรือไม่ได้หวังผลอะไรแต่อย่างใด

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะแตกต่างจากหนัง fiction ที่ผู้สร้างหนังสามารถควบคุมความคิดและการกระทำทุกอย่างของตัวละครได้เต็มที่

3.เพราะฉะนั้น ฉากที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ ก็เลยกลายเป็นฉากที่คุณหมอจากพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงเรื่องที่เคยไม่พอใจการทำงานของนางพยาบาล รู้สึกว่าฉากนั้นมันดูเป็นการเผยความจริงใจยังไงไม่รู้

4.ฉากที่คุณชลน่าน บ่นเรื่องชีวิตสมรส หรืออะไรทำนองนี้ เราก็ชอบมาก คือไม่ได้ชอบสิ่งที่คุณชลน่านพูดในฉากนั้น ไม่ได้ชอบทัศนคติของเขา แต่ชอบที่หนังเรื่องนี้สามารถคว้าจับ moment แบบนี้มาได้

HAIL SATAN? (2019, Penny Lane, documentary, A+25)

 --น่ารักมากๆ 555 ดูแล้วนึกถึงพวก "พรรคมาร" ในหนังจีนกำลังภายใน ที่จริงแล้วเป็นคนดีมีคุณธรรมมากกว่า "ฝ่ายธรรมะ"

--ขำเจ้าแม่คนนึงที่ถูกขับไล่ออกจากโบสถ์ซาตาน เพราะเธอปลุกระดมให้ฆ่าทรัมป์ สิ่งที่เธอทำก็เลยขัดกับหลักการของโบสถ์ซาตานที่ยึดหลักอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง


Thursday, October 24, 2019

HUSTLERS

HUSTLERS (2019, Lorene Scafaria, A+25)

1.พอองก์แรกของหนังพูดถึงความอู้ฟู่ สังคมเงินสะพัดในอเมริกาในปี 2007 เราก็เลยนึกถึงชีวิตในไทยในปี 1996 ขึ้นมาเลย เหมือนปี 1996 เป็นปีที่ธุรกิจในไทยรุ่งเรืองมากๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะล่มสลายเมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในเวลาต่อมา

ช่วงแรกของหนัง ดูแล้วนึกถึง DANCING AT THE BLUE IGUANA (2000, Michael Radford) ด้วย

2.ชอบหนังมากๆ แต่เหมือนหนังยังขาดพลังอะไรบางอย่าง เราเดาว่ามันคงเป็นเพราะหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง ที่บุคคลต่างๆในเรื่องยังคงมีชีวิตอยู่ หนังเลยไม่กล้าแต่งแต้มเรื่องราวของตัวละครต่างๆได้ตามใจชอบมากนัก

เหมือนหนังสร้างจากปากคำของตัวละครของ Constance Wu เป็นหลักด้วยแหละ เพราะฉะนั้นเราก็จะสงสัยตลอดเวลาว่า ตัวละครตัวนี้มันรู้สึก guilty จริงๆหรือเปล่า และตัวละครของ Jennifer Lopez มันใจร้ายอย่างที่ Constance เล่าจริงหรือเปล่า

3.รู้สึกว่า อเมริกาน่าจะเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญที่สุดแล้วในการสร้างหนังกลุ่มเดียวกับ HUSTLERS หรือหนังที่สร้างจาก "เรื่องจริง" ของ "คนที่อยากรวย และ/หรือใช้เล่ห์กลอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองรวย หรือประสบความสำเร็จ หรือหนังเกี่ยวกับการขับเคี่ยวทางการเงิน"  ในขณะที่หนังอินเดีย, หนังญี่ปุ่น, หนังไทย, หนังยุโรป ดูเหมือนจะไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้สักเท่าไหร่

หนังอเมริกันในกลุ่มนี้ก็มีเช่น AMERICAN ANIMALS (2018, Bart Layton), BARBARIANS AT THE GATE (1993, Glenn Jordan), THE BIG SHORT (2015, Adam McKay), BILLIONAIRE BOYS CLUB (2018, James Cox), THE BLING RING (2013, Sofia Coppola), CAN YOU EVER FORGIVE ME (2018, Marielle Heller), CATCH ME IF YOU CAN (2000, Steven Spielberg), JT LEROY (2018, Justin Kelly), MOLLY'S GAME (2017, Aaron Sorkin),  SHATTERED GLASS (2003, Billy Ray), TO DIE FOR (1995, Gus Van Sant), 21 (2008, Robert Luketic), THE WOLF OF WALL STREET (2013, Martin Scorsese)

ENDO

POOR FOLK (2012, Midi Z, Taiwan, A+30)

ถ้าเข้าใจไม่ผิด หนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา คือแทนที่จะเล่าแบบ 1 2 3 4  หนังเรื่องนี้กลับเล่าเรื่องแบบ 3 4 1 2

ซึ่งเราไม่รู้มาก่อนว่าหนังจะเล่าเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้นตอนที่ดูหนัง เราก็เลยงงมากๆ จับต้นชนปลายไม่ถูกในหลายๆช่วงของหนัง

เหมือนหนังใช้วิธีการถ่ายคล้ายๆหนังสารคดีด้วยแหละ และรักษาระยะห่างจากตัวละครในระดับนึง เราก็เลยตามเรื่องได้ยากยิ่งขึ้น

ถ้าเทียบกับหนังของ Midi Z อีก 3 เรื่องที่เราได้ดู ซึ่งก็คือ ICE POISON (2014), CITY OF JADE (2016, documentary) และ THE ROAD TO MANDALAY (2016) เราว่า POOR FOLK ดูยากสุด ส่วน THE ROAD TO MANDALAY ดูง่ายสุด

ENDO (2006, Jade Castro, Philippines, A+30)

Jason Abalos  พระเอกหนังเรื่องนี้น่ารักที่สุดเลย กรี๊ดดดดดดดดด

ชอบหนังอย่างสุดๆ มันเป็นหนังโรแมนติกของ "คนที่มีปัญหาทางการเงิน" น่ะ เราก็เลยอินกับหนังเรื่องนี้มากๆ และเราชอบที่หนังมันให้ความสำคัญมากๆ กับชีวิตการทำงานของตัวละครด้วย เหมือน 50% ของหนังคือ "การทำงานหาเลี้ยงชีพ" ของตัวละครในฐานะลูกจ้างของธุรกิจต่างๆ

ดูแล้วนึกถึง IN THE AISLES (2018, Thomas Stuber, Germany, A+30) ที่เป็นหนังโรแมนติกเกี่ยวกับ "ลูกจ้างในธุรกิจค้าปลีก" เหมือนกัน และให้ความสำคัญกับ "การทำงาน ประกอบอาชีพ" มากพอๆกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า พระเอกนางเอกใน ENDO ดูเป็นคนธรรมดามากกว่า (ถึงแม้หน้าตาจะดีมากๆ) ส่วนพระเอกนางเอกใน IN THE AISLES จะเป็นตัวละครที่มีปัญหาไม่ธรรมดาน่ะ เพราะพระเอกของ IN THE AISLES เป็นอดีตนักโทษ ส่วนนางเอกก็ถูกผัวซ้อม

เราคิดว่าความแตกต่างระหว่างหนังสองเรื่องนี้ มันอาจจะสะท้อนความแตกต่างระหว่างสังคมฟิลิปปินส์กับเยอรมนีออกมาด้วย เราคิดว่าการที่ตัวละครพระเอกนางเอกใน IN THE AISLES มีปัญหาเฉพาะตัว อาจจะเป็นเพราะว่า เยอรมนี มันมี "สวัสดิการสังคม" ที่ดีกว่าฟิลิปปินส์อย่างมากๆ เพราะฉะนั้นถึงแม้คุณจะเป็นชนชั้นล่างในเยอรมนี คุณก็อาจจะไม่ได้มีปัญหาชีวิตรุนแรงมากนัก คุณยังมีงานทำ มีสวัสดิการ ไม่ต้องดิ้นรนไปแสวงโชคที่ต่างประเทศ และด้วยเหตุนี้ หนังเยอรมันก็เลยต้องสร้าง "ปัญหาเฉพาะตัว" ให้กับตัวละครพระเอกนางเอก ไม่เช่นนั้น ตัวละครมันจะมีปัญหาชีวิตน้อยเกินไป เพราะการเป็นชนขั้นแรงงานในเยอรมนี อาจจะไม่ได้มีความทุกข์มากนัก

สิ่งนี้ตรงข้ามกับใน ENDO เพราะการเป็นคนจนในฟิลิปปินส์ หมายถึงว่าคุณไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับทั้งสิ้น และคุณต้องหางานทำอย่างยากลำบาก ทำงานอย่างยากลำบาก ต้องดิ้นรนไปต่างประเทศ ต้องทิ้งครอบครัวและคนรักเพื่อไปหาเงินในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นแค่ตัวละครเป็นคนจนในฟิลิปปินส์ ตัวละครก็มีปัญหารุนแรงมากพอแล้วล่ะ

Wednesday, October 23, 2019

JENESYS SYNOPSIS


มีเพื่อนถามเราเกี่ยวกับข้อมูลของหนังบางเรื่องในโครงการ JENESYS เราก็จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว ถ้าใครจำอะไรได้เพิ่มเติม ก็ช่วยให้ข้อมูลด้วยนะ :-)

I am sorry (กิตดนัย ปาลี)        
น่าจะเป็นเรื่องของเด็กสาวที่ถูกกลั่นแกล้ง แล้วถูกแอบถ่ายคลิปไว้ แล้วตอนหลังก็โดดตึกตาย

Myself (
ชยณัฐ หน่อท้าว)
เราจดไว้แค่ว่า เป็นหนังที่ใช้ voiceover ภาษาอังกฤษ ดูแล้วงงๆ จำอะไรในหนังไม่ได้แล้ว

My world (
นภัทร ริวรรณ์)
หนังใช้เพลง IMAGINE เป็นเพลงประกอบ ตัวละครเอกเป็นเด็กแว่นที่ใช้ปิ่นโต กล่องข้าว เวลาซื้ออาหาร จะได้ลดการใช้ถุงพลาสติก แต่เขาโดนคนอื่นๆนินทาว่าเขาไม่ปกติ

Shin & kin (
อังศุธร สง่าสิน)
หนังเกี่ยวกับเพื่อนสองคน คนนึงช่วยอีกคน hack ข้อมูลข้อสอบ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนให้ชิงทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา

The answer (ธีรดา พลบูรณ์)
นางเอกเป็นเด็กสาวนิสัยชั่ว เธอแย่งที่นั่งเพื่อนในห้องสมุด เธอก็เลยถูกคนนินทา ถูกเพื่อนทั้งห้องมองด้วยสายตารังเกียจเดียดฉันท์ ถ้าเราจำไม่ผิด

The if (ธัญรัตน์ สิงห์วงษ์)
หนังเล่าเรื่องของสามสาวที่เป็นเพื่อนกัน แต่ต่อมาหนึ่งในสามคนนี้โดนเพื่อนอีกสองคนทิ้ง เธอเลยจะฆ่าตัวตาย

The way (
ณัฐพร ประจวบกลาง)
นางเอกเห็นคนทิ้งขยะไม่ลงถัง เธอเลยไปเก็บขยะให้ลงถัง และหนังก็นำเสนอปัญหาเรื่องการขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าด้วย

Think yourself (
ศุภกฤต สูญจันทร์)
หนังเล่าเรื่องของสามสาวที่เป็นเพื่อนกัน แต่คนนึงกลับแอบขโมยตังค์เพื่อน แต่ต่อมาอีนี่ก็สำนึกผิด

ขยะ (จิรพัทธ์ หะรังษีโรจนคุณ)
เราจดไว้แค่ว่า เป็นเรื่องของ “ชายหนุ่มทิ้งขยะลงถัง”

ขายปลา (ณัฐวิภา สิงห์ภูกัน)
หนังแสดงความเบื่อหน่ายต่อคนในประเทศไทยที่ทิ้งขยะไม่ลงถัง และสอนว่าการจะปรับปรุงเรื่องพวกนี้ begin with all of us

ความเป็นจริง (พรนภัส อนุรัตน์)
นางเอกขโมยสมุดเพื่อน โดยที่ในหนังมีป้ายโครงการ JENESYS อยู่ด้วย


22 OCT – 28 OCT 1989


อันดับเพลงเมื่อ 30 ปีก่อน
WEEK 43
22 OCT – 28 OCT 1989 

1. EVERYDAY – Jason Donovan
                 
2. THE BEST – Tina Turner

3. RIDE ON TIME – Black Box

4. EQUAL ROMANCE – Coco

5. OYE MI CANTO – Gloria Estefan (New Entry)

6. KOU SANI FUKARETE – Shizuka Kudo (New Entry)

7. SUKI – Misato Watanabe (New Entry)

8. DIDN’T I (BLOW YOUR MIND THIS TIME) – New Kids On The Block (New Entry)

9. COVER GIRL – New Kids On The Block (New Entry)

10. SLOW DOWN – Karyn White (New Entry)

11. MANTRA FOR A STATE OF MIND – S’Express (New Entry)

12. RUN 2 – New Order (New Entry)        
มิวสิควิดีโอเพลงนี้กำกับโดย Robert Frank

13. HARLEM DESIRE – London Boys (New Entry)

14. YOU ARE MY EVERYTHING – Surface (New Entry)

15. SOWING THE SEEDS OF LOVE – Tears For Fears (New Entry)


Tuesday, October 22, 2019

SELF-CENSORSHIP

SELF-CENSORSHIP (2018, Kevin H.J. Lee, Taiwan, documentary, A+30)

1.ชอบข้อมูลที่อัดแน่นในหนังเรื่องนี้มากๆ ดูแล้วเหมือนทำให้เข้าใจการประท้วงในฮ่องกงมากขึ้นด้วย ว่าทำไมชาวฮ่องกงหลายคนถึงโกรธแค้นรัฐบาลจีนขนาดนั้น

เหมือนเนื้อหาในหนังเรื่องนี้มันเยอะมากๆ จนเราตามเนื้อเรื่องไม่ทันในบางครั้ง และอาจจะจำได้ไม่ถึง 10% ของเนื้อหาทั้งหมดที่หนังนำเสนอ แต่แค่นี้ก็กราบหนังมากๆแล้ว

เรื่องราวที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็มีเช่น

1.1 ชาวไต้หวัน ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน และเคยเขียนด่ารัฐบาลจีน  (ขณะที่เขาอยู่ในไต้หวัน) แต่พอเขาเดินทางไปจีน เขาก็ถูกทางการจีนจับตัวไป

1.2 เรื่องที่ทางการจีนลักพาตัวกลุ่มเจ้าของร้านขายหนังสือในฮ่องกง

1.3 สิ่งที่เอ๋อตงเซินพูดในงานแจกรางวัลม้าทองคำ

1.4 ปัญหาของชาวไต้หวันเวลาไปถ่ายหนังในจีน

1.5 ดีเจหญิงชาวฮ่องกงที่ถูกทางการจีนกลั่นแกล้งจนถูกไล่ออกจากงาน

1.6 การที่ทางการจีนเข้าครอบงำหนังสือพิมพ์ในฮ่องกง

1.7 การเซ็นเซอร์หนังสือในฮ่องกง

1.8 การที่จีนเคยเปิดให้บริษัทไต้หวันหลายแห่งเข้าไปตั้งกิจการในจีนในทศวรรษ 1990 แต่พอบริษัทไหนรุ่งเรือง จีนก็จะหาทางเข้าฮุบบริษัทนั้นเป็นของตัวเอง

1.9 เรื่องของการประท้วง sunflower occupation ในไต้หวัน และ umbrella ในฮ่องกง ที่ช่วยสกัดกั้นอิทธิพลมืดจากจีน

1.10 เรื่องของหนัง TEN YEARS HONG KONG

2.แต่สิ่งที่กระทบเราเป็นการส่วนตัว โดยไม่เกี่ยวกับประเด็นหลักของหนัง คือการที่ subject คนหนึ่งในหนัง เป็นชายวัยราว 60 ปีที่ตาบอดสองข้าง เพราะอาการ "จอประสาทตาหลุดลอก"

คืออย่างที่เราเคยเขียนไปแล้วว่า เรามีอาการ "จอประสาทตาฉีกขาด" ในปีนี้น่ะ และมันฉีกขาดไป 4 จุดแล้ว หมอใช้ laser รักษาไปแล้ว

แต่สิ่งที่เรากังวลก็คือว่า สำหรับคนที่เป็นโรคนี้นั้น ถ้าหากจอประสาทตาฉีกขาดขึ้นมา แล้วไม่รู้ตัว ไปหาหมอไม่ทัน มันก็อาจจะเกิดอาการ "จอประสาทตาหลุดลอก" ตามมาได้

เพราะฉะนั้น หนึ่งในสิ่งที่เราหวาดกลัวที่สุดในชีวิต ก็คือ อาการจอประสาทตาหลุดลอกนี่แหละ เพราะฉะนั้น การได้ดูหนังเรื่องนี้ และเจอ subject ที่ตาบอดเพราะโรคนี้ มันก็เลยเป็นสิ่งที่กระทบใจเรามากๆเป็นการส่วนตัว

Sunday, October 20, 2019

THE SKY IS PINK

THE SKY IS PINK (2019, Shonali Bose, India, A+25)

1.หนังสร้างจากเรื่องจริง ตัวละครหลักของเรื่องเป็นเด็กสาวที่ป่วยเป็นโรค SCID เธอบอกกับผู้ชมตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า เธอตายแล้ว และเธอก็เล่าให้ผู้ชมฟังเกี่ยวกับเรื่องราวความรักของพ่อแม่ของเธอ และความยากลำบากของพ่อแม่ในการพยายามเลี้ยงดูเธอ ก่อนที่เธอจะตาย

ชอบที่หนังใช้วิธีการเล่าแบบนี้มากๆ เพราะพอหนังบอกผู้ชมตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ตัวละครจะตาย รักษาไม่หาย มันก็เลยเหมือนช่วยให้หนังเรื่องนี้ไม่ฟูมฟายมากนัก ช่วยให้ผู้ชมทำใจล่วงหน้าได้ตั้งแต่แรก และทำให้มันแตกต่างไปจากหนังญี่ปุ่นหลายๆเรื่องที่พูดถึงผู้ป่วยเหมือนๆกัน

2.พอดูหนังอินเดียเรื่องนี้จบแล้ว ก็เลยสงสัยว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงเป็นหนังอินเดียเรื่องแรกที่เราได้ดู ที่เน้นย้ำเรื่องตัวละครป่วยเป็นโรคร้าย คือเหมือนเราได้ดูหนังอินเดียมาแล้ว 100 เรื่อง แต่นี่เป็นเรื่องแรกที่พูดถึงประเด็นนี้

ในขณะที่หนังญี่ปุ่นกลับเต็มไปด้วยตัวละครเจ็บป่วยอะไรทำนองนี้มากมาย คือเหมือนกับว่าในหนังญี่ปุ่นทุก 100 เรื่องที่เราได้ดู จะต้องมีตัวละครป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือโรคร้ายอะไรสักอย่าง ราว 33 เรื่อง 5555 อย่างเช่น BRAVE FATHER ONLINE: OUR STORY OF FINAL FANTASY XIV (2019, Teruo Noguchi, Kiyoshi Yamamoto), THE TRAVELLING CAT CHRONICLES (2018, Koichiro Miki), SUNNY: OUR HEART BEATS TOGETHER (2018, Hitoshi One), HER LOVE BOILS BATHWATER (2016, Ryuta Nakano), THE MOHICAN COMES HOME (2016, Shuichi Okita), BE SURE TO SHARE (2009, Sion Sono), IKIRU (1952, Akira Kurosawa) และ DYING AT A HOSPITAL (1993, Jun Ichikawa) ซึ่งเรายกให้เป็นหนังที่เราชื่นชอบมากที่สุดในบรรดาหนังกลุ่มนี้

คือพอดูหนังอินเดียกับหนังญี่ปุ่นหลายๆเรื่อง เราก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า อินเดียมันเป็นประเทศที่ระบบสาธารณสุขมันน่าจะย่ำแย่กว่าญี่ปุ่นมากๆไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมตัวละครในหนังอินเดียถึงไม่ค่อยป่วยหนักกัน แต่ตัวละครในหนังญี่ปุ่นป่วยหนัก จะตายมิตายแหล่กันอยู่ตลอดเวลา อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หนังสองประเทศนี้แตกต่างกันในจุดนี้ มันเป็นเพราะว่าอะไรกันแน่ ระหว่างปัจจัยเหล่านี้

2.1 คนอินเดียโดยทั่วไป สุขภาพดีกว่าคนญี่ปุ่นมากๆ หนังสองชาตินี้เลยสะท้อนความจริงตรงจุดนี้

2.2 หรือเป็นเพราะว่า คนญี่ปุ่นแค่ชอบดูหนังเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งอาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงระเบิดปรมาณู

2.3 หรือเป็นเพราะว่า ญี่ปุ่นไม่ค่อยมี "ปัญหาสังคมร้ายแรง" ให้เอามาเล่น ก็เลยเหลือแค่ประเด็น "การ แก่ เจ็บ ตาย" ของมนุษย์ ที่สามารถเอามาทำเป็นอารมณ์ดราม่าแรงๆได้

ส่วนหนังอินเดียที่เราได้ดูนั้น หลายสิบเรื่อง พูดถึง "ปัญหาสิทธิสตรี", "ปัญหาการก่อการร้าย", "ปัญหาปากีสถาน" หรือบางเรื่องก็พูดถึง "ปัญหาไม่มีห้องน้ำใช้" และ "ปัญหาการไม่มีผ้าอนามัยใช้"

เราก็เลยสงสัยว่า มันเป็นเพราะว่า อินเดียมันเต็มไปด้วยปัญหาเหี้ยห่ามากมาย ที่หยิบเอามาทำเป็นดราม่าในหนังได้หรือเปล่า ปัญหาการป่วยไข้ ก็เลยไม่ได้รับความสนใจจากผู้สร้างหนังไปโดยปริยาย

เชิญอภิปรายค่ะ 555

THE DEAD DON’T DIE (2019, Jim Jarmusch, A+30)


THE DEAD DON’T DIE (2019, Jim Jarmusch, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ชอบสุดๆ ติดอันดับประจำปีแน่นอน ชอบความแปลกแปร่งของหนังอย่างมากๆ รู้สึกจูนติดกับหนังอย่างรุนแรง สิ่งแรกที่ชอบมากๆก็คือ มันทำให้เรารู้สึกว่า “หนังซอมบี้ทำแบบนี้ก็ได้ด้วย” 555 เพราะหนังเรื่องนี้ให้บรรยากาศสบายๆ ชิลๆ เหมือนกับเป็นแค่ “การขับรถชมวิว” น่ะ และ วิวของหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ “ทุ่งหญ้า” หรือ “ป่า” หรือ “ชนบทแสนสงบ” แต่วิวของหนังเรื่องนี้ก็คือ “องค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์” และ “องค์ประกอบแบบที่มักพบเห็นได้เป็นประจำในหนังซอมบี้”

คือหนังซอมบี้โดยทั่วไป มันจะเป็นหนัง thriller, horror ที่เน้นอารมณ์ลุ้นระทึกน่ะ แต่ก็มีหนังซอมบี้หลายๆเรื่องที่แหวกแนวออกไป อย่างเช่น OTTO; OR, UP WITH DEAD PEOPLE (2008, Bruce La Bruce, Germany/Canada) ที่เหมือนจะพูดถึงประเด็นเกย์ ถ้าจำไม่ผิด, I ZOMBIE: THE CHRONICLES OF PAIN (1998, Andrew Parkinson, UK) ที่ทำเป็นหนังเหงาๆโรแมนติก, THE GIRL WITH ALL THE GIFTS (2016, Colm McCarthy, UK) ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่มือของคนรุ่นใหม่, ONE CUT OF THE DEAD (2017. Shinichiro Ueda) ที่เฉลิมฉลองการสร้างภาพยนตร์ และหนังซอมบี้หลายๆเรื่องที่เป็นหนังการเมือง อย่างเช่น HOMECOMING (2005, Joe Dante)

แต่ก็ไม่เคยมีหนังซอมบี้เรื่องไหนที่เราเคยดูมาก่อน ที่ให้รสชาติเฉพาะตัว ชิลๆแบบหนังเรื่องนี้ เราก็เลยชอบ THE DEAD DON’T DIE มากๆที่เหมือนมันเพิม “ความเป็นไปได้” อีกหนึ่งแบบให้กับการสร้างหนังซอมบี้ด้วย 555

2.อีกหนึ่งสิ่งที่ชอบสุดๆ ซึ่งผู้สร้างหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ ก็คือว่า หนังมันทำให้เราตั้งคำถามว่า หนังมัน “ด่าทุนนิยมด้วยความจริงใจ” หรือมัน “ตั้งใจจะเสียดสีการด่าทุนนิยม” กันแน่ 55555

สาเหตุที่เราสงสัยเรื่องนี้ขึ้นมา เป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้มันตั้งใจจะ self-reflexive ตลอดทั้งเรื่องน่ะ เพราะหนังมันเปิดเรื่องด้วยเพลง THE DEAD DON’T DIE และในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ตัวละครตำรวจสองตัวก็ได้ฟังเพลงนี้ทางวิทยุ แล้วตัวละคร  Cliff Robertson (Bill Murray) ก็พูดว่า “ทำไมเพลงนี้มันคุ้นหูจัง” แล้วตัวละคร Ronnie (Adam Driver) ก็ตอบว่า “ก็เพลงนี้มันเป็น theme song” ยังไงล่ะ

คือพอ “ตัวละครรู้ว่าตัวเองเป็นตัวละครในหนัง ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง” แบบนี้ หนังเรื่องนี้ก็เลยพาผู้ชมเข้าสู่มิติที่น่าสนใจในทันที เพราะหนังมันบอกเราตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมเข้าไปอินกับเนื้อเรื่องแบบหนังทั่วๆไป แต่ต้องการให้ผู้ชมตระหนักรู้ตลอดเวลาว่า ตัวเอง “กำลังดูองค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์” อยู่ และเหมือนหนังมันจะแอบหัวเราะขำ “การใช้องค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์” อยู่หลายๆครั้ง อย่างเช่น การใส่เพลง THE DEAD DON’T DIE เข้ามาไม่รู้กี่สิบครั้ง หรือการใส่ตัวละคร 3 หนุ่มสาว hipster เข้ามา ซึ่งดูเหมือนเป็นตัวละคร Stereotype แบบที่พบได้ในหนัง horror มากๆ คือพอหนังมันใส่ตัวละครแบบนี้เข้ามา เราก็ไม่รู้ว่าหนังใส่เข้ามาทำไม หรือหนังกำลังแอบหัวเราะ cliche และ stereotype ทางภาพยนตร์อยู่

และสิ่งที่เราชอบมากๆก็คือเหตุการณ์ในช่วงท้ายเรื่อง ที่ตัวละครตำรวจหญิง ตัดสินใจ  “ตายแบบโง่มากๆๆๆ” และตัวละคร Cliff กับ Ronnie นั้น จริงๆแล้ว ถ้าหากพวกเขาเป็นมนุษย์จริงๆ พวกเขาก็ควรจะขับรถหนีซอมบี้ไปซะ ก็สิ้นเรื่อง แต่นี่พวกเขาพูดคุยกันในทำนองที่ว่า “พวกเราเป็นตัวละครในหนังใช่ไหม แล้วบทมันเขียนให้พวกเราตายแบบเลวร้ายใช่ไหม งั้นก็ทำตามที่บทเขียนมาให้จบๆกันไปก็แล้วกัน” เพราะฉะนั้น หนังเรื่องนี้ก็เลยจบลงด้วย “ฉาก cliche แบบหนังสูตรสำเร็จทั่วๆไป หรือฉาก cliche แบบหนังซอมบี้” ด้วยการที่ตัวละครออกมาทำฉากบู๊เท่ๆ ฟาดฟันกับเหล่าซอมบี้ เพื่อให้ซอมบี้รุมฆ่าตาย ซึ่งเป็น “การตัดสินใจตายเพราะบทเขียนมาให้ตาย” ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาน่าจะขับรถหนีไปซะ ก็สิ้นเรื่อง หรือจริงๆแค่วิ่งหนี พวกเขาก็รอดแล้ว

เพราะฉะนั้น ฉากใกล้จบของหนังเรื่องนี้ มันก็เลยเหมือนเป็นการแอบหัวเราะขำ ความ cliche ทางภาพยนตร์

และสิ่งที่เราชอบมากที่สุดก็คือว่า หลังจากนั้น ตัวละครที่เป็น hermit ก็พูด voiceover “ด่าทุนนิยม” ออกมา ซึ่งประเด็นเรื่อง “การด่าทุนนิยม” นี้ มันก็เป็นสิ่งที่พบได้ในหนังซอมบี้มากมายหลายเรื่อง ตั้งแต่ DAWN OF THE DEAD (1978, George A. Romero) เป็นต้นมา

คำถามที่เกิดขึ้นในใจเราก็คือว่า “การด่าทุนนิยม” ในหนังเรื่องนี้ คือสิ่งที่ THE DEAD DON’T DIE ตั้งใจจะนำเสนอแบบตรงตามตัวอักษร ด้วยความจริงใจ หรือจริงๆแล้ว หนังต้องการจะเสียดสี ว่ามันเป็นแค่ “cliche ทางภาพยนตร์อีกอย่างหนึ่ง” เหมือนกับฉากก่อนหน้านี้  การด่าทุนนิยม มันอาจจะเป็นแค่ “องค์ประกอบที่พบได้ทั่วๆไป ในหนังซอมบี้ และหนังเชิงพาณิชย์มากมายหลายเรื่อง” หรือได้กลายเป็น “องค์ประกอบอย่างหนึ่งของสินค้าที่เรียกว่าภาพยนตร์” และ “องค์ประกอบอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม” ไปแล้ว “การด่าทุนนิยม” ได้กลายเป็น cliche, เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มันต่อต้านไปแล้ว

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เราก็รักหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ และขอกราบ Jim Jarmusch มา ณ ที่นี้