Sunday, October 27, 2019

BEING SOMEWHERE (2019, Thanaphum Sirirattanachok, 73min, A+30)


BEING SOMEWHERE (2019, Thanaphum Sirirattanachok, 73min, A+30)

1.หนึ่งในหนังที่ชอบที่สุดที่ได้ดูในปีนี้ รู้สึกจูนติดกับหนังอย่างรุนแรงตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องเลย

คือถ้าหากจะถามว่าหนังเรื่องนี้ดีไหม มี “สาระ” อะไรไหม หรือมีอะไรแปลกใหม่หรือเปล่า เราก็ตอบไม่ได้นะ แต่ถ้าหากถามว่าชอบไหม เราก็ตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ชอบที่สุดเลย

เราชอบที่หนังทั้งเรื่องมันเหมือนเป็นความพยายามจะถ่ายทอดหรือคว้าจับ “มวลอารมณ์เศร้าหมอง” ออกมาน่ะ หรือมวลอารมณ์อะไรบางอย่างที่มีทั้งความเศร้าหมอง, ความซึมกระทือ, ความหมดอาลัยตายอยาก, ความไม่รู้เป้าหมายของชีวิต, ความไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร ฯลฯ คือเรารู้สึกว่าเหมือนหนังเลือกที่จะนำเสนออารมณ์ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่มัน “นามธรรม” มากๆ และเป็นสิ่งที่ยากจะนำเสนอได้ในหนังเรื่องอื่นๆน่ะ เพราะหนังโดยทั่วไปมักจะนำเสนอสิ่งที่เป็น “รูปธรรม” เป็นหลัก อย่างความเศร้าในหนังทั่วๆไป ก็มักจะนำเสนอด้วยการที่ตัวละครร้องไห้อย่างรุนแรง, ทำลายข้าวของในห้องอะไรทำนองนี้

คือหนังโดยทั่วไป มักเลือกที่จะนำเสนอเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมน่ะ เรามักจะได้เห็นชัดๆว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ตัวละครเศร้า และพอตัวละครเศร้าแล้ว มันนำไปสู่ “คำพูด”, “การกระทำที่พิเศษ” หรือ “เหตุการณ์” อะไรบ้าง

แต่หนังเรื่องนี้ เหมือนนำเสนอปัญหาทางจิตวิญญาณของตัวละคร โดยหลีกเลี่ยงวิธีการแบบหนังทั่วๆไป เพราะเราจะเห็นเพียงแค่กิจวัตรประจำวันที่สุดแสนจะธรรมดาของตัวละครเท่านั้น เราเห็นเธออาบน้ำ, แปรงฟัน, ฉี่, ซื้ออาหาร, กินอาหาร, สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง, นอน นอน และนอน เธอไม่รับโทรศัพท์ที่คนโทรมาหา และเธอจะพูดคุยเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น อย่างเช่น เมื่อไปซื้อของ

เราอาจจะเห็นเธอทำกิจกรรมพิเศษบ้าง แต่มันก็น้อยมาก อย่างเช่น การไปซื้อต้นไม้ และการซื้อบุหรี่เพื่อเอามาดม

เราก็เลยชอบวิธีการของหนังเรื่องนี้มากๆ เหมือนมันเลือกที่จะนำเสนอปัญหาทางจิตวิญญาณของตัวละคร โดยไม่ใช้อะไรที่มันเป็นรูปธรรมชัดเจนแบบในหนังทั่วๆไป หนังมีการขึ้น “ภาพลายเส้น” แปลกๆบนจอบ้างเป็นบางครั้ง แต่ภาพลายเส้นขยุกขยุยเหล่านี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้ความกระจ่างอะไรแก่ผู้ชม

คือถ้าเปรียบเทียบ “อารมณ์ความรู้สึก” เป็นเหมือนกับ “ก๊าซที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น” เราก็รู้สึกว่า หนังทั่วๆไป พยายามจะแปร “ก๊าซ/อารมณ์ความรู้สึก” ให้เป็น “ของแข็ง” หรือ “เหตุการณ์ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมจับต้องได้” น่ะ แต่หนังเรื่องนี้เหมือนพยายามจะแปร “ก๊าซ/อารมณ์ความรู้สึก” ให้เป็น “ของเหลว” น่ะ เพราะเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ที่เป็นกิจวัตรประจำวัน มันดูไม่ได้มีความเป็น “รูปธรรม” เหมือนในหนังทั่วๆไป เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน “พิเศษ” มากๆ และมันทำในสิ่งที่หนังโดยทั่วๆไปยากที่จะทำได้

2.เราชอบความ “ใจหิน” ของหนังมากๆ เพราะหนังมันลดทอนทุกอย่างแบบที่พบได้ในหนังทั่วไปออกไปหมดเลยน่ะ

สิ่งที่ถูกลดทอนออกไปจากหนังเรื่องนี้ ก็มีเช่น

2.1 “สาเหตุ” ของปัญหาของนางเอก เราไม่รู้ว่านางเอกทำแบบนี้เพราะอะไรกันแน่ เธอคิดงานไม่ออก, เธอถูกผัวทิ้ง หรือเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเธอกันแน่

2.2 อดีตหรือประวัติชีวิตโดยรวมของนางเอก

2.3 ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะโดยปกติแล้วหนังเอเชียมักจะพูดถึง “การกลับไปหาครอบครัว พ่อแม่ เพื่อรักษาแผลใจของพระเอก/นางเอก” แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราไม่อินกับอะไรทำนองนี้น่ะ เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้ตัด “ครอบครัว” ทิ้งไปหมดเลย มันก็เลยทำให้เราอินกับหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ

2.4 เพื่อนๆ

2.5 หน้าที่การงาน ซึ่งอันนี้จริงๆแล้วมันเป็นดาบสองคมนะ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราชอบหรือเปล่าที่หนังเรื่องนี้มันดู “ลอยๆ” และไม่บอกว่านางเอก “ยังชีพ” อยู่ได้ด้วยการทำงานอะไรมาก่อน แต่ถ้าหากเรามองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการสะท้อนสิ่งต่างๆแบบ realism แต่มองว่าหนังต้องการจะสะท้อน “ดัชนีอารมณ์ความรู้สึก” เราก็ยอมรับได้ที่หนังเรื่องนี้ตัด “วิธีการหาเงินมายังชีพ” ของนางเอกทิ้งไป

2.6 ความหมายทางการเมือง คือหนังเรื่องนี้มันมีฉากที่ตัวละครดูทีวี ฟังข่าวการเมืองในทีวีก็จริง แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะเป็น symbol ทางการเมืองอะไรแต่อย่างใดน่ะ ซึ่งแตกต่างจากหนังอย่าง THE MENTAL TRAVELLER (2018, Taiki Sakpisit) เพราะ THE MENTAL TRAVELLER ก็นำเสนอ “คนซึมกระทือ” เหมือนๆกัน แต่ดูเหมือนว่ามันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองบางอย่าง

เพราะฉะนั้น พอ BEING SOMEWHERE มันลดทอนองค์ประกอบเหล่านี้ออกไปจนหมด แทนที่จะนำเสนอองค์ประกอบเหล่านี้แบบหนังทั่วไป เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน “ใจหิน” มากๆ และมัน “เล่นท่ายากมากๆ” แต่เราก็ว่ามันทำได้สำเร็จนะ เราดูหนังได้ไม่เบื่อเลย ถึงแม้มันตัดทอนองค์ประกอบข้างต้นทิ้งไปหมดก็ตาม

3.ชอบการถ่ายของหนังมากๆ ชอบที่มันมักถ่ายนางเอกในระยะไกลประมาณนึง เพื่อเก็บ “บรรยากาศ” รอบๆตัวนางเอก การที่เราเห็นนางเอกอยู่ท่ามกลาง “ห้องโล่งๆ” หรือบรรยากาศรอบๆตัวอะไรแบบนี้ มันช่วยขับเน้นความอ้างว้าง ว้าเหว่ ความเหงา หรือความว่างเปล่าทางจิตวิญญาณได้ดีขึ้น

4.ฉากที่ติดตาที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือฉากลิฟท์ ที่หนังถ่ายนางเอกเข้าลิฟท์, นางเอกออกจากลิฟท์, หญิงชราเข้าลิฟท์—ออกจากลิฟท์, เด็กชายเข้าลิฟท์—ออกจากลิฟท์, นางเอกเข้าลิฟท์อีกรอบพร้อมกล่องนม

เหมือนถ้าหากเป็นหนังทั่วๆไป มันจะต้องตัดช่วงเวลาของหญิงชรากับเด็กชายออกไปจากหนังน่ะ แต่หนังเรื่องนี้กลับเลือกที่จะไม่ตัดออกไป มันก็เลยทำให้เรากรี๊ดมากๆ และรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันเหมือนมี “มุมมองต่อโลก” หรืออะไรที่น่าสนใจกว่าหนังทั่วๆไป

แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าฉากนี้มันมีความหมายพิเศษอะไรยังไงนะ เราตีความมันไม่ออก แต่บอกได้เลยว่า เราชอบอะไรแบบนี้มากๆ

ฉากลิฟท์นี้ทำให้นึกถึงวิธีการกำกับภาพยนตร์ของ Fred Kelemen อย่างมากๆเลยด้วย เพราะหนังของ Fred Kelemen ก็จะมีอะไรคล้ายๆอย่างนี้ โดยเคเลเมนเขาบอกว่า ในหนังส่วนใหญ่นั้น ผู้กำกับมักจะถ่าย “คนนั่งในห้อง” แต่พอคนๆนั้นเดินออกจากห้องไป ผู้กำกับก็มักจะตัดไปฉากอื่น เพื่อติดตามตัวละครตัวนั้น แต่วิธีการตัดภาพแบบนี้มันเป็นการปฏิบัติต่อ “ห้อง” ราวกับว่าห้องนั้นไม่ได้ดำรงอยู่จริง หนังแบบนี้เพียงแค่ยืนยันการดำรงอยู่ของตัวละครตัวนั้น แต่ไม่ได้ยืนยันการดำรงอยู่ของห้องห้องนั้น ดังนั้นถ้าหากผู้กำกับภาพยนตร์ยังคงถ่ายห้องว่างๆต่อไป หรือถ่ายเก้าอี้ที่ไม่มีคนนั่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่า “บรรยากาศของการดำรงอยู่ของตัวละครตัวนั้นจะจางหายไปจนหมด”  เมื่อนั้นคุณถึงจะเริ่มมองเห็น “ห้องห้องนั้นเป็นสถานที่ที่แท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับมนุษย์อีกต่อไป” และมนุษย์จะกลายเป็นเพียงธุลีเล็กๆอันหนึ่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่

นอกจากนี้  วิธีการสร้างหนัง/ตัดต่อหนังแบบ Fred Kelemen นี้มันยังช่วยติดตามร่องรอยของสิ่งที่มนุษย์ทิ้งไว้เบื้องหลังด้วย เพราะเมื่อคุณลุกขึ้นยืนหลังจากที่คุณนั่งอยู่บนเก้าอี้สักระยะหนึ่ง เก้าอี้ตัวนั้นมันจะยังคงมีความอุ่นจากตัวคุณทิ้งค้างเอาไว้อยู่ มันยังคงมีอุณหภูมิจากร่างกายของคุณเหลือค้างเอาไว้อยู่ ถ้าใครก็ตามเข้ามานั่งที่เก้าอี้ตัวนั้นต่อจากคุณในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา คนคนนั้นก็จะยังคงรู้สึกได้ถึงความอุ่นจากตูดของคุณที่ทิ้งค้างไว้ที่เก้าอี้ตัวนั้น หนังของ Fred Kelemen พยายามจะคว้าจับอะไรแบบนี้เอาไว้ในหนังของเขา เพราะฉะนั้น Fred จะยังคงถ่ายเก้าอี้ว่างๆต่อไป จนกว่าความอุ่นจากตัวละครที่ทิ้งค้างเอาไว้จะหายไปจนหมด แล้ว Fred ถึงจะค่อยตัดไปฉากถัดไป

เพราะฉะนั้นพอเราดูฉากลิฟท์ในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยนึกถึงหนังของ Fred Kelemen มากๆ ถึงแม้เราไม่รู้ว่ามันมาจากวิธีคิดแบบเดียวกันหรือเปล่า

แต่จริงๆแล้ว นอกจากฉากลิฟท์ เราว่าอารมณ์ในฉากอื่นๆของหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ห่างไกลจากหนังของ Fred Kelemen มากนักนะ ถึงแม้ว่าหนังของ Kelemen จะ “สะท้อนสังคม” มากกว่าหนังเรื่องนี้ก็ตาม

5.ดูหนังเรื่องนี้แล้วแอบคิดถึงตัวเองด้วยแหละ รู้สึกว่าลึกๆแล้วตัวเองมี “ความว่างโหวงทางจิตวิญญาณ” อะไรบางอย่างอยู่ในตัวด้วยเหมือนกัน และเราก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่างๆในชีวิตเรามากๆ แต่เราแตกต่างจากนางเอกตรงที่ว่า เรายังหาความสุขได้ด้วยการ “ดูหนัง” และ “การเล่นกับตุ๊กตาหมี” น่ะ ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วในบางครั้งเราก็อยากทำแบบนางเอก นั่นก็คือ การนอน นอน และ นอน 55555

6.ถ้าหากต้องฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องอื่นๆ เราก็คงเลือกฉายควบกับ
6.1 THE FIRE WITHIN (1963, Louis Malle, France) เพราะหนังฝรั่งเศสเรื่องนี้เล่าเรื่องของหนุ่มหล่อที่อยากฆ่าตัวตาย แต่ก่อนตาย เขาก็เลยเดินทางไปตระเวนเยี่ยมเพื่อนแต่ละคน เผื่อจะมีเพื่อนคนไหนที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ปรากฏว่าไม่มีเพื่อนคนใดเลยที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

6.2 NATHALIE GRANGER (1972, Marguerite Duras, France)  หนังเรื่องนี้นำเสนอกิจวัตรประจำวันของหญิงสาวสองคนในบ้านหลังนึง หนังทรงพลังมากๆ ทั้งๆที่แทบไม่มีเนื้อเรื่องอะไรที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในหนังเลย ฉากทีทรงพลังที่สุดในหนังคือฉากที่ตัวละครเก็บกวาดโต๊ะกินข้าว คือแค่ตัวละครทำกิจวัตรอะไรแบบนี้ หนังก็สามารถถ่ายทอดมันออกมาให้กลายเป็นอะไรที่งดงามที่สุดในโลกได้แล้ว

6.3 JEANNE DIELMAN, 23 QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman, Belgium, 202MIN)

เอาเข้าจริง เรารู้สึกว่า BEING SOMEWHERE เหมือนกับเอาตัวละครจาก THE FIRE WITHIN มานำเสนอใน style คล้ายๆ JEANNE DIELMAN 55555 เพราะตัวละครนางเอกของ BEING SOMEWHERE อาจจะ “หมดไฟในการมีชีวิตอยู่” คล้ายๆพระเอกของ THE FIRE WITHIN แต่แทนที่นางเอกของ BEING SOMEWHERE จะพูดคุยกับเพื่อนๆ นางเอกของ BEING SOMEWHERE กลับทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองไปเรื่อยๆ คล้ายๆกับนางเอก JEANNE DIELMAN

6.4 THE SEVENTH CONTINENT (1989, Michael Haneke, Austria) เพราะหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอ “กิจวัตรประจำวัน ของตัวละครที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่/ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” เหมือนๆกับใน BEING SOMEWHERE เพียงแต่ว่า THE SEVENTH CONTINENT มันเหมือนจะด่าโลกทุนนิยม แต่ BEING SOMEWHERE ไม่ได้มีนัยยะอะไรแบบนั้น

นอกจากนี้ เราก็รู้สึกว่า BEING SOMEWHERE มันมี sense อะไรบางอย่าง ที่ทำให้นึกถึงหนังแบบ THE ECLIPSE (1962, Michelangelo Antonioni) และ VIVE L’AMOUR (1994, Tsai Ming-liang, Taiwan) ด้วย คือเหมือน BEING SOMEWHERE มันเอาช่วง 10-20 นาทีสุดท้ายของ THE ECLIPSE กับ VIVE L’AMOUR มาขยายให้เป็นหนังยาว 73 นาที 555

7.แต่ก็มีสิ่งที่คาใจในหนังอยู่นิดนึงนะ เพราะมันเหมือนมี “แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป” ปรากฏอยู่ในหนังหลายๆครั้งน่ะ เราก็เลยไม่รู้ว่ามันเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค หรือเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ และถ้าหากมันเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ สิ่งนี้มันต้องการจะสื่อถึงอะไร

คือช่วงแรกๆที่เราเห็นแสงแฟลชบ่อยๆ เราแอบเดาว่า หรือหนังมันต้องการจะเสียดสี “ความเหงาแบบเท่ๆ” วะ 55555 แบบตัวละครทำเหงาไปเรื่อยๆ เพื่อโพสท่าถ่ายรูป+เล่าเรื่องลง social media อะไรทำนองนี้

แต่พอดูจนจบ เราก็ปัดตกทฤษฎีข้างต้นไป เพราะหนังมันดูไม่ได้ต้องการจะเสียดสีอะไรแบบนั้น

สรุปว่า ชอบหนังเรื่อง BEING SOMEWHERE อย่างสุดๆ หนังเรื่องนี้จะฉายอีกทีในงานมาราธอนที่หอภาพยนตร์ ศาลายา ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.นะ


No comments: