Sunday, October 20, 2019

THE DEAD DON’T DIE (2019, Jim Jarmusch, A+30)


THE DEAD DON’T DIE (2019, Jim Jarmusch, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ชอบสุดๆ ติดอันดับประจำปีแน่นอน ชอบความแปลกแปร่งของหนังอย่างมากๆ รู้สึกจูนติดกับหนังอย่างรุนแรง สิ่งแรกที่ชอบมากๆก็คือ มันทำให้เรารู้สึกว่า “หนังซอมบี้ทำแบบนี้ก็ได้ด้วย” 555 เพราะหนังเรื่องนี้ให้บรรยากาศสบายๆ ชิลๆ เหมือนกับเป็นแค่ “การขับรถชมวิว” น่ะ และ วิวของหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ “ทุ่งหญ้า” หรือ “ป่า” หรือ “ชนบทแสนสงบ” แต่วิวของหนังเรื่องนี้ก็คือ “องค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์” และ “องค์ประกอบแบบที่มักพบเห็นได้เป็นประจำในหนังซอมบี้”

คือหนังซอมบี้โดยทั่วไป มันจะเป็นหนัง thriller, horror ที่เน้นอารมณ์ลุ้นระทึกน่ะ แต่ก็มีหนังซอมบี้หลายๆเรื่องที่แหวกแนวออกไป อย่างเช่น OTTO; OR, UP WITH DEAD PEOPLE (2008, Bruce La Bruce, Germany/Canada) ที่เหมือนจะพูดถึงประเด็นเกย์ ถ้าจำไม่ผิด, I ZOMBIE: THE CHRONICLES OF PAIN (1998, Andrew Parkinson, UK) ที่ทำเป็นหนังเหงาๆโรแมนติก, THE GIRL WITH ALL THE GIFTS (2016, Colm McCarthy, UK) ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่มือของคนรุ่นใหม่, ONE CUT OF THE DEAD (2017. Shinichiro Ueda) ที่เฉลิมฉลองการสร้างภาพยนตร์ และหนังซอมบี้หลายๆเรื่องที่เป็นหนังการเมือง อย่างเช่น HOMECOMING (2005, Joe Dante)

แต่ก็ไม่เคยมีหนังซอมบี้เรื่องไหนที่เราเคยดูมาก่อน ที่ให้รสชาติเฉพาะตัว ชิลๆแบบหนังเรื่องนี้ เราก็เลยชอบ THE DEAD DON’T DIE มากๆที่เหมือนมันเพิม “ความเป็นไปได้” อีกหนึ่งแบบให้กับการสร้างหนังซอมบี้ด้วย 555

2.อีกหนึ่งสิ่งที่ชอบสุดๆ ซึ่งผู้สร้างหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ ก็คือว่า หนังมันทำให้เราตั้งคำถามว่า หนังมัน “ด่าทุนนิยมด้วยความจริงใจ” หรือมัน “ตั้งใจจะเสียดสีการด่าทุนนิยม” กันแน่ 55555

สาเหตุที่เราสงสัยเรื่องนี้ขึ้นมา เป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้มันตั้งใจจะ self-reflexive ตลอดทั้งเรื่องน่ะ เพราะหนังมันเปิดเรื่องด้วยเพลง THE DEAD DON’T DIE และในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ตัวละครตำรวจสองตัวก็ได้ฟังเพลงนี้ทางวิทยุ แล้วตัวละคร  Cliff Robertson (Bill Murray) ก็พูดว่า “ทำไมเพลงนี้มันคุ้นหูจัง” แล้วตัวละคร Ronnie (Adam Driver) ก็ตอบว่า “ก็เพลงนี้มันเป็น theme song” ยังไงล่ะ

คือพอ “ตัวละครรู้ว่าตัวเองเป็นตัวละครในหนัง ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง” แบบนี้ หนังเรื่องนี้ก็เลยพาผู้ชมเข้าสู่มิติที่น่าสนใจในทันที เพราะหนังมันบอกเราตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมเข้าไปอินกับเนื้อเรื่องแบบหนังทั่วๆไป แต่ต้องการให้ผู้ชมตระหนักรู้ตลอดเวลาว่า ตัวเอง “กำลังดูองค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์” อยู่ และเหมือนหนังมันจะแอบหัวเราะขำ “การใช้องค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์” อยู่หลายๆครั้ง อย่างเช่น การใส่เพลง THE DEAD DON’T DIE เข้ามาไม่รู้กี่สิบครั้ง หรือการใส่ตัวละคร 3 หนุ่มสาว hipster เข้ามา ซึ่งดูเหมือนเป็นตัวละคร Stereotype แบบที่พบได้ในหนัง horror มากๆ คือพอหนังมันใส่ตัวละครแบบนี้เข้ามา เราก็ไม่รู้ว่าหนังใส่เข้ามาทำไม หรือหนังกำลังแอบหัวเราะ cliche และ stereotype ทางภาพยนตร์อยู่

และสิ่งที่เราชอบมากๆก็คือเหตุการณ์ในช่วงท้ายเรื่อง ที่ตัวละครตำรวจหญิง ตัดสินใจ  “ตายแบบโง่มากๆๆๆ” และตัวละคร Cliff กับ Ronnie นั้น จริงๆแล้ว ถ้าหากพวกเขาเป็นมนุษย์จริงๆ พวกเขาก็ควรจะขับรถหนีซอมบี้ไปซะ ก็สิ้นเรื่อง แต่นี่พวกเขาพูดคุยกันในทำนองที่ว่า “พวกเราเป็นตัวละครในหนังใช่ไหม แล้วบทมันเขียนให้พวกเราตายแบบเลวร้ายใช่ไหม งั้นก็ทำตามที่บทเขียนมาให้จบๆกันไปก็แล้วกัน” เพราะฉะนั้น หนังเรื่องนี้ก็เลยจบลงด้วย “ฉาก cliche แบบหนังสูตรสำเร็จทั่วๆไป หรือฉาก cliche แบบหนังซอมบี้” ด้วยการที่ตัวละครออกมาทำฉากบู๊เท่ๆ ฟาดฟันกับเหล่าซอมบี้ เพื่อให้ซอมบี้รุมฆ่าตาย ซึ่งเป็น “การตัดสินใจตายเพราะบทเขียนมาให้ตาย” ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาน่าจะขับรถหนีไปซะ ก็สิ้นเรื่อง หรือจริงๆแค่วิ่งหนี พวกเขาก็รอดแล้ว

เพราะฉะนั้น ฉากใกล้จบของหนังเรื่องนี้ มันก็เลยเหมือนเป็นการแอบหัวเราะขำ ความ cliche ทางภาพยนตร์

และสิ่งที่เราชอบมากที่สุดก็คือว่า หลังจากนั้น ตัวละครที่เป็น hermit ก็พูด voiceover “ด่าทุนนิยม” ออกมา ซึ่งประเด็นเรื่อง “การด่าทุนนิยม” นี้ มันก็เป็นสิ่งที่พบได้ในหนังซอมบี้มากมายหลายเรื่อง ตั้งแต่ DAWN OF THE DEAD (1978, George A. Romero) เป็นต้นมา

คำถามที่เกิดขึ้นในใจเราก็คือว่า “การด่าทุนนิยม” ในหนังเรื่องนี้ คือสิ่งที่ THE DEAD DON’T DIE ตั้งใจจะนำเสนอแบบตรงตามตัวอักษร ด้วยความจริงใจ หรือจริงๆแล้ว หนังต้องการจะเสียดสี ว่ามันเป็นแค่ “cliche ทางภาพยนตร์อีกอย่างหนึ่ง” เหมือนกับฉากก่อนหน้านี้  การด่าทุนนิยม มันอาจจะเป็นแค่ “องค์ประกอบที่พบได้ทั่วๆไป ในหนังซอมบี้ และหนังเชิงพาณิชย์มากมายหลายเรื่อง” หรือได้กลายเป็น “องค์ประกอบอย่างหนึ่งของสินค้าที่เรียกว่าภาพยนตร์” และ “องค์ประกอบอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม” ไปแล้ว “การด่าทุนนิยม” ได้กลายเป็น cliche, เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มันต่อต้านไปแล้ว

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เราก็รักหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ และขอกราบ Jim Jarmusch มา ณ ที่นี้


No comments: