Thursday, December 31, 2015

Film Wish List: Mauritz Stiller’s Retrospective

Film Wish List: Mauritz Stiller’s Retrospective

เพิ่งรู้ว่า Mauritz Stiller มีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง THE JOYLESS STREET (1925, G. W. Pabst, Germany, 150min, A+30) ที่ติดอันดับ 10 ในรายชื่อหนังต่างประเทศที่เราชื่นชอบมากที่สุดในปี 2015 ด้วย คือในหนังเรื่อง THE JOYLESS STREET นั้นมีนางเอก 3 คนด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือ Greta Garbo ที่ดูสวยสง่าอารัมภีร์มากๆในหนังเรื่องนี้ ทั้งๆที่เธอรับบทเป็นคนจนในเรื่อง ในขณะที่ตัวละครนางเอกอีกคนหนึ่ง ที่เป็นคนรวย (ที่ยุยงให้หนุ่มหล่อไปขายตัว) กลับดูไม่สวยสง่าเท่าไหร่ ส่วนนางเอกคนที่ 3 ที่รับบทโดย Asta Nielsen นั้น ก็ดูโรคจิตสิงสู่มากๆ

เราเพิ่งได้อ่านว่า การที่ Greta Garbo ดูสวยสง่ากว่านางเอกอีกสองคนในหนังเรื่องนี้ เป็นเพราะ Mauritz Stiller ผู้กำกับหนังชื่อดังในยุคทองของภาพยนตร์สวีเดน ได้เข้ามาควบคุมการถ่าย Garbo ในหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะ Stiller สนิทกับ Garbo มากๆ โดย Mauritz Stiller จะเป็นคนเลือกประเภทของฟิล์มที่จะใช้ถ่ายฉากของ Garbo ซึ่งส่งผลให้ฉากที่ Garbo ปรากฏตัว เป็นฉากที่ดูสว่างและมลังเมลืองกว่าฉากของนางเอกอีกสองคน นอกจากนี้ ในบางฉากที่การ์โบแสดงนั้น การถ่ายฉากนั้นก็จะใช้ความเร็วฟิล์ม 24 หรือ 25 เฟรมต่อวินาที ในขณะที่ฉากของนางเอกอีกสองคนใช้ความเร็วฟิล์ม 16 เฟรมต่อวินาที เพราะผู้สร้างหนังพบว่าการถ่ายแบบนี้ทำให้การ์โบออกมาดูดีกว่าการถ่ายด้วยความเร็วฟิล์มแบบปกติ

เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าการถ่ายทำหนังยุคเก่ามีการใช้เทคนิคอะไรแบบนี้ด้วย อย่างเช่นการใช้ประเภทของฟิล์มที่แตกต่างกันในการถ่ายฉากของตัวละครแต่ละตัว หรือการใช้ความเร็วฟิล์มที่แตกต่างกันในการถ่ายฉากของตัวละครแต่ละตัวในหนังเรื่องเดียวกัน อยากรู้เหมือนกันว่า ในยุคภาพยนตร์ดิจิตัลแบบนี้ มีผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนทดลองทำอะไรคล้ายๆกันนี้หรือเปล่า

เราไม่เคยดูหนังของ Mauritz Stiller เลย ทั้งๆที่เขากำกับหนังมาแล้ว 48 เรื่อง
http://www.imdb.com/name/nm0830249/?ref_=tt_ov_dr

REMERCIEMENTS DE JEAN-LUC GODARD À SON PRIX D’HONNEUR DU CINÉMA SUISSE (2015, Jean-Luc Godard, 5min, A+30)

เพิ่งเคยได้ยินชื่อของ Michael Servetus  จากหนังใหม่ของ Jean-Luc Godard Michael Servetus (1511-1553) เป็นคนที่น่าสนใจมากๆ เขาเป็นนักมนุษยนิยมยุคเรอเนสซองส์, นักคณิตศาสตร์, นักดาราศาสตร์, นักอุตุนิยมวิทยา, นักภูมิศาสตร์, แพทย์ แต่เขาถูกชาวคริสต์ในยุคนั้นจับเผาทั้งเป็นที่เจนีวา โดยหาว่าเขาเป็นพวกนอกรีต

Godard พูดถึง Michael Servetus ในหนังเรื่อง REMERCIEMENTS DE JEAN-LUC GODARD À SON PRIX D’HONNEUR DU CINÉMA SUISSE (2015, Jean-Luc Godard, 5min, A+30) ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

สิ่งอื่นๆที่ Godard พูดถึงในหนังเรื่องนี้

Erwin Ballabio เป็นนักฟุตบอลชาวสวิส
Denges กับ Denezy เป็นชื่อเขตในสวิตเซอร์แลนด์
Jules Humbert-droz เป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสวิตเซอร์แลนด์
Jura เป็นชื่อเขตในสวิตเซอร์แลนด์
Major Abraham Davel (1670-1723) เป็นผู้นำการปฏิวัติของแคว้น Vaud ในการแยกตัวออกจากอาณาจักรเบิร์น โดยเขาบอกว่าเขาทำตามสิ่งที่พระเจ้าบอกให้เขาทำ แต่เขาทำไม่สำเร็จ และถูกตัดหัว
Winkelreid เป็นวีรบุรุษของสวิตเซอร์แลนด์ในการสู้รบระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับจักรวรรดิออสเตรีย โดยเขากระโจนเอาร่างตัวเองเข้าใส่หอกของกองทัพออสเตรีย เพื่อเปิดทางให้กองทัพสวิสเข้าโจมตีกองทัพออสเตรียได้

THE ASHES OF GRAMSCI เป็นชื่อบทกวีที่ประพันธ์โดย Pier Paolo Pasolini

สรุปว่า Godard ซึ่งมีอายุ 86 ปีทำหนังสั้นแค่ 5 นาที แต่ดูเหมือนเราได้ความรู้จากหนังของเขามากกว่าการดูหนังยาว 5 เรื่องรวมกัน 

MON LOVE SIB MUEN (2015, Pariphan Vacharanon, A+25)

MON LOVE SIB MUEN มนต์เลิฟสิบหมื่น (2015, Pariphan Vacharanon, A+25)

--มันไม่ใช่หนัง genre ที่เราชอบเลยนะ และนั่นก็เลยทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากถึงระดับ A+25 เพราะเรารู้สึกว่ามันมีหนัง genre นี้ไม่กี่เรื่องที่เราชอบมันจริงๆ อีกเรื่องที่เราชอบมากๆคือ “ไอ้ทุย” (1971, ดอกดิน กัญญามาลย์)

--คือปกติแล้วเราคงมองหนังตลกชนบทไทยแบบนี้ในแง่ไม่ดีด้วยมั้ง คือเราอาจจะมองมันแบบดูถูกหน่อยๆอะไรแบบนี้ ว่าเป็นหนังที่ทำขึ้นเพื่อ “หวังเงิน” อย่างเดียว กะขายความฮาชั้นต่ำ ขี้ๆเยี่ยวๆไปเรื่อยๆ แต่พอได้ดูเรื่องนี้ เราก็พบว่ามันไม่ได้ทำขึ้นแบบสุกเอาเผากิน แต่มันเป็นหนังที่ตั้งอกตั้งใจทำมากๆ ดูแล้วรู้สึกเลยว่าผู้กำกับ-คนเขียนบทตั้งใจทำงานมากๆ ทำให้นึกถึงความรู้สึกของตัวเองตอนดู DUMB AND DUMBER TO (2014, Bobby Farrelly + Peter Farrelly) คือก่อนหน้านั้นเรามองว่า หนังตลก Jim Carrey นี่คงเป็นอะไรที่ต่ำมากๆ แต่พอได้ดู DUMB AND DUMBER TO เราก็พบว่ามันเป็นหนังที่เขียนบทดีมากๆ มันไม่ใช่หนังที่สร้างมุขตลกต่อๆกันไปเรื่อยๆ แต่เป็นหนังที่วางพล็อตไว้รัดกุมสุดๆ

ทั้ง DUMB AND DUMBER TO กับมนต์เลิฟสิบหมื่น ก็เลยเป็นหนังที่สร้างความประหลาดใจให้เราในแง่บวกมากๆในปีนี้ เพราะก่อนดูหนังสองเรื่องนี้ เรามองมันแบบดูถูก แต่พอได้ดูจริงๆ ก็ต้องยกนิ้วให้ผู้กำกับกับคนเขียนบทเลย

--คือจริงๆ “มนต์เลิฟสิบหมื่น” มันก็อาจจะไม่ใช่หนังที่ดีมากนะ แต่มันออกมาดีเกินความคาดหมายของเราอย่างมากๆน่ะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความคาดหมายของเราที่มีต่อตัว genre ของมัน

อีกอย่างที่ได้ใจเรา ก็คือมันเป็นหนังไทยแบบที่หายากแล้วในปัจจุบัน เราก็เลยรู้สึกว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้น่าสนใจดี ที่หยิบยกเอา genre ที่เหมือนตายไปแล้วกลับมาทำใหม่ ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง ร.ด.เขาชนผี ที่เขาชนไก่ (Tanwarin Sukkhapisit) ที่หยิบยกเอา genre หนังไทยเกรดบีในอดีตมาปัดฝุ่นใหม่เหมือนกัน

แต่เราชอบมนต์เลิฟสิบหมื่นมากกว่าร.ด.เขาชนผีมากพอสมควรนะ เพราะเราว่าอารมณ์ในมนต์เลิฟสิบหมื่นมัน flow กว่ามาก และเราว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้เขาคงชอบ genre หนังแบบนี้จริงๆ มันเหมือนผู้กำกับพบ “เสื้อที่ใส่พอดีตัว” หรืออะไรแบบนี้น่ะ ในขณะที่ร.ด.เขาชนผีมันเหมือนกับว่าผู้กำกับเจอเสื้อที่คับเกินไปหรืออะไรแบบนี้ มันเหมือนกับว่า genre หนังของร.ด.เขาชนผี มันไปบีบคั้นหรือปิดกั้นความสามารถหรือความถนัดของผู้กำกับไม่ให้ออกมาได้อย่างเต็มที่ อารมณ์ที่ได้จากร.ด.เขาชนผีก็เลยไม่ราบรื่นแบบมนต์เลิฟสิบหมื่น

--อีกสิ่งหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจดีในหนังเรื่องนี้ ก็คือเรารู้สึกว่ามันเป็นหนังตลกไทยที่อาศัยความสามารถของคนเขียนบทกับผู้กำกับมากพอสมควร ซึ่งแตกต่างจากหนังตลกไทยหลายๆเรื่องในระยะหลัง ที่มันอาศัยความสามารถของ “ดาวตลก” ที่มาแสดง มากกว่าตัวผู้กำกับน่ะ ทั้งหนังที่กำกับโดยเพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา (เรารู้สึกว่าพลังของหนังมันมาจากการแสดงของเพ็ชรทายกับพรรคพวก มากกว่าจากการกำกับของเขา), พจน์ อานนท์ และฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดในหนังอย่าง แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า (2006, ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์) กับหนังชุดหอแต๋วแตกของพจน์ อานนท์ คือการแสดงของโก๊ะตี๋น่ะ แต่มันอาจจะไม่ได้มาจากความสามารถของตัวผู้กำกับจริงๆ คือหนังพวกนี้มันดีตรงที่มันปล่อยให้ดาวตลกบางคนได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ ในขณะที่หนังอย่าง “มนต์เลิฟสิบหมื่น” มันต่างออกไป เพราะมันไม่ได้พึ่งพาความสามารถของดาวตลก แต่มันพึ่งพาความสามารถของผู้กำกับกับคนเขียนบทด้วย




Tuesday, December 29, 2015

SNAP (2015, Kongdej Jaturanrasmee, A+30)

SNAP (2015, Kongdej Jaturanrasmee, A+30)

1.ติดอันดับหนึ่งหนังที่ชอบที่สุดของคงเดชไปเลย ส่วนอันดับสองคือ “เอวัง”  (SO BE IT, 2014) และอันดับสามคือ “แต่เพียงผู้เดียว” (P-047, 2011)

2.จริงๆแล้วคงเดชเป็นผู้กำกับหนังไทยที่เรา “นับถือ” มากกว่า “ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว” นะ เหมือนกับผู้กำกับอย่าง “ดอกดิน กัญญามาลย์” และรัตน์ เปสตันยี น่ะ คือเรารู้สึกว่าหนังของสามคนนี้ดีมากๆ แต่เราจะไม่อินกับมันเป็นการส่วนตัว ไม่เหมือนหนังของ “เพิ่มพล เชยอรุณ” ที่เรารู้สึกว่า wavelength มันตรงกับของเราอย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้นหนังของคงเดชหลายๆเรื่องที่คนอื่นๆชื่นชอบกัน มันจะเป็นหนังที่เรามองว่า “ดีมาก” แต่ไม่ใช่หนังที่ “โดนใจเราจริงๆ” จนกระทั่งมาถึงหนังเรื่อง “เอวัง” ที่หลายคนไม่ชอบกัน แต่เรากลับพบว่าหนังอย่าง “เอวัง” นี่แหละ ที่มันเข้าทางเราจริงๆ

3.ส่วน SNAP นั้น เราพบว่ามันสามารถก้าวพ้นจากการเป็นแค่หนัง “ดีมาก” ในสายตาของเรา มาเป็นหนังที่จี๊ดใจเราจริงๆได้น่ะ เพราะเราชอบ “ความรู้สึกเจ็บปวด” ในใจตัวละครมากๆ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครพระเอกนางเอกในหนังเรื่องนี้ มันมีความเจ็บปวดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ หรือมีความรู้สึกรุนแรงอะไรบางอย่างอยู่ในใจตลอดทั้งเรื่อง แต่มันไม่แสดงออกมาตรงๆ แต่หนังกลับมีวิธีการบางอย่างที่สามารถทำให้เราจินตนาการได้ถึงความเจ็บปวดนั้น และอินไปกับความรู้สึกเจ็บปวดนั้นอย่างมากๆ

4.ซึ่งจริงๆแล้วคงเป็นเพราะว่าเรามีปมกับโรงเรียนมัธยมด้วยแหละมั้ง คือตอนนี้ปี 2015 แล้ว แต่เรายังรู้สึกอยู่เลยว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา คือปี 1989 ตอนที่เราเรียนอยู่ม.5 และได้คุยกับเพื่อนๆมัธยมทุกๆวัน คือจนบัดนี้เวลามันผ่านมานาน 26 ปีแล้ว เรายังรู้สึกอยู่เลยว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา คือปี 1989 ตอนที่เราอยู่ม.5

เพราะฉะนั้นหนังที่ nostalgia ถึงเพื่อนๆมัธยม ถ้าหากทำดีๆ มันจะโดนเรามากๆ ซึ่งรวมถึงหนังไทยอีกสองเรื่องที่ติดอันดับประจำปีของเราในปีนี้ด้วย ซึ่งก็คือเรื่อง MY DIARY:3811316 (Pailin Chainakul) และ OUR LAST DAY (Rujipas Boonprakong)

5.ฉากที่ชอบมากๆคือฉากที่นางเอกร้องไห้ในงานแต่งงานนั่นแหละ เราดูแล้วนึกถึงฉากงานแต่งงานในหนังเรื่อง BIRTH (2004, Jonathan Glazer, A+30) เลย เราว่าฉากงานแต่งงานใน SNAP กับ BIRTH นี่คลาสสิคพอๆกัน

6.สำหรับประเด็นการเมืองและ “ความทรงจำ” นั้น คิดว่าหลายคนคงเขียนถึงประเด็นนี้ไปแล้ว และจริงๆแล้วไปๆมาๆมันกลับไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้ 555 คือมันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้น่ะแหละ แต่สาเหตุหลักคือการที่เรารู้สึกอินกับความรู้สึกเจ็บปวดในใจตัวละครมากกว่า

สิ่งที่เราว่าน่าสนใจดีในหนังเรื่องนี้ ก็คือว่าตัวละครในเรื่องมันค่อนข้าง passive กับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาน่ะ ซึ่งมันจะคล้ายกับหนังสั้นไทยกลุ่มนึง ที่มักจะนำเสนอประเด็นทางการเมืองอย่างอ้อมๆ ผ่านทาง “ข่าวโทรทัศน์” และ “ข่าววิทยุ” ที่ส่งเสียงลอยเข้ามาในฉาก แต่ตัวละครไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับข่าวโทรทัศน์และข่าววิทยุเหล่านั้น (หนังเรื่อง SWAY ก็อาจจะเข้าข่ายนี้ด้วย) ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องความปลอดภัยของตัวผู้กำกับหนังสั้นเหล่านี้ด้วย ประเด็นทางการเมืองมันเลยถูกนำเสนออย่างอ้อมๆแบบนี้ และต่างจากหนังสั้นไทยอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างเช่น “ความลักลั่นในงานรื่นเริง” (2007, Prap Boonpan) ที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมา

คือเราว่าสิ่งนี้มันน่าสนใจดี พอนำไปเทียบกับหนังต่างประเทศที่พูดถึง “ความรักของหนุ่มสาวท่ามกลางความแปรผันทางการเมือง” เหมือนกัน อย่างเช่น THE WAY WE WERE (1973, Sydney Pollack), THE OLD GARDEN (2006, Im Sang-soo), SUMMER PALACE (2006, Lou Ye) และ GIRLFRIEND BOYFRIEND (2012, Yang Ya-che) เพราะตัวละครหนุ่มสาวในหนัง 4 เรื่องนี้ มันไม่ได้ทำตัว passive กับความพลิกผันทางการเมืองน่ะ แต่มันค่อนข้าง active มากๆ เราก็เลยรู้สึกว่า SNAP มันสะท้อนอะไรบางอย่างที่น่าสนใจดีในภาวะสังคมการเมืองของไทย

7.มีจุดเล็กๆน้อยๆที่เราชอบเยอะมากๆในหนังเรื่องนี้ อย่างเช่น ฉากที่นางเอกพบว่าภารโรงเอาตุ๊กตาของนางเอกไปวางรวมกับพระพุทธรูป อะไรทำนองนี้ เพราะว่าตุ๊กตาของนางเอกไม่มีประโยชน์ในแง่การใช้งานได้จริงในสายตาของผู้รับ (ภารโรงบอกว่า หนูโตแล้วค่ะ) แต่มีเพียงแค่คุณค่าทางจิตใจเท่านั้น

เราไม่รู้ว่าฉากนี้ตั้งใจจะสื่อถึงอะไร แต่เราว่ามันสะท้อนอะไรที่น่าสนใจดี และมันทำให้เรานึกถึงคนบางกลุ่มที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดี บริจาคของให้คนจนอะไรทำนองนี้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่ามันตรงกับสิ่งที่ผู้รับต้องการจริงๆหรือเปล่า

8.เราชอบมากๆด้วยที่ตัวละครสามีนางเอกไม่ได้ถูกทำออกมาเป็น “ผู้ร้ายหนังไทย” น่ะ คือไม่ได้ทำออกมาเป็นคนนิสัยไม่ดี ขี้หึง ทำหน้าตาถมึงทึง คอยหาเรื่องพระเอกอะไรทำนองนี้ แต่ทำออกมาเป็นคนสุภาพ รักษามาดตลอดเวลา คือเราว่าตัวละครแบบนี้นี่แหละ ที่มันร้ายจริงๆ และมันน่ากลัวจริงๆ ไม่ใช่ร้ายแบบโง่ๆ

เราชอบฉากที่เขาโต้เถียงกับนางเอกเรื่องรูปมากๆเลยด้วย คือนางเอกเหมือนจะเลือกรูปที่ให้ความสำคัญระหว่าง “ความรักที่เราสองคนมีต่อกัน” ซึ่งก็คือรูปที่เธอกับเขามองหน้ากัน แต่เขากลับเลือกรูปที่ทั้งสองคนหันหน้ามองกล้อง แทนที่จะหันหน้ามองกันและกัน มันเหมือนกับว่าเขาเลือก “ภาพลักษณ์” มากกว่า

9.ชอบการปรากฏตัวของแฟนพระเอก (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) ที่ทำกิจกรรมรีดผ้ามากๆเลยด้วย คือเราว่าการนำเสนอตัวละครตัวนี้ขณะรีดผ้าอยู่ มันทำให้เธอดู “ติดดิน” และทำให้เราจินตนาการได้ว่า เธอคงไม่ได้ดูเป็นลูกคุณหนูแบบนางเอกแน่ๆ และมันตอกย้ำเรื่องชนชั้นได้ในทางอ้อม โดยไม่ต้องนำเสนอตรงๆ

10.ชอบฉากที่ถ่ายโรงเรียนโล่งๆ แล้วมีเสียงตัวละครพูดโดยไม่เห็นตัวละครด้วย ฉากนั้นนึกว่ามาจากหนังของ Marguerite Duras

11.แต่ถ้าหากเทียบกับหนังไทยเรื่องอื่นๆที่ยาวกว่า 30 นาทีที่เราได้ดูในปีนี้ เราอาจจะชอบเรื่องนี้เป็นอันดับ 3 นะ เพราะอันดับหนึ่งคือ THE BLUE HOUR (Anucha Boonyawatana) และอันดับสองคือ SEE YOU TOMORROW (Nattawoot Nimitchaikosol) สาเหตุที่เราชอบสองเรื่องนี้มากกว่า มันเป็นเพราะชีวิตส่วนตัวของเราเองด้วยแหละ คือเรายังไม่เคยมีผัวน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่อินกับ SNAP อย่างสุดๆในแง่ของความเจ็บปวดเมื่อนึกถึงแฟนเก่าอะไรทำนองนี้ คือเราอินกับมันในแง่ความ nostalgia ถึงชีวิตมัธยมก็จริง แต่เราก็จะรู้สึกห่างจากมันในระดับนึงในแง่การสะท้อนความเจ็บปวดเมื่อได้พบกับแฟนเก่า อะไรทำนองนี้

ส่วน THE BLUE HOUR นั้น เราอินกับโลกอนาถาอาถรรพณ์ในหนังอย่างรุนแรงมากๆโดยไม่มีสาเหตุ ในขณะที่ SEE YOU TOMORROW (พบกันใหม่โอกาสหน้า) นั้น เราว่ามันสะท้อนความรู้สึกของเราที่มีต่อการเมืองไทยได้ตรงกว่า SNAP น่ะ เพราะถึงแม้ SEE YOU TOMORROW จะนำเสนอตัวละครที่ค่อนข้าง passive ต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนกัน แต่ตัวละครใน SEE YOU TOMORROW ก็ได้รับผลกระทบในทางลบอย่างเห็นได้ชัดมากกว่า และรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับมันมากกว่าตัวละครใน SNAP


อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราอินกับ SEE YOU TOMORROW มากกว่า SNAP เป็นเพราะว่ามันนำเสนอชีวิตตัวละครได้เข้าทางเรามากกว่าด้วยแหละ คือ SEE YOU TOMORROW มันสะท้อน “การเมืองไทย” และ “ชีวิตการทำงานของตัวละคร” ในขณะที่ SNAP มันสะท้อน “การเมืองไทย” และ “ความรักของตัวละคร” แต่เราเป็นคนที่หาผัวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยย่อมอินกับหนังที่ให้ความสำคัญกับชีวิตการทำงานอย่าง SEE YOU TOMORROW มากกว่าหนังที่ให้ความสำคัญกับความรักอย่าง SNAP อยู่แล้ว

BAJIRAO MASTANI (2015, Sanjay Leela Bhansali, India, A+25)

BAJIRAO MASTANI (2015, Sanjay Leela Bhansali, India, A+25)

--ถ้าหากผัวเรามีความสุขเพราะเมียน้อย แล้วเราควรจะทำอย่างไรถ้าหากเรารักผัวเราจริงๆ เราควรจะพิสูจน์ความรักด้วยการแย่งผัวเรากลับมา หรือเราควรจะทำให้เมียน้อยมีความสุข เพราะถ้าเมียน้อยมีความสุข ผัวเราก็มีความสุข และถ้าเรารักผัวเราจริง เราก็ควรจะมีความสุข “เมื่อได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข ถึงแม้จะเป็นความสุขกับคนอื่น”

จริงๆแล้วประเด็นข้างต้นไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ เพราะประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่อง “ความรักระหว่างคนต่างศาสนา” และ “การต่อต้านฮินดูหัวรุนแรง” หรืออะไรทำนองนี้มากกว่า แต่ประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นที่เราอินด้วยมากที่สุดน่ะ เพราะหนังที่เชิดชู “ความรักระหว่างคนต่างศาสนา” นี่มันเป็นอะไรที่เราเคยดูมาเยอะแล้วน่ะ แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ controversial ในใจเราเองอยู่แล้ว ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ controversial ในสังคมอินเดียก็ตาม

แต่เราว่าประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจดี ถ้าหากเรารักใครจริง เราควรจะทำให้เขารักเราคนเดียวเท่านั้น หรือเราควรจะทำให้เขามีความสุข ด้วยการทำให้คนที่เขารักมีความสุข ถึงแม้คนที่เขารักเป็นเมียน้อยของผัวเราก็ตาม

--หนังอินเดียเมนสตรีมเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ 4 ที่เราได้ดูในระยะนี้ที่เราอินกับ “ตัวประกอบหญิง” หรือ “นางรอง” แทนที่จะเป็นนางเอก ส่วนอีก 3 เรื่องคือ SHAANDAAR (2015, Vikas Bahl), PREM RATAN DHAN PAYO (2015, Sooraj R. Barjatya) และ BAHUBALI: THE BEGINNING (S. S.  Rajamouli)
เราว่าสาเหตุนึงมันเป็นเพราะว่า นางเอกหนังเมนสตรีมอินเดียหลายๆเรื่องมันอยู่ในกรอบ “สาวสวยนิสัยดี” น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเหมือนขาดมิติหรือเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่น่าสนใจไป ความน่าสนใจเลยไปตกอยู่กับตัวประกอบหญิงตัวอื่นๆแทน ทั้ง “สาวอ้วนที่ถูกคู่หมั้นหนุ่มหล่อดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง” ใน SHAANDAAR, “ลูกเมียน้อยที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้น” ใน PREM RATAN DHAN PAYO, “เจ้าแม่ผู้เชี่ยวชาญการปกครองแว่นแคว้น และชักกริชได้อย่างฉับไว” ใน BAHUBALI และ “เมียหลวง” ใน BAJIRAO MASTANI

--คือเราว่าตัวนางเอกใน BAJIRAO MASTANI มันก็ดีนะ เธอเป็นสาวผู้เก่งกล้าสามารถ และบูชาความรักอย่างรุนแรงมาก แต่พอเธอเหมือนถูกขับเคลื่อนด้วยพลังรักไปเรื่อยๆเพียงปัจจัยเดียว เราก็เลยรู้สึกว่ามิติความน่าสนใจของเธอมันกลับลดลงเรื่อยๆน่ะ เหมือนเธอถูกแทนค่าด้วย “พลังอันยิ่งใหญ่แห่งความรัก” เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ตัวละครเมียหลวงนั้น พอเธอเผชิญกับทางเลือกที่ว่า “เราควรจะทำอย่างไรกันแน่ ถ้าหากเรารักผัวเราจริงๆ” เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละครเมียหลวง มันเผชิญกับ dilemma ที่น่าสนใจกว่าตัวนางเอกของเรื่องเสียอีก

--จริงๆแล้วก็ชอบในระดับ A+30 มาเกือบตลอดทั้งเรื่องนะ แต่เหมือนพอดูจบแล้ว เรารู้สึกว่าหนังมันไม่ทำให้เราซาบซึ้งกับความรักของพระเอกนางเอกแบบจี๊ดใจจริงๆน่ะ ในขณะที่หนังอย่าง BAHUBALI ทำให้เรารู้สึกได้ถึงพลังความแค้นของตัวละครต่างๆได้อย่างมากๆ

คือเราว่าการทำหนังเกี่ยวกับ “ความรัก” บางทีมันยากกว่าการทำหนังเกี่ยวกับ “ความแค้น” นะ เพราะการทำหนังเกี่ยวกับความรัก มันต้องมีวิธีการบางอย่างในการสร้าง moment ที่ละเอียดอ่อนซึ้งใจระหว่างคู่รักให้ได้น่ะ ในขณะที่หนังเกี่ยวกับความแค้นอย่าง BAHUBALI มันใช้การสร้างสถานการณ์ตึงเครียด กดดัน สนุกตื่นเต้นไปเรื่อยๆได้ โหมประโคมอารมณ์ตื่นเต้นไปเรื่อยๆได้ มันไม่ต้องอาศัยการสร้างจังหวะอารมณ์ละเอียดอ่อนซึ้งใจแบบหนังรัก

เราก็เลยพบว่า เราอาจจะชอบ BAHUBALI มากกว่า ทั้งๆที่หนังมันดูเป็นหนังแอคชัน บู๊ ผู้ชาย ที่ไม่ค่อยเข้าทางเรา ในขณะที่ BAJIRAO MASTANI ดูเผินๆน่าจะเป็นหนังที่เข้าทางเรา เพราะมันขับเคลื่อนด้วยตัวละครผู้หญิงแข็งแกร่ง และเน้นพลังรักของตัวละครหญิง แต่ไปๆมาๆ เรากลับพบว่ามันเป็นหนังที่สวยมากๆ แต่ไม่ใช่หนังที่ซึ้งมากๆ

--แต่ยังไงเราก็ต้องยกให้ BAJIRAO MASTANI เป็นหนึ่งในหนังที่อลังโคมที่สุดในปี 2015 นะ เพราะ costume design กับ set decoration ในหนังเรื่องนี้นี่ มันคือที่สุดของที่สุดจริงๆ มันสวยระยับพิลาศพิไลบรรลัยกัลป์มากๆ แต่ก็นั่นแหละ มัน “สวยแต่รูป” แต่อารมณ์ซึ้งมันยังทำได้ไม่สุดตีนเท่าระดับความสวยของมัน


--ดูแล้วก็นึกถึง MUGHAL-E-AZAM (1960, K. Asif, 197min), AMRAPALI (1966, Lekh Tandon, 119min) และ JODHAA AKBAR (2008, Ashutosh Gowariker, 213min) นะ ในแง่ความเป็นหนังอีพิคย้อนยุคที่อลังโคมมากๆเหมือนกัน

Film Wish List: PORTUGUESE CINEMA

Film Wish List: PORTUGUESE CINEMA

1.ผู้กำกับรุ่นเก่า

1.1 Manoel de Oliveira
1.2 Paulo Rocha
1.3 Fernando Lopes (ON THE EDGE OF THE HORIZON)
1.4 António Reis + Margarida Cordeiro (TRAS-OS-MONTES)
1.5 João César Monteiro
1.6 João Botelho
1.7 Alberto Seixas Santos (GENTLE COSTUME)
1.8 João Mário Grilo (A ESTRANGEIRA)
1.9 António Campos (PEOPLE FROM VIEIRA BEACH)
1.10 Piere-Marie Goulet (ENCONTROS)
1.11 Luís Noronha da Costa (THE BUILDER OF ANGELS)
1.12 Manuela Serra (THE MOVEMENT OF THINGS)
1.13 Jorge Silva Melo (NO ONE TWICE)
1.14 Rui Simões (GOD MOTHERLAND AUTHORITY – SCENES OF PORTUGUESE LIFE 1910-1974)
1.15 Fernando Matos Silva (THE UNLOVED)

2.ผู้กำกับรุ่นทศวรรษ 1990
2.1 Pedro Costa
2.2 João Canijo (BLOOD OF MY BLOOD)
2.3 Teresa Villaverde (THE MUTANTS)
2.4 Manuel Mozos (XAVIER)
2.5 Joaquim Sapinho (HAIRCUT)
2.6 Joaquim Pinto (THE NEW TESTAMENT OF JESUS CHRIST ACCORDING TO JOHN)
2.7 Maria de Medeiros (THE PRINCE’S DEATH)
2.8 Rita Azevedo Gomes (REVENGE OF A LADY)

3.ผู้กำกับรุ่นทศวรรษ 2000
3.1 João Pedro Rodrigues
3.2 João Rui Guerra da Mata (AS THE FLAMES ROSE)
3.3 Susana de Sousa Dias (48)
3.4 Miguel Gomes
3.5 João Nicolau (THE SWORD AND THE ROSE)

4.ผู้กำกับรุ่น 2005
4.1 Gonçalo Tocha (THE MOTHER AND THE SEA)
4.2 Salomé Lamas (NO MAN’S LAND)
4.3 Gabriel Abrantes (PALACES OF PITY)
4.4 Marco Martins (HOW TO DRAW A PERFECT CIRCLE)

อ่านเพิ่มเติมได้จากนิตยสารออนไลน์ CINEMA COMPARAT/IVE CINEMA





CONTROL YOUR FACE WHILE WATCHING THE PLAY

ขำตัวเองที่พยายาม “เกร็งใบหน้า” ของตัวเองอย่างรุนแรง ตอนไปดูละครเวทีเรื่อง DEAR ANGEL (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+/A) เพราะเพื่อนๆเราบอกว่าเรามักจะมีอาการที่เรียกกันว่า “หน้าหีปริ่มอารมณ์” น่ะ นั่นก็คืออาการแสดงความพึงพอใจทางสีหน้าอย่างชัดเจนเมื่อเห็นหนุ่มหล่อ ซึ่งปกติแล้วอาการแบบนี้จะไม่เป็นปัญหาเวลาที่เราดูหนัง เพราะเวลาเราเห็นหนุ่มหล่อในหนัง เราก็แสดงสีหน้าพึงพอใจได้อย่างเต็มที่ใน “ความมืดของโรงหนัง” หรือล่าสุดเราไปดูวิดีโอของคุณวิชญ มุกดามณี เราก็สามารถแสดงอาการ “ปริ่มอารมณ์” ได้อย่างเต็มที่ตลอดเวลาในแกลเลอรี่ เพราะไม่มีคนในแกลเลอรี่มาคอยจ้องหน้าเราอยู่แล้ว

แต่ละครเวทีเรื่อง DEAR ANGEL มันจัดให้ที่นั่งคนดูสว่างพอๆกับพื้นที่ที่ใช้ในการแสดงน่ะ เพราะฉะนั้นนักแสดงจะเห็นใบหน้าของคนดู และคนดูก็จะเห็นใบหน้าของคนดูคนอื่นๆด้วย เพราะที่นั่งคนดูจัดเป็นวงกลมล้อมเวทีเอาไว้ แล้วคนดูละครเวทีเรื่องนี้ก็มีบางคนที่รู้จักเรา

เพราะฉะนั้นพอเราเห็นเด็กหนุ่มหล่อๆในละครเวทีเรื่องนี้ เราก็รู้ตัวเลยว่า เรากำลังแสดงอาการ “ปริ่มอารมณ์” ออกมาทางสีหน้าแน่ๆ เราก็เลยพยายามหุบยิ้ม และเกร็งใบหน้าเอาไว้ พยายามทำหน้าตาเฉยเมยให้มากที่สุด เดี๋ยวเด็กๆนักแสดงจะตกใจกับป้าหื่นคนนี้ สรุปว่าในการมาดูละครเวทีเรื่องนี้ เรากลับรู้สึกว่าตัวเองต้องแสดงละครไปด้วย เพราะเราต้องพยายามไม่แสดงอาการ “ปริ่มอารมณ์” ออกมา


แต่เราก็เกร็งใบหน้าไปได้แค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้นนะ เพราะหลังจากนั้นเราก็ปล่อยเลยตามเลยแล้ว 555 

DEAR ANGEL (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+/A)

DEAR ANGEL (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+/A)

“Gabriel before me
Raphael behind me
Michael to my right
Uriel on my left side
In the circle of fire
(จากเนื้อเพลง LILY ของ Kate Bush)

1.ถึงแม้เราจะชอบแค่ในระดับ A+/A แต่จริงๆแล้วเราก็พอใจกับมันมากเลยนะ เมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆของละครเวทีเรื่องนี้น่ะ คือละครเวทีเรื่องนี้แสดงโดยเด็กมัธยมราว 15-18 คน ที่ต่างก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่สำหรับเรา เพราะฉะนั้นเราย่อมไม่คาดหวังการแสดงที่ยอดเยี่ยม, ลึกซึ้ง, ทรงพลังจากนักแสดงกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่เราคิดว่ามันเหมือนกับการไปดูละครเวทีในงานปีใหม่ของโรงเรียนมัธยมสักแห่งอะไรแบบนั้นมากกว่า ซึ่งแค่เด็กมัธยมเหล่านี้จำบทได้ และเล่นกับมันอย่างจริงจัง มีความตั้งใจจริงกับมัน แค่นี้ก็น่าชื่นชมมากๆแล้ว

2.สิ่งที่ชอบที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้ก็คือไอเดียสร้างสรรค์หรือไอเดียแปลกใหม่บางอย่างในบทละครเรื่องนี้น่ะ คือดูแล้วก็ทึ่งจริงๆว่านินาทคิดไอเดียสร้างสรรค์อะไรออกมาได้เสมอๆ ปีละหลายๆเรื่อง และไอเดียในละครเวทีเรื่องนี้ก็น่าสนใจมาก ที่เป็นการเอาความเชื่อเรื่องเทวดาของคริสต์กับเรื่องราวการเต้นรำของเด็กหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันมาผูกโยงเข้าด้วยกัน

เราชอบไอเดียเรื่องเทวดาฝ่ายดี 4 องค์ที่ต่างก็มีบทบาทเป็นของตัวเองในละครเรื่องนี้มากๆ คือเราไม่มีความรู้เรื่องคริสต์อะไรแบบนี้มาก่อน และเคยเห็นตัวละครเทวดาแบบนี้ก็จากละครทีวีชุด THE X-FILES ตอนนึง กับในภาพยนตร์อย่าง WINGS OF DESIRE (1987, Wim Wenders), FAR AWAY, SO CLOSE (1993, Wim Wenders), THE LINE, THE CROSS & THE CURVE (1993, Kate Bush), CONSTANTINE (2005, Francis Lawrence) และ LEGION (2010, Scott Stewart) เท่านั้น คือเหมือนกับว่าหนังฝรั่งเองก็แทบไม่เคยหยิบเอาเทวดาพวกนี้มาพูดถึงเท่าไหร่ การที่ละครเวทีเรื่องนี้เอาเทวดากลุ่มนี้มาทำเป็นตัวละครอย่างจริงจังก็เลยเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเรา

สิ่งที่เราชอบมากก็คือการที่เทวดาฝ่ายดีมีถึง 4 องค์น่ะ แทนที่จะเป็นองค์เดียว คือมันมีหนังสั้นและโฆษณาจำนวนมากที่มักพูดถึงเรื่อง “ความดี-ความชั่ว” ในใจคนเราแต่ละคน โดยนำเสนอมันออกมาในรูปของ “เทวดา” หนึ่งองค์กับปีศาจหนึ่งองค์ที่มาคอยกระซิบข้างหูเรา และเราต้องเลือกว่าจะเชื่อเทวดาหรือปีศาจในใจเรา อะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าหากละครเวทีเรื่องนี้ทำออกมาแบบนี้ มันจะน่าเบื่อสุดๆ และมันจะเป็นละครเวทีสั่งสอนศีลธรรมสำหรับเด็กปัญญาอ่อนไปเลย แต่พอละครเวทีเรื่องนี้นำเสนอภาพกลุ่มเทวดาที่ซับซ้อนมากๆ และไม่ได้นำเสนอประเด็นดี-ชั่วแบบปัญญาอ่อน  (การนำเสนอประเด็นดี-ชั่วอย่างปัญญาอ่อน ก็คือการให้ตัวละครต้องเลือกว่าจะเสพยาเสพติดดีหรือไม่ หรือตัวละครต้องเลือกว่าจะตามเพื่อนๆไปตีรันฟันแทงหรือไม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้ชมรู้ดีอยู่แล้วว่า อะไรผิด อะไรถูก และตัดสินใจเลือกได้เองอยู่แล้วโดยละครไม่ต้องมาคอยว่ากล่าวสั่งสอน)  ละครเวทีเรื่องนี้ก็เลยมีบทที่น่าสนใจมากๆ

การที่เรายกเนื้อเพลงท่อนนึงของ Kate Bush มาแปะไว้ข้างต้นก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้นะ คือเพลง LILY นี่เป็นเพลงนึงที่อยู่ในหนังเพลงเรื่อง THE LINE, THE CROSS & THE CURVE ซึ่งมีฉากที่ตัวละครต้องเข้าไปในโลกแห่งเวทมนตร์ แล้วเธอก็เลยต้องอาราธนาเทวดา 4 องค์นี้ให้มาคอยคุ้มครองเธอขณะเข้าไปในโลกแห่งเวทมนตร์น่ะ แต่เทวดา 4 องค์นี้ก็แทบไม่มีความแตกต่างจากกันเลยในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือทั้ง 4 องค์นี้มีหน้าที่เพียงแค่มาคอยห้อมล้อมตัวละครนางเอกเท่านั้น และเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็แอบคิดว่า อยากให้มีหนังที่นำเสนอความแตกต่างของเทวดา 4 องค์นี้บ้างจัง แต่ปรากฏว่าไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่ทำแบบที่เราจินตนาการ จนกระทั่งมาถึงละครเวทีเรื่องนี้นั่นแหละ

อีกสิ่งที่ชอบสุดๆก็คือว่า นินาทเลือกที่จะให้เด็กๆกลุ่มนี้เล่นละครในบทละครที่แปลกใหม่แบบนี้น่ะ แทนที่จะให้เล่นบท ROMEO & JULIET หรือ PETER PAN แบบที่ชอบให้เด็กๆเล่นกัน คือตอนที่เราดูละครเวที ROMEO & JULIET และ PETER PAN ที่ให้เด็กๆเล่นกันนั้น เรารู้สึกเบื่อมากพอสมควรน่ะ เพราะเด็กๆมันเล่นกันได้ไม่ทรงพลังอยู่แล้ว แถมเนื้อเรื่องยังซ้ำซากน่าเบื่ออีก เพราะฉะนั้นมันก็เลยน่าเบื่อเป็นสองเท่า

แต่พอเอาเด็กมัธยมมาเล่นละครเวทีที่มีเนื้อหาแปลกใหม่แบบนี้ มันก็เลยไม่น่าเบื่อ เพราะถึงแม้เด็กๆบางคนจะเล่นได้ไม่ทรงพลัง เนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ก็สามารถดึงดูดความสนใจของเราไปได้เรื่อยๆ

3.อย่างที่เราเขียนไว้ข้างต้นว่า เราชอบการที่เทวดาฝ่ายดีฝ่ายชั่วไม่ได้มาชี้นำตัวละครให้เลือกทางเดินชีวิตแบบที่ผู้ชมส่วนใหญ่รู้ดีอยู่แล้วว่าอะไรผิด อะไรถูกน่ะ คือเราชอบที่เทวดาฝ่ายชั่วเหมือนพยายามทำให้ตัวละครแต่ละตัวควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้ แล้วระเบิดมันออกมาอย่างรุนแรง อะไรทำนองนี้ เพราะเราคิดว่านั่นคือปัญหาที่เราเป็นอยู่ทุกวัน คือในแต่ละวันเราไม่ได้เผชิญกับทางเลือกที่ว่า เราจะเสพยาเสพติดดีหรือไม่ หรือเราจะลักขโมยของดีหรือไม่ แต่ในชีวิตประจำวันนั้น ความยากลำบากที่เราต้องเผชิญก็คือ เราจะระงับอารมณ์โกรธได้หรือไม่ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่สร้างความไม่พอใจให้กับเรา

คือเราเป็นคนที่มีจุดอ่อนเรื่องนี้อย่างมากๆ คือถ้าหากเราเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่สร้างความไม่พอใจให้กับเรา มันก็จะมีบางครั้งที่เราระงับอารมณ์โกรธไม่ได้ แล้วระเบิดมันออกไปอย่างรุนแรงในทันที เราก็เลยชอบมากที่ละครเวทีเรื่องนี้นำเอาประเด็นเรื่อง “เทวดา VS. ปีศาจ” ในใจคนมานำเสนอในแง่นี้ มันทำให้ประเด็นในละครเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงกับปัญหาในชีวิตประจำวันของเรา และทำให้เรารู้สึกว่าละครเรื่องนี้ให้แง่คิดดีๆที่นำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ในชีวิตจริงด้วย

4.ฉากที่เราชอบที่สุดในละครเรื่องนี้ คือฉากที่ dancers ชายสองคน ปรับความเข้าใจกัน แล้วตัดสินใจว่าจะลองเปลี่ยนคู่เต้นดูน่ะ เราว่าฉากนี้นำเสนอทัศนคติที่เข้าทางเรามากที่สุดน่ะ เราชอบที่ตัวละครสองคนนี้ “ไม่ยึดติด” กับอะไรเดิมๆมากเกินไป หรือไม่ทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง การที่ตัวละครสองคนนี้สามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ถูกต้องในฉากนี้ ก็เลยเป็นอะไรที่ประทับใจเรามาก

5.ตัวละคร “ดาว” (ถ้าจำชื่อไม่ผิด) นี่เป็นตัวละครที่ช่วยสร้างความครื้นเครงให้กับเรามากๆ คือเรา identify กับตัวเธอในฉากแรกๆในทันที เพราะเธอพยายามตามจีบหนุ่มหล่ออย่างสุดฤทธิ์ คือสิ่งใดก็ตามที่เราอยากทำในชีวิตจริง แต่ไม่กล้าทำ (การตามจีบหนุ่มหล่อ) ตัวละครตัวนี้สามารถทำแทนเราได้

แต่เราก็ไม่ได้ identify กับการหึงหวงของดาวในฉากต่อมานะ แต่เราว่าการที่ตัวละครตัวนี้ทำตัวปากอย่างใจอย่าง มันทำให้ตัวละครตัวนี้ดูมีมิติที่น่าสนใจขึ้นมามากๆ คือเธอรับปากว่าจะทำตัวเป็นสะพานให้หนุ่มหล่อได้รู้จักกับ dancer คนนึง แต่จริงๆแล้วเธออยากเขมือบหนุ่มหล่อไปกินซะเอง คือตัวละครตัวนี้ปรากฏตัวเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่ก็สามารถสร้างสีสันและสร้างความซับซ้อนให้กับตัวเองได้อย่างน่าสนใจมาก

6.แต่ถึงแม้ละครเวทีเรื่องนี้จะมี “ไอเดีย” ที่เราชอบมากๆ เราก็ชอบละครโดยรวมๆแค่ในระดับ A+/A นะ เพราะ

6.1 นักแสดงบางคนยังไม่ “ทรงพลัง” น่ะ แต่อันนี้เป็นจุดอ่อนที่เข้าใจได้ เพราะนักแสดงเป็นแค่เด็กมัธยมหน้าใหม่เท่านั้น

แต่เราว่าคนที่เล่นเป็นลูซิเฟอร์เล่นได้ดีมากเลยนะ เราว่า cast ถูกต้องแล้วล่ะที่เอาคนนี้มารับบทเป็นลูซิเฟอร์ ซึ่งเป็นบทที่ต้องอาศัย “ออร่า” ทางการแสดงบางอย่างด้วย คือถ้านักแสดงเล่นบทนี้ได้ไม่ดี ออร่ามันจะไม่ออกน่ะ แต่เราว่าเด็กคนนี้เล่นได้ดีมาก

6.2 เราว่าเนื้อเรื่องโดยรวมๆก็อาจจะไม่เข้าทางเรามากนักนะ แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้นน่ะ เพราะเราว่าบทละครเรื่องนี้อาจจะเขียนขึ้นเพื่อให้เด็กมัธยมกลุ่มนี้เล่นกันน่ะ เพราะฉะนั้นเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้ จึงไม่เน้นการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งของตัวละคร เพราะผู้เขียนบทรู้ดีว่า นักแสดงเล่นอะไรพวกนี้ไม่ได้หรอก นักแสดงกลุ่มนี้เต้นได้ดี จำบทได้ดี หรือสามารถแสดงออกทางร่างกายแบบ expressive ได้ แต่จะให้นักแสดงเด็กๆอายุน้อยแบบนี้แสดงอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ลึกซึ้ง อะไรแบบนี้คงไม่ได้แน่ๆ เพราะฉะนั้นบทละครเรื่องนี้ก็เลยขาดมิติแบบนั้นไป และก็เลยทำให้มันไม่ใช่เนื้อเรื่องแบบที่เข้าทางเรามากนัก

แต่ถ้าให้นักแสดงที่มีฝีมือมาเล่น แล้วทำเป็นภาพยนตร์ มันก็สามารถขยี้อารมณ์ให้ “ซึ้ง” ได้ในหลายๆจุดนะ ทั้งเรื่อง dancers สลับคู่กัน, ความเงี่ยนของดาวที่มีต่อหนุ่มหล่อ, ความรักระหว่างราฟาเอลกับเด็กหนุ่ม, การที่ยูเรียลต้องทำใจที่คนรักอาจจะไปมีรักใหม่ เราว่าจุดต่างๆเหล่านี้ ถ้าเอามาพัฒนาดีๆ มันจะกลายเป็นอะไรที่ซึ้งมากๆเลย

6.3 เราว่าละครเวทีเรื่องนี้พยายามตั้งระบบจักรวาลขึ้นมาใหม่นะ คือระบบจักรวาลที่มีเทวดาหลายองค์ประจำเขตต่างๆ แล้วก็มีเรื่องตบตีกัน แถมเทวดายังเหมือนใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานด้วย

คือเราว่าไอเดียอะไรพวกนี้มันน่าสนใจมากๆ คือมันเป็นการสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาใหม่เลย แล้วตั้งกฎเกณฑ์แปลกใหม่ให้กับโลกจินตนาการนั้นเลย แต่พอละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครเวทีทุนต่ำ เราก็เลยงงๆ และจินตนาการจักรวาลใหม่ตามละครได้ไม่ทัน หรือตามได้ลำบากอยู่บ้างนิดนึงน่ะ


คือมันเป็นปัญหาส่วนตัวที่เรามีกับละครเวทีเรื่องอื่นๆของนินาทตามที่เราเคยเขียนมาแล้วหลายครั้งนั่นแหละ นั่นคือหลายๆครั้งที่เราดูละครเวทีของนินาท เราจะรู้สึกมากๆว่า มันควรจะได้รับการดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์ เพราะบทพวกนี้มันมี “ศักยภาพ” ที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดีมากๆได้ แต่พอมันเป็นละครเวทีทุนต่ำที่แทบไม่มีการเซ็ทฉากอะไรเลยแบบนี้ มันก็เลยเหมือนกับว่า “ศักยภาพ” ที่แท้จริงของบทละครนี้ ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่น่ะ

Monday, December 28, 2015

RE-CONSTRUCTING EMPTINESS NO.2 (2014, Vichaya Mukdamanee, video installation, 32min, A+30)

KYUSHU (2015, SanQ Band, documentary, B+ )
เหมือนเป็นหนังที่ทำขึ้นสำหรับแฟนเพลงของสองคนนี้โดยเฉพาะ เราก็เลยรู้สึกเฉยๆกับมัน เพราะเราไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายของหนัง

THE BOY AND THE BEAST (2015, Mamoru Hosoda, Japan, animation, A+30)
ชอบภาพแบคกราวด์ท้องฟ้าในหนังเรื่องนี้ ชอบภาพปลาวาฬด้วย มันดูสวยดี ตลกดีที่หนังเรื่องนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก MOBY DICK ของ Herman Melville แล้วฉายในไทยไล่เลี่ยกับ IN THE HEART OF THE SEA (Ron Howard) ที่มาจาก MOBY DICK เหมือนกัน และหนังก็พูดเรื่องด้านมืด ด้านสว่างของมนุษย์เหมือน STAR WARS กับ ละครเวทีเรื่อง DEAR ANGEL ด้วย แต่เราว่าประเด็นเรื่องด้านมืด ด้านสว่างในหนังสองเรื่องนี้ มันไม่น่าสนใจเท่า IRRATIONAL MAN (Woody Allen, A+30) ที่สะท้อนทางเลือกดีชั่วในใจมนุษย์ได้น่าสนใจกว่าเยอะ

RE-CONSTRUCTING EMPTINESS 1 (2013,Vichaya Mukdamanee, video installation, 30min, A+30)
ศิลปินเล่นกับม้วนกระดาษทิชชู ชอบการทำคอนทราสท์ภาพอย่างรุนแรงเพื่อทำให้สีขาวของกระดาษทิชชูกลืนไปกับฉาก

RE-CONSTRUCTING TWO ELEMENTS (2013, Vichaya Mukdamanee, video installation, 14min, A+30)
 ศิลปินพยายามเอาไม้สองท่อนมาวางพิงกันด้วยวิธีการต่างๆมากมาย นึกไม่ถึงว่าประติมากรรมที่สร้างจากไม้สองท่อนจะสามารถออกมาได้หลายรูปแบบขนาดนี้

RE-CONSTRUCTING EMPTINESS NO.2 (2014, Vichaya Mukdamanee, video installation, 32min, A+30)
อันนี้เป็นวิดีโอที่สนุกที่สุดในงาน ศิลปินพยายามจัดเรียงกล่องตามภาพศิลปะไทยต่างๆ อย่างเช่นภาพพญานาค, ระฆัง, พระพุทธรูป นึกไม่ถึงว่ากล่อง 4 เหลี่ยมที่เหมือนกล่องรองเท้าธรรมดาๆ พอเอามาจัดวางดีๆ มันจะเป็นอะไรที่อิทธิฤทธิ์สูงขนาดนี้

RE-CONSTRUCTING EMPTINESS NO. 3 (2014, Vichaya Mukdamanee, video installation, 20min, A+25)
 ศิลปินพยายามทำอะไรสักอย่างกับผืนภาพผืนนึง โดยมีการตัดสลับกับภาพลำธาร

IRIS (2014, Albert Maysles, documentary, A+30)
 ชอบมากที่ไอริสตัดสินใจไม่มีลูก เพราะเธออยากเอาเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่า และเธอรู้ดีว่ามันต้องเลือกอย่างใดอย่างนึงเท่านั้น มันเลือกทั้งสองอย่างไม่ได้ (การมีลูก กับการเดินทาง) เราในฐานะคนที่มีปัญหาเรื่องเวลาอย่างรุนแรง รู้สึกอินกับจุดนี้มากๆ




Saturday, December 26, 2015

Favorite Soundtrack Song of the year 2015: PREM RATAN DHAN PAYO

Favorite Soundtrack Song of the year 2015: PREM RATAN DHAN PAYO from the film PREM RATAN DHAN PAYO (RECEIVE A TREASURE CALLED LOVE) (2015, Sooraj R. Barjatya, India, A+20) สรุปว่าเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เราชอบที่สุดในปี 2015 คือเพลงนี้ ซึ่งสาเหตุส่วนนึงที่ชอบอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่รู้ว่าเนื้อเพลงมันแปลว่าอะไร มีสิทธิถ้าหากเรารู้ว่าเนื้อร้องแต่ละท่อนมันแปลว่าอะไร เราอาจจะไม่ให้มันขึ้นอันดับหนึ่งประจำปีของเราก็ได้ 555 อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่าเราร้องไห้ให้กับฉากนี้ของหนังนะ เราซึ้งกับฉากนี้อย่างสุดๆ ถึงแม้เราจะรู้ว่าหนังมัน “จงใจ” ให้เรารู้สึกอย่างนั้นกับตาม คือเรามองว่าถึงหนังมันจะจงใจบงการอารมณ์คนดู มันก็ทำให้เรารู้สึกตามที่มันจงใจได้จริงๆน่ะ ซึ่งต่างกับหนังอย่าง DILWALE ที่มัน “จงใจ” เร้าอารมณ์เรา แต่เราไม่รู้สึกคล้อยตามความจงใจของมันเลย


Friday, December 25, 2015

HOME VILLAGE (1983, Seijiro Koyama, Japan, A+30)

HOME VILLAGE (1983, Seijiro Koyama, Japan, A+30)

--สมควรแล้วที่ Yoshi Kato คว้ารางวัลดารานำชายจากหนังเรื่องนี้มาได้ในเทศกาลภาพยนตร์มอสโคว์ เพราะมันเป็นการแสดงที่สุดขีดจริงๆ

--ดีใจที่ Japan Foundation ยังคงฉายหนังด้วยฟิล์ม 16 มม.อยู่เป็นประจำ รู้สึกประหลาดดีเหมือนกันที่การดูหนังด้วยฟิล์ม 16 มม.ที่ Japan Foundation, Goethe กับ Alliance มันเคยเป็นเหมือน “ชีวิตประจำสัปดาห์” ของเราในยุคนึง แต่อยู่ดีๆสิ่งที่เราทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ มันก็ค่อยๆกลายเป็น “ของหายาก” โดยที่เราไม่รู้ตัว

--ชอบ Kiki Kirin มากๆ เธอเป็นดาราหญิงคนโปรดของเราจริงๆ

--ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 แต่เราก็ว่า Seijiro Koyama ไม่ใช่ผู้กำกับที่มีพรสวรรค์นะ คือเราว่าเรื่องนี้เขาได้ “องค์ประกอบ” ที่ดีน่ะ ซึ่งก็คือนักแสดงนำชายของเรื่องนี้ได้รับบทที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ การแสดงของนักแสดงนำชายมันเลยช่วยสร้างอารมณ์ผูกพันกับคนดูได้ คือตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าตัวละครเอกของเรื่องมันเหมือนเป็นคนจริงๆน่ะ เราก็เลยรู้สึกห่วงใยเขา (แต่จริงๆแล้วเราลุ้นให้เขาตายๆไปเสียที เพราะเราคิดว่าการตายเท่านั้นที่จะช่วยให้พระเอกพ้นทุกข์ได้จริงๆ) และต้องคอยเตือนตัวเองในขณะที่ดูว่า มันเป็นตัวละครนะ มันไม่ใช่คนจริงๆ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องรู้สึกเครียดหรือเป็นทุกข์ไปกับตัวละครในเรื่องมากนักหรอก

--ในแง่นึงเราว่า Seijiro Koyama อาจจะประสบปัญหาคล้ายๆ Gerhard Lamprecht ผู้กำกับหนังเยอรมันยุคไวมาร์ที่เราชอบมากๆก็ได้นะ คือเราว่าสองคนนี้เป็นผู้กำกับที่มีฝีมือในระดับนึงน่ะ แต่ขาด “พรสวรรค์” หนังของสองคนนี้ก็เลยขาด magic บางอย่างที่จะทำให้ตัวหนังมันรุนแรงสุดตีนได้ แต่เราชอบ Lamprecht มากกว่า Seijiro Koyama เยอะนะ เพราะหนังของ Lamprecht มันมีเนื้อเรื่องที่เข้าทางเรามากพอสมควร ถึงแม้ฝีมือการกำกับของเขาอาจจะไม่ “มหัศจรรย์” เหมือนอย่าง G. W.  Pabst ก็ตาม

ปัญหานึงที่เราพบใน HOME VILLAGE และเป็นสิ่งที่เราพบในหนังของ Gerhard Lamprecht เหมือนกัน ก็คือว่า ตัวละครในหนังเรื่อง HOME VILLAGE มันเป็น “คนดีที่ธรรมดาๆ” น่ะ มันเหมือนกับว่าตัวละครในหนังเรื่อง HOME VILLAGE มันขาด “รายละเอียดเฉพาะตัว” ยังไงไม่รู้ คือเราว่า คนธรรมดาแต่ละคน ถ้าหากเราพิจารณาดูจริงๆ มันจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกันน่ะ คือจริงๆแล้ว “คนธรรมดา” ทุกคนมันมีความพิเศษเฉพาะตัวอยู่ในตัวเองน่ะ และทุกคนมันมีซอกหลืบเร้นลับอะไรบางอย่างในใจตัวเองอยู่ มีจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเองอยู่ แต่หนังอย่าง HOME VILLAGE และหนังบางเรื่องของ Lamprecht มันเหมือนกับว่าตัวละครส่วนใหญ่มันมีหน้าที่แค่ทำให้พล็อตเรื่องดำเนินไปในแนวทางที่วางไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้น “รายละเอียดปลีกย่อย” ของตัวละครที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับพล็อตเรื่อง ก็เลยเหมือนถูกตัดออกไปหมดเลย ตัวละครหลายๆตัวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมีหน้าที่รองรับพล็อตเรื่องเท่านั้น เพราะฉะนั้นตัวละครพวกนี้มันก็เลยไม่น่าจดจำในสายตาของเรา และมันทำให้หนังขาดพลังที่สำคัญบางอย่างไป

--ถ้าจำไม่ผิด เราเคยดูหนังของ Seijiro Koyama อีกสองเรื่อง ซึ่งได้แก่ HACHIKO MONOGATARI (1987) กับ FARAWAY SUNSET (1992, สร้างจากนิยายของ Kaneto Shindo) แต่เราจำได้ว่าเราค่อนข้างเฉยๆกับการกำกับในหนังสองเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าเราจะชอบ “เนื้อเรื่อง” ของ HACHIKO MONOGATARI เป็นอย่างมากก็ตาม (มันคือเนื้อเรื่องเดียวกับ HACHI: A DOG’S TALE ที่กำกับโดย Lasse Hallström)


Japan Foundation ชอบเอาหนังของ Seijiro Koyama มาฉายอีกสองเรื่องนะ ซึ่งก็คือเรื่อง  SADAKO STORY (1989) กับ THE PALE HAND (1990) แต่เราไม่เคยไปดูหนังสองเรื่องนี้