DEAR ANGEL (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+/A)
“Gabriel before me
Raphael behind me
Michael to my right
Uriel on my left side
In the circle of fire”
Raphael behind me
Michael to my right
Uriel on my left side
In the circle of fire”
(จากเนื้อเพลง LILY ของ Kate Bush)
1.ถึงแม้เราจะชอบแค่ในระดับ A+/A แต่จริงๆแล้วเราก็พอใจกับมันมากเลยนะ
เมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆของละครเวทีเรื่องนี้น่ะ
คือละครเวทีเรื่องนี้แสดงโดยเด็กมัธยมราว 15-18 คน ที่ต่างก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่สำหรับเรา
เพราะฉะนั้นเราย่อมไม่คาดหวังการแสดงที่ยอดเยี่ยม, ลึกซึ้ง,
ทรงพลังจากนักแสดงกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่เราคิดว่ามันเหมือนกับการไปดูละครเวทีในงานปีใหม่ของโรงเรียนมัธยมสักแห่งอะไรแบบนั้นมากกว่า
ซึ่งแค่เด็กมัธยมเหล่านี้จำบทได้ และเล่นกับมันอย่างจริงจัง
มีความตั้งใจจริงกับมัน แค่นี้ก็น่าชื่นชมมากๆแล้ว
2.สิ่งที่ชอบที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้ก็คือไอเดียสร้างสรรค์หรือไอเดียแปลกใหม่บางอย่างในบทละครเรื่องนี้น่ะ
คือดูแล้วก็ทึ่งจริงๆว่านินาทคิดไอเดียสร้างสรรค์อะไรออกมาได้เสมอๆ
ปีละหลายๆเรื่อง และไอเดียในละครเวทีเรื่องนี้ก็น่าสนใจมาก ที่เป็นการเอาความเชื่อเรื่องเทวดาของคริสต์กับเรื่องราวการเต้นรำของเด็กหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันมาผูกโยงเข้าด้วยกัน
เราชอบไอเดียเรื่องเทวดาฝ่ายดี 4
องค์ที่ต่างก็มีบทบาทเป็นของตัวเองในละครเรื่องนี้มากๆ
คือเราไม่มีความรู้เรื่องคริสต์อะไรแบบนี้มาก่อน และเคยเห็นตัวละครเทวดาแบบนี้ก็จากละครทีวีชุด
THE X-FILES ตอนนึง
กับในภาพยนตร์อย่าง WINGS OF DESIRE (1987, Wim Wenders), FAR AWAY, SO
CLOSE (1993, Wim Wenders), THE LINE, THE CROSS & THE CURVE (1993, Kate
Bush), CONSTANTINE (2005, Francis Lawrence) และ LEGION
(2010, Scott Stewart) เท่านั้น
คือเหมือนกับว่าหนังฝรั่งเองก็แทบไม่เคยหยิบเอาเทวดาพวกนี้มาพูดถึงเท่าไหร่ การที่ละครเวทีเรื่องนี้เอาเทวดากลุ่มนี้มาทำเป็นตัวละครอย่างจริงจังก็เลยเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเรา
สิ่งที่เราชอบมากก็คือการที่เทวดาฝ่ายดีมีถึง 4 องค์น่ะ
แทนที่จะเป็นองค์เดียว คือมันมีหนังสั้นและโฆษณาจำนวนมากที่มักพูดถึงเรื่อง “ความดี-ความชั่ว”
ในใจคนเราแต่ละคน โดยนำเสนอมันออกมาในรูปของ “เทวดา” หนึ่งองค์กับปีศาจหนึ่งองค์ที่มาคอยกระซิบข้างหูเรา
และเราต้องเลือกว่าจะเชื่อเทวดาหรือปีศาจในใจเรา อะไรทำนองนี้
ซึ่งถ้าหากละครเวทีเรื่องนี้ทำออกมาแบบนี้ มันจะน่าเบื่อสุดๆ
และมันจะเป็นละครเวทีสั่งสอนศีลธรรมสำหรับเด็กปัญญาอ่อนไปเลย
แต่พอละครเวทีเรื่องนี้นำเสนอภาพกลุ่มเทวดาที่ซับซ้อนมากๆ
และไม่ได้นำเสนอประเด็นดี-ชั่วแบบปัญญาอ่อน (การนำเสนอประเด็นดี-ชั่วอย่างปัญญาอ่อน
ก็คือการให้ตัวละครต้องเลือกว่าจะเสพยาเสพติดดีหรือไม่
หรือตัวละครต้องเลือกว่าจะตามเพื่อนๆไปตีรันฟันแทงหรือไม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้ชมรู้ดีอยู่แล้วว่า
อะไรผิด อะไรถูก และตัดสินใจเลือกได้เองอยู่แล้วโดยละครไม่ต้องมาคอยว่ากล่าวสั่งสอน) ละครเวทีเรื่องนี้ก็เลยมีบทที่น่าสนใจมากๆ
การที่เรายกเนื้อเพลงท่อนนึงของ Kate Bush มาแปะไว้ข้างต้นก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้นะ
คือเพลง LILY นี่เป็นเพลงนึงที่อยู่ในหนังเพลงเรื่อง THE
LINE, THE CROSS & THE CURVE ซึ่งมีฉากที่ตัวละครต้องเข้าไปในโลกแห่งเวทมนตร์
แล้วเธอก็เลยต้องอาราธนาเทวดา 4 องค์นี้ให้มาคอยคุ้มครองเธอขณะเข้าไปในโลกแห่งเวทมนตร์น่ะ
แต่เทวดา 4 องค์นี้ก็แทบไม่มีความแตกต่างจากกันเลยในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือทั้ง 4
องค์นี้มีหน้าที่เพียงแค่มาคอยห้อมล้อมตัวละครนางเอกเท่านั้น
และเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็แอบคิดว่า
อยากให้มีหนังที่นำเสนอความแตกต่างของเทวดา 4 องค์นี้บ้างจัง
แต่ปรากฏว่าไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่ทำแบบที่เราจินตนาการ
จนกระทั่งมาถึงละครเวทีเรื่องนี้นั่นแหละ
อีกสิ่งที่ชอบสุดๆก็คือว่า
นินาทเลือกที่จะให้เด็กๆกลุ่มนี้เล่นละครในบทละครที่แปลกใหม่แบบนี้น่ะ
แทนที่จะให้เล่นบท ROMEO & JULIET หรือ PETER PAN แบบที่ชอบให้เด็กๆเล่นกัน คือตอนที่เราดูละครเวที ROMEO &
JULIET และ PETER PAN ที่ให้เด็กๆเล่นกันนั้น
เรารู้สึกเบื่อมากพอสมควรน่ะ เพราะเด็กๆมันเล่นกันได้ไม่ทรงพลังอยู่แล้ว
แถมเนื้อเรื่องยังซ้ำซากน่าเบื่ออีก เพราะฉะนั้นมันก็เลยน่าเบื่อเป็นสองเท่า
แต่พอเอาเด็กมัธยมมาเล่นละครเวทีที่มีเนื้อหาแปลกใหม่แบบนี้
มันก็เลยไม่น่าเบื่อ เพราะถึงแม้เด็กๆบางคนจะเล่นได้ไม่ทรงพลัง
เนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ก็สามารถดึงดูดความสนใจของเราไปได้เรื่อยๆ
3.อย่างที่เราเขียนไว้ข้างต้นว่า เราชอบการที่เทวดาฝ่ายดีฝ่ายชั่วไม่ได้มาชี้นำตัวละครให้เลือกทางเดินชีวิตแบบที่ผู้ชมส่วนใหญ่รู้ดีอยู่แล้วว่าอะไรผิด
อะไรถูกน่ะ คือเราชอบที่เทวดาฝ่ายชั่วเหมือนพยายามทำให้ตัวละครแต่ละตัวควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้
แล้วระเบิดมันออกมาอย่างรุนแรง อะไรทำนองนี้
เพราะเราคิดว่านั่นคือปัญหาที่เราเป็นอยู่ทุกวัน
คือในแต่ละวันเราไม่ได้เผชิญกับทางเลือกที่ว่า เราจะเสพยาเสพติดดีหรือไม่
หรือเราจะลักขโมยของดีหรือไม่ แต่ในชีวิตประจำวันนั้น ความยากลำบากที่เราต้องเผชิญก็คือ
เราจะระงับอารมณ์โกรธได้หรือไม่
เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่สร้างความไม่พอใจให้กับเรา
คือเราเป็นคนที่มีจุดอ่อนเรื่องนี้อย่างมากๆ
คือถ้าหากเราเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่สร้างความไม่พอใจให้กับเรา
มันก็จะมีบางครั้งที่เราระงับอารมณ์โกรธไม่ได้
แล้วระเบิดมันออกไปอย่างรุนแรงในทันที
เราก็เลยชอบมากที่ละครเวทีเรื่องนี้นำเอาประเด็นเรื่อง “เทวดา VS. ปีศาจ”
ในใจคนมานำเสนอในแง่นี้
มันทำให้ประเด็นในละครเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงกับปัญหาในชีวิตประจำวันของเรา
และทำให้เรารู้สึกว่าละครเรื่องนี้ให้แง่คิดดีๆที่นำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ในชีวิตจริงด้วย
4.ฉากที่เราชอบที่สุดในละครเรื่องนี้ คือฉากที่ dancers ชายสองคน
ปรับความเข้าใจกัน แล้วตัดสินใจว่าจะลองเปลี่ยนคู่เต้นดูน่ะ เราว่าฉากนี้นำเสนอทัศนคติที่เข้าทางเรามากที่สุดน่ะ
เราชอบที่ตัวละครสองคนนี้ “ไม่ยึดติด” กับอะไรเดิมๆมากเกินไป หรือไม่ทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
การที่ตัวละครสองคนนี้สามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ถูกต้องในฉากนี้
ก็เลยเป็นอะไรที่ประทับใจเรามาก
5.ตัวละคร “ดาว” (ถ้าจำชื่อไม่ผิด) นี่เป็นตัวละครที่ช่วยสร้างความครื้นเครงให้กับเรามากๆ
คือเรา identify
กับตัวเธอในฉากแรกๆในทันที เพราะเธอพยายามตามจีบหนุ่มหล่ออย่างสุดฤทธิ์
คือสิ่งใดก็ตามที่เราอยากทำในชีวิตจริง แต่ไม่กล้าทำ (การตามจีบหนุ่มหล่อ)
ตัวละครตัวนี้สามารถทำแทนเราได้
แต่เราก็ไม่ได้ identify กับการหึงหวงของดาวในฉากต่อมานะ
แต่เราว่าการที่ตัวละครตัวนี้ทำตัวปากอย่างใจอย่าง
มันทำให้ตัวละครตัวนี้ดูมีมิติที่น่าสนใจขึ้นมามากๆ
คือเธอรับปากว่าจะทำตัวเป็นสะพานให้หนุ่มหล่อได้รู้จักกับ dancer คนนึง แต่จริงๆแล้วเธออยากเขมือบหนุ่มหล่อไปกินซะเอง
คือตัวละครตัวนี้ปรากฏตัวเพียงแค่ไม่กี่นาที
แต่ก็สามารถสร้างสีสันและสร้างความซับซ้อนให้กับตัวเองได้อย่างน่าสนใจมาก
6.แต่ถึงแม้ละครเวทีเรื่องนี้จะมี “ไอเดีย” ที่เราชอบมากๆ เราก็ชอบละครโดยรวมๆแค่ในระดับ
A+/A นะ เพราะ
6.1 นักแสดงบางคนยังไม่ “ทรงพลัง” น่ะ
แต่อันนี้เป็นจุดอ่อนที่เข้าใจได้ เพราะนักแสดงเป็นแค่เด็กมัธยมหน้าใหม่เท่านั้น
แต่เราว่าคนที่เล่นเป็นลูซิเฟอร์เล่นได้ดีมากเลยนะ เราว่า cast ถูกต้องแล้วล่ะที่เอาคนนี้มารับบทเป็นลูซิเฟอร์
ซึ่งเป็นบทที่ต้องอาศัย “ออร่า” ทางการแสดงบางอย่างด้วย คือถ้านักแสดงเล่นบทนี้ได้ไม่ดี
ออร่ามันจะไม่ออกน่ะ แต่เราว่าเด็กคนนี้เล่นได้ดีมาก
6.2 เราว่าเนื้อเรื่องโดยรวมๆก็อาจจะไม่เข้าทางเรามากนักนะ
แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้นน่ะ
เพราะเราว่าบทละครเรื่องนี้อาจจะเขียนขึ้นเพื่อให้เด็กมัธยมกลุ่มนี้เล่นกันน่ะ
เพราะฉะนั้นเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้ จึงไม่เน้นการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งของตัวละคร
เพราะผู้เขียนบทรู้ดีว่า นักแสดงเล่นอะไรพวกนี้ไม่ได้หรอก
นักแสดงกลุ่มนี้เต้นได้ดี จำบทได้ดี หรือสามารถแสดงออกทางร่างกายแบบ expressive ได้
แต่จะให้นักแสดงเด็กๆอายุน้อยแบบนี้แสดงอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน
ลึกซึ้ง อะไรแบบนี้คงไม่ได้แน่ๆ เพราะฉะนั้นบทละครเรื่องนี้ก็เลยขาดมิติแบบนั้นไป
และก็เลยทำให้มันไม่ใช่เนื้อเรื่องแบบที่เข้าทางเรามากนัก
แต่ถ้าให้นักแสดงที่มีฝีมือมาเล่น แล้วทำเป็นภาพยนตร์ มันก็สามารถขยี้อารมณ์ให้
“ซึ้ง” ได้ในหลายๆจุดนะ ทั้งเรื่อง dancers สลับคู่กัน,
ความเงี่ยนของดาวที่มีต่อหนุ่มหล่อ, ความรักระหว่างราฟาเอลกับเด็กหนุ่ม,
การที่ยูเรียลต้องทำใจที่คนรักอาจจะไปมีรักใหม่ เราว่าจุดต่างๆเหล่านี้
ถ้าเอามาพัฒนาดีๆ มันจะกลายเป็นอะไรที่ซึ้งมากๆเลย
6.3 เราว่าละครเวทีเรื่องนี้พยายามตั้งระบบจักรวาลขึ้นมาใหม่นะ
คือระบบจักรวาลที่มีเทวดาหลายองค์ประจำเขตต่างๆ แล้วก็มีเรื่องตบตีกัน
แถมเทวดายังเหมือนใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานด้วย
คือเราว่าไอเดียอะไรพวกนี้มันน่าสนใจมากๆ คือมันเป็นการสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาใหม่เลย
แล้วตั้งกฎเกณฑ์แปลกใหม่ให้กับโลกจินตนาการนั้นเลย
แต่พอละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครเวทีทุนต่ำ เราก็เลยงงๆ
และจินตนาการจักรวาลใหม่ตามละครได้ไม่ทัน หรือตามได้ลำบากอยู่บ้างนิดนึงน่ะ
คือมันเป็นปัญหาส่วนตัวที่เรามีกับละครเวทีเรื่องอื่นๆของนินาทตามที่เราเคยเขียนมาแล้วหลายครั้งนั่นแหละ
นั่นคือหลายๆครั้งที่เราดูละครเวทีของนินาท เราจะรู้สึกมากๆว่า
มันควรจะได้รับการดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์ เพราะบทพวกนี้มันมี “ศักยภาพ”
ที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดีมากๆได้ แต่พอมันเป็นละครเวทีทุนต่ำที่แทบไม่มีการเซ็ทฉากอะไรเลยแบบนี้
มันก็เลยเหมือนกับว่า “ศักยภาพ” ที่แท้จริงของบทละครนี้
ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่น่ะ
No comments:
Post a Comment