Wednesday, December 02, 2015

I WANT YOU TO BE (2015, Bundit Sintanaparadee, 80min, A+25)

I WANT YOU TO BE (2015, Bundit Sintanaparadee, 80min, A+25)

1.อย่างที่เราเขียนไปเมื่อวานนี้ว่า เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ แต่แทบจะตัดสินไม่ได้ว่าระหว่างเรื่องนี้กับ DON’T WORRY, BE HAPPY เราชอบเรื่องไหนมากกว่ากัน เพราะสองเรื่องนี้มันต่างก็ขาดบางจุดที่มันไปมีในหนังอีกเรื่องนึง คือในขณะที่ปัญหาใน DON’T WORRY, BE HAPPY คืออารมณ์ความรู้สึกที่มันเจือจางเกินไป ปัญหาสำหรับ I WANT YOU TO BE คืออารมณ์ความรู้สึกที่มันข้นคลั่กเกินไป และมันมีแค่อารมณ์เดียว มันโฟกัสอะไรในวงแคบมากเกินไป ส่วน DON’T WORRY, BE HAPPY มันมีความหลากหลายในจุดโฟกัสมากกว่า

2.ส่วนที่เราชอบมากที่สุดในหนังก็คือการแสดงของนางเอกหนังเรื่องนี้ คือเราว่าถึงแม้บทหนังมันจะอารมณ์เดียวมากเกินไปหน่อย แต่พอนักแสดงมันแสดงได้ละเอียดอ่อนทุกอารมณ์มากๆ เป็นมนุษย์มากๆ มันก็เลยไม่น่าเบื่อเลย มันเหมือนได้ส่องกล้องจุลทรรศน์สังเกตอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์จริงๆที่เจ็บปวดจริงๆ คือดูแล้วก็เสียดายมากที่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่ลงโรงฉายทั่วไป เพราะถ้าหากนี่เป็นหนังที่ลงโรงฉายทั่วไป เราคงสนับสนุนให้นางเอกได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมประจำปีแน่ๆ

3.แต่แน่นอนว่าการที่นางเอกได้ปล่อยฝีมือทางการแสดงของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่แบบนี้ มันเป็นเพราะบทหนังและการถ่ายภาพมันเอื้อให้นางเอกได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย คือหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เน้นแค่ “การกระทำ” ทางกายภาพของตัวละคร แต่มันเหมือนลงลึกไปอีกหนึ่ง step และไปเน้นที่อารมณ์ความรู้สึกลึกๆของตัวละคร นางเอกก็เลยได้ปล่อยพลังอย่างเต็มที่ คือถ้าเราเข้าใจไม่ผิด เราเคยเห็นนางเอกหนังเรื่องนี้เล่นหนังสั้นเรื่องอื่นๆมาบ้างแล้ว แต่หนังสั้นเรื่องอื่นๆมันไม่ลงลึกไปที่อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมากเท่านี้น่ะ มันเหมือนกับว่าหนังสั้นเรื่องอื่นๆเน้นไปที่ว่า ตัวละคร “ทำ” อะไรบ้าง แต่หนังสั้นเรื่องนี้มันเน้นว่า ตัวละคร “รู้สึก” ยังไงบ้าง นักแสดงหญิงในเรื่องนี้ก็เลยต้องใช้ฝีมือของตัวเองมากกว่าปกติในการแสดงหนังเรื่องนี้

4.เราว่าประเด็นของหนังมันน่าสนใจดีด้วย เพราะมันแสดงให้เห็นถึงตัวละครที่มีอัตลักษณ์ทางเพศลื่นไหลดี ซึ่งเหมือนเป็นประเด็นที่ร่วมสมัยมากๆ และเพิ่งปรากฏในสื่อไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คือในหนังไทยเมื่อ 30-40 ปีก่อนนั้น ตัวละครเพศที่สามที่ปรากฏในหนังไทย ก็มักจะมีแต่ “กะเทย” และ “ทอม” ซึ่งเป็นอะไรที่ “จัดประเภท” ได้ง่ายในสายตาของผู้ชม คือผู้ชมทั่วไปพอเห็นกะเทยและทอมปุ๊บ ก็จะสามารถจัด category ทางเพศให้กับตัวละครประเภทนี้ได้ในทันที ในขณะที่เกย์ที่ดูเหมือนผู้ชายธรรมดา ไม่ค่อยมีปรากฏในหนังไทยมากเท่าไหร่ จนกระทั่งเริ่มมีปรากฏมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และพอมาถึงยุคไม่กี่ปีมานี้ เราก็ได้เจอหนังกึ่งสารคดีอย่าง PLASTIC (2013, Sakulphet Phetsang) ที่พูดถึงความรักระหว่างกะเทยกับทอม และละครเวทีอย่าง THE ART OF BEING RIGHT (2015, Thanaphon Accawatanyu)  ที่มีพระเอกเป็นไบเซ็กชวลที่ดูเหมือนจะรักทั้งผู้ชายและผู้หญิงของเขาเท่าๆกัน จนยากจะตัดสินใจเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และพอมาเจอหนังเรื่อง I WANT YOU TO BE ที่มีนางเอกที่รักเกย์ และมีพระเอกเป็นเกย์ที่ตอนหลังไปชอบกับทอม มันก็เลยดูเป็นพัฒนาการของหนังไทยและละครเวทีไทยในทางที่ดีและน่าสนใจมากๆ และมันแสดงให้เห็นถึงการคลายตัวลงเรื่อยๆของการจัด category ทางเพศให้กับคนกลุ่มต่างๆ

แต่อันนี้เราพูดถึงเฉพาะหนังไทยนะ เพราะถ้าหากเป็นหนังเยอรมัน เราจำได้ว่าตั้งแต่ในทศวรรษ 1980 หนังเยอรมันที่กำกับโดยผู้กำกับอย่าง Monika Treut และ Rosa von Praunheim นี่ก็เต็มไปด้วยตัวละครประเภทที่ “แปลงเพศกันจนวุ่นวายไปหมด” แล้ว 555

5.เราว่าหนังเลือกจุดโฟกัสหลักที่น่าสนใจด้วย นั่นก็คือนางเอกหนังเรื่องนี้มักจะมีสถานะเป็นเพียงแค่ “ตัวประกอบ” ในหนังเกย์เท่านั้น คือในหนังเกย์หลายๆเรื่อง พระเอกที่เป็นเกย์มักจะมีสมุนสาวคู่ใจหรือเพื่อนสาวคู่ใจน่ะ ตั้งแต่หนังอย่าง BEAUTIFUL THING  (1996, Hettie MacDonald), TRICK (1998, Jim Fall) เรื่อยมาจนถึงหนังเกย์สำคัญสองเรื่องที่ลงโรงฉายในกรุงเทพในปีนี้ ซึ่งก็คือ GERONTOPHILIA (2013, Bruce La Bruce) และ THE WAY HE LOOKS (2014, Daniel Ribeiro) คือในหนังกลุ่มนี้มันจะมีตัวละครหญิงที่ดีมากๆ น่าสนใจมากๆ แต่ยังไงๆเธอก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “เพื่อน” ของตัวละครเอกเท่านั้น

เพราะฉะนั้นการที่ I WANT YOU TO BE เลือกที่จะหันมาโฟกัสที่ตัวละครประเภทที่มักจะมีสถานะเป็นเพียงแค่ “ตัวประกอบ” ในหนังเรื่องอื่นๆ มันก็เลยเป็นอะไรที่ดีมากๆสำหรับเรา และจริงๆแล้วเราก็นึกไม่ออกด้วยนะว่า เราเคยดูหนังเรื่องไหนที่มันเลือกจุดโฟกัสแบบนี้หรือเปล่า บางที I WANT YOU TO BE อาจจะเป็นเรื่องแรกที่เราเคยดูที่ทำแบบนี้

6.เราว่า I WANT YOU TO BE มันเหนือชั้นกว่าหนังไทยหลายเรื่องที่ลงโรงฉายทั่วไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในแง่ที่ว่า มันสอบผ่าน “กฎพื้นฐาน” อันนึงที่เรามักใช้ในการมองหนังน่ะ นั่นก็คือการจริงใจกับตัวละครของมัน ยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวละครของมัน ไม่ฝืนให้ตัวละครทำอะไรเพียงเพื่อเอาใจคนดู, หรือเพียงเพื่อให้เส้นอารมณ์ของหนังมันขึ้นลงตามกราฟสำเร็จรูป หรือเพียงเพื่อรองรับธีมของหนัง, หรือเพียงเพื่อส่งสารของหนัง หรือเพียงเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายลงตัวจบสวยงาม คือเรามองว่าหนังเรื่องต่างๆสามารถทำสิ่งที่ว่ามาได้นะ แต่คุณต้องทำสิ่งนี้โดยไม่ไปฝืนตัวละครหรือความเป็นมนุษย์ของตัวละครของคุณน่ะ และเราว่าหนังไทยกระแสหลักหลายเรื่องสอบตกตรงจุดนี้ และจริงๆแล้วหนังฮอลลีวู้ดหลายๆเรื่องก็สอบตกตรงจุดนี้ด้วย

แต่ I WANT YOU TO BE สอบผ่านตรงจุดนี้ได้อย่างสวยงาม เราชอบที่หนังมันจริงใจกับตัวละครของมันจริงๆ ทั้งกับตัวพระเอกและนางเอก และไม่ฝืนตัวละครด้วยการหาทางออกง่ายๆ เหมือนหนังยึดอารมณ์ความรู้สึกเลือดเนื้อจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของตัวละครเป็นหลักน่ะ และให้ความสำคัญกับมันมากกว่าการเร้าอารมณ์คนดูตามกราฟสำเร็จรูป มันก็เลยสวยงามมากๆสำหรับเราตรงจุดนี้

แต่การที่หนังสอบผ่านในจุดนี้ ไม่ได้หมายความว่าหนังได้คะแนนเต็มนะ คือการที่หนังสอบผ่านตรงจุดนี้ ทำให้เรามองว่ามันเหนือชั้นกว่าหนังไทยและหนังฮอลลีวู้ดหลายๆเรื่องน่ะ แต่ถ้าหากไปเทียบกับหนังฝรั่งเศส มันจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เพราะเรามองว่าหนังฝรั่งเศสจำนวนมากมันก็สอบผ่านตรงจุดนี้เหมือนกัน 555 เดี๋ยวเราจะเขียนถึงประเด็นนี้อย่างละเอียดในข้อท้ายๆ

7.อีกสิ่งที่เราชอบมากในหนัง ก็คือหลังจากหนังจบแล้ว เราก็มาถกเถียงกับเพื่อนๆกันว่าฉากไหนเป็นความจริงและความฝันบ้างน่ะ คือเพื่อนเราบางคนอาจจะมองว่าหลายฉากเป็นความจริง แต่เราเองมองว่า  (หรือเลือกที่จะเชื่อว่า) หลายฉากอาจจะเป็นความฝันก็ได้เหมือนกัน อย่างเช่นฉากที่นางเอกใช้มือกำจู๋พระเอก แล้วหนังก็ตัดมาเป็นฉากนางเอกตื่นนอนตอนเรียนมหาลัยในทันที คือเรามองว่าฉากนั้นอาจจะเป็นความฝันก็ได้ เพราะถ้านางเอกทำอย่างนั้นกับพระเอกจริงๆ มันก็น่าจะมี consequence อะไรบางอย่างตามมา แต่หนังกลับไม่ได้แสดงให้เห็น consequence ของเหตุการณ์นั้นเลย และหนังก็มีฉากที่เป็นความฝันอย่างชัดๆ อย่างฉากนางเอกเดินลงทะเลด้วย

และนั่นก็เลยมาถึงคำถามที่ว่า ฉากจบของหนังเป็นความฝันหรือความจริง ที่พระเอกกับนางเอกมานั่งกระหนุงกระหนิงกัน คือเรามองว่ามันเป็นความฝันน่ะ เพราะเรามองไม่เห็นว่าทั้งสองจะกลับมาคืนดีกันง่ายๆได้ยังไง แต่บางทีฉากนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้

8.หนึ่งในฉากที่ชอบที่สุดในหนัง ก็คือฉากนางเอกใช้มือกำจู๋พระเอก แล้วตัดมาเป็นอีกหลายเดือนหรือหลายปีต่อมาในวัยมหาลัยเลยนั่นแหละ เราว่า moment การตัดข้ามเวลาช่วงนั้นมันน่าประทับใจมากๆ

9.ตอนดูช่วงแรกๆเราจะแอบคิดในใจว่า จริงๆแล้วเราอยากให้หนังใส่ดนตรีประกอบแบบคลอเบาๆเข้ามาหน่อย เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงอารมณ์ของหนังให้มันไหลลื่นยิ่งขึ้น เพราะพอมันขาดดนตรีประกอบ อารมณ์ของหนังมันเลยดูสากๆไปหน่อย แต่พอถึงฉากนางเอกเดินลงทะเล แล้วหนังใช้ดนตรีประกอบแบบรุนแรงเกินไป เราก็เลยคิดว่า บางทีการที่หนังไม่มีดนตรีประกอบ อาจจะดีกว่าการใส่ดนตรีประกอบแบบหนักมือเกินไปก็ได้นะ

10.ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจุดประสงค์ของผู้กำกับคืออะไรในการใส่ฉากนางเอกเดินลงทะเลเข้ามา คือใส่เข้ามาเพียงเพื่อให้หนังได้ชื่อว่ามี “ฉากไคลแมกซ์” กับเขาเท่านั้นหรือเปล่า 555 คือเราว่าดนตรีประกอบในฉากนั้นมันเว่อร์มากจนมันกลายเป็นตลกไปเลย และจริงๆแล้วเราก็รู้สึกก้ำกึ่งเหมือนกันว่า เราชอบฉากนั้นหรือเปล่า

แต่ถ้าหากวัดจากรสนิยมส่วนตัวของเราเอง ฉากนี้เรื่อยไปจนถึงตอนจบของหนังอาจจะเป็นจุดนึงที่ทำให้เราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆจนถึงขั้น A+30 นะ คือถ้าหากเป็นหนังแบบที่เราชอบสุดๆ หนังอาจจะไม่จำเป็นต้องมีฉากนางเอกเดินลงทะเล แต่อาจจะมีฉาก “นางเอกตัดใจ” ประมาณ 5 นาที

คือเราอยากให้นางเอก “ตัดใจ” จากพระเอกน่ะ และการตัดใจทำได้ด้วยการที่นางเอกใช้ความคิดในหัวของตัวเองอยู่คนเดียว ร้องไห้ในช่วงแรก แล้วก็ค่อยๆตัดใจ ทำใจยอมรับความเป็นจริงได้ และฝืนยิ้มปลอบใจตัวเองได้ในที่สุด โดยฉากนี้อาจจะนำเสนอด้วยการที่นางเอกไปวิ่งคนเดียวก็ได้ โดยหนังไม่ต้องให้นางเอกพูดหรือแสดงความคิดในหัวของนางเอกออกมาเลย แต่ให้กล้องจับไปที่ใบหน้าของนางเอกประมาณ 5 นาที ใบหน้าของนางเอกขณะที่รำลึกถึงอดีตแห่งความสุขความทุกข์ที่ผ่านมา ใบหน้าขณะที่กำลังร้องไห้ให้กับโชคชะตาของตนเอง และใบหน้าขณะที่ทำใจยอมรับความเป็นจริง และตัดใจจากพระเอกได้ในที่สุด

คือ reference ของเราในฉากนี้คือฉากคลาสสิคในหนังเรื่อง SECRET DEFENSE (1998, Jacques Rivette, 170min) น่ะ เพราะในหนังเรื่องนี้จะมีฉากที่นางเอกนั่งรถไฟเป็นเวลาประมาณ 10 นาที โดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลย กล้องเพียงแค่จับใบหน้าของนางเอกตลอด 10 นาทีในรถไฟ โดยผู้ชมไม่ได้ยินเสียงความคิดอะไรในหัวของนางเอกเลยด้วย แต่มันเป็น 10 นาทีที่สำคัญมากๆ เพราะภายในเวลา 10 นาทีแบบ real time นั้น เรามองว่านางเอกได้ใช้ความคิดอย่างหนักหน่วง ได้ชั่งน้ำหนักเหตุผลต่างๆในใจตนเอง ก่อนจะตัดสินใจในท้ายที่สุดว่า “ฉันจะฆ่าคน”

เราก็เลยจินตนาการฉากข้างต้นขึ้นมาสำหรับ I WANT YOU TO BE น่ะ แต่ไม่ได้เป็นเพราะว่าเราไม่ชอบช่วงท้ายของหนังนะ เรามองว่าช่วงท้ายของหนังมันก็ดีมากและเราก็ชอบมากพอสมควรแหละ แต่ถ้าหากหนังมันจะเข้าทางเราแบบสุดๆจริงๆ เราก็อยากให้นางเอกตัดใจจากพระเอก และหนังก็นำเสนอการตัดใจนี้ด้วยการโฟกัสไปที่ใบหน้าของนางเอกเป็นเวลาประมาณ 5 นาทีอะไรทำนองนี้ 555

11.แล้วมีสาเหตุอะไรอื่นอีกที่ทำให้เรายังไม่ชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆ หรือ A+30 ในตอนนี้ (แต่อาจจะชอบถึงขั้น A+30 ในอนาคตเมื่อเวลาผ่านไปและเราพบว่า เรายังสลัดหนังเรื่องนี้ออกจากหัวไม่ได้) คือเรามองว่าหนังเรื่องนี้เหมือนยังขาด magic touch หรือ magic moment อะไรบางอย่างน่ะ คือหนังเรื่องนี้เหมือนทำทุกอย่างถูกต้องตามที่เราต้องการแล้วแหละ แต่มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกร้องห่มร้องไห้หรือรู้สึกเหมือนมีใครเอามีดมาปักคาหัวใจเราแบบที่หนังรักนักศึกษาอย่าง MY DIARY 3811316 (2015, Pailin Cainakul), BEFORE SUNRISE (2013, Supalerk Silarangsri + Atchareeya Jattuporn) และ THOM (2009, Suphisara Kittikunarak) ทำได้มาแล้วน่ะ (สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า เราเข้าใจว่าหนัง 3 เรื่องนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงในชีวิตผู้กำกับ ความเจ็บปวดรวดร้าวจากความรักในหนัง 3 เรื่องนี้มันเลยออกมาทรงพลังมากๆ)

แต่การขาด magic touch หรือ magic moment อะไรนี่ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลแต่อย่างใดนะ เพราะแค่ที่ออกมานี้เราก็ชอบมันเกือบสุดๆแล้ว และถ้าหากมองว่านี่เป็นหนัง thesis ที่ต้องทำภายในเวลาอันจำกัดด้วย การที่หนังทำทุกอย่างได้ถูกต้องตามที่ควรก็เป็นสิ่งที่น่าพอใจมากๆแล้ว

12.ขอวกกลับมาเรื่องประเด็นหนังฝรั่งเศส คือเรามองว่าหนังเรื่องนี้สู้กับหนังฝรั่งเศสอย่าง GIRLS CAN’T SWIM (2000, Anne-Sophie Birot), WATER LILIES (2007, Céline Sciamma), TOMBOY (2011, Céline Sciamma) หรือหนังที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงระดับปานกลางอย่าง Anne Fontaine, Marion Vernoux, Carine Tardieu, Brigitte Roüan อะไรได้สบายเลยแหละ ในแง่การนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหญิงได้อย่างเป็นมนุษย์จริงๆจนน่าพอใจในระดับนึง และนางเอกหนังเรื่องนี้ก็สามารถสู้กับนักแสดงหญิงที่เคยรับบทวัยรุ่นอย่าง Virginie Ledoyen, Adèle Haenel หรือ Léa Seydoux ได้เลย

แต่ถึงแม้เราจะมองว่า I WANT YOU TO BE จัดเป็น “หนังไทยแถวหน้า” ประเภทที่อาจจะติด TOP TEN ประจำปีของหนังไทยขนาดยาวที่ออกฉายในแต่ละปี เราก็คิดเช่นกันว่า ถ้าหาก I WANT YOU TO BE มันเป็นหนังฝรั่งเศส มันอาจจะไม่ได้ติดอยู่ในกลุ่ม “สิบอันดับหนังยอดเยี่ยมประจำปี” แต่อาจจะติดอยู่ใน “30 อันดับหนังยอดเยี่ยมประจำปี” อะไรทำนองนี้ เพราะเรามองว่า หนังฝรั่งเศสหลายๆเรื่องมันสอบผ่านเกณฑ์ที่เราระบุมาเหมือนกันน่ะ ในแง่การจริงใจกับความเป็นมนุษย์ของตัวละคร เพราะฉะนั้นการจะวัดว่าหนังฝรั่งเศสเรื่องไหนมันจะติดอยู่ในกลุ่มสุดยอดจริงๆ มันก็อาจจะวัดกันที่ magic touch หรือ magic moment อะไรนี่แหละ

(เราเคยเขียนถึงประเด็นเรื่อง “หนังฝรั่งเศสระดับปานกลาง = หนังไทยระดับดีมากไว้แล้วในลิงค์ข้างล่างนี้จ้ะ

ที่เขียนมาไม่ใช่ว่าเราต้องการจะทำให้ผู้กำกับเสียกำลังใจนะ คือเราต้องการจะบอกว่า I WANT YOU TO BE มันเป็นหนังที่ดีมากๆแล้วแหละ ถ้าหากเทียบกับหนังไทยด้วยกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีกนะ คือถ้าหากคุณหรือคนอื่นๆอยากจะทำหนังอะไรแบบนี้อีก คุณก็อาจจะหา reference ที่เป็นหนังไทยด้วยกันยากหน่อย เพราะมันมีหนังไทยไม่กี่เรื่องที่เหนือชั้นกว่าหนังของคุณ แต่ถ้าหากคุณอยากพัฒนาไปสู่การเป็นผู้กำกับขั้นเทพในการกำกับหนังแบบนี้ คุณก็อาจจะศึกษาจากหนังฝรั่งเศสหรือหนังยุโรปได้ โดยเฉพาะหนังที่กำกับโดย Laetitia Masson หรือหนังอย่าง ON FIRE (2006, Claire Simon) ที่พูดถึงเด็กสาวที่รักผู้ชายข้างเดียว เธอเจ็บปวดรวดร้าวกับการรักเขาข้างเดียวมากๆ เธอก็เลยเผาป่าทั้งป่า


คือเราว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้มีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้กำกับขั้นเทพได้น่ะ เราก็เลยเขียนถึงจุดนี้ เผื่อเป็นแนวทางในการดูหนังอะไรแบบนี้ต่อไป 555

No comments: