CECI N’EST PAS POLITIQUE (2015, Jarunan Phantachat, stage play,
A+30)
1.พอดู “นี่ไม่ใช่การเมือง” จบแล้ว
ก็ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า มีละครเวทีอย่างน้อย 5 เรื่องในปีนี้ (รวมเรื่องนี้ด้วย)
ที่มีจุดนึงตรงกัน ซึ่งเป็นจุดที่เราชอบ นั่นก็คือละครเวทีทั้ง 5
เรื่องนี้ต่างก็พูดถึง “การไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้อีกต่อไป” แต่ละครเวทีทั้ง
5 เรื่องนี้ต่างก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงในแง่มุมที่ต่างกันไป
และด้วยวิธีการนำเสนอที่ต่างกันไป ซึ่งได้แก่
1.1 BETWEEN (Ben Busarakamwong + Nikorn Sae Tang) สิ่งหนึ่งที่ละครเวทีเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจนำเสนอ
แต่เป็นสิ่งที่เรานึกถึงขณะดูละครเวทีเรื่องนี้ก็คือว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเลือก “จุดยืน”
ใดๆ โดยเฉพาะจุดยืนในทางการเมือง มันจะทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลของ “ฝ่ายหนึ่ง”
แต่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลของฝ่ายตรงกันข้าม
หรือถึงแม้เราจะสลับสับเปลี่ยนข้างไปมาตลอดเวลา เราก็จะไม่มีทางได้รับรู้ข้อมูลใน “ทั้งสองห้อง”
ของละครเวทีเรื่องนี้พร้อมๆกันอยู่ดี
ไม่มีทางที่เราคนใดก็ตามจะรับรู้ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายอย่างครบถ้วนได้
นอกจากว่าคุณจะมาดูละครเวทีเรื่องนี้สองรอบ
1.2 SECRET KEEPER (Dujdao Vadhanapakorn) เราไม่มีทางได้รับรู้
“ความลับ” ที่ผู้ชมแต่ละคนบอกดุจดาว เราได้รับรู้แต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของพวกเขาเท่านั้น
เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า คนหลายๆคนมีความลับดำมืด, ความลับอันปวดร้าว,
หรือความคิดเห็นบางอย่างที่ไม่กล้าแสดงออกซุกซ่อนอยู่ภายใน
1.3 MANOLAND (Teerawat Mulvilai) เราได้เห็นการเคลื่อนไหวทางร่างกายของนักแสดง
เราเห็นเขายกเท้าขวา บิดเอวซ้าย แต่เราไม่มีวันเข้าใจ “เจตนา”
ของการเคลื่อนไหวเหล่านั้น และเราไม่ควรทึกทักเอาเอง มโนไปเองว่าคนอื่นๆมี “เจตนา”
อย่างไรในการเคลื่อนไหวเหล่านั้น เราจินตนาการได้ว่าเขา
”อาจจะ” มีเจตนาอย่างไรในการเคลื่อนไหวนั้น
แต่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นจินตนาการของเราเองที่อาจจะไม่ใช่ “ความจริง”
1.4 MURDER (UN) SEEN (Grisana Punpeng) ผู้ชมแต่ละคนที่ดูละครเรื่องนี้
จะไม่มีทางได้รับรู้ข้อมูลในเหตุการณ์ฆาตกรรมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
นอกจากว่าคุณจะมาดูสองรอบ และเราเดาว่าถึงแม้คุณมาดูสองรอบ
คุณก็จะไม่มีทางมั่นใจอยู่ดีว่าใครเป็นฆาตกร เพราะสิ่งสำคัญที่เราได้จากละครเรื่องนี้ก็คือว่า
ละครเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงพฤติกรรมของคนหลายๆคนในสังคมที่ “ด่วนตัดสิน” คนอื่นๆ
ทั้งๆที่ตัวเองยังไม่มีข้อมูลครบถ้วน
1.5 “นี่ไม่ใช่การเมือง” ในแง่นึงละครเรื่องนี้คล้ายกับ MURDER (UN) SEEN เพราะพูดถึงการฆาตกรรมเหมือนกัน,
ไม่มีคำตอบเหมือนกันว่าใครเป็นฆาตกร และผู้ชมแต่ละคนก็ไม่มีทางได้รับรู้ข้อมูลในเหตุการณ์ฆาตกรรมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนๆกัน
เพียงแต่ว่า “นี่ไม่ใช่การเมือง” มีความ radical กว่า MURDER
(UN) SEEN มากๆ
2.ถึงแม้ “นี่ไม่ใช่การเมือง” กับ MURDER (UN) SEEN
จะมีความคล้ายคลึงกันในบางแง่มุม โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องที่ว่า “เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้อีกต่อไป”
แต่มันก็มีความแตกต่างกันที่น่าสนใจ ซึ่งก็คือเรื่องที่ว่า ในขณะที่ MURDER
(UN) SEEN ทำให้เรานึกถึง “ผู้คนในสังคมที่ด่วนตัดสินคนอื่นๆ” CECI
N’EST PAS POLITIQUE กลับไม่ได้ทำให้เรานึกถึงประเด็นนี้ แต่นึกถึง “ระบบที่พยายามกีดกันความจริงจากเรา”
และมันคือสิ่งที่เราชอบมากๆใน CECI N’EST PAS POLITIQUE น่ะ
คือเราเกลียด “ระบบ” ของละครเวทีเรื่องนี้มากน่ะ
และเราว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้สร้างละครจงใจให้เรา “เกลียด” นะ คือคำว่า “เกลียดระบบ”
ในที่นี้ มันคือเหตุผลที่ทำให้เรา “ชอบละคร” เรื่องนี้อย่างสุดๆนะ
เราไม่ได้หมายความว่า เราเกลียดระบบของละครเรื่องนี้ แล้วเราเลยเกลียดละครเรื่องนี้ไปด้วย
แล้วระบบของละครเวทีเรื่องนี้คืออะไร
มันคือระบบที่ตีสองหน้าว่าเปิดโอกาสให้เรา “เลือก” หรือ “มีเสรีภาพในการเลือก”
ได้อยู่เสมออย่างไรล่ะ แต่มันเป็นระบบที่ตีสองหน้า เพราะว่า
2.1 เราไม่สามารถตรวจสอบระบบนั้นได้เลย
เราไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของมันได้เลย
เราไม่รู้เลยว่ามันนับคะแนนถูกต้องหรือไม่
2.2 เราไม่ได้โหวตด้วยตัวเองว่า เราต้องการให้ใครออกไป
คือถึงแม้ระบบมันนับคะแนนถูกต้องจริง เราทุกคนก็ไม่รู้อยู่ดีว่า
เราควรจะเลือกคำตอบไหน เพื่อให้ใครอยู่ต่อไป หรือใครควรถูกขับออกไป
2.3 แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า “กูไม่ได้เลือกระบบนี้”
มันเป็นระบบห่าอะไรก็ไม่รู้ ที่พยายามปกปิดความจริงในเหตุการณ์ฆาตกรรม
หรือเหตุการณ์ลักพาหมา หรือเหตุการณ์ต่างๆตลอดเวลา แต่กูไม่ได้เลือกระบบนี้
มันเป็นระบบที่กูถูกยัดเยียดมาให้ ทั้งๆที่กูไม่ได้เป็นคน “เลือกระบบ” นี้ คือระบบนี้มันจะชอบธรรมจริง
ก็ต่อเมื่อ ผู้ชมทุกคนเลือกโหวตได้ในตอนต้นเรื่องว่า “ต้องการระบบที่นักแสดงทุกคนจะอยู่ครบจนจบเรื่อง”
หรือ “ต้องการระบบที่นักแสดงจะค่อยๆทยอยหายตัวไป” แล้วผู้ชมเกิน 50% โหวตว่า “ต้องการระบบที่นักแสดงจะค่อยๆทยอยหายตัวไป”
โดยมีการนับอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโปร่งใสต่อหน้าผู้ชมทุกคน
แต่ในเมื่อผู้ชม “ไม่ได้รับสิทธิในการเลือกระบบที่ตนเองต้องการ”
ตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร กับการต้องอยู่ในระบบที่เราไม่ได้เลือก
ระบบอะไรก็ไม่รู้ที่ตั้งกฎเกณฑ์ที่เราไม่ได้เลือก
ระบบอะไรก็ไม่รู้ที่พยายามปกปิดความจริงต่างๆตลอดเวลา แต่ทำตีหน้าซื่อว่า “เราเปิดโอกาสให้คุณออกเสียงได้นะ”
เพราะฉะนั้นถึงแม้ MURDER (UN) SEEN กับ CECI
N’EST PAS POLITIQUE จะพูดถึง “การไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้อีกต่อไป”
เหมือนๆกัน แต่เราก็ได้ข้อคิดที่แตกต่างกันจากละครสองเรื่องนี้
และเป็นข้อคิดที่เราชอบมากๆทั้งคู่
3.เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมอยู่ดีๆปีนี้ถึงมีละครเวทีที่เราชอบสุดๆ
5 เรื่อง ที่พูดถึงประเด็น “การไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้อีกต่อไป” เหมือนๆกัน
แต่มันทำให้เรานึกถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนะ ที่มีละครเวทีแนว absurd เกิดขึ้นในยุคนั้น
เพราะสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มนุษย์เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกไปอย่างสิ้นเชิง
และพอมุมมองที่มนุษย์มีต่อโลกเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังตีน
มันก็เลยเกิดละครเวทีแนว absurd และภาพยนตร์แนว time-image
ขึ้น (ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์แนว movement-image ที่มาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง)
แล้ว “อะไร” ล่ะ ที่ทำให้เกิดละครเวทีกลุ่มนี้ขึ้นในกรุงเทพในปีนี้
ละครเวทีที่พยายามตอกย้ำกับเราว่า “เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้อีกต่อไป”
No comments:
Post a Comment