Thursday, December 24, 2015

HUGO BETTAUER

นอกจาก “ไม้หนึ่ง ก. กุนที” ที่อาจจะถูกสังหารเพราะความเห็นทางการเมือง, Federico García Lorca ที่ถูกพวกฟาสซิสต์ในสเปนฆ่าตาย และ Jean Sénac กวีชาวแอลจีเรียที่อาจจะถูกพวกเคร่งจารีตฆ่าตายแล้ว เราก็เพิ่งรู้ว่ามีนักเขียนที่น่าสนใจอีกคนที่ถูกฆ่าตายเพราะความเห็นทางการเมือง และเขาคนนั้นก็คือ Hugo Bettauer ผู้เขียนนิยายเรื่อง THE JOYLESS STREET โดยนิยายเรื่องนี้ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1925 โดยมี G. W. Pabst เป็นผู้กำกับ และนำแสดงโดย Greta Garbo กับ Asta Nielsen

เราชอบหนังเรื่อง THE JOYLESS STREET มากๆ และจัดให้หนังเรื่องนี้ติดอันดับ 10 ในลิสท์หนังต่างประเทศที่เราชื่นชอบมากที่สุดในปี 2015 แต่เราไม่รู้เรื่องของ Hugo Bettauer ผู้ประพันธ์ตัวนิยายเรื่องนี้มาก่อน เราเลยลองอ่านใน Wikipedia ดู และพบว่าจริงๆแล้วชีวิตของเขาน่าสนใจมากๆ เขาเป็นนักแต่งนิยายในเยอรมนีและออสเตรียช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และนิยายของเขามีความเป็น liberal มากๆ โดยนิยายที่โด่งดังอีกเรื่องนึงของเขาคือเรื่อง THE CITY WITHOUT JEWS ที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1924 โดย Hans Karl Breslauer โดยนิยายเรื่องนี้มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านกระแสเกลียดชังยิวในยุคนั้น และมีเนื้อหาบางส่วนที่เหมือนเป็นการทำนายอนาคตได้อย่างน่ากลัวมากๆ เพราะบางฉากของนิยายเรื่องนี้พูดถึงการใช้รถไฟในการเนรเทศคนยิวออกไปจากประเทศ

พวกนาซีเกลียดชัง Hugo Bettauer เป็นอย่างมาก และพยายามปลุกระดมให้มีการกำจัดเขา และในช่วงต้นปี 1925 Hugo Bettauer ก็ถูกผู้ช่วยทันตแพทย์คนหนึ่งที่ชื่อ Otto Rothstock ยิงตายที่กรุงเวียนนา โดย Rothstock นั้นสนิทชิดเชื้อกับพวกนาซี และ Rothstock ก็อ้างว่าเขาสังหาร Bettauer เพื่อช่วย “ปกปักรักษาวัฒนธรรมเยอรมัน” ทั้งนี้  Rothstock ได้รับความช่วยเหลือจากทีมงานทางกฎหมายของพวกนาซีเป็นอย่างดีด้วย และในเวลาต่อมาศาลก็ตัดสินว่า Rothstock วิกลจริต และส่งตัวเขาเข้าคลินิกจิตเวช ก่อนที่จะปล่อยตัวเขาให้เป็นอิสระในอีก 18 เดือนต่อมา โดยอ้างว่าเขาได้รับการรักษาจนหายแล้ว

ทางด้านลูกชายของ Hugo Bettauer นั้นก็ถูกพวกนาซีฆ่าตายเหมือนกับพ่อของเขา เพราะลูกชายของ Hugo Bettauer ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน Auschwitz ในปี 1942 และเป็นที่เชื่อกันว่าเขาเสียชีวิตในค่ายกักกันนั้น

อันนี้เป็นรูปของ Asta Nielsen ใน THE JOYLESS STREET (1925, G. W. Pabst, Germany, 150min)



No comments: