Tuesday, December 01, 2015

DON’T WORRY, BE HAPPY (2015, Anuwat Amnajkasem, 80min, A+25)

DON’T WORRY, BE HAPPY (2015, Anuwat Amnajkasem, 80min, A+25)

1.ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า เรารู้สึกว่า projector ในงานบางแสนรามาปีนี้ ภาพค่อนข้างมัว และเราไม่เห็นสิ่งที่ตัวละครแชทคุยกันในบางฉาก และเราก็เลยแอบสงสัยว่า ความมัวของ projector มีส่วนทำให้เราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆหรือเปล่า 555

พอดูหนังเรื่องนี้ต่อจาก I WANT YOU TO BE (2015, Bundit Sintanaparadee, A+25) แล้วทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าหากเอาจุดที่เราชอบในหนังสองเรื่องนี้มารวมเข้าด้วยกัน มันจะได้หนังที่เข้าทางเราพอดีเป๊ะ

คือเรารู้สึกว่าเราชอบความรู้สึกปวดร้าวที่ชัดเจนใน I WANT YOU TO BE แต่มันเหมือนภาพวาด portrait ที่สวยมาก แต่มีแค่สีฟ้าสีเดียว เป็นสีฟ้าที่ชัดเจนสวยงาม ข้อเสียอย่างเดียวคือมันมีสีเดียวในภาพ ส่วน DON’T WORRY, BE HAPPY เป็นเหมือนภาพวาด impressionist หรือกึ่งๆ abstract ที่มีหลายสีสันสวยงาม แต่ข้อเสียของมันคือ ทุกสีในภาพมันจางเกินไป เหมือนมันวาดภาพด้วยสีน้ำแต่ดันผสมน้ำเปล่ามากผิดสัดส่วน หรือเหมือนภาพที่วาดเสร็จแล้ว แต่โดนใครเอาน้ำมาราด สีมันเลยเลอะและจางเกินไป แต่เราสามารถจินตนาการถึง “ภาพที่สวยงามมากๆ” ได้เอง โดยดูจากภาพที่โดนน้ำมาราดนี้

จริงๆแล้วโปสเตอร์ของหนังสองเรื่องนี้สื่ออารมณ์ได้ใกล้เคียงกับความรู้สึกของเรานะ เพราะโปสเตอร์ของ I WANT YOU TO BE ก็เป็นภาพ portrait ส่วนโปสเตอร์ของ DON’T WORRY, BE HAPPY ก็เหมือนเป็นภาพถ่ายที่ให้อารมณ์เบลอๆงงๆ กึ่ง abstract ถือได้ว่าคนออกแบบโปสเตอร์หนังสองเรื่องนี้จับแก่นของภาพยนตร์สองเรื่องนี้ออกมาได้อยู่หมัดมากๆ คือตอนก่อนดูหนังเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าโปสเตอร์ของ DON’T WORRY, BE HAPPY ไม่ค่อยสะดุดตาน่ะ แต่พอดูจบแล้ว ก็พบว่าโปสเตอร์มันเข้ากับหนังจริงๆ 555

ส่วนความรู้สึกของเราข้างต้นนั้น อธิบายอย่างละเอียดได้ว่า เราว่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแต่ละตัวใน DON’T WORRY, BE HAPPY มันจางเกินไปสำหรับเราน่ะ เหมือนกับว่าผู้กำกับยังหาวิธีที่เหมาะเจาะเป๊ะๆในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้ออกมาอย่าง “ทรงพลัง” ไม่ได้ คือเราว่าผู้กำกับคงจงใจหลีกเลี่ยงการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแบบ melodrama น่ะ และหันไปใช้วิธีการแบบหนังอาร์ตนิ่งช้าแทน โดยเหมือนเผยให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเพียงแค่ 10% จากสิ่งที่ตัวละครรู้สึกทั้งหมด แต่เหมือนผู้กำกับยังไม่สามารถหาวิธีที่ลงตัวเป๊ะๆในการทำสิ่งนี้ให้มันทรงพลังมากๆได้

แต่ในอีกแง่นึง ถ้าหากผู้กำกับต้องการสื่อถึงความรู้สึกงงๆ, เบลอๆ, สับสน อันนี้ก็อาจจะประสบความสำเร็จนะ เพราะเรารู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกในหนังมันเบลอเกินไป เราอยากให้มันชัดเจนกว่านี้เหมือนแบบที่เราเจอใน I WANT YOU TO BE แต่ถ้าหากผู้กำกับต้องการ “อารมณ์เบลอๆ” แบบนี้นี่แหละ ก็อาจจะถือว่าประสบความสำเร็จในจุดนี้ 555

2.แต่หลายอย่างที่เราพูด มันก็เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานนะ ว่าถ้าหากทำแบบนู้นแบบนี้แล้วจะออกมาเข้าทางเรา แต่ในความเป็นจริงนั้น หนังที่ทำตามแบบที่เราว่ามาข้างต้น มันอาจจะออกมาแย่ยิ่งกว่าเดิมก็ได้

คือพอเราพูดว่า เราอยากให้อารมณ์ความรู้สึกใน DON’T WORRY, BE HAPPY มันออกมาชัดเจนกว่านี้ เราเองก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าหากทำออกมาแบบนั้นจริงๆแล้ว มันอาจจะออกมาแย่ยิ่งกว่าเดิมหรือเปล่า เพราะเรารู้สึกว่าในแง่นึง DON’T WORRY, BE HAPPY มันทำให้เรานึกถึงหนังเม็กซิโกเรื่อง THE HAMSTERS (2015, Gil González, A+10) ที่เราเพิ่งดูไปน่ะ เพราะ THE HAMSTERS ก็พูดถึงเรื่องครอบครัวๆนึงที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวต่างก็มีปัญหาเหี้ยๆห่าๆของตนเอง โดยพ่อนั้นตกงาน แต่หลอกทุกคนในบ้านว่าตัวเองยังคงทำงานตามเดิมอยู่, ส่วนแม่นั้นก็แอบชอบเทรนเนอร์ในฟิตเนส, ด้านลูกชายวัยรุ่นก็ทำผู้หญิงท้อง ส่วนลูกสาวนั้นก็ปกปิดความจริงที่ว่าตัวเองเป็นเลสเบียน โดยหนังทั้งเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้นของครอบครัวนี้ และตอนจบของหนังก็ไม่ได้เสนอทางออกให้แก่ตัวละครตัวใดในเรื่องเลย เหมือนหนังจับเอาเวลาแค่ 1 วันของครอบครัวนี้มานำเสนอจริงๆ โดยเป็นวันที่ปัญหาของทุกคนในครอบครัวยังคงคาราคาซังอยู่ต่อไป

เราว่า THE HAMSTERS นำเสนออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาอย่างชัดเจนมาก และเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูได้อย่างชัดเจนมาก แล้วทำไมเราถึงชอบ THE HAMSTERS น้อยกว่า DON’T WORRY, BE HAPPY ทั้งๆที่เราพูดเหมือนกับว่า เราอยากให้ DON’T WORRY, BE HAPPY ทำเหมือนอย่างหนังเรื่อง THE HAMSTERS อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน บางทีมันเหมือนกับว่าถึงแม้ THE HAMSTERS จะนำเสนออารมณ์ความรู้สึกทุกอย่างอย่างชัดเจน แต่โทนของหนังที่เป็นตลกร้ายกลับไม่ค่อยเข้าทางเราเท่าไหร่ มันเหมือนกับว่าโทนของหนังที่เป็นตลกร้ายมันไปลดทอนความเจ็บปวดรวดร้าวในจิตใจตัวละครหรืออะไรทำนองนี้ THE HAMSTERS เลยเหมือนภาพวาดครอบครัวที่เราเห็นทุกอย่างชัดเจน แต่หนังดันเลือกใช้โทนสี purple แทนที่จะใช้โทนสี magenta ที่เราชอบ เราก็เลยไม่ได้ชอบมันมากนัก ในขณะที่ DON’T WORRY, BE HAPPY เหมือนเลือกใช้โทนสี lavender ซึ่งเป็นสีที่จางเกินไปสำหรับรสนิยมเรา แต่พอเทียบกันแล้ว เราก็ชอบ lavender มากกว่า purple อยู่ดี ถึงแม้ว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ไม่มีเรื่องไหนเลือกใช้โทนสี magenta ที่ตรงกับรสนิยมเราอย่างสุดๆก็ตาม

สรุปว่า เราว่าอารมณ์ใน DON’T WORRY, BE HAPPY มันจางเกินไปสำหรับเราแหละ คือถ้าหากหนังสามารถหาวิธีการอะไรสักอย่างที่สามารถขับเน้นอารมณ์ออกมาให้เด่นชัด ด้วยวิธีการที่ “ถูกต้อง” เราก็อาจจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 แต่อย่างไรก็ดี การที่หนังเป็นแบบนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ดีแล้วก็ได้ เพราะถ้าหากหนังพยายามขับเน้นอารมณ์ให้เด่นชัด ด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยเข้าทางเราแบบในหนังเรื่อง THE HAMSTERS เราก็อาจจะชอบหนังเรื่องนี้น้อยลงไปกว่านี้อีก

3.เราว่าการตัดสลับเวลาในหนังแบบ non linear เป็นทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบในหนังเรื่องนี้นะ คือสำหรับเราแล้ว เราคิดว่า

3.1 วิธีการแบบนี้มัน work สำหรับเรา “ระหว่างที่เรากำลังนั่งดูหนังเรื่องนี้” น่ะ เพราะพอหนังมันตัดสลับเหตุการณ์แบบนี้ปุ๊บ เราจะงง แล้วเราจะเริ่ม “ตื่นตัว” พยายามตั้งอกตั้งใจดูหนังอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ปะติดปะต่อเรื่องราวได้ ซึ่งมันต่างจาก I WANT YOU TO BE ที่พอมันเล่าเรื่องเป็นเส้นตรง มันจะมีบางช่วงที่เราเผลอ “คิดไปถึงเรื่องอื่นๆ” ขณะที่ดูหนัง เพราะเรารู้สึกว่า เราไม่ต้องใช้สติสัมปชัญญะทั้ง 100%  ในขณะดูหนังเรื่องนี้ก็ได้ เหมือนกับเราใช้ attention แค่ 50% ไปกับหนังเรื่องนี้ เราก็สามารถตามเหตุการณ์ในหนังได้ทันแล้ว เราก็เลยแบ่ง attention อีก 50% ไปกับการคิดถึงเรื่องอื่นๆขณะดูหนัง ในขณะที่หนังแบบ non linear หรือหนังอย่าง ROBBER (Piyawat Atthakorn) ที่มันเหมือนมี “ช่องว่าง” ระหว่างฉากต่างๆ หรือหนังที่ฉากต่างๆมันเหมือนไม่สามารถเชื่อมกันได้เป็นเส้นตรงโดยอัตโนมัติ มันจะกระตุ้นสมองของเราให้ทำงานทันทีในการพยายามหาทางเชื่อมฉากเหล่านี้เข้าด้วยกัน เราก็เลยต้องใช้ attention มากยิ่งขึ้นในระหว่างที่ดูหนังประเภทนี้ แต่อันนี้เป็นเฉพาะเรานะ เพราะผู้ชมบางคนพอเจอหนังแบบนี้ปุ๊บอาจจะหลับทันที 555

3.2 แต่ในกรณีของ DON’T WORRY, BE HAPPY นั้น พอดูจนจบแล้ว เรากลับพบว่าวิธีการแบบ non linear มันเหมือนไม่ส่งผลกระทบต่อเราในแง่ emotional, dramatic หรือ poetic แบบที่หนังแนว non linear เรื่องอื่นๆส่งผลกระทบต่อเราน่ะ คือวิธีการแบบนี้มันอาจจะสอดรับกับธีมของหนังก็จริงแหละ ถ้าหากหนังต้องการจะสื่อถึงความรู้สึกงงๆ, เบลอๆ สับสน เพียงแต่ว่าเราคิดว่าเราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้ถึงระดับ A+30 ก็ได้ ถ้าหากหนังสามารถสร้างผลกระทบทาง emotional, dramatic หรือ poetic จากวิธีการตัดต่อแบบไม่เรียงลำดับเหตุการณ์ด้วย คือวิธีการตัดต่อแบบนี้ มันสอดรับกับธีมก็จริง และมันกระตุ้นให้เราตื่นตัวมากยิ่งขึ้นขณะที่ดูก็จริง แต่เราก็รู้สึกต้องการอะไรจากมันมากกว่านี้ด้วยน่ะ

จริงๆแล้วส่วนนี้เป็นส่วนที่เราได้จากการคุยกับอุ้ยเมื่อวานหลังจากดูหนังจบนะ 555 คือตอนแรกเราไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ขึ้นมาเอง แต่พอคุยกับอุ้ยและเพื่อนคนอื่นๆในประเด็นนี้แล้ว เราก็คิดขึ้นมาว่า เออ มันก็จริงแฮะ และมันอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญอันนึงที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ impact กับเราอย่างรุนแรงสุดๆขณะที่ดู

คือสรุปว่าการตัดต่อแบบ non linear เป็นสิ่งที่เราชอบน่ะแหละ แต่ถ้าหากมันสามารถหาวิธีตัดต่อเรียงลำดับซีนใหม่เพื่อให้เกิดผลทางอารมณ์หรือผลทาง poetic ด้วย มันก็จะยิ่งดีมากๆ แต่จริงๆแล้วคนที่จะตัดต่อแบบนั้นได้ มันก็ต้องขั้นเทพเหมือนกันนะ หรือไม่ก็เป็นคนที่ถนัดทำหนังเชิงกวีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่การตัดต่อใน DON’T WORRY, BE HAPPY ไม่ “ทรงพลัง” แบบสุดๆ มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในแง่นึง

3.3 แล้วการตัดต่อแบบ non linear แบบไหนที่เราคิดว่าทรงพลัง คือถ้าหากพูดถึงการตัดต่อที่ทรงผลกระทบต่อเราในเชิง dramatic แล้ว มันจะเป็นหนังที่อาศัยการตัดสลับ “เวลา” หรือ “เหตุการณ์” เพื่อปกปิดความจริงบางอย่าง ก่อนที่จะเฉลยความจริงอย่างทรงพลัง เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงตรงกลางกบาลคนดูในช่วงท้ายของหนัง ซึ่งตัวอย่างของหนังในกลุ่มนี้ก็คือ IT GETS BETTER (2012, Tanwarin Sukkhapisit) กับ INCENDIES (2010, Denis Villeneuve)  (นอกจากนี้ DON’T WORRY, BE HAPPY ยังทำให้เรานึกถึง IT GETS BETTER ในส่วนของการพูดถึงประเด็น “พระเกย์” ด้วย) นอกจากนี้ หนังอย่าง SONG OF THE EXILE (1989, Ann Hui) ก็ใช้แฟลชแบ็คที่ซับซ้อนแต่ทรงพลังอย่างสุดๆเหมือนกัน

น่าสังเกตว่าทั้ง IT GETS BETTER, INCENDIES, SONG OF THE EXILE และ DON’T WORRY, BE HAPPY ต่างก็พูดถึงประเด็น “ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัว” ทั้ง 4 เรื่องเลย

3.4 ส่วนการตัดต่อแบบ non linear ที่ส่งผลกระทบต่อเราในเชิง emotional นั้น ถ้าใครสนใจอยากฝึกฝีมือการตัดต่อแบบนี้ ขอแนะนำให้หาหนังยุคแรกของ Atom Egoyan มาดู โดยเฉพาะหนังอย่าง CALENDAR (1993) และ ARARAT (2002) และหาหนังของ Nicolas Roeg มาดูด้วย อย่างเช่น PERFORMANCE (1970), WALKABOUT (1971) และ DON’T LOOK NOW (1973) คือในหนังกลุ่มนี้ มันจะมีการตัดต่อแบบไม่เรียงลำดับเวลา แต่ไม่ได้เพื่อปกปิดข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลบางอย่าง แต่เหมือนเป็นการตัดต่อเพื่อสร้างผลกระทบทางอารมณ์โดยเฉพาะ และมันสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้อย่างทรงพลังสำหรับเราจริงๆ โดยเฉพาะ ARARAT ที่เล่าเส้นเรื่องหลายเส้นตัดสลับกันไปมา และพอมันมาขมวดอารมณ์ผ่านทางการตัดต่ออะไรบางอย่างในช่วงท้าย มันก็ทำให้เราร้องห่มร้องไห้ได้ (แต่ผู้ชมส่วนใหญ่เกลียดหนังเรื่อง ARARAT นะ 555)

3.5 ส่วนการตัดต่อแบบ non linear ที่ส่งผลกระทบต่อเราในเชิง poetic นั้น ใครที่สนใจอยากทำอะไรแบบนี้ก็ขอแนะนำให้หาหนังยุคแรกของ Alain Resnais มาดู พวก HIROSHIMA, MON AMOUR (1959), LAST YEAR AT MARIENBAD (1961), MURIEL OR THE TIME OF RETURN (1963) หรือหนังอย่าง PHANTOM LOVE (2007,  Nina Menkes) ที่เราว่ามันไปได้สุดทางของมันจริงๆ

คือที่นึกถึง PHANTOM LOVE ขึ้นมา เพราะมันมีประเด็นเรื่องความแตกแยกของสมาชิกครอบครัวเหมือน DON’T WORRY, BE HAPPY น่ะ แต่ PHANTOM LOVE มันไปสุดทางของมันมากๆ ดูแล้วไม่รู้ชีวิตอะไรอีกต่อไป

3.6 พอพูดถึงการตัดต่อแบบ non linear เพื่อรองรับ “ธีม” ของหนังแบบ DON’T WORRY, BE HAPPY เราก็เลยนึกถึงหนังเยอรมันเรื่อง YESTERDAY’S TOMORROW (1978, Wolfgang Staudte, A+30) นะ ซึ่งเป็นหนังที่ตัดสลับเหตุการณ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างรุนแรงตลอดทั้งเรื่อง และการตัดต่อในหนังก็ไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิง dramatic, emotional, poetic มากนักด้วย แต่เป็นการตัดต่อเพื่อรองรับธีมของหนังโดยตรงที่พูดถึงเหตุการณ์ในเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ยังคงส่งผลกระทบต่อ “จิตวิญญาณ” ของคนบางคนในยุคปัจจุบันที่เคยเจอเหตุการณ์เลวร้ายในช่วงสงครามโลก

แล้วทำไมเราถึงชอบ YESTERDAY’S TOMORROW มากกว่า DON’T WORRY, BE HAPPY ทั้งๆที่มันเป็นการตัดต่อที่ไม่ค่อยส่งผลกระทบทาง dramatic, emotional, poetic เหมือนๆกัน นั่นก็เป็นเพราะว่า อารมณ์ในแต่ละฉากและอารมณ์โดยรวมๆใน YESTERDAY’S TOMORROW มันไม่ “เจือจาง” แบบใน DON’T WORRY, BE HAPPY น่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้การตัดต่อในหนังเยอรมันเรื่องนี้มันจะมีประโยชน์แค่เพื่อ “รองรับธีม” ของหนัง แต่เนื่องจากเนื้อหาของหนังและอารมณ์ในบางฉากมัน “รุนแรง” ในตัวมันเองอยู่แล้ว หนังมันก็เลยออกมา work สำหรับเรา

3.7 ที่เราเอ่ยชื่อหนังเรื่องอื่นๆมามากมาย ก็เป็นเพราะว่าจริงๆแล้วเราชอบหนังที่ตัดต่อแบบ non linear แบบ DON’T WORRY, BE HAPPY นะ และอยากส่งเสริมให้หลายๆคนทำหนังแบบนี้ออกมาอีก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากลองทำครั้งแรกๆ มันก็อาจจะออกมาไม่ค่อย work แบบ 100% เต็มหรอก นอกจากว่าคุณจะมีพรสวรรค์ในด้านนี้อยู่แล้ว (เราว่าเด็กมศว.คนนึงที่ชื่อ Surawee Woraphot เหมือนจะมีพรสวรรค์ในการตัดต่อประเภทนี้ คือเหมือนเขาทำหนังสั้นเรื่องแรกๆก็ตัดต่ออะไรแบบนี้ออกมาได้ดีเลย) เพราะฉะนั้นเราก็เลยเอ่ยชื่อหนังมามากมาย เผื่อใครที่สนใจอยากตัดต่อหนังแบบนี้ จะได้ลองดูหนังกลุ่มนี้เพื่อเป็น reference ดู

และเอาเข้าจริงๆแล้ว ผู้กำกับชื่อดังบางคน ก็ตัดต่อไม่เก่งเหมือนกันน่ะแหละ 555 คือเรานึกถึงผู้กำกับอย่าง Dusan Makavejev น่ะ คือเรากับเพื่อนๆเคยคุยกันว่า จริงๆแล้วหนังบางเรื่องของ Dusan Makavejev กับหนังของ Alexander Kluge มันคล้ายกันในแง่ที่ว่า มันเอาเรื่องราวที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกันโดยตรง มาตัดต่อเข้าด้วยกัน แต่ถ้าหากเทียบกันจริงๆแล้ว เราจะพบว่า การตัดต่อแบบ non linear ในหนังของ Kluge นั้น มันให้ผลกระทบทาง emotional และ poetic ด้วย แต่การตัดต่อในหนังของ Dusan Makavejev นั้น มันไม่ให้ผลกระทบอะไรแบบนั้น มันทื่อๆมาก Makavejev ก็เลยเป็นรอง Kluge อย่างเห็นได้ชัดในสายตาของเรา เมื่อวัดจากฝีมือในการตัดต่อ

3.8 สรุปว่าเราชอบที่นักทำหนังไทยรุ่นใหม่กล้าใช้วิธีการตัดต่อแบบ non linear ใน DON’T WORRY, BE HAPPY นะ เราชอบที่คุณลองทำอะไรยากๆออกมา เหมือนกับการเล่นท่ายากในยิมนาสติกน่ะแหละ และเราก็ต้องบอกตามตรงว่า คุณยังไม่ได้คะแนน 10 เต็มจากการเล่นท่ายากแบบนี้ แต่เราก็ดีใจที่ได้เห็นคนเล่นท่ายาก เพราะมีน้อยคนมากที่เลือกเล่นท่ายากแบบนี้ และเราก็มั่นใจว่า ถ้าหากคุณเล่นท่ายากครั้งที่สอง ครั้งที่สาม คุณก็ต้องทำมันได้ดีขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน

4.ฉากที่เรากับเพื่อนบางคนลงความเห็นว่าเป็นฉากที่ดีที่สุดของหนัง คือฉากที่คุณแม่ไปเดินร้านเฟอร์นิเจอร์ แล้วการถ่ายภาพกับดนตรีประกอบในฉากนั้น มันให้อารมณ์หลอนๆ พิศวง ทรงพลังอย่างสุดๆ มันเหมือนกับว่าฉากนั้นสามารถลงลึกไปถึงอะไรบางอย่างในจิตวิญญาณตัวละครได้ดีสุดๆน่ะ แต่น่าเสียดายที่หนังไม่สามารถสานต่ออารมณ์ในฉากนั้นไปยังฉากอื่นๆของหนังได้ หรือไม่สามารถรักษา “ความพิศวงทางจิตวิญญาณ” ของคุณแม่ในฉากนั้นไปยังเรื่องราวของเธอในฉากอื่นๆได้ และไม่สามารถสร้างฉากที่ทรงพลังแบบนั้นกับตัวละครอื่นๆได้ด้วย

จริงๆแล้วฉากลูกชายเลือดไหลเป็นประจำ ก็เหมือนจะให้อารมณ์ “พิศวงทางจิตวิญญาณ” อะไรเหมือนกันนะ แต่มันไม่ทรงพลังเท่ากับฉากคุณแม่เดินร้านเฟอร์นิเจอร์น่ะ

5.ส่วนจุดเล็กๆปลีกย่อยอื่นๆที่เราชอบในหนัง ก็มีเช่น

5.1 การสื่อประเด็นการเมือง ผ่านทางเสียงข่าวที่ดังจนผิดปกติในบางฉาก และการที่ตัวละครแฟนลูกสาวใส่ชุดรด.เป็นประจำ คือเราเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ว่า การสื่อประเด็นการเมืองผ่านทาง “เสียงข่าว” เป็นสิ่งที่เราเจอในหนังสั้นไทยมาประมาณ 50 เรื่องได้แล้ว และควรจะมีวิธีการอื่นๆที่ไม่ซ้ำซากแบบนี้ แต่เราคิดว่าในแง่นึง นี่ก็เป็นวิธีการที่โอเคเมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้กำกับ และมันโอเคสำหรับเราในแง่ที่ว่า ถ้าหากผู้กำกับบางคนไม่ใช่คนที่รู้ลึกซึ้งเรื่องการเมืองจริงๆ การที่เขาพยายามจะพูดประเด็นการเมืองโดยที่ตัวเองไม่รู้จริง มันจะทำให้หนังของเขาเสียหรือดูแย่ไปเลย เพราะฉะนั้นการแตะประเด็นทางการเมืองแบบที่ดูเหมือนผิวเผินหรือผ่านๆ อาจจะเป็นวิธีการที่โอเคสำหรับผู้กำกับบางคน คือถ้าจะพูดเรื่องอะไร คุณต้องรู้จริง ไม่งั้นก็พูดแค่เท่าที่ตัวเองรู้จะดีกว่า เราก็เลยโอเคกับวิธีการนี้ในหนังเรื่องนี้

5.2 การที่ทุกคนทิ้งคุณยายไปเลยในตอนจบ สะใจเราสุดๆ

5.3 การสื่อประเด็นความเชื่อผิดๆเรื่องเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ก็เป็นสิ่งที่เราชอบ แต่จริงๆแล้วเราอยากให้ตัวละครมีการ debate โต้เถียงตบตีกันอย่างรุนแรงในประเด็นนี้ไปเลย

5.4 การที่คุณแม่แย่งผัวลูกสาว เป็นอะไรที่ดีงามสุดๆค่ะ

5.5 ความหวามไหวของพระเกย์ จริงๆแล้วส่วนนี้ทำให้นึกถึง “อารมณ์ homoerotic แบบจางๆ” ในหนังเรื่อง IN BETWEEN (2014, Anuwat Amnajkasem) นะ แต่น่าเสียดายที่หนังไปไม่สุดทางในส่วนนี้ 555

คือตอนฉากพระหนุ่มสองคนรีบเก็บผ้าตอนฝนตกนี่ เราลุ้นสุดๆให้เขาได้กันนะ เสียดายจัง หรือถึงแม้เขาไม่ได้กัน เราก็อยากให้อารมณ์ homoerotic ใน part นี้มันตลบอบอวลมากกว่านี้น่ะ เหมือนหนังฉีดน้ำหอมกลิ่น homoerotic เข้าไปหนึ่งหยด แต่จริงๆแล้วเราอยากให้หนังฉีดเข้าไปสักสามหยด อะไรทำนองนี้

6.แต่หนังก็เต็มไปด้วยหลายส่วนที่เราอยากให้มีอะไรมากกว่านี้ อย่างเช่น

6.1 จริงๆแล้วเราว่าอารมณ์ของตัวละครหลักและตัวละครรองเกือบทุกตัวมันเบลอเกินไปน่ะ เราว่าตัวละครที่ดูมีอารมณ์ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คือหนุ่มรด.กับคุณยาย ในขณะที่ตัวละครคุณแม่, ลูกชาย, ลูกสาว, เพื่อนลูกชาย, แฟนลูกชาย, พระล่ำ ดูเหมือนมันเบลอๆไปนิดนึง คือเราว่าตัวเนื้อเรื่องมันได้อารมณ์แล้วแหละ แต่หนังอาจจะต้องการวิธีการถ่ายทอดบางอย่างเพื่อให้อารมณ์มันออกมาน่าสนใจกว่านี้

6.2 เราว่าฉากที่ตัวละครเพื่อนลูกชายกับลูกชายคุยกันในรถเมล์มันดูไม่ทรงพลังยังไงไม่รู้ คือเราว่าฉากนั้นอาจจะเข้าทางเรามากกว่านี้ ถ้าหากมันถ่ายแบบลองเทคให้ตัวละครคุยกันไปเรื่อยๆโดยไม่ตัดเลย แต่พอหนังมันถ่ายแบบตัดรับหน้าตัวละครแต่ละตัวขณะที่พูดในฉากนั้น เราพบว่ามันลดทอนพลังบางอย่างในฉากนั้นไป

6.3 ฉากจบก็ดีนะ แต่เหมือนอารมณ์ยังไม่สุดแบบ 100% เต็มน่ะ แต่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำยังไงอารมณ์มันถึงจะออกมาสุดๆกว่านี้ ตอนดูเราจะนึกถึงหนังสั้นเรื่อง LET’S EAT (2011, Wasunan Hutawach, A+30) ที่มีฉากตัวละครพี่สาวน้องสาวนั่งรถไปด้วยกันเป็นเวลายาวนาน โดยไม่คุยอะไรกันเลย แต่เราว่าฉากนั้นใน LET’S EAT มันทำออกมาแล้วมันทรงพลังสุดๆ แต่ฉากจบของหนังเรื่องนี้มันทำออกมาแล้วมันก็เหมือนกับส่วนอื่นๆของหนังในแง่ที่มันทำให้เรารู้สึกว่า “คนทำกล้ามากที่ทำฉากจบออกมาแบบนี้ เราชอบความกล้าของคุณมากๆ และคุณก็ทำออกมาได้ดีในระดับนึงแล้วแหละ เพียงแต่มันเหมือนยังขาดอะไรบางอย่างอีกนิดนึง แล้วมันจะทรงพลังหรือส่งผลกระทบทางอารมณ์อย่างสุดๆได้น่ะ”

7.ดูเหมือนเราติหนังเรื่องนี้มากมาย แต่จริงๆแล้วเราชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ “เกือบสุดๆ” หรือ A+25 นะ เพราะปัจจัยนึงคือมันเป็นหนังที่มีความประหลาดและเป็นตัวของตัวเองในแง่นึงน่ะแหละ คือเหมือนเราจะมีปัญหากับความเบลอทางอารมณ์ของหนัง แต่ในแง่นึง หนังก็อาจจะจงใจอยู่แล้วให้อารมณ์มันเบลอ และความเบลอทางอารมณ์ของหนัง อาจจะเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆและค้างคาใจเราในระยะยาวก็ได้ มันเหมือนกับของที่มีตำหนิ ซึ่งดูแว่บแรกแล้วตำหนินั้นอาจจะทำให้มันด้อยค่าลง แต่ไปๆมาๆแล้ว ตำหนินั้นกลับทำให้สิ่งของนั้น unique ขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ และความ unique นี้อาจจะทำให้มันคาใจเราได้ในระยะยาว

8.เราได้ดูหนังที่อนุวัชร์กำกับแบบเดี่ยวๆมา 4 เรื่อง ซึ่งได้แก่เรื่องนี้, IN BETWEEN, WHERE IS MY SHORTS? (2014) และ YANEE, THE GIRL WHO IS TRYING TO OVERCOME HER FEARS (2015) แล้วก็พบว่า มันมีสไตล์ไม่ซ้ำกันเลย WHERE IS MY SHORTS? เป็นหนังดราม่าจิตวิทยาอารมณ์รุนแรง, IN BETWEEN เป็นหนังบรรยากาศ/โฮโมอีโรติก, YANEE THE GIRL WHO IS TRYING TO OVERCOME HER FEARS เป็นหนังผี/การเมือง ที่มีการใช้องค์ประกอบแบบหนังทดลองเข้ามาด้วย ส่วน DON’T WORRY, BE HAPPY เหมือนหนังอาร์ตนิ่งช้าที่ลดทอนการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และมี part ย่อยๆบางส่วนที่อาจทำให้นึกถึง WHERE IS MY SHORTS? และ IN BETWEEN

พอดูหนังของอนุวัชร์ 4 เรื่องนี้แล้ว เราก็พบว่า DON’T WORRY, BE HAPPY กับ YANEE, THE GIRL WHO IS TRYING TO OVERCOME HER FEARS เป็นหนังที่เล่นท่ายากทั้งสองเรื่อง และเหมือนกับว่าเขายังคงอยู่ในระหว่างการหาแนวหนังที่เหมาะกับตัวเองจริงๆอยู่ แต่อาจจะยังไม่พบ ซึ่งอันนี้ทำให้เรานึกถึง Rainer Werner Fassbinder นะ 555

คือพอคิดถึงหนัง 4 เรื่อง 4 สไตล์นี้ของอนุวัชร์ มันทำให้เรานึกถึงหนังในยุคแรกๆของ Fassbinder น่ะ เพราะหนังยุคแรกๆของ Fassbinder ก็จะมีสไตล์ที่แกว่งไปแกว่งมามากๆ มันมีทั้งหนังอาร์ตนิ่งช้าอย่าง LOVE IS COLDER THAN DEATH (1969) (ซึ่งอาจจะเทียบได้กับ DON’T WORRY, BE HAPPY), หนังสะท้อนการเมือง/สังคมที่เล่นกับการใช้ฉากแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาอย่าง KATZELMACHER (1969), หนังการเมืองแนวพิสดารอย่าง THE NIKLASHAUSEN JOURNEY (1970) ที่เหมือนกับหนังของWerner Schroeter มากกว่าจะเป็นเหมือนหนังของ Fassbinder เอง (ซึ่งอาจจะเทียบได้กับ YANEE ของอนุวัชร์ในแง่ที่มันไปคล้ายกับหนังของ Ratchapoom Boonbunchachoke)  และหนังอย่าง BREMEN FREEDOM (1972) ที่เป็นเหมือนกับละครเวทีที่ minimal มากๆ  แต่หลังจาก Fassbinder ทำหนังที่มีสไตล์แตกต่างกัน เขาก็ดูเหมือนจะค้นพบแนวทางหนังที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ และมุ่งมั่นกับการทำหนังในแนวทางของตัวเองจริงๆในเวลาต่อมา


 เพราะฉะนั้นเราก็เลยขอสรุปว่า เราอยากเห็นอนุวัชร์ทำหนังต่อไปนะ ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้ชอบ DON’T WORRY, BE HAPPY แบบสุดๆ แต่เราก็ชอบมันมากๆในระดับนึง และเราก็คิดว่ามันมีความ unique พอสมควร และเราก็เชื่อว่าการทดลองทำอะไรยากๆ แปลกๆใหม่ๆแบบนี้นี่แหละ เป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะถ้าเราไม่ลองทำ เราก็จะไม่เกิดการเรียนรู้และการพัฒนา และสักวันนึงเราอาจจะได้พบอะไรที่เหมาะกับเราเองจริงๆก็ได้

No comments: