Sunday, November 29, 2015

A NEW LIFE IN USA (2015, Thawatchai Thonglor, 40min, A+30)

A NEW LIFE IN USA (2015, Thawatchai Thonglor, 40min, A+30)
อเมริกา 5 หน่วยกิต

1.ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงตอนดู WE ARE YOUR FRIENDS (2015, Max Joseph, A+30) เพราะเรามักจะอินกับเรื่องของคนที่ชีวิตจมปลัก ไปไหนไม่ได้ ทั้งๆที่อยากจะไป อยากจะออกจากที่อยู่เดิม แต่ก็ไปไหนไม่ได้ เพราะปัจจัยต่างๆในชีวิต

ตอนที่เราดู WE ARE YOUR FRIENDS แล้วร้องห่มร้องไห้ ตอนนั้นเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะเหตุใดเราถึงอินกับหนังมากขนาดนั้น แต่พอเรามาดู A NEW LIFE IN USA มันก็เลยทำให้เราเข้าใจตัวเองว่า ทำไมเราถึงอินกับ WE ARE YOUR FRIENDS และ A NEW LIFE IN USA มากขนาดนี้ เพราะเราเป็นคนที่ไม่ได้เรียนต่อเมืองนอก, ไม่เคยไปต่างประเทศ, ไม่ได้เรียนต่อปริญญาโทน่ะ ในขณะที่เพื่อนมัธยมและมหาลัยของเรา 99% ได้ไปเรียนต่อเมืองนอก พอเรามาดู A NEW LIFE IN USA มันก็เลยทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา และก็เลยอินกับมันอย่างสุดๆ

2.อีกปัจจัยที่ทำให้ชอบ A NEW LIFE IN USA มากกว่าหนังเรื่องอื่นๆในงานบางแสนรามาในวันเสาร์ เป็นเพราะเราชอบที่หนังเรื่องนี้มันนำเสนอทั้ง

2.1 ความใฝ่ฝันของพระเอก

2.2 ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับครอบครัว ซึ่งได้แก่แม่ในเรื่องนี้

2.3 ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับเพื่อน

2.4 ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับเจ้านาย

2.5 ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับครูสอนภาษาอังกฤษ

คือเราชอบที่หนังเรื่องนี้มันนำเสนอ “หลายด้าน” ในชีวิตพระเอกน่ะ ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆในงานบางแสนรามามันอาจจะเป็นหนังที่ดีในสายตาคนอื่น แต่อาจจะไม่เข้าทางเราซะทีเดียว ในแง่ที่ว่า หนังเหล่านี้มันเป็นหนังที่ “นำเสนอประเด็นหลักของหนังอย่างแน่วแน่ มั่นคง ไม่วอกแวก” น่ะ อย่างเช่น ROBBER ที่พอมันนำเสนอเรื่องคู่รัก มันก็นำเสนอแค่เรื่องของคู่รักอย่างเดียว เราไม่ได้เห็นด้านอื่นๆในชีวิตของตัวละครหลักไปด้วย และเราว่า ANGKANA, WELL DONE THEY DON’T DOWN และ BARRIER ก็ค่อนข้างเกร็งในส่วนนี้เช่นกัน

แต่เราก็เข้าใจว่าปัญหานี้มันอาจจะเป็นเพราะมันเป็นหนังส่งอาจารย์ด้วยนะ ไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นตามใจผู้กำกับ และเกณฑ์ในการมองหนังของผู้ชมส่วนใหญ่ก็มักจะชื่นชม “หนังที่นำเสนอประเด็นหลักอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่วอกแวก” หนังที่ต้องการจะเป็นหนังดีในสายตาของผู้ชมส่วนใหญ่ก็เลยต้องพยายาม “ลดความซับซ้อนของชีวิตลง” เพื่อจะได้นำเสนอประเด็นหลักของหนังได้อย่างไม่วอกแวก แต่เราไม่ชอบหนังแบบนั้น เราชอบหนังที่ยอมรับความซับซ้อนของชีวิตมากกว่า เราชอบหนังที่สามารถแสดงให้เห็นว่า ในหนึ่งนาที ตัวละครอาจจะคิดถึงทั้งปัญหากับสามี, ปัญหากับแม่, ปัญหาทะเลาะกับเพื่อนเรื่องการเมือง, ปัญหาหนี้จำนองบ้าน, ความอยากมีเซ็กส์กับคนงานก่อสร้างในซอย, ปัญหาแอร์เสีย, ความไม่เข้าใจในคำสอนเรื่อง “นิโรธสมาบัติ”, ปัญหาเป็นโรคติดเชื้อไข้กาฬนกนางแอ่น, ความรู้สึกอยากกลับไปตบครูโรงเรียนมัธยมเพื่อแก้แค้น, ความอยากมีเซ็กส์กับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, etc. เราว่าชีวิตคนเราจริงๆ หรืออย่างน้อยก็ชีวิตเราเอง มันเป็นแบบนี้น่ะ เราคิดถึงปัญหา 30 อย่างในชีวิตใน 5 นาที เราไม่ได้คิดถึงปัญหาเดียวแบบไม่วอกแวกเหมือนตอนนั่งทำข้อสอบ

เพราะฉะนั้นการที่เราชอบ A NEW LIFE IN USA มากที่สุดในวันเสาร์ ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นเพราะว่าหนังเรื่องอื่นๆดีสู้ไม่ได้นะ แต่เป็นเพราะว่า A NEW LIFE IN USA มันเข้าทางเรามากที่สุดในแง่นี้น่ะ เรารู้สึกเหมือนกับว่าฉากต่างๆในหนังมันเหมือนเป็นการคว้าจับบางห้วงเวลาของชีวิตจริงมาให้เราดู ในขณะที่ฉากต่างๆในหนังเรื่องอื่นๆมันเป็นฉากที่ “ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับประเด็นหลักของหนัง” และพอมันเป็นฉากที่ “ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับประเด็นหลักของหนัง” บางที “ชีวิตจริง” ก็อาจถูกรีดหายออกไปจากฉากนั้นโดยไม่รู้ตัว แต่อันนี้เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวจ้ะ ผู้ชมหลายๆคนคงจะไม่ได้ชอบอะไรแบบนี้เหมือนกับเรา

3.อีกจุดที่ทำให้ชอบ A NEW LIFE IN USA สุดๆ คือการพูดถึง “ความลังเลใจ” ของตัวละคร คือหนังกระแสหลักโดยทั่วๆไปมักจะนำเสนอว่า “ตัวละครทำอะไร” และให้เวลากับ action เชิงกายภาพของตัวละคร ซึ่งการที่ตัวละครทำอะไรมันเกิดจากการที่ตัวละคร “ตัดสินใจ” ไปแล้วว่าจะทำอะไร


แต่เราชอบหนังที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่ตัวละครจะ “ตัดสินใจ” ทำอะไรนั้น บางทีมันใช้เวลานานมาก และบางทีมันลังเลใจ กลับไปกลับมา ว่าจะทำดีไม่ทำดี บางทีตัวละครอาจจะเปลี่ยนใจทุกชั่วโมง ว่าจะทำสิ่งนี้ดี หรือไม่ทำสิ่งนี้ดี อะไรทำนองนี้ และเราว่า A NEW LIFE IN USA มันนำเสนอ “ความลังเลใจ” ของตัวละครได้ดีมากๆ แทนที่จะนำเสนอ “ตัวละครที่ตัดสินใจอย่างมั่นใจ แล้วก็มุ่งหน้าต่อสู้กับอุปสรรคอย่างสุดแรง” แบบที่เรามักจะเจอในหนังกระแสหลัก

No comments: