MURDER (UN) SEEN (2015, Grisana Punpeng, stage play, A+30)
1.ชอบการแสดงของนักแสดงนำทั้ง 4 คนมากๆ โดยเฉพาะคุณโฬฬา
วรกุลสันติ ที่เราไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน
2.สาเหตุที่ทำให้ชอบละครเรื่องนี้สุดๆคงเป็นเพราะการแบ่งผู้ชมออกเป็นสองส่วน
และแต่ละส่วนก็ได้รับชมในสิ่งที่ไม่เหมือนกันนี่แหละ
เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ดีสำหรับเรา และทำให้มันไปไกลกว่าหนังกลุ่ม RASHOMON ที่อาจจะมีอะไรบางอย่างคล้ายๆกัน
นั่นก็คือการหาบทสรุปที่แน่นอนไม่ได้ว่าใครเป็นฆาตกร
3.คือตอนที่เราดู MURDER (UN) SEEN เราจะนึกถึงหนังหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับปริศนาฆาตกรรม
ที่มีผู้ต้องสงสัยหลายคน โดยเฉพาะหนังเรื่อง TALVAR (GUILTY) (2015, Meghna
Gulzar, India, A+30) ที่สร้างจากคดีจริงเกี่ยวกับการฆาตกรรมเด็กสาวคนหนึ่งในบ้านของตัวเอง
เพราะในตอนแรกตำรวจจะมองว่าฆาตกรต้องเป็นใครคนใดคนหนึ่งในบ้านหลังนั้น
แต่ในความเป็นจริงนั้น ฆาตกรหรือกลุ่มฆาตกรอาจจะมาจากนอกบ้านก็ได้
ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในบ้านเดียวกัน เพราะฉะนั้นตอนที่เราดู MURDER (UN)
SEEN เราจะแอบนึกในใจว่า
มันมีความเป็นไปได้เสมอที่ฆาตกรอาจจะเป็นคนอื่นนอกเหนือจาก 3 คนนี้
เพราะเราไม่ได้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าทำไมฆาตกรถึงถูกจำกัดวงไว้แค่ 3
คนนี้เท่านั้น
แต่เราว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจใน MURDER (UN) SEEN ก็คือว่า
มันแตกต่างจากหนังที่สร้างจากคดีปริศนาฆาตกรรมจริงหลายๆเรื่อง เพราะหนังหลายๆเรื่องในกลุ่มนี้
ผู้สร้างหนังมันจะมีความเอนเอียงอยู่แล้วว่าเขาคิดว่าใครคือฆาตกรตัวจริง
ซึ่งรวมถึงหนังเรื่อง TALVAR เอง
ที่ผู้สร้างหนังพยายามหว่านล้อมให้ผู้ชมเชื่อว่า กลุ่มฆาตกรเป็นคนที่มาจากนอกบ้าน
ถึงแม้ศาลจะตัดสินว่าฆาตกรคือพ่อแม่ของเด็กสาวคนนั้นก็ตาม
เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบ MURDER (UN) SEEN ในแง่ที่ว่า บทละครเรื่องนี้มันเฉลี่ยน้ำหนักได้ดีน่ะ
มันไม่ได้โน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจนว่าใครคือฆาตกร มันทำให้เราชั่งน้ำหนักได้ยากพอสมควรว่าใครคือฆาตกรในสามคนนี้
มันก็เลยแตกต่างจากหนังกลุ่มคดีฆาตกรรรมจริงหลายๆเรื่อง
4.แต่การที่ผู้ชมไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างง่ายดายว่าใครคือฆาตกร
มันก็อาจจะทำให้ละครเวทีเรื่องนี้ไปคล้ายกับหนังกลุ่ม RASHOMON ในแง่นึง
อย่างไรก็ดี ละครเวทีเรื่องนี้ก็แตกต่างจากหนังกลุ่ม RASHOMON ในแง่ที่ว่า ในหนังกลุ่ม RASHOMON นั้น
ผู้ชมทุกคนจะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนเท่าๆกันน่ะ แต่ในละครเวทีเรื่องนี้
ผู้ชมทุกคนจะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่เหมือนกัน
เราก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นอะไรที่แปลกใหม่ดีสำหรับเรา
5.แต่เราก็ไม่ได้เลือกให้ใครเป็นฆาตกรในตอนจบนะ เพราะว่า
5.1 เรารู้สึกว่าแหล่งที่มาของข้อมูลในหลายๆฉากมันไม่น่าเชื่อถือ
เพราะแหล่งที่มาของข้อมูลในหลายๆฉากมันมาจากคนที่แอบฟังหรือบังเอิญได้ยินหรืออะไรทำนองนี้
หรือแม้แต่ตัวเจ้าของร้านอาหารเองก็ให้การในสิ่งที่อาจจะลำเอียงและไม่เป็นความจริงก็ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้เห็นในหลายๆฉากอาจจะไม่เป็นความจริง เราก็เลยไม่รู้ว่า
เราสามารถเชื่อได้ว่าฉากไหนบ้างที่เป็นความจริงในเรื่องนี้
5.2 เรารู้สึกว่า เราไม่อยากตัดสินว่าใครเป็นฆาตกร จนกว่าจะได้เห็น “หลักฐานมัดตัว”
น่ะ โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติเวช หรือสิ่งที่ได้รับการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ แต่ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงหลักฐานมัดตัวในที่เกิดเหตุอะไรเท่าไหร่
แต่แค่แสดงให้เห็นว่า ทั้ง 3 คนต่างก็มี “แรงจูงใจ” ในการฆาตกรรมเท่านั้น
ซึ่งโดยปกติแล้วเรามองว่า “แรงจูงใจ” มันเป็นสิ่งที่ห่างไกลจาก “การฆาตกรรมจริง”
เป็นอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนต่างก็แอบซ่อนความเกลียดชังคนหลายคนไว้ในใจตัวเอง
มนุษย์แต่ละคนต่างก็มี “แรงจูงใจ” ในการฆ่าคนหลายคนกันทั้งนั้น แต่ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาประกอบการฆาตกรรมกันจริงๆ
เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า “แรงจูงใจ” มันไม่สามารถใช้ตัดสินได้แต่อย่างใดว่าใครคือฆาตกร
นี่ยังไม่นับอีกว่า
การฆาตกรรมหลายๆครั้งเกิดขึ้นโดยฆาตกรโรคจิตที่อาจจะฆ่าคนเพียงเพราะอยากฆ่าคนโดยแทบไม่มีเหตุผลด้วยซ้ำ
เหมือนอย่างที่เราเคยดูในหนังสารคดีเรื่อง BAD BOYS CELL 425 (2009, Janusz Mrozowski,
Poland, A+30) เพราะฉะนั้นการที่เราได้เห็นเพียงแค่ “แรงจูงใจ” แต่เราไม่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆในที่เกิดเหตุอย่างละเอียด
มันก็เลยไม่ทำให้เรารู้สึกอยากเลือกว่าใครคือฆาตกรในเรื่องนี้
6.แต่เราชอบมากนะที่ละครเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงอะไรต่างๆข้างต้น
ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือไม่เลือกใครเป็นฆาตกร
การกระตุ้นความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่เราชอบมาก และเราว่าละครเรื่องนี้มันสะท้อนบางสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันของเราด้วย
อย่างเช่นการทะเลาะกันทาง social อย่างเช่นเรื่องเมียทหารตบคนท้องอะไรทำนองนี้
เพราะในกรณีแบบนี้เราไม่สามารถตัดสินเข้าข้างใครได้ง่ายๆหรอก
จนกว่าเราจะได้รับรู้ข้อมูลจากทุกๆฝ่ายอย่างครบถ้วนก่อน
No comments:
Post a Comment