Monday, November 02, 2015

VANISHING POINT (2015, Jakrawal Nilthamrong, A+30)

VANISHING POINT (2015, Jakrawal Nilthamrong, A+30)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ตอนดูรอบแรก ดูไม่รู้เรื่องเลย 555 พอดูเสร็จแล้ว ได้มาอ่านสิ่งที่มดเอ็กซ์เขียนถึงโครงสร้างของหนังเรื่องนี้อย่างละเอียด เราถึงค่อยเข้าใจมากขึ้น และพอเราได้ดูรอบสอง เราถึงค่อยตามเรื่องได้ทัน แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความหมายอะไรของหนังมากนัก ซึ่งอะไรแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับเราตอนดูหนังของ Jean-Luc Godard นั่นก็คือ ตอนดูรอบแรก จะดูไม่รู้เรื่องเลย แต่พอดูรอบสอง เราจะจับได้ว่า ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรบ้างในหนัง แต่ก็จะไม่เข้าใจอยู่ดีว่า สิ่งต่างๆในหนังมันหมายถึงอะไรบ้าง อย่างไรก็ดี ความไม่เข้าใจไม่ได้ทำให้เราไม่ชอบหนัง ตรงกันข้าม เรากลับชอบหนังของ Godard มากๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรามักได้แนวคิดอะไรที่น่าสนใจจากหนังของเขา ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจหนังของเขาก็ตาม

2.ตอนดูรอบแรก สิ่งที่ชอบมากๆก็คือการถ่ายภาพ อย่างที่ได้เคยเขียนไปแล้ว โดยเฉพาะในฉากที่พระเล่าถึงความฝัน และฉากที่เจ้าของโรงงานเดินเข้าไปในป่า

3.พอดูรอบสอง เราจะนึกถึง LOST HIGHWAY (1997, David Lynch) ในแง่ที่ว่า มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องของผู้ชายสองคนที่น่าจะเป็นคนละคนกัน แต่มันกลับถูกโยงเข้าเป็นคนเดียวกันอย่างแปลกประหลาดพิสดารมากๆ และไม่สามารถอธิบายมันได้ด้วยเหตุผลอะไรใดๆทั้งสิ้น

ซึ่งจุดนี้จะสอดคล้องกับสิ่งที่พระตั้งคำถามกับเจ้าของโรงงานในฉากหนึ่ง ทีว่าคนในอดีตกับคนในปัจจุบัน เป็นคนคนเดียวกัน หรือคนละคนกันแน่ ซึ่งมันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว เพราะมันเป็นได้ทั้งสองอย่าง เหมือนอาหารกับอุจจาระ ที่จะบอกว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ หรือคนละสิ่งกันก็ได้

ซึ่งก็นำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่า เจ้าของโรงงานกับนักข่าวเป็นคนคนเดียวกันหรือเปล่า มันเหมือนเป็นคนละคนกัน แต่ผู้ชายสองคนนี้ก็ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยวิธีแปลกประหลาดพิสดารเหมือน LOST HIGHWAY และไม่มีคำตอบที่ตายตัวเพียงหนึ่งเดียวให้กับคำถามนี้

4.เหมือนหนังใส่อะไรหลายๆอย่างที่สามารถเชื่อมโยงนักข่าวกับเจ้าของโรงงานเข้าด้วยกันได้ อย่างเช่น

4.1 เราเห็นวิดีโอเทปที่ปิดฉลากว่าละครในรถยนต์ของนักข่าว และเราเห็นว่าเจ้าของโรงงานก็เป็นเจ้าของวิดีโอเทปที่ปิดฉลากละครเหมือนกัน เพราะเขาดูเหมือนจะเป็นเจ้าของโรงแรมอารยะด้วย และเขาแอบอัดเทปกิจกรรมลูกค้าในโรงแรมเอาไว้ โดยที่หนังไม่ได้อธิบายแต่อย่างใดว่า เพราะเหตุใดนักข่าวถึงมีวิดีโอเทปแบบนี้อยู่ในรถยนต์ของเขาด้วย

4.2 จากคำบอกเล่าของโสเภณี เจ้าของโรงแรมอารยะเคยเป็นตากล้องชาวกรุงเทพมาก่อน แต่พอเขามาถ่ายภาพสงครามในพื้นที่นี้ เขาก็เลยติดใจพื้นที่นี่และตั้งรกรากที่นี่ นั่นก็เท่ากับว่าเจ้าของโรงงาน/เจ้าของโรงแรมเคยเป็นตากล้องมาก่อน และนั่นทำให้เขากับนักข่าว/ตากล้องดูเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น

4.3 อีกฉากที่ทำให้ทั้งสองคนดูคล้ายกัน นั่นก็คือฉากที่ทั้งสองเดินโดยที่เสื้อด้านหลังมีรอยเหงื่อเปียกชุ่มอยู่เต็ม โดยเราเห็นนักข่าวเดินโดยมีเหงื่อเปียกชุ่มขณะไปที่โรงแรมอารยะ และเห็นเจ้าของโรงงานเดินโดยมีเหงื่อเปียกชุ่มขณะอยู่ในป่า โดยที่ทั้งสองฉากนี้ทำให้เราตั้งข้อสงสัยอีกด้วยว่า มันเป็นการเดินหลงทางในชีวิตด้วยหรือไม่

5.นอกจากการเชื่อมโยงนักข่าวกับเจ้าของโรงงานเข้าด้วยกันแล้ว หนังยังเต็มไปด้วยอะไรต่างๆมากมายที่น่านำมาจับคู่หรือพิจารณาเปรียบเทียบกัน ทั้งที่หนังตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อย่างเช่น

5.1 ฉากลูกสาวเล่นสเก็ต ท่องเมืองในช่วงต้นเรื่อง กับฉากโสเภณีวัยกลางคนเดิน ท่องตลาดช่วงท้ายเรื่อง

5.2 ตำรวจเรียกการถ่ายฉากทำแผนประกอบคำรับสารภาพว่าเป็นเหมือนกับ การถ่ายหนังสั้นส่วนเจ้าของโรงงานตั้งชื่อให้คลิปแอบถ่ายในโรงแรมว่าเป็น ละครหมายเลขต่างๆ

5.3 การใช้นักแสดงคนเดียวกันรับบทเป็นพระกับช่างเชื่อม โดยก่อนหน้านั้นพระก็เล่าถึงความฝันของตนเองว่าได้เลือกใช้ชีวิตแบบโลกียะ ใช้ชีวิตเป็นวิศวกร พบรักกับสาวธนาคาร ก่อนที่สาวธนาคารจะกลายร่างเป็นหญิงชราและออกลูกไม่หยุด

6.มีฉากปริศนาหรือมีอะไรที่น่าสงสัย น่านำมาขบคิดหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเราคงไม่สามารถตีความอะไรได้ แต่มันสนุกดีที่ได้อ่านความคิดที่มีต่อสิ่งต่างๆเหล่านี้ในบทวิจารณ์หรืองานเขียนของนักวิจารณ์คนอื่นๆ

สิ่งที่น่าสนใจก็มีอย่างเช่น

6.1 ภาพข่าวคนตายหลายๆภาพในช่วงต้นเรื่องคืออะไร เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไร นอกจากภาพแรกที่เป็นภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้กำกับ แต่โดยส่วนตัวแล้วมันทำให้เรานึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่ทุกคนสามารถตายก่อนวัยอันควรได้ทุกเมื่อ และนึกถึงความจริงที่ว่า จริงๆแล้วทุกชีวิตที่แตกต่างกันมีจุดจบรออยู่ที่ปลายทางจุดเดียวกัน ซึ่งก็คือความตาย

ภาพข่าวคนตายในช่วงต้นเรื่องเหมือนกับเป็นขั้วตรงข้ามของภาพเด็กๆในชุดผีเสื้อในช่วงท้ายเรื่องด้วย

6.2 คนที่ตำรวจจับมาเป็นฆาตกรฆ่าเด็กจริงหรือไม่ ทำไมเขาถึงทำอึกๆอักๆในบางช่วง แล้วตกลงพบศพเด็กที่ไหน อะไรยังไง เพราะผู้หญิงชาวบ้านบอกว่าไม่พบศพเด็ก แต่ตำรวจทำเหมือนกับว่าพบศพเด็กแล้ว แล้วทำไมตำรวจสองคนถึงออกมาจากป่าโดยไม่มีผู้ร้ายมาด้วย แล้วทำไมนักข่าวต้องทำเหมือนกับว่าสะกดรอยตามตำรวจ โดยตั้งกล้องถ่ายหน้ารถไปด้วย

6.3 มีฉากคาราโอเกะงานแต่งงานช่วงต้นเรื่อง โดยที่ขึ้นคำซ้ำๆว่า dynasty แต่ text ที่ขึ้นมาในฉากคาราโอเกะคล้ายกับเป็นข้อความใน SMS ทีผู้ชายส่งถึงแฟน แล้วหลังจากนั้นเราก็เห็นนักข่าวเดินเลือกโสเภณีในโรงแรม ฉากเหล่านี้หมายถึงอะไร

6.4 ลูกค้าคนหนึ่งในโรงแรมพูดกับโสเภณีว่าเขารู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลัง ติดกับ

6.5 ฉากเมียน้อยขับรถวนรอบชายชู้อย่างมีความสุข เป็นอีกฉากที่มีจุดเด่นที่การถ่ายภาพมากๆ เพราะปกติแล้วเราไม่เคยเห็นการนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างเมียน้อยกับสามีด้วยการขับรถวนเป็นวงกลมแบบนี้มาก่อน

6.6 อี the immortal woman นี่ก็เป็นอะไรที่คลาสสิคมากๆ เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร เราเข้าใจว่าตัวละครตัวนี้เคยปรากฏตัวในวิดีโอของ Jakrawal ในปี 2010 ที่จัดแสดงที่ SOL Space แต่เราไม่เคยดูวิดีโอเรื่องนั้น แต่วิดีโอเรื่องนั้นได้รับการบรรยายว่าเป็นเรื่องของ “the ultimate truth of suffering” ส่วนในหนังเรื่องนี้ อี the immortal woman ปรากฏตัวครั้งแรกหลังฉากการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ แล้วก็ปรากฏตัวในฉากที่เจ้าของโรงงานเหมือนจะเดินหลงในป่า โดยในฉากนี้เธอเหมือนจะคลอดลูกออกมาด้วย แล้วหลังจากนั้นก็เหมือนเธอจะเดินเข้าไปในชะง่อนหิน

ตอนแรกเราไม่รู้เลยว่า the immortal woman คืออะไร จนกระทั่งมดเอ็กซ์บอกว่า เธอน่าจะเป็นคนเดียวกับสาวธนาคารที่ร่วมรักกับวิศวกรหนุ่มในความฝันของพระ แล้วหลังจากนั้นเธอก็ถูกสาปให้กลายเป็นคนชราและคลอดลูกไม่หยุด

ตัวละครตัวนี้ทำให้เรานึกถึงตัวละครเฮี้ยนๆในห้องลึกลับใน TWIN PEAKS (David Lynch) กับตัวละครคนแคระสองตัวใน THE KINGDOM (Lars von Trier) ด้วย ในแง่ที่ว่า มันเหมือนเป็นตัวละครที่อยู่ในอีกมิตินึงที่ซ้อนทับกับมิติของคนปกติ และมันก็ไม่ใช่ผีด้วยนะ แต่มันเหมือนคนที่อยู่ในอีกมิตินึง

การที่สาวธนาคารถูกสาปให้กลายเป็นหญิงชราที่คลอดลูกไม่หยุด ก็ทำให้เรานึกถึงเรื่องของความไม่เที่ยงแท้ของสังขารด้วยเหมือนกัน แต่เราคิดว่าหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำให้นึกถึงเรื่องนี้ก็ได้ คือในตอนแรกพอได้ฟังเรื่องเล่าของพระ เราก็เลยนึกถึงเรื่องราวของผู้ชายปุถุชนในโลกโลกียะ ที่อาจจะได้พบรักกับหญิงสาวที่ถูกใจ แต่ในเวลาไม่นาน หญิงคนนั้นก็อาจจะคลอดลูก และมีร่างกายชราภาพลงเรื่อยๆ และนั่นทำให้นึกถึงเรื่องของเจ้าของโรงงานที่ไปมีเมียน้อยด้วย มันเหมือนกับเป็นความทุกข์ของคนทุกคนที่จะต้องมีร่างกายชราภาพลงเรื่อยๆ และบางคนที่ไม่พอใจเมียแก่ๆของตัวเอง ก็อาจจะหันไปมีเมียน้อย อย่างไรก็ดี ตัวละครช่างเชื่อมกับนักข่าวดูเหมือนจะไม่เข้าข่ายนี้ เพราะผู้ชายสองคนนี้พอใจที่จะอยู่กับโสเภณีวัยกลางคน

6.7 บทสนทนาบางช่วงของหนังก็ชวนให้น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นบทสนทนาของเมียน้อยกับเจ้าของโรงงาน โดยเมียน้อยพูดในทำนองที่ว่า คุณสามารถจบเรื่องนี้ลงได้ง่ายๆ เพราะเรื่องทุกอย่างเกิดจากการที่คุณปลุกมันขึ้นมาเอง

และบทสนทนาของเจ้าของโรงงานกับพระในช่วงท้ายเรื่อง ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน คือเราเห็นฉากนี้หลังจากเจ้าของโรงงานเหมือนจะออกไปตามหาศพลูกสาวแล้วหลงทางในป่า แต่ในฉากต่อมา เจ้าของโรงงานกลับพูดคุยกับพระโดยไม่ได้พาดพิงถึงเรื่องลูกสาวถูกฆ่าตาย แต่พระกลับถามเจ้าของโรงงานในทำนองที่ว่า พบลูกกับเมียแล้วใช่ไหม อโหสิกรรมให้พวกเขาด้วยนะ

6.8 หนังไม่ได้เปิดเผยด้วยว่า เจ้าของโรงงานมีปัญหาอะไรอย่างรุนแรงกับพ่อแม่เชื้อสายจีนของตัวเอง จนกระทั่งตัดขาดจากกัน

6.9 ฉากร่วมรัก ที่ถ่ายออกมาเป็นเงาสะท้อนที่บิดเบี้ยวมากๆ

7.ชอบ monologue ของพระที่เล่าถึงความฝันของตนเองมากๆ มันคลาสสิคมากๆ โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่ว่า พอพระในคราบวิศวกรหนุ่มเห็นหญิงคนรักท่ามกลางแสงจันทร์นวลผ่อง และรู้สึกเหมือนกับว่าหญิงคนรักนั้นเป็นเหมือนกับรูปปั้นประติมากรรม วิศวกรก็เกิดความรู้สึกสองอย่างขึ้นมาปะทะกัน นั่นก็คือความรู้สึกอยากลูบคลำรูปสลักนั้น และความรู้สึกอยากทำลายรูปสลักนั้นอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งเรามองว่าไอ้ความรู้สึกอยากทำลายรูปสลักนั้นเป็นอะไรที่เฮี้ยนมากๆ คือมันเหมือนเป็นอะไรที่ไม่มีเหตุผลอย่างมากๆ แต่มันก็อาจจะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้จริงในจิตมนุษย์บางคนอย่างไม่มีเหตุผล

8.เสียงในหนังรุนแรงมาก อย่างเช่น

8.1 เสียงคนพูดที่ขึ้นมาในช่วงที่เป็นภาพข่าวคนตายในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเสียงที่ไม่มีที่มาที่ไป เราฟังออกแต่ว่ามีอะไรเกี่ยวกับมังคุด

8.2 เสียง sound effect ที่เฮี้ยนมากๆ

8.3 เพลงประกอบในฉากเมียน้อยขับรถวนรอบผัวก็น่าสนใจมากๆ

8.4 เสียงที่เรารู้ตัวคนพูด แต่เสียงนั้นถูกแยกออกจากภาพของคนพูด อย่างเช่นเสียงพระ monologue

8.5 เสียงที่เราชอบสุดๆ คือดนตรีประกอบตอนที่เจ้าของโรงงานเดินออกมาจากป่า แล้วเดินมาที่พระพุทธรูปนอน เราว่าดนตรีประกอบในฉากนี้เพราะสุดๆ

9.รู้สึกดีที่มีหนังเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่เฮี้ยนมากๆแบบนี้ออกมา เพราะมันทำให้ศาสนาเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ มันไม่ใช่การนำคำสอนทางศาสนาที่หลายคนรู้กันดีอยู่แล้วมาบอกสอนอย่างทื่อๆ แต่มันเหมือนเป็นการนำความคิดความเชื่อบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนามานำเสนอในแบบที่เฮี้ยนมากๆ และกระตุ้นให้ผู้ชมได้ใช้ความคิดกับมันอย่างเปิดกว้างมากๆ

10.ในบรรดาหนังของจักรวาลที่เราเคยได้ดูนั้น มีที่เราชอบสุดๆอยู่ 4 เรื่อง ซึ่งก็คือเรื่องนี้, PATTERNS OF TRANSCENDENCE (2006), DRIPPING (2006) และ IN TRANSIT (2013) แต่ยังตัดสินไม่ได้ว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุด เพราะโดยส่วนตัวแล้ว เราอาจจะอินกับ PATTERNS OF TRANSCENDENCE และ IN TRANSIT มากกว่า VANISHING POINT แต่ในแง่หนึ่ง PATTERNS OF TRANSCENDENCE ก็ทำให้เรานึกถึงความหลอนในหนัง David Lynch ส่วน IN TRANSIT นั้นเป็น installation ที่สวยสุดๆ แต่เราก็เดาว่าน่าจะมีนักทำหนังทดลองคนอื่นๆที่สามารถสร้างงานที่เทียบเคียงกับ IN TRANSIT ได้เหมือนกัน ในขณะที่ VANISHING POINT มันเหมือนมีความ unique อะไรบางอย่างที่ผู้กำกับชาติตะวันตกทำไม่ได้ และแม้แต่ผู้กำกับเอเชียหรือชาวไทย เราก็ไม่ค่อยเห็นใครที่นำเสนออะไรพุทธๆออกมาได้หลอนแบบนี้ คือ Apichatpong Weerasethakul กับ Eakalak Maleetipawan ก็สร้างหนังหลอนๆที่มีตัวละครพระเหมือนกัน แต่เหมือนกับว่าผู้กำกับสองคนนี้ไม่ได้หมกมุ่นกับ คำสอนทางศาสนามากเท่ากับจักรวาลน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่า VANISHING POINT มันเป็นอะไรที่ทรงพลังมากๆ และ unique มากๆ เป็นตัวของตัวเองมากๆ หนังเรื่องนี้ก็เลยอาจจะเป็นหนังที่เราชอบมากที่สุดของจักรวาลก็ได้ ถึงแม้เราจะไม่จูนติดกับมันมากเท่า PATTERNS OF TRANSCENDENCE และ IN TRANSIT ก็ตาม

ส่วนหนังสั้นเรื่องอื่นๆของจักรวาล และรวมไปถึงหนังยาวอย่าง UNREAL FOREST นั้น เราชอบมาก แต่ไม่ได้ถึงขั้นมากสุดๆนะ มันเหมือนกับว่าเราชอบสไตล์ของหนังเหล่านั้น แต่เราไม่ได้อินอะไรกับเนื้อหาของมันมากสักเท่าไหร่น่ะ

11.นอกจาก LOST HIGHWAY แล้ว หนังอีกเรื่องที่ VANISHING POINT ทำให้เรานึกถึง ก็คือ THE STICKY FINGERS OF TIME (1997, Hilary Brougher, A+30) ซึ่งไม่ได้มีอะไรคล้ายกับ VANISHING POINT เลย แต่มันดูแล้วหลอนๆงงๆเหมือนกันในเรื่องการเล่นกับ alternate life ของชีวิตมนุษย์ และอดีต, ปัจจุบัน, อนาคต โดยตัวละครใน THE STICKY FINGER OF TIME จะบอกว่า เวลามี 5 นิ้ว ซึ่งได้แก่ อดีต, ปัจจุบัน, อนาคต, “what could have been” และ “what yet could be”


คือแนวคิดเรื่อง เวลามี 5 นิ้ว ใน THE STICKY FINGERS OF TIME มันทำให้เรานึกถึงฉากที่เฮี้ยนที่สุดฉากหนึ่งใน VANISHING POINT น่ะ ซึ่งก็คือฉากที่ดูเหมือนกับว่าพระกับเจ้าของโรงงานขับรถผ่านรถสองคันที่คว่ำอยู่ข้างทาง ซึ่งน่าจะเป็นรถของนักข่าวกับรถของพระ+เจ้าของโรงงานเอง โดยมีการถ่ายป้ายทะเบียนท้ายรถให้เห็นชัดๆเลยว่าน่าจะเป็นคันเดียวกัน โดยพระพูดกับเจ้าของโรงงานในช่วงใกล้ๆ moment นี้ด้วยว่า “Go back now or tomorrow may be too late” คือในฉากนี้เราบอกไม่ได้อีกต่อไปว่าอะไรเกิดขึ้นจริงกันแน่ นักข่าวตาย, นักข่าวกลายเป็นเจ้าของโรงงาน, เจ้าของโรงงานตาย, พระตาย, พระกลายเป็นช่างเชื่อม หรืออะไรกันแน่ แต่มันเหมือนกับว่า นิ้วทั้ง 5 ของเวลาใน THE STICKY FINGERS OF TIME มันปรากฏออกมาในฉากนี้

No comments: