Sunday, November 01, 2015

SPINECHILL (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)

SPINECHILL (2015, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.จริงๆแล้วชอบในระดับ A+30 มาตลอดทั้งเรื่อง แต่ระดับความชอบมาร่วงลงในฉากจบของเรื่อง เพราะเราไม่อยากให้ละครมันจบแบบนี้ และไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราเสียสมาธิด้วยหรือเปล่า เพราะผู้หญิงที่นั่งข้างหลังเราดันคุยโทรศัพท์ในช่วงท้ายของเรื่อง เราก็เลยอารมณ์เสีย และทำให้ไม่มีสมาธิดูในช่วงท้าย แต่เราเดาว่าถึงแม้เราไม่เสียสมาธิ ตอนจบแบบนี้ก็ดูไม่ค่อยเข้าทางเราอยู่ดี

2.ในช่วงแรกๆของเรื่อง ความชอบของเราที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้จะคล้ายๆกับความชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่อง MAPS TO THE STARS (2014, David Cronenberg, A+30) ในแง่ที่ว่า “ตัวละครทุกตัวมีความเฮี้ยนทางจิตอย่างรุนแรง”

คือในหนังทั่วๆไปนั้น มันมักจะนำเสนอ “นางเอกหรือพระเอกที่มีความเฮี้ยนทางจิต” แต่นางเอกหรือพระเอกจะถูกรายล้อมไปด้วยตัวละครประกอบที่เป็นคนปกติธรรมดา แต่ใน MAPS TO THE STARS กับใน SPINECHILL นั้น ตัวละครทุกตัวเฮี้ยนหมด ตัดสินไม่ได้ว่าใครมีปมทางจิตที่รุนแรงกว่ากัน ซึ่งเราจะชอบอะไรแบบนี้มากๆ เราชอบหนังหรือละครเวทีที่ไม่ได้ treat ตัวประกอบว่าด้อยกว่าพระเอกหรือนางเอกน่ะ และ SPINECHILL ก็เข้าข่ายนี้ และเราว่าทั้ง SPINECHILL กับ MAPS TO THE STARS  มันสร้างปฏิกิริยาเคมีที่น่าสนใจมากๆ เวลา “ตัวละครเฮี้ยนๆมาเจอกัน” มันเหมือนกับว่าตัวละครแต่ละตัวในหนังและละครเวทีสองเรื่องนี้เป็น “ระเบิด” หรือ “อาวุธ” ประเภทที่แตกต่างกันไปน่ะ มันเหมือนกับว่าตัวละครตัวนึงเป็นระเบิดแสวงเครื่อง, อีกตัวละครเป็นระเบิดนิวเคลียร์, อีกตัวละครเป็นอาวุธเคมี, อีกตัวละครเป็นอาวุธเชื้อโรค และอีกตัวละครเป็นยาพิษไส้ขาด อะไรทำนองนี้ คือตัวละครแต่ละตัวมันมีปมทางจิตที่รุนแรงมาก และพอมันมาปะทะกัน เราก็ไม่รู้ว่าตัวละครตัวไหนมันจะระเบิดเอาพิษร้ายในใจมันออกมาทำลายล้างตัวละครตัวอื่นๆเมื่อไหร่ SPINECHILL กับ MAPS TO THE STARS ก็เลยเป็นอะไรที่เข้าทางเราสุดๆในด้านนี้

จริงๆแล้วหนังอีกเรื่องที่อาจจะเข้าข่ายนี้ก็คือ PORTRAIT OF THE UNIVERSE (2012, Napat Treepalawisetkun,  A+30) ที่เต็มไปด้วยตัวละครเฮี้ยนๆเหมือนกัน

แต่สิ่งนี้แตกต่างไปจากละครเวทีเรื่อง THE WAY OF THE WORLD ศึกอสรพิษ (2012, Jirawan Aroonpairojanakul, A+) และ “กุหลาบสีเลือด” นะ คือใน “ศึกอสรพิษ” กับ “กุหลาบสีเลือด” นั้น มันมีตัวละครผู้หญิงร้ายๆเยอะมากมาปะทะกัน แต่ตัวละครเหล่านี้เหมือนยาพิษชนิดที่คล้ายคลึงกันน่ะ มันเหมือน “งูเห่า” มาปะทะกับ “ตะขาบ” มันไม่ใช่ “งูเห่า” ปะทะกับ “ระเบิดนิวเคลียร์” และมันเป็นตัวละครที่ร้ายแบบคนธรรมดาน่ะ คือเป็นความร้ายเพราะต้องการเงินและต้องการผู้ชาย เป็นความร้ายของคนที่มีโลภะหรือราคะแบบคนธรรมดาทั่วๆไป คือเป็นตัวละครที่ร้ายแบบที่กระทำทุกอย่างไปโดยมี “สติสัมปชัญญะ” น่ะ

ซึ่งมันจะแตกต่างจากตัวละครใน SPINECHILL, MAPS TO THE STARS และ PORTRAIT OF THE UNIVERSE คือตัวละครในหนัง/ละครเวที 3 เรื่องนี้ มันร้าย แต่มันร้ายแบบไม่ใช่คนธรรมดา เพราะมันมีความร้ายแบบวิกลจริต, ความร้ายแบบมีปัญหาทางจิต หรือมีความร้ายแบบที่อธิบายได้ยากกว่ารวมอยู่ด้วย

ถ้าหากจะเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า เราว่า “ศึกอสรพิษ” กับ “กุหลาบสีเลือด” สนุกดี เพราะมันมีผู้หญิงร้ายๆหลายคนมาตบกัน แต่มันเหมือนกับว่าตัวละครในละครเวทีสองเรื่องนี้ “ร้ายกาจในระดับ conscious” เท่านั้น

แต่เราชอบ SPINECHILL, MAPS TO THE STARS กับ PORTRAIT OF THE UNIVERSE มากๆ เพราะเราว่าตัวละครในหนัง/ละครเวที 3 เรื่องนี้ มัน “ร้ายกาจในระดับ subconscious” เลยน่ะ มันเหมือนกับว่าหนัง/ละครเวที 3 เรื่องนี้ มันลงลึกไปถึงปัญหาในระดับ subconscious ของตัวละคร และพอมันลงลึกไปได้ถึงขั้นนั้น มันก็เลยน่าสนใจกว่ามากๆ

2.นอกจาก SPINECHILL จะเต็มไปด้วยตัวละครเฮี้ยนๆมาปะทะกันแล้ว นักแสดงในเรื่องนี้ก็เล่นได้น่าประทับใจมากทุกคนด้วย มันเหมือนเป็นการปะทะกันของนักแสดงด้วยเหมือนกัน

เราชอบการแสดงของคุณดลลดา ชื่นจันทร์มากเป็นพิเศษ รู้สึกว่าเธอแสดงได้ทรงพลังสุดๆ และตัวละครของเธอก็น่าสนใจสุดๆด้วย คือเราว่าจริงๆแล้วทั้งตัวละครโอ๋ (ดลลดา) กับพี่จา (ปิยะนุช ยอดชุม) ต่างก็เป็นตัวละครที่เก็บกดอะไรเอาไว้ข้างใน โดยพี่จานั้นเก็บกดทั้ง “คำหยาบ”, “ความต้องการฮุบโฉนด”, “ความต้องการให้น้องชายหาเลี้ยงตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องมาเกาะกูกิน”, “ความเกลียดน้องสะใภ้”, “ความอยากเต้นลีด”, “ปมเรื่องพ่อ” และ “อดีตที่เคยเข้าร่วมในกิจกรรมเซ็กส์หมู่” อยู่ในตัว แต่ความเก็บกดนี้เหมือนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายในระดับนึง และมันเหมือนกับว่า พี่จาระบายความเก็บกดออกมาได้อย่างชัดเจนเป็นระยะๆน่ะ มันเหมือนกับว่าตัวละครตัวนี้เป็นน้ำในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวตลอดเวลา และเราก็มองเห็นได้ง่ายๆว่ามันไหลเชี่ยว

ในขณะที่ตัวละครโอ๋นั้น พอเธอโผล่มา เราก็รู้สึกได้ในทันทีว่า ตัวละครตัวนี้เก็บกดอะไรบางอย่างไว้ข้างใน แต่มันไม่ง่ายที่จะเข้าใจว่าเธอเก็บกดอะไรไว้ มันเหมือนกับว่าตัวละครตัวนี้เป็นหนองน้ำที่มีผิวหน้าที่นิ่งสนิทน่ะ แถมยังมีหมอกอ่อนๆปกคลุมอยู่เหนือหนองน้ำด้วย แต่พอเรามองหนองน้ำที่นิ่งสนิทนี้ เราก็รู้สึกอยู่ลึกๆว่า มันต้องมีอันตรายซ่อนอยู่ใต้ผิวหน้าที่นิ่งสนิทนี้แน่ๆ มันอาจจะมีตอร์ปิโดหรือพญานาคซ่อนอยู่ใต้ผิวหน้าที่นิ่งสนิทนี้ก็ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละครโอ๋นี่สุดตีนมากๆ เข้าทางเรามากๆ และคุณดลลดาก็แสดงได้ดีมากๆในบทนี้ รวมทั้งในบทของกฤตยาเทวีด้วย

3.ช่วงครึ่งหลังของเรื่อง ที่กัน (บัณฑิต สนใจ) ปรากฏตัวออกมา เราแอบคิดว่ามันน่าจะทรงพลังมากกว่านี้ ถ้าหากเรื่องนี้มันเป็น “สื่อภาพยนตร์” มากกว่าละครเวทีนะ 555 ซึ่งจริงๆแล้วเรามักจะคิดแบบนี้กับละครเวทีเกือบทุกเรื่องของนินาท เพราะเราว่านินาทเขียน “บท” ได้ดีสุดๆ แต่ละครเวทีของนินาทมักจะใช้ทุนต่ำมากน่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่หายไปคือ “การสร้างบรรยากาศ” และเราว่า ถ้าหากละครเวทีเรื่องนี้มีการสร้างบรรยากาศด้าน “แสง” หรืออะไรต่างๆได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังที่เนื้อเรื่องมัน “หลอน” มากๆ มันก็จะทรงพลังสุดๆไปเลย

พอคิดไปแล้วก็น่าเศร้าใจนะ คือพอเราได้ดูหนังไทยอย่าง “มอญซ่อนผี” (A-) และ “เลิฟอะรูมิไลค์ รักอะไรไม่รู้” (C+) แล้ว เราก็พบว่าหนังไทยเมนสตรีมหลายๆเรื่องมันมีปัญหาอย่างรุนแรงมากๆเรื่อง “บทภาพยนตร์” น่ะ แต่มันก็ยังมีคนทุ่มทุนสร้างหนังที่ใช้บทภาพยนตร์แย่ๆแบบนี้ออกมา ในขณะที่ “บท” ที่ดีมากๆ อย่างเช่นบทละครเวทีของนินาทหลายๆเรื่อง กลับถูกนำเสนอในฐานะละครเวทีโรงเล็ก แทนที่จะได้รับการเผยแพร่เป็นภาพยนตร์ในวงกว้าง

4.อีกสิ่งหนึ่งที่เราคิดขึ้นมาหลังจากได้ดู SPINECHILL ก็คือว่า เราอยากให้มีละครเวทีสยองขวัญแนวนี้ ที่เล่นเรื่อง “อุณหภูมิ” และ “กลิ่น” ด้วย

คือเราชอบช่วงครึ่งหลังของละครเวทีเรื่องนี้มากๆ เราว่ามันทรงพลังมาก หลอนมาก แต่เราว่ามันอาจจะหลอนมากกว่านี้ได้อีก ถ้าหาก

4.1 มันถูกนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์ ไม่ใช่ละครเวที

4.2 มันมีการจัดแสงเพื่อเน้นความหลอน

4.3 มันมีการเล่นกับอุณหภูมิ คือเราจินตนาการว่า เราอยากให้ห้องที่จัดแสดงละครเวทีเรื่องนี้ ตั้งอุณภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25 องศาเซลเซียสในช่วงต้นเรื่องน่ะ แต่พอตัวละคร “กัน” ปรากฏตัว ผู้คุมเวทีก็ลดอุณหภูมิห้องลงเหลือ 20 องศาเซลเซียส และพอ “กฤตยาเทวี” ปรากฏตัว ผู้คุมเวทีก็ลดอุณหภูมิห้องลงเหลือ 15 องศาเซลเซียส เราว่าถ้าหากทำแบบนี้ มันจะหลอนในแบบที่เข้าทางเรามากๆ 555

แต่ตัวละครไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเพื่อ guide ความรู้สึกผู้ชมในเรื่องอุณหภูมิก็ได้นะ คือให้ผู้ชมรู้สึกหนาวขึ้นมาเอง เวลา “กัน” กับ “กฤตยาเทวี” ปรากฏตัว แต่ผู้ชมก็ไม่แน่ใจด้วยว่า ตัวเองหนาวจริงๆ หรือตัวเองคิดไปเอง หรือตัวเองป่วยเป็นไข้ อะไรทำนองนี้ 555

4.4 อีกสิ่งหนึ่งที่เหมาะจะเล่นกับละครเวทีโรงเล็กแบบนี้ ก็คือ “กลิ่น” คือเราจินตนาการว่า เวลาที่ “กัน” ปรากฏตัว เราอยากให้ทางผู้จัดปล่อยกลิ่นอะไรเข้ามาในห้องด้วย อาจจะเป็นกลิ่นธูปหรือกลิ่นน้ำอบหรืออะไรก็ได้ และทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่แน่ใจว่าตัวเองได้กลิ่นจริงๆ หรือตัวเองมโนไปเองว่าได้กลิ่น

และพอกฤตยาเทวีปรากฏตัว ผู้จัดก็อาจจะปล่อยกลิ่นกำยานเข้ามาในห้องด้วย 555


อันนี้เป็นไอเดียที่เราเขียนไว้ เผื่อมีผู้จัดละครเวทีคนไหนสนใจเอาไปดัดแปลงใช้ในละครเวทีของตัวเองในอนาคตนะ 555

No comments: