ARPAT (2015, Kanittha Kwanyoo, A+25)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.พอได้ดู อาปัติ แล้วต่อด้วย VANISHING POINT
(2015, Jakrawal Nilthamrong, A+30) ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้นึกถึงการได้ดู
HOW TO WIN AT CHECKERS (EVERY TIME) (2015, Josh Kim, A+30) แล้วต่อด้วย THE BLUE HOUR (2015, Anucha Boonyawatana, A+30) ในเวลาไล่เลี่ยกัน คือเหมือนมันเป็นหนังสองคู่ที่ดีมากๆน่ะ โดย อาปัติกับ VANISHING
POINT มันเป็นหนังที่มีตัวละครพระที่น่าสนใจสุดๆทั้งสองเรื่อง ส่วน HOW
TO WIN กับ THE BLUE HOUR ก็เป็นหนังเกย์ไทยที่น่าสนใจสุดๆทั้งสองเรื่อง
แต่เราจะชอบ VANISHING POINT มากกว่าอาปัติ และเราจะชอบ THE
BLUE HOUR มากกว่า HOW TO WIN AT CHECKERS ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า
เราว่า VANISHING POINT กับ THE BLUE HOUR มันลงลึกถึงระดับ subconscious ของตัวละคร, เต็มไปด้วยความหลอน
หรือนำเสนอ “สิ่งที่อธิบายได้ยากว่ามันคืออะไร” อะไรทำนองนี้ ในขณะที่อาปัติกับ HOW
TO WIN AT CHECKERS มันนำเสนอปัญหาสังคมหรืออะไรที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมกว่า
สรุปว่าเราชอบหนังทั้ง 4 เรื่องนี้มากๆ แต่เรารู้สึกว่าอาปัติกับ HOW TO WIN AT CHECKERS ค่อนข้างจะนำเสนออะไรที่เป็นรูปธรรม
เราก็เลยชอบหนังสองเรื่องนี้น้อยกว่า THE
BLUE HOUR กับ VANISHING POINT เพราะหนังสองเรื่องหลังนี้นำเสนออะไรที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม
หรือทำให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่มันรุนแรงกว่าและอธิบายได้ยากกว่าหนังสองเรื่องแรก
2.สิ่งหนึ่งที่ชอบมากใน “อาปัติ”
คือเรารู้สึกว่ามันสร้างตัวละครพระเอกออกมาได้น่าสนใจดีน่ะ
คือเหมือนกับว่ามันคิดแบคกราวด์และลักษณะนิสัยของตัวละครพระเอกเอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากๆ
และค่อยๆเผยแบคกราวด์กับลักษณะนิสัยของตัวละครพระเอกออกมาทีละน้อยๆอย่างแนบเนียน
อย่างเช่นประวัติของพระเอกที่เคยขับรถชนเด็กตาย ก็ไม่มีการบอกตรงๆ
แต่นำเสนออย่างอ้อมๆผ่านทางการสไลด์หน้าจอมือถือในช่วงต้นๆเรื่อง,
บทสนทนาอย่างอ้อมๆกับแฟนเก่า และฉากตอนจบของเรื่อง
คือเราว่าหนังไทยเมนสตรีมโดยทั่วไปมักจะเลือกวิธีบอกตรงๆ
หรือเฉลยตรงๆน่ะ มันไม่ค่อยมีหนังที่ใช้วิธีการที่แยบคายในการเล่าเรื่องแบบนี้
การแสดงลักษณะนิสัยของพระเอก ผ่านทางการตบหัวเณรเด็กอย่างรุนแรง
ก็เป็นสิ่งที่เราชอบมากๆด้วย คือเราว่าตัวละครพระเอกของเรื่องนี้เป็นคนที่มี “ราคะ”
และ “โทสะ” อยู่ในตัว แต่ในระดับที่ไม่มากเกินมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดามากนักน่ะ
คือปกติแล้วเวลามีหนัง “สั่งสอนธรรมะ” แบบนี้
หนังมักจะสร้างตัวละครแบบ “มักมากในกาม” หรือ “มุทะลุดุดัน โกรธแรง ทำหน้าฮึดฮัด
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามตลอดเวลา” อะไรทำนองนี้ เพื่อที่ตัวละครแบบนี้จะได้ถูกกรรมตามสนองอย่างสาสมในตอนจบ
แต่ตัวละครแบบนี้ เราว่ามันห่างไกลจากตัวเราน่ะ
ในขณะที่ตัวละครพระเอกของ อาปัตินั้น พอมันลดระดับราคะและโทสะในตัวละครตัวนี้ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอเจาะ
เราก็เลยพบว่ามันเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากๆ คือเราว่าระดับโทสะของตัวละครตัวนี้ก็อาจจะไม่ต่างจากเราเท่าไหร่นะ
คือเราไม่ใช่คนที่จะไปหาเรื่องคนอื่นก่อนน่ะ แต่ถ้าหากมีใครมาหาเรื่องเรา เราก็จะตบกลับในทันที
และถึงแม้มันจะเป็นเด็กหรือคนชรา เราก็จะไม่ละเว้น
เราก็เลยชอบมากที่ตัวละครพระเอกในอาปัติ ไม่ต้องทำหน้าถมึงทึง
โกรธเกรี้ยวตลอดเวลา แต่เป็นเหมือนคน “โกรธง่าย” คนนึง
ที่ถ้าหากเจอสถานการณ์เหี้ยๆเมื่อไหร่ ก็จะระเบิดอารมณ์ออกมาในทันที
ส่วนเรื่องความหึงหวงของพระเอกนั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรา identify ด้วยนะ
แต่เราว่ามันก็แสดงให้เห็นว่าพระเอกเป็นคนที่มีข้อบกพร่องมากๆคนนึง
แต่ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่ ไม่ใช่ตัวละครอาชญากรแบบในหนังอย่าง “นาคปรก” IN
THE SHADOW OF NAGA (2010, Pawat Panangkasiri, A-/B+)
ส่วนเรื่องราคะนั้น เราว่าเราเข้าใจตัวละครนางเอกเป็นอย่างดี
ว่าถ้าหากเธอเจอพระหล่อๆแบบนี้ เธอก็คงอดใจไว้ไม่ได้ 555
3.อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมาก ก็คือพอหนังเฉลยแล้วว่า ตัวละครตัวใดเป็นผี
ไม่ใช่คนจริงๆ หนังก็ไม่เสียเวลา flashback เพื่อให้ผู้ชมเห็นว่า “เห็นไหมล่ะ
ในฉากนี้ ตัวละครตัวอื่นๆก็ไม่เห็นผีตัวนี้นะ” อะไรทำนองนี้
เพราะเราว่าหนังไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย
คนดูหลายๆคนก็น่าจะเดาได้ตั้งแต่ก่อนฉากเฉลยแล้วว่า ตัวละครตัวนี้เป็นผี และคนดูหลายๆคนก็สามารถ
“คิดทบทวนในหัวตัวเองได้เอง” ว่าอะไรคือความจริงในฉากก่อนๆหน้านั้น
โดยที่หนังไม่ต้องเสียเวลา flashback
คือเราว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างนับถือความสามารถของคนดูนะ
ในการปะติดปะต่อเรื่องเองและในการย้อนคิดทบทวนเนื้อเรื่องด้วยตัวเอง ซึ่งเราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆและเป็นสิ่งที่อาจจะหาได้ยากหน่อยในหนังกระแสหลักของไทย
4.อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบมากๆเป็นการส่วนตัว
ก็คือเรามักจะชอบพล็อตเรื่องทำนอง “คนสองรุ่นกระทำกรรมคล้ายคลึงกัน”
ที่กรรมของคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นปัจจุบันเป็นเหมือนกระจกส่องสะท้อนกันไปมาน่ะ
ซึ่งเราจะชอบพล็อตแบบนี้มากในหนังอย่างเช่น
4.1 INCENDIES (2010, Denis Villeneuve, A+30)
4.2 IT GETS BETTER (2012, Tanwarin Sukkhapisit)
4.3 THE FLOWER OF EVIL (2002, Claude Chabrol)
4.4 DÉJÀ VU (1997, Henry Jaglom)
4.5 THE JOY LUCK CLUB (1993, Wayne Wang)
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงชอบพล็อตเรื่องแบบนี้ พล็อตแบบ “การกระทำของคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นปัจจุบัน”
ส่องสะท้อนกันไปมา แต่เราพบว่าหนังหลายๆเรื่องที่ใช้พล็อตแบบนี้มันซึ้งดี, สนุกดี
และเราว่าบทหนังกลุ่มนี้หลายๆเรื่องมีโครงสร้างที่ซับซ้อนพอสมควรด้วย
คือแทนที่มันจะเล่าเรื่องของคนรุ่นเดียว มันกลับต้องเล่าเรื่องของคนสองรุ่น
และต้องหาทางเชื่อมโยงเรื่องของคนสองรุ่นเข้าด้วยกัน โดยต้องหา “จังหวะเวลา”
ที่เหมาะสมมากๆ ในการตัดสลับเรื่องราวของคนสองรุ่นเข้าด้วยกัน
เพื่อสร้างความคล้องจองในทางอารมณ์ หรือเพื่อส่งผลกระทบในทางอารมณ์อย่างรุนแรง
และต้องหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมมากๆ ในการเฉลยเรื่องราวอะไรบางอย่างในการกระทำของคนรุ่นก่อน
เพื่อส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนรุ่นปัจจุบัน
และส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ชมในระดับ climax ด้วย
แต่ถ้าหากเทียบกับหนังกลุ่มนี้ด้วยกันเองแล้ว เราว่า “อาปัติ”
อาจจะด้อยกว่านิดนึงนะ 555 คือการเฉลยเรื่องราวในอดีตของอาปัติ
มันกระทำผ่านทางความฝันของตัวละครพระเอก หรือพระเอกเห็นภาพนิมิตอะไรทำนองนี้น่ะ
มันก็เลยเป็นวิธีการที่ “พอใช้ได้” แต่ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ และเราว่าจริงๆแล้ว
การกระทำของตัวละครคนรุ่นก่อน กับการกระทำของตัวละครคนรุ่นปัจจุบัน
มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเราอย่างรุนแรงในเชิงอารมณ์ด้วย
คือแน่นอนว่าการกระทำของพระรุ่นก่อน กับการกระทำของตัวละครพระเอกในรุ่นปัจจุบัน
มันเชื่อมโยงกันได้อย่าง “มีเหตุผล” เพราะมันเป็นตัวละครที่ต้องอาบัติเพราะเสพเมถุนธรรมเหมือนกัน
แต่ถึงแม้มันเชื่อมโยงกันได้อย่าง “มีเหตุผล”
แต่ในทางอารมณ์แล้วมันอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเราอย่างรุนแรงเหมือนหนังบางเรื่องในกลุ่มเดียวกันน่ะ
แต่เราก็ไม่ว่าอะไรผู้สร้างหนังเรื่องนี้นะ
เพราะแค่ที่เขาคิดพล็อตมาได้อย่างซับซ้อนขนาดนี้ เราก็ขอกราบตีนแล้ว
เราว่าหนังกลุ่มนี้
ที่เชื่อมโยงเรื่องของคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นปัจจุบันเข้าด้วยกันได้อย่างทรงพลังที่สุด
อาจจะเป็น INCENDIES น่ะ โดยเฉพาะฉากที่นางเอกรู้ความจริงนี่แบบ
โอ๊ย ตายแล้ว ทรงพลังมากๆ
ส่วนหนังในกลุ่มนี้ ที่มีฉาก “เฉลยความจริง” ได้อย่างน่าประทับใจสุดๆ
อีกเรื่องนึง คือ THE FLOWER OF EVIL คือหนังเรื่องนี้จะมีตัวละคร 3
รุ่นนะ คือตัวละครรุ่นหนุ่มสาว, ตัวละครรุ่นพ่อแม่ ที่มีเบื้องหลังที่น่าสงสัยมากๆ
และตัวละครรุ่นคุณยาย และในช่วงท้ายของเรื่อง
มันจะมีฉากฆาตกรรมที่เชื่อมโยงตัวละครรุ่นหนุ่มสาวกับตัวละครรุ่นพ่อแม่เข้าด้วยกัน
และมันจะมีฉากที่คุณยายช่วยขนศพขึ้นจากชั้นล่างไปชั้นบน
และในขณะที่คุณยายช่วยขนศพขึ้นบันไดนี่แหละ
คุณยายก็เล่าเรื่องราวที่เหี้ยมากๆที่เคยเกิดขึ้นในยุคของคุณยายให้ตัวละครหนุ่มสาวได้ฟังด้วย
เราว่าวิธีการเฉลยเรื่อง หรือวิธีเชื่อมโยงเรื่องราวของคนหลายรุ่นเข้าด้วยกันใน
THE FLOWER OF EVIL เป็นอีกวิธีการนึงที่น่าสนใจมากๆ
คือหนังไม่ได้แฟลชแบ็คให้เราเห็นภาพในอดีตเลยนะ
คนดูต้องจินตนาการภาพไปเองตามคำบอกเล่าของคุณยาย
และคุณยายก็เล่าเรื่องนี้ขณะขนศพขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ
แต่เราว่าการเล่าเรื่องแบบเรียบง่ายนี่แหละ ไปๆมาๆแล้วมันก็ทรงพลังได้มากๆเหมือนกัน
ถ้าหากมันอยู่ในมือของผู้กำกับ/ผู้เขียนบทที่เก่งพอ และใส่เข้ามาในเวลาที่เหมาะสม
สรุปว่าชอบพล็อตเรื่องของอาปัติมากๆ,
ชอบความซับซ้อนของพล็อตเรื่องมากๆ แต่มันอาจจะไม่ทรงพลังอย่างสุดๆสำหรับเราถึงขั้น
A+30 ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้อินอะไรกับเรื่องศาสนาพุทธแบบนี้มากนักน่ะ
5.ชอบฉากเห็น “ตีนของผีพระ” มากๆ เราว่ามันน่ากลัวมากๆสำหรับเรา น่ากลัวกว่าการเห็นผีทั้งตัวอีก
ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม “การเห็นแค่ตีนของผี” มันถึงน่ากลัวกว่า “การเห็นผีทั้งตัว”
หรืออาจจะเป็นเพราะว่า “การเห็นแค่ตีนของผี” มันกระตุ้นจินตนาการเราด้วยมั้ง
แต่ถ้าหากเราเห็นผีทั้งตัว เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นรูปธรรม เป็นตัวเป็นตนที่จับต้องได้
เราสามารถตบอีผีนั่นได้ถนัดๆ เพราะเราเห็นมันทั้งตัว แต่พอเราเห็นแค่ตีนของผี
มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราอาจจะต่อสู้กับมันได้ยากกว่าผีที่เรามองเห็นทั้งตัว
555
No comments:
Post a Comment