FROM WHAT IS BEFORE (2014, Lav Diaz, Philippines, 338min, A+30)
สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบได้ในหนัง Lav Diaz เรื่องอื่นๆ
และเป็นสิ่งที่เราอาจจะเคยเขียนถึงมาแล้ว
นั่นก็คือเราชอบจักรวาลและวิธีการมองชีวิตมนุษย์ในหนังของเขาที่ออกมาในทาง pessimistic ในแบบที่ใกล้เคียงกับ Bela Tarr และ Fred
Kelemen น่ะ
มันเหมือนกับว่าจักรวาลในหนังของเขามันอยู่ซ้อนเหลื่อมกับจักรวาลในหนังของ Bela
Tarr เรื่อง DAMNATION (1988), SATANTANGO (1994),
WERCKMEISTER HARMONIES (2000) และ THE TURIN HORSE (2011) หรือหนังของ Fred Kelemen เรื่อง KALYI
(1993), FATE (1994), FROST (1997), NIGHTFALL (1999) และ FALLEN (2005) และในแง่นึง
มันเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามของจักรวาลในหนังระยะหลังของ Terrence Malick เรื่อง THE TREE OF LIFE (2011) และ TO THE
WONDER (2012)
ที่เรารู้สึกว่ามันตรงข้ามกันแต่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน
เพราะเรารู้สึกว่า หนังของ Lav Diaz มันให้ความสำคัญกับ surrounding,
landscape, nature มากๆ และมันมีพลังเชิงกวีบางอย่าง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ THE TREE OF LIFE และ TO THE WONDER ก็มีเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าจักรวาลใน THE TREE OF LIFE กับ TO THE WONDER มันถูกครอบงำด้วยพลังเหนือธรรมชาติที่ดีงามหรือ
benevolent แต่จักรวาลในหนังของ Lav Diaz มันอาจจะไม่มีพลังเหนือธรรมชาติอยู่จริงๆก็ได้
แต่ธรรมชาติในหนังของเขามันก็ทรงพลังอย่างรุนแรงมากๆ
และมันดูเหมือนไม่ปรานีปราศรัยต่อมนุษย์ หรือไม่ก็จักรวาลในหนังของ Lav
Diaz มันอาจจะมี “พลังเหนือธรรมชาติ” อยู่ในนั้นก็ได้
แต่ถ้ามันมีจริง มันก็เป็นพลังเหนือธรรมชาติที่ “เย็นชา” มากๆ
หรือซาดิสท์กับมนุษย์มากๆ เพราะฉะนั้นมันก็เลยตรงข้ามกับหนังระยะหลังของ Terrence
Malick แต่ไปใกล้เคียงกับจักรวาลในหนังของ Bela Tarr และ Fred Kelemen
เราว่าอีกอย่างที่น่าสนใจคือกลวิธีการนำเสนอ “พลังของธรรมชาติ”
ในหนังระยะหลังของ Malick กับ Lav Diaz มันตรงข้ามกันด้วย
เพราะหนังของ Malick ใช้วิธีการตัดต่ออย่างรวดเร็วมากๆ
ส่วนหนังของ Lav Diaz จ้องมองธรรมชาติด้วยสายตาที่เยือกเย็น
กล้องจับจ้องมองธรรมชาติอย่างนิ่งๆเป็นเวลาหลายนาที และแน่นอนว่าเราชอบหนังของ Lav
Diaz มากกว่าเยอะ คือมันเหมือนกับว่าพอกล้องมองธรรมชาติอย่างนิ่งๆ
และนำเสนอมันอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา สมจริงมากๆ
เราก็จะเห็นความจริงที่ว่าธรรมชาติ (หรือพลังเหนือธรรมชาติ) มันเย็นชากับมนุษย์
มันไม่อินังขังขอบกับมนุษย์ ในขณะที่หนังระยะหลังของ Malick พยายามนำเสนอความงดงามของธรรมชาติหรือพลังเหนือธรรมชาติด้วยการตัดต่ออย่างรวดเร็ว
ซึ่งในแง่หนึ่งเราอาจมองว่ามันเป็นการบิดเบือนความเป็นจริง
แต่เราก็ไม่ได้เกลียดหนังระยะหลังของ Malick นะ
เราก็ชอบมันในระดับนึงแหละ เพราะชอบความไม่ประนีประนอมกับคนดูของมัน แต่เราชอบหนังระยะแรกของเขาอย่าง
DAYS OF HEAVEN (1978) และ THE THIN RED LINE (1998) มากกว่า เพราะในหนังสองเรื่องนี้ มันก็มีการพูดถึงธรรมชาติเหมือนกัน
แต่ธรรมชาติใน DAYS OF HEAVEN มันทั้งสวยงามและโหดร้ายกับมนุษย์
ส่วน THE THIN RED LINE นั้น เราเห็นการเข่นฆ่ากันอย่างรุนแรงในเกาะที่มีธรรมชาติอันบริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นมันก็เลยดูเหมือนว่าธรรมชาติใน THE THIN RED LINE มันไร้พลังในการช่วยเหลือมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งในแง่นึงมันเป็นสิ่งที่เข้ากับรสนิยมของเรามากๆ
สรุปว่าจักรวาลที่เย็นชากับชีวิตมนุษย์ในหนังของ Lav Diaz มันเข้ากับรสนิยมของเรามากๆเลยแหละ
และในแง่นึงเราก็รู้สึกว่ามันเข้ากับจักรวาลในนิยายที่เราชอบสุดๆอย่าง LORD
OF THE FLIES (1954, William Golding) และ TESS OF THE D’URBERVILLES
(1891, Thomas Hardy) ด้วย เพราะจักรวาลในหนังสองเรื่องนี้ก็มีท่าทีเย็นชากับชีวิตมนุษย์เช่นกัน
แต่ลักษณะ pessimistic ในหนังของ Lav Diaz จะต่างจากความ
feel bad ในหนังของ Michael Haneke, ผู้กำกับหนังออสเตรียคนอื่นๆ
หรือผู้กำกับอย่าง Gaspar Noe อะไรพวกนี้นะ เพราะหนังของ Lav
Diaz มันให้ความสำคัญกับธรรมชาติน่ะ ในขณะที่ผู้กำกับหนังออสเตรียมักจะเล่าเรื่องของเมืองใหญ่ที่
civilized แล้ว และความเย็นชาทางจิตใจของคนในเมืองใหญ่
เพราะฉะนั้นมันก็เลยดูเหมือนกับว่าหนัง feel bad ของออสเตรียมันจะเน้นไปที่
“สังคม” เป็นส่วนใหญ่น่ะ แต่ไม่ได้ให้ความรู้สึกครอบคลุมไปถึง “จักรวาล” หรือ “พลังบางอย่างที่ควบคุมจักรวาล”
อยู่ เหมือนกับหนังของ Lav Diaz, Bela Tarr และ Fred
Kelemen
ความแตกต่างระหว่าง Lav Diaz กับ Michael
Haneke ทำให้เรานึกถึงความแตกต่างระหว่าง Fred Kelemen กับ Rainer Werner Fassbinder นะ
คือผู้กำกับทั้งสี่คนนี้ทำหนัง feel bad ได้สุดยอดมากๆทั้ง 4
คนแหละ แต่หนังของ Michael Haneke กับ Rainer Werner
Fassbinder มักจะทำให้เรานึกถึงความเลวร้ายของสังคมและการปฏิบัติต่อกันของผู้คนต่างๆในสังคม
ในขณะที่หนังของ Lav Diaz กับ Fred Kelemen มันไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “มนุษย์” เพียงอย่างเดียว
แต่มันให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์ในระดับที่มากกว่าหรือเท่ากับมนุษย์ด้วย
เพราะฉะนั้นพลังความ feel bad ในหนังของสองคนนี้จึงมาจาก “สังคมมนุษย์”
ด้วยส่วนหนึ่ง และมาจาก “จักรวาลที่รายล้อมมนุษย์” ด้วยอีกส่วนหนึ่ง
แต่ก็มีผู้กำกับบางคนนะ ที่ทำหนังเกี่ยวกับ “เมืองใหญ่” และเน้น “สังคมมนุษย์"
แต่ก็ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเลวร้ายทั้งในระดับ “สังคมมนุษย์” และ “จักรวาล”
ด้วยในเวลาเดียวกัน และผู้กำกับคนนั้นก็คือ Robert Bresson
(วันหลังอาจจะมาเขียนต่อ)
No comments:
Post a Comment