Tuesday, December 29, 2015

BAJIRAO MASTANI (2015, Sanjay Leela Bhansali, India, A+25)

BAJIRAO MASTANI (2015, Sanjay Leela Bhansali, India, A+25)

--ถ้าหากผัวเรามีความสุขเพราะเมียน้อย แล้วเราควรจะทำอย่างไรถ้าหากเรารักผัวเราจริงๆ เราควรจะพิสูจน์ความรักด้วยการแย่งผัวเรากลับมา หรือเราควรจะทำให้เมียน้อยมีความสุข เพราะถ้าเมียน้อยมีความสุข ผัวเราก็มีความสุข และถ้าเรารักผัวเราจริง เราก็ควรจะมีความสุข “เมื่อได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข ถึงแม้จะเป็นความสุขกับคนอื่น”

จริงๆแล้วประเด็นข้างต้นไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ เพราะประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่อง “ความรักระหว่างคนต่างศาสนา” และ “การต่อต้านฮินดูหัวรุนแรง” หรืออะไรทำนองนี้มากกว่า แต่ประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นที่เราอินด้วยมากที่สุดน่ะ เพราะหนังที่เชิดชู “ความรักระหว่างคนต่างศาสนา” นี่มันเป็นอะไรที่เราเคยดูมาเยอะแล้วน่ะ แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ controversial ในใจเราเองอยู่แล้ว ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ controversial ในสังคมอินเดียก็ตาม

แต่เราว่าประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจดี ถ้าหากเรารักใครจริง เราควรจะทำให้เขารักเราคนเดียวเท่านั้น หรือเราควรจะทำให้เขามีความสุข ด้วยการทำให้คนที่เขารักมีความสุข ถึงแม้คนที่เขารักเป็นเมียน้อยของผัวเราก็ตาม

--หนังอินเดียเมนสตรีมเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ 4 ที่เราได้ดูในระยะนี้ที่เราอินกับ “ตัวประกอบหญิง” หรือ “นางรอง” แทนที่จะเป็นนางเอก ส่วนอีก 3 เรื่องคือ SHAANDAAR (2015, Vikas Bahl), PREM RATAN DHAN PAYO (2015, Sooraj R. Barjatya) และ BAHUBALI: THE BEGINNING (S. S.  Rajamouli)
เราว่าสาเหตุนึงมันเป็นเพราะว่า นางเอกหนังเมนสตรีมอินเดียหลายๆเรื่องมันอยู่ในกรอบ “สาวสวยนิสัยดี” น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเหมือนขาดมิติหรือเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่น่าสนใจไป ความน่าสนใจเลยไปตกอยู่กับตัวประกอบหญิงตัวอื่นๆแทน ทั้ง “สาวอ้วนที่ถูกคู่หมั้นหนุ่มหล่อดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง” ใน SHAANDAAR, “ลูกเมียน้อยที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้น” ใน PREM RATAN DHAN PAYO, “เจ้าแม่ผู้เชี่ยวชาญการปกครองแว่นแคว้น และชักกริชได้อย่างฉับไว” ใน BAHUBALI และ “เมียหลวง” ใน BAJIRAO MASTANI

--คือเราว่าตัวนางเอกใน BAJIRAO MASTANI มันก็ดีนะ เธอเป็นสาวผู้เก่งกล้าสามารถ และบูชาความรักอย่างรุนแรงมาก แต่พอเธอเหมือนถูกขับเคลื่อนด้วยพลังรักไปเรื่อยๆเพียงปัจจัยเดียว เราก็เลยรู้สึกว่ามิติความน่าสนใจของเธอมันกลับลดลงเรื่อยๆน่ะ เหมือนเธอถูกแทนค่าด้วย “พลังอันยิ่งใหญ่แห่งความรัก” เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ตัวละครเมียหลวงนั้น พอเธอเผชิญกับทางเลือกที่ว่า “เราควรจะทำอย่างไรกันแน่ ถ้าหากเรารักผัวเราจริงๆ” เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละครเมียหลวง มันเผชิญกับ dilemma ที่น่าสนใจกว่าตัวนางเอกของเรื่องเสียอีก

--จริงๆแล้วก็ชอบในระดับ A+30 มาเกือบตลอดทั้งเรื่องนะ แต่เหมือนพอดูจบแล้ว เรารู้สึกว่าหนังมันไม่ทำให้เราซาบซึ้งกับความรักของพระเอกนางเอกแบบจี๊ดใจจริงๆน่ะ ในขณะที่หนังอย่าง BAHUBALI ทำให้เรารู้สึกได้ถึงพลังความแค้นของตัวละครต่างๆได้อย่างมากๆ

คือเราว่าการทำหนังเกี่ยวกับ “ความรัก” บางทีมันยากกว่าการทำหนังเกี่ยวกับ “ความแค้น” นะ เพราะการทำหนังเกี่ยวกับความรัก มันต้องมีวิธีการบางอย่างในการสร้าง moment ที่ละเอียดอ่อนซึ้งใจระหว่างคู่รักให้ได้น่ะ ในขณะที่หนังเกี่ยวกับความแค้นอย่าง BAHUBALI มันใช้การสร้างสถานการณ์ตึงเครียด กดดัน สนุกตื่นเต้นไปเรื่อยๆได้ โหมประโคมอารมณ์ตื่นเต้นไปเรื่อยๆได้ มันไม่ต้องอาศัยการสร้างจังหวะอารมณ์ละเอียดอ่อนซึ้งใจแบบหนังรัก

เราก็เลยพบว่า เราอาจจะชอบ BAHUBALI มากกว่า ทั้งๆที่หนังมันดูเป็นหนังแอคชัน บู๊ ผู้ชาย ที่ไม่ค่อยเข้าทางเรา ในขณะที่ BAJIRAO MASTANI ดูเผินๆน่าจะเป็นหนังที่เข้าทางเรา เพราะมันขับเคลื่อนด้วยตัวละครผู้หญิงแข็งแกร่ง และเน้นพลังรักของตัวละครหญิง แต่ไปๆมาๆ เรากลับพบว่ามันเป็นหนังที่สวยมากๆ แต่ไม่ใช่หนังที่ซึ้งมากๆ

--แต่ยังไงเราก็ต้องยกให้ BAJIRAO MASTANI เป็นหนึ่งในหนังที่อลังโคมที่สุดในปี 2015 นะ เพราะ costume design กับ set decoration ในหนังเรื่องนี้นี่ มันคือที่สุดของที่สุดจริงๆ มันสวยระยับพิลาศพิไลบรรลัยกัลป์มากๆ แต่ก็นั่นแหละ มัน “สวยแต่รูป” แต่อารมณ์ซึ้งมันยังทำได้ไม่สุดตีนเท่าระดับความสวยของมัน


--ดูแล้วก็นึกถึง MUGHAL-E-AZAM (1960, K. Asif, 197min), AMRAPALI (1966, Lekh Tandon, 119min) และ JODHAA AKBAR (2008, Ashutosh Gowariker, 213min) นะ ในแง่ความเป็นหนังอีพิคย้อนยุคที่อลังโคมมากๆเหมือนกัน

No comments: