SNAP (2015, Kongdej Jaturanrasmee, A+30)
1.ติดอันดับหนึ่งหนังที่ชอบที่สุดของคงเดชไปเลย
ส่วนอันดับสองคือ “เอวัง” (SO BE
IT, 2014) และอันดับสามคือ “แต่เพียงผู้เดียว” (P-047, 2011)
2.จริงๆแล้วคงเดชเป็นผู้กำกับหนังไทยที่เรา “นับถือ” มากกว่า “ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว”
นะ เหมือนกับผู้กำกับอย่าง “ดอกดิน กัญญามาลย์” และรัตน์ เปสตันยี น่ะ
คือเรารู้สึกว่าหนังของสามคนนี้ดีมากๆ แต่เราจะไม่อินกับมันเป็นการส่วนตัว
ไม่เหมือนหนังของ “เพิ่มพล เชยอรุณ” ที่เรารู้สึกว่า wavelength มันตรงกับของเราอย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล
เพราะฉะนั้นหนังของคงเดชหลายๆเรื่องที่คนอื่นๆชื่นชอบกัน
มันจะเป็นหนังที่เรามองว่า “ดีมาก” แต่ไม่ใช่หนังที่ “โดนใจเราจริงๆ”
จนกระทั่งมาถึงหนังเรื่อง “เอวัง” ที่หลายคนไม่ชอบกัน แต่เรากลับพบว่าหนังอย่าง “เอวัง”
นี่แหละ ที่มันเข้าทางเราจริงๆ
3.ส่วน SNAP นั้น เราพบว่ามันสามารถก้าวพ้นจากการเป็นแค่หนัง “ดีมาก”
ในสายตาของเรา มาเป็นหนังที่จี๊ดใจเราจริงๆได้น่ะ เพราะเราชอบ “ความรู้สึกเจ็บปวด”
ในใจตัวละครมากๆ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครพระเอกนางเอกในหนังเรื่องนี้
มันมีความเจ็บปวดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ หรือมีความรู้สึกรุนแรงอะไรบางอย่างอยู่ในใจตลอดทั้งเรื่อง
แต่มันไม่แสดงออกมาตรงๆ แต่หนังกลับมีวิธีการบางอย่างที่สามารถทำให้เราจินตนาการได้ถึงความเจ็บปวดนั้น
และอินไปกับความรู้สึกเจ็บปวดนั้นอย่างมากๆ
4.ซึ่งจริงๆแล้วคงเป็นเพราะว่าเรามีปมกับโรงเรียนมัธยมด้วยแหละมั้ง
คือตอนนี้ปี 2015 แล้ว แต่เรายังรู้สึกอยู่เลยว่า
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา คือปี 1989 ตอนที่เราเรียนอยู่ม.5
และได้คุยกับเพื่อนๆมัธยมทุกๆวัน คือจนบัดนี้เวลามันผ่านมานาน 26 ปีแล้ว เรายังรู้สึกอยู่เลยว่า
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา คือปี 1989 ตอนที่เราอยู่ม.5
เพราะฉะนั้นหนังที่ nostalgia ถึงเพื่อนๆมัธยม
ถ้าหากทำดีๆ มันจะโดนเรามากๆ ซึ่งรวมถึงหนังไทยอีกสองเรื่องที่ติดอันดับประจำปีของเราในปีนี้ด้วย
ซึ่งก็คือเรื่อง MY DIARY:3811316 (Pailin Chainakul) และ OUR
LAST DAY (Rujipas Boonprakong)
5.ฉากที่ชอบมากๆคือฉากที่นางเอกร้องไห้ในงานแต่งงานนั่นแหละ
เราดูแล้วนึกถึงฉากงานแต่งงานในหนังเรื่อง BIRTH (2004, Jonathan Glazer,
A+30) เลย เราว่าฉากงานแต่งงานใน SNAP กับ
BIRTH นี่คลาสสิคพอๆกัน
6.สำหรับประเด็นการเมืองและ “ความทรงจำ” นั้น
คิดว่าหลายคนคงเขียนถึงประเด็นนี้ไปแล้ว
และจริงๆแล้วไปๆมาๆมันกลับไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้ 555
คือมันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้น่ะแหละ
แต่สาเหตุหลักคือการที่เรารู้สึกอินกับความรู้สึกเจ็บปวดในใจตัวละครมากกว่า
สิ่งที่เราว่าน่าสนใจดีในหนังเรื่องนี้
ก็คือว่าตัวละครในเรื่องมันค่อนข้าง passive กับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง
8 ปีที่ผ่านมาน่ะ ซึ่งมันจะคล้ายกับหนังสั้นไทยกลุ่มนึง ที่มักจะนำเสนอประเด็นทางการเมืองอย่างอ้อมๆ
ผ่านทาง “ข่าวโทรทัศน์” และ “ข่าววิทยุ” ที่ส่งเสียงลอยเข้ามาในฉาก
แต่ตัวละครไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับข่าวโทรทัศน์และข่าววิทยุเหล่านั้น
(หนังเรื่อง SWAY ก็อาจจะเข้าข่ายนี้ด้วย)
ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องความปลอดภัยของตัวผู้กำกับหนังสั้นเหล่านี้ด้วย
ประเด็นทางการเมืองมันเลยถูกนำเสนออย่างอ้อมๆแบบนี้
และต่างจากหนังสั้นไทยอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างเช่น “ความลักลั่นในงานรื่นเริง” (2007, Prap
Boonpan) ที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมา
คือเราว่าสิ่งนี้มันน่าสนใจดี พอนำไปเทียบกับหนังต่างประเทศที่พูดถึง “ความรักของหนุ่มสาวท่ามกลางความแปรผันทางการเมือง”
เหมือนกัน อย่างเช่น THE WAY WE WERE (1973, Sydney Pollack), THE OLD GARDEN (2006, Im
Sang-soo), SUMMER PALACE (2006, Lou Ye) และ GIRLFRIEND
BOYFRIEND (2012, Yang Ya-che) เพราะตัวละครหนุ่มสาวในหนัง 4
เรื่องนี้ มันไม่ได้ทำตัว passive กับความพลิกผันทางการเมืองน่ะ
แต่มันค่อนข้าง active มากๆ เราก็เลยรู้สึกว่า SNAP มันสะท้อนอะไรบางอย่างที่น่าสนใจดีในภาวะสังคมการเมืองของไทย
7.มีจุดเล็กๆน้อยๆที่เราชอบเยอะมากๆในหนังเรื่องนี้ อย่างเช่น
ฉากที่นางเอกพบว่าภารโรงเอาตุ๊กตาของนางเอกไปวางรวมกับพระพุทธรูป อะไรทำนองนี้
เพราะว่าตุ๊กตาของนางเอกไม่มีประโยชน์ในแง่การใช้งานได้จริงในสายตาของผู้รับ
(ภารโรงบอกว่า หนูโตแล้วค่ะ) แต่มีเพียงแค่คุณค่าทางจิตใจเท่านั้น
เราไม่รู้ว่าฉากนี้ตั้งใจจะสื่อถึงอะไร แต่เราว่ามันสะท้อนอะไรที่น่าสนใจดี
และมันทำให้เรานึกถึงคนบางกลุ่มที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดี บริจาคของให้คนจนอะไรทำนองนี้
แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่ามันตรงกับสิ่งที่ผู้รับต้องการจริงๆหรือเปล่า
8.เราชอบมากๆด้วยที่ตัวละครสามีนางเอกไม่ได้ถูกทำออกมาเป็น “ผู้ร้ายหนังไทย”
น่ะ คือไม่ได้ทำออกมาเป็นคนนิสัยไม่ดี ขี้หึง ทำหน้าตาถมึงทึง
คอยหาเรื่องพระเอกอะไรทำนองนี้ แต่ทำออกมาเป็นคนสุภาพ รักษามาดตลอดเวลา
คือเราว่าตัวละครแบบนี้นี่แหละ ที่มันร้ายจริงๆ และมันน่ากลัวจริงๆ
ไม่ใช่ร้ายแบบโง่ๆ
เราชอบฉากที่เขาโต้เถียงกับนางเอกเรื่องรูปมากๆเลยด้วย
คือนางเอกเหมือนจะเลือกรูปที่ให้ความสำคัญระหว่าง “ความรักที่เราสองคนมีต่อกัน”
ซึ่งก็คือรูปที่เธอกับเขามองหน้ากัน
แต่เขากลับเลือกรูปที่ทั้งสองคนหันหน้ามองกล้อง แทนที่จะหันหน้ามองกันและกัน
มันเหมือนกับว่าเขาเลือก “ภาพลักษณ์” มากกว่า
9.ชอบการปรากฏตัวของแฟนพระเอก (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) ที่ทำกิจกรรมรีดผ้ามากๆเลยด้วย
คือเราว่าการนำเสนอตัวละครตัวนี้ขณะรีดผ้าอยู่ มันทำให้เธอดู “ติดดิน”
และทำให้เราจินตนาการได้ว่า เธอคงไม่ได้ดูเป็นลูกคุณหนูแบบนางเอกแน่ๆ และมันตอกย้ำเรื่องชนชั้นได้ในทางอ้อม
โดยไม่ต้องนำเสนอตรงๆ
10.ชอบฉากที่ถ่ายโรงเรียนโล่งๆ แล้วมีเสียงตัวละครพูดโดยไม่เห็นตัวละครด้วย
ฉากนั้นนึกว่ามาจากหนังของ Marguerite Duras
11.แต่ถ้าหากเทียบกับหนังไทยเรื่องอื่นๆที่ยาวกว่า 30
นาทีที่เราได้ดูในปีนี้ เราอาจจะชอบเรื่องนี้เป็นอันดับ 3 นะ เพราะอันดับหนึ่งคือ THE BLUE HOUR (Anucha
Boonyawatana) และอันดับสองคือ SEE YOU TOMORROW (Nattawoot
Nimitchaikosol) สาเหตุที่เราชอบสองเรื่องนี้มากกว่า มันเป็นเพราะชีวิตส่วนตัวของเราเองด้วยแหละ
คือเรายังไม่เคยมีผัวน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่อินกับ SNAP อย่างสุดๆในแง่ของความเจ็บปวดเมื่อนึกถึงแฟนเก่าอะไรทำนองนี้
คือเราอินกับมันในแง่ความ nostalgia ถึงชีวิตมัธยมก็จริง
แต่เราก็จะรู้สึกห่างจากมันในระดับนึงในแง่การสะท้อนความเจ็บปวดเมื่อได้พบกับแฟนเก่า
อะไรทำนองนี้
ส่วน THE BLUE HOUR นั้น เราอินกับโลกอนาถาอาถรรพณ์ในหนังอย่างรุนแรงมากๆโดยไม่มีสาเหตุ
ในขณะที่ SEE YOU TOMORROW (พบกันใหม่โอกาสหน้า) นั้น
เราว่ามันสะท้อนความรู้สึกของเราที่มีต่อการเมืองไทยได้ตรงกว่า SNAP น่ะ เพราะถึงแม้ SEE YOU TOMORROW จะนำเสนอตัวละครที่ค่อนข้าง
passive ต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนกัน
แต่ตัวละครใน SEE YOU TOMORROW ก็ได้รับผลกระทบในทางลบอย่างเห็นได้ชัดมากกว่า
และรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับมันมากกว่าตัวละครใน SNAP
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราอินกับ SEE YOU TOMORROW มากกว่า
SNAP เป็นเพราะว่ามันนำเสนอชีวิตตัวละครได้เข้าทางเรามากกว่าด้วยแหละ
คือ SEE YOU TOMORROW มันสะท้อน “การเมืองไทย” และ “ชีวิตการทำงานของตัวละคร”
ในขณะที่ SNAP มันสะท้อน “การเมืองไทย” และ “ความรักของตัวละคร”
แต่เราเป็นคนที่หาผัวไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราก็เลยย่อมอินกับหนังที่ให้ความสำคัญกับชีวิตการทำงานอย่าง SEE
YOU TOMORROW มากกว่าหนังที่ให้ความสำคัญกับความรักอย่าง SNAP
อยู่แล้ว
No comments:
Post a Comment