UNDER THE LANTERN (1928, Gerhard Lamprecht, Germany, A+30)
--เป็นหนังเรื่องที่ 4 ของ Gerhard Lamprecht ที่เราได้ดู และเราก็พบว่าเขาเป็น humanist มากๆจริงๆ
ตัวละครในหนังทั้ง 4 เรื่องของเขาที่เราได้ดู ต่างก็เป็นคนทุกข์คนยากที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคชีวิต
โดยเฉพาะความจน และหนังก็ทอดสายตามองคนจนเหล่านี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างเต็มที่
โดยในเรื่องนี้หนังเล่าเรื่องของหญิงสาวที่ถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน
เธอก็เลยไปอยู่กับแฟนหนุ่ม และช่วยแฟนหนุ่มทำงานแสดงในบาร์ แต่ต่อมาผู้จัดการโรงละครในบาร์พยายามจะหลอกฟันเธอ
และแฟนหนุ่มก็เข้าใจผิดว่าเธอเต็มใจจะมีเซ็กส์กับผู้จัดการโรงละครด้วย
เธอก็เลยถูกแฟนทิ้ง และไม่เหลือใครเลย เธอไม่สามารถกลับไปหาพ่อใจร้ายได้
และไม่สามารถกลับไปหาแฟนได้ เธอตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดให้รถรางทับ
แต่โสเภณีนางหนึ่งช่วยเธอไว้ และพาเธอกลับไปนอนพักที่ห้อง อย่างไรก็ดี
ผัวของโสเภณีนางนั้นพยายามจะปลุกปล้ำเธอ โสเภณีนางนั้นก็เลยไล่เธอออกไป เธอระเหเร่ร่อนจนมาเจอหญิงตาบอดคนนึงกับเด็กหญิงตัวน้อยๆร้องเพลงขอทานอยู่ข้างถนน
หญิงตาบอดคนนั้นเป่าขลุ่ย ส่วนเด็กหญิงคนนั้นร้องเพลงว่า Avoid Sorrow and
Avoid Pain. And Life Will Be Fun (ซึ่งเป็นเพลงที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้เป็นระยะๆ
ตั้งแต่ต้นเรื่อง) พอนางเอกได้ยินเพลงนี้ เธอก็หัวเราะเยาะหยันให้กับชีวิตตัวเอง
และตัดสินใจเป็นกะหรี่
ที่เล่ามานี่แค่ครึ่งเรื่องแรกนะคะ จริงๆแล้วหนังมีรายละเอียดอีกเยอะ
และครึ่งเรื่องหลังนางเอกก็เจอเคราะห์กรรมกระหน่ำอย่างรุนแรงไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงครึ่งแรกเลยค่ะ
คือตอนก่อนเราดูหนังเรื่องนี้ เราจินตนาการเล่นๆว่า
มันน่าจะฉายควบกับแหวนทองเหลือง (1973, Prince Anusorn Mongkolkarn, A+30) แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้เข้าจริงๆ เราก็พบว่ามันเหมาะกับ “แหวนทองเหลือง”
จริงๆ แต่ชีวิตนางเอกของ UNDER THE LANTERN นี่เหมือนกับ “แหวนทองเหลือง”
แค่ครึ่งเรื่องแรกเท่านั้น เพราะในขณะที่นางเอกของ “แหวนทองเหลือง” เจออะไรดีๆในช่วงกลางเรื่อง
นางเอกของ UNDER THE LANTERN กลับไม่เจออะไรดีๆแบบนั้นเลย
ชีวิตเธอมีแต่ความชิบหายของจริง
--แต่ถึงแม้เราจะชอบความ humanist ของ Gerhard
Lamprecht แต่เราก็ไม่แน่ใจนะว่าความ humanist ของเขามันมากเกินไปจนมันไปลดทอนพลังของหนังหรือเปล่า คือเราว่าหนัง 4
เรื่องของเขาที่เราได้ดู (รวมถึง SLUMS OF BERLIN, FOLKS UPSTAIRS และ CHILDREN OF NO IMPORTANCE) มันขาด “ความสะเทือนใจอย่างรุนแรง”
บางอย่างน่ะ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเขานำเสนอตัวละครเอกที่เป็น
“คนดี” มากเกินไปหรือเปล่า หรือบางทีการที่หนังของเขาไม่ตราตรึงใจเราอย่างรุนแรง
อาจจะเป็นเพียงเพราะว่าเขาขาดพรสวรรค์ด้านการกำกับภาพ หรือด้านการคิดบทคิดซีนที่มันตราตรึงใจอย่างรุนแรงก็ได้
คือเขาคิดเนื้อเรื่องมาดีแล้วแหละ
เนื้อเรื่องในหนังของเขามันเป็นเรื่องของตัวละครที่เจอชีวิตบัดซบอย่างรุนแรงไม่หยุดหย่อน
แต่เหมือนเขายังไม่สามารถดึงพลังจากเนื้อเรื่องหรือโครงเรื่องที่ดีมากออกมาได้อย่างเต็มที่น่ะ
ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะปัจจัยหลายๆประการ
ซึ่งรวมถึงการที่ตัวละครเอกเป็นคนดีมากเกินไป, หนังขาดซีนที่ให้ความรู้สึกรุนแรงจริงๆ
และหนังขาดการถ่ายภาพที่ทรงพลังจริงๆ
คือเราชอบ UNDER THE LANTERN มากนะ
และหนังก็มีฉากที่สะเทือนใจเรามากๆ (อย่างเช่นฉากที่นางเอกเจอหญิงขอทาน
แล้วเลยตัดสินใจเป็นกะหรี่) และมีฉากที่แสดงให้เห็นถึงไอเดียที่ดีมากๆ
(อย่างเช่นช่วงนึงของหนังที่เป็นการถ่ายแต่ “วัตถุ” เป็นเวลา 5-10 นาที
โดยที่เราแทบไม่เห็นตัวละครเลย) แต่เราก็พบว่า มันไม่ “ทรงพลัง”
เท่ากับหนังชีวิตสาวรันทดยุคเก่าอย่าง THE JOYLESS STREET (1925, G. W.
Pabst, A+30), DIARY OF A LOST GIRL (1929, G. W. Pabst, A+30) และ NIGHTS
OF CABIRIA (1957, Federico Fellini) น่ะ คืออย่างใน NIGHTS
OF CABIRIA มันมีบางฉากที่เรารู้สึกว่ามัน magic มากๆ (อย่างเช่นฉากกะหรี่เข้าโบสถ์)
และนั่นคงต้องยกความดีความชอบให้กับพรสวรรค์ของ Fellini เพราะเขาสามารถสร้างฉากแบบนี้ได้ในหนังทุกเรื่องของเขา
ส่วนใน DIARY OF A LOST GIRL กับ THE JOYLESS STREET นั้น เรารู้สึกว่า Pabst สร้างตัวละครหญิงที่ “น่าสนใจ”
สุดๆและทำให้เรามีอารมณ์ร่วมกับตัวละครเหล่านี้ได้มากกว่าตัวละครหญิงในหนังของ Lamprecth
น่ะ คือเรารู้สึกว่าตัวละครหญิงและตัวละครหลักในหนังของ Lamprecht
มันดูขาด “ความพิเศษ” บางอย่างยังไงไม่รู้ มันดูเป็นคนดี+คนธรรมดาที่ปล่อยให้อุปสรรคในชีวิตเข้ามากระแทกไปเรื่อยๆ
และก็พยายามสู้ทนกับมันต่อไป ทำดีต่อไป แต่มันขาด “ความพิเศษ” ทางสภาพจิตใจบางอย่างที่จะทำให้คนเหล่านี้ไม่ใช่คนธรรมดาหรือตัวละครธรรมดาน่ะ
ซึ่งตัวละครหญิงในหนังของ Pabst จะไม่ใช่อย่างนั้น
โดยเฉพาะใน THE THREEPENNY OPERA (1931, G. W. Pabst, A+30) ที่เต็มไปด้วยตัวละครหญิงที่มีอิทธิฤทธิ์สูง
ส่วนใน THE JOYLESS STREET นั้น หนังมีตัวละครหญิงเด่นๆที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น
“ตัวละครหญิงฝ่ายดี” ถึง 4 คน แต่ Pabst ก็สามารถทำให้ตัวละครหญิงฝ่ายดี
4 คนนี้ มีคุณลักษณะพิเศษที่น่าจดจำมากๆทั้ง 4 คนเลย โดยตัวละครที่แสดงโดย Greta
Garbo อาจจะถือเป็นตัวละครหญิงที่ “ดีงามตามขนบ” มากที่สุด
แต่เธอก็โดดเด่นด้วยความสวยของเธอ แต่ตัวละครหญิงอีก 3 คนที่เหลือนั้น มีทั้งตัวละครที่
“ฆ่าคนเพราะความรัก” ในขณะที่อีกคนนึงก็ “ฆ่าคนเพราะความหิว” และอีกคนนึงก็ “สนับสนุนให้ผู้ชายหนุ่มหล่อไปขายตัว”
คืออะไรแบบนี้นี่แหละ ที่มันทำให้ตัวละครหญิงในหนังของ Pabst มันมีเสน่ห์สุดๆสำหรับเรา แต่หนังของ Lamprecht ขาดจุดนี้ไป
สรุปว่า เราชอบ Gerhard Lamprecht มากๆในระดับนึง
เราว่าเขาเป็นผู้กำกับที่ humanist ดี
และมีฝีมือการกำกับมากในระดับนึง
แต่เขาขาดพรสวรรค์บางอย่างที่จะทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับขั้นเทพที่สามารถสร้างผลงานที่มันอมตะนิรันดร์กาลจริงๆได้
No comments:
Post a Comment