Thursday, July 30, 2015

TOO LATE (Sudarat Wongkiatkajorn, A+30)

1.“เมื่อวันนั้นมาถึง...” (วรกันต์ ประถมปัทมะ, A)
เรื่องนี้เราดูแล้วชอบมากกว่า IT’S HUMAN (2014, B- ) ของผู้กำกับคนเดียวกันนี้มากๆ จริงๆแล้วเราชอบหลายอย่างใน “เมื่อวันนั้นมาถึง” นะ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของเรื่องที่ให้ตัวละครกลุ่มนึงนั่งพูดคุยกัน แล้วเราก็ชอบการที่กล้องไล่ไปตามใบหน้าตัวละครแต่ละตัวด้วย และก็ชอบที่หนังพยายามจะพูดถึงความหวั่นไหวของนิสิตกลุ่มนึงก่อนที่จะจบการศึกษาไป โดยเฉพาะนิสิตที่รู้ว่าตัวเองจบไปแล้วจะต้องหางานทำ และมีโลกแห่งความเป็นจริงที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้า เราว่าประเด็นตรงนี้มันน่าสนใจมากๆ แต่เราว่าหนังมีปัญหาใหญ่อยู่สองจุด จุดแรกก็คือ การแสดงที่ไม่ค่อยสมจริง โดยเฉพาะตัวละครบางตัวที่พูดบทสนทนาแล้วดูแข็งๆ ส่วนจุดที่สองก็คือ การที่ตัวละครพูดแบบยิงเข้าประเด็นโต้งๆมากเกินไป คือเราว่าจุดอ่อนสองอย่างนี้มันจะเป็นจุดแข็งถ้าไปอยู่ในหนังแบบ essay films น่ะ คือในหนัง essay films ตัวละครไม่ต้องแสดงแบบสมจริง และตัวละครก็พูดประเด็นอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะหนัง essay films มันเน้น “ประเด็น” เป็นหลัก แต่ในหนังเรื่องนี้ เราว่าหนังมันน่าจะเน้นการสร้างความรู้สึกอ่อนไหวในใจผู้ชม หรือการทำให้ผู้ชม sympathize ไปกับความรู้สึกหวั่นไหวในใจของตัวละครที่มีต่ออนาคตข้างหน้ามากกว่า ซึ่งพอมันเป็นหนังที่เน้นการสร้างอารมณ์ร่วมกับตัวละคร, การสร้างความรู้สึกอ่อนไหวในใจผู้ชม หรือการพยายามนำเสนอความรู้สึกบางอย่างในใจตัวละครออกมาแล้ว หนังมันก็เลยต้องการการแสดงที่สมจริงกว่านี้, การพูดบทสนทนาที่สมจริงกว่านี้ และการหาวิธีการอะไรสักอย่างที่จะนำเสนอประเด็นในหนังออกมาได้แนบเนียนกว่านี้ หรือนำเสนอความรู้สึกในใจตัวละครออกมาได้แนบเนียนกว่านี้น่ะ บางทีหนังเรื่องนี้มันอาจจะเข้าทางเรามากกว่านี้ ถ้าหากตัวละครมันคุยกันเรื่องสัพเพเหระประมาณ 5 นาที คุยกันแบบที่คุยกันในชีวิตจริง หรือนักแสดงด้นสดคุยกันจริงๆก็ได้ประมาณ 5 นาที ก่อนที่หนังจะค่อยๆหยอดประเด็นหลักเข้าไปในบทสนทนาของตัวละครอย่างแนบเนียน

คือเราดูแล้วชอบไอเดียบางอย่างในหนังเรื่องนี้มากๆน่ะ เราชอบการที่ตัวละครนั่งคุยกัน และรู้สึกหวั่นไหวกับชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า เราว่าเราไม่ค่อยเห็นหนังแบบนี้สักเท่าไหร่ หนังแบบนี้ที่เราชอบมากก็มีเรื่อง “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” (2006, Tossapol Boonsinsukh) แต่หนังของทศพลเรื่องนี้ก็แตกต่างจากหนังเรื่อง “เมื่อวันนั้นมาถึง” มากๆเหมือนกัน เพราะในหนังของทศพลเรื่องนี้ มันมีตัวละครแค่สองคน แล้วมันก็แค่หวั่นไหวกับการเรียนจบแล้วจะไม่ได้เจอกัน แต่ไม่ได้หวั่นไหวกับ “ชีวิตการทำงาน” เหมือนกับในหนังเรื่อง “เมื่อวันนั้นมาถึง”

สรุปว่าเราชอบไอเดียบางอย่างใน “เมื่อวันนั้นมาถึง” มากๆ แต่ถ้าหากมันได้
”การแสดง” และ “วิธีการถ่ายทอดความรู้สึกในใจตัวละคร” แบบคล้ายๆหนังของทศพลแล้วล่ะก็ มันก็จะกลายเป็นหนังที่เข้าทางเราสุดๆเลย

ดูหนังเรื่อง “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” ได้ที่นี่จ้ะ

2.TOO LATE (สุดารัตน์ วงศ์ขจรเกียรติ, A+30)

ดูแล้วอินมากๆ เราว่าหนังถ่ายทอดความรู้สึกเสียใจของนางเอกออกมาได้ซื่อๆ แต่จริงใจมากๆ และทรงพลังมากๆด้วย ดูแล้วนึกถึงพวกหนังกลุ่ม Post New Wave ของฝรั่งเศสในทศวรรษ 1970 ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกร้าวรานใจในใจตัวละครออกมาได้อย่างรุนแรง

3.รอยยิ้ม พิมพ์ใจ (สิริภัช นมรักษ์, A+30)
ชอบสไตล์ของหนังเรื่องนี้มากๆ คือเราชอบทั้ง TOO LATE กับ “รอยยิ้ม พิมพ์ใจ” พอๆกัน ในขณะที่หนังสองเรื่องนี้จะมีจุดดีที่ไม่เหมือนกัน คือในขณะที่ TOO LATE ทำให้เรานึกถึงหนังฝรั่งเศสทศวรรษ 1970 บางเรื่อง โดยเฉพาะหนังของ Claude Sautet ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกช้ำรักของตัวละคร หรือหนังที่เน้นความเป็นมนุษย์ของตัวละคร “รอยยิ้ม พิมพ์ใจ” กลับทำให้เรานึกถึงหนังญี่ปุ่นเก๋ๆ หรือหนังฝรั่งเศสบางเรื่องในทศวรรษ 1980 ประเภท THE MOON IN THE GUTTER (1983, Jean-Jacques Beineix) ที่เน้นการถ่ายภาพแบบประดิดประดอย สวยงาม และน่าพิศวง และการตัดต่อที่ทรงพลังและสร้างความพิศวงมากยิ่งขึ้นไปอีก คือพลังของหนังกลุ่มนี้จะอยู่ที่การถ่ายภาพ, การตัดต่อ, form หรือ style แต่ไม่ได้ลงลึกไปที่ความรู้สึกเจ็บจริง ร้าวรานจริง แหลกสลายจริงในใจตัวละครแบบในเรื่อง TOO LATE หรือหนังของ Claude Sautet น่ะ


สรุปว่าชอบทั้ง TOO LATE และ “รอยยิ้ม พิมพ์ใจ” มากๆ แต่ชอบในแบบที่แตกต่างกัน

No comments: