Sunday, July 26, 2015

TEMPERATURE OF ROOMTONE (Pamornporn Tundeaw, A+30)

THIS IS MY MOTHER (2015, Aticha Kanjanawat, A+30) เราไม่ค่อยชอบช่วงท้ายของเรื่องนะ คือเราว่าตัวละครนางเอกไม่ควรจะเจออะไรแบบนั้นในช่วงท้ายของเรื่องน่ะ แต่เราว่าส่วนอื่นๆของเรื่องดีมาก โดยเฉพาะการตัดสินใจของนางเอกที่ทิ้งแม่กับลูกของตัวเองเพื่อไปอยู่กับผัวใหม่ที่เป็นภารโรง คือถ้าเป็นเรา เราก็คงตัดสินใจแบบเดียวกับนางเอกหนังเรื่องนี้น่ะ และเราก็ดีใจมากๆเวลาที่เราได้เจอหนังที่ตัวละครตัดสินใจแบบเดียวกับเรา

TEMPERATURE OF ROOMTONE (Pamornporn Tundeaw, A+30) สุดยอดมากๆ ชอบมากๆที่นางเอกเขียนเรียงความเกี่ยวกับแม่ตัวเองได้อย่างซาบซึ้งมากๆ และลงท้ายเรียงความด้วยกาพย์กลอนที่บรรยายถึงพระคุณแม่ได้อย่างงดงามมากๆ ทั้งที่ชีวิตจริงของนางเอกตรงข้ามกับเรียงความที่ตัวเองเขียนส่งครู นี่แหละคือนางเอกที่ร้ายลึกในแบบที่เราต้องการ ประโยคสุดท้ายของหนังเรื่องนี้นี่กลายเป็นประโยคคลาสสิคประโยคนึงในใจเราไปแล้ว นอกจากนี้ เรายังชอบมากๆด้วยที่หนังเรื่องนี้มีส่วนคล้ายหนังเรื่อง UP DOWN FRAGILE (1995, Jacques Rivette) ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุดๆเช่นกัน

OUR ปลาทู (Sivaroj Kongsakul, A+30) งดงามมากๆ ชอบบรรยากาศของหนังเรื่องนี้มากๆ บรรยากาศของคู่หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ และกะหนุงกะหนิงกันริมชายหาด ศิวโรจณ์ยังคงเก่งสุดๆในการถ่ายทอดอารมณ์อ่อนหวาน อ่อนโยน ละมุนละไม เราว่าเขาคือหนึ่งในผู้กำกับหนังที่ให้อารมณ์ tender ที่สุดคนนึงในชีวิตเท่าที่เราเคยเจอมาเลยล่ะ โดยคู่แข่งของเขาอาจจะเป็น Shinji Soomai, Jun Ichikawa และ Yoshimitsu Morita ในแง่ของการทำหนังที่ให้อารมณ์อ่อนโยนมากๆๆๆๆ เหมือนกัน นอกจากนี้ เรายังรู้สึกอีกด้วยว่า จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันเข้ากับเพลง “เพียงแค่ใจเรารักกัน” ของวิยะดา โกมารกุล ณ นครมากๆด้วย ถึงแม้เพลงนี้จะไม่ได้ใช้ประกอบหนังเรื่องนี้ก็ตาม

BANANAPACKERS (นัฐพล ไหวพริบ, A+15) เราชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้หยิบเอาประเด็นในกระทู้ Pantip มาล้อเลียน นั่นก็คือการแข่งกันเที่ยวในราคาประหยัดที่สุด, ความภาคภูมิใจถ้าหากตัวเองได้โพสท์อะไรใน Pantip แบบนี้ และการถ่าย selfie ตัวเองตลอดเวลา คือเราว่าอันนี้มันเป็นประเด็นเล็กๆในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวเราดีน่ะ มันคือเรื่อง “อัตตา” ของการได้โพสท์อะไรบางอย่างต่อหน้าสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นการโพสท์ในเฟซบุ๊คหรือใน Pantip และไม่ว่าสิ่งที่เราโพสท์จะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหก บางทีเราก็ควรตั้งสติก่อนโพสท์ว่ามันเป็นการสนองอัตตาตัวเองหรือเปล่า ซึ่งจริงๆแล้วการสนองอัตตาตัวเองมันไม่ผิด เพราะเราก็ทำเหมือนกัน เพราะมันไม่ได้ทำให้เราหรือใครเดือดร้อน แต่สิ่งที่นางเอกหนังเรื่องนี้ทำก็คือ การสนองอัตตาตัวเองจนถึงขั้นที่ทำให้ตัวเองและเพื่อนเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น พอดูหนังเรื่องนี้แล้วมันก็เลยน่าสนใจดีว่า เราเคยทำแบบนั้นบ้างหรือเปล่า

อีกอย่างที่ชอบมากๆก็คือบทบาทของกะเทยในหนังเรื่องนี้ คือตอนแรกบทกะเทยในหนังเรื่องนี้ดูชั้นต่ำมาก ดูเป็นตัวตลกที่น่าเบื่อมากๆ แต่ไปๆมาๆ ตัวละครกะเทยเธอกลับกลายเป็นเหมือน  conscience หรือสามัญสำนึกของหนังเรื่องนี้ เราก็เลยชอบตรงจุดนี้ด้วย

CHU ป้าชู (Natpattarapol Jutikarnpanich, documentary, A+30) ชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้นำเสนอทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของป้าชู ซึ่งดูเหมือนเป็น “คนธรรมดาๆคนหนึ่ง” แต่หนังสามารถถ่ายทอดความยากลำบากของชีวิตออกมาได้ดีมากๆ โดยไม่ฟูมฟาย คือป้าชูมีพ่อเป็นอัมพฤกษ์ เธอต้องคอยเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวพ่อ และมีพี่สาวเป็นโรคออทิสติก ส่วนเธอทำงานเป็น “คนรีดผ้าประจำกองถ่ายละครทีวี” เราชอบ moment ที่กองถ่ายหนังสารคดีเรื่องนี้คอยติดสอยห้อยตาม “คนรีดผ้าประจำกองถ่ายละครทีวี” จนดาราบางคนในกองถ่ายงง คือดาราบางคนในกองถ่าย คงนึกว่ากลุ่มตากล้องเหล่านี้จะมาถ่ายดารา แต่ปรากฏว่าไม่ใช่จ้า กองถ่ายกลุ่มนี้เขามาติดตามถ่ายทำ “คนรีดผ้าประจำกองถ่าย” จ้ะ เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับดาราหรอก คือเราชอบมากๆที่ “คนธรรมดาๆ” และ “ชีวิตธรรมดาๆ” นี่แหละ กลายเป็นเหมือน “ดารา” ขึ้นมาได้ จนดาราตัวจริงอาจจะงงไปเลย 555


อีกจุดที่น่าสนใจมากๆ คือการที่หลายๆคนให้สัมภาษณ์ตรงกันในทำนองที่ว่า การที่ป้าชูได้ทำงานในกองถ่ายต่อไปเรื่อยๆนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอทำ “อารมณ์ดี” ใส่ทุกคนตลอดเวลา คือการทำ “อารมณ์ดี” ใส่คนอื่นๆตลอดเวลา มันกลายเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการมีชีวิตอยู่รอดในสังคมนี้ไปแล้ว

No comments: