THE FIRST WIFE: A NEW MUSICAL (2016, Chavatvit Muangkeo, stage
play, A+25)
เมียหลวง
เราไม่ขอเขียนวิจารณ์ละครเวทีเรื่องนี้นะ แต่จะเขียนเกี่ยวกับ “ตัวเอง”
เป็นหลัก 555
1.เราเคยอ่านนิยายเรื่องนี้ของกฤษณา อโศกสินเมื่อประมาณ 30
ปีก่อนได้มั้ง ตอนเราอยู่มัธยมต้น แต่ไม่เคยดูละครทีวีที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องนี้เลย
เราก็เลยจำเนื้อเรื่องต้นฉบับไม่ได้แล้ว และไม่สามารถบอกได้ว่ามันดัดแปลงมาจากต้นฉบับได้ดีมากน้อยแค่ไหน
เพราะเราจำต้นฉบับไม่ได้
2.แต่ถ้าวัดจากความรู้สึกของตัวเองขณะที่ได้ดู ก็ enjoy ในระดับเกือบสุดๆนะ
เราว่ามันสนุกดี และชอบมันในหลายๆจุด จุดแรกก็คือว่า
เราว่าตัวละครมันดูเป็นมนุษย์ที่น่าสนใจดีน่ะ ตัวละครเมีย 4 คนของพระเอกดูมี character
แตกต่างกันชัดเจนมาก และดูเป็นมนุษย์ดี คือถึงแม้ดร.วิกันดาจะเป็นนางเอก
และอรอินทร์จะดูเหมือนเป็นนางอิจฉา แต่ตัวละครสองตัวนี้ก็ไม่แบนเลยน่ะ
แต่ดูเป็นมนุษย์มากๆ เมียทั้ง 4 คนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง มีหลักการของตัวเอง เราก็เลยรู้สึกว่ามันสนุกมากๆที่เห็น
“มนุษย์” 4 คนมาปะทะกัน คือถ้าหากเรามองว่ามันเป็นแค่ “ตัวละคร” 4 คนมาปะทะกัน
เราจะรู้สึกว่ามันไม่สนุกเท่านี้น่ะ เพราะละคร/หนังที่ไม่ทำให้ตัวละครเป็นมนุษย์
มันจะสามารถสร้างความสนุกได้ก็จาก “พล็อตเรื่อง”, “เนื้อเรื่อง” หรือ “สิ่งที่ตัวละครกระทำ”
เท่านั้น แต่ถ้าหากละคร/หนังเรื่องใด สามารถทำให้ตัวละครเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ได้มากๆ
ความสนุกมันจะมาจาก “ความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์” ด้วย
และไอ้ความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์นี่แหละที่เราชอบสุดๆ เพราะจิตใจมนุษย์มันยากแท้หยั่งถึง
มันมีทั้ง “เหตุผล” และ “ความไร้เหตุผล” อยู่ด้วยกัน และจิตใจมนุษย์แต่ละคนมันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าหนัง/ละครประเภทที่ทำให้ตัวละครขาดความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ไป
มันจะสนุกในระดับพล็อตเรื่อง/การกระทำของตัวละครน่ะ แต่หนัง/ละครที่ทำให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากๆ
มันจะสนุกในระดับที่ลึกกว่านั้น เพราะมันจะสนุกกับความผันผวนของอารมณ์/ความรู้สึก
และความซับซ้อนเอาแน่เอานอนไม่ได้ของจิตใจมนุษย์ด้วย และเราว่าหนึ่งในจุดที่เราชอบที่สุดของ
“เมียหลวง” ก็คือจุดนี้นี่แหละ
3.ถึงเราจะจำต้นฉบับไม่ได้ เราก็ว่าเขาดัดแปลงนิยายออกมาเป็นละครเวทีได้ดีพอสมควรนะ
เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ “ขาด” เหมือนอย่างละครเวทีแบบ “บัลลังก์เมฆ” น่ะ
คือตอนที่เราดูบัลลังก์เมฆ
เรารู้สึกเลยว่าละครเวทีมันเล่าเนื้อเรื่องแบบรวบรัดเกินไปในหลายๆจุด มันรู้สึกชัดเจนเลยว่าจังหวะการเล่าเรื่องมันไม่ลงตัว
มันพยายามเล่าบางจุดอย่างเร็วเกินไปจนอารมณ์ไม่ราบรื่น แต่ “เมียหลวง”
ไม่ทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น เราก็เลยรู้สึกว่าคนเขียนบทละครเวทีเรื่องนี้เขา “กลั่นกรอง”
มาดีน่ะ เขาเลือกมาดีว่าอะไรควรตัดออก อะไรควรใส่เข้ามา เพื่อให้เนื้อเรื่อง+อารมณ์มันลงตัวในเวลา
2 ชั่วโมงครึ่ง
แต่ถ้าหากเราจำเนื้อเรื่องในต้นฉบับได้
เราอาจจะไม่เขียนอย่างนี้ก็ได้นะ 555เพราะแน่นอนว่ามันมี “อะไรดีๆ” อีกมากมายในนิยายต้นฉบับที่ถูกตัดทิ้งไปเวลามันกลายมาเป็นละครเวที
2 ชั่วโมงครึ่ง มันต้องมีอะไรดีๆที่ถูกตัดทิ้งไปอย่างแน่นอน
แต่ในเมื่อเราจำเนื้อเรื่องต้นฉบับไม่ได้แล้ว เราก็เลยยกประโยชน์ให้จำเลยไป
(ขอนอกเรื่องตามสไตล์เรา: โดยทั่วไปแล้วเราโอเคนะกับการดัดแปลงนิยายขนาดยาวมาสร้างเป็นหนังหรือละครเวทีความยาวราว
2 ชั่วโมง โดยที่ตัวหนัง/ละครเวทีนั้นแตกต่างเป็นอย่างมากจากตัวนิยายต้นฉบับน่ะ
เพราะมันควรจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว คือถ้ายกตัวอย่างง่ายๆก็คือว่า เราว่าหนังที่ดัดแปลงจากนิยายได้ดีที่สุดเรื่องนึงคือ
“เดชคัมภีร์เทวดาภาคสอง” ที่สร้างจากนิยายเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ของกิมย้ง
แต่แทบไม่เหมือนตัวนิยายต้นฉบับเลย คือ “เดชคัมภีร์เทวดาภาคสอง”
เหมือนเอาเนื้อเรื่องเพียงแค่ 5% ในตัวนิยายมาสร้างเป็นหนังน่ะ
แล้วตัดเนื้อเรื่องอีก 95% ทิ้งไปเลย แล้วไอ้ 5% นี่ก็ไม่เหมือนในตัวนิยายด้วย แต่มันกลับออกมาเป็นหนังที่ทรงพลังสุดๆ
ในขณะที่หนังจีนกำลังภายในบางเรื่องที่พยายามเล่าเรื่องตามนิยายต้นฉบับกลับออกมาห่วยแตกมากๆ
เพราะคนเขียนบทไม่รู้จัก “กลั่นกรอง” และ “ดัดแปลง” ว่าอะไรควรใส่เข้ามา
และอะไรควรตัดทิ้งไป)
4.เราแทบไม่เคยดูละครเพลงมาก่อนเลยนะ เหมือนชีวิตนี้อาจจะเคยดูไม่เกิน
10 เรื่อง และแม้แต่หนังเพลงเราก็ดูไม่เยอะเช่นกัน เพราะมันไม่ใช่แนวเราน่ะ
เราก็เลยไม่ค่อยมีความเห็นอะไรมากนักต่อ “เพลง” ใน “เมียหลวง” เรารู้สึกเพียงแค่ว่าเพลงมันเพราะดี
และเพลิดเพลินดี
แต่การดูละครเพลง “เมียหลวง” ทำให้เราคิดถึงประเด็นนึงขึ้นมา
คือมันทำให้เราคิดถึง “ข้อได้เปรียบ” และ “ข้อเสียเปรียบ” ของหนังเพลง/ละครเพลง
เมื่อเทียบกับหนังทั่วๆไปน่ะ
คือเราว่าเพลงหลายๆเพลงใน “เมียหลวง”
มันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกข้างในตัวละครได้ดี คือตัวละครสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิดและสิ่งที่ตัวเองรู้สึกออกมาได้ผ่านทางบทเพลงน่ะ
เพราะฉะนั้นในแง่นึง ละครเพลง/หนังเพลง
ที่ใช้เพลงในการถ่ายทอดความรู้สึกข้างในตัวละคร
มันก็เลยทำในสิ่งที่หนังทั่วๆไปทำได้ยาก
นั่นก็คือการถ่ายทอดความรู้สึกข้างในตัวละครออกมาเป็นเสียงร้องโดยตรง
คือหนังทั่วๆไป บางทีเราจะไม่สามารถรู้ได้โดยตรงว่าตัวละครคิดหรือรู้สึกอย่างไรน่ะ
คือถ้าหากหนังทำให้เราได้ยินเสียงความคิดของตัวละครโดยตรง
มันก็อาจจะออกมาดีสุดๆแบบหนังอาร์ทบางเรื่องที่ใช้เสียง voiceover ของตัวละครได้อย่างทรงพลังก็ได้
หรือมันอาจจะออกมาเสล่อสุดๆเหมือนละครทีวีไทยเมื่อ 30 ปีก่อนบางเรื่องที่คนดูได้ยิน
“ความคิด” ของตัวละครก็ได้ เพราะฉะนั้นหนังทั่วๆไปที่ไม่มี voiceover และไม่มี “เสียงความคิด” ของตัวละคร ก็เลยอาจจะใช้วิธีสร้างตัวละครเพื่อนนางเอกขึ้นมา
เพื่อให้นางเอกได้ระบายสิ่งที่อยู่ในหัวตัวเองผ่านทางการคุยกับเพื่อนอะไรทำนองนี้
แต่มันก็ไม่ได้อารมณ์เหมือนการร้องแบบในละครเพลง/หนังเพลงน่ะ เพราะฉะนั้นในแง่นึง
ละครเพลง/หนังเพลง ก็เลยดูเหมือน “ได้เปรียบ” หนังทั่วๆไปในแง่ที่ว่า
มันสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ข้างในตัวละครได้ลึกกว่าหนังทั่วๆไปในระดับนึง
มันไม่ต้องเล่าเรื่องหรือเล่าเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แต่มันสามารถ “หยุด”
การเล่าเรื่องและหยุดการดำเนินไปของเหตุการณ์
เพื่อให้ตัวละครสามารถเปล่งสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาได้
แต่มันก็มี “ข้อเสียเปรียบ” อยู่เช่นกัน
เพราะเราว่าไอ้อารมณ์ความรู้สึกหลายๆอย่างของมนุษย์
โดยเฉพาะไอ้อารมณ์ความรู้สึกที่มันน่าสนใจจริงๆ มันถ่ายทอดเป็น “คำพูด” หรือ “เนื้อร้อง”
ไม่ได้น่ะ เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไม่มีศัพท์บัญญัติไว้ และบางทีมันก็อาจจะถ่ายทอดผ่านทางเสียงดนตรีไม่ได้ด้วย
เพราะฉะนั้นนี่ก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้หนังเพลง/ละครเพลง
ไม่ใช่อะไรที่เราชอบเป็นการส่วนตัว เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบสุดๆก็คือหนังบางเรื่องที่มันทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่างอย่างรุนแรงโดยที่เราไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาเป็นคำพูดได้มากกว่า
5.สิ่งที่เขียนมาเมื่อกี้ก็คือสาเหตุนึงที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้แค่ในระดับ A+25 แต่ยังไม่ได้ชอบสุดๆถึงขั้น
A+30 น่ะแหละ แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของผู้กำกับ/คนเขียนบทนะ
เพราะเราว่าการที่เราไม่ฟินสุดๆกับละครเวทีเรื่องนี้มันมีสาเหตุหลักมาจาก
5.1 เราไม่ได้ชอบ “ละครเพลง” อยู่แล้ว
5.2 ตัวเนื้อเรื่องในนิยายต้นฉบับก็ไม่ใช่สไตล์เราอยู่แล้ว
คือเราว่ากฤษณา อโศกสินเขียนนิยายดีมากๆนะ แต่นางเอกในนิยายของเธอ ไม่ได้มี “ธาตุ”
เดียวกับเราน่ะ เราก็เลยแทบไม่เคย identify ตัวเองได้กับนางเอกเรื่องไหนในนิยายของกฤษณา
อโศกสินเลย คือตัวละครในนิยายของกฤษณา อโศกสินนี่มันเป็น “มนุษย์” มากๆนะ
เพียงแต่ว่าตัวละครนางเอกในนิยายของกฤษณาส่วนใหญ่มักจะเป็น “มนุษย์”
ที่มีธาตุต่างจากเรา ยกเว้นเพียงแค่สองเรื่องเท่านั้น นั่นก็คือนิยายเรื่อง “สมมุติว่า
เขารักฉัน” กับ “เนื้อนาง” ที่เรารู้สึกว่า
ตัวละครนางเอกค่อยใกล้เคียงกับความเป็นเราหน่อย ส่วนตัวละครนางเอกที่มีธาตุใกล้เคียงกับเรามากที่สุดคือตัวละครเวฬุรีย์ในนิยายเรื่อง
“เพลิงพ่าย” ของนันทนา วีระชน
6.เราจำได้ว่าตอนเด็กๆเราเคยอ่านสัมภาษณ์นักเขียนนิยายคนนึง
แต่เราจำไม่ได้ว่าเป็น “กฤษณา อโศกสิน” หรือเปล่า คือนักเขียนนิยายคนนั้นเขาบอกว่า
เขามักเริ่มต้นแต่งเรื่องโดยได้แรงบันดาลใจมาจากคอลัมน์ตอบจดหมายปัญหาชีวิตในนิตยสารประเภท
“สตรีสาร” นี่แหละ
คือในนิตยสารประเภทนี้จะมีคนอ่านเขียนมาเล่าปัญหาชีวิตประเภทผัวมีเมียน้อยอะไรทำนองนี้
แล้วคนตอบจดหมายก็จะให้คำปรึกษากลับไป และนักแต่งนิยายคนนี้ก็มักจะเอาเรื่องราวผัวๆเมียๆในคอลัมน์ตอบจดหมายนี่แหละ
มาขยายเป็นนิยาย 100 ตอนจบ
และก็มีนักเขียนนิยายไทยคนนึง
ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเป็นคนเดียวกับข้างต้น หรือเป็นกฤษณา อโศกสินหรือเปล่า ที่เขาให้สัมภาษณ์อีกด้วยว่า
เขาฝืนตัวละครไม่ได้ คือเวลาเขาเขียนนิยายไปเรื่อยๆ เขามักจะพบว่า เขาไม่สามารถฝืนให้ตัวละครทำตามที่เขาต้องการ
หรือทำตามเนื้อเรื่องที่เขาวางแผนไว้แล้วได้ เขามักพบว่าตัวละครมันไม่สามารถทำอย่างที่เขาต้องการได้จริงๆ
เขาก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลย และปล่อยให้ตัวละครมันมีชีวิตอย่างที่มันเป็นจริงๆ
คือเราไม่แน่ใจว่านักเขียนที่ให้สัมภาษณ์ 2 อย่างข้างต้นคือกฤษณา
อโศกสินหรือเปล่านะ แต่ถ้าใช่ เราก็ไม่แปลกใจ
เพราะนักเขียนที่ทำแบบที่ให้สัมภาษณ์ข้างต้นนี่มันเข้าทางเรามากๆน่ะ
คือปล่อยให้ตัวละครเป็นมนุษย์จริงๆ โดยไม่ถูกเนื้อเรื่องบีบรัดไว้
และได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์จริงๆ เรื่องผัวๆเมียๆปัญหาชีวิตของคนธรรมดาจริงๆ
โดยไม่ต้องตั้งต้นจากการคิด “พล็อตเก๋ๆ” หรือ “พล็อตแปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร”
แต่ตั้งต้นจากปัญหาธรรมดาสามัญในชีวิตมนุษย์
7.คือพอดู “เมียหลวง” ก็ทำให้เราคิดอยากให้มีคนเอานิยายเรื่องต่างๆของกฤษณา
อโศกสิน มาดัดแปลงเป็น “หนังสไตล์ที่เราชอบ” นะ เพราะคิดไปคิดมาแล้ว นิยายของกฤษณา
อโศกสินหลายๆเรื่องนี่มันเป็น “มนุษย์” มากๆน่ะ คือเราว่าถ้าหากได้ผู้กำกับดีๆมาดัดแปลง
เราอาจจะได้หนังแนว Mikio Naruse, Maurice Pialat, Jean Eustache, Jacques Doillon,
Claude Sautet, Philippe Garrel ได้เลยนะ คือ Naruse ก็ทำหนังเกี่ยวกับ “ความปรารถนาของผู้หญิง” น่ะ
โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่หน่อย เหมือนกับนางเอกนิยายหลายๆเรื่องของกฤษณา
อโศกสิน ส่วน Pialat, Eustache, Doillon, Sautet, Garrel ซึ่งเป็นผู้กำกับในกลุ่ม
Post French New Wave นั้น ต่างก็เคยทำหนังเกี่ยวกับ “การคบชู้”
ที่ทรงพลังสุดๆมาแล้วทั้งนั้น อย่างเช่น THE THINGS IN LIFE (1970, Claude
Sautet), WE DON’T GROW OLD TOGETHER (1972, Maurice Pialat), THE MOTHER AND THE
WHORE (1973, Jean Eustache, 217min), THE CRYING WOMAN (1979, Jacques Doillon) และ THE BIRTH OF LOVE (1993, Philippe Garrel) และเราว่าหนังกลุ่มนี้นี่แหละ
มันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณมนุษย์ออกมาได้อย่างทรงพลังสุดๆ
และมันทำให้เราเหมือนได้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกอะไรบางอย่างอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้
สรุปว่า “เมียหลวง” เป็นละครเวทีที่เราชอบมากๆนะ เราชอบนักแสดงมากๆ,
เครื่องแต่งกายก็ดีมาก, เพลงเพราะ, ทุกอย่างโอเคสำหรับเรา แต่สาเหตุที่เราไม่ชอบสุดๆนั้นเป็นเพียงเพราะว่า
เราไม่ได้เป็นคนที่ชอบละครเพลงเท่าไหร่ และเรามักจะไม่ค่อยอินกับนางเอกในนิยายของกฤษณา
อโศกสินเท่าไหร่น่ะ
แต่ “เมียหลวง” ก็ทำให้เราได้คิดขึ้นมาว่า จริงๆแล้ว นิยายของกฤษณา
อโศกสินกับหนังกลุ่ม POST FRENCH NEW WAVE ของฝรั่งเศส
นี่มันอาจจะไม่ไกลกันมากนักนะ มันรอเพียงแค่ “ผู้กำกับที่มีฝีมือ” เท่านั้นแหละ
ที่จะสามารถดัดแปลงนิยายชีวิตของกฤษณาให้ออกมาเป็นหนังดราม่าดีๆที่ทรงพลังได้
คือแทนที่ผู้กำกับคนนั้นจะเน้น “เล่าเรื่อง” หรือ “เล่าเหตุการณ์” ตามตัวนิยาย
ผู้กำกับคนนั้นต้องไม่ให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่องและเหตุการณ์เลยน่ะ แต่ต้องเน้นการถ่ายทอด
“จิตวิญญาณที่ซับซ้อนและปวดร้าว” ของตัวละครออกมาให้ได้เป็นหลัก และนั่นแหละ มันถึงจะเป็นหนังที่เข้าทางเรา
No comments:
Post a Comment