Tuesday, February 23, 2016

CZECH FILM LECTURE

หนังเชค

มีเพื่อนถามว่าคุณ Keiko Sei พูดเรื่องอะไรบ้างในงานสัปดาห์ศิลปะและวัฒนธรรมเชค เราก็ไม่แน่ใจว่าทางงานเขาได้อัดคลิปไว้เพื่อจะโพสท์ลงยูทูบหรือเปล่า แต่ในเมื่อเพื่อนเราอยากรู้ เราก็จะจดโน้ตไว้เท่าที่เราจำได้แบบผิดๆถูกๆแล้วกัน

ถ้าหากเราจำตรงไหนผิด ก็ช่วยแก้ไขด้วยนะ เพราะมีหลายจุดที่เราฟังไม่ออก เพราะเราว่าไมโครโฟนวันนั้นมันไม่ดี เสียงมันดังแต่มันไม่ชัด เราก็เลยฟังไม่เคลียร์ในหลายๆจุด

1.สิ่งหนึ่งที่อาจจะมีอิทธิพลต่อหนังเชค ก็คือประวัติศาสตร์ของเชคเอง เพราะดินแดนของประเทศเชคในปัจจุบันนี้ เคยเป็นดินแดน Bohemia (อย่าจำสลับกับ Bavaria) มาก่อน และดินแดนนี้ก็มักอยู่ภายใต้การปกครอง หรือ “การกดขี่” จากคนอื่นๆอยู่เสมอ โดยในตอนแรกนั้นมันอยู่ภายใต้การปกครองของ Holy Roman Empire แล้วก็เป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นมา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็ล่มสลาย แล้วก็เลยเพิ่งเกิดประเทศเชคขึ้นมาเป็นครั้งแรก แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีก็เข้ามายึดครองเชค และพอจบสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตก็เข้ามากดขี่เชคโกสโลวาเกียต่อ เพราะฉะนั้นดินแดนนี้จึงเป็นดินแดนของคนที่ถูกกดขี่มานานแล้ว และพยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพมานานแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์กับคาทอลิกด้วย แต่เราไม่ค่อยแน่ใจเรื่องนี้เท่าไหร่

ถ้าเข้าใจไม่ผิด ประวัติศาสตร์แบบบนี้ทำให้ชาวเชคเกิดความหวาดระแวง “คนที่จะมาเคาะประตูบ้านคุณ” หรืออะไรทำนองนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่จะมาเคาะประตูบ้านคุณเป็นฝ่ายไหน นับถือนิกายอะไร หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งความหวาดระแวงนี้จะเห็นได้ชัดในหนังอย่าง THE HAND (1965, Jiri Trnka) และ THE FIFTH HORSEMAN IS FEAR (1965, Zbynek Brynych)

2.หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อความรู้สึกของชาวเชคเป็นอย่างมาก คือเหตุการณ์ THE MUNICH AGREEMENT ในปี 1938 ที่อังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรของเชค กลับทำสัญญากับเยอรมนีในการยกดินแดน Sudetenland ในเชคให้แก่เยอรมนี โดยเยอรมนีอ้างว่าตนเองควรครอบครอง Sudetenland เพราะว่าดินแดนนั้นมีคนพูดภาษาเยอรมันเยอะ ส่วนอังกฤษกับฝรั่งเศสก็ยกดินแดนนั้นให้เยอรมนี เพราะหวังว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยยับยั้งฮิตเลอร์จากการทำสงคราม

แต่เชคโกสโลวาเกียไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการทำข้อตกลงนี้ด้วย ชาวเชคก็เลยรู้สึกว่าตนเองถูกอังกฤษกับฝรั่งเศสทรยศ เพราะ Sudetenland เป็นดินแดนที่มีความสำคัญ และในเวลาต่อมา กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าการยก Sudetenland ให้เยอรมนีไม่สามารถยับยั้งสงครามโลกครั้งที่สองได้แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

3.เคโกะบอกว่า ช่วงปี 1963-1968 นั้น เป็นยุคของ Czech New Wave และภายในเวลาเพียง 5 ปี เชคก็ผลิตหนังออกมาระดับมาสเตอร์พีซออกมาเยอะมากๆ จนอาจกล่าวได้ว่าไม่เคยมีนิวเวฟชาติไหนที่ผลิตหนังระดับมาสเตอร์พีซออกมาได้เยอะขนาดนั้นภายในเวลาเพียงแค่ 5 ปี

4.แต่ปี 1968 เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้า คือเชคในตอนนั้นเหมือนออกห่างจากอิทธิพลของโซเวียตมากๆ และมีความเป็น liberal มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดโครงการสำคัญที่มีชื่อว่า SOCIALISM WITH A HUMAN FACE ที่ก่อตั้งโดย Alexander Dubcek ประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชคโกสโลวาเกียในปี 1968 ท่ามกลางช่วงเวลาที่เรียกว่า Prague Spring ในปี 1968 (ดูเพิ่มเติมได้จากหนังเรื่อง COSY DENS (1999, Jan Hrebejk))

แต่ความรุ่งเรืองของเชคโกสโลวาเกียก็ยุติลง เมื่อสหภาพโซเวียตและประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอว์นำกองกำลังเข้ามาบดขยี้เชคในเดือนส.ค. 1968 (ดังที่เห็นในหนังเรื่อง THE UNBEARABLE LIGHTNESS OF BEING)

5.หลังจากนั้นโซเวียตก็นำพาเชคเข้าสู่กระบวนการ NORMALIZATION ซึ่งจริงๆแล้วมันคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ normal เพราะจริงๆแล้วมันคือ SUPPRESSION จนกระทั่งถึงปี 1989

6.อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเชคก็คือว่า ในอดีตนั้น ชาวยิวเคยครองสัดส่วนมากถึง 25% ของประชากรทั่วทั้งกรุงปราก และกรุงปรากถือเป็นเมืองเพียงไม่กี่เมืองในโลกนี้ที่มีสถาปัตยกรรมเกือบทุกรูปแบบทุกสมัย ตั้งแต่สถาปัตยกรรมยุคโบราณจนมาถึงยุคปัจจุบัน และมีแม้แต่สถาปัตยกรรมแบบ CUBISM ด้วย

7.มรดกสำคัญอันหนึ่งที่เชคมอบไว้ให้แก่ชาวโลก คือลักษณะ Kafkaesque ในงานวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่เพื่อนเราหลายคนคงรู้จักกันดีแล้ว โดยลักษณะ Kafkaesque นั้นต้องมีองค์ประกอบของ absurdity, totalitarianism และ bureaucratic อยู่ด้วย โดยหนังแนว Kafkaesque ที่เคโกะนำมาเปิดในวันนั้นคือเรื่อง JOSEF KILLÁN (1963, Pavel Jurácek) ที่คลาสสิคมากตั้งแต่ฉากเปิด ซึ่งเป็นฉากของขบวนเด็กนักเรียน, ขบวนทหาร และขบวนงานศพที่เคลื่อนตัวแบบ horizontal ทาง background ของฉาก แต่ผู้ชายคนหนึ่งในขบวนเริ่มหันไปมองทางอื่น เขาไม่ได้มองตามคนอื่นๆในขบวน แต่มองไปอีกทิศนึง และเขาก็เดินแยกตัวออกจากขบวน และเดินจาก background ของฉากเข้ามาสู่ foreground ของฉาก มันเหมือนกับว่าเขาเริ่ม “เห็น” ในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้เขาเห็น เขาไม่ได้ทำตามคนอื่นๆในสังคม และเริ่มเห็นความจริงหรือความ absurd บางอย่างที่เป็นพื้นฐานของสังคมจอมปลอมนี้

แต่หนัง Kafkaesque ที่เราชอบที่สุดคงเป็นเรื่อง THE CASTLE (1997, Michael Haneke, Germany) แหละ โดยเฉพาะระบบการปกครองแบบเผด็จการที่ไม่มีใครเข้าถึงได้ใน THE CASTLE นี่มันช่าง...มากๆ

8.อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมเชคก็คือตัวละครพลทหารชเวค (SVEJK) จากบทประพันธ์ของ Jaroslave Hacek ในปี 1921-1923 โดยเนื้อเรื่องของ THE GOOD SOLDIER SVEJK นั้นใช้ฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเกี่ยวข้องกับพลทหารชเวค ที่ดูเหมือนจะต่อต้านผู้มีอำนาจด้วยวิธีการที่เป็นตัวของตัวเอง นั่นก็คือแทนที่เขาจะปฏิเสธคำสั่งหรือลุกขึ้นตบผู้มีอำนาจโดยตรง เขากลับทำตามคำสั่งในแบบที่มากเกินไป (overdoing) จนเกิดความชิบหายตามมา เราอาจเรียกสิ่งนี้ได้ว่าเป็น passive resistance

ตัวละครพลทหารชเวคนี้ยังส่งผลต่อหนังเชคในยุคหลังด้วย โดยถ้าหากเราสังเกตให้ดี หนังเชคหลายๆเรื่องจะมีตัวประกอบที่มีลักษณะแบบ “the idiot” ตัวละครแบบนี้อาจจะสืบเชื้อสายมาจากพลทหารชเวคนี่เอง

เหมือนเคโกะจะพูดอะไรเกี่ยวกับ DON QUIXOTE และนิยายเรื่อง CATCH 22 ของ Joseph Heller ด้วย แต่เราไม่แน่ใจว่ามันเป็นการเปรียบเทียบพลทหารชเวคกับตัวละครในบทประพันธ์สองเรื่องนี้หรือเปล่า

9.หนังอีกเรื่องที่เคโกะนำมาเปิดคือ THE FIFTH HORSEMAN IS FEAR ที่เพื่อนเราหลายคนคงดูไปแล้ว โดยสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะใช้ฉากหลังเป็น “สงครามโลกครั้งที่สอง” ในช่วงที่นาซีเข้ามายึดครองเชคโกสโลวาเกีย แต่ถ้าหากเราสังเกตให้ดี เราจะเห็นสถาปัตยกรรมยุคคอมมิวนิสต์ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของผู้กำกับ เพราะจุดประสงค์ของผู้กำกับไม่ได้ต้องการจะด่านาซี เขาทำหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเลวร้ายในยุคนาซี แต่จุดประสงค์จริงๆของเขาเป็นการประณามเผด็จการคอมมิวนิสต์เองนี่แหละ ดังนั้นการที่เขาใส่สถาปัตยกรรมที่ผิดยุคผิดสมัยเข้ามาในหนัง จึงเป็นสิ่งที่ฉลาดมากๆ

10.ในส่วนของ THE HAND (Jiri Trnka) ที่เคโกะนำมาเปิดนั้น นอกจากหนังเรื่องนี้จะสะท้อนความหวาดกลัว “คนที่มาเคาะประตู” แล้ว หนังเรื่องนี้ยังสะท้อนความหวาดกลัว “คนที่โทรศัพท์มาหา” ด้วย ซึ่งนี่คือสภาพจิตของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ หนังเรื่อง THE HAND ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อด้วยวิธีการต่างๆนานาด้วย ทั้งทางโทรศัพท์, โทรทัศน์, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ เพื่อกล่อมประชาชนให้ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจให้ได้

11.หนังอีกเรื่องที่เปิดในวันนั้นคือ THE PARTY AND THE GUESTS (1966, Jan Nemec) ที่เป็นหนังในดวงใจพวกเราหลายคน จุดที่เคโกะตั้งข้อสังเกตไว้ได้ดีมากเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็รวมถึง

11.1 การที่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คุณอยู่ในป่า หรือคุณอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เผด็จการก็ตามมาเล่นงานคุณได้ ตามมาครอบงำคุณได้ ซึ่งมันจะแตกต่างจากหนังเชคเรื่องอื่นๆที่ใช้ฉากหลังเป็นเมือง อย่างเช่น JOSEPH KILLAN และ THE FIFTH HORSEMAN IS FEAR

11.2 หนังเรื่องนี้เป็น microcosmos ที่สะท้อนภาพสังคมได้ดีมากๆ เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับเผด็จการแบบในหนังเรื่องนี้ เราทุกคนก็เลือกได้ว่าเราจะทำตัวเหมือนกับตัวละครตัวใดในเรื่องนี้ เราจะเป็น dictator, หรือเป็นสมุนของ dictator, หรือเป็น conformists หรือเป็น dissidents

12.เคโกะเปิด CLOSELY OBSERVED TRAINS (1966, Jiri Menzel) กับ FIREMAN’S BALL (1967, Milos Forman) ด้วย ซึ่งสะท้อนความ absurd ของสังคมหรือระบอบเผด็จการออกมาผ่านทางอารมณ์ขัน

13.ชอบคำพูดของ Milos Forman ที่เคโกะ quote มามากๆ มันเป็นการสรุปลักษณะภาพยนตร์ของเชคได้เป็นอย่างดี เขาพูดว่า

“The tradition of Czech culture is always humor based on serious things, like THE GOOD SOLDIER SVEJK. Kafka is a humorous author, but a bitter humorist. It is in the Czech people. You know, to laugh at its own tragedy has been in this century the only way for such a little nation placed in such a dangerous spot in Europe to survive. So humor was always the source of a certain self-defense. If you don’t know how to laugh, the only solution is to commit suicide.”


ส่วนรูปนี้มาจากภาพยนตร์ที่เราอยากดูมากๆ แต่เคโกะไม่ได้พูดถึงแต่อย่างใด 555 มันคือภาพยนตร์เรื่อง YOU SPEAK OF PRAGUE: THE SECOND TRIAL OF ARTUR LONDON (1971, Chris Marker, 30min) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Artur London นักการเมืองชาวเชคโกสโลวาเกียที่เขียนหนังสือที่ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง THE CONFESSION (1970, Costa-Gavras)

No comments: