Sunday, February 28, 2016

SON OF SAUL (2015, László Nemes, Hungary, A+30)

SON OF SAUL (2015, László Nemes, Hungary, A+30)

1.จริงๆแล้วรู้สึกไม่ถูกโฉลกกับตัวละครพระเอกอย่างรุนแรงมากๆเลยนะ คือไม่ใช่ว่าเรามองว่าเขาเป็นคนเลวนะ แต่เพียงแค่ว่าถ้าหากเราอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขา เราคงไม่ทำแบบเขาเท่านั้นเองน่ะ คือในแง่นึงความรู้สึกของเราที่มีต่อตัวละครพระเอกของหนังเรื่องนี้ คล้ายๆกับความรู้สึกที่มีต่อตัวละครโสเภณีสองคนใน THE FLOWERS OF WAR (2011, Zhang Yimou) ที่พยายามจะฝ่าสมรภูมิออกไปเอาตุ้มหูประจำตระกูลที่บ้านหรืออะไรสักอย่าง ทั้งๆที่มันอันตรายมาก แต่มึงก็จะเสือกโง่ออกไปเอาตุ้มหูให้ได้อะไรทำนองนี้ (ถ้าจำไม่ผิด) หรือคล้ายๆกับความรู้สึกที่มีต่อตัวละครที่ชอบทำอะไรโง่ๆในหนังฆาตกรโรคจิตน่ะ คือฆาตกรโรคจิตมันไม่มีสิทธิฆ่าคนโง่หรอกนะ แต่เวลาดูหนังอะไรแบบนี้ บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าเราควรลุ้นให้ตัวละครโง่ๆรอดตาย หรือควรลุ้นให้ตัวละครโง่ๆถูกฆ่าตายดี

2.แต่ในแง่นึง การที่เราไม่ถูกโฉลกกับพระเอกอย่างรุนแรง หรือไม่สามารถเข้าข้างพระเอกได้ มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนัง holocaust เรื่องอื่นๆที่บอกว่า “นาซีเลวมากๆ เผด็จการเลวมากๆ จบ” คือเหมือนเรารู้ว่า “นาซีเลวมาก” อยู่แล้วจากหนังไม่ต่ำกว่า 500 เรื่องที่เคยดูมา แต่พอหนังเรื่องนี้ทำให้เราไม่สามารถเข้าข้างพระเอกได้ และเราไม่แน่ใจว่าเราอยากให้มันรอดหรือให้มันตาย ในแง่นึงมันก็เลยกระตุ้นให้เราคิดถึงเรื่องอะไรอื่นๆมากมายที่ตัวหนังไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึง และเราก็ชอบที่มันกระตุ้นความคิดเพ้อเจ้อในตัวเราที่ไม่เกี่ยวกับหนังแบบนี้

3.ประเด็นนึงที่เราตั้งคำถามกับตัวเองก็คือว่า ทำไมเราถึงไม่ถูกโฉลกกับพระเอกอย่างรุนแรง แต่ทำไมเราถึงชื่นชอบตัวละครอย่าง Antigone ในตำนานกรีกที่ “พยายามทำพิธีศพอย่างถูกต้อง” ทั้งๆที่เสี่ยงต่อความตายเหมือนกัน หรือที่เราไม่ถูกโฉลกกับพระเอกเพราะเรามองว่า ความพยายามทำพิธีศพของเขามันสร้างอันตรายต่อคนอื่นๆ ในขณะที่การกระทำของ Antigone มันสร้างอันตรายแต่กับตัว Antigone เองเท่านั้น

4.อีกประเด็นนึงที่ SON OF SAUL ไม่ได้ตั้งใจพูดถึงอย่างแน่นอน แต่มันทำให้เราคิดถึงโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือว่า เราชอบวิธีการถ่ายภาพใน SON OF SAUL น่ะ ชอบการที่มันทำให้ความเลวร้ายทุกอย่างดูเบลอๆ หรือ offscreen ไปเกือบหมด โดยที่ตัวละครกลุ่มนึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความเลวร้ายสุดๆเหล่านี้ ด้วยการก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อยๆเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด

คือวิธีการถ่ายภาพแบบนี้ มันทำให้เรานึกถึงการถ่ายภาพที่ดูพิเศษในหลายๆฉากใน THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia Martel) น่ะ ที่มันมีความเบลอ, ความ offscreen, ความเห็น-ไม่เห็นอะไรในหลายๆฉากเหมือนกัน

และมันก็เลยทำให้เราจินตนาการว่า บางทีมันคงจะดี ถ้าหากมีหนังเรื่องใหม่ที่นำเทคนิคการถ่ายภาพแบบ SON OF SAUL + THE HEADLESS WOMAN มาใช้ เพื่อถ่ายทอดคนบางกลุ่มในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะรวมถึงตัวเราเองด้วย

คือในแง่นึง เราก็มองว่าที่ตัวเราเอง “มีความสุขตามประสา” อยู่ได้ในบางวันแบบนี้ เพราะเราก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อยๆในระบบที่จริงๆแล้วอาจจะโหดร้ายกับคนอื่นๆมากๆก็ได้นะ คือเรามีความสุขอยู่ได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งคำถามตลอดเวลาว่า ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ มันผลิตมาได้ด้วยการสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ใดที่หนึ่งหรือเปล่า หรือสิ่งของต่างๆที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มันผลิตมาได้ด้วยแร่ A, B, C, D, E ที่ตัวเหมืองที่ผลิตแร่นั้นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่ไหนอยู่หรือเปล่า คือเราอาจจะช่วยกระจายข่าวด่าทอเหมืองเหี้ยๆเป็นครั้งคราวก็จริง แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า เราซื้อของที่ผลิตจากแร่ธาตุที่มาจากเหมืองเหี้ยๆที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้หรือไม่

มันเหมือนกับว่าที่เรามีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะเราเลือกแล้วว่า เราจะ “โฟกัสแคบๆ” ไปที่จุดใดเพื่อให้เพียงพอกับการ survive ทางร่างกายและจิตใจของเราน่ะ เราจะต้องไม่ focus กว้างเกินไป ไม่ตามอ่านข่าวฆ่ากันตายในตะวันออกกลาง+แอฟริกามากเกินไป หรือตามอ่านข่าวชาวบ้านประท้วงตามจังหวัดต่างๆในประเทศไทยมากเกินไปอะไรทำนองนี้ เราอาจจะเห็นข่าวพวกนี้ผ่านหูผ่านตาเราก็จริง แต่ใจเราก็รับรู้มันแบบเบลอๆ หรือทำให้มัน out of focus หรือแค่ได้ยินเสียงมัน offscreen เท่านั้น เราจะได้ไม่คิดมากกับความเลวร้ายของโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้มากเกินไป


สรุปว่า ชอบ SON OF SAUL เพราะเราไม่ถูกโฉลกกับพระเอกอย่างรุนแรงมากๆ มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนัง Holocaust จำนวนมากที่เราเคยดูมา และชอบมันไม่ใช่เพราะว่าตัวหนังมันดี แต่เป็นเพราะว่ามันทำให้เราจินตนาการถึงหนังที่ไม่มีอยู่จริงที่เอาเทคนิคการถ่ายภาพแบบ SON OF SAUL กับ THE HEADLESS WOMAN มาใช้เพื่อถ่ายทอดการดำรงอยู่ของตัวเราเองในยุคปัจจุบัน

No comments: