Tuesday, March 01, 2016

WIM WENDERS AND RUDOLF THOME

Favourite quote from Wim Wenders:

วิม เวนเดอร์สเคยเขียนวิจารณ์หนังเยอรมันเรื่อง RED SUN (1969, Rudolf Thome) ที่เขาชื่นชอบมากๆ โดยวิมเขียนว่า “ในหนังเรื่อง RED SUN นั้น ตัวละครคุยกันอย่างต่อเนื่องราวกับว่า พวกเขาไม่สนใจว่าเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นยังไงต่อไป พวกเขาคุยกันอย่างไม่ต้องละอายใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขาเอง ตัวละครอยู่ที่นั่นเท่านั้น อยู่ในจุดที่พวกเขาอยู่ พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของตัวละคร ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้บุกรุกเข้าไปในเรื่องราวของตัวละคร”

In RED SUN people continually talk as if they didn’t care about the further course of the film. They talk unabashedly in their respective situations. They are always only present there, where they are. They don’t know what comes next: the film concerns itself with their story, it doesn’t intrude upon them.”

เรายังไม่เคยดูหนังเรื่อง RED SUN แต่เคยดูหนังสองเรื่องของ Rudolf Thome ซึ่งได้แก่เรื่อง BERLIN CHAMISSOPLATZ (1980) กับ TAROT (1986) ซึ่งเราชอบสุดๆทั้งสองเรื่อง หนังของเขามันดูเป็นธรรมชาติมากๆ มันทำให้ตัวละครดูเหมือนมนุษย์จริงๆมากๆ และหลายคนเรียกเขาว่าเป็น Eric Rohmer แห่งเยอรมนี

เราว่าสิ่งที่วิม เวนเดอร์สเขียนถึง RED SUN มันน่าสนใจมากๆ เพราะเราชอบลักษณะแบบนี้ในหนัง นั่นก็คือการที่ตัวละครคุยกันเป็นธรรมชาติแบบมนุษย์จริงๆ โดยไม่ต้องสนใจว่า “เนื้อเรื่องของหนังมันจะเป็นยังไงต่อไป” ตัวละครคุยกันแบบมนุษย์จริงๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ของตนเองในเวลานั้นจริงๆ โดยที่บทสนทนาของตัวละครไม่ต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้เนื้อเรื่องดำเนินไปข้างหน้า หนังพยายามนำเสนอเรื่องราวของตัวละครตามความเป็นจริง และไม่พยายามเข้าไปบิดเบือนชีวิตของตัวละครให้เป็นไปตามที่หนังต้องการ

มันทำให้เรานึกถึงหนังสั้นของไทยบางเรื่อง เราจำได้ว่ามันมีหนังสั้นเรื่องนึงเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เกี่ยวกับชายหนุ่มที่หลงรักหญิงสาวที่ขึ้นเรือข้ามฟากเที่ยวเดียวกัน แต่หญิงสาวคนนั้นต่อมาถูกผู้ร้ายข่มขืนและฆ่าตาย แต่วิญญาณของเธอยังมาขึ้นเรือข้ามฟากพร้อมพระเอกอยู่ อะไรทำนองนี้ เราจำได้ว่า เราไม่ชอบหนังสั้นเรื่องนั้นเลย ยกเว้นอยู่ฉากเดียวที่เราชอบมาก ซึ่งเป็นฉาก “พระเอกกับเพื่อนๆสั่งอาหารกินกัน” โดยที่พระเอกกับเพื่อนอีก 3 คนแต่ละคนสั่งอาหารไม่ซ้ำกันเลย ฉากนี้กินเวลาประมาณ 1 นาที และไม่มีความสำคัญอะไรกับพล็อตเรื่องหลักใดๆทั้งสิ้น หนังสามารถตัดฉากนี้ออกไปได้สบายโดยที่เนื้อเรื่องยังคงครบถ้วนอยู่ แต่เรากลับชอบฉากนี้อย่างสุดๆ โดยที่เราก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไม


พอเราได้อ่านสิ่งที่วิม เวนเดอร์สเขียนถึงหนังเรื่อง RED SUN เราก็เลยเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเราถึงชอบฉากนั้นอย่างสุดๆ เพราะฉากนั้นตัวละครมันเหมือนกับหลุดออกจากความเป็นตัวละครและกลายเป็นมนุษย์จริงๆมากขึ้น พวกเขาคุยกันเรื่องว่าจะกินอะไรดี พวกเขาอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ พวกเขาอยู่ในจุดนั้นจริงๆ พวกเขาคุยกันด้วยเรื่องของตัวเองจริงๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าเนื้อเรื่องต่อไปของหนังมันจะเป็นยังไงต่อไป

No comments: