DOWN THERE (2006, Chantal Akerman, Israel, documentary, A+30)
1.ชอบที่ Chrysanthi Nigianni เขียนถึงหนังเรื่อง DOWN
THERE มากๆ เราเพิ่งได้ดู DOWN THERE ที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา
และก็ตกตะลึงอย่างรุนแรงกับหนังเรื่องนี้
Chrysanthi Nigianni เขียนถึงหนังเรื่องนี้ว่า “สำหรับหนังเรื่อง
DOWN THERE นั้น แอคเคอร์มานปฏิเสธที่จะทำหนัง “เกี่ยวกับ”: เกี่ยวกับอิสราเอล, เกี่ยวกับการเมือง, เกี่ยวกับความเจ็บช้ำที่ฝังใจ,
เกี่ยวกับอำนาจ, เกี่ยวกับความรุนแรง แอคเคอร์มานสร้างภาพยนตร์ที่ปฏิเสธการที่ภาพยนตร์ต้องพูดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
หรือการที่ภาพต้องพูดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง DOWN THERE เป็นภาพยนตร์ที่
“เห็น” สิ่งต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆ นี่คือภาพยนตร์ที่ “เห็น”
แต่ไม่ได้คว้าจับหรือยึดกุมสิ่งใด
นี่เป็นภาพยนตร์ที่เรียนรู้ที่จะเห็นสิ่งต่างๆในแบบที่บริสุทธิ์และไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้
ถึงแม้หนังเรื่องนี้ถ่ายทำในใจกลางของหนึ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมากที่สุด
(นครเทล อาวิฟของอิสราเอล) แอคเคอร์มานก็กล้าที่จะสร้างภาพยนตร์ของ “ผู้มองเห็น” และไม่ใช่ภาพยนตร์ของผู้กระทำการรบกวนจิตสำนึกทางการเมืองของเรา”
“A FILM THAT NEGATES THE ABOUTNESS OF FILM, THE ABOUTNESS OF THE
IMAGE; A FILM THAT SEES BUT CANNOT REPRESENT”
เราชอบแนวคิดเรื่อง “การสร้างภาพยนตร์ที่ปฏิเสธการที่ภาพยนตร์ต้องพูดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”
อย่างรุนแรงมาก เราอ่านย่อหน้าข้างต้นแล้วก็นึกถึงหนังบางเรื่องของ Teeranit Siangsanoh ด้วยเหมือนกัน
เพราะเราว่าหนังบางเรื่องของ Teeranit Siangsanoh ก็เป็นหนังที่
SEE แต่ไม่ได้ REPRESENT ในขณะที่หนังส่วนใหญ่บนโลกพยายามจะ
REPRESENT สิ่งต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่จำเป็นเลย
มันเหมือนกับว่าคนทำหนังส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ Chantal
Akerman, Teeranit Siangsanoh และผู้กำกับบางคนแสดงให้เห็นว่า
เราไม่มีความจำเป็นต้องทำหนังที่ represent สิ่งใดก็ได้
อ่านบทความของ Chrysanthi Nigianni ได้ที่นี่
2.ทั้ง DOWN THERE กับ HOTEL
MONTEREY (1972, Chantal Akerman, A+30) เป็นหนังที่เปิดกะโหลกเราอย่างรุนแรงที่สุด
เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้เหมือนมอบ “สัมผัสที่หก” ให้แก่เรา
คือมันทำให้เรามองสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันด้วยดวงตาใหม่น่ะ หนังสองเรื่องนี้เหมือนกับมอบดวงตาคู่ใหม่ให้แก่เรา
หรือทำให้เรามีสัมผัสพิเศษเพิ่มขึ้นจากเดิม
คือวิวใน DOWN THERE นี่นึกว่าถ่ายทำในราชเทวีนะ
หนังเรื่องนี้อาจจะถ่ายทำในเทล อาวิฟก็จริง
แต่ภาพตึกรามบ้านช่องในหนังเรื่องนี้นี่นึกว่าราชเทวีมากๆ 555
เพราะฉะนั้นภาพเกือบ 90% ในหนังเรื่องนี้
จึงไม่ได้แตกต่างไปจากภาพที่เราเห็นอยู่เกือบทุกวันเมื่อมองออกไปจากระเบียงอพาร์ทเมนท์ของเราเลย
แต่ทำไมเราถึงไม่เคยรู้สึกว่าภาพจากระเบียงอพาร์ทเมนท์ของเรามันน่าดึงดูด,
น่าสนใจ, น่ามอง, ทรงพลังเหมือนภาพในหนังเรื่องนี้ ทำไม Chantal Akerman,
Marguerite Duras และ Teeranit Siangsanoh ถึงสามารถถ่ายสิ่งธรรมดาต่างๆที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในชีวิตประจำวัน
แล้วทำให้มันกลายเป็น image ที่ทรงพลังมากๆสำหรับเราบนจอภาพยนตร์ได้
ในขณะที่ผู้กำกับหนังทดลองหลายๆคนทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำได้แต่ไม่ทรงพลังเท่า
อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกัน
3.พอดู DOWN THERE แล้วก็นึกถึงหนังบางเรื่องที่เป็นการถ่ายภาพ
“ระเบียงอพาร์ทเมนท์” หรือถ่ายจาก “ระเบียงอพาร์ทเมนท์” เหมือนๆกัน
และพอเอาหนังกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบกันแล้ว เราก็พบว่า DOWN THERE ให้ความสำคัญกับ “การใช้ภาพเพื่อเล่าเรื่อง” น้อยที่สุด คือภาพใน
DOWN THERE ไม่ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องเหมือนหนังเรื่องอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน
แต่ทำหน้าที่อื่นที่น่าสนใจกว่ามากๆ
หนังที่ควรนำมาเปรียบเทียบกับ DOWN THERE ในแง่นี้ก็มีเช่น
3.1 REAR WINDOW (1954, Alfred Hitchcock)
การมองออกจากระเบียงห้องตัวเองเข้าไปในห้องของคนอื่นๆ
ทำให้เราเห็นสิ่งที่อาจจะเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรม ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้คือขั้วตรงข้ามของ
DOWN THERE เพราะหนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับ
“การเห็นเหตุการณ์สำคัญ” ในขณะที่ DOWN THERE ให้ความสำคัญกับ
“การเห็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ”
3.2 ถ้าจำไม่ผิด หนังเรื่องนึงของ Pedro Almodovar ก็มีฉากการมองตัวละครผ่านทางหน้าต่างอพาร์ทเมนท์ของแต่ละห้อง
คล้ายๆ REAR WINDOW แต่จำไม่ได้ว่าเป็นหนังเรื่องไหน
อาจจะเป็น WOMEN ON THE VERGE OF A NERVOUS BREAKDOWN (1988) หรือ KIKA (1993)
3.3 BLOCK B (2008, Chris Chong Chan Fui, Malaysia)
หนังสั้นเรื่องนี้เป็นการมองอพาร์ทเมนท์คล้ายๆ DOWN THERE แต่เราไม่ได้เห็น
“เหตุการณ์สำคัญ” เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยแตกต่างจากหนังของ Hitchcock
และ Almodovar แต่หนังเรื่องนี้ก็แตกต่างจาก DOWN
THERE ในแง่ที่ว่า
เราต้องเพ่งมองภาพในหนังเรื่องนี้อย่างตั้งใจมากๆน่ะ เพื่อจะได้เดาได้ว่า
เสียงที่เราได้ยินในแต่ละวินาที มันน่าจะมาจากจุดเล็กๆจุดใดกันแน่ในภาพนั้น เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เรา
“มองอย่างตั้งอกตั้งใจสุดๆ” ในขณะที่ DOWN THERE ไม่ได้กระตุ้นเราแบบนั้น
การมองใน DOWN THERE มันเป็นการมองอย่างไม่ต้องเพ่งสมาธิ
มันเป็นเหมือนการมองที่ปล่อยให้จิตสำนึกของเราเลื่อนลอยได้ในระดับนึง คล้ายๆกับการมองในหนังเรื่อง
RUHR (2009, James Benning) หรือการมองภาพในหนังบางเรื่องของ
Marguerite Duras
3.4 EN CONSTRUCCION (2001, José Luis Guerin, Spain)
ถ้าจำไม่ผิด
หนังเรื่องนี้ก็มีการลอบมองชาวบ้านขณะทำกิจวัตรที่ระเบียงอพาร์ทเมนท์ห้องของตนเองเช่นกัน
แต่ชาวบ้านในหนังเรื่องนี้ดูเหมือนเป็น “ตัวละคร” มากกว่าใน DOWN THERE น่ะ
เพราะหนังเรื่องนี้ “เข้าใกล้” ชาวบ้านในแต่ละระเบียงห้องมากกว่า DOWN
THERE
คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ชาวบ้านในระเบียงใน EN CONSTRUCCION เหมือนกับ
“ตัวประกอบที่มีบทพูดในหนัง narrative ทั่วไป”
แต่ชาวบ้านในระเบียงใน DOWN THERE เหมือนกับ “ตัวประกอบที่ไม่มีบทพูดในหนัง
narrative ทั่วไป” น่ะ
มันเหมือนกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาบนท้องถนนขณะตัวละครเอกในหนังทั่วไปทำกิจกรรมบางอย่าง
3.5 I DID NOT DREAM LAST NIGHT (2008, Taiki Sakpisit, 10min)
หนังเรื่องนี้เข้าใกล้ DOWN THERE มากกว่าหนัง 4
เรื่องข้างต้น เพราะหนังเรื่องนี้เป็นการลอบมองคนงานก่อสร้างในตึกๆนึงขณะที่พวกเขาเหมือนกับกำลังรอคอยเวลาที่จะกลับไปทำงานต่อ
ภาพที่เราเห็นในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ “เหตุการณ์สำคัญ”
และเราไม่ต้องเพ่งมองภาพในหนังเรื่องนี้อย่างตั้งอกตั้งใจเหมือนในกรณีของ BLOCK
B มันเป็นการมองกิริยาธรรมดาของมนุษย์ธรรมดาใน moment หนึ่ง คล้ายๆกับ DOWN THERE เพียงแต่ว่า “การมอง”
ในหนังเรื่องนี้ มันเป็น moment เดียวและเป็นการมองคนกลุ่มเดียว
ไม่ใช่การมองคนหลายๆตึกหลายๆห้องในหลายๆ moment เหมือนอย่าง DOWN
THERE เพราะฉะนั้นมันก็เลยให้ความรู้สึกของการ “จดจ้อง” มากกว่า DOWN
THERE ในระดับนึง
3.6 LOOKING FROM THE TERRACE (2015, Suwaporn Worrasit)
ถ้าจะมีหนังไทยเรื่องไหน เข้าใกล้ DOWN THERE มากที่สุด
มันก็อาจจะเป็นหนังเรื่องนี้ เพราะหนังเรื่องนี้เป็นการถ่ายจากระเบียงห้องๆนึง
ไปที่คนกลุ่มนึงบนอีกดาดฟ้าตึก เป็นการลอบมองจากระยะไกลคล้ายๆ DOWN THERE และภาพที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ “เหตุการณ์สำคัญ” มากนัก
มันเหมือนการลอบบันทึกการทำงานธรรมดาของคนธรรมดากลุ่มนึงเท่านั้นเอง แต่ผู้กำกับหนังเรื่องนี้สามารถทำให้สิ่งธรรมดาๆนี้กลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากๆสำหรับคนดูอย่างเราได้
คล้ายๆ Chantal Akerman อย่างไรก็ดี การมองในหนังเรื่องนี้
ก็เป็นการมองอย่างตั้งอกตั้งใจมากกว่าการมองใน DOWN THERE ในระดับนึงนะ
ถึงแม้ I DID NOT DREAM LAST NIGHT กับ LOOKING FROM
THE TERRACE จะเป็นหนังไทยที่เข้าใกล้ DOWN THERE มากที่สุดในสายตาของเรา แต่ก็เป็นการเข้าใกล้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้นนะ
ในแง่ “ภาพ” เพราะองค์ประกอบที่สำคัญอีกครึ่งหนึ่งของ DOWN THERE คือ “เสียง” ซึ่งเป็นเสียง voice over ที่พูดถึงเรื่องต่างๆมากมาย
และเราว่าการประกอบกันของภาพกับเสียงในหนังเรื่องนี้มันน่าสนใจมากๆ
คือภาพในหนังเรื่องนี้มันแทบไม่เหมือนกับหนังเรื่องไหนบนโลกอยู่แล้ว
มันแสดงให้เห็นถึงโลกภายนอก “ห้องส่วนตัว” ที่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
เป็นโลกที่มนุษย์คนอื่นๆใช้ชีวิตของตนเองต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนเสียงของหนังเรื่องนี้เหมือนสะท้อน “โลกภายใน” ได้เป็นอย่างดี
มันสะท้อนอดีตและความรู้สึกนึกคิดภายในของคนๆนึง เพราะฉะนั้นการประกอบกันของภาพ
(โลกภายนอก) กับเสียง (โลกภายใน) ในหนังเรื่องนี้ ก็เลยน่าสนใจสุดๆสำหรับเรา
No comments:
Post a Comment