ANAHI
(2014, Camilia Rodriguez Triana, Colombia, 12min, A+30)
1.ชอบวิธีการคิดภาพของหนังเรื่องนี้มาก
คือภาพที่ใช้ในหนังต่างๆอาจจะแบ่งออกได้ง่ายๆแบบนี้
1.1 ภาพที่เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา
ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในหนังโรงทั่วไป
1.2 ภาพที่ไม่ได้เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในหนังหลายๆเรื่องในเทศกาล Signes de Nuit ปีนี้ ซึ่งภาพกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปอีกได้เป็น
1.2.1 ภาพที่มีความเข้มข้นสูง
หรือเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมาย
หรือมีการตัดสลับภาพที่แตกต่างกันหลายภาพในระหว่างการเล่าเรื่อง อย่างเช่นภาพใน THE
GOLDEN LEGEND (2015, Olivier Smolders), BLIGHT (1996, John Smith, UK),
DECODINGS (1988, Michael Wallin)
1.2.2 ภาพที่มีความเข้มข้นต่ำ
ซี่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพบรรยากาศ ภาพที่เหมือนไม่ค่อยมีอะไรอยู่ในภาพมากนัก ภาพที่ดู
minimal ซึ่งในกลุ่มนี้เราอาจจะแบ่งออกไปอีกได้เป็น
1.2.2.1 หนังที่ใช้ภาพกลุ่มนี้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
อย่างเช่น THE SUICIDE FOREST, MEMENTO MORI, THE ATOM STATION,
CONTINENTAL DRIFT, LETTERS OF WAR, AMONG US, MARS CLOSER, MOST OF US DON’T LIVE
THERE ในเทศกาล Signes de Nuit ปีนี้
1.2.2.2
หนังที่ใช้ภาพกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ อย่างเช่น หนังของ Marguerite
Duras, หนังของ Chantal Akerman, หนังเรื่อง A
WOMAN AND HER CAR (2015, Loic Darses) และ ANAHI
คือเรารู้สึกว่า ผู้กำกับ ANAHI
เขาคิดภาพมาดีมากๆน่ะ
เขาไม่ได้ใช้ภาพในการเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา
แต่เขาสร้างสรรค์ภาพที่ทรงพลังขึ้นมาใช้ประกอบหนังของเขา
ซึ่งเป็นภาพเด็กหญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งยืนกระสับกระส่ายเป็นเวลา 12 นาทีอยู่ด้านหลังกระจกที่มีฝ้าน้ำเกาะอยู่
ในขณะที่ผู้ชมได้ยินเสียงโทรศัพท์จากแม่ของเด็กหญิงเป็นระยะๆ
คือถ้าหากเป็นหนังทั่วไป หนังก็อาจจะนำเสนอภาพคุณแม่โทรศัพท์มาหา
และภาพเด็กหญิงรับโทรศัพท์อย่างตรงไปตรงมาเลย ซึ่งมันจะส่งผลให้หนังไม่ทรงพลัง
หรือถ้าหากเป็นหนังทดลองที่ผู้กำกับไม่เก่งพอ
เขาก็อาจจะเลือกใช้ภาพบรรยากาศของสถานที่อยู่ของตัวละคร
หรือภาพกิจวัตรประจำวันของเด็กหญิงคนนี้
ซึ่งถ้าหากมันเป็นภาพที่ไปคล้ายกับหนังทดลองเรื่องอื่นๆ หรือเป็นภาพที่ไม่ตราตรึงใจมากพอ
หนังมันก็จะไม่ทรงพลังแบบนี้
แต่เราว่าภาพใน ANAHI
มันทรงพลังมากน่ะ มันไม่คล้ายคลึงภาพที่เราพบในหนังทดลองเรื่องอื่นๆ
มันเป็นภาพที่น่าสนใจ มันมีทั้ง “ความหยุดนิ่ง” และ “ความเป็นอิสระ หรือความเป็นธรรมชาติ” อยู่ในขณะเดียวกัน และมันเป็นภาพที่เชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องในแบบไม่ตรงไปตรงมาเสียทีเดียว
เราก็เลยรู้สึกว่าผู้กำกับเขาออกแบบภาพมาได้ดีมากๆ
2.ปกติแล้วเราไม่ชอบเด็กเล็กนะ
แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เราจ้องมองเด็กหญิงตัวเล็กๆเป็นเวลาติดต่อกัน 12 นาทีได้โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายอย่างรุนแรง เพราะว่า
2.1 มันไม่ได้ขาย “ความน่ารัก”
ของเด็กน่ะ คือเราว่าสาเหตุที่เราไม่ชอบเด็กในหนังส่วนใหญ่
เป็นเพราะมันพยายามจะขายความน่ารักของเด็ก แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เข้าข่ายนั้น
2.2 หนังเรื่องนี้ไม่ได้ขาย “ความสามารถทางการแสดง”
ของเด็กด้วย เพราะเด็กในหนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงเป็นตัวละครที่ต้องพูดหรือแสดงอารมณ์ตามบทบาทที่ได้รับมา
แต่เหมือนกับว่าเธอยืนกระสับกระส่ายไปเรื่อยๆ นานถึง 12 นาที
โดยเราไม่รู้ว่าเธอยืนไปเรื่อยๆโดยไม่มีบท
หรือว่าผู้กำกับสั่งให้เธอทำท่าทำทางตามที่บอกไปเรื่อยๆ
แต่เราว่าน่าจะเป็นประการแรกมากกว่า
การที่เด็กหญิงในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ใน “กรอบของความน่ารัก” และ “กรอบของการเล่นไปตามบทบาทตัวละคร” มันเลยทำให้เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติที่น่าสนใจบางอย่างในการแสดงของเธอน่ะ
เราก็เลยไม่ได้เบื่อการที่ต้องจ้องมองเด็กหญิงคนนี้
2.3 เราชอบพวกฝ้าน้ำ หยดน้ำอะไรพวกนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย
เพราะฉะนั้นการที่ภาพของเด็กหญิงถูกบดบังด้วยฝ้าน้ำ หยดน้ำ
ที่มีการเคลื่อนไหวทีละเล็กทีละน้อย มันก็เลยช่วยเพิ่มความสวยงาม, ลดความน่าเบื่อ และอาจจะกระตุ้นความคิดไปด้วยในขณะเดียวกัน
3.การที่ผู้ชมถูกบังคับให้จ้องมองภาพที่แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยเป็นเวลานาน
12 นาที
ในแง่นึงมันอาจจะช่วยนำเสนอความทรมานหรือความเบื่อหน่ายของตัวละครได้ด้วย
4.อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชอบ ANAHI ก็คือว่า จริงๆแล้วประเด็นเรื่อง “การต้องใช้ชีวิตอยู่ห่างจากแม่ผู้เป็นที่รักยิ่ง”
มันเคยถูกนำเสนอมาแล้วในหนังทดลองที่ดีมากๆสองเรื่อง แต่ ANAHI
ก็สามารถสร้างความแตกต่างจากหนังสองเรื่องนั้นได้
โดยหนังสองเรื่องนั้นก็คือ
4.1 0016643225059 (1994, Apichatpong Weerasethakul)
4.2 NEWS FROM HOME (1977, Chantal Akerman)
4.2 NEWS FROM HOME (1977, Chantal Akerman)
No comments:
Post a Comment