Tuesday, March 15, 2016

A COUCH IN NEW YORK (1996, Chantal Akerman, A+30)

A COUCH IN NEW YORK (1996, Chantal Akerman, A+30)

1.เหมือนนักวิจารณ์บางคนจะด่าหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง แต่เรายกให้หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนัง romantic comedy ที่เราชอบที่สุดในชีวิตเลย ทำไมเราดูแล้วถึงรู้สึกว่ามันเวิร์คมากๆ เพลิดเพลินกับมันมากๆก็ไม่รู้

2.ไม่นึกว่า Chantal Akerman จะทำหนังที่มัน “สูตรสำเร็จ” มากๆแล้วออกมาเวิร์คแบบนี้ได้ คือดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ขำที่มันมีองค์ประกอบของความเป็น “สูตรหนัง romantic comedy” อย่างครบถ้วนมากๆเลยนะ คือแทบไม่แตกต่างไปจากหนังฮอลลีวู้ดในทศวรรษ 1990 และหนังไทยเมนสตรีมในทศวรรษ 2000 เลยน่ะ ในด้าน “โครงสร้าง” หรือ “องค์ประกอบ” ต่างๆของมัน แต่ทำไม A COUCH IN NEW YORK ถึงทำให้เรารู้สึกชื่นมื่นหฤหรรษ์กับมันมากๆ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ในขณะที่หนัง romantic comedy ส่วนใหญ่เป็นหนังที่เราดูแล้วไม่อินกับมันเลย

3.เราชอบทั้งหนังไม่เล่าเรื่องและหนังเล่าเรื่องของ Chantal Akerman อย่างสุดๆเลยนะ คือพอดูหนังเล่าเรื่องของ Chantal Akerman อย่าง NIGHT AND DAY (1991), A COUCH IN NEW YORK และ TOMORROW WE MOVE (2004) เราก็พบว่าเราชอบมันอย่างสุดๆทั้งสามเรื่อง ทั้งๆที่มันมีลักษณะไม่เข้ากับกฎที่เราตั้งไว้ 555

คือปกติแล้วเวลาเราดูหนังเมนสตรีมส่วนใหญ่ เราจะไม่ชอบมันเท่าไหร่นัก เพราะหนังเมนสตรีมหลายๆเรื่อง treat ตัวละครในแบบที่ไม่ค่อยเป็นมนุษย์น่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเหมือนเป็นกฎข้อนึงสำหรับเราในการใช้มองหนังต่างๆว่า หนังเรื่องนั้นปฏิบัติต่อตัวละครในแบบที่มันเป็นมนุษย์จริงๆหรือไม่ หรือใช้ตัวละครเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการทำให้คนดูรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ในฉากนั้นฉากนี้ตามเส้นกราฟอารมณ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยไม่ต้องสนใจว่าถ้าหากตัวละครตัวนั้นเป็นมนุษย์จริงๆ แล้วตัวละครตัวนั้นมันจะยังรู้สึกหรือทำแบบนั้นในฉากนั้นหรือเปล่า

แต่หนังเล่าเรื่องของ Chantal Akerman อย่าง NIGHT AND DAY, A COUCH IN NEW YORK และ TOMORROW WE MOVE ก็ไม่ได้มีความพยายามจะทำให้ตัวละครดู realistic เป็นมนุษย์นะ แต่มันกลับออกมา work สุดๆสำหรับเรา ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม

หรือจริงๆแล้วมันเป็นเพียงแค่ “การไม่ฝืนอารมณ์” น่ะ คือถึงตัวละครมันจะเปยังเป็น “ตัวละค้อน ตัวละคร” และการแสดงออกทางอารมณ์ของมันจะเกินจริงในบางฉาก แต่เส้นอารมณ์ของมันไม่ฝืนความรู้สึกเรา

คือเราว่าการแสดงในหนังเล่าเรื่องของ Chantal Akerman มันไม่เน้นความ realistic มันไม่เน้นการแสดงแบบสมจริง มันเหมือนจงใจให้ “ถอยห่างจากความสมจริงราวหนึ่งสเต็ป” อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่แปลกดี เพราะหนังส่วนใหญ่จะพยายามให้นักแสดงแสดงแบบ realistic และถ้าหากนักแสดงเล่นแข็งเกินไป มันจะไม่ดี

แต่การแสดงใน NIGHT AND DAY มันดูจงใจแข็ง (ถ้าจำไม่ผิด) มันไม่แคร์ความสมจริงทางการแสดง แต่อารมณ์มันได้ มันใช่เลยน่ะ ในขณะที่การแสดงใน A COUCH IN NEW YORK กับ TOMORROW WE MOVE ตัวละครก็ดูเหมือนจะ “อารมณ์ดีเกินมนุษย์จริงๆอยู่ขั้นนึง” เกือบตลอดเวลา อะไรทำนองนี้ หรือดูออกห่างจากความสมจริงในระดับนึงเกือบตลอดเวลา แต่อารมณ์ที่ได้มันกลับออกมาเป๊ะมากๆ

มันเหมือนกับว่า ในหนังทั่วไปนั้น หนังพยายามจะใช้ “การแสดงแบบสมจริง” เพื่อสื่อ “อารมณ์ A” ไปถึงผู้ชม ซึ่งถ้าหากนักแสดงเล่นไม่สมจริงในฉากนั้น อารมณ์ A ก็อาจจะสื่อไปถึงผู้ชมไม่ได้ หรือได้ไม่ครบถ้วน

แต่ในหนังของ Chantal Akerman นั้น เหมือนเธออยู่เหนือกว่านั้นอีกขั้นนึง เหมือนเธอรู้ว่า ถ้าหากใช้สัญญะแบบนี้ gesture แบบนี้ การโพสท่าแบบนี้ ลีลาแบบนี้ มันก็สื่ออารมณ์ A ไปถึงผู้ชมได้โดยตรงเหมือนกัน โดยไม่ต้องผ่าน “การแสดงแบบสมจริง” มันก็เลยน่าสนใจมากๆสำหรับเรา

คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ในหนังเมนสตรีมทั่วไปนั้น หนังพยายามจะ “วาดภาพ portrait” เพื่อสื่ออารมณ์ต่างๆไปถึงผู้ชมน่ะ และถ้าหากศิลปิน/ผู้กำกับคนไหน วาดภาพ portrait ได้ไม่ดีพอ อารมณ์มันก็จะไปไม่ถึงผู้ชม

แต่ในหนังบางเรื่องของ Chantal Akerman นั้น เธอไม่ได้พยายามจะวาดภาพ portrait แต่เธอวาดภาพ sketch เธอแค่ sketch ใบหน้าตัวละคร เธอไม่ต้องวาดเส้นผมทุกเส้นอย่างละเอียด ไม่ต้องลงสีผิวตัวละคร ไม่ต้องลงแสงเงาที่สมจริง เธอแค่วาดภาพ sketch คร่าวๆของตัวละคร แต่อารมณ์มันกลับออกมาเป๊ะกว่าความพยายามจะวาดภาพ portrait ในหนังหลายๆเรื่องเสียอีก

สรุปง่ายๆว่า ถ้าหากถามว่าตัวละครในหนังอย่าง A COUCH IN NEW YORK เป็น “มนุษย์จริงๆ” ไหม เราก็ต้องตอบว่าไม่ แต่ถ้าหากถามว่าเราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆไหม เราก็ต้องตอบว่าใช่ เพราะอารมณ์ในหนังมันเป๊ะมากๆ หนัง narrative บางเรื่องของ Chantal มันเหมือนภาพ sketch ที่ไม่ได้แคร์ความสมจริง แต่มันจับแค่โครงร่าง+สัญญะบางอย่าง แล้วมันก็สื่ออารมณ์ความรู้สึกออกมาได้เป๊ะเลย โดยไม่ต้องสื่อสิ่งนั้นผ่านทาง “ความสมจริงแบบภาพ portrait”

4.พอได้ดู DOWN THERE (2006, Chantal Akerman, A+30) กับ A COUCH IN  NEW YORK หลังจาก Chantal Akerman ฆ่าตัวตายไปแล้ว ก็เลยเหมือนกับว่าทำให้เราเหมือนเห็น “ลางบอกเหตุล่วงหน้า” อะไรบางอย่างในหนังสองเรื่องนี้ อย่างเช่นบางอย่างที่ Chantal พูดใน DOWN THERE ที่ว่า

I’m here, in an apartment, which is not mine. Basically, I don’t know how to live. Out of the feeling that if I sink, well then I should just sink. I should just deny myself. Like I usually do.

หรือใน A COUCH IN NEW YORK ตัวละครนางเอกก็พูดว่า การสูญเสียพ่อกับแม่ไปนั้น มันเป็นอะไรที่รุนแรงสุดๆ มันเหมือนกับว่า suddenly คุณก็อยู่อ้างว้างตามลำพังในโลกใบนี้


คือทั้ง DOWN THERE กับ A COUCH IN NEW YORK มันสะท้อนถึงความผูกพันที่รุนแรงมากๆระหว่าง “แม่กับลูกสาว” น่ะ เพราะฉะนั้นพอเห็นอะไรแบบนี้ในหนังแล้ว มันก็เลยทำให้เรานึกถึงเรื่องที่ Chantal Akerman ฆ่าตัวตายหลังจากที่แม่เสียชีวิตไปได้ไม่นาน

No comments: