Saturday, March 19, 2016

THIRD SISTER LIU (1960, Li Su, China, A+30)

THIRD SISTER LIU (1960, Li Su, China, A+30)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

1.กลายเป็นหนึ่งในหนังเพลงที่ชอบที่สุดในชีวิตในทันที ติดอันดับประจำปีนี้ของเราอย่างแน่นอน

ไม่แน่ใจว่าการร้องเพลงพื้นบ้านในหนังเรื่องนี้มันคล้ายๆงิ้วหรือเปล่า แต่รู้สึกว่ามันไพเราะสุดๆ ชอบทั้งความไพเราะของเพลง, เนื้อหาของเพลง, ตัวละครนางเอก, เนื้อเรื่อง, การถ่ายภาพ

2.ดูแล้วนึกถึง ALL THAT JAZZ (1979, Bob Fosse)  และ OM SHANTI OM (2007, Farah Khan) ในแง่ที่ว่า หนังเพลงทั้งสามเรื่องนี้มันทำให้เราตกตะลึงกับความงดงามของศิลปะบางแขนงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และถ้าหากเรารู้จักกับความงดงามของศิลปะแขนงนี้เร็วกว่านี้ มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตเราอย่างสิ้นเชิงไปแล้วก็ได้

คือเราดู ALL THAT JAZZ ตอนที่มันมาฉายทางช่อง 7 เมื่อราว 25 ปีก่อน ตอนนั้นเรากับเพื่อนๆเรียนมหาลัยแล้ว แต่พอได้ดู ALL THAT JAZZ และตกตะลึงกับความงดงามของ choreography ในหนังเรื่องนี้ เรากับเพื่อนๆก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าหากเราได้ดู ALL THAT JAZZ ตั้งแต่ตอนอยู่มัธยมต้น มีสิทธิพวกเราลงสมัครเรียน dance กันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว” เพราะก่อนที่เราจะได้ดู ALL THAT JAZZ เรากับเพื่อนๆไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า การเต้นรำมันจะเป็นสิ่งที่งดงามขนาดนี้

ตอนดู THIRD SISTER LIU เราก็รู้สึกคล้ายๆกัน คือเราไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า การร้องเพลงพื้นบ้านจีนมันจะไพเราะขนาดนี้ มีสิทธิถ้าหากเรากับเพื่อนๆได้ดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ มีสิทธิพวกเราตามดูงิ้วกันอย่างจริงจังไปแล้ว หรือลงสมัครเรียนร้องเพลงกันไปแล้ว

ส่วน OM SHANTI OM นั้นก็เป็นหนังเปลี่ยนชีวิตเราในแง่ที่ว่า ก่อนหน้าที่เราจะได้ดูหนังเรื่องนี้ เราไม่สนใจจะดูหนังบอลลีวู้ดของอินเดียเลย เราเติบโตมากับความรู้สึกแง่ลบกับหนังบอลลีวู้ด และถึงแม้เราจะเคยดูหนังบอลลีวู้ดมาประมาณ 10 เรื่องก่อนหน้า OM SHANTI OM เราก็ไม่ได้ชอบมันสักเท่าไหร่ แต่พอเราได้ดู OM SHANTI OM ปุ๊บ เราก็รู้สึกว่า จริงๆแล้วการร้องเพลงเต้นรำในหนังบอลลีวู้ดนี่มันสวยงามมากๆ สนุกมากๆ บันเทิงมากๆ เราก็เลยหันมาตามดูหนังบอลลีวู้ดอย่างจริงจังมากขึ้นหลังจากนั้น

3.ตัวละครนางเอกนี่คือสไตล์นางเอกแบบที่เราชอบจริงๆ เธอเป็นสาวกร้าวแกร่งห้าวหาญ ด่าแหลก เธอมีความเข้มแข็งทางใจมากๆ

ซึ่งมันจะแตกต่างจากหนัง musical ของจีนเรื่องอื่นที่เราได้ดู ซึ่งก็คือเรื่อง THE KINGDOM AND THE BEAUTY (1959, Li Han Hsiang, Hong Kong) น่ะ คือเรื่องนั้นเราก็จำได้ว่ามันงดงามมากๆนะ แต่เราว่าเพลงเพราะสู้ THIRD SISTER LIU ไม่ได้ และตัวละครนางเอกก็ไม่ใช่สไตล์เราด้วย

เราจำรายละเอียดใน THE KINGDOM AND THE BEAUTY ไม่ได้แล้ว แต่รู้สึกว่าหนังสองเรื่องนี้น่าเปรียบเทียบกันเป็นอย่างมาก ในแง่ท่าทีที่โลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์มีต่อโลกศักดินาสมัยโบราณ คือเราว่าทั้ง THE KINGDOM AND THE BEAUTY กับ THIRD SISTER LIU ต่างก็ไม่ชอบโลกศักดินาสมัยโบราณทั้งคู่ แต่ THE KINGDOM AND THE BEAUTY นำเสนอออกมาในแบบค่อนข้างประนีประนอม กึ่งรักกึ่งเกลียดโลกศักดินา ส่วน THIRD SISTER LIU นี่เป็นการโค่นล้มทำลายระบอบศักดินาอย่างรุนแรง ดูแล้วก็สะใจเราเป็นอย่างยิ่ง

ท่าทีที่แตกต่างกันระหว่าง THE KINGDOM AND THE BEAUTY กับ THIRD SISTER LIU ที่มีต่อชนชั้นสูง ยังทำให้เรานึกถึงความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อละครโทรทัศน์อย่าง “บ้านทรายทอง” (เวอร์ชั่นมนฤดี ยมาภัย) กับหนังอย่าง LA CEREMONIE (1995, Claude Chabrol)  ด้วย เพราะบ้านทรายทองกับ LA CEREMONIE ก็เป็นการแสดงท่าทีต่อชนชั้นสูงเหมือนกัน แต่ในแบบที่แตกต่างจากกันอย่างรุนแรงมาก

เราไม่อินกับนางเอกของ “บ้านทรายทอง” และ THE KINGDOM AND THE BEAUTY แต่อินกับนางเอกของ THIRD SISTER LIU และ LA CEREMONIE ก็เพราะท่าทีที่แตกต่างกันของนางเอกในหนังสองกลุ่มนี้นี่แหละ

4.นอกจากความไพเราะอย่างสุดขีดของเพลงใน THIRD SISTER LIU แล้ว เนื้อเพลงก็โดนใจเราอย่างสุดๆด้วย ทั้งในส่วนของ

4.1 การพูดบรรยายธรรมชาติด้วยแง่มุมที่เราไม่เคยนึกมาก่อน อย่างเช่น
”ต้นไม้บนยอดเขา ส่งกลิ่นหอมมาถึงตีนเขา” หรือ “น้ำจากแม่น้ำสามารถเอ่อท้นจนท่วมทำลายประเทศทั้งประเทศได้”

4.2 การด่าทอศักดินาอย่างรุนแรงสุดๆ

4.3 การประลองเชาว์ปัญญากัน

5.ชอบที่ศักดินาในเรื่องนี้ไม่ได้ใช้ “กำลัง” เพียงอย่างเดียวในการสยบชนชั้นล่าง แต่ใช้วิธีการอื่นๆด้วย อย่างเช่น “ใช้ปัญญาชนเป็นเครื่องมือ” และ “ใช้วัตถุนิยมเป็นเครื่องมือ”


6.ชอบฉากการร้องเพลงปะทะกันในหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เราว่ามันโดนใจเรามากกว่าฉาก “เต้นปะทะกัน” ในหนังกลุ่ม STEP UP และโดนใจเรามากกว่าการร้องเพลงแร็พปะทะกันด้วย

No comments: