Saturday, March 05, 2016

A WHOLE NIGHT (TOUTE UNE NUIT) (1982, Chantal Akerman, Belgium, A+30)

A WHOLE NIGHT (TOUTE UNE NUIT) (1982, Chantal Akerman, Belgium, A+30)

ไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะมีหนังแบบนี้อยู่ในโลกด้วย คือมันเป็นหนังที่สร้างขึ้นใหม่แต่ทำออกมาแล้วนึกว่าเป็นหนัง found footage ที่ตัดฉากไคลแมกซ์จากหนังโรแมนติก 50 เรื่องเข้ามารวมไว้ในหนังเรื่องเดียวกันน่ะ หนังตลอดทั้งเรื่องนำเสนอฉากสั้นๆของคู่รักแต่ละคู่ในคืนคืนหนึ่ง โดยเรานับไม่หวาดไม่ไหวว่ามันมีกี่คู่ในหนังเรื่องนี้ อาจจะมีประมาณ 50คู่ได้มั้ง เราไม่รู้ที่มาที่ไปของคู่รักแต่ละคู่เลย ไม่รู้ว่าตัวละครแต่ละตัวในหนังเรื่องนี้มันมีประวัติความเป็นมายังไงบ้าง เราเห็นบางคู่เพิ่งพบกันเป็นครั้งแรก, บางคู่ก็ร่ำลากัน, บางคู่ก็งอนง้อกัน, บางคู่ก็คืนดีกัน, บางคู่ก็แยกกันแล้วก็กลับมาคืนดีกันใหม่ 

มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากสำหรับเรา คือเราว่าเราดูหนังมาเยอะมากแล้วนะ แต่หนังแบบเรื่องนี้นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อนจริงๆ สิ่งที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็มีเช่น

1.เรารู้สึกรุนแรงมากๆกับบางฉาก ทั้งๆที่เราไม่รู้ที่มาที่ไปของตัวละครเลย อย่างเช่นฉากที่เด็กสาวคนนึงเข้ามานั่งหมดอาลัยตายอยากอยู่ในบาร์ จนชายวัยประมาณ 30-40 ปีที่ยืนฟังเพลงอยู่ใกล้ๆอาจจะเวทนาเด็กสาวคนนี้ ก็เลยชวนเด็กสาวคนนี้เต้นรำ 

เรารู้สึกว่าฉากนี้มันซึ้งมากๆ ทั้งๆที่เราไม่รู้ประวัติของตัวละครเลย เราไม่รู้ว่าเด็กสาวคนนี้มีชีวิตบัดซบมายังไงบ้างก่อนที่จะเดินเข้ามาในฉากนี้ เราไม่รู้ว่าเด็กสาวกับชายหนุ่มในฉากนี้จะพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อไปยังไง เรารู้แค่ว่าอารมณ์ในฉากนี้มันซึ้งสุดๆสำหรับเรา

และมันก็มีฉากอื่นๆอีกที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงแบบนี้ และมันก็เลยทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า จริงๆแล้วอารมณ์ของเรามันถูกกระตุ้นได้ง่ายกว่าที่คาดมากๆ คือปกติแล้วเราจะนึกว่า หนังมันต้องปูตัวละครมาอย่างดีก่อน ต้องเล่าเรื่องมาเรื่อยๆอย่างดีก่อน ต้องไล่เรียงลำดับขั้นทางอารมณ์มาอย่างดีก่อน แล้วถึงค่อยพาผู้ชมเข้าสู่อารมณ์รุนแรงสุดๆในฉาก climax

แต่หนังเรื่อง A WHOLE NIGHT แสดงให้เห็นว่า อยู่ดีๆอารมณ์ของเราก็พุ่งปรี๊ดได้เลย โดยไม่ต้องมีการปูเรื่อง อารัมภบทใดๆทั้งสิ้น แล้วไอ้อารมณ์ที่พุ่งปรี๊ดได้อย่างทันทีนี่มันมาจากไหนกัน

หรือมันเป็นเพราะเราถูกโปรแกรมมาแล้วจาก สังคมและ ภาพยนตร์ที่เราเคยดูๆกันมาแล้วก่อนหน้านี้ คือสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่และภาพยนตร์/ละครทีวีที่เราเคยดูมาแล้วก่อนหน้านี้ มันได้ปลูกฝังบางอย่างให้กับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว มันได้ปลูกฝังเราว่า พอเราเห็น ฉากแบบนี้และ ตัวละครทำแบบนี้เราควรจะต้องรู้สึกแบบนี้โดยอัตโนมัติ

คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า เวลาหนังทั่วๆไปมันเล่าเรื่อง narrative แบบปกติ มันเหมือนกับว่าหนังทั่วๆไปมันแสดงให้เราเห็นตัวอักษร A, B, C, D, E, F,G จนไปถึงฉากไคลแมกซ์ และจบด้วย X, Y, Z น่ะ 

แต่หนังเรื่อง A WHOLE NIGHT นี้ เหมือนตัดมาแค่ฉาก “U V W” จากหนังเรื่องนึง แล้วต่อด้วยฉาก “S T U” จากหนังอีกเรื่องนึง แล้วต่อด้วยฉาก “M N O” จากหนังอีกเรื่องนึงน่ะ แต่เพียงแค่เราเห็นฉาก “U V W” เท่านั้นแหละ อารมณ์เราก็พุ่งปรี๊ดถึงขีดสุดเหมือนเราได้ดู “A, B, C..จนถึง T” มาแล้วก่อนหน้านี้เลย เพราะ สังคมและ ภาพยนตร์ที่เราเคยดูมาก่อนหน้านี้ มันทำให้เราจินตนาการเรื่องราวก่อนหน้าฉากเหล่านี้ได้เองโดยอัตโนมัติ และมันทำให้เราแสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์โดยอัตโนมัติต่อฉาก cliché เหล่านี้ได้ในทันที

2.เพราะฉะนั้นการดู A WHOLE NIGHT ก็เลยทำให้เรากลัวตัวเองมากๆ เพราะมันทำให้เราตระหนักว่า อารมณ์ที่เราคิดว่ามัน จริงหรือ มัน งดงามมากๆที่เกิดขึ้นกับตัวเราเวลาเราดูหนังเรื่องต่างๆนั้น จริงๆแล้วอารมณ์เหล่านี้มันถูกกระตุ้นได้ง่ายมากหรือถูmanipulate ได้อย่างง่ายดายสุดๆโดยผู้สร้างภาพยนตร์ คือเพียงแค่เขาใช้ดนตรีประกอบแบบนี้ และตัวละครทำกิจกรรมแบบนี้ในฉากสถานที่แบบนี้ แค่นั้นเขาก็สามารถ manipulate อารมณ์คนดูได้อย่างรุนแรงแล้ว เพราะคนดูเหมือนกับถูกตั้งโปรแกรมไว้แล้วว่าต้องรู้สึกอย่างนี้ๆเวลาได้พบได้ยินอะไรแบบนี้

หรือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า การดู A WHOLE NIGHT เหมือนกับการดู นักมายากลที่เปิดเผยเคล็ดลับของตนเองน่ะ คือในขณะที่เราดูหนังเรื่องอื่นๆนั้น เราเหมือนกับดูนักแสดงมายากลที่เล่นเก่ง ทำให้เราทึ่งตะลึงงันกับการแสดงของเขา แต่เราไม่รู้ว่าเขาทำอะไรแบบนั้นได้ยังไง แต่พอเราดู A WHOLE NIGHT เรากลับรู้สึกทึ่งตะลึงงันไปกับกลของเขา และเราก็รู้ด้วยว่าเขาทำแบบนั้นได้ยังไง เพราะเขาเปิดเผยกลไกต่างๆให้เราดูจนหมดไปด้วยในขณะเดียวกัน

3.อีกฉากที่ชอบสุดๆในเรื่องนี้คือฉากที่ สามีภรรยาวัยประมาณ 50-60 ปีนั่งดูโทรทัศน์กัน แล้วภรรยาก็ชวนสามีออกไปเดินนอกบ้านในยามกลางคืนเพราะอากาศดี 

ส่วนฉากที่เราว่าเล่นกับ cliché หรือเล่นกับ โปรแกรมที่ฝังอยู่ในหัวคนดได้ดีสุดๆอีกฉากนึง คือฉากที่ชายหนุ่มสองคนกับหญิงสาวหนึ่งคนนั่งทำหน้าตาบอกอารมณ์ได้ยากอยู่ในบาร์ แล้วทั้งสามคนก็เดินออกมาจากบาร์ แล้วชายหนุ่มคนนึงก็พูดกับหญิงสาวว่า เธอต้องเลือกเราคนใดคนหนึ่งแล้วล่ะแล้วทั้งสามคนก็เตลิดกันไปคนละทิศคนละทาง

คือหนังไม่ต้องเล่าประวัติความเป็นมาของตัวละคร 3 คนนี้ใดๆทั้งสิ้น แต่หนังอาศัยเวลาแค่ 30 วินาทีเท่านั้น หนังก็สามารถกระตุ้น โปรแกรมฝังหัวคนดูเกี่ยวกับหนังรักสามเส้าให้ทำงานได้ในทันที คือหนังเรื่องนี้อาศัยเวลาแค่ 30 วินาทีในการทำให้อารมณ์ของเราพุ่งปรี๊ดขึ้นมาได้เท่ากับการดูหนังรักสามเส้าจบไปแล้วสององก์แรก

4.ขำที่มีประมาณ 30 ฉากในเรื่องนี้ที่ตัวละครต้องวิ่งไล่ตามกันเพื่อไขว่คว้าความรักเอาไว้ให้ได้ คือฉากแบบนี้มันเป็น cliché ของหนังโรแมนติกจริงๆน่ะแหละ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ฉากวิ่งไล่ตามกันส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้เป็นการ วิ่งขึ้นลงบันไดซึ่งแตกต่างจากหนังโรแมนติกของญี่ปุ่นที่ชอบมีตัวละครวิ่งๆแบบนี้เหมือนกันในช่วงท้ายเรื่อง แต่มันเป็นการวิ่งไปตามถนนในแนวระนาบ เราเดาว่ามันคงเป็นเพราะ สภาพบ้านเมืองที่แตกต่างกัน่ะแหละ คือในเบลเยียมผู้คนคงอาศัยอยู่ในตึกหลายชั้นแบบนี้ เพราะฉะนั้นคู่รักก็เลยต้องวิ่งไล่ตามกันตามขั้นบันไดในอาคาร แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คงไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ทเมนท์หลายชั้นแบบในเบลเยียม เพราะฉะนั้นคู่รักในหนังญี่ปุ่นก็เลยต้องวิ่งไล่ตามกันในแนวระนาบแทน

5.หนังที่คล้ายกับเรื่อง A WHOLE NIGHT มากๆคือ LOVE (2003, Tracey Moffatt, A+30) แต่ LOVE เป็นหนัง found footage จริงๆ และเป็นการรวบรวมฉากโรแมนติกจากหนังราว 50 เรื่องมาไว้ด้วยกันจริงๆ ซึ่งมันจะส่งผลทางอารมณ์ต่อเราในแบบที่แตกต่างจาก A WHOLE NIGHT เพราะเวลาที่เราดู A WHOLE NIGHT นั้น หัวสมองของเราจะจินตนาการ เรื่องราวก่อนหน้าของตัวละครแต่ละตัวโดยอัตโนมัติ แต่เวลาที่เราดู LOVE นั้น เรารู้อยู่แล้วว่าตัวละครเหล่านี้มันมีเรื่องราวที่เฉพาะมากๆในหนังของตัวเอง เราก็เลยไม่จินตนาการเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้ แต่มุ่งความสนใจไปที่การเชื่อมโยงอากัปกิริยาที่คล้ายๆกันของตัวละครในหนังเรื่องต่างๆแทน

6.หนังอีกเรื่องที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับ A WHOLE NIGHT ได้คือ DAY OF THE FULL MOON (1998, Karen Shakhnazarov, Russia, A+30) ที่ตลอดทั้งเรื่องมีแต่ตัวละครจ้องกันไปจ้องกันมา คือมีตัวละครประมาณ 100 ตัวได้มั้ง เป็น A มอง B แล้ว B ก็มอง C แล้ว C ก็มอง D ต่อไปเรื่อยๆจนจบเรื่อง โดยเราแทบไม่รู้ที่มาที่ไปของตัวละครเลย เรารู้แค่เรื่องราวเล็กๆน้อยๆของตัวละครแต่ละตัวในนาทีที่มองเห็นตัวละครอีกคนหนึ่งเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี DAY OF THE FULL MOON ก็แตกต่างจาก A WHOLE NIGHT มากๆ เพราะ DAY OF THE FULL MOON ไม่ได้เล่นกับ cliché ทางภาพยนตร์น่ะ หนังก็เลยไม่ได้กระตุ้นจินตนาการของเราให้สร้างเรื่องราวก่อนหน้าเกี่ยวกับตัวละครแต่ละตัวในแบบเดียวกับ A WHOLE NIGHT

สรุปว่ากราบตีน Chantal Akerman จริงๆค่ะ คือพอได้ดู HOTEL MONTEREY (1972) กับ A WHOLE NIGHT (1982) ที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราก็ขอยกให้ Chantal Akerman เป็น 1 ใน 3 ของผู้กำกับหญิงที่เราชอบมากที่สุดในชีวิตในทันที (ส่วนอีกสองคนคือ Marguerite Duras กับ Ulrike Ottinger)

หนังของชองตาลที่เราเคยดูมาก่อนหน้านี้
http://celinejulie.blogspot.sg/2015/10/rip-chantal-akerman.html

No comments: