Thursday, March 10, 2016

SEA OF ASH (2015, Michael MacGarry, South Africa, A+30)

SEA OF ASH (2015, Michael MacGarry, South Africa, A+30)

หนังสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องของผู้อพยพจากแอฟริกาที่ลักลอบเข้ามาในยุโรป ซึ่งเราเคยดูหนังที่พูดถึงประเด็นนี้มาแล้วประมาณ 100 เรื่อง แต่เรื่องนี้แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆตรงที่มันไม่เล่าเรื่องอะไรเลย เราดูแล้วก็งงมากๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมตัวละครไม่หางานทำ แต่ทำเป็นเดินดูสถาปัตยกรรม ตึกรามบ้านช่องของยุโรปไปเรื่อยๆ แล้วก็เดินลงทะเลสวยๆ แล้วก็จบ โดยที่ผู้กำกับบอกว่าหนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก DEATH IN VENICE ซึ่งถ้าไม่บอก เราก็คงไม่รู้ เพราะมันไม่มีอะไรคล้ายกับ DEATH IN VENICE (1971, Luchino Visconti) เลย

ฉากที่ชอบสุดๆคือฉากที่ตัวละครคนดำเดินดูเพดานอาคารแห่งหนึ่ง แล้วก็มีภาพกราฟฟิกเป็นรูปทรงเรขาคณิตสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยมห้าเหลี่ยมหกเหลี่ยมอะไรไม่รู้มากมายปรากฏขึ้นที่เพดาน คือฉากนั้นไม่รู้อีกแล้วว่ามันหมายความว่าอะไรอีกต่อไป แต่นี่แหละคือตัวอย่างของฉากที่ทำให้เรารู้สึก hyperbolic paraboloid มากๆ

มีหนังอีกเรื่องที่ฉายในงาน Signes de Nuit ปีนี้ที่พูดถึงประเด็นใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือหนังเรื่อง CONTINENTAL DRIFT (2015, Nayeem Mahbub, Bangladesh/Belgium, A+10) ที่พูดถึงผู้อพยพที่รู้สึกแปลกแยกในยุโรปเหมือนๆกัน, พูดถึงการเสียชีวิตในทะเลเหมือนๆกัน และเน้นการถ่ายทอดบรรยากาศเหมือนๆกันด้วย แต่หนังสองเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นสิ่งเติมเต็มให้แก่กันและกัน เพราะ CONTINENTAL DRIFT เล่าเรื่องผ่านทาง voiceover เท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ภาพในการเล่าเรื่องเลย โดยภาพในเรื่องเหมือนเป็นการแทนสายตาของตัวละครขณะอาศัยอยู่ในเบลเยียม ส่วน SEA OF ASH นั้นไม่มีเสียง voiceover ส่วนภาพใน SEA OF ASH นั้น ก็อยู่ในภาวะก้ำกึ่งระหว่างการเล่าเรื่อง/การไม่เล่าเรื่อง

แต่ถ้าหากเทียบระหว่างสองเรื่องนี้แล้ว เราชอบ SEA OF ASH มากกว่า CONTINENTAL DRIFT หลายเท่านะ เราว่า CONTINENTAL DRIFT เนื้อเรื่องมันโหดร้ายก็จริง แต่ทั้งวิธีการนำเสนอและเนื้อเรื่องของมันเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจากหนังอีกหลายสิบเรื่องที่เราเคยดูมาแล้ว อย่างเช่นเรื่อง ONCE YOU’RE BORN YOU CAN NO LONGER HIDE (2005, Marco Tullio Giordana) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้อพยพที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเหมือนๆกัน แต่ SEA OF ASH นั้น วิธีการนำเสนอมันประหลาดมากๆ และมีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่เราเคยดูมาที่สามารถแข่งกับ SEA OF ASH ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหนังเรื่อง NAUFRAGIO (2010, Pedro Aguilera, Spain) ที่เล่าเรื่องของผู้อพยพในแบบที่พิศวงพิสดารเหมือนๆกัน

คือดู SEA OF ASH จบแล้วเรารู้สึกว่ามันงดงามสุดๆน่ะ โดยที่เราก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรหนังถึงทำให้เรารู้สึกแบบนั้น เรารู้แต่ว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกที่งดงามมากๆในใจเรา

คือพอดูหนังแบบนี้แล้ว เราก็คิดถึงทฤษฎีที่เราตั้งขึ้นมาเองนะ นั่นก็คือทฤษฎีที่ว่า มันมีหนังบางเรื่องที่เราไม่เข้าใจมัน แต่ จิตใต้สำนึกของเราอาจจะเข้าใจมันก็ได้ หรือมันอาจจะกระทบอะไรบางอย่างในจิตใต้สำนึกของเราโดยที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจก็ได้ หนังกลุ่มนี้มันถึงทำให้เราเกิดความรู้สึกรุนแรงมากๆ โดยที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกแบบนั้น

นอกจาก SEA OF ASH แล้ว หนังที่กระทบใจเราอย่างรุนแรงโดยที่เราไม่เข้าใจอะไรมันเลย แต่เหมือนจิตใต้สำนึกของเราจะเข้าใจมัน ก็มีเช่น


1.TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND (1976, Bruce Conner)
2.THE LAST BUS (2008, Maria Hengge, Germany)
3.SEA OF DESIRES (2010, Shota Gamisonia, Russia)
4.CROSS (2011, Marina Vroda, France)

No comments: