Monday, January 13, 2020

TO THE ENDS OF THE WORLD (2018, Guillaume Nicloux, France, A+30)


แอบตกใจเล็กน้อย เพราะอี Google Maps ส่งเมลมาบอกว่า เราเดินทาง 7,787 กิโลเมตรในปี 2019 ซึ่งคิดเป็น 19% around the world เพราะในปี 2019 เราอยู่แค่กรุงเทพ-นครปฐม-สมุทรปราการเท่านั้นเอง โดยเราเดินทางไปนครปฐมเป็นประจำ เพื่อดูหนังที่ศาลายา และเดินทางไปสมุทรปราการเป็นครั้งคราว เพื่อดูหนังที่อิมพีเรียล สำโรง

สรุปว่า ขอบเขตการเดินทางของเราในปี 2019 ก็มีแค่ อิมพีเรียลสำโรง-หอภาพยนตร์ศาลายาเท่านั้นแหละ เราไม่เคยออกนอกอาณาบริเวณนี้เลยในปี 2019 ไม่นึกว่าแค่การเดินทางไปดูหนังที่หอภาพยนตร์เป็นประจำ มันจะเท่ากับการเดินทางเป็นระยะทาง 19% รอบโลก 555

TO THE ENDS OF THE WORLD (2018, Guillaume Nicloux, France, A+30)

1.ชอบตั้งแต่ฉากเปิดของเรื่องแล้ว เหมือนตั้งแต่ฉากเปิด หนังก็มันบอกแล้วว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่หนังเล่าเรื่องแบบธรรมดา แต่เน้นการลงลึกไปในสภาพจิตของตัวละครด้วย

2.เหมือนหนังมันนำเสนอภาพความโหดร้ายเยอะมากๆ แต่หนังมันก็ “ตัดทอน” ไปเยอะแล้วนะ เพราะความโหดร้ายที่รุนแรงที่สุดในหนัง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น offscreen แต่เป็นเรื่องที่เล่าผ่านทางคำพูดของพระเอก (เรื่องการสังหารพี่ชายพระเอกกับครอบครัว ที่ดูรุนแรงมากๆ)

3.เหมือนเราได้ดูหนังเกี่ยวกับอินโดจีนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับหนังเกี่ยวกับ ฝรั่งเศส-นาซี ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง อาจจะเป็นเพราะว่า ในอินโดจีนนั้น ฝรั่งเศสมีฐานะเป็น “ผู้ร้าย” แต่ในยุคนาซีนั้น ฝรั่งเศสมีฐานะเป็น victim เพราะฉะนั้นมันก็เลยง่ายกว่าในการสร้างหนังฝรั่งเศสเกี่ยวกับยุคนาซี แต่เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการสร้างหนังฝรั่งเศสเกี่ยวกับอินโดจีน

เราว่าหนังเรื่องนี้ก็ไปไกลมากในแง่นี้ เพราะหนังเกี่ยวกับอินโดจีนที่เราเคยดูมาก่อนหน้านี้ อย่างเช่น INDOCHINE (1992, Régis Wargnier), THE LOVER (1992, Jean-Jacques Annaud) หรือหนังฝรั่งเศสบางเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อฉายทางทีวี มันก็ดูเป็นหนังที่ตัวละครเอก “รักเวียดนาม” หรือ “รักชาวเวียดนาม” น่ะ

แต่ในหนังเรื่องนี้ พระเอกเป็นทหารฝรั่งเศสที่ตามฆ่าล้างฝ่ายโฮจิมินห์ มันก็เลยเหมือนหนังเรื่องนี้ “เล่นท่ายาก” กว่าหนังฝรั่งเศสอีกหลายเรื่องที่เราเคยดูมา เพราะในเมื่อพระเอก “หลงผิด” หรือ “อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับความถูกต้อง” แบบนี้แล้ว หนังมันจะทำอย่างไร ถึงจะทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าทำไมพระเอกถึงหลงผิดแบบนั้น และหนังมันก็ต้องรักษาสมดุลให้ดีด้วยว่า หนังมันไม่ได้สนับสนุน colonialism, ไม่ได้เข้าข้างพระเอก, ไม่ได้เกลียดชังชาวเวียดนาม, ไม่ได้ต่อต้านการกอบกู้เอกราชของชาวเวียดนาม แต่เป็นการดำดิ่งลึกลงไปในความโหดร้ายของสงคราม และความดำมืดในจิตใจมนุษย์

4.ฉาก “การตัดสินใจ” ของพระเอกในช่วงท้ายนี่คลาสสิคมากๆ เพราะเหมือนหนังจับใบหน้าของพระเอกขณะตัดสินใจเป็นเวลานานหลายนาทีมากๆ โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

5.เหมือน Guillaume Nicloux ทำหนังอาร์ตขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเคยดูหนังอีก 3 เรื่องของเขา ซึ่งก็คือ LE POULPE (1998) ที่ดูเป็นหนังตลาดมากๆ, HANGING OFFENSE (2003) ที่เป็นหนัง psychological thriller ที่ใช้ได้ดีในระดับนึง และ THE KIDNAPPING OF MICHEL HOUELLEBECQ (2014) ที่มี concept น่าสนใจสุดๆ แต่วิธีการเล่าเรื่องดูไม่ได้มีอะไรพิสดารมากนัก จนกระทั่งมาถึง TO THE ENDS OF THE WORLD นี่แหละ ที่ดูแล้วรู้เลยว่า ฝีมือการทำหนังของเขาน่าจะสุกงอมได้ที่แล้ว

SHIVERS (1981, Wojciech Marczewski, Poland, A+30)

1.งดงามมากๆ หนังนำเสนอชีวิตเด็กชายคนนึงในยุคที่โซเวียตพยายามาปลูกฝังแนวคิดคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ และกดขี่ชาวโปแลนด์อย่างรุนแรง

2.ฉากที่ติดตามากๆ คือฉากที่ทางการพยายามมาปลูกฝังเด็กๆให้เกลียดชังศาสนา และมีการจัดขบวนให้เด็กๆเดินไปปะทะกับขบวนคนเดินของโบสถ์

อีกฉากที่ชอบมาก คือฉากที่รูปภาพของ Karl Marx มีน้ำไหลผ่านเหมือนน้ำตา มันเหมือนกับว่ารูปภาพของ Karl Marx ถูก treat ให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ เพื่อมาแทนที่รูปปั้นของพระเยซูและพระแม่มารี

3.ยอมรับเลยว่า ดูแล้วไม่เข้าใจในหลายๆอย่าง เพราะหนังมันอ้างอิง context เฉพาะของ Poland เยอะมากๆ แต่เราชอบความไม่เข้าใจอะไรแบบนี้

เหมือนหนังอ้างอิงถึงบทกวี PAN TADEUSZ ด้วย เราก็เลยเสียดายที่เรายังไม่เคยดูหนังเรื่อง PAN TADEUSZ (1999, Andrzej Wajda) มาก่อน เผื่อจะได้เข้าใจอะไรในหนังเรื่องนี้มากขึ้น

4.มีบางฉากที่เราคิดว่า เป็น “ฉากความฝัน” แต่พอมาคุยกับเพื่อนๆหลังดูหนังจบ และไปอ่านเรื่องย่อ เราถึงพบว่ามันเป็นฉากความจริง ไม่ใช่ฉากความฝัน

5.ก่อนหน้านี้เคยดู WEISER (2001) ที่กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกัน จำได้ว่าชอบ WEISER มากๆเหมือนกัน


No comments: