Thursday, January 09, 2020

THE MOON KILLER (2019, Yuthlert Sippapak, A+30)


THE MOON KILLER (2019, Yuthlert Sippapak, A+30)
มือปืน โลก/พระ/จัน 2

1.ทำไมฉันรู้สึกว่า มันเป็น “หนังทดลอง” 55555 คือจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่หนังทดลองหรอก แต่ปัจจัยที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆคือปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เราตามดูหนังทดลอง หรือสนใจหนังทดลอง

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า เราไม่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน “สนุก” หรือมัน “บันเทิง” เลยนะ เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่าหนังเรื่องนี้มันน่าเบื่อสุดๆ เราก็เข้าใจดี 55555

2.คือความรู้สึกของเราตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ มันเหมือนกับการได้กิน “อาหารฟิวชั่น” ที่ไม่เคยกินมาก่อนน่ะ ซึ่งรสชาติมันประหลาดมากๆ ไม่เคยเจอมาก่อน กินไปครึ่งจานแรกแล้วไม่อร่อย แต่พอกินไปเรื่อยๆก็คุ้นลิ้น แล้วก็กลายเป็นว่าชอบมันมากๆ จะว่ามัน “อร่อย” ก็พูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำ แต่ชอบความแปลกประหลาดของมัน รู้สึกว่ามันถูกปากเรามากๆ แต่อาจจะถูกปากเราแค่คนเดียว คนอื่นๆอาจจะเกลียดรสชาติแบบนี้ก็ได้ เราไม่ประหลาดใจ

คือเรารู้สึกว่า ส่วนผสมในหนังเรื่องนี้มันประหลาดดีน่ะ มันตลก ก็ตลกแบบอ้ำๆอึ้งๆ จะบู๊ ก็ไม่บู๊ จะลุ้น ก็ไม่ลุ้น ถึงแม้ดนตรีประกอบจะลุ้นมากๆ จะดราม่า ก็ไม่สุด จะ cult ก็ไม่ “ตื่นตาตื่นใจ” หรือทำให้เรา “อ้าปากหวอ” แบบหนัง cult บางเรื่อง (ลองเปรียบเทียบกับหนังของ Seijun Suzuki หรือหนังอย่าง BIG BANG LOVE, JUVENILE A (2006, Takashi Miike ดูสิ) จะเท่แบบหนังของ Nicolas Winding Refn ก็ไม่ใช่ ถึงแม้ production design ในบางฉากจะพาไปในทางนั้น จะ “การเมือง” มันก็ไม่ได้มีความ intellectual แบบหนังการเมืองทั่วๆไป

แต่เราชอบหนังแบบนี้นี่แหละ คือหนังที่เรา “ไม่รู้จะทำอารมณ์ยังไงกับมันดี” 55555 มันเหมือนกับสาเหตุที่เราชอบดูหนังทดลองน่ะ เพราะในบางครั้งเราก็เบื่อหนัง “เล่าเรื่อง” หรือหนังที่ “พยายามพาคนดูไปสู่อารมณ์ที่ตั้งใจไว้ ตาม steps ขั้นตอน สูตรสำเร็จของ genre หนังนั้นๆ” คือหนังตลกมันก็มีสูตรของมัน หนังบู๊แบบ JOHN WICK มันก็มี “กรอบ” ของมัน หรือหนังเท่ๆมันก็มีกรอบของมัน

แต่พอ THE MOON KILLER เอาส่วนผสมของหนังหลายๆ genre หลายๆแนว มาผสมรวมกัน มันก็เลยเกิดเป็นอะไรที่แปลกใหม่ขึ้นมาสำหรับเรา และมันเหมือนช่วยทลายกรอบของหนัง genre ต่างๆไปด้วยโดยปริยาย และแม้แต่ “ตรรกะ” หรือเหตุผลในหนังเรื่อง THE MOON KILLER ก็ดูเหมือนจะพังพินาศไปด้วย ตัวละครทำเหี้ยๆห่าๆ มีพลังพิเศษอะไรก็ได้ขึ้นมาตามใจชอบ และผู้กำกับก็อาจจะรู้ตัวดีในการทำลายกฎเกณฑ์ต่างๆและตรรกะต่างๆแบบนี้  และเราก็ชอบอะไรแบบนี้ เพราะสำหรับเราแล้ว ในบางครั้งเราก็ต้องการภาพยนตร์ที่เป็น fiction ที่ไม่สนกฎเกณฑ์ตรรกะเหตุผลอะไร กูจะทำอะไรก็ได้ จะสร้างเรื่องเหี้ยห่าอะไรก็ได้ที่กูต้องการในโลกจินตนาการของกู 555

จริงๆแล้วมันก็คล้ายๆกับเหตุผลที่เราชอบ “บอดี้การ์ดหน้าหัก” มากๆน่ะ เพราะเราว่า “บอดี้การ์ดหน้าหัก” เป็นความพยายามจะผสม genre แอคชั่นกับตลกเข้าด้วยกัน แต่ผสมเข้าด้วยกันได้อย่างไม่ลงตัว อย่างไรก็ดี มีฉากนึงใน “บอดี้การ์ดหน้าหัก” ที่เราชอบมากๆ นั่นก็คือฉากของเอกชัย ศรีวิชัยที่ดูเหมือนจะเป็น musical ที่ไม่สนกฎเกณฑ์อะไรใดๆอีกต่อไป คือฉากนั้นจริงๆแล้วมันเหมือนดู “บ้าบอมากเกินไป” มันเหมือนทำให้หนังมัน “เละ” เกินไป แต่ในอีกแง่นึง มันก็เหมือนช่วยทำลายกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง เหมือนเป็นการลองใส่ “ส่วนผสมใหม่” เข้าไปในอาหาร ซึ่งทำให้เกิดรสชาติที่แปลกประหลาดขึ้นมา

และเรารู้สึกเหมือนกับว่า THE MOON KILLER คือ “การทดลอง” ที่ไปไกลกว่า บอดี้การ์ดหน้าหัก เพราะบอดี้การ์ดหน้าหักยังเหมือนพยายามจะสร้างความบันเทิงให้คนดูอยู่ แต่ THE MOON KILLER เหมือนเลยพ้นจากความพยายามจะสร้างความบันเทิงแล้ว 555

3.คือพอเราตามดู “หนังทดลอง” เพราะต้องการความแปลกใหม่ ความไร้กฎเกณฑ์ ความไม่สนเนื้อเรื่อง ความไม่สนการเร้าอารมณ์แบบเดิมๆ บางครั้งเราก็ผิดหวังน่ะ เพราะหนังทดลองหรือหนังอาร์ตบางเรื่อง มันก็เป็นการทำตามสูตรของหนังทดลองหรือหนังอาร์ตเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดร้ายแรงอะไร เพราะส่วนใหญ่มันจะเป็นผลงานของคนที่เพิ่งเริ่มทำหนังทดลองเป็นครั้งแรกๆ ก็เลยต้องลองทำตามสิ่งที่คนอื่นๆเคยทำมาก่อน

คือบางที “หนังทดลอง” มันก็ออกมาซ้ำๆกันได้น่ะ อย่างเช่น หนังที่ถ่ายบรรยากาศเยอะๆ โดยที่ผู้กำกับไม่ได้มีความสามารถเชิงกวีที่สูงจริงๆ, ไม่ได้มีดวงตาที่เฉียบคมจริงๆ หรือไม่ได้ “มีความรู้สึกรุนแรงต่อสิ่งที่ตนเองถ่าย” จริงๆ หนังทดลองบางเรื่อง โดยเฉพาะของผู้กำกับหน้าใหม่ ก็เลยออกมากลายเป็น “หนังทดลองแบบสูตรสำเร็จ” ไป

เพราะฉะนั้น ในเมื่อหนังทดลองบางเรื่องทำให้เราเบื่อได้เช่นกัน แล้วเราจะหารสชาติแปลกใหม่ หรือ wavelength ที่แปลกใหม่ หรือการทดลองทำอะไรแปลกๆใหม่ๆได้ที่ไหน

ปรากฏว่า เราก็เจอมันจาก THE MOON KILLER นี่แหละ 555

4.ยอมรับว่า ช่วงครึ่งเรื่องแรก เหมือนเรารู้สึกเบื่อๆ และจูนไม่ค่อยติดกับหนังสักเท่าไหร่น่ะ แต่ไม่รู้ว่าทำไม พอดูไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกจูนติดกับมันเฉยเลย มันเหมือนในที่สุดสมองของเราก็จูนหาคลื่นใหม่จนตรงกับหนังเรื่องนี้ได้ในที่สุด 555

เหมือนหนังมันมีความ bleak บางอย่างด้วย เหมือนมันมีบรรยากาศของความสิ้นหวัง + ความเย็นชาบางอย่าง ที่เข้าทางเรามากๆ

5.เหมือนหนังเต็มไปด้วยการเล่า racist jokes และตบด้วยการบอกว่า ไม่มีใครตลกกับ racist jokes แบบนี้อีกแล้ว

6.แต่ไม่ค่อยชอบการ treat  ตัวละครผู้หญิงในหนัง ซึ่งเหมือนเป็นปัญหาที่เรามักรู้สึกกับหนังหลายๆเรื่องของยุทธเลิศ

7.สรุปว่า ชอบมากๆเป็นการส่วนตัว แต่คิดว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบหนังเรื่องนี้

ถ้าจะต้องฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องไหน เราก็ขอฉายควบกับ “อำพราง” (2010, Tani Thitiprawat) ที่เหมือนเป็นหนังที่จัด genre ได้ยากมากๆเหมือนกัน

No comments: