Monday, January 13, 2020

KIM JI-YOUNG: BORN 1982 (2019, Kim Do-Young, South Korea, A+30)


KIM JI-YOUNG: BORN 1982 (2019, Kim Do-Young, South Korea, A+30)

1.“Secret wounds all add up” –ตัวละครตัวนึงในหนังการ์ตูนเรื่อง DILILI IN PARIS (2018, Michel Ocelot, France) พูดไว้ และมันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง KIM JI-YOUNG มากๆ เพราะเราชอบสุดๆที่หนังเรื่องนี้มันเน้นนำเสนอการทับถม หมักหมมรวมกันของบาดแผลเล็กๆน้อยๆในชีวิต ซึ่งถ้าหากมันโดนครั้งเดียว มันก็เป็นบาดแผลเล็กๆนิดเดียว ที่คงไม่สร้างปัญหาอะไร แต่ถ้าหากเราโดนเชือดเฉือนบ่อยๆ ด้วยคำพูดเหยียดหยาม ดูถูก, การกระทำ, การพูดจาแทะโลม ฯลฯ มันก็จะกลายเป็น secret wounds ทางใจ ที่มันจะทับถมกันไปเรื่อยๆ จนมันระเบิดออกมา

เราชอบการเปรียบเทียบของอุ้ย Ratchapoom มากๆ ที่อุ้ยพูดในทำนองที่ว่า หนังเรื่องอื่นๆมันชอบนำเสนอตัวละคร “ผู้หญิงถูกข่มขืน” คือหนังเรื่องอื่นๆมันชอบนำเสนอตัวละครที่บาดเจ็บระดับ “100/100” เพราะมันเห็นชัด แต่ในแง่นึง มันก็มีมนุษย์ที่ไมได้บาดเจ็บในระดับ 100/100 แต่บาดเจ็บในระดับ 10/100 ในทุกๆวัน ด้วยการถูกพูดจาแทะโลม หรือถูกพูดจาดูถูกใส่ในฐานะผู้หญิง หรืออะไรทำนองนี้ แล้วไอ้การบาดเจ็บในระดับ 10/100 ไปเรื่อยๆในทุกๆวันแบบนี้ มันย่อมต้องส่งผลต่อสภาพจิตของมนุษย์คนนั้นแน่ๆ หรือมันอาจจะทำให้เกิด “อาการทุกข์ใจที่อธิบายไม่ได้” หรือ “อาการเศร้าใจที่อธิบายไม่ได้ขึ้นมา” และนี่คือสิ่งที่มักไม่ได้รับการนำเสนอในหนังทั่วไป เพราะมันยากจะนำเสนอได้

เราก็เลยกราบมากๆ ชอบมากๆที่มีหนังแบบนี้ออกมา

2.ชอบที่หนังนำเสนอตัวละครสามีในแบบของสามีสุดหล่อนิสัยดีที่พยายามจะทำความเข้าใจนางเอกด้วย เพราะถ้าหากหนังนำเสนอสามีในแบบของสามีนิสัยเลว ทุบตี ขี้เหล้าเมายา อะไรแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่าปัญหาของนางเอกเกิดจาก “มึงเลือกผัวผิด แล้วจะโทษใคร” น่ะ แต่พอนางเอกได้ผัวดีแบบนี้ ปัญหาของนางเอกก็เลยเกิดจากโครงสร้างสังคม มากกว่าจะเกิดจากการเลือกผัวผิด

คือถ้าหากนางเอกได้ “ผัวเลว” เราก็จะแอบนึกไปถึงนิยายหลายๆเรื่องของทมยันตีน่ะ 55555 คือเราว่าจริงๆแล้วนิยายหลายเรื่องของทมยันตีมันจะมีการนำเสนอปัญหาสิทธิสตรีอยู่ด้วย หรือปัญหาที่นางเอกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมไทยเพราะความเป็นผู้หญิงอยู่ด้วย แต่ในนิยายกลุ่มนี้ นางเอกมักจะเจอทุกข์หนักเพราะ “ผัวเลว” น่ะ อย่างเช่น “เพลงชีวิต” และ “โซ่สังคม” (ถ้าจำไม่ผิด) เพราะฉะนั้นนิยายอย่าง “โซ่สังคม” มันก็เลยอาจจะนำเสนอปัญหาชีวิตผู้หญิงทั่วไปได้อย่างไม่รอบด้านเท่า KIM JI-YOUNG

แต่พอดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว เราก็อยากให้มีคนเอา “โซ่สังคม” ของทมยันตีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นะ เหมือนกับว่ายังไม่เคยมีใครเอาโซ่สังคมมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครทีวีเลยน่ะ ทั้งๆที่มันเป็นนิยายที่เราชอบสุดๆเรื่องนึง

3.ชอบที่หนังเหมือนเลือกจะนำเสนอปัญหาชีวิตผู้หญิง “รอบด้าน” แทนที่จะเล่าเพียงปัญหาเดียว แล้วตัวละครก็เอาชนะอุปสรรคนั้น แล้วก็จบน่ะ

จริงๆดูแล้วนึกถึงหนังอย่าง THE CIRCLE (2000, Jafar Panahi, Iran) แต่ THE CIRCLE ใช้วิธีนำเสนอชีวิตผู้หญิงหลายๆคน หลายๆตัวละคร เพื่อจะได้นำเสนอปัญหาสิทธิสตรีได้รอบด้าน ในขณะที่ KIM JI-YOUNG เลือกใช้ตัวละครตัวเดียวเป็นสื่อกลางในการนำเสนอปัญหารอบด้าน

แต่ก็มีหนังที่ใช้ตัวละครตัวเดียวในการนำเสนอปัญหารอบด้านได้ดีสุดๆเหมือนกันนะ นั่นก็คือตัวละครหญิงในหนังเยอรมันตะวันตกของ Helke Sander อย่างเช่นใน THE ALL-ROUND REDUCED PERSONALITY – REDUPERS (1978) และ THE SUBJECTIVE FACTOR (1981) น่ะ

แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า ถึงแม้ผู้หญิงเยอรมันตะวันตกจะมีปัญหาสิทธิสตรีอยู่บ้างในทศวรรษ 1970 แต่ปัญหามันก็ “เบา” กว่า KIM JI-YOUNG หลายเท่าน่ะ 555 เพราะฉะนั้นหนังของ Helke Sander ก็เลยมีพื้นที่ในการพูดถึง “ปัญหาการเมือง เยอรมันตะวันตก-ตะวันออก โลกเสรีนิยม-คอมมิวนิสต์” อะไรพวกนั้นด้วย แทนที่จะพูดถึง “การแบ่งเวลาทำงาน+เลี้ยงลูก ท่ามกลางโลกทุนนิยม” อะไรเพียงอย่างเดียว

4.ที่เราบอกว่า ชอบที่ KIM JI-YOUNG มันเลือกจะนำเสนอปัญหา “รอบด้าน” เป็นเพราะว่า มันช่วยให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังสิทธิสตรีเรื่องอืนๆอีกหลายๆเรื่องน่ะ

เพราะหนังสิทธิสตรีในยุคปัจจุบันที่เราได้ดู ส่วนใหญ่จะเป็น “หนังอินเดีย” น่ะ เพราะปัญหาสิทธิสตรีในประเทศอืนๆมันดูเหมือนเบาบางลงไปมากแล้ว เมื่อเทียบกับในยุคเมื่อหลายสิบปีก่อน ในขณะที่ปัญหาสิทธิสตรีในอินเดียมันยังรุนแรงอยู่มาก มันก็เลยมีการผลิตหนังอินเดียที่สะท้อนปัญหานี้ออกมาเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา

แต่หนังสิทธิสตรีของอินเดียที่เราได้ดู ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องของตัวละครนางเอกที่ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำภารกิจอะไรบางอย่าง แล้วพอปฏิบัติภารกิจนั้นได้เสร็จ หนังก็จบลงอย่าง happy ending น่ะ อย่างเช่น

4.1 หนังเกี่ยวกับการขึ้นโรงขึ้นศาล ที่มีเยอะมาก อย่างเช่น PINK (2016, Aniruddha Roy Chowdhuri) ที่พอตัดสินคดี ฝ่ายนางเอกชนะคดี หนังก็จบ

4.2 หนังเกี่ยวกับนักกีฬาหญิง ที่ต้องต่อสู้กับทัศนคติในสังคม แต่พอนางเอกแข่งขันชนะ ผู้คนทั้งประเทศชื่นชม หนังก็จบ อย่างเช่น BULL’S EYE (2019, Tushar Hiranandani)

4.3 หนังที่นางเอกมีความใฝ่ฝันอะไรสักอย่าง แต่ต้องเผชิญกับข้อห้ามทางสังคมหรือการต่อต้านจากสมาชิกครอบครัว แต่พอนางเอกทำตามความฝันได้สำเร็จ หนังก็จบ อย่างเช่น SECRET SUPERSTAR (2017, Advait Chandan), TUMHARI SULU (2017, Suresh Triveni)

4.4 หนังที่นำเสนอนางเอกกร้าวแกร่ง ปราบปรามเหล่าร้าย อย่างเช่น MARDAANI 2 (2019, Gopi Puthran), GULABI GANG (2012, Nishtha Jain)

ซึ่งจริงๆเราก็ชอบหนังอินเดียกลุ่มนี้มากๆ มันนำเสนอปัญหาสิทธิสตรีได้ดีมากๆด้วย แต่ในแง่นึง มันก็เหมือนกับว่า หนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้เลือกที่จะพูดถึง “ปัญหาสิทธิสตรี 1 อย่าง ต่อหนัง 1 เรื่อง” อะไรทำนองนี้ มันก็เลยทำให้หนังกลุ่มนี้แตกต่างจาก KIM JI-YOUNG และ THE ALL-ROUND REDUCED PERSONALITY – REDUPERS ที่เลือกจะนำเสนอ “ปัญหารอบด้านของชีวิต” แทนที่จะพูดถึงปัญหา 1 อย่าง

5.ชอบตัวละครเจ้านายหญิงของ Kim Ji-Young มากๆ เธอเก่งมาก แกร่งมาก เห็นแล้วนึกถึง Amanda (Heather Locklear) ในละครทีวีชุด MELROSE PLACE ซึ่งถือเป็นตัวละคร role model ตัวนึงสำหรับเรา

6.จริงๆดูแล้วนึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆหลายๆเรื่อง ที่นำเสนอ “ชีวิตแม่บ้าน” แต่หนังกลุ่มนี้มักจะเป็น “หนังฝรั่ง” ที่สร้างขึ้นเมื่อ 30-40 ปีก่อนน่ะ อย่างเช่น

6.1 BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder)

6.2 JEANNE  DIELMAN, 23, QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman, Belgium)

6.3 THE LEFT-HANDED WOMAN (1978, Peter Handke, West Germany)

6.4 SHIRLEY VALENTINE (1989, Lewis Gilbert, UK)

6.5 SWANN (1996, Anna Benson Gyles, Canada)

เราก็เลยคิดว่า หนังพวกนี้มันสะท้อนปัญหาสังคมของแต่ละสังคมในแต่ละยุคสมัยได้ดีเหมือนกัน เหมือนกับว่าเอาเข้าจริงแล้ว หลายๆสังคมมันก็มีปัญหาสิทธิสตรีเหมือนกัน แต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป และระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาหรือยุคสมัย

เราก็เลยเหมือนไม่ค่อยเห็นหนังฝรั่งที่พูดถึงปัญหาสิทธิสตรีมากนักในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็คงเป็นเพราะว่าสังคมตะวันตกมันแตกต่างจากสังคมเกาหลีใต้มากๆ จะมีที่ได้ดูล่าสุดก็คือ BLACK CHRISTMAS (2019, Sophia Takal) ที่เราชอบมากๆ เพราะ BLACK CHRISTMAS พยายามจะบอกว่า ผู้ร้ายที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ก็คือ แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ ในหัวของคนแต่ละคน ที่อาจจะได้รับการปลูกฝังมาจาก สิ่งที่เขียนโดยผู้ชายในอดีตเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน  แต่น่าเสียดายที่ BLACK CHRISTMAS นำเสนอ message นี้ด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่ 555

7.จริงๆแล้วแอบสงสัยด้วยแหละ ว่าปัญหาในไทยมันรุนแรงเท่าในเกาหลีใต้หรือเปล่า เหมือนเพื่อนผู้ชายคนนึงมองว่า สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันไม่กดขี่บทบาทของผู้หญิงมากเท่าญี่ปุ่น+เกาหลีใต้น่ะ เหมือนผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัทได้ง่ายกว่าเยอะ ถ้าหากเธอรวย หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งเราก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ผู้หญิงไทยน่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีกว่า

8.ชอบฉากการพูดคุยกันของแม่บ้านมากๆ ที่เหมือนบางคนเรียนจบปริญญาตรีวิศวะมา แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำงานอะไร อยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว

อันนี้ดูแล้วนึกถึงชีวิตเราเองและเพื่อนๆหลายคนมากๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ในกรณีของเรากับเพื่อนๆนั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิสตรีแต่อย่างใด มันเป็นเพียง “ความจริงอันน่าเศร้าของชีวิต” น่ะ ที่ชีวิตไม่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความสามารถอันแท้จริงของตัวเอง แต่ต้องทำอะไรก็ได้ เพื่อจะได้ “หาเงินมายังชีพ”

9.อาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยอ่านนิยาย เราก็เลยไม่มีปัญหากับตอนจบของหนังเรื่องนี้ 5555 และเราก็แอบคิดว่า ถ้าหากมันจบด้วยการหย่าผัว มันก็จะไปซ้ำกับ SHIRLEY VALENTINE และ THE LEFT-HANDED WOMAN น่ะ หรือถ้าหากมันจบด้วยการลุกขึ้นมาฆ่าคน มันก็จะไปซ้ำกับ JEANNE DIELMAN, BREMEN FREEDOM, BAISE-MOI อะไรทำนองนี้ เราก็เลยค่อนข้างโอเคกับตอนจบของหนัง ถึงแม้จะรู้สึกว่า จริงๆแล้วมันควรจะฉายหนังเรื่องนี้ควบกับ THE LEFT-HANDED WOMAN ก็ตาม

ที่เราคิดว่า หนังเรื่องนี้ควรฉายควบกับ THE LEFT-HANDED WOMAN เพราะเรามองว่า  THE LEFT-HANDED WOMAN มันเป็นเหมือนกับ “a sequel to the alternaive ending” ของ KIM JI-YOUNG น่ะ เพราะ THE LEFT-HANDED WOMAN มันเปิดเรื่องด้วยการให้นางเอกขอหย่าขาดจากผัวโดยไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น แล้วหนังก็เล่าว่านางเอกปรับตัวให้เข้ากับชีวิตโสดอย่างไรบ้าง มีฉากที่เธอพยายามหางานทำใหม่ ฉากที่เธอวิ่งกระโดดโลดเต้นไปตามถนนอย่างสนุกสนานกับลูก หรืออะไรทำนองนี้ เราก็เลยมองว่า ถ้าหาก KIM JI-YOUNG จบด้วยการหย่าผัว เราก็สามารถดูชีวิตของนางเอกต่อไปได้ในหนังเรื่อง THE LEFT-HANDED WOMAN นี่แหละ

10. จริงๆแล้วสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เราชอบ KIM JI-YOUNG มากๆ เพราะเราก็มองว่า ตัวเองก็เป็นโรคจิตอ่อนๆคล้ายๆนางเอกเช่นกัน 555

คือเราว่าโรคจิตมันมีหลายระดับน่ะ คือคนที่เป็นโรคจิตเต็มตัว ก็คือคนที่มี split personality อย่างเช่นในหนังเรื่อง SPLIT (2016. M. Night Shyamalan), ล่า ของทมยันตี และในละครทีวีที่สร้างจากเรื่องจริง อย่างเช่นเรื่อง VOICES WITHIN: THE LIVES OF TRUDDI CHASE (1990, Lamont Johnson) ที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงที่มี 92 บุคลิกภาพ เพราะเธอเคยถูก sexual abuse ในวัยเด็ก

คือเราว่าคนที่มี trauma รุนแรงในระดับ 100/100 อย่างเช่นใน “ล่า” หรือ VOICES WITHIN มันก็จะนำไปสู่การสร้างบุคลิกภาพอันใหม่ๆขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวน่ะ เพื่อรับมือกับ trauma นั้นๆ

ส่วนใน KIM JI-YOUNG นั้น มันเหมือนเธอเจอ ความเจ็บปวดในระดับ 10/100 มาเรื่อยๆ นานๆ จนมันนำไปสู่อาการทางจิตในระดับที่อ่อนลงกว่ากลุ่มข้างต้น เธอก็เลยเหมือนถูก “สิงสู่” โดยผู้หญิงคนอื่นๆเป็นครั้งคราว

ส่วนตัวเรานั้น เราก็มี “กลไกทางจิต” ของตัวเองในการรับมือกับปัญหาชีวิต 5555 นั่นก็คือเราจะสร้าง “เพื่อนในจินตนาการ” ขึ้นมา โดยเอามาจากตัวละครในหนังหรือนิยายเรื่องต่างๆที่เราชื่นชอบนี่แหละ

อย่างเช่น สมมุติว่า เราชอบตัวละครชื่อ M จากหนังเรื่อง B มากๆ แล้วเวลาเรา “กลัวใครบางคนโดยไม่มีสาเหตุ” เราก็จะถาม M ว่า M จะกลัวคนๆนี้ไหม M ก็จะตอบว่า “ไม่เห็นต้องกลัวเลย” แล้วเราก็จะหายกลัวคนๆนั้น

หรือบางทีเรากังวลกับ “สายตาของคนอื่นๆที่มองเรา” เราก็จะถาม M ว่า ถ้าเป็น M M จะรู้สึกกังวลกับสายตาของคนอื่นๆไหม M ก็จะตอบว่า “กูไม่แคร์เลยแม้แต่นิดเดียว” แล้วเราก็จะเลิกแคร์สายตาของคนอื่นๆ

หรือเวลาที่เรากังวลกับปัญหาบางอย่างในชีวิต เราก็จะถาม M ว่า ถ้าเป็น M M จะกังวลกับปัญหานั้นมั้ย M ก็จะตอบว่า  “ฉันไม่กังวลกับเรื่องพวกนี้เลย อย่างมากก็แค่ตาย จบ”

พอเราดู KIM JI-YOUNG เราก็เลยนึกถึง “กลไกทางจิต” ของตัวเอง 55555 ไม่รู้ว่าเราเป็นโรคจิตหรือบ้าหรือเปล่า แต่เรารู้ตัวตลอดเวลานะว่านี่เป็นเพียง “เพื่อนในจินตนาการ” ของเรา เราไม่ได้ถึงขั้นไม่รู้ตัวแบบ Kim Ji-Young เราแค่ใช้ “มุมมองของคนอืน” มามองตัวเราเป็นครั้งคราวน่ะ เพราะการใช้มุมมองของคนอื่น โดยเฉพาะจาก “ตัวละครในภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ” มามองตัวเรา มันช่วยให้เราหายกลัวและหายกังวลกับอะไรหลายๆอย่างในชีวิตได้ดี



No comments: