Tuesday, January 07, 2020

PEOPLE ON SUNDAY 2019

PEOPLE ON SUNDAY (2019, Tulapop Saenjaroen, video installation, A+30)

1. ดูแล้วงงมาก thought provoking มากๆ เหมือนกับตอนที่ดูหนังอย่าง BY THE TIME IT GETS DARK (2016, Anocha Suwichakornpong) เพราะเหมือนวิดีโอนี้จะประกอบด้วยส่วนต่างๆที่เราไม่แน่ใจว่าต้องการสื่อถึงอะไร แต่ถึงเราดูแล้วไม่เข้าใจ เราก็ชอบมากๆอยู่ดี

 2.ส่วนต่างๆในวิดีโอนี้รวมถึง ส่วนที่ให้นักแสดงสมัครเล่นชาวไทยมาทำท่าเลียนแบบตัวละครในหนังเรื่อง PEOPLE ON SUNDAY (1930, Robert Siodmak, Edgar G. Ulmer, Germany, 73min) ซึ่งส่วนนี้จะตลกดี เพราะเรามองว่าหนังเยอรมันที่เป็นต้นฉบับนั้น ถือเป็นหนังที่ดูเป็นธรรมชาติมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนัง fiction ทั่วไปในยุคนั้น คือ "การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ" ดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ของ PEOPLE ON SUNDAY (1930) แต่พอมาเป็นวิดีโอปี 2019 นี้ ทุกอย่างดูเกร็ง ดูเป็นการแสดงอย่างจงใจไปเกือบหมด เพราะฉะนั้นวิดีโอในส่วนนี้ก็เลยเหมือนเบลอเส้นแบ่งระหว่าง "การผ่อนคลาย/ความเกร็ง" และ "การแสดง/การไม่แสดง" เข้าด้วยกัน

 3.ส่วนต่อมาเหมือนเป็นการโฟกัสไปที่ทีมงานเบื้องหลังการถ่ายทำวิดีโอนี้ ซึ่งส่วนนี้เราไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร แต่มันทำให้เรานึกถึงการทับซ้อนกันระหว่างการทำงานกับการไม่ทำงาน เพราะเหมือนวิดีโอนี้จะบอกว่า ในขณะที่วิดีโอนี้และหนังเยอรมันที่เป็นต้นฉบับพยายามนำเสนอ "การพักผ่อนหย่อนใจ" แต่การผลิต "ภาพแทน" ของ "การพักผ่อนหย่อนใจ" หรือ "การใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงาน" ออกมา ก็ต้องอาศัย "การทำงาน" ของคนจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้นคนจำนวนหนึ่งก็เลยต้อง "ทำงานแลกเงิน" เพื่อสร้างภาพแทนของ "การใช้เวลาว่าง" ออกมา เราไม่แน่ใจว่าวิดีโอนี้ต้องการสื่อถึงอะไร แต่สิ่งที่วิดีโอนี้ทำให้เรานึกถึงโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือคนจำนวนหนึ่งที่ทำงานแลกเงินเพื่อรองรับการพักผ่อนหย่อนใจของเรา อย่างเช่น พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า/พนักงานทำความสะอาดห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์, วันอาทิตย์, วันหยุด ฯลฯ อะไรทำนองนี้

 4.อีกส่วนหนึ่งในวิดีโอเหมือนเป็นการนำเสนอชีวิตของ colorist โดยเขาพูดถึงการที่เขาใช้เวลาไปกับการดูอะไรต่างๆมากมายทางทีวี, คอมพิวเตอร์, จอมือถือ อะไรทำนองนี้ ถ้าจำไม่ผิด

 5.แต่ส่วนที่เราชอบที่สุดในวิดีโอนี้ คือส่วน "free time" ที่คั่นระหว่างช่วง "ทีมงานเบื้องหลังวิดีโอ" กับช่วงของ "colorist" คือช่วงนี้จะเป็นจอขาวๆโล่งๆราว 1 นาที โดยมีตัวเลขนับเวลาถอยหลัง คือตอนที่วิดีโอนี้ขึ้นจอขาวขึ้นมา เราก็ไม่แน่ใจว่าวิดีโอนี้จบแล้วยัง เราก็เลยเดินไปสำรวจงาน installation ด้านหลังจอวิดีโอ แล้วก็เล่นมือถือ ดูอะไรต่างๆทาง facebook ฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ จนช่วง free time จบไป แล้ววิดีโอก็กลับมาเล่าเรื่องต่อ แล้วพอเราดูวิดีโอนี้จนจบ เราก็เลยสงสัยขึ้นมาว่า ผู้ชมคนอื่นๆ ทำอะไรกับ "free time" ในช่วง 1 นาทีนี้บ้าง พวกเขาพยายาม "ทำให้ตัวเองไม่ว่าง" เหมือนกับเราในช่วง 1 นาทีนี้หรือเปล่า หรือพวกเขาทำให้ตัวเอง "ว่าง" จริงๆ ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องพยายามถม "ทุกวินาทีแห่งความว่าง" ให้เต็มเหมือนที่เราทำ

 6.เนื่องจากเราไม่เข้าใจวิดีโอนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่พยายามตีความมันแล้วกัน แต่เราจะบันทึกผลกระทบจากวิดีโอนี้ที่มีต่อเรา ถึงแม้วิดีโอนี้จะไม่ตั้งใจส่งผลกระทบเช่นนั้นก็ตาม สิ่งที่เราชอบที่สุดในวิดีโอนี้ ก็คือการที่มันทำให้เราตระหนักถึง "ความกระหืดกระหอบ ร้อนรนของเราที่จะถมทุกวินาทีแห่งความว่างให้เต็ม" น่ะ ซึ่งการที่วิดีโอนี้ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ มันมาจาก 3 ส่วนในวิดีโอ ซึ่งก็คือช่วง free time, การที่ตัวละครของคุณอภิชน รัตนาภายน พูดถึงคำคมต่างๆในการใช้ชีวิต โดยพูดวนไปวนมา ซ้ำซากไปเรื่อยๆ (ดูแล้วนึกถึงโฆษณากิจกรรมเยอะ ของเมืองไทยประกันชีวิต), และช่วงที่ colorist พูดถึงการดูอะไรต่างๆมากมายผ่านทางหน้าจอต่างๆ https://www.youtube.com/watch?v=Cv-JzhBEGp0

คือเนื้อหาตรงส่วนนี้ของวิดีโอนี้ มันทำให้เราตระหนักว่า เราเองก็ treat "เวลาว่าง" ของตัวเอง ในแบบที่อาจจะซีเรียสเกินไป คือแทนที่เราจะใช้เวลาว่างอย่างสบายใจ เรื่อยๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องเค้น "ผลผลิต" หรือ "ผลสำเร็จ" อะไรจากมันมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจจะเคยทำเมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่ในปัจจุบันนี้ เรากลับใช้เวลาว่างทุกวินาทีอย่างพยายามที่จะทำให้มันเกิดผลผลิตสูงสุดออกมา ในวันทำงานแต่ละวัน พอเรามีเวลาว่าง 1-15 นาทีระหว่างโดยสารรถไฟฟ้า, รออาหารที่สั่ง ฯลฯ เราก็จะพยายามเล่นมือถือ พยายามจะเสพข้อมูลให้ได้มากที่สุดจากมือถือในเวลาว่างนั้นๆ

 ในวันหยุด เราก็มักจะวางแผนให้ตัวเองได้ดูหนังที่อยากดูให้ได้มากเรื่องที่สุดในวันหยุดนั้นๆ ถ้าในวันหยุดไหนเราได้ดูหนังโรงถึง 4 เรื่อง เราก็จะมีความสุขมากๆ

 พอได้ดูวิดีโอนี้ เราก็เลยตั้งคำถามว่า เรา treat เวลาว่าง ของตัวเองในแบบที่เหมาะสมกับตัวเราจริงๆหรือเปล่า มันเหมือนกับว่า เราหวาดกลัวที่จะใช้เวลาว่างด้วยการทำให้ตัวเองว่างจริงๆ เพราะฉะนั้นพอเรามีเวลาว่างปุ๊บ เราก็มักจะหาทางเค้นผลผลิตจากมันให้ได้มากที่สุดในทุกๆวินาที ด้วยการเสพข้อมูลต่างๆให้ได้มากที่สุดในเวลาว่างนั้น หรือทำงานอดิเรกให้ได้มากที่สุดในวันว่างนั้นๆ แต่การทำเช่นนี้มันทำให้เรามีความสุขจริงๆหรือเปล่า มันคือการผ่อนคลายจริงๆหรือเปล่า

No comments: