Saturday, September 29, 2012

ON THE FILMS OF TEERANIT SIANGSANOH

ON THE FILMS OF TEERANIT SIANGSANOH

ข้อความข้างล่างก็อปปี้มาจากที่เขียนคุยกับเพื่อนในนี้จ้ะ

หนังของ Teeranit Siangsanoh บางเรื่องจะทำให้เรานึกถึงหนังของ Fred Kelemen และ James Benning นะ เพราะมันเป็นการจ้องมองอะไรบางสิ่งอย่างยาวนานมากๆเหมือนกัน ซึ่งนักวิจารณ์ชื่อดังบางคนจะเกลียดหนังของ James Benning มากๆ โดยนักวิจารณ์กลุ่มนี้เขาจะให้เหตุผลว่ามันเป็นการถ่ายหนังแบบขี้เกียจมาก เพราะเขามองว่ามันเป็นการตั้งกล้องถ่ายบางสิ่งเฉยๆ โดยที่ตัวผู้กำกับแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

แต่สำหรับเราแล้ว ความรู้สึกชอบไม่ชอบที่เรามีต่อหนังแต่ละเรื่อง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้กำกับลงทุนลงแรงไปมากแค่ไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสุขมากแค่ไหนที่ได้ดูหนังเรื่องนั้น หนังที่ผู้กำกับลงทุนสูง, ตั้งใจทำมากๆ แต่เราดูแล้วไม่มีความสุข เราก็ไม่ชอบหนังเรื่องนั้น หนังเรื่องไหนที่ดูเหมือนถ่ายง่ายๆ อย่าง NO ONE AT THE SEA (2005, Tossapol Boonsinsukh) แต่มันกลับก่อให้เกิดความรู้สึกประทับใจกับเรามากๆ เราก็ชอบหนังเรื่องนั้นจ้ะ

เราว่า Teeranit กับเราชอบจ้องมองในอะไรบางอย่างคล้ายๆกันด้วยแหละ อย่างพระจันทร์หรือท้องฟ้ามืดๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังของเขา เพราะรสนิยมตรงกัน แต่ถ้าหากใครจะไม่ชอบหนังของเขา ก็เป็นเรื่องปกติจ้า

หนังของ Teeranit Siangsanoh ทำให้เรานึกถึงประเด็นเหล่านี้ด้วยจ้ะ

1.ผู้กำกับที่ชอบตั้งกล้องแช่นิ่งนานแต่ละคน ก็คงมีเหตุผลของตัวเองแตกต่างกันไป James Benning ก็คงมีเหตุผลอย่างนึง แต่ที่น่าสนใจคือเหตุผลของ Fred Kelemen ซึ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อ Teeranit โดยตรง (Teeranit ทำหนังโดยได้รับแรงบันดาลใจจากบทความเกี่ยวกับหนังของ Fred Kelemen) โดย Kelemen บอกว่าเวลาเขาถ่ายตัวละครที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ พอตัวละครลุกออกจากเก้าอี้และเดินออกจากฉากไป เขาจะยังไม่ตัดภาพ ถึงแม้ว่านั่นเป็นวิธีการที่ผู้กำกับส่วนใหญ่นิยมทำกัน โดยตัว Kelemen นั้นเขาจะยังถ่ายภาพเก้าอี้ตัวนั้นต่อไปเรื่อยๆจนกว่าไออุ่นจากนักแสดงคนนั้นที่ทิ้งร่องรอยไว้บนเก้าอี้จางหายไปจนหมดแล้ว เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราแต่ละคนทำไป มันมีผลกระทบ แม้มันจะเป็นสิ่งที่แทบมองไม่เห็นหรือรู้สึกไม่ได้ อย่างเช่นการทิ้งไออุ่นไว้บนตัวเก้าอี้

อ่านเกี่ยวกับ Fred Kelemen เพิ่มเติมได้จากหนังสือ "ฟิล์มไวรัส 2" จ้ะ และจากบทความนี้

"เคเลเมนกล่าวว่าเขาเป็นพวกต่อต้านการตัดต่อ สำหรับเขาการจ้องมองไม่ใช่วิธีการจำพวก ถ่ายใบหน้า ตัดไปที่มือ และวกลับมาที่ตา สำหรับเขาการจ้องมองคือระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ โดยไม่ตัดต่อหากไม่จำเป็น เขาใช้เวลาซักซ้อมยาวนานกับนักแสดง จากบทคร่าวๆ ที่มีอยู่ในมือ แล้วให้นักแสดงจัดการส่วนที่เหลือ หลังจากซักซ้อมจนเป็นที่พอใจ และนำนักแสดงไปสู่จุดสูงสุดทางอารมณ์เขาจึงเริ่มลงมือถ่ายทำ หนังยาว 80 นาทีเรื่อง FATE (1994) นี้ประกอบขึ้นด้วยฉากยาวๆ เพียง12 ฉาก และแต่ละฉากอาศัยพลังของนักแสดง ปะทะกับพลังทางภาพแบบEXPRESSIONIST ของเขา โดยการแช่กล้องไว้นาน ๆ ในแต่ละฉาก เคเลเมนกล่าวว่า เมื่อคุณถ่ายคนในห้องหนึ่ง แล้วเมื่อเขาเดินออกจากห้องคุณตัดภาพไปทันที ห้องห้องนั้นก็ไม่ได้มีอยู่เลย มันเป็นแค่การมีอยู่ของคนเท่านั้น แต่ถ้าคุณทิ้งภาพไว้อีกสักระยะ รอจนบรรยากาศของการมีอยู่ของมนุษย์จางไป คุณจะมองเห็นห้องนั้นในฐานะสถานที่ ไม่สัมพันธ์กับผู้คนอีกต่อไป มนุษย์กลายเป็นเพียงส่วนยิบย่อย ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการติดตาม ร่องรอยของมนุษย์ที่เคยดำรงคงอยู่ เหมือนคุณนั่งเก้าอี้แล้วลุกไป เมื่อมีคนมานั่งต่อเขาจะรู้สึกถึงความอุ่นที่คุณทิ้งไว้ และผม (เคเลเมน) พยายามคว้าจับเอาส่วนนั้น ผมจะถ่ายเก้าอี้จนกระทั่งความอุ่นนั้นจางลง"

(นอกจาก Fred Kelemen จะเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบที่สุดแล้ว เขายังเป็นตากล้องให้กับ TURIN HORSE ของ Bela Tarr ด้วย)

2. เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การที่เรารู้สึกดีมากๆกับหนังของ Teeranit และมีความสุขกับการจ้องมองสิ่งๆเดียวกับสิ่งที่ Teeranit จ้องมอง มันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด หรือเป็นสิ่งที่พัฒนาไปตามกาลเวลา หลังจากได้ดูหนังทำนองนี้มาแล้วหลายเรื่อง แต่เราเดาว่ามันคงเป็นเพราะทั้งสองปัจจัยน่ะแหละจ้ะ

2.1 ที่เราคิดว่า มันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เพราะว่านักวิจารณ์ชื่อดังบางคน ที่คุ้นชินกับการดูหนังอาร์ทนิ่งช้ามาแล้วหลายเรื่อง เขาก็ไม่ได้ชอบหนังของ James Benning เหมือนกับเรา เพราะฉะนั้นการดูหนังอาร์ทนิ่งช้าจำนวนมาก ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าคุณจะสามารถจูนติดกับหนังของ James Benning ได้ หรือจะมีความสุขกับหนังของ James Benning ได้ มันคงมีมีปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย ซึ่งปัจจัยหนึ่งในนั้นก็คือการที่เราทุกคนมีรสนิยมแตกต่างกันไปตั้งแต่เกิด

2.2 แต่เราก็คิดว่า ถ้าหากเราได้ดูหนังของ Teeranit Siangsanoh เร็วกว่านี้ เราก็อาจจะไม่ชอบหนังของเขามากเท่านี้ก็ได้นะ เราได้ดูหนังของเขาในจังหวะที่เหมาะสมพอดีน่ะ เราก็เลยจูนคลื่นติดกับหนังของเขาพอดี เราจำได้ว่า ตอนเราอยู่มัธยมต้น เราก็เกลียดหนัง+ละครที่เดินเรื่องช้าๆเหมือนกัน เราจำได้ว่าตอนนั้นเราให้ความสำคัญกับพล็อตเรื่องเพียงอย่างเดียว และจะรำคาญละครทีวีที่ "เนื้อเรื่องไม่เดินหน้าไปถึงไหน" หรือ "เล่าเรื่องยืดยาด"

แต่ในปัจจุบันนี้ เรากลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเราเองในอดีต เพราะหนังหลายเรื่องที่เราชอบมากๆ ในตอนนี้ คือหนังที่ "แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย" หรือ "แทบไม่มีเนื้อเรื่องเลย" เพราะฉะนั้น "เวลา", "ประสบการณ์ชีวิต" และ "ประสบการณ์การดูหนังและเสพงานต่างๆ" ก็เป็นปัจจัยสำคัญเหมือนกัน ในการทำให้ความรู้สึกชอบที่เรามีต่อสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังตีน

3.ถ้าหากจะเปรียบหนังกับวรรณกรรม หนังยาวทั่วไปก็คงเหมือนนิยาย หนังสั้นทั่วไปก็คงเหมือนเรื่องสั้น และหนังของ Teeranit Siangsanoh และ Tossapol Boonsinsukh ก็อาจจะเหมือนบทกวี อย่างเช่น บทกวี THE RED WHEELBARROW (1923) ของ William Carlos Williams

"so much depends
upon
a red wheel
barrow
glazed with rain
water
beside the white
chickens.
"

ที่เราเปรียบเทียบหนังของ Teeranit กับบทกวีบทนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเสน่ห์ในหนังของ Teeranit

3.1 ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อเรื่อง

3.2 ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหมายที่แน่นอนตายตัว เราว่าหนังของ Teeranit และบทกวีข้างต้นเปิดโอกาสให้ผู้ชมหรือผู้อ่านตีความอะไรต่างๆได้อย่างเต็มที่ หรือจะไม่ตีความอะไรเลยก็ได้

3.3 ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอลังการงานสร้างในส่วนของภาพยนตร์ หรือการใช้ถ้อยคำที่วิลิศมาหราในส่วนของบทกวี มันเป็นการเอาภาพ, ช็อต หรือซีนที่ดูเหมือนจะไม่ได้ปรุงแต่งอะไรมาก และการเอาคำศัพท์ง่ายๆ มาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน แต่การเอาอะไรที่เรียบง่ายมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันนี้ มันกลับก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกๆอะไรบางอย่างที่บรรยายไม่ถูกในตัวผู้ชม/ผู้อ่าน ซึ่งเราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ

3.4 แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน/ผู้ชมแต่ละคนด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องปกติที่ผู้อ่านบางคนจะรู้สึกว่าบทกวี THE RED WHEELBARROW ไม่ทำให้เขารู้สึกอะไรเลย หรือผู้ชมบางคนจะรู้สึกว่าหนังของ Teeranit ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกพิเศษอะไรในตัวเขาเลย

4.เราว่าหนังของ Teeranit มีเสน่ห์บางอย่างคล้ายๆงานศิลปะประเภท conceptual art และ minimal art นะ ถ้าสนใจงานประเภทนี้ ก็อ่านได้จากหนังสือที่สนพ.เคล็ดไทยพิมพ์ออกมาได้จ้ะ

และเราก็รู้สึกว่าหนังของ Teeranit (และอาจจะรวมไปถึง Tossapol Boonsinsukh) มีเสน่ห์คล้ายๆกับภาพเขียนของ Agnes Martin ด้วยเหมือนกัน มันดู minimal มาก แต่มันดูทรงพลังมากสำหรับเรา

4.ที่เราว่าประสบการณ์การดูหนัง อาจจะมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้เราชอบหนังของ Teeranit ด้วยนั้น เราก็เลยคิดว่าเราควรจะทำลิสท์หนังกลุ่มที่มีอะไรบางอย่างคล้ายๆกับหนังของ Teeranit ขึ้นมาด้วยจ้ะ เผื่อใครที่ชอบหนังของ Teeranit ก็อาจจะชอบหนังกลุ่มนี้ด้วย หรือใครที่อยากจะ "จูนติด" กับหนังของ Teeranit ก็อาจจะลองดูหนังกลุ่มนี้ด้วย เผื่ออาจจะทำให้เข้าใจเสน่ห์ของหนังกลุ่มนี้มากขึ้น

4.1 AUTOHYSTORIA (2007, Raya Martin, Philippines)
เรื่องนี้เรามีแผ่น

4.2 CORRIDOR (1994, Sharunas Bartas, Lithuania)
เรื่องนี้น่าจะมีให้ดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ต
"ความไม่นำไปสู่สิ่งใดในหนังเรื่องหนึ่งทำหน้าที่คล้ายกับเครื่องหมายของความล้มเหลวทางภาพยนตร์ หนังที่ดูไม่รู้เรื่อง ย่อมไม่มีคุณค่าความหมายให้ชื่นชม แต่ตรรกะแบบนั้นไม่สามารถใช้ได้กับหนังของSHARUNAS BARTAS   ในโลกของภาพเคลื่อนไหวซึ่งร้อยเรียงต่อกันไปของเขา ไม่ได้ใช้รูปรอยการเล่าในแบบอันคุ้นเคยอีกต่อไป  เขาโยนสิ่งที่หนังต้องทำในโลกอื่นทิ้งไป และหยิบเอาส่วนเสี้ยวซึ่งถูกมองข้าม ยกออกไปในหนังเรื่องอื่นมาบรรจุเอาไว้แทนที่ ทิ้งส่วนที่ผู้สร้างแบกรับในจักรวาลหนึ่งให้เป็นภาระของผู้ชมในอีกจักรวาลหนึ่ง
"

4.3 EMPLOYEES LEAVING THE LUMIÈRE FACTORY (2010, Chaloemkiat Saeyong)
เรื่องนี้เรามีแผ่น

4.4 EUROPA 2005 -- 27 OCTOBER (2006, Jean-Marie Straub + Danièle Huillet)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

4.5 KITTYPIE (2007, Jennifer MacMillan)
จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ได้คล้ายหนังของ Teeranit นะ นอกจากว่ามันเป็นหนังเชิงกวีเหมือนกัน และเราว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายเงาของแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดเข้ามาในห้องได้สวยมากๆ เราก็เลยนึกถึงหนังของ Teeranit เพราะเราว่าหนังของเขาถ่าย "แสง" ต่างๆออกมาได้สวยมากเหมือนกัน

ดู KITTYPIE ได้ที่นี่

4.6 NATHALIE GRANGER (1972, Marguerite Duras, France)
เรื่องนี้มีดีวีดีขายในไทย
"หนังทั้งเรื่องถูกถ่ายทำอย่างเรียบง่าย ภาพทั้งหมดแทบไร้การเคลื่อนไหว หญิงสาวไร้นามที่รับบทโดยJeanne Marraeu เป็นคนดูแลบ้าน หนังให้เราจ้องมองเธอทำความสะอาดโต๊ะ ล้างจาน เก็บเศษไม้ในสวน เย็บผ้า ลอกเอาเศษขยะในสระน้ำ ราวกับเธอนางไร้นามผู้รับเหมาภาระทั้งหมดในบ้าน ขณะที่Lucia Bose' รับบท Elisabeth  ผู้ที่ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นเธอซีดเศร้า เธอจ้องมองไปยังนอกถนน ไปยังสวน จากกรอบหน้าต่างขอบ้าน เธอผเชิญกับความปั่นป่วนที่จะไม่ได้พบลูกสาวอีก  เราเห็นเธอทำงานบ้านเพียงครั้งเดียว นั่นคือการรีดผ้า เธอทำไม่สำเร็จ  รีดเสื้อให้ลูกสาวแล้วเอามันมาแนบอก ทิ้งเตารีดค้างเอาไว้อย่างนั้น  ตลอดเวลาที่เหลือเธอนั่งฟังวิทยุเลื่อนลอย เหม่อมองไปยังที่อื่น เสียงวิทยุเล่าข่าวแบบรายงานสดติดตามการตามล่าตัวฆาตกรหนุ่มสองคนที่กำลังหลบหนี  แต่มันถูกปล่อยให้ล่องลอยทอดทิ้งไม่ใยดี  จนมันกลายเป้นเหมือนเพียงเสียงรบกวนเล็ฏๆจากโลกอื่น
"

"ความนิ่งเงียบของ Nathalie Granger อาจทำให้หลายคนเบื่อหน่ายส่ายหน้าหนี ในขณะเดียวกันความเงียบในหนังเรื่องนี้คือภาวะอันแปลกประหลาด  ความสงบนิ่งแบบที่ไม่ได้ผ่อนคลาย  ความตึงเครียดขมวดมุ่นแล้วผ่วเบา บางครั้งเลื่อนไหลไปกับอาการเหม่อลอย บรรยากาศที่กล่าวไปนั้นอาจฟังดูง่ายดายเมื่อเราบรรยาด้วยตัวอักษร แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะเล่ามันออกมาผ่านทางภาพ หาก Maguerite Duras กลับบันทึก บรรยากาศยามบ่าย นั้นลงบนแผ่นฟิล์มได้อย่างสวยสดงดงามยิ่ง
"

4.7 NEWS FROM HOME (1976, Chantal Akerman)
เรื่องนี้มีดีวีดีขายในไทย

4.8 ZOETROPE (2011, Rouzbeh Rashidi, Ireland)
เรื่องนี้เรามีแผ่น

นอกจากนี้ หนังอย่างเช่น WINDOWS (1999, Apichatpong Weerasethakul) และ BIRTH OF THE SEANEMA (2004, Sasithorn Ariyavicha) ก็ทำให้เรานึกถึงหนังของ Teeranit เหมือนกัน แต่หนังสองเรื่องนี้อาจจะหาดูได้ยากหน่อยจ้ะ

The photo is from PHENOMENON 1 (2012, Teeranit Siangsanoh, 28.32 min).




No comments: