Friday, February 07, 2014

VANISHING HORIZON OF THE SEA (2014, Chulayarnnon Siriphol, Thailand, 24min, A+30)


Films seen in “MEDIA AT HAND” program in the exhibition MEDIA/ART KITCHEN

 

1.VANISHING HORIZON OF THE SEA (2014, Chulayarnnon Siriphol, Thailand, 24min, A+30)

 

2.THE BOHEMIAN RHAPSODY PROJECT (2006, Ho Tzu Nyen, Singapore, A+30)

 

3.TEAK ROAD (2011, Lucy Davis, Singapore, animation, A+25)

 

4.TELEVISION COMMERCIAL FOR COMMUNISM (2011, The Propeller Group, Vietnam, animation, A+)

 

5.SELECTION 14344 (2009, Tad Ermitano, Philippines, A+)

 

6.#54 HOW TO SPOT A RACIST (2011, That Effing Show, Malaysia, A+)

 

7.TIME OF THE LAST PERSECUTION (2012, Taiki Sakpisit, Thailand, second viewing)

 

8.THINK KINDLY (2009, Chulayarnnon Siriphol, Thailand, not first viewing)

 

The photo comes from TEAK ROAD.

 

VANISHING HORIZON OF THE SEA

 

หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

 

1.เป็นหนังที่ดูยากที่สุดถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของเข้ แต่ไม่ใช่หนังที่ดูยากถ้าหากเทียบกับหนังทดลองโดยทั่วไป คำว่า “ดูยาก” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่า “ยากที่จะ enjoy มัน” เพราะเรามีความสุขกับการดูหนังเรื่องนี้มากๆ แต่คำว่า “ดูยาก” ในที่นี้หมายถึงว่า ถ้าหากเราพยายามจะตีความมัน หรือพยายามหาความหมายให้กับสิ่งต่างๆที่เราเห็น เราก็อาจจะงุนงงหรืออาจจะไม่เข้าใจมัน

 

เรารู้สึกว่าหนังเรื่องอื่นๆของเข้มีประเด็นที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จับต้องได้ง่าย เข้าใจง่าย หนังอย่าง A BRIEF HISTORY OF MEMORY (2010, A+30) ถึงแม้จะมีอะไรเหวอๆอยู่บ้าง แต่ทุกคนที่ดูก็เข้าใจเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนัง และเข้าใจประเด็นของหนัง ถึงแม้จะไม่เข้าใจว่าเห็บเหาในหนังมันเกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของหนังอย่างไร

 

แต่พอมาถึงเรื่องนี้ เรารู้สึกว่ามันเข้าใกล้หนังทดลองโดยทั่วไปมากๆ มันมีความเป็นนามธรรมสูงกว่าหนังเรื่องอื่นๆของเข้ มันกระตุ้นให้เราคิดว่าไอ้สิ่งต่างๆที่เราเห็นในแต่ละฉากมันหมายความว่าอะไร มันสื่อถึงอะไร มันเชื่อมโยงกันยังไง อะไรคือประเด็นของหนัง คือการตั้งคำถามในใจคนดูแบบนี้เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับเราเมื่อเราดูหนังทดลองโดยทั่วไป แต่เรายังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ในหนังของเข้มาก่อน

 

คือเข้อาจจะเคยทำหนังที่ดูค่อนข้าง abstract มาก่อนอย่าง GHOST ORB (2007) แต่มันไม่ใช่หนังที่กระตุ้นความงุนงงสงสัยน่ะ ในขณะที่ VANISHING HORIZON OF THE SEA มันกระตุ้นความงุนงงมากพอสมควร

 

แต่เราชอบความงุนงงอะไรแบบนี้มากเลยนะ เราว่ามันไม่ประนีประนอมดี เพราะฉะนั้นเราก็เลยดีใจมากที่เข้ทำหนังแบบนี้ออกมา และหวังว่าเข้จะทำหนังที่ไม่ประนีประนอมแบบนี้ออกมาอีก

 

สรุปว่าเราว่าหนังหลายๆเรื่องของเข้มีทั้งสัดส่วนของ “การสื่อประเด็น” และ “ความเป็น poetic” อยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน แต่หนังยุคก่อนหน้านี้ของเข้ จะมีสัดส่วนของความเป็นประเด็นสูง อย่างเช่น THAI CONTEMPORARY POLITICS QUIZ (2010) ในขณะที่ A BRIEF HISTORY OF MEMORY มีสัดส่วนของความเป็นประเด็นและความเป็น poetic ในระดับ 50/50 แต่ VANISHING HORIZON OF THE SEA นี่มีสัดส่วนของความเป็น poetic สูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาก

 

 2.ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจว่าหนังสื่อถึงอะไร หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เรานึกถึงเรื่อง “ความไม่จีรังยั่งยืน” น่ะ และมันมาทั้งในส่วนของ form and content เลยนะ เพราะนอกจากเราจะเห็นภาพที่สื่อถึงความไม่จีรังยั่งยืน อย่างเช่นภาพกระเบื้องถ้วยกะลาแตก และการลอยอังคารแล้ว ตัว form ของภาพ ซึ่งมาในรูปของวิดีโอ VHS เก่าๆที่มีคลื่นสัญญาณรบกวน ก็ทำให้เรานึกถึงความไม่จีรังยั่งยืนด้วยเหมือนกัน เพราะเทคโนโลยี VHS ได้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว และสิ่งต่างๆที่ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบ VHS ก็เสื่อมสลายไปในรูปแบบสัญญาณภาพด้วย

 

ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เศร้าใน 3 ระดับ

 

2.1 ระดับที่หนึ่ง มันทำให้เรารู้สึกถึงความไม่จีรังยั่งยืน เราอาจจะชอบวัตถุหนึ่งมากๆ, สถานที่หนึ่งมากๆ หรือคนคนหนึ่งมากๆ แต่วัตถุนั้นย่อมต้องเสื่อมสลายไปในอนาคต, คนที่เราชอบต้องตายไปในอนาคต และสถานที่ที่เราชอบย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ไม่มีใครสามารถยับยั้งสิ่งนี้ได้

 

2.2 เมื่อเรารู้เช่นนี้ เราก็อาจจะพยายามบันทึกความทรงจำที่มีต่อสิ่งที่เราชอบเอาไว้ โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย อย่างเช่นถ่ายภาพนิ่งของสิ่งนั้นไว้ หรือถ่ายวิดีโอของสิ่งนั้นไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สีของภาพที่เราถ่ายไว้ย่อมจางลง หรือวิดีโอที่เราบันทึกไว้ก็ย่อมต้องมีการเสื่อมสลายทางเคมีหรือทางแม่เหล็กไฟฟ้าหรือในทางใดทางหนึ่งเช่นกัน

 

2.3 นอกจากเวลาจะทำลาย “คนในภาพถ่าย” และ “ตัวภาพถ่าย” เองแล้ว เวลายังทำลาย “เทคโนโลยีการบันทึกความทรงจำ” เองด้วย เพราะภาพที่เราถ่ายไว้ ตอนนี้ถ้าจะเอาฟิล์มไปล้างอีก ก็อาจจะหาร้านล้างฟิล์มได้ยากแล้ว และวิดีโอที่เราถ่ายไว้ ถ้าหากไม่รีบแปลงมันให้อยู่ในรูปของดีวีดี เราก็อาจจะหาเครื่องเล่นวิดีโอเพื่อมาเล่นวิดีโอแห่งความทรงจำนั้นไม่ได้อีก แล้วถึงแม้ว่าเราจะแปลงภาพถ่าย/วิดีโอนั้นให้อยู่ในรูปของไฟล์ดิจิตอลได้แล้ว ฮาร์ดดิสก์ที่เก็บไฟล์ดิจิตอลนั้นไว้ก็เสื่อมสลายได้ง่ายๆเช่นกัน

 

ประเด็นเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนนี่ ก็ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่นๆของเข้ด้วยนะ โดยเฉพาะ A BRIEF HISTORY OF MEMORY และ MRS. NUAN WHO CAN RECALL HER PAST LIFE (2010) แต่หนังสองเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตในส่วนของ content เท่านั้น แต่ไม่ได้กระตุ้นให้เรานึกถึงในส่วนของ form ด้วย

 

3.ฉากที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ เป็นฉากที่ถ่ายสถานที่หนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นหน้าบ้านของเข้หรือเปล่า เราเดาว่ามันเป็นการถ่ายสถานที่นั้นในเวลาปัจจุบันนั่นแหละ แต่เข้เอามันมาทำให้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ถ่ายด้วยวิดีโอเมื่อ 20-30 ปีก่อน

 

สาเหตุที่ทำให้เราชอบฉากนี้มาก เพราะมันทำให้เรานึกถึงการพยายามเรียกคืนความทรงจำของตัวเราเองน่ะ คือเราเป็นคนที่ชอบนึกถึงอดีตของเราเองในปี 1988-1994 เพราะช่วงนั้นเรามีประสบการณ์ที่ดีและสนุกมากๆกับกลุ่มเพื่อนๆของเรา ดังนั้นเราก็เลยชอบเอาเพลงยุคนั้นมาฟังบ่อยๆจนถึงปัจจุบันนี้ และเวลาที่เราฟังเพลงยุคนั้น เราก็จะนึกถึงอดีตของเราในยุคนั้นไปด้วย

 

แต่ยิ่งเราแก่ตัวลงมากเพียงใด ภาพอดีตที่อยู่ในหัวของเราก็ยิ่งเลือนรางลงมากเพียงนั้น เพราะฉะนั้นฉากนี้ในหนังเรื่องนี้ มันก็เลยทำให้เรานึกถึงภาพอดีตในหัวของเรามากๆ คือมันเป็นภาพที่สีซีดจางไปเรื่อยๆตามกาลเวลาจนกลายเป็นภาพขาวดำไปแล้ว และกลายเป็นภาพที่ขาดความคมชัดไปแล้ว ฉากนี้ในหนังเรื่องนี้ มันก็เลยทำให้เราเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างที่รุนแรง แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียกความรู้สึกแบบนี้ว่าอะไรดี มันมีทั้งความเศร้าและความสุขปะปนกันน่ะ มันเป็นความสุขที่ได้นึกถึงอดีต และความเศร้าที่ต้องยอมรับความจริงว่ามันเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืนมา

 

4.องค์ประกอบต่างๆในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงหนังหลายๆเรื่องของเข้ อย่างเช่น

 

4.1 บ้านในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงบ้านในหนังเรื่อง SLEEPING BEAUTY (2006) เราเข้าใจว่ามันเป็นบ้านหลังเดียวกัน และมันก็ทำให้เรารู้สึกเศร้าแบบแปลกๆ ที่เห็นเพียงแต่เงาคนดำๆปรากฏตัวในบ้านในหนังเรื่องนี้ ซึ่งมาแทนที่ภาพคนที่มีชีวิตจริงๆในหนังเรื่อง SLEEPING BEAUTY เงาเหล่านี้เป็นผี, หรือเป็นพลังงานที่คนเคยทิ้งไว้ หรือเป็นอะไรกันแน่นะ

 

4.2 ไฟที่ไหม้ในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึง DANGER (DIRECTOR’S CUT) และ CHULAYARNNON (2008)

 

4.3 หอยทากในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึง JELE-BEAUTIE (2011)

 

4.4 ภาพสิ่งของแตกหักในบางฉากในหนังเรื่องนี้ เราเข้าใจว่าเป็นการเอาบางฉากจากหนังเรื่อง DAMAGED UTOPIA (2013, A+15) มาใช้

 

5.ชอบเงาดำในหนังเรื่องนี้มาก ทั้งเงาดำในบ้าน, การฝนใบหน้าของคนต่างๆในหนังเรื่องนี้ให้เป็นสีดำ หรือกลาสีเรือบนโขดหินที่เราไม่เห็นใบหน้า เห็นแต่สีดำบนใบหน้าของเขา

 

เราไม่รู้เหมือนกันว่าการทำเงาดำ,หน้าดำในหนังเรื่องนี้สื่อถึงอะไร แต่เราว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกๆดี


 

 
 

No comments: